หยุดอยากไว้...ทำใจให้เยือกเย็น
การปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายนั้น เราจะต้องฝึกนิสัยใหม่ให้เป็นคนที่มีใจเยือกเย็นใจใส ๆ ใจสบาย ๆ อย่างเยือกเย็นอย่าเร่งร้อน ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่าไปมีความตั้งใจมากเกินไป แม้ว่าส่วนลึก ๆ ของใจเราอยากที่จะเข้าถึงพระธรรมกายจริงๆ เราอยากเห็นพระธรรมกายจริงๆ เพราะเราได้ยินได้ฟังผู้ที่เข้าถึงพระธรรมกายแล้วเขาพูดกัน เขามีความสุข เขามีความเบิกบาน เราก็อยากที่จะเข้าถึงเหมือนกับเขาบ้าง ส่วนลึก ๆ ก็ยังเกิดความรู้สึกอย่างนี้ แต่ก็ต้องให้อยู่ในส่วนลึกของใจนะ
ความอยากที่จะได้อยากที่จะเห็น อยากที่จะเป็นพระธรรมกาย ความอยากอย่างนี้ให้อยู่ส่วนลึก ๆ แล้วพยายามหักห้ามใจที่จะเผลอทะยานอยากได้เร็ว ๆ เห็นเร็ว ๆ พยายามหักห้ามใจเอาไว้โดยการทำใจให้ใส ให้เยือกเย็น แล้วก็สอนตัวของเราเองทุก ๆ ครั้งที่ปฏิบัติธรรมในทุก ๆ วันว่า “การวิวัฒนาการหรือการเจริญเติบโตของสรรพสิ่งทั้งหลาย ก็จะต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป” อย่างเช่นเราปลูกต้นไม้ เมื่อเราฝังเมล็ดลงไปในดิน หน้าที่ของเราเพียงแต่รดน้ำให้ทุกวัน ส่วนการเจริญเติบโตก็เป็นหน้าที่ของเมล็ดผลไม้นั้นซึ่งมันจะเจริญเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป เราก็มีหน้าที่รดน้ำไปทุกวันแค่นั้น ทำไปอย่างนี้จนกระทั่งวันหนึ่งผลแห่งความเพียรของเราจะปรากฏเกิดขึ้น ต้นไม้นั้นก็ให้ดอกให้ผล
การเจริญเติบโตของร่างกายเราก็เช่นเดียวกัน เราก็รับประทานอาหารแบบค่อยเป็นค่อยไป ร่างกายก็ค่อย ๆ เจริญเติบโตทีละเล็กทีละน้อย เราสังเกตไม่ออกหรอกว่าอาหารมื้อหนึ่งนี่จะทำให้ร่างกายเราโตขึ้นวันละกี่เซ็นต์ เผลอประเดี๋ยวเดียว เราก็เปลี่ยนจากวัยทารก มาเป็นวัยเด็ก วัยหนุ่มสาว เจริญเติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ
การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน เราจะเร่งรีบ เร่งร้อนไม่ได้เหมือนต้นไม้เหมือนร่างกายของเราอย่างนี้ ซึ่งจะค่อยๆ เจริญเติบโตไปทางจิตใจ เมื่อเราทำสมาธิทุก ๆ วัน ปฏิบัติธรรมทุกวันฝึกใจหยุด ฝึกใจนิ่ง ให้มีชั่วโมงหยุด ชั่วโมงนิ่ง ชั่วโมงกลางให้มาก ๆ เหมือนนักบินมีชั่วโมงบินอย่างนั้น สมาธิก็จะค่อย ๆ ถูกสะสมไปทีละเล็กทีละน้อย ใจของเราที่หยาบก็จะค่อย ๆ ถูกขัดเกลาให้ละเอียดไปทีละเล็กทีละน้อย สิ่งที่เป็นมลทินของใจเราที่ไม่บริสุทธิ์ก็จะถูกขัดเกลาไปด้วยเช่นเดียวกัน ในที่สุดใจก็บริสุทธิ์ขึ้น ละเอียดขึ้น แล้วสักวันหนึ่งเราก็จะสมหวังกันทุกคน
คุณครูไม่ใหญ่
จากหนังสือ ง่ายที่สุดคือหยุดได้ เล่มที่ ๖