พระนิพพาน
การปฏิบัติธรรมตามแนววิชชา “ธรรมกาย” ผู้ที่ปฏิบัติเข้าถึงธรรมที่สามารถใช้ทิพพจักขุได้ จะสามารถเห็นพระนิพพานตรงกันเป็นอย่างเดียวว่า ในพระนิพพานนั้นมีแต่ธรรมกายอยู่มากมายเต็มไปหมด ไม่มีใครคำนวณจำนวนได้ เฉพาะในพระนิพพานที่รู้จักกันอยู่ทั่วไป คือนิพพานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวก ซึ่งปรินิพพาน ทอดทิ้งซากศพกายเนื้อไว้ในโลกนี้ มีแต่ธรรมกายไปปรากฏอยู่ในพระนิพพานนั้น ธรรมกายมีลักษณะคล้ายพระปฏิมากร มีเกตุเป็นรูปคล้ายดอกบัวตูม (สัตตบงกช) หน้าตักกว้าง ๒๐ วา ใสสว่างสวยงาม ไม่มีที่ติ มีพระอิริยาบถอยู่ในท่าประทับนั่งเข้านิโรธสมาบัติ ส่วนพระขีณาสวเจ้าทั้งปวงที่ปรินิพพานโดยไม่มีซากศพทิ้งไว้จะมีธรรมกายอีกลักษณะหนึ่ง อยู่ในพระนิพพานต่างหากอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งผู้มีญาณแก่กล้าสามารถพบเห็นได้
ในพระนิพพาน ไม่มีสิ่งใดกำบัง มีสภาพเหมือนเป็นที่โล่ง ปรากฏอยู่แต่พระธรรมกาย นับจำนวนไม่สิ้นเท่านั้น มีรัศมีและความงดงามแตกต่างกันไปตามแต่พระบารมี
สำหรับพระนิพพานที่กล่าวไว้ในคัมภีร์หรือตำราต่าง ๆ มีดังนี้
นิพพาน คือสิ่งซึ่งมีลักษณะ ปทํ อจฺจุติ อจฺจนฺตํ อสงฺขตํ และ อนุตฺตรํ รวม ๕ อย่าง
ปทํ แปลว่า ส่วนหนึ่ง หมายความว่าเป็นสภาวะธรรมชนิดหนึ่งที่เข้าถึงได้
(มีอยู่โดยเฉพาะไม่เกี่ยวกับสังขตธรรม สภาวธรรมนั้นได้แก่ พระนิพพาน)
อจฺจุตํ แปลว่าธรรมที่ไม่ตาย หมายความว่า ไม่มีเกิด ไม่มีตาย
อจฺจนฺตํ แปลว่า ธรรมที่ก้าวล่วงขันธ์ ๕ เป็นธรรมที่พ้นจากกาลทั้ง ๓ (อดีต ปัจจุบัน อนาคต) เรียกว่า กาลวิมุติ พ้นจากขันธ์ เรียกว่า ขันธวิมุติ
อสงฺขตํ แปลว่า ธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัย ๔ อย่างใดอย่างหนึ่ง (กรรม จิต อุตุ อาหาร) ไม่เหมือนจิต เจตสิก รูป ซึ่งต้องอาศัยปัจจัย ๔ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ ๒-๓-๔ อย่างเป็นผู้ปรุงแต่ง
อนุตตรํ แปลว่า เป็นธรรมที่ประเสริฐ ไม่มีสิ่งใดประเสริฐกว่าพระนิพพานอีกเลย
คำว่า นิพพาน แยกออกได้เป็นคำว่า นิ รวมกับคำว่า วาน
นิ แปลว่า พ้น วานะ แปลว่า ธรรมที่เป็นเครื่องเกี่ยวโยงไว้ (คือ ตัณหา)
เมื่อรวมกันเข้า นิวาน จึงแปลว่า ธรรมที่พ้นจากเครื่องเกี่ยวโยงคือ ตัณหา (แผลง ว เป็น พ จึงเป็นนิพพาน)
"วานโต นิกฺขนฺตนฺติ = นิพฺพานํ
ธรรมชาติใดย่อมพ้นจากเครื่องเกี่ยวโยงคือตัณหา ธรรมชาตินั้นชื่อว่า นิพพาน”
ตัณหาเป็นเครื่องเกี่ยวโยงเหมือนการเอาผ้าหลาย ๆ ชั้นเย็บเกี่ยวโยงกัน
นิพพาน เมื่อว่าโดยลักษณะ มีเพียง ๑
ว่าโดยปริยาย (ไม่ใชโดยตรงทีเดียว) มี ๒
จำแนกโดยวิธีเข้าถึง มี ๓
นิพพานว่าโดยลักษณะ มีเพียง ๑ คือสันติลักขณะ หมายถึงสงบจากกิเลสและขันธ์ ๕ พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อปรินิพพานแล้วย่อมถึงสันติสุขด้วยกันทั้งสิ้น แม้ยังมีชีวิตอยู่ในสันติสุข พ้นจากความยึดถือในขันธ์ ๕ และพ้นจากอำนาจกิเลส
นิพพานที่กล่าวโดยปริยายมี ๒ อย่าง คือ สอุปทิเสสนิพพานและอนุปทิเสสนิพพาน
๑. สอุปทิเสสนิพพาน หมายถึงนิพพานที่เป็นไปกับขันธ์ ๕ คือยังมีขันธ์ ๕ ที่เป็น
วิบากและกัมมชรูปจากกิเลสในครั้งก่อนเหลืออยู่ กล่าวโดยย่อคือ นิพพานของพระอรหันต์
ที่ยังมีชีวิตอยู่
สะ แปลว่า พร้อม แปลว่าร่วมด้วย
อุปาทิ แปลว่า การยึดถือเอาขันธ์ ๕ (คือวิบากและกัมมชรูปว่าเป็นของเรา)
เสสะ (คือ เศษ) แปลว่า ยังเหลืออยู่จากกิเลส
สอุปาทิเสสนิพพาน แปลอย่างง่าย ๆ คือ นิพพานที่เกิดพร้อมกับยังมีร่างกายดำรงชีวิตอยู่
สอุปาทิเสสนิพพาน จะเรียกอีกชื่อว่า ทิฏฐธัมมนิพพาน (ทิฏฐะ แปลว่า ทันตาเห็น) ก็ได้ เพราะพระอรหันต์ทั้งหลายซึ่งเข้าไปรู้แจ้งในพระนิพพานนั้น ยังมีชีวิตให้มองเห็นได้อยู่
๒. อนุปาทิเสสนิพพาน หมายถึงนิพพานที่ไม่มีขันธ์ ๕ เหลือแล้ว ได้แก่นิพพาน
ของพระอรหันต์ที่ปรินิพพานแล้ว
อนุ แปลว่า ตาม แปลว่า ภายหลัง อนุปาทิเสสนิพพาน เรียกว่า สัมปรายิกนิพพาน (สัมปรายิก แปลว่า หน้า ข้างหน้า) ก็ได้
นิพพานที่จำแนกโดยวิธีเข้าถึงมี ๓ อย่าง สุญญตนิพพาน อนิมิตตนิพพาน และ อัปปณิหิตนิพพาน
ก. สุญญตนิพพาน หมายความว่านิพพานที่สูญสิ้นจากกิเลสและขันธ์ ๕ ไม่มีอะไรเหลืออยู่แล้ว หลุดพ้นด้วยการพิจารณารูปนามว่าเป็นของสูญ ปราศจากตัวตน คือหลุดพ้นด้วยการพิจารณาอนัตตา
ข. อนิมิตตนิพพาน หมายความว่า นิพพานที่ไม่มีนิมิตเครื่องหมาย รูปร่างสัณฐาน สีสรร วรรณะอย่างใด ๆ หลุดพ้นด้วยการพิจารณา นาม รูป ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง เมื่อไม่มีขันธ์ ๕ ก็ไม่มีนิมิตใดให้เห็น
ค. อัปปณิหิตนิพพาน หมายความว่าเป็นนิพพานที่ไม่มีอารมณ์ที่น่าปรารถนา ด้วยโลภะ และไม่มีตัณหาต้องการอยู่ในนิพพานนั้น หลุดพ้นด้วยการพิจารณานามรูปว่า เป็นทุกข์
การเข้าพระนิพพานเป็นการหลุดพ้นจากความมี “ตัวตน” ใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น ถ้ามีใครปรารถนาถึงพระนิพพาน เพราะคิดว่าที่นั่นตนจะได้เสวยความสุขล้วน ๆ มีทั้งสุขกาย และสุขใจ ไม่มีความทุกข์ใด ๆ เกิดขึ้นเลย ผู้นั้นนับว่าคิดผิด เป็นผู้มีตัณหาชนิดหนึ่งที่ เรียกว่า วิภวตัณหา เพราะในนิพพาน ปราศจากขันธ์ ๕ ฉะนั้นกายและใจย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อกายและใจเกิดไม่ได้ ตัวตนย่อมไม่มี
นิพพานจึงเป็นสภาพที่ประเสริฐที่สุดควรบำเพ็ญให้ถึง
สรุป เนื้อความทั้งหมดในหนังสือ “เราคือใคร” มีความสำคัญเพียงพอให้รู้จักวิธี ทำให้ “ปราศจากตัวตน” โดยใช้หลักการใหญ่ ๓ ประการตามลำดับคือ
๑. การเว้นจากความชั่วทั้งปวง
๒. การทำความดีให้บริบูรณ์ และ
๓. การทำจิตของตนให้ผ่องใส
ซึ่งเป็นใจความสำคัญของหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา หรือคำสอนที่เป็นหัวใจ อันพระบรมศาสดาประทานไว้ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เวฬุวนาราม ที่เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์
สพฺพปาปสฺส อรกณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯ
ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกขา
นิพฺพานํ ปรม วทนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐฺยนฺโต ฯ
อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมิํ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯ
การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญแต่ความดี
การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง
พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพานเป็นบรมธรรม
ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต
ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณ
การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย ความสำรวมในปาฏิโมกข์
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร การเสพที่นั่งที่นอนอันสงัด
ความเพียรในอธิจิต นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ปฏิบัติตามขั้นตอนทั้ง ๓ ดังกล่าวแล้วจนถึงที่สุด ย่อมสามารถทำลาย ความมีตัว
ตนได้โดยสิ้นเชิง
• สิ่งใดที่มีปัจจัยปรุงแต่ง สิ่งนั้นย่อมไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไปเป็นธรรมดา ถ้าระงับสิ่งดังกล่าวได้ ย่อมเกิดความสุข •
พุทธพจน์