ศีล

วันที่ 25 สค. พ.ศ.2566

24-8-66-BL.jpg


ศีล


          ศีล คือ สภาวะความเป็นปกติของสัตว์ทั้งหลาย
          "สีลยติ กายวอีกมุมาน สมมาทาตีติ - สีลํ”
          ธรรมชาติใดย่อมกระทำให้กายกรรมและวจีกรรมตั้งไว้ด้วยดี ธรรมชาตินั้นชื่อว่า ศีล
          ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่กระทำให้กายวาจาเคลื่อนไหวแต่ในสิ่งที่ดี

          นอกจากศีลจะเป็นตัวเจตนากระตุ้นชักชวน กาย วาจา ให้ตั้งอยู่ในกิริยามารยาทที่ดีแล้ว ยังมีหน้าที่ปิดช่อง และรักษากายวาจาไม่ให้เป็นไปในทางทุจริต ส่วนการป้องกันรักษามิให้มโนทุจริตเกิด เป็นหน้าที่ของภาวนาโดยเฉพาะ
          "สีลยติ กุสลธมโม อุปธาเรติ - สีลํ"
           ธรรมชาติใดย่อมทรงไว้ซึ่งกุศลกรรม (มีสมาธิ ปัญญา และวิมุติ เป็นต้น) โดยความรอบคอบ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า ศีล
          รวมความแล้ว ศีลมีหน้าที่ กระตุ้น ชักชวน ปิดช่อง รักษาให้กาย วาจา ไม่เป็นไปทางทุจริต และยังสามารถอุดหนุนให้กุศลธรรมต่าง ๆ มีสมาธิ ปัญญา มรรค ผล เกิดขึ้นอุปมาเหมือนศีลเป็นพื้นดิน สามารถเป็นที่อาศัยเกิดของสิ่งต่าง ๆ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ถ้าขาดพื้นดินแล้วสิ่งเหล่านั้นย่อมเกิดไม่ได้ อุปมาข้อนี้ฉันใด สมาธิ ปัญญา และมรรค ผล ย่อมต้องอาศัยศีลกุศลเป็นพื้นฐานช่วยอุปการะให้เกิด ฉันนั้นถ้าปราศจากศีลรองรับอยู่ ความดีงามดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า


                   “สีเล ปติฏฐาย นโร สปญฺโญ          จิตฺตํ ปฌฺญณฺจ ภาวยํ
                   อาตาปี นิปโก ภิกฺข                       โส อิมํ วิชฎเย ชฎํฯ"

 
           ผู้มีปัญญา (ที่เกิดจากกรรมคือกัมมชปัญญา) อันประกอบด้วยติเหตุกปฏิสนธิ (การปฏิสนธิที่พร้อมด้วย อโลภะ อโทสะ อโมหะ) นั้น เมื่อตั้งมั่นอยู่ในศีลกุศลที่เป็นอุปนิสัย อันเป็นพื้นของสมถะ วิปัสสนา ย่อมเป็นผู้มีความเพียร สามารถเผาอกุศลธรรมทั้งหลายให้เร่าร้อน เป็นผู้มีปัญญาสามารถทำให้โมหะที่เป็นปฏิปักษ์แก่ตนให้เหือดแห้งลงไป หรือเป็นผู้มีปัญญารักษาตนให้พ้นจากโมหะที่เป็นปฏิปักษ์แก่ตน หรือเป็นผู้มีปัญญานำอารมณ์กรรมฐานคือรูปนามให้ปรากฏชัดแก่ตน แล้วสามารถให้สมาธิและวิปัสสนาญาณเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปตามลำดับ

           บุคคลผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร และประกอบด้วยคุณทั้ง ๖ อย่างคือ ศีล สมาธิ ปฏิสนธิปัญญา วิปัสสนาปัญญา ปาริหาริกปัญญา และสัมมัปปธาน ดังกล่าวแล้วนั้น ย่อมอาจสางเสียได้ซึ่งความยุ่งคือ ตัณหา อันเปรียบเสมือนหนึ่งแขนงหนามของต้นไผ่ที่รกเรี้ยวรุงรัง ปกคลุมหุ้มห่อลำต้นไว้เสียได้ ดังนี้

                  นอกจากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาไว้ว่า
                  "น โคตฺเตน ธเนน วา”
                  สัตว์ทั้งหลายมิได้บริสุทธิ์ด้วยโคตร หรือบริสุทธิ์ด้วยทรัพย์ แต่
                  "กมฺมํ วิชฺชา จ ธมฺโม จ สีลํ ซีวิตมุตฺตมํ"
                  สัตว์ทั้งปวงย่อมบริสุทธิ์ด้วย กรรม วิชา ศีล อุดมชีวิตและธัมมะ
                         บริสุทธิ์ด้วยกรรม         คือ มัคคเจตนา
                         บริสุทธิ์ด้วยวิชา           คือ สัมมาทิฏฐิ
                         บริสุทธิ์ด้วยศีล            คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ
                         บริสุทธิ์ด้วยอุตมชีวิต    คือ สัมมาอาชีว
                         บริสุทธิ์ด้วยธัมมะ         คือ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
                  “สีเล ปติฏฺฐาย นโร สปญฺโญ
                  สัตว์โลกที่มีปัญญาอันมาพร้อมด้วยปฏิสนธิอันเป็นไตรเหตุ ที่บังเกิดแต่กุศลกรรมปฏิบัติบำเพ็ญศีล กระทำศีลของตนบริบูรณ์มิได้ด่างพร้อย จึงได้ชื่อว่า ตั้งอยู่ในศีล

 

                  ปัญญาในอัตถคาถาที่พระบรมศาสดาตรัสถึงในที่นี้ หมายถึงปัญญา ๓ ประการ คือ
                  ๑. กัมมชปัญญา ปัญญาที่เกิดมาพร้อมกับติเหตุกปฏิสนธิ (ปัญญาติดตัวมาตั้งแต่เกิดเป็นผลจากกุศลกรรมในอดีตชาติ โดยเกิดมาพร้อมด้วยจิตที่ไม่มีความโลภ โกรธ หลง เรียกว่าปัญญาที่มาพร้อมกับปฏิสนธิอันเป็นไตรเหตุก็ได้)
                  ๒. วิปัสสนาปัญญา ปัญญาพิจารณาเห็นพระไตรลักษณ์ (อนิจจลักขณะ ทุกชลักขณะ อนัตตลักขณะ)
                  ๓. ปาริหาริกปัญญา เป็นปัญญาที่ใช้กำหนดกิจการงานทั้งปวง มีกิจที่จะเล่าเรียนพระกรรมฐานทั้งสอง คือ สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน
                  และมีค่าตรัสไว้อีกว่า "สีลญจะ สุวิสุทธิ์”
                  ศีลที่บุคคลรักษาไว้ให้บริสุทธิ์นั้น นั่นแหละเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรม คำสั่งสอนแห่งเรา
                  ศีลนับว่าเป็นกัลยาณ คือมีคุณอย่างยิ่ง เช่นมีทำให้เกิดความกินแหนงเดือดร้อนแก่ผู้รักษาเป็นต้น นอกจากนี้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเกี่ยวกับเรื่อง ศีล ยังมีอีก เป็นต้นว่า
           “ตถา สีเลน เตวิชฺชตาย"
           ธรรมอันเป็นอุปนิสัยที่จะให้ได้บรรลุไตรวิชา มีทิพยจักษุเป็นต้น คือ ศีล
           "สีเลน กามสุขลลิกานุโยคสขาดสฺส"
           การที่จะละเสียเว้นเสียซึ่งธรรมอันลามก กล่าวคือประกอบเนื่องด้วยสามารถยินดีในกามสุข ก็ต้องอาศัย ศีล
           "สีเลน อปายสมติกฺกมนุปาโย"
           อุบายที่จะล่วงเสียซึ่งจตุราบายทั้ง ๔ มีนรกเป็นอาทิ ก็ต้องอาศัย ศีล
           กิริยาที่จะละกิเลสด้วย ตทังคปหาน (ละได้ชั่วคราว) ก็ต้องอาศัย ศีล ดังคำตรัส
           "ตถา สีเลน กิเลสานํ"
           ธรรมอันเป็นข้าศึกอันสามารถทำให้ละกิเลสได้ ก็คือ ศีล (ละกิเลสขั้นหยาบทีแสดงออกทางกาย ทางวาจา)
           การชำระธรรมอันเศร้าหมองที่เรียกว่าทุจริต ก็ต้องใช้ ศีล
           "สีเลน โสตาปนฺน สกิทาคามิ ภาวสฺส"
           เหตุที่จะให้ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล พระสกิทาคามีบุคคล คือ ศีล


ศีล คือ อะไร

            ศีล มีความหมายได้ ๓ นัย คือ
                  ๑. เจตนา            ชื่อว่า ศีล
                  ๒. เจตสิก           ที่เรียกว่าวิรัติ ชื่อว่า ศีล
                  ๓. สังวร              มิได้กระทำให้ล่วงสิกขาบท ชื่อว่า ศีล

            ๑. เจตนา หมายถึงความตั้งใจของบุคคลที่เว้นจากบาปธรรม มีปาณาติบาต เป็นต้น และปฏิบัติตามข้อธรรมอันดีงาม อันสมควรต่าง ๆ หรืออีกนัยหนึ่งปฏิบัติกุศลกรรมบถ ๗ (กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ เว้นมโนกรรม ๓ ออกไป) นี้เรียกเจตนาศีล
            ๒. เจตสิก คือการวิรัติ งดเว้นจากบาปธรรม มีปาณาติบาตเป็นต้น เรียกว่าเจตสักศีล รวมทั้งธรรมอีก ๓ ประการ คือ อนภิชฌา ไม่โลภ อพยาบาท ไม่พยาบาทและสัมมาทิฏฐิ ธรรม ๓ ประการนี้ก็เรียกเจตสิกศีล เป็นศีลที่เกิดขึ้นพร้อมกับกุศลจิต (สิ่งที่เกิดพร้อมกับจิตเรียกเจตสิก)
             ๓. สังวร คือความสำรวมระวัง มีอยู่ ๕ ประการ เรียกว่าสังวรศีล
                         ๓.๑ ปาฏิโมกขสังวร
                         ๓.๒ สติสังวร
                         ๓.๓ ญาณสังวร
                         ๓.๔ ขันติสังวร
                         ๓.๕ วิริยสังวร

                  ๓.๑ ปาฏิโมกขสังวร คือการสำรวมในพระปาฏิโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้ามทำตามข้อที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาต
                  ๓.๒ สติสังวร สำรวมด้วยสติ เช่นสำรวมในการมอง การฟัง การดมกลิ่น ลิ้มรสและสัมผัสถูกต้อง ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นในใจ เรียกว่าสำรวมในอินทรีย์ ทั้ง ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
                  ๓.๓ ญาณสังวร สำรวมด้วยญาณ คือกิริยาที่พระโยคาวจรภิกษุห้ามกระแสแห่งตัณหา ทิฏฐิ อวิชชา และกิเลส ด้วยการใช้อริยมัคคญาณ สังวรชนิดนี้เรียก ญาณสังวร
                  ๓.๔ ขันตีสังวร สำรวมด้วยการอดกลั้น เช่นอดทนอดกลั้นต่อความเย็น ความร้อนเป็นต้น
                  ๓.๕ วิริยสังวร สารวมด้วยความเพียรพยายาม เช่นเมื่อมีกามวิตกบังเกิดขึ้นในจิตใจของตน ก็เพียรพยายามด้วยอุบายต่าง ๆ กำจัดเสียมิให้พักค้างอยู่ในจิต มีอกุศลใด ๆ จะเกิดขึ้นในใจก็ตาม พยายามกำจัดสลัดทิ้งมิให้คงอยู่ กระทำดังนี้อยู่เป็นประจำสม่ำเสมอเป็นวิริยสังวร

                   อาชีวปาริสุทธิศีล ซึ่งเป็นข้อหนึ่งในปาริสุทธิศีล ๕ ก็ถือเป็นสังวรศีลด้วย ถ้าจะถือว่า ศีล มีความหมายเดียว ก็หมายถึง สีลน แปลว่า ทรงไว้ ตั้งไว้

                   ศีล แบ่งเป็นหลายประเภท มี ๒, ๓, ๔ และ ๕
                   ศีล ๒ ประเภท นัยที่หนึ่ง ได้แก่ จาริตศีล และ วาริตศีล
                        จาริตศีล คือ ศีลที่พุทธศาสนิกชนประพฤติปฏิบัติ
                        วาริตศีล คือ ศีลที่เป็นข้อสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม

                   ศีล ๒ ประเภท นัยที่สอง ได้แก่ อภิสมาจารึกศีล และ อาทิพรหมจริยกศีล
                         อภิสมาจาริกศีล คือศีลของพระภิกษุที่จะกระทำอภิสมาจาริกวัตร (ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับความประพฤติ ขนบธรรมเนียมและมรรยาทความเป็นอยู่อันดีงาม มีเรื่องบาตรและจีวร เป็นต้น)
                         อาทิพรหมจริยกศีล ศีลที่พระภิกษุประพฤติเพื่อเป็นเบื้องต้นแห่งมัคคพรหมจรรย์

                   ศีล ๒ ประเภท นัยที่สาม ได้แก่ วิรัติศีล และอวิรัติศีล
                         วิรัติศีล ศีลที่มีเจตนางดเว้น
                         อวิรัติศีล ศีลที่ไม่มีเจตนางดเว้น

                   ศีล ๒ ประเภท นัยที่สี่ ได้แก่ นิสสิตศีล และอนิสสิตศีล
                         นิสสิตศีล เป็นศีลที่อาศัยตัณหาและทิฏฐิ เช่นต้องการให้เป็นที่เคารพยกย่อง เป็นต้น
                         อนิสสิดศีล เป็นศีลไม่อาศัยตัณหาและทิฏฐิ แต่อาศัยถือศีลเพื่อให้ถึงพระนิพพาน

                   ศีล ๒ ประเภท นัยที่ห้า ได้แก่ กาลปริยันตศีล และอาปาณโกฏิกศีล
                         กาลปริยันตศีล เป็นศีลที่รักษาโดยมีกำหนดกาลเวลา
                         อาปาณโกฏิกศีล รักษาศีลมีชีวิตเป็นที่สุด คือรักษายิ่งกว่าชีวิต และรักษาไปจนสิ้นชีวิต

                   ศีล ๒ ประเภท นัยที่หก ได้แก่ สปริยันต์ศีล และอปริยันต์ศีล
                         สปริยันต์ศีล ศีลมีที่สุด คือยอมเสียศีลเพราะเห็นแก่ ลาภ ยศ ญาติ อวัยวะและชีวิต
                         อปริยันตศีล ศีลไม่มีที่สุด รักษาแล้วไม่ได้เสียดายทั้งลาภ ยศ ญาติ อวัยวะและชีวิต

                   ศีล ๒ ประเภท นัยที่เจ็ด ได้แก่ โลกียศีล และโลกุตตรศีล
                         โลกียศีล ศีลที่เนื่องอยู่กับเรื่องทางโลก ยังเป็นเหตุให้ต้องอยู่ในภพสาม เพราะมีอาสวะ
                         โลกุตตรศีล ศีลที่ปฏิบัติเพื่อการพ้นจากวิสัยโลก อยู่เหนือโลก ไม่เนื่องในภพสาม
                         เป็นศีลที่ปราศจากอาสวะ เป็นเหตุให้รื้อตนออกจากภพ


                   ศีล ๓ ประเภท นัยที่หนึ่ง ได้แก่ หีนศีล อย่างต่ำ มัชฌิมศีล อย่างกลาง ปณีตศิล อย่างยิ่ง อย่างอุดม
                   หีนศีล ศีลที่รักษาอย่างมีความพอใจ ตั้งใจ ความพยามและปัญญา ระดับต่ำ น้อย
                          หรือ สมาทานด้วยปรารถนาจะให้มียศ
                          หรือ รักษาอย่างเศร้าหมองเพียงเพื่อยกตนข่มผู้อื่น ว่าตนมีศีลคนอื่นไม่มี
                          หรือ เพื่อประโยชน์จะได้สมบัติในภพ รักษาด้วยมีตัณหา
                   มัชฌิมศีล รักษาโดยมีความพอใจ ความตั้งใจ ความเพียร และปัญญาในระดับปานกลาง
                          หรือ สมาทานด้วยปรารถนาจะให้ได้บุญ
                          หรือ ไม่ได้ถือเพื่อยกยอตน ข่มขู่ผู้อื่น ให้เป็นที่มัวหมอง
                          หรือ เพื่อประโยชน์จะให้มีอานิสงส์ ได้เป็นสาวก หรือพระปัจเจกพุทธเจ้า
                   ปณิตศีล รักษาศีลด้วยความพอใจ ความตั้งใจ ความเพียร และปัญญาอันอุดม
                          หรือ รักษาเพื่ออาศัยให้เป็นคนละบาป เป็นคนประเสริฐเห็นว่ามีผลวิเศษควรท่า
                          หรือ ศีลที่เป็นไปเพื่อโลกุตตร พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ
                          หรือ เพื่อประโยชน์ยังสัตว์โลกทั้งปวงให้พ้นจากสังสารวัฏฏะ

                    ศีล ๓ ประเภท นัยที่สอง ได้แก่ เสขศีล อเสขศีล เนวเสขานาเลขศีล
                        เสขศีล ได้แก่ ศีลที่เกิดขึ้นเฉพาะผู้ได้รู้แจ้งในอริยมรรคทั้ง ๔ บรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค และอนาคามิผล ศีลที่เกิดขึ้นและดับลงพร้อมกับมรรคผลทั้ง ๓ นี้ เรียกว่าเสกขศีล
                     อเสขศีล ได้แก่ ศีลที่เกิดดับพร้อมกับการบรรลุอรหัตตมรรค อรหัตตผล เนวเสบานาเลขศีล ได้แก่ ศีลที่นอกจากเสียศีลและอเสขศีล คือ โลกิยศีลทั้งปวง

                       ศีล ๓ ประเภท นัยที่สาม ได้แก่ อัตตาธิปติศีล โลกาธิปติศีล และธัมมาธิปติศีล
                     อัตตาธิปติศีล คือศีลที่ถือ โดยเอาตนเองเป็นสำคัญ ปรารถนาจะละกรรมที่ไม่สมควรของตนเองเสีย ถือตนเป็นอธิบดี เคารพในตน
                   โลกาธิปติศีล มีโลกเป็นใหญ่ มีความปรารถนาจะหลีกหนีความครหาของสัตว์โลก ตนเป็นคนเคารพความเห็นของคนในโลกรักษาด้วยคารวะในโลก ชื่อว่าโลกาธิปไตยศีล
                     ธัมมาธิปติศีล มีธรรมเป็นใหญ่ รักษาศีลเพื่อจะบูชาพระธรรมเป็นใหญ่ เคารพในธรรม มีศรัทธาและปัญญาเป็นประธาน การรักษาด้วยความเคารพในธรรมดังนี้ เรียกว่า ธัมมาธิปไตยศีล

                      ศีล ๓ ประเภท นัยที่สี่ ได้แก่ ปรามัฏฐศีล อปรามัฏฐศีล และ ปฏิปัสสัทธิศีล
                      ปรามัฏฐศีล เป็นศีลที่จะพินาศฉิบหายได้ด้วยตัณหาและทิฏฐิ
                      อปรามัฏฐศีล คือศีลที่ปุถุชนรักษาเพื่อจะเป็นเหตุให้บรรลุอริยมรรค รวมทั้งศีลของพระเสขอริยบุคคล ๒ จำพวก ตั้งแต่พระโสดาปฏิมรรคบุคคล โสดาปฏิผลบุคคลไปจนถึงพระอรหัตตมรรคบุคคล
                      ปฏิปัสสัทธิศีล เป็นศีลของพระเสขบุคคลและพระอริยบุคคลทั้งฝ่ายมรรคและผล

                      ศีล ๓ ประเภท นัยที่ห้า ได้แก่ วิสุทธิศีล อสุทธิศีล และ เวมติกศีล
                      วิสุทธิศีล คือศีลที่พระภิกษุรักษาไว้ไม่ให้ต้องอาบัติ และพระภิกษุที่ต้องอาบัติผู้ได้เทสนาบัติแล้ว (ทำให้บริสุทธิ์)
                      อสุทธิศีล คือศีลที่พระภิกษุผู้ต้องอาบัติแล้ว มิได้ออกจากอาบัตินั้น ๆ เช่นออกด้วยเทสนาเป็นต้น
                      เวมติกศีล ศีลที่พระภิกษุมีความสงสัยในวัตถุ อาบัติ และอัชฌาจาร (การล่วงละเมิดศีล) คือสงสัยว่าศีลของตนไม่บริสุทธิ์ ก็พึงชำระเสียให้บริสุทธิ์ เพื่อให้เกิดความผาสุก

                      ศีล ๓ ประเภท นัยที่หก ได้แก่ กุศลศีล อกุศลศีล อพยากตศีล
                      กุศลศีล เป็นฝ่ายกุศลตรงข้ามกับอกุศล ส่วนอพยาก๓ หมายถึงเป็นกลาง ๆ ไม่ดี ไม่ชั่ว แต่อกุศลศีล ไม่มีอาการทั้ง ๔ ของศีลครบ นักปราชญ์จึงไม่นับเข้าในประเภทของศีล (อาการทั้ง ๔ ของศีล คือ ลักษณะ กิจ ผล อาสันนเหตุ)


                      ศีล ๔ ประเภท นัยที่หนึ่ง ได้แก่ หานภาคิยศีล ถิติภาคียศีล วิเสสภาคิยศีล และนิพเพทภาคิยศีล
                      หานภาคิยศีล เป็นศีลส่วนที่จะให้เสื่อม หมายถึงผู้รักษานั้นคบหาสมาคมกับผู้ไม่มีศีล ไม่คบคนมีศีล ล่วงละเมิดศีลที่ตนรักษาและไม่เห็นโทษของการละเมิดนั้น เป็นคนโง่ ไม่รู้ มากไปด้วยความดำริผิด ไม่รักษา สำรวมอินทรีย์ เรียกศีลดังนี้ว่า หานภาคียศีล เป็นส่วนที่จะให้เสื่อมสูญ
                      ถิติภาคิยศีล เป็นศีลส่วนที่จะให้ตั้งมั่น เป็นผู้มีความชื่นชมยินดีอยู่ด้วยศีลที่ตนรักษาไว้ได้ด้วยดี บริสุทธิ์ บริบูรณ์ แต่มิได้มีจิตคิดจะเล่าเรียนพระกัมมัฏฐานให้ยิ่งขึ้นต่อ ๆ ไป เรียกว่าเป็นเพียงศีลที่ตั้งมั่น
                      วิเสสภาคิยศีล เป็นศีลส่วนที่จะทำให้วิเศษ คือเมื่อรักษาศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ดีแล้ว ก็กระทำความเพียร เรียนพระกัมมัฏฐานสืบต่อขึ้นไป เพื่อประโยชน์ให้ได้สมาธิ
                      นิพเพทภาคิยศีล เป็นศีลที่ผู้รักษาเมื่อทำให้บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว มีอุตสาหะเจริญวิปัสสนา เพื่อให้เกิดความเหนื่อยหน่ายเบื่อหน่ายคลายกำหนัด เรียกว่า นิพเพทภาคิยศีล

                      ศีล ๔ ประเภท นัยที่สอง ได้แก่ ศีลพระภิกษุ ศีลพระภิกษุณี ศีลอนุปสัมบัน และ ศีลของคฤหัสถ์
                      ภิกษุศีล เป็นศีลของพระภิกษุ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ๒๒๗ ข้อ
                      ภิกษุณีศีล เป็นศีลของพระภิกษุณี มีบัญญัติไว้ ๓๑๑ ข้อ
                      อนุปสัมบันศีล เป็นศีลของสามเณร สามเณรี มี ๑๐ ข้อ
                      คฤหัสถศีล เป็นศีลของคฤหัสถ์ มีศีล ๕ ศีล ๘ ของอุบาสกอุบาสิกา รวมทั้งศีลอุโบสถด้วย

                      ศีล ๕ ประเภท นัยที่สาม ได้แก่ ปรกติศีล อาจารศีล ธัมมหาศีล และ ปุพพเหตุกศีล
                       ปรกติศีล เป็นศีลที่ปฏิบัติกันโดยสม่ำเสมอเป็นปรกติของประชาชน เช่นชาวอุตตรกุรุทวีป ไม่มีใครประพฤติล่วงศีล ๕ เลย เรียกว่าปรกติศีล
                      อาจารศีล เป็นข้อห้ามของกลุ่มชน ของสังคม หรือลัทธิประจำหมู่คณะ เช่นผู้เป็นนักบวชไม่ดื่มสุรา ในชนบท หรือตระกูล บางแห่ง เว้นการดื่มสุรา เว้นการฆ่าสัตว์ ตั้งไว้เป็นลัทธิ เป็นจารีต เป็นธรรมเนียม อันบรรพบุรุษประพฤติตาม ๆ กันไว้ ชนรุ่นหลังก็พากันประพฤติตาม
                        ธัมมตาศีล เป็นศีลของพระมารดาของพระโพธิสัตว์ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์ลงสู่ครรภ์พระมารดา มารดาพระโพธิสัตว์ ไม่มีจิตใจยินดีในกามคุณอารมณ์กับบุรุษเลย นี่เป็นธัมมตาศีล
                      ปุพพเหตุกศีล ศีลที่เคยรักษามาแล้วแต่กาลก่อน เป็นศีลของสัตว์ทั้งหลายผู้บริสุทธิ์ เช่นศีลของพระมหากัสสป และศีลของพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญศีลบารมีในชาตินั้น ๆ ชื่อว่า ปุพพเหตุกศีล

                      ศีล ๔ ประเภท นัยที่สี่ ได้แก่ ปาฏิโมกข์สังวรศีล อินทรียสังวรศีล อาชีวปาริสุทธิศีล และปัจจัยยสันนิสสิตศีล
                     ปาฏิโมกข์สังวรศีล ศีลที่พระภิกษุในพระพุทธศาสนาสำรวมสังวรระวังในข้อห้ามที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ถึงพร้อมด้วยความประพฤติ มารยาท อาจารและโคจร อยู่เป็นนิจ เห็นภัยในโทษทั้งหลาย แม้น้อยนิดเพียงเท่าอณู ก็ไม่ยอมก้าวล่วง เรียกว่าปาฏิโมกข์สังวร
                     อินทรียสังวรศีล เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุ พระภิกษุย่อมสำรวมสังวร ไม่ถือเอานิมิตและอนุพยัญชนะ เห็นว่าส่วนนั้นส่วนนี้งาม เช่นผมงาม ผิวงาม รูปร่างงาม ฯลฯ เพราะถ้ายึดถือผิดดังนั้น อกุศลธรรมอันลามก คือความโลภอยากได้ หรือความโทมนัสเสียใจเมื่อไม่ได้ ย่อมเกิดติดตามมา นอกจากนี้ยังสังวรระวังอินทรีย์อื่น มี หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เห็นเป็นดีงาม สังวรในอินทรีย์ทั้งปวง เรียกว่า อินทรียสังวรศีล
                      อาชีวปาริสุทธิศีล เมื่อพระภิกษุเว้นจากมิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตผิด โดยกรรมอันลามก เช่นประพฤติล่วงสิกขาบททั้ง ๖ เพื่อเลี้ยงชีวิต คือกระทำอาการกล่าวให้ทายกพิศวงด้วยกุหนวัตถุเหตุที่ตนโกหก ๓ ประการ เช่น เจรจากระซิบในที่ใกล้ กล่าวยกย่องตนต่อท้ายกเพื่อให้เขาถวายวัตถุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง กระทำนิมิตกรรม กล่าวปิดให้ทายกถวายของ และปรารถนาจะนำมาซึ่งลาภด้วยลาภ เป็นต้น เมื่อเว้นมิจฉาอาชีวะ เรียกว่า อาชีวะปาริสุทธิ
                      ปัจจัยสันนิสสิตศีล เป็นศีลที่เกิดจากการที่พระภิกษุบริสุทธิ์ด้วยการพิจารณาก่อนบริโภคจตุปัจจัย โดยใช้ปัญญาพิจารณาตามที่พระพุทธองค์ตรัสเทศนาไว้ ศีลที่บริสุทธิ์อันนี้เรียก ปัจจัยสันนิสสิตศีล


                       ศีล ๕ ประเภท นัยที่หนึ่ง ได้แก่ ปริยันตปาริสุทธิศีล อปริยันตปาริสุทธิศีล ปริปุรณปาริสุทธิศีล อปรามัฏฐปาริสุทธิศีล และปฏิปัสสัทธิปาริสุทธิศีล
                       ปริยันตปาริสุทธิศีล ได้แก่ศีลของอนุปสัมบันน เช่นศีลของสามเณร
                       อปริยันตปาริสุทธิศีล คือ ศีลของอุปสัมบัน ได้แก่ พระภิกษุ
                       ปริปุณณปาริสุทธิศีล เป็นศีลของปุถุชนทั้งหลาย ประกอบอยู่ในกุศลกรรมกระทำให้บริบูรณ์ในวิปัสสนา
                     ธรรมที่เป็นโลกีย์ และบรรลุถึงโคตรภูญาณ จนถึงเสขิยธรรม คือพระโสดามรรค ปฏิบัติโดยไม่อาลัยในกายและชีวิต มีจิตเสียสละแม้แต่ชีวิตเพื่อการปฏิบัติอันนี้เรียกปริปุณณปาริสุทธิศีล
                       อปรามัฏฐปาริสุทธิศีล คือ ศีลของพระเสขบุคคล ๒ จำพวก (เว้นอรหัตตผลบุคคล)
                       ปฏิปัสสัทธิปาริสุทธิศีล คือ ศีลของพระขีณาสวเจ้าที่เป็นพระสาวก ศีลของพระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

                       การรักษาศีลที่ได้รับอานิสงส์อันยิ่ง ควรรักษาด้วยชีวิต ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าว่า
                       "ธนํ จเช องฺควรสฺส เหตุ”
                       บุคคลพึงละเสียซึ่งทรัพย์ เพราะเหตุจะรักษาไว้ซึ่งอวัยวะอันประเสริฐ
                       “องคํ จเซ ชีวิตํ รกฺขมาโน”
                       เมื่อบุคคลจะรักษาไว้ซึ่งชีวิต ก็พึงสละเสีย ซึ่งอวัยวะ
                       "องฺคํ ธนํ ชีวิตญฺจาป สพฺพํ นโร ธมฺมนุสรนโต”
                       เมื่อบุคคลระลึกถึงเนือง ๆ ซึ่งพระสัทธรรม ก็พึงสละเสียทั้ง ๓ ประการ คือ ทรัพย์ อวัยวะ และชีวิต เพื่อรักษาพระสัทธรรมนั้น

                       ศีล ๕ ประเภท นัยที่สอง ได้แก่ ปทานศีล เวรมณีศีล เจตนาศีล สังวรศีล และอวิติกุกมศีล
                       ปทานศีล เป็นศีลที่เกิดจากการสละเสียซึ่งอกุศลนั้น ๆ
                       เวรมณีศีล คือเจตนาที่เป็นเหตุเว้นจากอกุศลนั้น
                       เจตนาศีล คือ เจตนาอันเป็นข้าศึกแก่อกุศลนั้น
                       สังวรศีล คือ การปิดช่องทางที่อกุศลนั้นจะเข้าไปได้
                       อวิตกกมศีล คือกิริยาที่ไม่ทำให้ล่วงในอกุศลนั้น

                       การประพฤติในศีลทุกชนิด ความมุ่งหมายก็เพื่อ
                              มิให้จิตมีความกินแหนงเดือดร้อน
                              จะให้ได้ดรุณปิติ ปีติอย่างอ่อน
                              ให้ได้พลวปีติ ปีติอันมีกำลังกล้า
                              ให้ได้ปัสสัทธิ รำงับกายและวาจา
                              ให้ได้โสมนัส
                              ให้ได้เสพสมาธิ
                              ทำให้สมาธิเจริญขึ้นมาก ๆ
                              เกื้อหนุนการท่าสมาธิ
                              ทำให้ธรรมวิเศษ เช่น สติ วิริยะ บังเกิดขึ้น
                              ทำให้สมาธิเกิดบริบูรณ์ เกิดเหนื่อยหน่ายในเตภูมิกธรรม (ธรรมที่ทำให้เวียนว่ายอยู่ในภพ ๓) และเพื่อประพฤติในทางวิราคะ ปราศจากความยินดี
                       เป็นไปเพื่อนิโรธ และเข้าไปสงบรำงับ ตรัสรู้ยิ่ง ตรัสรู้ด้วยดี ประพฤติเป็นไปเพื่อพระนิพพานอันปราศจากปัจจัยปรุงแต่ง

                       ศีล ประกอบด้วยลักขณะ กิจ ผล และอาสันนเหตุ
                       ลักขณะของศีล คือ เป็นที่ทรงไว้ซึ่งกุศลธรรมทั้งทางกาย วาจา ใจ เป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ที่เรียกว่าเป็นลักษณะเพราะเหตุที่ไม่ก้าวล่วงสภาวะแห่งศีลประเภทต่าง ๆ
                       กิจของศีล กิจแปลว่าหน้าที่ หน้าที่ของศีล คือ การกำจัดเสียซึ่งสภาวะความไม่มีศีล (ทุศีล)
                       ผลของศีล คือ สภาวะที่สะอาดทั้งกายและวาจา
                       อาสันนเหตุของศีล สาเหตุใกล้ ๆ คือ การเกรงกลัว และละอายต่อการทำบาป (หิริ โอตตัปปะ)
                       อานิสงส์ของศีล มีดังนี้
                       ๑. มลวิโสธนํ                       เป็นเครื่องชำระมลทิน
                       ๒. ปริฬาหวูปสมนํ                เป็นเครื่องระงับความเร่าร้อน
                       ๓. สุคนฺธวายนํ                     เป็นเครื่องทําให้กลิ่นหอมฟุ้งไป
                       ๔. สคฺคนิพฺพานาธิคมฺปายํ     เป็นอุบายให้ได้สวรรค์และพระนิพพาน
                       ๕. โสภาลงฺการปสาธน์ํ         เป็นเครื่องประดับอันงดงาม
                       ๖. ภยวิธมนํ                         เป็นเครื่องกำจัดภัยอันตราย
                       ๗. กิตฺติชนนํ                       เป็นสิ่งทำให้มีชื่อเสียง
                       ๘. ปาโมชฺชํ                        เป็นสิ่งที่ทําให้รื่นเริง

                      ผู้รักษาศีลให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ ย่อมอำนวยผลให้เกิดดังนี้
                      ๑. โภคสมฺปทา                เป็นเหตุให้ได้ทรัพย์สมบัติ ข้าทาสบริวาร
                      ๒. กลฺยาณกิตฺติ               เป็นเหตุให้มีชื่อเสียงดี
                      ๓. สมุดวิสารทํ                เป็นเหตุให้เป็นคนแกล้วกล้าอาจหาญเวลาเข้าสังคม
                      ๔. อสมฺมุฬหํ                   เป็นเหตุให้มีสติ ไม่หลงในเวลาใกล้ตาย
                      ๕. สุคติปรายนํ                เป็นเหตุให้เกิดในสุคติ 

                      ในการสมาทานศีลจากพระภิกษุสงฆ์ ท่านจะกล่าวคุณของศีลให้ผู้สมาทานฟังว่า
                      ๑. สีเลนะ สุคะติง ยันติ คนจะไปสู่สุคติภูมิได้ ก็เพราะศีล (สุคติได้แก่ภูมิของมนุษย์และเทวดา)
                      ๒. สีเลนะ โภคะสัมปะทา คนจะพรั่งพร้อมด้วยสมบัติ ก็เพราะศีล
                      ๓. สีเลนะ นิพพุติง ยันติ คนจะไปพระนิพพานได้ก็เพราะศีล

 

             การกล่าวดังนี้มิใช่ศีลจะนำสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวแล้วมาให้โดยตรง แต่ศีลที่รักษาบริสุทธิ์ดีนั้นเป็นรากฐาน เป็นเบื้องต้นของการทำความดีทุกชนิด การกระทำกุศลชั้นสูง เช่นการเจริญภาวนา ถ้าไม่รักษาศีลให้บริสุทธิ์แล้ว การกระทำภาวนานั้นไม่มีทางสำเร็จผล เพราะจิตของผู้นั้นย่อมฟุ้งซ่าน เร่าร้อน นอกจากนั้น ศีลแต่ละข้อยังอำนวยประโยชน์ให้ผู้ปฏิบัติรักษา ได้รับผลแตกต่างกันไปเช่น ในการรักษาศีล


             ข้อที่ ๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นเหตุให้มีอายุยืน มีโรคน้อย สุขภาพร่างกายแข็งแรง เป็นต้น
             ข้อที่ ๒. เว้นจากการลักทรัพย์ เป็นเหตุให้มีสมบัติมาก เมื่อมีแล้วรักษาสมบัติไว้ได้ยั่งยืนไม่พบความวิบัติ
             ข้อที่ ๓. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เป็นเหตุให้ได้คู่ครองดี มีความรักมั่นคงครอบครัวไม่แตกแยก
             ข้อที่ ๔. เว้นจากการพูดปด เป็นเหตุให้เป็นคนมีคำพูดน่าเชื่อถือ มีเสียงไพเราะไม่มีกลิ่นปาก
             ข้อที่ ๕. เว้นจากการดื่มสุราเมรัยฯ เป็นเหตุให้มีสติมั่นคง ไม่หลงลืม มีปัญญาดี เฉลียวฉลาด


             ผู้มีศีลห้าครบถ้วนบริบูรณ์ ท่านผู้เป็นปราชญ์กล่าวว่า เมื่อสิ้นชีวิตจากโลกนี้แล้วจะได้เกิดเป็นมนุษย์อีก และเพียบพร้อมด้วย รูปสมบัติ คุณสมบัติ ทรัพย์สมบัติและบริวาร เรียกว่าได้มนุษย์สมบัติอันวิเศษ

              สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเรื่องอานิสงส์ของศีลกับพระอานนท์ไว้ว่า
              ศีลที่เป็นกุศล                 ทำให้เกิด อวิปปฏิสาร (ความไม่เดือดร้อนใจ)
              อวิปปฏิสาร                    ทำให้เกิด ปราโมทย์ (ความปลื้มใจ)
              ปราโมทย์                      ทําให้เกิด ปีติ (ความอิ่มใจ ความดื่มด่าในใจ)
              ปีติ                                ทำให้เกิด ปัสสัทธิ (ความสงบกาย สงบใจและอารมณ์)
              ปัสสัทธิ                         ทำให้เกิด สุข
              สุข                                ทำให้เกิด สมาธิ
              สมาธิ                            ทำให้เกิด ยถาภูตญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็นตามเป็นจริง)
              ยถาภูติญาณทัสสนะ        ทำให้เกิด นิพพิทาวิราคะ (ความรู้ที่ทำให้เบื่อหน่ายจนสูงสุดในกองทุกข์ ปราศจากราคะ)
              นิพพิทาวิราคะ                 ทำให้เกิด วิมุตติญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็นว่าจิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวทั้งหลาย)

              วิมุตติญาณทัสสนะ เป็นระดับจิตของพระอรหันต์
              ศีลที่เป็นกุศล จึงนับว่ามีอานิสงส์ให้เกิดคุณธรรม ความดีงามต่าง ๆ ตั้งแต่เบื้องต้นจนสูงสุด

              ต้นไม้น้อยใหญ่เจริญงอกงามเติบโตได้ เนื่องจากได้อาศัยพื้นแผ่นดินเป็นที่รองรับอยู่ พระภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่อจะบำเพ็ญสมณกิจให้ได้รับประโยชน์เต็มที่ จำต้องอาศัยการรักษาศีลให้บริสุทธิ์เป็นที่รองรับ เมื่อตั้งมั่นอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้ยิ่งขึ้น ย่อมมีความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย เช่นบังเกิด วิเวก วิราคะ นิโรธ ตามลำดับ
              เมื่อตั้งมั่นอยู่ในศีล ทำให้โพชฌงค์ ๗ เจริญยิ่งขึ้น

              เมื่อตั้งมั่นอยู่ในศีล ทำให้อินทรีย์ ๕๒ เจริญยิ่งขึ้น

              อานิสงส์ของศีล ในคัมภีร์วิสุทธิมัคคี กล่าวไว้ว่า
              ๑. การรักษาศีล เป็นสิ่งให้คุณประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้ปราศจากความกินแหนงเดือดร้อนทั้งตนเอง และผู้อื่น พระพุทธองค์ตรัสว่า
                 "อวิปปฏิสารตฺถาน โข ปนานนท์”
                 ดูกรภิกษุชื่อว่าอานนท์ ศีลทั้งหลายนี้ เป็นธรรมอันมิได้มีโทษ มีความระลึกถึงกรรมแห่งตนที่รักษาศีล เป็นธรรมอันนักปราชญ์ไม่พึงติเตียน ได้เป็นประโยชน์ และมิได้เดือดร้อนกินแหนงเป็นอานิสงส์
                 นอกจากนี้พระพุทธองค์ตรัสอานิสงส์อีก ๕ ประการคือ
              ๒. “ดูกรคหบดีทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้มีศีล รักษาศีลบริบูรณ์ บุคคลนั้นย่อมจะได้กองสมบัติเป็นอันมาก บังเกิดขึ้นแก่ตน เพราะตนมิได้ประมาท"
              ๓. “ดูกรคหบดีทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้รักษาศีล ยังศีลให้บริบูรณ์ กิตติศัพท์กิตติคุณอันสุนทรภาพไพบูลย์ของกุลบุตรนั้น ย่อมจะฟุ้งเฟืองไปในทิศานุทิศทั้งปวง
              ๔. “ดูกรคหบดีทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้มีศีลและยังศีลให้บริบูรณ์นั้น จะไปสู่ท่ามกลางบริษัท คือ ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัทคหบดีบริษัท และสมณบริษัท กุลบุตรผู้นั้นก็ย่อมองอาจแกล้วกล้า เหตุว่ากุลบุตรนั้นปราศจากโทษ มิได้ประกอบด้วยโทษมิควรที่บุคคลจะพึ่งติเตียนตน จะได้เป็นชนนั่งเก้อเขินก้มหน้าหามิได้
              ๕. “ดูกรคหบดีทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้มีศีลและบริบูรณ์ด้วยศีลนั้น ย่อมประกอบด้วยความเลื่อมใส กระทำกาลกิริยาตายด้วยความเลื่อมใส มิได้หลงลืมสติ”
              ๖. "ดูกรคหบดีทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้มีศีลและบริบูรณ์ด้วยศีลนั้น ครั้นทำลายกายคือ อุปาทิณณกรูป (รูปที่มีใจครอง) เบื้องหน้าแต่มรณะ (เมื่อตายแล้ว) จะได้ไปบังเกิดในมนุษยสุคติ และสวรรคสักกะเทวโลก”
                 นอกจากนั้นพระพุทธองค์ตรัสไว้อีกว่า
              ๗. "อาเขยย เจ ภิกฺขเว ภิกขุ”
                  "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแลว่าพระภิกษุในพระศาสนานี้ปรารถนาว่า จะให้ตนเป็นที่รักแก่สุพรหมจรรย์ทั้งปวง และจะยังตนให้เป็นที่เลื่อมใส เป็นที่เคารพ เป็นที่สรรเสริญแห่งสุพรหมจรรย์ทั้งหลาย ภิกษุนั้นจึงพยายามกระทำตนให้ตั้งอยู่ในศีล รักษาศีลให้บริบูรณ์"
              ๘. ศีลย่อมมีอานิสงส์ให้กุลบุตรในพระศาสนาได้สำเร็จอริยมรรค อริยผลสําเร็จอาสวักขยญาณในที่สุด
              ๙. มหานที น้ำในแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี มหิมหา สรภู ไม่อาจสามารถชำระล้างมลทินของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ให้บริสุทธิ์ได้แต่แม่น้ำสายใหญ่ คือ ปาริสุทธิศีลสังวร สามารถชำระล้างราคาทีมลทินโทษอันหม่นหมองดองอยู่ในจิตสันดานของสัตว์ทั้งหลาย ให้บริสุทธิ์ได้
              ๑๐. "น ที่ สชลชา วาตา
                      ลมและฝนระคนกันบันดานตกลงมายังแผ่นพสุธาให้ชุ่มไปด้วยธาราวารี ยังคณานิกรสัตว์ทั้งปวงในโลกให้เย็นทรวงดับหฤทัยเพียงใดก็ระงับได้เพียงกระวนกระวายภายนอก ไม่สามารถดับความกระวนกระวายกล่าวคือราคาที่กิเลสภายในได้ เหมือนกับด้วยสังวรศีลแห่งกุลบุตร
              ๑๑. "น จาปี หริจนฺทน์” ของที่สัมผัสแล้วเย็น เช่น แก่นจันทน์แดง สัตตรัตนะ (เช่นแก้วมุกดาหารเป็นต้น) รัศมีเย็นตาของแสงจันทร์ ของเหล่านี้ สัมผัสแล้วเย็นกายเย็นตาเพียงไหน ไม่อาจระงับความกระวนกระวายเร่าร้อนที่เกิดจากทุจริตได้
                     “ย์ สเมตท์ อริย์” ศีลอันใดที่พระโยคาวจรเจ้ารักษาดี เป็นศีลบริสุทธิ์ ศีลนั้นแหละเป็นของเย็น สามารถระงับความเร่าร้อนกระวนกระวายของทุจริตได้
              ๑๒. "สีลคนธสโม คนโธ กุโต นาม ภวิสฺสติ”
                    กลิ่นที่จะฟังได้ทั้งตามลม และทวนลม เหมือนกลิ่นของศีลเป็นไม่มี
             ๑๓. “สคคาโรหณโสปาณ
                    สิ่งอื่นจะเป็นบันไดให้สัตว์ขึ้นไปสู่สวรรค์ และจะเป็นประตูเข้าสู่มหานคร คือพระอมตมหานิพพาน เสมอด้วยศีลนั้นมิได้มี
             ๑๔. “โสภนฺเตว น ราชาโนอนึ่งบรมขัตติยาเจ้าทั้งหลาย มีพระวรกายอันประดับด้วยอลังกรวิภูษิต อันแล้ว ด้วยแก้วมุกดาหารอันวิจิตร สรรพรัตนาภรณ์ทั้งปวง ก็ไม่งามเหมือนพระโยคาวจรภิกษุอันทรงศีลวิสุทธิ์เป็นอาภรณ์
             ๑๕. "อตตา วาทาทิภ
                   พระภิกษุในพระพุทธศาสนาที่ทรงศีลบริสุทธิ์ จะกำจัดเสียซึ่งภัย คือตนก็ติเตียนตนไม่ได้ บุคคลผู้อื่นก็ติเตียนตนไม่ได้ พระภิกษุผู้มีศีลบริสุทธิ์นั้นย่อมสรรเสริญตน ทั้งมีปีติโสมนัสเกิดขึ้นได้ในตน

             ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นอานิสงส์ของศีล อันมีคุณสามารถฆ่าหมู่แห่งอกุศลธรรมอันประกอบด้วย โทษมีทุจริตเป็นมูล

             ต่อไปนี้จะขอกล่าวถึงศีลบางประเภทที่ควรทราบให้ละเอียดขึ้นเพื่อสะดวกในการยึดถือปฏิบัติ คือ ศีล ๕ ประเภท นัยที่สอง ได้แก่ ศีลของคฤหัสถ์ ศีลของอนุปสัมบัน

             ศีลของพระภิกษุ ศีลของพระภิกษุณี
             ศีลของคฤหัสถ์ ได้แก่ศีล ๕ หรือ ศีล ๘
             ศีล ๕ คือ
             ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากการฆ่าสัตว์ที่มีชีวิตให้ตกล่วงไป
             ๒. อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากการลักทรัพย์ ที่เจ้าของมิได้อนุญาต
             ๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากการประพฤติผิดในกาม คือผิดประเวณี
            ๔. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากมุสาวาท การพูดเท็จ
            ๕. สุราเมรย มัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เว้นจากการดื่มเครื่องดองของมึนเมา มีสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

            ศีล ๘ คือ ศีลที่เพิ่มจากศีล ๕ อีก ๓ ข้อ และปลี่ยนแปลงข้อ ๓ ของศีล ๕ เป็น
            ๓. อพรหมจริยา เวรมณี เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์ คือประพฤติอย่างพรหม เว้นจากการเสพเมถุนธรรม
            ๖. วิกาลโภชนา เวรมณี เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล
            ๗. นัจจะคีตะวาทิตตะวิสูกะทัสสะนะมาลาคันธะวิเลปะนะ ธาระณะ มัณฑะนะวิภูสะนัฏฐานา เวรมณี เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ การทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง
            ๘. อุจจาสะยะนะ มะหาสะยะนา เวรมณี เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่หรูหราฟุ่มเฟือยภายในมีนุ่นและสำลี

            ศีลของพระภิกษุ ๒๒๗ ข้อ แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ใหญ่ ๆ ได้แก่
            สิกขาบท ที่กล่าวเรื่อง ปาราชิก (โทษหนักถึงขาดจากการเป็นพระภิกษุ จะบรรพชาใหม่อีกไม่ได้) มี ๔ สิกขาบท
            สิกขาบท ที่กล่าวเรื่อง สังฆาทิเสส (รองลงไปจากโทษปาราชิก ไม่ถึงขาดจากความเป็นพระภิกษุ แต่ต้องรับการลงโทษตามพุทธบัญญัติ) มี ๑๓ สิกขาบท
            สิกขาบท ที่กล่าวเรื่อง อนิยต เป็นอาบัติไม่แน่นอน มี ๒ สิกขาบท
            สิกขาบท ที่กล่าวเรื่อง นิสสัคคีย เป็นอาบัติปาจิตตีย์ เกี่ยวกับการต้องสละสิ่งของ มี ๓๐ สิกขาบท

              สิกขาบทที่กล่าวเรื่อง ปาจิตตีย์ เป็นอาบัติเบา ทำให้กุศลธรรมเสื่อม มี ๔๒ สิกขาบท
            สิกขาบทที่กล่าวเรื่อง ปาฏิเทสนียะ มี ๔ สิกขาบท
            สิกขาบทที่กล่าวเรื่อง เสขิยะ มี ๔ หมวด
                        หมวดที่ ๑ สารูป มี ๒๖ สิกขาบท
                        หมวดที่ ๒ โภชนะ มี ๓๐ สิกขาบท
                        หมวดที่ ๓ ธัมมเทสนามี ๑๖ สิกขาบท
                        หมวดที่ ๔ ปกิณณกะ มี ๓ สิกขาบท
             สิกขาบทที่กล่าวเรื่อง อธิกรณสมถะ มี ๗ สิกขาบท รวมทั้งหมด ๒๒๗ สิกขาบท
               ศีล ๑๐ ของ สามเณร สามเณรี (ในสมัยนี้ไม่มีสามเณรีแล้ว เพราะไม่มีพระภิกษุณี)
               ข้อ ๑. ถึงข้อ ๖ เหมือนศีล ๘
                 ๗. นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนา เวระมะณี
                 ๘. มาลาคันธะ วิเลปะนะ ธาระณะ มัณฑะนะ วิภูสะนัฏฐานา เวระมะณี
                 ๙. อุจจาสะยะนะ มะหาสะยะนา เวระมะณี
                 ๑๐. ชาตะรูปะระชะตะปะฏิคคะหะนา เวระมะณี เว้นจากการรับทองและเงิน หรือของที่ใช้แทน


         ศีล ๒๒๗ ของพระภิกษุ (จากพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง กรมการศาสนา เล่ม ๑ เล่ม ๒ หรือ จากภิกษุปาฏิโมกข์) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบททั้งหลายแก่พระภิกษุ อาศัยอำนาจเห็นแก่ประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
                ๑. เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคณะสงฆ์ว่า ข้อห้ามเหล่านี้เป็นความดี
                ๒. เพื่อให้คณะสงฆ์ ได้อยู่ร่วมกันโดยผาสุกสำราญ
                ๓. เพื่อให้ข้อห้ามเหล่านี้เป็นเครื่องข่มบุคคลผู้ไม่รู้จักละอาย (ผู้เก้อยาก)
                ๔. เพื่อให้พระภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักได้อยู่สำราญ
                ๕. เพื่อป้องกันอาสวะอันจะเกิดขึ้นในปัจจุบัน
                ๖. เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต
                ๗. เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส
                ๘. เพื่อความเลื่อมใสมีเพิ่มยิ่งขึ้นในชุมชนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว
                ๙. เพื่อให้พระสัทธรรมตั้งมั่นอยู่ได้นาน
                ๑๐. เพื่อเป็นเครื่องยึดถือตามธรรมวินัย คือเป็นระเบียบข้อประพฤติปฏิบัติเดียวกันไม่อาจคัดค้าน


        หมวดปาราชิก มี ๔ สิกขาบท ผู้ล่วงละเมิดถือว่าหมดสภาพการเป็นพระภิกษุ
                ๑. เสพเมถุนธรรม แม้ในเดรัจฉานตัวเมีย
                ๒. ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้
                ๓. ฆ่ามนุษย์ หรือหาอาวุธให้ หรือพรรณนาคุณของความตาย ชักชวนให้ตาย
                ๔. ไม่รู้จริง ไม่มีจริง กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม (ยกเว้นสำคัญผิด)


       หมวดสังฆาทิเสส มี ๑๓ สิกขาบท ผู้ล่วงละเมิด สงฆ์เป็นผู้ปรับโทษให้อยู่กรรมเป็นผู้ระงับอาบัติ
                ๑. ปล่อยสุกกะ (น้ำอสุจิ หรือน้ำกาม) ด้วยความจงใจ (ยกเว้นนอนหลับฝันไป)
                ๒. มีจิตกำหนัดแปรปรวนแล้ว เคล้าคลึงทางกายกับมาตุคาม จับมือ ลูบผมหรืออวัยวะใดก็ตาม
                ๓. มีจิตกำหนัดแปรปรวนแล้ว พูดเคี้ยวด้วยวาจาชั่วหยาบต่อสตรี เหมือนชายหนุ่มเคี้ยวหญิงสาว
                ๔. มีจิตกำหนัดแปรปรวนแล้ว กล่าวคุณในการบำเรอกามให้ตนในที่อยู่ของสตรี
                ๕. เป็นพ่อสื่อชักนำให้ชายหญิงรักใคร่ หรือเพื่อการเสพกามกัน
                ๖. ถ้าจะสร้างที่อยู่อาศัยของตนเอง สร้างได้ขนาดไม่เกินความยาว ๑๒ คืบกว้าง ๗ คืบ ฯ
                ๗. ถ้าจะสร้างวิหารใหญ่ ต้องเป็นสถานที่ที่ได้รับอนุญาต ไม่มีผู้จองไว้ ฯ
                ๘. กล่าวฟ้องภิกษุอื่นที่ไม่มีความผิด ด้วยข้อหาอาบัติที่มีโทษถึงปาราชิกด้วยความโกรธ โดยเจตนาต้องการกลั่นแกล้ง
                ๙. กล่าวฟ้องทำนองเดียวกับข้อ ๔ แต่เป็นไปโดยเลศ เช่นอ้างว่าเห็นคลับคล้ายว่าเป็น ฯ
                ๑๐. พยายามทำลายความสามัคคีของหมู่สงฆ์ สงฆ์ว่ากล่าวแล้วยังไม่เชื่อฟัง ฯ
                ๑๑. พูดเข้ากันกับพระภิกษุที่กล่าวผิด สงฆ์ว่ากล่าวตักเตือน ยังไม่เชื่อฟัง ฯ
                ๑๒. ภิกษุหัวดื้อ ไม่ยอมให้ใครว่ากล่าวตักเตือน สงฆ์ห้ามปรามแล้วไม่เชื่อฟัง ฯ
                ๑๓. เป็นภิกษุที่ประพฤติตนให้คฤหัสถ์ดูถูก (ประทุษร้ายสกุล) สงฆ์ตักเตือนว่ากล่าว กลับไม่เชื่อฟัง


       หมวดอนิยต มี ๒ สิกขาบท แปลว่าวางอาบัติไว้ไม่แน่
                ๑. ภิกษุผู้เดียวนั่งอยู่ในที่ลับ (มีที่กำบัง) พอจะทำการได้กับมาตุคาม (สตรี) ผู้เดียว และอุบาสิกา มีวาจาเชื่อถือได้ เห็นเข้า นำมากล่าวโทษด้วยอาบัติใดอาบัติหนึ่งปาราชิกก็ดี สังฆาทิเสสก็ดี ปาจิตตีย์ก็ดี ภิกษุผู้นั้นจะต้องถูกปรับให้เป็นผู้มีความผิดดังนั้น
                ๒. แม้สถานที่ที่ภิกษุผู้เดียวกับสตรีผู้เดียวอยู่ด้วยกันนั้น จะเป็นที่ไม่กำบังพอจะกระทำการได้ แต่เป็นที่ที่ภิกษุนั้นพอจะพูดเกี่ยวด้วยวาจาชั่วหยาบ อุบาสิกาที่มีวาจาเชื่อถือได้ กล่าวโทษด้วยอาบัติสังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ก็ดี ภิกษุจะถูกปรับด้วยอาบัตินั้น


        หมวดนิสสัคคิยปาจิตตีย์ มี ๓๐ สิกขาบท แปลว่า อาบัติปาจิตตีย์อันทำให้ต้องสละสิ่งของ
        นิสสัคคิยะ แปลว่า ทำให้สละสิ่งของ
        ปาจิตตีย์ แปลว่า การละเมิด (ทำความผิด) ที่ทำให้คุณความดีตกไป
        หมวดนิสสัคคิยปาจิตตีย์ จัดเป็น ๓ ตอน แต่ละตอนมี ๑๐ สิกขาบท มีจีวรวรรคโกสิยวรรค และปัตตวรรค

        จีวรวรรค
               ๑. จีวรสำเร็จแล้ว สำหรับพระภิกษุที่มีกฐินเดาะ เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ไม่เกิน ๑๐ วัน จากนั้นไปต้องสละ ไม่สละเป็นอาบัตินิสสัคคิยะ
               ๒. จีวรสำเร็จแล้ว สำหรับภิกษุที่มีกฐินเดาะ อยู่โดยไม่มีไตรจีวรครบไม่ได้เว้นแต่ภิกษุนั้นได้รับสมมติแล้ว
               ๓. จีวรสำเร็จแล้ว สำหรับพระภิกษุที่มีกฐินเดาะ ถ้ามือกาลจีวรเกิดขึ้น แต่ผ้านั้นยังไม่ครบ ถ้ายังหวังว่าจะได้เพิ่มให้ครบ สามารถเก็บไว้คอยได้ไม่เกิน ๑ เดือน เกินไปมีโทษ
               ๔. ภิกษุใดให้ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ให้ซักก็ดี ให้ย้อมก็ดี ซึ่งจีวรเก่าของตน เป็นอาบัตินิสสัคคิยะ
               ๕. ภิกษุใดรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เว้นไว้แต่มีของแลกเปลี่ยน
               ๖. ภิกษุใดขอจีวรจากผู้มิใช่ญาติ นอกจากสมัย (คราวจ่าเป็นเช่นถูกชิงเอาไปหรือเกิดเสียหายอื่น ๆ)
               ๗. ถ้ามีผู้น่าจีวรมาถวายเป็นอันมากให้พระภิกษุหยิบไปได้ตามพอใจ ภิกษุใดหยิบไปเกินกว่าอุตตราสงฆ์ (ผ้าห่ม) กับอันตรวาสก (ผ้านุ่ง) ไม่ได้ ถ้าต้องการเกินกว่านั้นเป็นอาบัติ
               ๘. ผู้มิใช่ญาติเตรียมทรัพย์ไว้จะซื้อจีวรถวายภิกษุด้วยทรัพย์จำนวนเท่านี้ถวายภิกษุชื่อนั้น ๆ ถ้าภิกษุนั้นไม่ได้รับปวารณาไว้ก่อนเข้าไปหา และกำหนดบอกว่าจะ เอาจีวรอย่างนั้นอย่างนี้ ราคาเท่านั้นเท่านี้ แม้เขาจะจัดแจงให้ตามประสงค์ก็เป็นอาบัติ
               ๙. ถ้ามีผู้มิใช่ญาติ ๒ คนเตรียมจ่ายทรัพย์ซื้อจีวรถวายคนละผืน ภิกษุเข้าไปขอให้เอาทรัพย์รวมกันซื้อเพียงผืนเดียว (เพื่อให้ได้จีวรอย่างดี) เป็นอาบัติ
               ๑๐. ถ้ามีผู้ส่งคนนำทรัพย์ไปเพื่อจัดซื้อจีวรถวายภิกษุ โดยมอบทรัพย์ไว้ให้ไวยาวัจกรจัดซื้อ ภิกษุพึงทวงเอาที่ไวยาวัจกร ๒-๓ ครั้ง ถ้ายังไม่ได้ จึงเข้าไปยืนนิ่งอยู่ต่อหน้า ไม่เกิน ๕-๖ ครั้งเป็นอย่างมาก ถ้าทวงเกินนั้นต้องอาบัติ เมื่อไม่ได้จีวรแน่นอนแล้วควรส่งข่าวให้เจ้าของทรัพย์ทราบ เพื่อให้มาทวงทรัพย์คืนไปเสีย จึงเป็นการสมควร


        โกสิยวรรค
              ๑. ภิกษุใดให้ทำสันถัต (ที่รองนั่ง) เจือด้วยไหม
              ๒. ภิกษุใดให้ท่าสันถัตด้วยขนเจียมดำล้วน
              ๓. ถ้าภิกษุให้ทำสันถัตใหม่ ให้ใช้ขนเจียมดำล้วน ๒ ส่วน ขาว ๑ ส่วน แดง ๑ ส่วน ถ้าไม่ใช้ตามนี้เป็นอาบัติ
              ๔. ภิกษุทำสันถัตใหม่ ต้องใช้ให้นานถึง ๖ ฤดูฝน ถ้าทิ้งก่อนเวลาดังกล่าว หรือไม่ทิ้งก็ตามให้ทำอันใหม่แทนเป็นอาบัติ ยกเว้นแต่ภิกษุได้สมมติ
              ๕. ภิกษุผู้ให้ทำสันถัตสำหรับนั่ง ให้ถือเอาคืนสุคตโดยรอบของสันถัตเก่า เพื่อทำให้เสียสี ถ้าให้ทำใหม่โดยไม่ถือเอาคืนสุคตโดยรอบของเก่า เป็นอาบัติ (ความมุ่งหมายเพื่อไม่ให้ทิ้งของเก่า)
              ๖. ภิกษุผู้เดินทาง มีผู้ถวายขนเจียม ถ้าภิกษุนั้นต้องการพึงรับได้ หากไม่มีคนอื่นถือให้ ตนต้องถือน่าไปเอง ให้ถือไปได้ไม่เกิน ๓ โยชน์ ถ้าถือเป็นระยะทางที่กล่าวนี้ แม้จะไม่มีคนถือให้ ก็ถือเองไม่ได้อาบัติ
              ๗. ภิกษุใดให้ภิกษุณีที่มิใช่ญาติ ซัก ย้อม หรือสาง ขนเจียม เป็นอาบัติ
              ๘. ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ทอง เงิน หรือยินดีทองเงินที่เขาเก็บไว้ให้ก็ดี เป็น
              ๙. ภิกษุใดใช้รูปิยะแลกเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ
              ๑๐. ภิกษุใดทำการซื้อขายสิ่งต่าง ๆ


        ปัตตวรรค เกี่ยวกับเรื่องบาตร มี ๑๐ สิกขาบท
              ๑. ภิกษุใดได้อติเรกบาตรมา (บาตรที่มีเกินกว่า ๑ ใบ) เก็บไว้ได้ไม่เกิน ๑๐ วัน
              ๒. ถ้าบาตรมีแผลน้อยกว่า ๕ แห่งและเปลี่ยนบาตรใหม่ เป็นอาบัติ
              ๓. ถ้ามีเภสัชที่ภิกษุอาพาธควรบริโภคได้ คือเนยใส เนยขึ้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำ อ้อย ภิกษุรับ (ประเคน) ของนั้นแล้ว เก็บไว้ได้ไม่เกิน ๗ วัน เกินนั้นเป็นอาบัติ
              ๔. เมื่อภิกษุทราบว่ายังเหลือฤดูร้อนอยู่อีกเพียง ๑ เดือน จึงแสวงหาผ้าอาบน้ำฝนได้ ถ้าฤดูร้อนยังเหลืออีกครึ่งเดือนจึงทำนุ่งได้ ถ้าเวลาเกินกว่านั้นเป็นอาบัติ
              ๕. ภิกษุที่ให้จีวรของตนแก่ภิกษุอีกผู้หนึ่งไปแล้ว ภายหลังเกิดโกรธหรือน้อยใจ เอาคืนมาเป็นอาบัติ
              ๖. ภิกษุใดขอด้ายมาให้ช่างทอผ้าทอจีวรให้ตนเป็นอาบัติ
              ๗. ถ้ามีผู้มิใช่ญาติสั่งให้ช่างทอผ้าทอจีวรเพื่อถวายภิกษุ ถ้าภิกษุนั้นไม่ได้รับปวารณาไว้ก่อน ไปสั่งให้ช่างทอผ้าทำเป็นพิเศษเฉพาะตน เช่นกำหนดความกว้างยาว ทอให้แน่น ให้ดี ฯลฯ และให้รางวัลแก่ช่างเป็นพิเศษ ไม่ว่ารางวัลจะน้อยค่าเพียงใดแม้แต่ให้ของที่บิณฑบาตมาได้ ถือเป็นอาบัติ
              ๘. ถ้ายังไม่ถึงเวลาออกพรรษา (วันเพ็ญเดือน ๑๑) เหลือเวลาอีก ๑๐ วันมีอัจเจกจีวร (จีวรที่ทายกมีเหตุรีบด่วนต้องขอถวายก่อน) เกิดขึ้น ภิกษุพึงรับไว้ได้ และสามารถเก็บไว้ตลอดสมัยจีวรกาล เกินกว่านั้นเป็นอาบัติ (จีวรกาล คือฤดูถวายจีวร สำหรับภิกษุที่มิได้กรานกฐินระยะเวลาตั้งแต่แรมค่ำหนึ่ง เดือน ๑๑ ถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ ถ้าได้กรานกฐินแล้วได้ระยะเวลายาวออกไปถึงหมดฤดูหนาวคือวันเพ็ญเดือน ๔
             ๙. ภิกษุที่อยู่ในเสนาสนะป่า เป็นที่เปลี่ยวระแวงภัย ตลอดมาถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ ถ้ามีเหตุบางอย่าง จะเก็บผ้าผืนใดผืนหนึ่งใน ๓ ผืนไว้ในละแวกบ้านได้ไม่เกิน 5 คืน
             ๑๐. ภิกษุใดรู้อยู่ น้อมเอาลาภที่เขาจะถวายเป็นของสงฆ์ มาเป็นของตน เป็นอาบัติ


        หมวดปาจิตตีย์ จัดอยู่ในจำพวกอาบัติเบา พ้นได้ด้วยการแสดง มี ๔๒ สิกขาบท
        มุสาวาท วรรคที่ ๑
        ๑. กล่าวสัมปชานมุสาวาท (พูดเท็จทั้งที่รู้ จงใจพูดให้ผู้ฟังเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความจริง)
        ๒. กล่าวโอมสวาท (พูดเสียดแทงให้เจ็บใจ)
        ๓. กล่าวส่อเสียดในหมู่ภิกษุ
        ๔. ให้คนที่มิใช่ภิกษุ ภิกษุณี (อนุปสัมบัน) กล่าวธรรมโดยบท (คือสอนให้ว่าพร้อมกัน)
        ๕. นอนร่วมกับอนุปสัมบันเกินกว่า ๒-๓ คืน
        ๖. นอนร่วมกับสตรี
        ๗. แสดงธรรมแก่สตรีเกินกว่า ๕-๖ คำ เว้นแต่มีบุรุษที่รู้เดียงสาแล้วอยู่ด้วย
        ๘. บอกถึงอุตตริมนุสสธรรมของตนให้อนุปสัมบันฟัง
        ๙. เล่าอาบัติชั่วหยาบของภิกษุให้อนุปสัมบันฟัง เว้นไว้แต่ภิกษุได้รับสมมติ
        ๑๐. ชุดก็ดี ให้ขุดก็ดีซึ่งปฐพี


        ภูตคาม วรรคที่ ๒
        ๑. ทำให้ภูตคาม (พืชพันธุ์ที่ขึ้นอยู่กับที่) พรากจากที่
        ๒. กล่าวกลบเกลื่อน หรือทำให้สงฆ์ได้รับความยุ่งยาก
        ๓. โพนทนา (ว่า หรือตำหนิ) หรือบ่นการกระทำของภิกษุอื่นที่กระทำถูกต้อง (โพนทนา พูดว่าให้ผู้อื่นฟัง ส่วนการบ่น หมายถึงพูดให้ตนเองฟัง)
        ๔. วาง หรือให้วาง เตียง ตั้ง ฟูก เก้าอี้ อันเป็นของสงฆ์ไว้ในที่แจ้ง เมื่อตนไม่อยู่ ไม่เก็บหรือให้ผู้อื่นเก็บ
        ๕. ปูแล้ว หรือให้ผู้อื่นปูที่นอนในวิหารที่เป็นของสงฆ์ เวลาไม่อยู่ ไม่เก็บหรือไม่ให้ผู้อื่นเก็บ
        ๖. รู้อยู่ แต่ยังเข้าไปนอนเบียดภิกษุที่อยู่มาก่อน เพื่อให้เกิดความรำคาญหนีตนไปเสีย
        ๗. โกรธ ขัดใจ ฉุดคร่า หรือให้ผู้อื่นฉุดคร่าภิกษุออกไปจากวิหารสงฆ์
        ๘. นั่ง นอนทับ เตียง ตั้ง ที่มีเท้าเสียบบนร้านในวิหารอันเป็นของสงฆ์ (หมายถึงเตียง ตั้ง ที่มีขาตั้งไม่มั่นคง และยังวางบนยกพื้นอีกชั้นหนึ่ง อาจหลุดลงมาเป็นอันตราย)
        ๙. ถ้าจะพอกวิหารให้หนา หนาได้ไม่เกินขอบประตู หน้าต่าง เวลายืนพอกให้ยืนในที่ปราศจากของสดเขียว และพอกได้ไม่เกิน ๒-๓ ชั้น เกินว่านั้นเป็นอาบัติ
        ๑๐. รู้อยู่ว่าในน้ำมีตัวสัตว์ นำน้ำนั้นมารด หรือให้ผู้อื่นรด หญ้า รดดิน เป็นอาบัติ


        โอวาท วรรคที่ ๓
         ๑. ภิกษุที่ไม่ได้รับสมมติ (ได้รับแต่งตั้ง) สั่งสอนพวกภิกษุณี
         ๒. แม้เป็นภิกษุที่รับสมมติแล้ว แต่ไปสั่งสอนพวกภิกษุณีเมื่อพระอาทิตย์ตกดินแล้ว
         ๓. ภิกษุที่เข้าไปสู่ที่อาศัยของภิกษุณี แล้วกล่าวสั่งสอน ยกเว้นในสมัย (เช่นมีภิกษุณีอาพาธ)
         ๔. ภิกษุผู้กล่าวว่าพวกภิกษุที่สั่งสอนภิกษุณี กระทำเพราะปรารถนาในอามิส (สินจ้างรางวัล ของตอบแทน)
         ๕. ให้จีวรแก่ภิกษุณีที่มิใช่ญาติ เว้นไว้แต่เป็นการแลกเปลี่ยน
         ๖. เย็บเอง หรือให้ผู้อื่นเย็บจีวรเพื่อให้ภิกษุณีที่มิใช่ญาติ
         ๗. เดินทางไกลร่วมกันกับภิกษุณี แม้สิ้นระยะเพียงบ้านเดียว ยกเว้นเวลามีเหตุจําเป็น (แต่สมัย)
         ๘. ชักชวนขึ้นเรือล่าเดียวกับภิกษุณี ขึ้นล่องตามน้ำ ยกเว้นข้ามฟาก
         ๙. รู้อยู่ ฉันบิณฑบาตที่ภิกษุณีแนะนำให้ถวาย เว้นไว้แต่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน
         ๑๐. ภิกษุผู้เดียว นั่งอยู่ในที่ลับกับภิกษุณีผู้เดียว

         โภชน วรรคที่ ๔
         ๑. ภิกษุที่มิได้อาพาธ ฉันอาหารในโรงทานได้ครั้งหนึ่ง เกินกว่านั้นเป็นอาบัติ
         ๒. ฉันเป็นหมู่ ยกเว้นในสมัย (เช่นคราวอาพาธ คราวที่เป็นฤดูถวายจีวร คราวทำจีวร คราวเดินทางไกล)
         ๓. เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์เพราะโภชนะทีหลัง (คือถ้ามิใช่เวลาจำเป็นเมื่อฉันแล้ว มิให้ฉันอีก)
         ๔. ถ้ามีผู้ปวารณา ให้รับบิณฑบาตได้ตามต้องการ รับได้ไม่เกิน ๒-๓ บาตรเกินกว่านั้นเป็นอาบัติ
         ๕. ภิกษุที่ฉันเสร็จในที่หนึ่งแล้ว ไม่รับที่อื่นอีก ถ้ารับเป็นอาบัติ
         ๖. ภิกษุที่นำภัตรไปปวารณาแก่ภิกษุผู้ฉันเสร็จแล้ว
         ๗. ฉันในเวลาวิกาล
         ๘. เก็บสั่งสมของเคี้ยว ของฉัน
         ๙. มิใช่อาพาธ ขอโภชนะอันประณีตให้ตนเอง เช่น เนยใส เนยขึ้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม
         ๑๐. กลืนอาหารที่เขายังไม่ได้ให้ล่วงช่องปาก เว้นไว้แต่น้ำและไม้ชำระฟัน


         อเจลก วรรคที ๕
         ๑. ให้ของเคี้ยวก็ดี ของกินก็ดี แก่อเจลกก็ดี ปริพาชกก็ดี ปริพาชิกาก็ดี ด้วยมือของตน
         ๒. ภิกษุที่ชวนภิกษุอื่นให้ไปรับบิณฑบาตด้วยกัน ครั้นไปด้วยกันแล้วกลับ ไม่ให้ทายกถวายสิ่งใด ทั้งให้ภิกษุนั้นกลับวัดเสีย เป็นอาบัติ
         ๓. ภิกษุใด สำเร็จการนั่งแทรกแซงในสโภชนสกุล เป็นปาจิตตีย์ (ไปอยู่ในที่คนสองคน โดยเฉพาะสามี ภรรยา เขาอยู่ด้วยกัน)
         ๔. ภิกษุใด สำเร็จการนั่งในที่ลับ คือในอาสนะกำบังกับมาตุคาม
         ๕. ภิกษุใดผู้เดียว สำเร็จการนั่งในที่ลับกับมาตุคามผู้เดียว
         ๖. ภิกษุใดรับนิมนต์แล้ว มีภัตรอยู่แล้ว ไม่บอกลาภิกษุที่มีอยู่ ถึงความเป็นผู้เที่ยวไปในสกุลทั้งหลายก่อนฉันก็ดี ที่หลังฉันก็ดี เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์
         ๗. ภิกษุมิใช่ผู้อาพาธ จึงยินดีปวารณาด้วยปัจจัยเพียง ๔ เดือน เว้นไว้แต่ปวารณาอีก เว้นไว้แต่ปวารณาเป็นนิตย์ ถ้ายินดียิ่งกว่านั้นเป็นปาจิตตีย์
         ๘. ภิกษุใด ไปเพื่อจะดูเสนาอันยกออก (ดูการยกทัพไปทำสงคราม) เป็นปาจิตตีย์ ยกเว้นแต่ปัจจัยมีอย่างนั้นเป็นรูป (มีเหตุผลสมควรเช่น ญาติที่อยู่ในกองทัพป่วย ผู้ป่วยต้องการพบ)
         ๙. ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องไปอยู่ในกองทัพมีแก่ภิกษุใด ให้อยู่ในที่นั้นได้เพียง ๒-๓ คืน อยู่เกินกว่านั้นเป็นปาจิตตีย์
         ๑๐. ถ้าภิกษุอยู่ในเสนา ๒-๓ คืน ไปสู่สนามรบก็ดี ไปสู่ที่พักพลก็ดี ไปสู่ที่จัดขบวนทัพก็ดี ไปดูหมอนึก คือ ช้าง ม้า รถ พลเดิน อันจัดเป็นกองๆ แล้วก็ดี เป็นปาจิตตีย์


         สุราปาน วรรคที่ ๖
         ๑. ดื่มสุราและเมรัย เป็นปาจิตตีย์
         ๒. ด้วยนิ้วมือ (ปรารถนาให้ผู้ถูกหัวเราะ)
         ๓. เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะธรรมคือหัวเราะในน้ำ (เล่นน้ำดำผุดดำว่าย)
         ๔. เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะความไม่เอื้อเฟื้อ (ไม่กระทําตามค่าตักเตือนของเพื่อนภิกษุด้วยกัน)
         ๕. ภิกษุใดหลอนภิกษุ
         ๖. ภิกษุที่มิได้อาพาธ ต้องการผิงไฟ จึงติดไฟเองก็ดี ให้ผู้อื่นติดให้ก็ดี เป็นอาบัติ
         ๗. ภิกษุที่อาบน้ำก่อนถึงเวลาครึ่งเดือน
         ๘. ภิกษุที่ได้จีวรมาใหม่ต้องทำให้เสียสีด้วยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ อย่างนี้ คือ ของเขียว คราม ตม ของดำคล้ำ ถ้าไม่ทำ ใช้จีวรใหม่เป็นปาจิตตีย์
         ๙. ภิกษุใดวิกัป (ทำให้เป็นของสองเจ้าของ) จีวรเอง แก่ภิกษุก็ดี ภิกษุณีก็ดี นางสิกขมานาก็ดี สามเณรก็ดี สามเณรีก็ดี แล้วใช้สอยจีวรนั้นโดยไม่ให้เขาถอนก่อน (ถอนหมายถึงอนุญาต) เป็นปาจิตตีย์
         ๑๐. ภิกษุใดซ่อนหรือให้ซ่อน บาตร จีวร ผ้าปูนั่ง กล่องเข็ม ประคตเอว ของภิกษุอื่น แม้เพียงเพื่อล้อเล่นให้หัวเราะ ก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์


         สัปปาณ วรรคที่ ๗
         ๑. ภิกษุใด แกล้งพรากสัตว์จากชีวิต
         ๒. ภิกษุใดรู้อยู่ บริโภคน้ำมีตัวสัตว์
         ๓. ภิกษุใดรู้อยู่ ฟื้นอธิกรณ์ที่ทำเสร็จแล้วตามธรรม เพื่อทำอีก
         ๔. ภิกษุใดรู้อยู่ ปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุ
         ๕. ภิกษุใดรู้อยู่ให้คนที่อายุยังไม่ครบ ๒๐ อุปสมบท บุคคลนั้นไม่เป็นอุปสัมบันด้วย ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นถูกติเตียนด้วย
         ๖. ภิกษุใดรู้อยู่ชักชวนกันเดินทางไกลสายเดียวกัน กับพวกเกวียนพวกต่างที่เป็นโจร โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง
         ๗. ภิกษุใดชักชวนเดินทางไกลสายเดียวกับมาตุคาม โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง
         ๘. ภิกษุใดกล่าวว่าตนรู้ทั่วถึงในธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการว่าเป็นธรรมทำอันตรายได้อย่างไร ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ ภิกษุนั้นเมื่อภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น ท่านอย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ดีดอก พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัสอย่างนั้นเลย แน่ะเธอ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมอันทำอันตรายไว้โดยบรรยายเป็นอันมาก ก็แสดงธรรมนั้นอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้ (จริง) เมื่อภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ดังนี้ ภิกษุนั้นยังขึ้นดื้อถืออยู่ตามเดิมภิกษุทั้งหลายถึงสวดประกาศห้ามจนหนที่ ๓ เพื่อสละการนั้นเสีย ถ้าเธอถูกสวดประกาศห้ามอยู่จนหนที่ ๓ สละการนั้นเสียได้ การสละได้ดั่งนี้เป็นการดี ถ้าไม่สละเป็นปาจิตตีย์
          ๙. ภิกษุใดรู้อยู่ กินร่วมก็ดี อยู่ร่วมก็ดี สำเร็จการนอนด้วยกันก็ดี (คือการคบหาสมาคม) กับภิกษุผู้กล่าวอย่างนั้น (คือภิกษุผู้กระทำการในสิกขาบทข้อ ๔) ยังไม่ได้ทำธรรมอันสมควร ยังไม่ได้สละทิฏฐินั้นเป็นปาจิตตีย์
          ๑๐. ถ้าสามเณรเป็นผู้กระทำความผิดดังเช่นสิกขาบทข้อ ๔ ภิกษุว่ากล่าวไม่เชื่อฟัง ยังดื้อถืออยู่ ภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะสมณุทเทส เธออย่าอ้างพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นว่า เป็นพระศาสดาของเธอตั้งแต่วันนี้ไป และพวกสมณุทเทสอื่น ย่อมได้การนอนร่วมเพียง ๒-๓ คืนกับภิกษุทั้งหลายอันใด แม้กิริยาที่ได้นอนร่วมนั้น ไม่มีแก่เธอ เจ้าคนเสีย เจ้าจงไปเสีย เจ้าจงฉิบหายเสีย และภิกษุใดรู้อยู่เกลี้ยกล่อมสมณุทเทส ผู้ถูกให้ฉิบหายเสียอย่างนั้นแล้วก็ดี ให้อุปัฏฐากก็ดี กินร่วมก็ดี สำเร็จการนอนร่วมก็ดีเป็นปาจิตตีย์


          สหธรรมิก วรรคที่ ๘
          ๑. ภิกษุใด อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่โดยชอบธรรม กล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะเธอ ฉันจักยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ กว่าจะได้ถามภิกษุอื่นผู้ฉลาดผู้ทรงวินัย เป็นปาจิตตีย์
          ๒. ภิกษุใด เมื่อมีใครสวดปาติโมกข์อยู่ กล่าวอย่างนี้ว่า ประโยชน์อะไรด้วยสิกขาบทเล็กน้อยเหล่านี้ที่สวดขึ้นแล้ว ช่างเป็นไปเพื่อความรำคาญ เพื่อความลำบาก เพื่อความยุ่งยิ่งนี่กระไร เป็นปาจิตตีย์
          ๓. ภิกษุใด เมื่อปาติโมกข์สวดอยู่ทุกกึ่งเดือน กล่าวอย่างนี้ว่า ฉันเพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า เออธรรมแม้นี้ก็มาแล้วในสูตร เนื่องแล้วในสูตร มาสู่อุทเทส (คือการสวด) ทุกกึ่งเดือน ถ้าภิกษุทั้งหลายอื่นรู้จักภิกษุนั้นว่า ภิกษุนี้เคยนั่งเมื่อปาติโมกข์กำลังสวดอยู่ ๒-๓ คราวมาแล้ว กล่าวอะไรอีก ความพ้นด้วยอาการที่ไม่รู้ หามีแก่ภิกษุนั้นไม่ จึงปรับเธอตามธรรมด้วยอาบัติที่ต้องในเรื่องนั้น และพึงยกความหลงขึ้นแก่เธอเพิ่มอีกว่า แน่ะเธอไม่ใช่ลาภของเธอ เธอได้ไม่ดีแล้ว ด้วยเหตุว่า เมื่อปาติโมกข์กำลังสวดอยู่ เธอหาทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ดีไม่ นี้เป็นปาจิตตีย์ในความเป็นผู้แสร้งทำหลงนั้น (แกล้งทำไขชื่อว่าไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีข้อห้ามที่ตนล่วงไว้ ต้องปรับความผิดทั้ง ๒ คือโทษที่ล่วงสิกขาอย่างหนึ่ง ส่วนโทษที่แสร้งทำเป็นไม่รู้เป็นปาจิตตีย์)
          ๔. ภิกษุใด โกรธ น้อยใจ ให้ประหารแก่ภิกษุ
          ๕. ภิกษุใด โกรธ น้อยใจ เสื้อหอกคือฝ่ามือขึ้นแก่ภิกษุ
          ๖. ภิกษุใดกำจัด (คือโจท) ภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสสหามูลมิได้
          ๗. ภิกษุใดแกล้งก่อความรำคาญแก่ภิกษุ ด้วยหมายว่า ด้วยเช่นนี้ ความไม่ผาสุก จักมีแก่เธอแม้ครู่หนึ่ง ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นแลให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่
          ๘. ภิกษุใด เมื่อภิกษุทั้งหลายเกิดหมางกัน เกิดทะเลาะกัน ถึงการวิวาทกัน ยืนแอบฟัง ความหมายว่าจักได้ฟังคำที่เธอพูดกัน ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นและให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่
          ๙. ภิกษุใด ให้ฉันทะเพื่อกรรมอันเป็นธรรมแล้ว ถึงธรรมคือความบ่นว่าในภายหลัง (ยินยอมแล้วบ่น)
          ๑๐. ภิกษุใด เมื่อเรื่องอันจะพึงวินิจฉัยยังเป็นไปอยู่ในสงฆ์ ไม่ให้ฉันทะแล้ว ลุกจากอาสนะหลีกไปเสีย
          ๑๑. ภิกษุใด (พร้อมใจ) ด้วยสงฆ์มีผู้พร้อมเพรียง ให้จีวร (แก่ภิกษุ) แล้ว ภายหลังถึงธรรมคือบ่นว่า ภิกษุทั้งหลายน้อมลาภของสงฆ์ไปตามชอบใจ เป็นอาบัติปาจิตตีย์
          ๑๒. ภิกษุใดรู้อยู่ น้อมลาภที่เขาน้อมไปจะถวายสงฆ์มาเพื่อบุคคล


          รตน วรรคที่ ๙
          ๑. ภิกษุใดไม่ได้รับบอกก่อน ก้าวล่วงธรณีเข้าไป (ในห้อง) ของพระราชาผู้กษัตริย์ได้รับมูรธาภิเศกแล้ว ที่พระราชายังไม่เสด็จออก ที่รัตนะยังไม่ออก (รัตนะของพระราชาคือพระมเหษี)
          ๒. ภิกษุใด เก็บเอาก็ดี ให้เก็บเอาก็ดี ซึ่งรัตนะก็ดี ซึ่งของสมมุติว่ารัตนะก็ดีเว้นไว้แต่ในวัดที่อยู่หรือในที่อยู่พัก เป็นปาจิตตีย์ แต่ถ้าเก็บหรือให้เก็บของดังกล่าวที่อยู่ในวัดหรือในที่พักของตน เพื่อมุ่งหมายคืนให้เจ้าของ เป็นสามีจิกรรม (การกระทำที่สมควร) ในเรื่องนั้น
          ๓. ภิกษุใดไม่อำลาภิกษุผู้มีอยู่แล้ว เข้าไปสู่บ้านในเวลาวิกาล เว้นไว้แต่กิจรีบ (คือธุระร้อน) มีอย่างนั้นเป็นรูป
          ๔. ภิกษุใด ให้ทำกล่องเข็ม แล้วด้วยกระดูกก็ดี แล้วด้วยงาก็ดี แล้วด้วยเขาก็ดีเป็นปาจิตติ ให้ค่อยเสีย
          ๕. ภิกษุผู้ให้ทำเตียงก็ดี ซึ่งก็ดีใหม่ จึงทำให้มีเท้าเพียง ๘ นิ้ว ด้วยนิ้วสุคตเว้นไว้แต่แม่แคร่เบื้องต่ำ เธอทำให้ล่วงประมาณนั้นไป เป็นปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย
          ๖. ภิกษุใด ให้ทำเตียงก็ดี ตั้งก็ดีเป็นหุ้มนุ่น (คือยัดนุ่น) เป็นปาจิตตีย์ที่ให้รื้อเสีย
          ๗. ภิกษุผู้ให้ท่าผ้าสำหรับนั่ง จึงให้ทำให้ได้ประมาณ นี้ประมาณในคำนั้น โดยยาว ๒ คืบ โดยกว้างคืบครึ่ง ชายคืบหนึ่ง ด้วยคับสุคต เธอทำให้ล่วงประมาณนั้นไปเป็นปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย
          ๘. ภิกษุผู้ให้ทำผ้าปิดผี จึงทำให้ได้ประมาณ นี้ประมาณในค่านั้น โดยยาว ๔ คืบ โดยกว้าง ๒ คืบ ด้วยคืบสุคต เธอให้ล่วงประมาณนั้นไป เป็นปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย
          ๙. ภิกษุให้ทำผ้าอาบน้ำฝน จึงให้ทำให้ได้ประมาณนี้ประมาณในคำนั้น โดยยาว ๖ คืบ โดยกว้าง ๒ คืบครึ่ง ด้วยคับสุคต เธอทำให้ล่วงประมาณนั้น เป็นปาจิตตีย์มีอันให้ติดเสีย
          ๑๐. ภิกษุใด ให้ทำจีวรมีประมาณเท่าสุคตจีวรหรือยิ่งกว่า เป็นปาจิตตีย์ มีอันให้ตัดเสีย นี้ประมาณแห่งสุคตจีวรของพระสุคต ในคำนั้น โดยยาว ๙ คืบ โดยกว้าง ๖ คืบด้วยคับพระสุคต


          ปาฏิเทสนียะ แปลว่า จะพึงแสดงคืน มี ๔ สิกขาบท
          ๑. ภิกษุใดรับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดีด้วยมือของตน จากมือของนางภิกษุณี ผู้มิใช่ญาติ ผู้เข้าไปแล้วสู่ละแวกบ้าน เดี๋ยวก็ดี ฉันก็ดี อันภิกษุนั้นจึงแสดงคืนว่า แน่ะเธอ ฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นสบาย ควรจะแสดงคืนอันแสดงคืนธรรมนั้น
          ๒. ภิกษุทั้งหลาย รับนิมนต์ฉันอยู่ในสกุล ถ้าภิกษุณีมายืนสั่งเสียอยู่ในที่นั้นว่า จงถวายแกงในองค์นี้ จงถวายข้าวในองค์นี้ ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น จึงรุกรานภิกษุณีนั้นว่า น้องหญิง เธอจงหลีกไปเสีย ตลอดเวลาที่ภิกษุฉัน ถ้า (คำพูด) ของภิกษุแม้รูปหนึ่งไม่กล่าวออกไป เพื่อจะรุกรานภิกษุณีนั้นว่า น้องหญิง เธอจงหลีกไปเสีย ตลอดเวลาที่ภิกษุฉันอยู่ ภิกษุเหล่านั้นจึงแสดงคืนว่า แนะเธอ พวกฉันต้องธรรมที่น่าตี ไม่เป็นที่สบาย ควรจะแสดงคืน พวกฉันแสดงคืนธรรมนั้น
          ๓. ภิกษุใดไม่ได้รับนิมนต์ก่อน มิใช่ผู้อาพาธ รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ในสกุลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสขะ ด้วยมือของตนแล้ว เดี๋ยวก็ดี ฉันก็ดี ภิกษุนั้นจึงแสดงคืนว่า แน่ะเธอ ฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นสบาย ควรจะแสดงคืน ฉันแสดงคืนธรรมนั้น (เสขะเป็นชื่อเรียกผู้ที่บรรลุมรรคผลเบื้องต่ำไปจนถึงอรหัตตมรรค)
          ๔. อนึ่งภิกษุใด อยู่ในเสนาสนะป่า ที่รู้กันว่าเป็นที่มีรังเกียจ มีภัยเฉพาะหน้ารับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดีอันเขาไม่ได้บอกให้รู้ไว้ก่อน ด้วยมือของตน ในวัดที่อยู่ไม่ใช่ผู้อาพาธ เดี๋ยวก็ดี ฉันก็ดี ภิกษุนั้นจึงแสดงคืนว่า แน่ะเธอ ฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นสบาย ควรจะแสดงคืน ฉันแสดงคืนธรรมนั้น


          เสขิย ได้แก่วัตร หรือธรรมเนียม เสขิยะแปลว่า ควรศึกษา จัดไว้ ๔ หมวด
          หมวดที่ ๑. เรียกว่า สารูป ว่าด้วยธรรมเนียมควรประพฤติในเวลาเข้าบ้าน
          หมวดที่ ๒. เรียกโภชนปฏิสังยุต ว่าด้วยธรรมเนียมรับบิณฑบาตและฉันอาหาร
          หมวดที่ ๓. เรียกธรรมเทศนาปฏิสังยุต ว่าด้วยธรรมเนียมไม่ให้แสดงธรรมแก่บุคคลแสดงอาการไม่เคารพ
          หมวดที่ ๔. เรียกปกิณณกะ ว่าด้วยธรรมเนียมถ่ายอุจจาระปัสสาวะ
          สารูป หมวดที่ ๑ มี ๒๖ สิกขาบท จัดเป็นคู่ได้ ๑๓ คู่
          คู่ที่ ๑. พึงทำศึกษาว่า เราจักนุ่งเป็นปริมณฑล เราจักห่มเป็นปริมณฑล
          คู่ที่ ๒. พึงทำศึกษาว่า เราจักปกปิดกายดี ไปในละแวกบ้าน เราจักปกปิดกายดีนั่งในละแวกบ้าน
          คู่ที่ ๓. พึงทำศึกษาว่า เราจักสำรวมดี ไปในละแวกบ้าน เราจักสำรวมดี นั่งในละแวกบ้าน
          คู่ที่ ๔. พึงทำศึกษาว่า เราจักมีตาทอดลง ไปในละแวกบ้าน เราจักมีตาทอดลงนั่งในละแวกบ้าน
          คู่ที่ ๕. จึงทำศึกษาว่า เราจักไม่ไปในละแวกบ้านด้วยทั้งเล็กผ้า (เปิดสีข้างให้เห็น) เราจักไม่นั่งในละแวกบ้านด้วยเล็กผ้า
          คู่ที่ ๖. พึงท่าศึกษาว่า เราจักไม่ไปในละแวกบ้านด้วยทั้งความหัวเราะลั่น เราจักไม่นั่งในละแวกบ้าน ด้วยทั้งความหัวเราะลั่น
          คู่ที่ ๗. พึงท่าศึกษาว่า เราจักมีเสียงน้อย ไปในละแวกบ้าน เราจักมีเสียงน้อยนั่งในละแวกบ้าน
          คู่ที่ ๘. จึงทำศึกษาว่า เราจักไม่โยกกายไปในละแวกบ้าน เราจักไม่โยกกายนั่งในละแวกบ้าน
          คู่ที่ ๙. พึงทำศึกษาว่า เราจักไม่ไกวแขนไปในละแวกบ้าน เราจักไม่ไกวแขนนั่งในละแวกบ้าน
          คู่ที่ ๑๐. พึงทำศึกษาว่า เราจักไม่โคลงศีรษะไปในละแวกบ้าน เราจักไม่โคลงศีรษะนั่งในละแวกบ้าน
          คู่ที่ ๑๑. พึงทำศึกษาว่า เราจักไม่ทำความไปในละแวกบ้าน เราจักไม่ทำความค้ำนั่งในละแวกบ้าน
          คู่ที่ ๑๒ พึงทำศึกษาว่า เราจักไม่คลุม (ศีรษะ) ไปในละแวกบ้าน เราจักไม่คลุม (ศีรษะ) นั่งในละแวกบ้าน
          คู่ที่ ๑๓. พึงท่าศึกษาว่า เราจักไม่ไปในละแวกบ้านด้วยทั้งความกระโหย่ง เราจักไม่นั่งในละแวกบ้าน ด้วยทั้งความร้ด


          โภชนปฏิสังยุต หมวดที่ ๒ มี ๓๐ สิกขาบท
          ๑. พึงทำศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตโดยเอื้อเฟื้อ
          ๒. พึงทำศึกษาว่า เราจักจ้องในบาตรรับบิณฑบาต
          ๓. พึงทำศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตมีปะเสมอกัน (ไม่เลือกกับข้าว)
          ๔. พึงทำศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตเสมอขอบ
          ๕. จึงทำศึกษาว่า เราจักฉันบิณฑบาตโดยเอื้อเฟื้อ
          ๖. พึงทำศึกษาว่า เราจักจ้องดูอยู่ในบาตรฉันบิณฑบาต
          ๗. พึงทำศึกษาว่า เราจักฉันบิณฑบาตไม่แหว่ง
          ๘. พึงท่าศึกษาว่า เราจักฉันบิณฑบาตมีปะเสมอกัน
          ๙. พึงทำศึกษาว่า เราจักไม่ขยุ้มลงแต่ยอด ฉันบิณฑบาต
          ๑๐. พึงท่าศึกษาว่า เราจักไม่กลบแกงก็ดี กับข้าวก็ดีด้วยข้าวสุก อาศัยความอยากได้มาก
          ๑๑. พึงทำศึกษาว่า เราไม่อาพาธ จักไม่ขอสูปะก็ดี ข้าวสุกก็ดี เพื่อประโยชน์แก่ตนฉัน
          ๑๒. พึงทำศึกษาว่า เราจักไม่เพ่งโพนทนาแลดูบาตรของผู้อื่น
          ๑๓. พึงทำศึกษาว่า เราจักไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่นัก
          ๑๔. พึงทำศึกษาว่า เราจักทำคำข้าวให้กลมกล่อม
          ๑๕. พึงทำศึกษาว่า เมื่อคำข้าวยังไม่นำมาถึง เราจักไม่อ้าช่องปาก
          ๑๖. พึงทำศึกษาว่า เราฉันอยู่ จักไม่สอดมือทั้งนั้นเข้าในปาก
          ๑๗. พึงทำศึกษาว่า ปากยังมีคำข้าว เราจักไม่พูด
          ๑๘. พึงท่าศึกษาว่า เราจักไม่ฉันเดาะคำข้าว (เคาะคำข้าวขึ้นจากมือแล้วอ้าปากงับเป็นกิริยาชน)
          ๑๙. พึงทำศึกษาว่า เราจักไม่ฉันกัดค่าข้าว
          ๒๐. พึงทำศึกษาว่า เราจักไม่ฉันทำให้ตุ่ย (ฉันทีละมาก ๆ จนแก้มตุ่ย)
          ๒๑. พึงทำศึกษาว่า เราจักไม่ฉันสลัดมือ (ถ้าข้าวติดมือกรังให้ล้างด้วยน้ำ)
          ๒๒. พึงท่าศึกษาว่า เราจักไม่ฉันทำเมล็ดข้าวตก
          ๒๓. พึงท่าศึกษาว่า เราจักไม่ฉันแลบลิ้น
          ๒๔. พึงทำศึกษาว่า เราจักไม่ฉันทำเสียงดังจับ ๆ (มักจะเกิดขณะเคี้ยวของแข็ง)
          ๒๕. พึงท่าศึกษาว่า เราจักไม่ฉันทำเสียงดังชุด ๆ (มักเกิดขณะชุดของเหลว)
          ๒๖. พึงทำศึกษาว่า เราจักไม่ฉันเลียมือ
          ๒๗. พึงทำศึกษาว่า เราจักไม่ฉันขอดบาตร
          ๒๘. พึงท่าศึกษาว่า เราจักไม่ฉันเลียริมฝีปาก
          ๒๙. พึงท่าศึกษาว่า เราจักไม่รับโอนด้วยมือเปื้อนอามิส (ถ้ามือเปื้อนทั้งสองข้างต้องล้างมือก่อน)
          ๓๐. พึงทำศึกษาว่า เราจักไม่เทน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าวในละแวกบ้าน


          ธัมมเทสนาปฏิสังยุต หมวดที่ ๓ มี ๑๖ สิกขาบท ๑๑ สิกขาบทข้างต้นว่าด้วยอาการของบุคคลดังนี้ จึงทำศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคล ไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ ที่มีลักษณะ
          ๑. มีร่มในมือ
          ๒. มีไม้พลองในมือ
          ๓. มีศัสตราในมือ
          ๔. มีอาวุธในมือ
          ๕. สวมเขียงเท้า
          ๖. สวมรองเท้า
          ๗. ไปในยาน
          ๘. อยู่บนที่นอน
          ๙. นั่งรัดเข่า
          ๑๐. พันศีรษะ
          ๑๑. คลุมศีรษะ
          ๑๒. พึงทำศึกษาว่า เรานั่งอยู่บนแผ่นดิน จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บไข้ ผู้นั่งบนอาสนะ
          ๑๓. พึงทำศึกษาว่า เรานั่งบนอาสนะต่ำ จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บไข้ ผู้นั่งบนอาสนะสูง
          ๑๔. พึงทำศึกษาว่า เรายืนอยู่ จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บไข้ ผู้นั่งอยู่
          ๑๕. จึงทำศึกษาว่า เราเดินไปข้างหลัง จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บไข้ ผู้เดินไปข้างหน้า
          ๑๖. พึงทำศึกษาว่า เราเดินไปนอกทาง จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บไข้ ผู้ไปอยู่ในทาง


          ปกิณณกะ หมวดที่ ๔ มี ๓ สิกขาบท คือ พึงทำศึกษาว่า ภิกษุไม่อาพาธ
          ๑. จักไม่ยืนถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะ
          ๒. จักไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนเขฬะบนของสดเขียว
          ๓. จักไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนเขฬะในน้ำ

          อธิกรณสมถะ แปลว่า สำหรับระงับอธิกรณ์ เป็นสิกขาบทใช้ระงับอธิกรณ์มี ๗ ประการ
          ๑. สัมมุขาวินัย แปลว่า ระเบียบจึงทำในที่พร้อมหน้า ได้แก่กิริยาระงับอธิกรณ์ในที่พร้อมหน้าสงฆ์ ในที่พร้อมหน้าบุคคล ในที่พร้อมหน้าวัตถุ ในที่พร้อมหน้าธรรมวินัย
          ๒. สติวินัย แปลว่า ระเบียบยกเอาสติขึ้นเป็นหลัก ได้แก่กิริยาที่สงฆ์สวดประกาศให้สมมติแก่พระอรหันต์ว่าเป็นผู้มีสติเต็มที่ เพื่อระงับอนุวาทาธิกรณ์ ที่มีผู้โจทท่านสลวิบัติ
          ๓. อมูฬหวินัย แปลว่า ระเบียบที่ให้แก่ภิกษุผู้หายเป็นบ้าแล้ว ได้แก่กิริยาที่สงฆ์สวดประกาศให้สมมติแก่ผู้หายเป็นบ้าแล้ว เพื่อระงับอนุวาทาธิกรณ์ ที่มีผู้โจทเธอด้วยการละเมิดที่เธอท่าในเวลาเป็นบ้า
          ๔. ปฏิญญาตกรณะ แปลว่า ทำตามรับ ได้แก่ปรับอาบัติตามปฏิญญาของจำเลย ผู้รับเป็นสัตย์ การแสดงอาบัติ ก็จัดว่าทำปฏิญญา (ท่านนับเข้าในข้อนี้ด้วย)
          ๕. เยภุยยสิกา แปลว่า ตัดสินเอาตามคำของคนมากเป็นประมาณ
          ๖. ตัสสปาปิยสิกา แปลว่า กิริยาที่ลงโทษแก่ผู้ผิด (ทำผิดหลายครั้งมีการเพิ่มโทษ)
          ๗. ติณวัตถารกวินัย แปลว่า ระเบียบดังกลบไว้ด้วยหญ้า ได้แก่กิริยาที่ให้ประนีประนอมกันทั้ง ๒ ฝ่าย ไม่ต้องชำระสางหาความเดิม


          รวมศีลของพระภิกษุ ๒๒๗ ข้อ
          สิ่งที่จะทำให้ศีลถูกทำลายมีอยู่หลายประการ เช่น ลาภ ยศ ชื่อเสียง และเมถุนสังโยค ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิด ศีลขาด ศีลทะลุ ศีลด่าง ศีลพร้อย
          ศีลขาด (ขณฑสีล) ได้แก่ล่วงละเมิดในศีลข้อต้นก็ดี ข้อท้ายก็ดี หรือทั้งข้อต้น และข้อท้าย เหมือนผ้าขาด
          ศีลทะลุ (นิททสีล) คือเป็นรู ได้แก่ล่วงละเมิดสิกขาบทข้อกลาง ๆ ข้อใดข้อหนึ่งเหมือนผ้าทะลุเป็นช่อง
          ศีลด่าง (สพลสีล) ได้แก่ล่วงละเมิดศีลมากกว่า ๑ ข้อ แต่ไม่ใช่ขอติดต่อกัน เหมือนโคด่าง
          ศีลพร้อย (กมมาสสีล) ได้แก่ล่วงละเมิดเหมือนศีลด่าง แตกต่างกันตรงที่เป็นศีลข้อที่ติดต่อกัน หรือมิฉะนั้นก็ล่วงละเมิดทีละองค์สององค์ บริสุทธิ์บ้างไม่บริสุทธิ์บ้างสลับกันไป เหมือนโคลายพร้อย

          ส่วนเมถุนสังโยคที่สามารถเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดศีลวิบัติได้ มี ๗ ประการ คือ
          ๑. ผู้ปฏิญาณว่าจักประพฤติพรหมจรรย์ด้วยดี ไม่ยินดีอยู่ร่วมเป็นคู่สองกับมาตุคามจริง แต่พอใจให้มาตุคามนวดฟันอาบอบร่างกายให้ตน ทั้งปรารถนาในสัมผัสเหล่านั้นที่มาตุคามทำให้ด้วยความรู้สึกำหนัดยินดี
          ๒. ปฏิญาณว่าประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ยินดีอยู่ร่วมกับมาตุคาม ไม่ยินดีการอาบ อบ นวดพื้นที่มาตุคามทำให้ แต่พอใจหัวเราะเล่น และถึงความเคล้าคลึงทางกายกับมาตุคามด้วยความกำหนัดยินดีหรือหยอกเอิน
          ๓. เป็นผู้ไม่ยินดีตามข้อต้น ๆ แต่จ้องมองตามาตุคาม และพอใจให้มาตุคามมองตอบ (มองตาซึ่งกันและกันด้วยอำนาจแห่งราคะ (ได้เห็น)
          ๔. ไม่ยินดีตามข้อต้น ๆ แต่ยินดีฟังเสียงพูด เสียงหัวเราะ เสียงขับขาน รวมทั้ง กระทั่งเสียงร้องไห้ของมาตุคาม แม้เสียงนั้นอยู่ภายนอกฝา นอกกำแพง (ไม่ต้องเห็น)
          ๕. ไม่ยินดีดังข้อต้น ๆ แต่ยินดีในการระลึกถึงการได้หัวเราะ การได้กล่าววาจาเล่นหัวกับมาตุคาม
          ๖. ไม่ยินดีดังข้อต้น ๆ แต่ยินดีในกิริยา ของบุคคลที่เพียบพร้อมด้วยปัญจกามคุณแสดงออกในความสุขของเขา
          ๗. ไม่ยินดีดังข้อต้น ๆ แต่ยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อปรารถนาจะเป็นเทพบุตร เทพธิดา

          ผู้ประกอบด้วยเมถุนสังโยคเหล่านี้ ย่อมไม่พ้นจาก ชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณทุกข์และทุกขธรรมทั้งปวงไปได้ เมถุนสังโยคย่อมทำให้ศีลขาด ทะลุ ด่าง พร้อย ไม่บริสุทธิ์ในการประพฤติพรหมจรรย์

          ศีลวิบัติได้ด้วย ลาภ ยศ เมถุนสังโยค ความประมาท ความโกรธ และการผูกเวรลบหลู่คุณท่าน ความอิจฉาในสมบัติคุณความดีของผู้อื่น มัจฉริยะ ตระหนี่หวงแหนในสมบัติและคุณความดีของตน มีมายา มีสาเถยยะ มีถัมภะ (จิตกระด้าง) มีสารัมภะ (แข่งดี) ตลอดจน มีมานะ และอติมานะ เหล่านี้เป็นต้น


          โทษจากการที่มีศีลวิบัติ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามีโทษอยู่หลายประการ เช่น
          ๑. ไม่เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นที่เกลียดชังของเพื่อนผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์ทั้งปวง
          ๒. ได้รับความทุกข์ ด้วยสาเหตุที่ถูกคนทั้งหลายติเตียน และบังเกิดวิปฏิสารเดือดร้อนกินแหนง เมื่อคนทั้งหลายพากันสรรเสริญผู้มีศีล
          ๓. เป็นผู้มีผิวพรรณวรรณเลวทราม ไม่ผ่องใส เหมือนผ้าที่ทอด้วยป่าน ไม่ใช่ทอด้วยใยฝ้ายหรือไหม
          ๔. จะได้รับทุกข์สัมผัสที่เป็นทุกข์อยู่เสมอ
          ๕. เมื่อมีทายกให้ไทยธรรมวัตถุใด ของนั้นจะมีค่าน้อย
          ๖. บัณฑิตไม่อาจชำระคนทุศีลให้บริสุทธิ์ได้
          ๗. เสื่อมจากสมบัติทั้งสอง คือทั้งที่เป็นสมบัติของสมณะ และสมบัติของคฤหัสถ์
          ๘. อยู่ในหมู่คณะ ไม่มีสง่าราศรี เหมือนลาติดตามฝูงโค
          ๙. ไม่ควรที่เพื่อนร่วมพรหมจรรย์จะอยู่ร่วมด้วย เป็นเหมือนซากศพมนุษย์ที่ตายแล้ว เป็นที่น่ารังเกียจ
          ๑๐. ถึงแม้จะเป็นผู้คงแก่เรียน แต่ถ้าทุศีล พระภิกษุเพื่อนผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์ก็ไม่ควรเคารพยกย่อง เหมือนไฟในป่าช้า ไม่มีค่าควรที่จะนำไปเป็นไฟสำหรับบูชาของพราหมณ์
          ๑๑. ไม่อาจตรัสรู้ธรรมวิเศษ เหมือนคนตาบอดมองไม่เห็นรูป
          ๑๒. ย่อมไม่ปรารถนาในปฏิบัติธรรม และปฏิเวธธรรม เหมือนกุมารในตระกูลจัณฑาลไม่ปรารถนาในราชสมบัติ

 

          พระพุทธเจ้าตรัสอุปมาว่า ผู้ที่สวมกอดนั่งนอนทับบนกองไฟกองใหญ่ แม้จะได้รับทุกขเวทนาแรงกล้าเพียงใด ก็ยังดีกว่าพระภิกษุไม่มีศีล เพราะผู้ที่กอดกองไฟ ถูกไฟไหม้ตาย ไม่ต้องไปเกิดในอบาย แต่ผู้ทุศีลแม้จะได้เคล้าคลึงสวมกอด นั่งนอนใกล้นางกัญญาในขัตติยสกุล พราหมณสกุล คหบดีสกุล ย่อมไม่มีความสุข เพราะเมื่อตายแล้วจึงไปบังเกิดในอบาย ทุคติ อสุรกาย และนรก

          นอกจากนี้ยังทรงอุปมาความทุกข์ ความเดือดร้อนต่าง ๆ อีกหลายประการ ซึ่งแม้จะต้องเสวยทุกขเวทนา เจ็บปวดทุกข์ทรมานมากมายเพียงใด ล้วนแต่ยังดีกว่าการทุศีลทั้งนั้น เช่น
               - การถูกคนที่มีกำลังเอาเชือกที่ฟันชนิดมีขนเป็นทราย เป็นเชือกเหนียวไม่ขาดโดยง่าย สีไปมาที่เท้า โดยเต็มกำลังจนเชือกบาดตัดผิวหนังเข้าไปในเนื้อ ตัดถึงเอ็นถึงกระดูก และเยื่อในกระดูก แม้ถูกกระทำถึงขนาดนี้ก็ยังดีกว่า ภิกษุที่ไม่มีศีล มีธรรมอันลามก จะยินดีในกิริยาที่เหล่ากษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี ผู้มหาศาลทั้งปวงเคารพนบไหว้
               - การถูกบุรุษที่มีกำลังประหารด้วยการเอาหอกอันแหลมคมแทงเข้ากลางอก แล้วราดด้วยน้ำมันร้อน ทุกขเวทนานี้ ยังดีกว่าภิกษุผู้ทุศีลมีสภาวะลามก ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะแต่มิได้เป็น ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ปฏิญาณว่าประพฤติ แล้วยินดีในการกระพุ่มมือไหว้ของกษัตริย์ พราหมณ์ คหบดีมหาศาลทั้งหลาย
               - การถูกบุรุษที่มีกำลังมากเอาแผ่นเหล็กที่ไฟไหม้ มีเปลวไฟลุกรุ่งเรืองอยู่มานาบตามร่างกาย ยังดีกว่าภิกษุทุศีลบริโภคนุ่งห่มจีวรที่เหล่ากษัตริย์ พราหมณ์ คหบดีมหาศาลทั้งหลายผู้เชื่อกรรมและผลของกรรมให้ของเหล่านั้น
               - การที่มีบุรุษมีกำลังมาจับปากให้เปิดอ้าออกโดยใช้ขอเหล็กที่มีไฟลุกไหม้เกี่ยว แล้วเอาก้อนเหล็กที่เผาไฟจนร้อนจัดใส่เข้าไปในปาก ทำให้มีไฟลุกอยู่เผาไหม้ปากตั้งแต่ริมฝีปาก ปาก ลิ้น คอ ท้อง ไส้ใหญ่ ไส้น้อย แล้วจึงไหลไหม้ต่อไปทางเบื้องต่ำ ยังดีกว่าพระภิกษุทุศีลบริโภคบิณฑบาต อันกษัตริย์ พราหมณ์ และคหบดีมหาศาลซึ่งเชื่อกรรมและผลของกรรมให้ของบริโภคเหล่านั้น
               - การถูกบุรุษที่มีกำลัง จับเอาศีรษะ บ่า และร่างกายกดตัวลงนั่งนอนทับไปบนเตียงและตั้งที่ทำด้วยเหล็กเผาไฟร้อนไหม้ลุกโพลงอยู่ทั้งอันโดยรอบ ยังดีกว่าการเป็นพระภิกษุทุศีลบริโภคเตียงสั่งที่กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดีผู้มหาศาลจึงให้ด้วยศรัทธา
               - การถูกบุรุษผู้มีกำลังจับเอาเท้ายกขึ้นห้อยศีรษะลงล่าง จับพุ่งซัดลงไปในหม้อโลหะที่ต้มน้ำไว้จนร้อนจัด มีไฟไหม้ลุกโพลงอยู่โดยรอบ ต้มให้เดือดกลับไปกลับมา บางทีพัดขึ้นมาปากหม้อ บางทีพัดลงไปก้นหม้อ บางทีขวางอยู่กลางหม้อ ยังดีกว่าพระภิกษุทุศีลอาศัยอยู่ในวิหารที่กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดีมหาศาลทั้งหลาย ผู้เชื่อกรรมและผลของกรรมสร้างให้

               พระภิกษุทุศีลแม้จะได้รับการเคารพนบไหว้อย่างดี ได้จีวร บิณฑบาต ที่อยู่อาศัยอย่างดีเพียงใด ก็ย่อมไม่สามารถช่วยตนให้พ้นจากจตุราบาย เมื่อมีชีวิตอยู่ย่อมมิได้พ้นจากภัยต่าง ๆ เช่น ตนเองก็ติเตียนตนเองได้ พ้นจากการบรรลุธรรมวิเศษ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ปิดประตูคือช่องทางไปสู่สวรรค์

                ส่วนพระภิกษุผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ ไม่มีมลทิน บรรพชาของท่านมีผลมาก มีจิตใจใสสว่าง ดังพระอาทิตย์กำจัดความมืด อยู่ในหมู่คณะก็งามดังปริมณฑลของดวงจันทร์ที่ส่องแสงรุ่งเรืองไพโรจน์อยู่ในท้องฟ้า แม้กลิ่นกายของพระภิกษุผู้มีศีลบริสุทธิ์ ย่อมหอมฟุ้งไปทั้งตามลมและทวนลม กลิ่นศีลของท่านย่อมครอบงำกลิ่นหอมทั้งปวง เช่น กลิ่นดอกไม้ กลิ่นจันทน์ กลิ่นกฤษณาเป็นต้น ฟุ้งขจรไปทั่วสารทิศ หาสิ่งเปรียบเทียบมิได้ แม้ไทยธรรมที่ทายกจะนำมาถวายมีจำนวนน้อยก็จะได้รับผลมาก เป็นภาชนะอันประเสริฐในการรองรับบุญกุศล รองรับเครื่องบูชา

                พระภิกษุผู้มีศีลบริสุทธิ์ ย่อมขุดรากเหง้าทุกข์ทั้งหลายในปรโลกทิ้งเสียได้ อาสวะทั้ง ๔ คือ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ ย่อมไม่อาจเบียดเบียน เมื่อจะปรารถนาสมบัติใด ๆ ไม่ว่าสมบัติในมนุษยโลก หรือเทวโลก ย่อมได้ไม่ยาก จิตของท่านย่อมน้อมไปสู่นิพพานสมบัติโดยแท้

                เมื่อพระภิกษุมีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ดียิ่งแล้ว มักบำเพ็ญให้เกิดคุณธรรมอันสูงขึ้นไปอีก เช่น อัปปิจฉตาคุณ ความปรารถนาน้อย และสันตุฏฐิตาคุณ การยินดีในปัจจัยตามมีตามได้ที่ตนมี จึงสมาทานข้อปฏิบัติให้เคร่งครัดเพิ่มเติม เรียกว่า สมาทานธุดงค์


         ธุดงค์ ๑๓ ประการ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้แก่พระภิกษุทั้งหลายที่สามารถละอามิสทั้งปวงในโลกเสียแล้ว ไม่มีอาลัยในกายและชีวิต มีความยินดีที่จะปฏิบัติเจริญวิปัสสนา
                ธุดงค์ องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส มีดังนี้
                หมวดที่หนึ่ง จีวรปฏิสังยุตต์ เกี่ยวกับเรื่องจีวร
                ๑. ปังสุกูลกังคะ ถือใช้แต่ผ้าบังสุกุล
                ๒. เตจีวริกังคะ ใช้ผ้าเพียง ๓ ผืน

               หมวดที่สอง ปิณฑบาตปฏิสังยุตต์ เกี่ยวกับบิณฑบาต
               ๓. ปิณฑปาติยังคะ เที่ยวบิณฑบาตเป็นประจำ
               ๔. สปทานจาริกังคะ บิณฑบาตตามลำดับแถว
               ๕. เอกาสนิกังคะ ฉันมื้อเดียว
               ๖. ปัตตบิณฑิกังคะ ฉันเฉพาะในบาตร
               ๗. ขลุปัจฉาภัตติยังคะ ลงมือฉันแล้ว ไม่ยอมรับเพิ่ม

               หมวดที่สาม เสนาสนปฏิสังยุตต์ เกี่ยวกับเสนาสนะ
               ๘. อารัญญิกังคะ ถือการอยู่ป่า
               ๙. รุกขมูลกังคะ อยู่โคนไม้
               ๑๐. อัพโภกาสกังคะ อยู่กลางแจ้ง
               ๑๑. โสสานิกังคะ อยู่ป่าช้า
               ๑๒. ยถาสันถติกังคะ อยู่ในที่แล้วแต่เขาจัดให้

               หมวดที่สี่ วิริยปฏิสังยุตต์ เกี่ยวกับความเพียร
               ๑๓. เนสัชชิกังคะ ถือการนั่งอย่างเดียว ไม่นอน

               ๑. บังสุกุลกังคะ องค์แห่งผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร คือไม่รับจีวรจากทายก เที่ยวแสวงหาผ้าบังสุกุลมาเย็บย้อมท่าจีวรเอง
               ผ้าบังสุกุล หมายถึงผ้าที่ฟังไปด้วยฝุ่น คือผ้าที่เขาทิ้งแล้วเปื้อนฝุ่นอยู่ หรือหมายถึง ผ้าที่อยู่ในที่สูง คือวางอยู่เหนือกองขยะหยากเยื่อ ตามตรอก สุสาน ป่าช้าเป็นต้น หรือผ้าที่ผู้คนเกลียดชัง ดุจดังว่าฝุ่น ผ้าทั้ง ๒๓ ชนิดดังต่อไปนี้ เรียกว่าผ้าบังสุกุล คือ
                        ๑.๑ ผ้าที่ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า
                        ๑.๒ ผ้าที่ตกอยู่ตามประตูร้านในตลาด
                        ๑.๓ ผ้าที่ผู้ต้องการบุญ ทิ้งมาทางหน้าต่างตกอยู่ตามทางเดิน
                        ๑.๔ ผ้าที่คนทิ้งไว้ที่กองขยะ
                        ๑.๕ ผ้าที่เปื้อนสิ่งสกปรกจากครรภ์
                        ๑.๖ ผ้าที่คนอาบน้ำจากหมอผีแล้วถือว่าเป็นผ้ากาลกิณี
                        ๑.๗ ผ้าเก่าที่คนทิ้งไว้ที่ท่าอันเป็นที่กสิณ
                        ๑.๘ ผ้าที่คนไปป่าช้ากลับมาอาบน้ำผลัดทิ้งไว้
                        ๑.๙ ผ้าไฟไหม้ มีผู้นำมาทิ้งไว้
                        ๑.๑๐ ผ้าที่โตเคี้ยว
.                       ๑.๑๑ ผ้าที่ปลวกกัด
                        ๑.๑๒ ผ้าที่หนูกัด
                        ๑.๑๓ ผ้าขาด
                        ๑.๑๔ ผ้าที่ชายขาด
                        ๑.๑๕ ผ้าที่ทำเป็นธงไว้ก่อนสำเภาจะออกจากท่า เมื่อเรือแล่นลับตาไปแล้วพระภิกษุถือเอาธงนั้นเป็นผ้าบังสุกุลได้ หรือผ้าที่พระราชาสองฝ่ายผูกเป็นธงไว้ในยุทธภูมิ เมื่อไปกันหมดแล้ว ถือเป็นผ้าบังสุกุลของพระภิกษุได้
                        ๑.๑๖ ผ้าที่มนุษย์ทั้งหลายใช้โอบพันรอบจอมปลวกแล้วทำพลีกรรม
                       ๑.๑๗ ผ้าของพระภิกษุที่ทิ้งแล้ว
                       ๑.๑๘ ผ้าที่คนทิ้งไว้ในที่อภิเศกแห่งบรมขัตติยาธิราช (อาจเป็นผ้าที่ใช้ตกแต่งสถานที เสร็จพิธีก็ทิ้งเสีย)
                       ๑.๑๙ ผ้าจีวรของเอหิภิกษุ (พระภิกษุที่พระพุทธเจ้าทรงบรรพชาให้ เป็นจีวรที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเอง ขณะพระพุทธองค์ทรงเปล่งพระวาจาให้บวช เกิดด้วยอำนาจกุศลเก่าของผู้บวชเอง)
                       ๑.๒๐ ผ้าที่ตกทิ้งอยู่ตามหนทาง หรือผ้าที่เจ้าของลืมทิ้งด้วยเผลอสติ พระภิกษุต้องเก็บไว้หน่อยหนึ่งก่อน เมื่อเจ้าของไม่กลับมาเอาคืนแน่ จึงถือเป็นผ้าบังสุกุล
                       ๑.๒๑ ผ้าที่ลมพัดพามาจากที่ไกล เจ้าของไม่มาติดตาม เจ้าของมองไม่เห็นแล้ว
                       ๑.๒๒ ผ้าที่เทวดาให้
                       ๑.๒๓ ผ้าที่คลื่นซัดมาขึ้นฝั่ง
              ส่วนผ้าที่มีทายกกล่าวคำถวายให้ ไม่ถือเป็นผ้าบังสุกุล

              การปฏิบัติในธุดงควัตรข้อนี้ มี 3 ระดับ คือเป็น อุกฤษฎ์ อย่างสูง มัชฌิม อย่างกลาง และมุทุกอย่างต่ำ
              ถือเป็นอย่างสูง จะถือเอาผ้าที่มีคนทิ้งไว้ในป่าช้าเพียงอย่างเดียว
              อย่างกลาง คือถือเอาผ้าที่มีผู้ทิ้งไว้เพื่อประโยชน์แก่บรรพชิต
              อย่างต่ำา คือถือเอาผ้าที่มีคนวางไว้ในที่ใกล้เท้าพระภิกษุนั้นด้วยเจตนาถวาย

              ในบรรดาภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนี้ เมื่อใดยินดีในจีวรที่คฤหัสถ์ทั้งหลายถวายแก่ตนเมื่อนั้นธุดงค์ก็ทำลาย ในขณะที่ตนยินดี ด้วยอำนาจ ฉันทะของตน
              อานิสงส์ของพระภิกษุผู้ถือบังสุกุลจีวรเป็นวัตรมีดังนี้
              ๑. เป็นปฐมเหตุให้ได้อยู่ในอริยวงศ์ (จะยังตนให้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์เป็นปฐม)
              ๒. ไม่ต้องเป็นทุกข์ในการดูแลรักษา
              ๓. ไม่ต้องกังวลยุ่งเกี่ยวกับผู้อื่น เพื่อให้ได้จีวรมา
              ๔. ไม่ต้องเกรงกลัวภัยจากโจรผู้ร้าย (ผ้าชนิดนี้โจรผู้ร้ายไม่ต้องการ)
              ๕. ไม่มีความปรารถนาจะใช้สอยบริโภคจีวรด้วยตัณหา (หมดความอยากสวยอยากงาม)
              ๖. ใช้แล้วเป็นสิ่งเหมาะสมกับเพศสมณะ
              ๗. มีราคาน้อย แสวงหาได้โดยง่าย
              ๘. นุ่งห่มได้อย่างปราศจากโทษ
              พระพุทธเจ้ายังทรงสรรเสริญไว้อีกว่า ทำให้เป็นที่น่าเลื่อมใสแก่ชนทั้งหลาย
                    - ทำให้คุณทั้งหลาย มีอัปปิจฉตาคุณ ความมักน้อยเกิดขึ้น
                    - ทำให้งามดุจบรมขัตติยาธิราชแต่งเครื่องรบอันวิจิตรเข้าสู่ยุทธภูมิ ปราบข้าศึก พระภิกษุก็ปราบมารและเสนามาร แม้พระพุทธองค์ก็ทรงสละภูษาอาภรณ์อันประเสริฐ ใยพระภิกษุจะไม่ถือเป็นตัวอย่างเล่า


              ๒. เตจีวริกังคะ องค์แห่งพระภิกษุผู้ถือไตรจีวรเป็นวัตร คือถือเพียงผ้าสามผืน ได้แก่ จีวร สบง สังฆาฏิ อย่างละผืนเท่านั้น ไม่ใช้จีวรนอกจากผ้าสามผืน มีการถือ ๓ อย่าง คือ อุกฤษฎ์ มัชฌิม และมุทุก เช่นเดียวกับข้อ ๑.

             ถืออย่างอุกฤษฎ์ ถ้าอยู่ในป่า จะย้อมผ้าไตรจีวร ย้อมพร้อมกันทั้งผ้าอันตรวาสก (สบงคือผ้านุ่ง) และผ้าอุตตราสงค์ (จีวร คือผ้าสำหรับห่ม) เมื่อเห็นมีคนเดินมา ก็ให้อยู่ในที่ใกล้ ๆ ผ้า

        ถ้าอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน ให้นุ่งจีวรย้อมสบงก่อน ต่อจากนั้นเมื่อสองแห้ง จึงนุ่งสบงแล้วย้อมจีวรในภายหลัง สำหรับการถืออย่างอุกฤษฎ์ ไม่ควรนุ่งสังฆาฏิ

              ถืออย่างมัชฌิมา เมื่อจะย้อมไตรจีวร ย้อมได้ในโรงย้อม ซึ่งมีผ้าสำหรับให้นุ่งผลัดอยู่แล้ว

              ถืออย่างมุทุก ใช้จีวรของเพื่อนภิกษุซึ่งเป็นพวกเดียวกันได้ ในขณะทำการย้อมนอกจากนี้ ยังสามารถมีอังสะใช้ได้อีกผืนหนึ่ง (อังสะ ผ้าห้อยเฉวียงบ่า กว้าง ๑ คืบยาว ๓ ศอกเป็นประมาณ)

              ธุดงค์ประเภทนี้จะถูกทำลายลงทันที เมื่อเกิดความยินดีในจีวรที่จะได้เพิ่มเป็น ผืนที่ ๔

              อานิสงส์ ในการถือผ้า ๓ ผืน ทำให้เป็นผู้มีสันโดษยินดีเฉพาะในปัจจัยของตนมีจีวรเพียงเพื่อใช้รักษากายไม่ให้มีอันตรายจากลมแดดเป็นต้น และสามารถนำไปได้ทั้ง ๓ ผืน เหมือนนกมีปีกบินไปในอากาศ มีกิจธุระน้อย ไม่ต้องมีภาระในการนำอติเรกจีวรไปด้วย ทำให้เว้นจากการสั่งสมผ้า ประพฤติเบากาย และความโลภในอดิเรกจีวร รู้ประมาณในการบริโภคปัจจัย ทำให้จิตเบาจากกิเลส ให้คุณมีอัปปิจฉตา ความปรารถนาน้อยเกิดมีขึ้น

               นอกจากนี้ ยังรู้รสแห่งความสุขอันเกิดจากสันโดษ ไปที่ใดได้โดยสะดวกสบาย


               ๓. บิณฑปาติยังคะ องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร คือไม่รับนิมนต์ หรือลาภพิเศษอย่างอื่นใด ฉันเฉพาะอาหารที่บิณฑบาตมาได้ ผู้ถือธุดงควัตรข้อนี้ไม่ยินดีด้วยภัตต์ ๑๔ ประการ คือ
                      - ภัตต์ที่ทายกจัดมาถวายพระสงฆ์ทั้งหมด
                      - ภัตต์ที่ทายกจัดมาถวายพระภิกษุ ๒-๓ รูป
                      - ภัตต์ที่ทายกนิมนต์พระภิกษุทั้งหมด หรือนิมนต์เพียง ๒-๓ รูป เพื่อถวายในวันรุ่งขึ้น
                      - สลากภัตต์ ภัตต์ที่เขียนชื่อทายกแล้วพระภิกษุจับสลาก
                      - ภัตต์ที่ทายกถวายประจำปักษ์ละหนึ่งวัน หรือไม่ประจำ
                      - ภัตต์ที่ทายกถวายในวันอุโบสถ
                      - ภัตต์ที่ทายกถวายในวันค่ำหนึ่ง
                      - อาคันตุกภัตต์ ภัตต์ที่ทายกถวายแก่พระภิกษุที่เป็นอาคันตุกะเป็นต้น
                      - ภัตต์ที่ทายกจะพึงถวายแก่พระภิกษุผู้กำลังจะเดินทาง
                      - คิลานภัตต์ ภัตต์ที่ทายกจึงถวายภิกษุไข้
                      - ภัตต์ที่ทายกถวายแก่พระภิกษุผู้อุปัฏฐากภิกษุไข้
                      - ภัตต์ที่ทายกถวายเฉพาะวิหารนั้น ๆ
                      - ภัตต์ ทายกถวายจากเรือนที่อยู่ใกล้
                      - ภัตต์ที่ถวายในบ้านเดียวกัน (คนหนึ่งถวายแล้ว คนอื่นในบ้านเดียวกันมาถวายอีก)
              รวมภัตต์ ๑๔ ประการที่ต้องเว้น
               ปฏิบัติอย่างอุกฤษฎ์ จะไม่รับบิณฑบาตจากทายกที่นำมาถวายจากข้างหน้า และข้างหลังจะยืนอยู่เฉพาะที่หน้าประตูเรือน เมื่อมีคนมารับบาตรจึงให้ไป เมื่อทายกนำอาหารใส่ไว้ในบาตรมาถวายบาตรคืนแล้ว จึงนำกลับไปบริโภค ถ้าทายครับจะนำอาหารมาถวายโดยไม่ให้ไปบิณฑบาต ภิกษุนั้นรับไม่ได้แม้ในวันนั้น
              อย่างมัชฌิมา ในวันนั้น รับอาหารนั้นได้ แต่ในวันรุ่งขึ้น รับไม่ได้
              อย่างมุทุก ในวันนั้นรับอาหารนั้นได้ วันรุ่งขึ้นก็รับได้จนครบ ๓ ครั้ง (๓ วัน)
              ในการปฏิบัติทั้ง ๓ ระดับนี้ อย่างมัชฌิมาและมุทุก ไม่มีอิสระ ต้องเนื่องอยู่ด้วยผู้อื่น มีแต่อย่างอุกฤษฎ์จำพวกเดียวที่ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับคนอื่น มีอิสระที่จะเดินทางไปฟังพระธรรมเทศนา หรือประกอบคุณประโยชน์อย่างอื่น ไม่ต้องกังวลด้วยการถูกนิมนต์
              ธุดงค์ข้อนี้จะถูกทำลายสิ้น เมื่อพระภิกษุนั้นเกิดยินดีในอดิเรกลาภ มีสังฆภัตต์ เป็นต้น

              อานิสงส์ในการถือบิณฑบาตเป็นวัตร มีดังนี้
                      - เป็นผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์เป็นคำรบ ๒ (ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ตั้งอยู่ในอริยวงศ์เป็นคำรบ ๑)
                      - มีความเป็นอยู่ไม่ต้องเนื่องอยู่กับบุคคลอื่น มีอิสระไปในทิศทั้ง ๔ โดยไม่มีอะไรขัดข้อง
                      - มีปัจจัยน้อย ปัจจัยได้ด้วยง่าย ทั้งหาโทษไม่ได้
                      - ย่ำยีความเกียจคร้านให้หมดไป จะมีความเพียรเที่ยวไปตามลำดับเรือนเลี้ยงชีวิตบริสุทธิ์
                      - ยังเสขิยปฏิบัติ (ข้อปฏิบัติที่พระภิกษุพึงกระทำ) ให้บริบูรณ์ มีมารยาทในการเดิน ปกปิดร่างกายเป็นอันดี
                      - ไม่เลี้ยงบุคคลอื่น
                      - กระทำการอนุเคราะห์บุคคลอื่น
                      - ละมานะในตน
                      - ห้ามความอยาก ความปรารถนาในรสอาหาร ละความโลภในอาหาร
                      - ไม่ต้องอาบัติ ด้วยเรื่อง คณโภชนสิกขาบท (ฉันเป็นหมู่) ปรัมปรโภชน สิกขาบท และจาริตตสิกขาบททั้งหลาย เพราะเหตุที่ไม่รับนิมนต์
                      - ประพฤติให้เกิดคุณ เช่นอัปปิจฉตาคุณ ความปรารถนาน้อยเป็นต้น
                      - กระทำสัมมาปฏิบัติให้เจริญ
                      - อนุเคราะห์แก่ชนในภายหลัง เช่นเป็นตัวอย่างอันดีงามที่ผู้บวชตามภายหลังจะปฏิบัติตาม
                      - ทำให้ศีลที่เรียกว่าอาชีวปาริสุทธิศีลบริสุทธิ์

                           - ไม่อาศัย (ไม่เห็นแก่) ลาภ ยศและคำสรรเสริญของผู้ใด
                พระภิกษุผู้มีธุดงควัตรข้อนี้ เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายย่อมปรารถนา พบเห็นเพื่อได้กราบไหว้บูชา ส่วนพระภิกษุผู้มีปัญญาด้วยกันย่อมไม่ดูหมิ่นการออกเที่ยวบิณฑบาต ดังนี้


                ๔. สปทานจาริกังคะ องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามแถวเป็นวัตร คือรับตามแถวเดียวกัน ไม่รับข้ามแถว หรือนัยหนึ่งเที่ยวบิณฑบาตไปตามตรอก ตามห้องแถวที่เป็นแนวเดียวกัน ไม่รับที่โน่นบ้างที่นี่บ้างตามใจชอบ เวลาเที่ยวไปบิณฑาต ทอดจักษุลงไปเบื้องต่ำมองดูไม่เกินชั่วแอกหนึ่งเป็นประมาณ

                เมื่อเที่ยวบิณฑบาตไปให้พิจารณาดูตรอกดูบ้านที่ไม่มีอันตราย แล้วเดินไปตามลำดับบ้าน เมื่อไม่ได้ภัตต์จากบ้านใด ก็กระทำสำคัญว่าไม่มีบ้านแล้วจึงไปยังบ้านอื่น การไปควรไปในเวลาเช้าเป็นพิเศษ ถ้ามีผู้มาทำบุญยังที่พักหรือพบกันระหว่างทาง เขาต้องการถวายบิณฑบาต ดังนี้รับได้ แต่สำหรับการบิณฑบาตตามบ้าน จะได้มากก็ตาม น้อยก็ตามหรือไม่ได้เลยก็ตาม ต้องไปตามลำดับบ้าน

                อย่างอุกฤษฎ์ ไม่รับภิกขาที่ทายกผู้มาจากข้างหน้าหรือข้างหลังในทางที่เดินไปบิณฑบาต รับเฉพาะจากบ้านที่ทายครับบาตรไปใส่ภิกขาเท่านั้น แม้ขณะกลับจากบิณฑบาตทายกจะถวายของที่เขามีไว้บริโภคของเขาเองก็ไม่รับ

                อย่างมัชฌิม รับบิณฑบาตได้ทั้งจากทายกที่มาจากเบื้องหน้า เบื้องหลัง หรือขณะกลับจากการไปบิณฑบาต แต่จะนั่งคอยไม่ได้
                อย่างมุทุก นั่งคอยท่ารับภิกขาได้
                ธุดงค์ข้อนี้จะถูกทำลาย เมื่อไม่ประพฤติตามนี้

                อานิสงส์นั้นพระพุทธองค์ตรัสว่า
                           - ทำให้เป็นเสมือนพระภิกษุใหม่ต่อสกุลทั้งหลายอยู่เป็นนิตย์ (ไม่สร้างความคุ้นเคยให้เป็นกังวล)
                           - ไม่ต้องข้องอยู่ในสกุล มีสภาพเหมือนดวงจันทร์ (ย่อมส่องแสงสว่างให้เย็นตาเย็นใจไปทั่ว)
                           - อนุเคราะห์ไปได้ทั่วทุกสกุล ไม่มีข้อยกเว้น ละความตระหนี่สกุล
                           - ไม่ต้องมีโทษเพราะเหตุแห่งการเข้าไปสู่สกุล
                           - ไม่ยินดีในภิกขาที่เลิศอันทายกนำมาถวาย
                           - ประพฤติให้เกิดคุณมีความปรารถนาน้อยเป็นต้นเกิดขึ้น


               ๕. เอกาสนี้ยังคะ องค์แห่งผู้ถือนั่งฉันที่อาสนะเดียวเป็นวัตร คือฉันวันละมื้อเดียว ลุกจากที่แล้วไม่ฉันอีกในวันนั้น
               เอกาสนิกภิกษุ ขณะจะนั่งในศาลาโรงฉัน จึงนั่งในที่อันสมควรแก่ตน ไม่นั่งในอาสนะพระเถระ เมื่อบริโภคค้างอยู่ พระเถระผู้เป็นอาจารย์ เป็นอุปัชฌาย์มาในที่นั้น ควรลุกขึ้นกระทำวัตร (กระทำการปฏิบัติตามหน้าที่ของตน)

               ขณะบริโภค ต้องไม่ลุกจากอาสนะ แต่ถ้าตราบใดที่ยังมิได้ลงมือฉัน ยังลุกไปไหน ๆ ได้ เมื่อบริโภคค้างอยู่ แต่ต้องลุกไปทำวัตรให้แก่พระเถระ ผู้เป็นอาจารย์เป็นต้น ไม่ควรบริโภคโภชนะต่ออีก การปฏิบัติ คงมีประเภท อุกฤษฎ์ มัชฌิม และมุทุก เช่นเดียวกับข้ออื่น

                เอกาสนิกภิกษุ อันอุกฤษฎ์ คือเมื่อหย่อนมือลงถูกต้องโภชนะอันใด ไม่ว่าน้อยหรือมาก ต้องไม่ถือเอาโภชนะอื่นเพิ่มเติมอีกเป็นอันขาด ถ้ามีผู้ใดเห็นว่าของที่บริโภคนั้นน้อยไป จะถวายเพิ่มก็ให้รับได้แต่ของประเภทเภสัช คือฉันเป็นยา ไม่ควรรับเพื่อเป็นอาหาร

               อย่างมัชฌิม ถ้ายังฉันภัตต์ในบาตรไม่หมดตราบใด ตราบนั้นยังรับโภชนะเพิ่มได้อีก
               อย่างมุทุก ถ้ายังไม่ลุกจากอาสนะอยู่ตราบใด ตราบนั้นยังรับโภชนะเพิ่มได้
               ธุดงค์ประเภทนี้ ย่อมทำลาย ในขณะไปบริโภคในอาสนะอันอื่นอีก

               อานิสงส์มีดังนี้
                           - มีอาพาธน้อย ปราศจากความทุกข์ที่เกิดในสรีรร่างกาย ด้วยเหตุที่บริโภคมาก
                           - มีกำลังกายแข็งแรง และอยู่อย่างสบาย เบากาย
                           - ไม่มีอาบัติที่มีสาเหตุมาจากเรื่องอาหารเป็นเดน
                           - บรรเทาความอยาก ความปรารถนาในรสของอาหาร
                           - ทำให้คุณเช่นความปรารถนาน้อยเกิดขึ้น
                           - โรคภัยไข้เจ็บที่มีสาเหตุมาจากอาหารไม่บังเกิด
                           - ไม่ทำให้ความเพียรเสื่อม
                           - ทำให้จิตบริสุทธิ์ เป็นเหตุให้อยู่สบาย เข้าใกล้ความยินดีในสัลเลข (การขัดเกลากิเลส) อันบริสุทธิ์


               ๖. ปัตตบิณฑิกังคะ องค์แห่งผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร คือ ถือการฉันเฉพาะในบาตร ไม่ใช้ภาชนะอื่นในการบริโภค ถ้ามีข้าวยาคู จะใส่ไว้ในภาชนะอื่นก็ได้เมื่อบริโภคกับอื่น ๆ แล้วจึงดื่มกินข้าวยาคูก็ได้ หรือจะเอาพยัญชนะ (กับข้าว) ใส่ปูนลงไปในข้าวยาคู ให้ดูเป็นปฏิกูลแล้วบริโภคก็สมควร

               ถ้ามีของที่ไม่ปฏิกูล เช่นน้ำผึ้ง น้ำอ้อย ต้องการใส่ปูนลงในข้าวยาคู จึงใส่แต่พอสมควร สำหรับผักดองและหัวมัน จะถือไว้ด้วยมือและกัดกินก็ทำได้ ไม่ต้องใส่รวมในบาตร แต่ไม่ควรใส่ภาชนะอื่น

              อย่างอุกฤษฎ์ ไม่ควรทิ้งกากหยากเยื่อแห่งสิ่งของที่เคี้ยวกิน ยกเว้นกินอ้อย ไม่ควรเอาก้อนข้าว ปลา เนื้อ และขนม ออกมาแกะทำลาย (ไม่ปอก ไม่แก้ ของที่เป็นห่อหรือของที่มีเปลือก)

              อย่างมัชฌิม ให้แกะทำลายของเหล่านั้นด้วยมือข้างหนึ่งและกัดกินได้
              อย่างมทุก เอาวัตถุที่จะทำลายของเหล่านั้นใส่ในบาตรได้ เช่นใช้มือ ใช้ฟัน แล้วกัดกินได้
              ธุดงค์ข้อนี้จะถูกทำลาย ในเมื่อยินดีในการใช้ภาชนะเพิ่มเป็นสอง

              อานิสงส์ มีดังนี้
              - บรรเทาความอยาก ความปรารถนาในรสต่าง ๆ
              - มีปกติรู้ประมาณในประโยชน์ของโภชนะที่พระบรมศาสดาทรงอนุญาต
              - ปราศจากความกำหนัดในการใช้ภาชนะทั้งหลาย
              - ปราศจากการขวนขวายที่จะถือเอากับข้าวที่บรรจุอยู่ในภาชนะต่าง ๆ
              - ประพฤติให้เกิดคุณ เช่นความปรารถนาน้อยเป็นต้น


              ๗. ขลุปัจฉาภัตติยังคะ องค์แห่งผู้ถือ ห้ามภัตต์ที่เขานำมาถวายภายหลัง คือ เมื่อลงมือฉันแล้ว มีผู้นำอาหารมาถวายอีกก็ไม่รับ

              เมื่อพระภิกษุใดถือธุดงค์ข้อนี้ ย่อมห้ามผู้ใดทำโภชนะให้เป็นของควรบริโภคใหม่ แล้วนำมาถวาย (ถวายได้หนเดียวเป็นแล้วกัน)

              อย่างอุกฤษฎ์ กลืนกินเฉพาะก้อนโภชนะที่ได้รับมาในครั้งแรกเท่านั้น ไม่รับในครั้งต่อไป (รับหนเดียวได้เท่าไรเอาเท่านั้น)ก่อนฉัน
              อย่างมัชฌิม บริโภคเฉพาะของที่อยู่ในบาตร ซึ่งอาจจะรับไว้หลายครั้งอยู่แต่เดิม
              อย่างมุทุก ถ้ายังไม่ลุกจากอาสนะตราบใด ย่อมรับเพื่อบริโภคได้อยู่ตราบนั้น
              ธุดงค์ข้อนี้จะถูกทำลาย เมื่อเลิกรับโภชนะแล้ว แต่ให้คนเอาไปจัดแจงให้เหมาะสมแล้วน่ามาถวายให้ฉัน

              อานิสงส์ มีดังนี้
              - จะตั้งอยู่ไกลจากอาบัติที่เกิดจากปัจจัย เช่นเรื่องวินัยเกี่ยวกับอาหารที่เป็นเดน

              - ไม่กังวลเรื่องจะได้ฉันภัตต์เต็มท้อง เต็มอิ่มหรือไม่
              - ปราศจากการสั่งสมอามิสไว้ เพื่อเก็บไว้บริโภคใหม่
              - ไม่ต้องยุ่งยากในการแสวงหาใหม่
              - ประพฤติเพื่อให้คุณทั้งหลาย มีความปรารถนาน้อยเป็นต้น บังเกิดขึ้น
              - ไม่มีความกำหนัด คือความใคร่ความอยากในการแสวงหา
              - สันโดษยินดีในปัจจัยเท่าที่บังเกิดมีแก่ตน


              ๘. อารัญญิกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร คือไม่อยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน แต่อยู่ป่าห่างจากบ้านอย่างน้อย ๒๕ เส้น คำว่าบ้านรวมเอาเขตของ อุปจารบ้านไว้ด้วย

              คำว่า บ้าน หมายถึง มีหลังเดียวหรือมากกว่านั้น จะมีรั้วล้อมก็ดี ไม่มีก็ดี มีคนอยู่หรือไม่มีก็เรียกว่าบ้าน หรือสถานที่พ่อค้าวานิชมาตั้งที่พักชั่วคราว อยู่ประจำเกินกว่า ๔ เดือน ก็เรียกว่าบ้าน

              บุรุษวัยกลางคน มีกำลังดี ยืนอยู่ที่เขตบ้าน ขว้างโยนก้อนดินไปเต็มกำลัง เขตที่ก้อนดินตกเป็นเขตอุปจารบ้าน
              คำว่า ป่า บางแห่งถือเอาสถานที่ทั้งปวงยกเว้น บ้านและอุปจารบ้าน
              บางแห่งถือเอาเขตที่พ้นจากระยะวิ่งของธนูของผู้เป็นอาจารย์ที่ยิงออกจากธรณีบ้าน จนถึงบริเวณวิหาร มิฉะนั้นก็ถือเอาเขตที่ปาก้อนดินตกไปถึงระยะ ๕๐๐ ชั่วธนูของผู้มีฝีมือขั้นอาจารย์ยิง

              บางแห่งถืออุปจารของวิหารเหมือนบ้าน คือถือเอาเขตปาก้อนดินตก คำว่า ใกล้บ้าน ให้ถือว่า พระภิกษุที่อยู่ในวิหารได้ยินเสียงพูดจาของผู้คน เรียกว่าใกล้บ้าน ถ้าวัดเป็นระยะทาง ให้ถือความยาวในทางปรกติ ๕๐๐ ชั่วคันธนู ทั้งนี้ไม่นับทางที่ถูกกั้นด้วยภูเขา แม่น้ำ ถ้าหนทางไปยังหมู่บ้านนั้นต้องไปทางเรือ ก็ถือเอา ๕๐๐ คันธนูในทางเรือ

              ถ้าพระภิกษุใดใช้วิธีปิดหนทางไปมาทางอากาศ เพื่อให้สำเร็จเป็นธุดงค์ เรียกว่า ธุดง โจร

              ถ้าพระเถระอันเป็นอุปัชฌาย์ หรืออาจารย์เจ็บป่วย จำเป็นต้องพาไปรักษา ก็นำไปยังเสนาสนะใกล้บ้านเพื่อการรักษาได้

              เมื่อพาไปรักษาในที่ใกล้บ้านแล้ว พระภิกษุผู้ถือธุดงค์ข้อนี้ ต้องรีบออกจากเขตหมู่บ้านตอนเวลาเช้ามืดก่อนอรุณจะตั้งขึ้น ถ้าพระอุปัชฌาย์อาจารย์อาพาธหนัก ต้องเสียเวลาอุปัฏฐากจนอรุณตั้งขึ้นเสียก่อน ยังไม่ทันกลับเข้าไปในป่า ถือว่าธุดงค์ไม่บริสุทธิ์

              การถืออย่างอุกฤษฎ์ ต้องให้อรุณตั้งขึ้นในป่าสิ้นกาลทั้งปวง คือไม่มีการไปรับอรุณที่อื่นนอกจากในป่า
              อย่างมัชฌิม ในเขตฤดูฝนให้อยู่ในคามันตเสนาสนะ (เสนาสนะในเขตหมู่บ้าน) ๔ เดือน
              อย่างมุทุก อยู่ในคามันตเสนาสนะได้ทั้งฤดูฝน และฤดูหนาว

              แต่ในเรื่องที่พระอาจารย์กำหนดให้ไปฟังธรรมเทศนาในคามันต์เสนาสนะ แม้อรุณจะตั้งขึ้น ไม่ถือว่าธุดงค์ทำลาย หรืออรุณตั้งขึ้นในขณะเดินทางกลับ แต่ยังไม่ถึงป่าก็ไม่ถือว่าขาดธุดงค์ แต่ถ้าเลิกจากการฟังธรรมแล้ว คิดว่าจะนอนสักครู่แล้วจึงไป และอรุณตั้งขึ้นเสียก่อนถือว่าขาดธุดงค์
              การถูกทำลายในธุดงค์ข้อนี้ คือ การที่ให้อรุณตั้งขึ้นในคามันตเสนาสนะ

              อานิสงส์ของการอยู่ป่าเป็นวัตรมีดังนี้คือ
              - ทำให้ได้สมาธิที่ตนยังไม่ได้ และ รักษาสมาธิที่ตนได้ไว้แล้ว
              - พระพุทธองค์ทรงมีพระหฤทัยชื่นชม สรรเสริญ พระภิกษุผู้ที่มีอรัญญิกธุดงค์เป็นปรกติ
              - รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทั้งปวง ไม่สามารถทำให้จิตของพระภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะอันสงัดฟุ้งซ่านได้
              - ทำให้จิตปราศจากความสะดุ้งกลัว ไม่มีความเสียดายอาลัยในชีวิต
              - ยินดีในความสุขที่ได้จากความวิเวก
              - ภิกษุผู้ทรงธุดงค์ข้อนี้ย่อมเป็นผู้สมควรในการถือธุดงค์ข้ออื่น ๆ มีบังสุกุลธุดงค์เป็นต้น


             ๙. รุกขมูลกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร ไม่อยู่ในมุงบัง ต้นไม้ที่ควรเว้นมีดังนี้คือ
             - ต้นไม้ที่อยู่ระหว่างเขตแดนของพระราชาสองแคว้น (อาจเกิดสงครามกันขึ้น)
             - ต้นไม้ที่หมู่มนุษย์บูชา ถือเอาเป็นรุกขเจดีย์ เพราะมีเทพยดาสิงสถิตย์อยู่
             - ต้นไม้มียาง เช่นไม้รกฟ้าเป็นต้น
             - ต้นไม้มีผล
             - ต้นไม้มีดอก
             - ต้นไม้ที่ค้างคาวอาศัยอยู่
             - ต้นไม้มีโพรง สัตว์ทั้งหลายเช่นอาศัยอยู่ จะเบียดเบียนเอาได้
             - ต้นไม้ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางวิหาร แต่ถ้าอยู่สุดวิหารใช้ได้

             การถืออย่างอุกฤษฎ์ เมื่อได้ต้นไม้ที่ชอบใจแล้ว จะให้ใครทำความสะอาดไม่ได้ ให้ใช้เท้าปัดกวาดใบไม้แห้งที่ตกอยู่ด้วยตนเอง

             อย่างมัชฌิม ให้คนอื่นช่วยทำความสะอาดภายใต้ต้นไม้นั้นได้ (คนอื่นในที่นี้คือผู้ที่บังเอิญมาที่นั่น)
             อย่างมุทุก ให้คนที่มีหน้าที่ดูแลรักษาอาราม หรือสามเณรทำความสะอาด และปรับพื้นดินให้สม่ำเสมอ เอาทรายมาโปรย กระทำกำแพงรอบต้นไม้ ทำประตู แล้วจึงอยู่อาศัย
             ธุดงค์ถูกทำลายเมื่อไปอยู่ในที่มุงด้วยหญ้าและใบไม้หรืออื่น ๆ บางทีถือเอาอรุณขึ้นในที่มุงบังเป็นการถูกทำลาย

             อานิสงส์ในการถือธุดงค์ข้อนี้มีดังนี้
             - พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญไว้ว่า เป็นผู้มีปัจจัยบังเกิดได้ง่าย ไม่มีโทษ ไม่ยุ่งยากสมควรแก่นิสัย
             - อนิจจสัญญาย่อมเกิดขึ้น เพราะเหตุเห็นความเปลี่ยนแปลงของต้นไม้ อยู่เนือง ๆ
             - ปราศจากความตระหนี่ในเสนาสนะ ไม่ยินดีในนวกรรม (สิ่งก่อสร้าง)
             - ได้อยู่ด้วยรุกขเทวดา
             - ประพฤติให้เกิดคุณมีอัปปิจฉตา ความปรารถนาน้อยเป็นต้น
            พระภิกษุผู้ประกอบด้วยวิจารณปัญญา ยินดีในวิปัสสนา ย่อมไม่ดูหมิ่นเสนาสนะอันสงัดดังนี้


            ๑๐. อัพโภกาสกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร คือ อยู่เฉพาะกลางแจ้ง ไม่อยู่ในที่มุงบัง หรือแม้แต่โคนไม้ (ห้ามถือในฤดูฝน)

            พระภิกษุผู้ถือธุดงค์ข้อนี้ จะเข้าไปสู่เรือนอันเป็นที่กระทำอุโบสถ หรือ เพื่อฟังธรรมย่อมทำได้ขณะเมื่อกำลังกระทำกิจนั้นอยู่ มีฝนตกลงมา แม้กระทำกิจเสร็จแล้วฝนยังไม่หยุดตกก็ไม่ต้องออกไป เมื่อฝนหยุดแล้วจึงออกไปได้ การเข้าไปศาลาโรงโภชนะโรงไฟ เพื่อกระทำวัตร หรือจะเข้าไปไต่ถามพระภิกษุเถระในโรงบริโภคภัตต์ก็กระทำได้

            ถ้ามีกิจด้วยเรื่องการสอนแก่พระภิกษุอื่น หรือเป็นผู้เรียน ก็เข้าที่มุงบังเพื่อการนั้นได้
            ถ้าจะเก็บเตียงตั่งที่คนเก็บไว้ไม่สมควร ก็เข้าที่มุงบังเพื่อเก็บเตียงดังนั้นได้
            ถ้าเดินไปตามทางโดยถือบริขารของพระเถระผู้ใหญ่ไปด้วย มีฝนตกลงมา เข้าไปอยู่ในศาลาที่มีอยู่ตามทางนั้นได้ หากไม่มีบริขารอันใด จะรีบไปโดยเร็วเพื่อหวังเข้าไปหลบในศาลาดังนี้ไม่ควรให้เดินไปตามปกติ และหลบอยู่ในศาลาได้ตราบเท่าฝนหายแล้วจึงไป ดังนี้กระทำได้

            อย่างอุกฤษฎ์ ไม่ควรอยู่อาศัยที่ต้นไม้ ภูเขา เรือน ควรใช้จีวรทำกระท่อมอยู่ในที่แจ้ง
            อย่างมัชฌิม จะอาศัยต้นไม้ ภูเขา หรือเรือนก็ได้ แต่ต้องไม่เข้าไปอยู่ภายใน
            อย่างมุทุก อาศัยเงื้อมภูเขา แต่มิได้ใช้ผ้าหรือกิ่งไม้มาปิดบังกั้นแดน หรืออาศัยกระท่อม เช่นกระท่อมของคนเฝ้านา ที่เขาทิ้งแล้วอยู่ก็ได้
            ธุดงค์ข้อนี้จะถูกทำลายลง เมื่อเข้าสู่โคนไม้หรือที่มุงบัง บางแห่งถือเอาเรื่องอรุณตั้งขึ้นในที่มุงบัง เป็นเครื่องกำหนดว่าถูกทำลาย

            อานิสงส์ มีดังนี้คือ
            - ติดปลิโพธิกังวลในอาวาส
            - บรรเทาจีนมิทธะความหดหู่ท้อถอย ง่วงเหงาหาวนอน
            - ไม่มีเหตุอันใดขัดข้องในการเที่ยวไปในที่อื่น ดุจมฤคชาติไม่อาลัยในที่อยู่
            - ไม่มีหวงแหนที่อยู่อาศัย อาจจาริกไปในทิศทั้ง ๔
           - ประพฤติให้บังเกิดคุณต่าง ๆ มีอัปปัจฉตาคุณเป็นต้น


           ๑๑. โสสานิยังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร คืออยู่แรมคืนในป่าช้าเป็นประจํา
           ป่าช้า หรือสุสาน หมายถึงบริเวณที่ใช้เผาสรีระของมนุษย์ทั้งหลายที่ตายแล้วหรือที่ใดที่ทิ้งศพไว้แม้จะไม่ได้เผา แต่ใช้เป็นที่เก็บศพถึง ๑๒ ปี ก็เรียกว่าเป็นสุสานโดยแท้จริง

           พระภิกษุผู้ถือธุดงค์ข้อนี้ ไม่ควรให้คนทั้งหลายกระทำที่จงกรม หรือตั้งเตียงตั้งหม้อน้าฉัน น่าใช้ หรือสอนธรรม

           การถือโสสานิกังคะ รักษาได้ยากมาก ต้องบอกกล่าวให้พระสังฆเถระและบุรุษผู้เป็นหัวหน้าบ้าน ที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางการทราบ เพื่อป้องกันอันตราย และให้อยู่โดยไม่ประมาทเวลาจงกรมก็ควรแลดูที่เผาศพ ไม่ต้องเต็มตา ทอดตาดูเพียงกึ่งหนึ่ง

           เมื่อจะไปยังสุสาน ไม่ควรเดินไปตามทางใหญ่ ควรแวะลงทางอื่น เพื่อไม่ให้ใครทราบว่าตนเป็นโสสานิกภิกษุ
           ขณะอยู่ในป่าช้า ให้กำหนดจดจำสถานที่ให้ดีว่าที่ใดเป็นต้นไม้ จอมปลวก ตอไม้ในเวลากลางคืนจะได้ไม่สะดุ้งตกใจ
           เวลากลางคืนเมื่อพวกอมนุษย์ร่ำร้องและเที่ยวไป อย่าใช้วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดประหารเทา
           ไม่ควรเว้นการไปอยู่ในสุสานแม้แต่วันเดียว บางอาจารย์บอกว่าจะอยู่เพียงสิ้นมัชฌิมยามก็ได้
           ไม่ควรเสพ งา แป้ง และภัตต์ที่เจือด้วยถั่ว ปลา เนื้อ น้ำนม น้ำอ้อย เป็นต้น เพราะของเหล่านี้อมนุษย์ล้วนชอบใจ
           ไม่ควรเข้าไปสู่บ้านหรือสกุลใด เพราะร่างกายมีกลิ่นควันในสุสานอบตัวอยู่ และอมนุษย์อาจติดตามพระภิกษุเข้าไปทำอันตรายผู้คน (นำโรคภัยไข้เจ็บเข้าไปติดมนุษย์ทั้งหลายได้)

           อยู่อย่างอุกฤษฎ์ คืออยู่ในสุสานที่คนทั้งหลายนำเอาซากศพไปเผาที่นั่นอยู่เนื่อง นิตย์ มีญาติพี่น้องไปร่ำร้องไห้อยู่เสมอ ทั้งยังเป็นที่มนุษย์ทั้งหลายนำเอาศพไปไว้ในที่นั้นอยู่เป็นประจำ มีลักษณะครบทั้งสามประการดังนี้ เรียกว่าอยู่รักษาโสสานิกธุดงค์อย่างอุกฤษฎ์
           อย่างมัชฌิม มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นเป็นที่เผาซากศพก็นับว่าใช้ได้
           อย่างมุทุก ที่ใดกำหนดเรียกว่า สุสาน เรียกว่าป่าช้า จะมีการกระทำทั้งสามหรือไม่ ก็อยู่ที่นั้นได้
           ธุดงค์ข้อนี้จะถูกทำลายลงไปเมื่อภิกษุนั้นมิได้อยู่ในป่าช้า

           อานิสงส์การรักษาธุดงค์ข้อนี้มีดังนี้
           - จะให้ได้สติรําลึกถึงความตาย
           - จะอยู่อย่างไม่ประมาท แม้จะหลับก็หลับลงด้วยอานุภาพมรณานุสสติ
           - จะได้อศุภนิมิต คือเห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่สิ่งสวยงาม
           - จะบรรเทากามราคะลงเสียได้ เมื่อพบเห็นสิ่งที่เป็นอศุภมากเข้า จิตจะไม่ตกอยู่ในอำนาจวัตถุกาม
           - จะพบเห็นภาวะอันไม่สะอาดของร่างกาย
           - ได้กระทบสัมผัสกับกลิ่นเหม็นอยู่เนือง ๆ ทำให้เกิดปัญญาพิจารณา
           - จิตจะมากไปด้วยความสังเวชสลดใจ
           - ละเสียซึ่งความมัวเมาในความไม่มีโรค
           - อดกลั้นความสะดุ้งสะพึงกลัว
           - เป็นที่เคารพของอมนุษย์
           - ประพฤติได้คุณอันควรมีอัปปิจฉา ความปรารถนาน้อยเป็นต้น
           พระภิกษุผู้ปรารถนาพระนิพพานควรเร่งกระทำความเพียรด้วยการรักษาธุดงค์ข้อนี้ อันประกอบด้วยคุณเป็นอันมาก


           ๑๒. ยถาสันตติยังคะ องค์แห่งผู้ถือการอยู่ในเสนาสนะตามแต่เขาจัดให้ ไม่เลือกอาสนะเอาตามพอใจตน เมื่อภิกษุผู้มีหน้าที่จัดที่อยู่บอกอนุญาตให้อยู่ตรงที่ใดแล้วภิกษุผู้ถือธุดงค์ข้อนี้ควรอยู่ในที่นั้น และไม่ควรให้ภิกษุอื่นอยู่

           รักษาอย่างอุกฤษฎ์ เมื่อได้รับอนุญาตให้อยู่ ณ ที่ใดแล้ว จะไม่สนใจไต่ถามว่าอยู่ที่ใด ใกล้หรือไกล มือมนุษย์ หรือสัตว์เลื้อยคลานชุกชุมหรือไม่ อากาศที่นั่นร้อนหรือเย็น ฯลฯ แต่ตรงไปอยู่โดยเต็มใจ
           อย่างมัชฌิม ถามดูถึงความเป็นไปเหล่านั้น แต่ไม่ได้ถึงกับไปสำรวจตรวจตราด้วยความปรารถนาอยากได้ดังนั้น ดังนี้
           อย่างมุทุก ไปสำรวจดู เมื่อเกิดไม่พอใจก็ย้ายไปอยู่เสนาสนะอื่น
           ธุดงค์ข้อนี้ถูกทำลายลง เมื่อเกิดความโลภในเสนาสนะนั้น

           อานิสงส์ของธุดงค์นี้คือ
           - ทำให้เป็นผู้กระทำตามโอวาท
           - ยินดีในเสนาสนะตามที่ได้รับ
           - สามารถแสวงหาประโยชน์ในการประพฤติพรหมจรรย์ได้เต็มที่
           - สามารถละความรู้สึกว่าเสนาสนะนั้นดี เสนาสนะนี้ชั่ว สามารถนอนได้อย่างเป็นสุขโดยไม่เลือก
           - ละความรู้สึกยินดีหรือไม่ยินดีเกี่ยวกับเสนาสนะ ปิดกั้นช่องทางที่จะให้เกิดตัณหา มักมากในเรื่องที่อยู่
           - ประพฤติเป็นไปตามสมควรในคุณทั้งหลายมีอัปปิจฉตาคุณเป็นต้น


           ๑๓. เนสัชชิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้ถือการนั่งเป็นวัตร คือถือ นั่ง ยืน เดิน เท่านั้น ไม่นอน ภิกษุผู้ถือในธุดงค์ข้อนี้ ให้กำหนดว่า ราตรีหนึ่งมี ๓ ยาม ปฐมยาม มัชฌิมยามปัจฉิมยาม ต้องใช้เวลาจงกรมเสียยามหนึ่ง
           รักษาอย่างอุกฤษฎ์ ไม่มีการพิงเลย แม้แต่พนักพิงนั้นจะทำด้วยผ้าก็ไม่ใช้
           อย่างมัชฌิม ใช้วัตถุสำหรับพิงได้ตามสมควร เช่นพนักพิง แผ่นผ้าสำหรับพึง
           อย่างมุทุก ของสำหรับพิง เตียงอันมีที่พึ่ง ทั้งที่พิงหลัง พิงด้านข้าง ใช้ได้ทั้งสิ้น
           ธุดงค์ข้อนี้จะถูกทำลาย ในกาลเมื่ออยู่ในท่านอน

           ส่วนอานิสงส์มีดังนี้
           - ติดอกุศลต่าง ๆ ที่ผูกอยู่ในจิตของพระภิกษุผู้ชอบนอน และชอบกลิ้งไปมา ง่วงเหงาเซาซึมอยู่เสมอ
          - เป็นสภาวะที่จะทำให้ภิกษุได้กระทำกัมมัฏฐานอยู่เนือง ๆ
          - มีอริยาบถที่ท่าให้เป็นที่น่าเลื่อมใส
          - เป็นไปตามความต้องการในการกระทำความเพียร
          - ประกอบอยู่เนือง ๆ ในสัมมาปฏิบัติ
          - เมื่อพระภิกษุปรารภความเพียร คู่บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ย่อมสามารถทำให้มารรู้สึกหวั่นไหว
          - เมื่อละการนอนเสียแล้วย่อมละความง่วงเหงาหาวนอน ปรารภความเพียรโดยง่าย ย่อมมีความประพฤติอยู่ในท่าทีอันงดงาม ได้รับความสุขที่ปราศจากอามิส

          การรักษาธุดงค์ทั้ง ๑๓ ประการเหล่านี้ บางทีก็เป็นกุศล บางทีก็เป็นอัพยากตธรรม (กลาง ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว) แต่บางทีก็เป็นอกุศล แล้วแต่ผู้ทำการรักษาจะเป็นปุถุชนพระเสขอริยบุคคล (พระอริยบุคคลที่ยังมิได้สำเร็จอรหัตตผล ยังต้องศึกษาปฏิบัติอยู่ ได้แก่พระอริยบุคคล ๗ จำพวกเว้นพระอรหัตตผลบุคคล) และพระขีณาสวเจ้า โดยปกติแล้วหลักปฏิบัติของการถือธุดงค์ ไม่มีอกุศล แต่บางท่านถือเอาว่า ถ้าผู้รักษามีเจตนาไม่บริสุทธิ์ คือรักษาเพื่อโอ้อวด ยกตนข่มผู้อื่น มีความปรารถนาลามกแอบแฝง ถือว่าเป็นอกุศล อันที่จริงไม่ใช่ธุดงค์เป็นอกุศล แต่เจตนาของผู้รักษาธุดงค์ต่างหากเป็นอกุศล

          ธุดงค์ทั้ง ๑๓ ประการนี้ มีความมุ่งหมายสำคัญเป็นหลัก คือ ธุตะ หมายถึงการกำจัดข้าศึก (คือกิเลส) ธุดงค์จึงไม่ใช่อกุศลธรรมแต่อย่างใด

          บุคคลผู้ปฏิบัติธุดงค์ ยังแบ่งออกเป็นดังนี้
          พวกที่หนึ่ง ขจัดกิเลสด้วยธุดงคคุณ แต่มิได้ให้โอวาทสั่งสอนอบรมผู้อื่นให้ปฏิบัติธุดงค์ตาม
          พวกที่สอง ไม่ได้รักษาธุดงค์ ไม่ได้ขจัดกิเลสของตน แต่ให้โอวาทอบรมสั่งสอนผู้อื่นให้รักษาธุดงค์
          พวกที่สาม ตนเองก็ไม่รักษา ทั้งไม่สั่งสอนให้ผู้อื่นรักษา
          พวกที่สี่ ตนเองปฏิบัติด้วย และสั่งสอนอบรมให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม ดังเช่นพระสารีบุตรเถรเจ้า

          นิยมกันว่าการรักษาธุดงค์นั้นเหมาะสำหรับบุคคลผู้มีราคจริต และโมหจริตเพราะเกี่ยวกับเรื่องราคะนั้นหากปฏิบัติอาศัยการปฏิบัติที่ยากลำบากแล้ว ราคะย่อมพอสงบระงับลงไปได้บ้าง ส่วนโมหะ ความหลงฟั่นเฟือน ถ้าอาศัยสัลเลข ความขัดเกลากิเลสให้เบาบางแล้ว ย่อมทำให้โมหะลดน้อยถอยลง

          สำหรับผู้มีโทสจริตนั้น การรักษาอรัญญิกังคะ และรุกขมูลยังคะ ก็พอได้ประโยชน์อยู่มาก เพราะการอยู่ป่า หรืออยู่โคนไม้ตามลำพัง ไม่ต้องกระทบกับวัตถุหรือบุคคลอื่น ๆ ความโกรธเคืองประทุษร้ายพอสงบได้

         เจตนาในการรักษาธุดงค์ทั้ง ๑๓ ข้อ ที่เป็นหลักสำคัญ คือเพื่อการขจัดกิเลสให้สิ้นไปหรืออย่างน้อยให้เบาบางลง แต่เมื่อรักษาแล้วย่อมสามารถทำให้สภาวะธรรมอีก ๕ ประการเกิดขึ้นเป็นบริวารของธุดงค์เจตนา นั่นคือ อัปปัจฉตา สันตุฏฐิตา สัลเลขตา ปวิเวกตา และ อิทมัฏฐิตา
          อัปปิจฉตา - มีความปรารถนาน้อย หรือ มักน้อย ได้แก่อโลโภ ความไม่โลภ
          สันตุฏฐิตา - คือความสันโดษ ยินดีแต่ในปัจจัยของตนเท่าที่มีอยู่ ได้แก่ความไม่โลภ
          สัลเลขตา - การขัดเกลากิเลสให้เบาบาง คือทั้งอโลโภ อโมโห ไม่โลภ ไม่หลง
          ปวิเวกตา - ความยินดีในปวิเวกอันสงัดเงียบ คือ ไม่โลภ ไม่หลง
          อิทมัฏฐิตา - ความมีญาณปัญญา อันเป็นเหตุรู้ที่แท้จริง

          ธุดงค์ทั้ง ๑๓ ประการ แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ เกี่ยวกับจีวรปัจจัย ๒ ข้อเกี่ยวกับบิณฑบาตปัจจัย ๕ ข้อ เกี่ยวกับเสนาสนะ ๕ ข้อ เกี่ยวด้วยความเพียร ๑ ข้อคือเนสัชชิกังคะ
          ธุดงค์ข้อใดเมื่อรักษาแล้ว กัมมัฏฐานภาวนาเจริญขึ้น ควรรักษาธุดงค์นั้นไว้
          ถ้ารักษาแล้วกัมมัฏฐานเสื่อมถอยไป ไม่ควรรักษาธุดงค์นั้น
          ถ้ารักษาหรือไม่รักษาก็ตามกัมมัฏฐานเจริญขึ้นเสมอ ควรรักษาธุดงค์นั้นไว้เพื่ออนุเคราะห์ชนที่เกิดมาภายหลัง ถ้าแม้รักษาหรือไม่รักษา กัมมัฏฐานก็ยังเสื่อมลงอยู่นั่นเอง เป็นดังนี้ก็ควรรักษาธุดงค์นั้นไว้ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่วาสนาบารมี เป็นเหตุอบรมตนในภพชาติต่อไปภายหน้า
          ธุดงค์บางข้อ เช่น การอยู่กลางแจ้ง การอยู่โคนไม้ การอยู่ในสุสานป่าช้า ๓ ข้อนี้พระภิกษุณีปฏิบัติได้ยาก เพราะต้องมีเพื่อนอยู่ด้วย การได้เพื่อนที่ถูกใจหาได้ยาก
          ส่วนข้อ อรัญญิกังคะ และชลุปัจฉาภัตตยังคะ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามไว้ในพุทธบัญญัติ ไม่อนุญาตแก่นางภิกษุณี ธุดงค์ของพระภิกษุณีจึงมิได้เพียง ๘ ข้อ ของสามเณรมี ๑๒ ข้อเว้นข้อเตจีวริกังคะ ส่วนของนางสิกขมานา และสามเณรี มี ๗ ข้อ

 

 

เชิงอรรถ

โพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งการรู้อริยสัจ ๔ มี ๗ อย่างคือ
    - สติสัมโพชฌงค์              ความระลึกได้
    - ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์      การพิจารณาค้นคว้าในธรรม
    - วิริยสัมโพชฌงค์             ความเพียรพยายาม
    - ปีติสัมโพชฌงค์              ความอิ่มใจ
    - ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์       ความสงบกายสงบใจ
    - สมาธิสัมโพชฌงค์          ความตั้งมั่นในอารมณ์
    - อุเบกขาสัมโพชฌงค์      การทำให้ธรรมที่เกิดพร้อมกัน มีความสม่ำเสมอในหน้าที่ (เช่นศรัทธาคู่กับปัญญา วิริยะคู่กับสมาธิ ต้องให้เท่า ๆ กันจึงจะเกิดมรรค

 อินทรีย์ แปลว่า เป็นใหญ่ เป็นผู้ปกครอง หมายความว่าทำให้สภาวธรรมที่เกิดขึ้นพร้อมกันอยู่ในอำนาจของตน มี ๕ อย่างคือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา

อธิกรณ์ แจกออกเป็น ๔ ประเภท คือ
        วิวาทาธิกรณ์          ได้แก่การเถียงกันปรารภพระธรรมวินัย นี้จะต้องได้รับการชี้ขาดว่าถูก ว่าผิด
        อนุวาทาธิกรณ์        ได้แก่การโจทหากันด้วยอาบัติ จะต้องได้รับวินิจฉัยว่าจริงหรือไม่จริง
        อาปิตตาธิกรณ        ได้แก่กิริยาที่ต้องอาบัติ หรือถูกปรับอาบัติ จะต้องทำคืนคือทําให้พ้นโทษ
        กิจจาธิกรณ์             ได้แก่กิจธุระที่สงฆ์จะพึงทำ เช่นให้อุปสมบท นี้จะต้องทำให้สําเร็จ



 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.066836150487264 Mins