กรรมอันเป็นเหตุให้ไปสู่รูปพรหมภูมิ

วันที่ 19 กย. พ.ศ.2566

20-9-66-BL.jpg

๕.๓ กรรมอันเป็นเหตุให้ไปสู่รูปพรหมภูมิ

                  กรรมที่เป็นเหตุให้ไปสู่รูปพรหมภูมิ เรียกว่า รูปาวจรกุศลกรรมนี้ต่างกันกับกามาวจรกุศลกรรม คือ
                 ๑. กามาวจรกุศลกรรม สามารถกระทำได้ทั้ง ๓ ทวาร กาย วาจา ใจแต่รูปาวจรกุศลกรรม กระทำได้ทางใจทางเดียว ด้วยการเจริญภาวนา

                ๒. กามาวจรกุศลกรรม และรูปาวจรกุศลกรรม สามารถทำให้เกิดได้ด้วยการเจริญภาวนาก็จริง แต่การภาวนาของกามาวจรกุศลกรรม เป็นเพียงขั้นต้น สำเร็จได้อย่างมากเพียงขั้นบริกรรมสมาธิ และอุปจารสมาธิ ไม่สามารถเข้าถึงอัปปนาสมาธิ คือ ฌานสมาบัติได้ เรียกว่า ฌานยังไม่เกิด
                 ส่วนรูปาวจรกุศลกรรม ย่อมเข้าถึงความสำเร็จเป็นอัปปนาสมาธิ และฌานนั้นไม่เสื่อมอยู่จนกระทั่งสิ้นชีวิต จึงจะได้ไปบังเกิดในพรหมโลก

              ๓. กามาวจรกุศลกรรม บำเพ็ญให้เกิดได้ทั้ง ทานมัย ศีลมัย และภาวนามัยรูปาวจรกุศลกรรม บำเพ็ญได้แต่เพียงภาวนามัย ชนิดที่เป็นสมถกรรมฐานเท่านั้น ไม่ใช้วิปัสสนากรรมฐาน

                ๔. การเกิดขึ้นของกามาวจรกุศลกรรมที่มีจำนวน ๘ ชนิดนั้น แยกมหากุศลจิตออกไปโดยถือเอาการจำแนกด้วยเวทนา (โสมนัสและอุเบกขา) ด้วยญาณ (มีปัญญาประกอบและไม่มีปัญญาประกอบ) ด้วยสังขาร (คือเจตสิกที่เข้าประกอบอยู่ในจิตมีจำนวนไม่เท่ากัน)

                การเกิดขึ้นของรูปาวจรกุศลกรรม จำแนกเป็น ๕ ชนิดโดยถือเอาองค์ฌานเป็นหลัก คือ
                ปฐมฌาน มีองค์ฌานครบ ๕ อย่าง ได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา
                ทุติยฌาน มีองค์ฌาน ๔ ได้แก่ วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา
                ตติยฌาน มีองค์ฌาน ๓ ได้แก่ ปีติ สุข และเอกัคคตา
                จตุตถฌาน มีองค์ฌาน ๒ ได้แก่ สุขและเอกัคคตา
                ปัญจมฌาน มีองค์ฌาน ๒ ได้แก่ อุเบกขา และเอกัคคตา


                        การเจริญสมถกรรมฐานภาวนาเพื่อให้เป็นรูปาวจรกุศลกรรม
                วิธีการเริ่มต้นคงมีแนวปฏิบัติเดียวกับการเจริญสมาธิภาวนาในบุญญกิริยาวัตถุข้อ ภาวนามัย ในการประกอบกามาวจรกุศลกรรมที่ได้กล่าวมาแล้ว คือการเจริญสมาธิภาวนาด้วยอารมณ์ ๔๐* คือมี กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ และ อรุปปะ ๔

              เหตุที่อารมณ์ทั้ง ๔๐ นี้เหมาะสมที่จะนำมาใช้ให้จิตยึดเกาะในการฝึกทำสมาธิ เพราะเป็นวัตถุที่ไม่เป็นที่ตั้ง ไม่เป็นที่เกิดขึ้นแห่งกิเลสทั้งหลาย และมีไว้ถึง ๔๐ อย่าง ก็เพื่อให้ผู้ปฏิบัติเลือกใช้ตามความเหมาะสมแก่จริตของตน ๆ ส่วนที่ต้องใช้คำภาวนาให้ตรงกับอารมณ์กรรมฐาน เช่น เพ่งกสิณดิน ภาวนาในใจว่า ปถวี ๆๆๆ หรือ ดิน ๆๆ เพ่งกสิณแสงสว่างใช้คำภาวนาว่า อาโลโก ๆๆ หรือ แสงสว่าง ๆๆ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้สะดวกในการปฏิบัติ เพราะจิตจะกำหนดยึดเหนี่ยวอยู่ในอารมณ์เดียวอยู่ตลอดเวลา ถ้าบริกรรมนิมิตกำหนดเอาลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์แต่บริกรรมภาวนากลับใช้คำว่า พุทโธ ๆๆๆ ดังนี้ จิตจะต้องรับอารมณ์แยกกันออกไปเป็นสองทาง เพราะจะอดคิดถึงความหมายในคำบัญญัติว่า พุทโธ อันเป็นพระนามของพระพุทธเจ้าไม่ใคร่ได้ ทำให้เกิดความพะวักพะวงไม่รวมลงเป็นหนึ่งโดยง่าย

                เมื่อเริ่มต้นด้วยการกำหนดบริกรรมนิมิตและบริกรรมภาวนา ควบคู่กันไปอยู่ตลอดเวลา ดังที่ได้กล่าวมาในการเจริญกรรมฐานในสมถกรรมฐาน ในกามาวจรกุศลกรรมข้างต้นนั้นติดต่อกันแล้ว ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่มีจิตใจใคร่ให้ผลการปฏิบัติเกิดขึ้นโดยเร็วเป็นอันขาด เพราะความอยากดังนี้เป็นศัตรูตัวสำคัญ (การงานทางจิตใจ (นามธรรม) เป็นเรื่องตรงข้ามกับการงานทางวัตถุ (รูปธรรม) งานทางกายที่เป็นงานทางวัตถุ ถ้าจะให้ประสบผลสำเร็จต้องมีความอยากมาก ๆ เพื่อจะได้ขยันรีบร้อนทำให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว แต่งานทางใจถ้าให้สำเร็จกลับต้องมีสภาพตรงข้ามคือต้อง "หยุด" ความอยาก ให้หมดสิ้นเมื่อหยุดได้ ใจจึงจะ “นิ่ง” เมื่อนิ่งจึงจะ "สงบ" เมื่อสงบจึงจะสะอาดและสว่างไสวเหมือนน้ำอุ่นจะทำให้ใส ก็ต้องทิ้งให้หยุดนิ่ง ไม่มีสิ่งใดรบกวน นิ่งแล้วตะกอนจึงจะตกลงนอนก้น น้ำเบื้องบนจึงใสสะอาด จิตก็อุปมาได้ดังการทำน้ำให้ใสดังนี้)

                 ในการปฏิบัติขั้นเริ่มต้นนี้ จะมีอุปสรรคหลายประการเกิดขึ้น นอกจากความอยากให้ได้ผลเร็ว ๆ ดังกล่าวแล้ว ยังมีความเหน็ดเหนื่อยใจ ร่างกายอ่อนเพลีย จิตอาจถูกความง่วงเหงาครอบงำเกิดความย่อท้อ บางทีเกิดความฟุ้งซ่านจิตซัดส่าย เผลอสติออกไปรับอารมณ์คิดเรื่องอื่น ๆ มิใช่อารมณ์ของกรรมฐานบ้าง คิดกังวลถึงการงานอื่นที่ยังทำไม่เสร็จหรือยังไม่ได้ทำบ้าง คิดถึงผู้คนที่เกี่ยวข้องบ้าง บางทีถึงกับคิดลังเลสงสัยในการปฏิบัติว่าเป็นของจริง มีประโยชน์จริงหรือไม่ เรียกว่าอาจฟังไปได้นับเรื่องไม่ถ้วน เมื่อเป็นดังนี้ผู้ปฏิบัติต้องหมั่นตักเตือนตนเองด้วยอุบายวิธีต่าง ๆ ให้เกิดสังเวชสลดใจมีความพยายามอดทนตั้งใจปฏิบัติต่อไป
               เมื่อจิตจับบริกรรมนิมิตเป็นอารมณ์แน่นอน จับได้แน่น และนานพอสมควรแล้ว ภาพบริกรรมนิมิตย่อมปรากฏขึ้นในจิตเหมือนภาพจริงที่เห็นอยู่ตรงหน้า แต่เป็นภาพที่เห็นโดยไม่ต้องใช้ตามองของจริง ภาพบริกรรมนิมิตที่หลับตาก็เห็นได้นี้ เรียก “อุคคหนิมิต” ภาวนาได้ถึงขั้นนี้เรียกว่าตั้งตัวขึ้นได้ มีชื่อเรียกว่า บริกรรมสมาธิ

               เมื่ออุคคหนิมิตเกิดขึ้นแล้ว ผู้ปฏิบัติไม่จำต้องใช้องค์กสิณเดิมต่อไปอีก คงใช้แต่อุคคหนิมิตนั้นเป็นองค์กสิณแทน จิตใจของผู้ปฏิบัติในระยะนี้จะมีสภาพเหมือนแม่เหล็กจะเหมือนถูกดูดให้ติดอยู่ในอุคคหนิมิตนั้น การมองเห็นสิ่งต่าง ๆ จะเห็นเฉพาะเวลาลืมตาดูเท่านั้น แต่ยามใดที่หลับตาลง จะมีแต่อุคคหนิมิตติดแนบอยู่กับใจ ไม่สนใจอารมณ์อื่น ไม่ว่าจะอยู่อิริยาบถใด อุคคหนิมิตจะคอยติดหน้าตามหลังไปด้วยตลอดเวลา โดยที่สุดแม้จะลืมตาอยู่ในที่มืดก็มองเห็นอุคคหนิมิตทางใจนั้นอยู่ตามเดิม มีลักษณะไม่ผิดกับคนขี้กลัวผี บังเอิญไปพบซากศพเข้า พอนอนหลับตาลงก็เห็นแต่ภาพศพที่ตนพบมาปรากฏติดตา ในการปฏิบัติถึงขั้นนี้ จิตจะคลายจากความเกียจคร้านและความง่วงเหงาหาวนอน อ่อนแอท้อแท้ อันเป็นตัวถีนมิทธนิวรณ์ลงไป รวมทั้งนิวรณ์อันเป็นสิ่งกั้นคุณงามความดีชนิดอื่น ๆ คือ กามฉันทนิวรณ์ พยาปาทนิวรณ์ อุทธัจจะกุกกุจจะนิวรณ์ (ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ) และวิจิกิจฉานิวรณ์ (ความลังเลสงสัย) ก็บรรเทาเบาบางลงได้ด้วย

                 การเจริญสมถภาวนาในชั้นสูงขึ้นไปจากการได้อุคคหนิมิตแล้วนั้น จะกระทำได้เฉพาะผู้ที่ปฏิสนธิด้วยไตรเหตุ** ถ้าผู้ใดไม่สามารถทำปฏิภาคนิมิตให้เกิดได้ จึงตัดสินใจได้ว่าไม่ใช่เป็น ติเหตุปฏิสนธิบุคคล ในภพนี้ไม่สามารถปฏิบัติให้ได้รับผลเป็นฌานลาภบุคคลได้ แต่สามารถใช้การเพียรพยายามปฏิบัตินี้ เป็นการฝึกอบรมสั่งสมอินทรีย์ไว้สำหรับในภพภูมิเบื้องหน้า

                 แต่แม้ผู้ปฏิบัติจะปฏิสนธิด้วยไตรเหตุก็ตาม มิใช่จะเกิดปฏิภาคนิมิตได้รวดเร็วทุกคนไป บางคนเกิดเร็วมาก บางคนเป็นเดือน เป็นปี บางคนเป็นสิบ ๆ ปี เป็นไปตามอำนาจแห่งอินทรีย์ทั้ง ๕ และบารมีที่สั่งสมมาจากภพก่อน ๆ เมื่อกำหนดเวลาไม่แน่นอนดังนี้ ผู้ปฏิบัติไม่ควรนึกท้อแท้ใจ ควรเพียรพยายามไปจนกว่าจะสิ้นชีวิต

                 ต่อจากนี้จะกล่าวถึงการปฏิบัติที่สูงกว่าขั้นบริกรรมสมาธิ (คือขั้นที่ได้อุคคหนิมิตแล้ว) ควรลุกไปหาที่นั่งปฏิบัติอันเหมาะสมที่เตรียมไว้อื่น ไม่ควรอยู่ที่เดิม เพื่อจะไม่ต้องเห็นองค์กสิณที่เป็นวัตถุภายนอกอันเดิมที่เลิกใช้แล้วนั้น ถ้ายังเห็นอยู่ นิมิตขั้นสูงกว่าอุคคหนิมิตจะไม่เกิดขึ้น เพราะความจำในกสิณของจริงเข้ารบกวนในอารมณ์
               ครั้นเมื่อทำการเพ่งอุคคหนินิตนั้นต่อไป หากบังเอิญเกิดเลือนหาย ต้องรีบกลับไปนั่งที่เดิม ปฏิบัติให้เกิดอุคคหนิมิตใหม่อีกแล้วค่อยย้ายที่นั่งใหม่อีกหน เมื่อจิตยึดเหนี่ยวแนบแน่นในอุคคหนิมิตมากขึ้นติดกันไปอย่างไม่ขาดตอน ภาพที่เห็นเป็นอุคคหนิมิต จะค่อยแปรเปลี่ยนไปเป็นภาพที่แจ่มใสกว่าของจริง มีสภาพสะอาดปราศจากริ้วรอยไม่มีด่างพร้อยเป็นมลทิน ค่อย ๆ ใสขึ้นมาเหมือนเนื้อกระจกอย่างดี มีแต่ความละเอียดประณีต แจ่มใสกว่าของจริง เหมือนดวงจันทร์ที่โคจรพ้นออกมาจากกลุ่มเมฆที่กำบังอยู่ภาพมีลักษณะวาวเด่นชัดเหมือนภาพนกกระเรียนที่บินเล่นอยู่หน้าเมฆที่กำลังถูกแสงอาทิตย์ทอต้อง ปรากฏแก่สายตาคนที่มองไปจากพื้นดินที่ตนยืนอยู่ ภาพอุคคหนิมิตที่แจ่มใสขึ้นนี้เรียกว่า "ปฏิภาคนิมิต"

               ปฏิภาคนิมิตนี้บริสุทธิ์งดงามกว่าอุคคหนิมิตนับเป็นร้อยเท่าพันเท่า จะเรียกว่ามีสีก็มิใช่ จะว่ามีรูปร่างสัณฐานดังนั้นดังนี้ก็มิใช่ ถ้อยคำที่ว่าเหมือนสิ่งนั้นสิ่งนี้ เช่นเหมือนดวงจันทร์โผล่จากก้อนเมฆ เหมือนเนื้อกระจก เหมือนภาชนะสังข์ที่ขัดไว้ดีแล้ว เหมือนแว่นแก้ว ฯลฯ ล้วนแต่กล่าวเป็นความเปรียบเทียบเอาเท่านั้น คำพูดเหล่านี้ใช้เรียกของต่าง ๆ ที่มองเห็นกันด้วยดวงตา แต่ปฏิภาคนิมิตนั้นเป็นภาพที่เกิดขึ้นทางใจ ไม่มีคำพูดบัญญัติเป็นคำเฉพาะไว้ใช้ ไว้เรียกให้เข้าใจสื่อความหมายตรงกัน เพราะไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะสามารถเห็นได้ทั่วกัน เหมือนกับการมองดูด้วยสายตา
                 สมาธิในขั้นปฏิภาคนิมิตเรียกว่า อุปจารภาวนาหรืออุปจารสมาธิ (สมาธิเฉียดเข้าใกล้ฌาน) สามารถข่มนิวรณธรรมทุกชนิดระงับดับลงหมด ภาพปฏิภาคนิมิตมีคุณสมบัติพิเศษผู้ปฏิบัติจะขยายให้มีขนาดใหญ่เท่าใด หรือหดให้เล็กเท่าใด ย่อมทำได้ โดยควรกำหนดขนาดการขยายการหดไว้ล่วงหน้า แล้วจึงค่อยหัดกระทำตามที่กำหนด เป็นการฝึกสะสมกำลังของสมาธิจิตในการทําอภิญญาต่อไป

                 การปฏิบัติต่อจากนี้ย่อมยึดปฏิภาคนิมิตอย่างเดียวเป็นอารมณ์ ผู้ปฏิบัติจึงจำต้องรักษาปฏิภาคนิมิตเป็นอย่างดีเหมือนหนึ่งพระราชินีระมัดระวังพระครรภ์ ที่ได้รับการทำนายว่าพระกุมารในพระครรภ์จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าไม่ระวังให้ดีปฏิภาคนิมิตอาจเลือนหายไป สมาธิจิตจะลดระดับลงไปเป็นบริกรรมภาวนา หรือบริกรรมสมาธิไปอีก

            การมีความประสงค์จะระวังรักษาปฏิภาคนิมิตไว้เป็นอย่างดีนั้น พึงเว้นจากการไม่สมควร ๗ อย่าง คือ ที่อยู่ หมู่บ้าน ถ้อยคำ ผู้คน อาหาร อากาศ อิริยาบถ และให้ได้แต่สัปปายะที่สมควร ในไม่ช้าการปฏิบัติจะเข้าถึงอัปปนาฌาน

                 ลักษณะของอสัปปายะ (สิ่งที่ไม่ควร) และสัปปายะ (สิ่งที่สมควร) ๗ อย่าง
             ๑. เรื่องที่อยู่อาศัย (อาวาส) ที่ไม่สมควรก็คือ สถานที่ที่อยู่แล้ว นิมิตที่ยังไม่เกิดปฏิบัติไปเท่าใดก็ไม่เกิด นิมิตที่เกิดแล้วกลับสูญหาย สติที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏจิตใจไม่สงบไม่ตั้งมั่น เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นอยู่เหมือนเดิม ถ้าสถานที่ใดพักอาศัยแล้วได้ผลในสภาพตรงข้าม จึงนับว่าเป็นที่สัปปายะ
                 การจะรู้ว่าที่ใดสมควรหรือไม่ บางทีถ้าในที่นั้น ๆ มีที่พักหลายแห่งให้เลือก อาจต้องใช้วิธีทดลองอยู่แห่งละประมาณ ๓ วันก็พอทราบได้ ที่ใดเป็นอสัปปายะควรเว้นเสีย

                  ๒. หมู่บ้านหรือชุมนุม (โคจร) อันเป็นท้องที่ที่จะต้องไปแสวงหาอาหารหรือบิณฑบาต ที่ไม่เหมาะสมคือ
                  - หมู่บ้านที่อยู่ทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตกของที่พักอาศัย เพราะอาจมีแสงพระอาทิตย์ส่องหน้าเวลาไปกลับ
                  - เป็นถิ่นที่อยู่ไกลเกินไป เกินกว่าหนึ่งโกละครึ่ง (ประมาณ ๓ ไมล์ หรือ ๕ กิโลเมตร) การคมนาคมไม่สะดวกทำให้ร่างกายเหน็ดเหนื่อยเกินสมควรเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติ
                  - เป็นทีได้อาหารน้อยไม่พอแก่การดำรงชีวิตให้เป็นสุขพอสมควร การต้องหิวโหยอยู่เสมอปฏิบัติไม่เป็นผล
                  ทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นโคจรอสัปปายะ ส่วนที่เป็นสัปปายะก็มีสภาพตรงกันข้าม

                  ๓. ถ้อยคำ (ภัสสะ) ถ้อยคำสนทนาที่ควรหลีกเลี่ยงมี ดิรัจฉานกถา และวิคคา หิกกถา ดิรัจฉานกถา เป็นถ้อยค่าที่แม้บางเรื่องเป็นประโยชน์ทางโลก แต่ทางการปฏิบัติธรรมถือว่าเป็นดิรัจฉานกถา เพราะเป็นการสนทนาที่ขัดขวางการปฏิบัติเพื่อ มรรค ผล นิพพาน มี ๓๒ ชนิดคือ พูดเรื่องเกี่ยวกับ
                  ๑. ราชกถา                       เรื่องพระเจ้าแผ่นดินและราชวงศ์
                  ๒. มหามตฺตกถา                เรื่องของอำมาตย์มนตรี คณะรัฐบาล
                  ๓. โจรกถา                       โจรผู้ร้ายต่าง ๆ
                  ๔. เสนากถา                     ทหาร ตารวจ
                  ๕. ภยกดา                        ภัยอันตรายต่าง ๆ
                  ๖. ยุทฺธกถา                      การสงคราม
                  ๗. อนฺนกถา                      เรื่องอาหารการกิน
                  ๘. ปฺานกถา                      เครื่องดื่มต่าง ๆ
                  ๙. วตฺถกถา                       เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มต่าง ๆ
                  ๑๐. สยนกถา                    ที่หลับนอน
                  ๑๑. มาลากถา                   ดอกไม้ มาลัย
                  ๑๒. คนฺธกถา                    กลิ่นหอมต่าง ๆ
                  ๑๓. ญาติกถา                   วงศ์ญาติ
                  ๑๔. ยานกถา                    ยวดยานพาหนะ
                  ๑๕. คามกถา                    หมู่บ้านต่าง
                  ๑๖. นิคมกถา                    นิคมต่าง ๆ
                  ๑๗. นครกถา                    เมืองต่าง ๆ
                  ๑๘. ชนบททถ                  ชนบทต่างๆ
                  ๑๙. อิตฺถิกถา                    ผู้หญิง
                  ๒๐. ปุริสกถา                     ผู้ชาย
                  ๒๑. สุรกถา                       ความกล้าหาญ
                  ๒๒. วิสิขากถา                  ถนนหนทางและผู้คนที่อยู่ในหนทางนั้น
                  ๒๓. กุมฺภฐานกถา              ท่าน้ำ ท่าสีของช่างหม้อ
                  ๒๔. ปุพฺพเปตกถา             วงศาคณาญาติที่ล่วงลับไปแล้ว
                  ๒๕. นานตฺตกถา                เรื่องอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวนี้
                  ๒๖. โลกกฺขายิกกถา          โลก เช่นผู้สร้างโลก แผนที่โลก
                  ๒๗. สมุทฺทกฺขายิกกถา       มหาสมุทร
                  ๒๘. อิติภวาภวกถา             ความเจริญ ความเสื่อม
                  ๒๙. อรญฺญกถา                  ป่า
                  ๓๐. ปพฺพตกถา                  ภูเขา
                  ๓๑. นทีกถา                       แม่น้ำ
                  ๓๒. ทีปกถา                       เรื่องเกาะ เรื่องทวีปต่าง ๆ

             เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้แม้ว่าจะเป็นเรื่องปริยัติธรรม หรือการปรารภธรรมโดยยกตัวอย่างมาจากเรื่องที่กล่าวมา อันถือได้ว่าไม่เป็นเดรัจฉานกถา แต่ในการปฏิบัติธรรมแล้วก็ไม่พึงนำมาสนทนากัน เพราะเป็นอุปสรรคทำให้เนิ่นช้าเสียเวลา และเป็นที่ตั้งแห่งความฟุ้งซ่านได้ง่าย
                   วิคคาหิกกถา หมายถึง ถ้อยคำที่แก่งแย่งกัน กล่าวข่มขู่กัน เช่น
                   "ท่านไม่รู้ธรรมวินัย แต่ข้าพเจ้ารู้ธรรมวินัย ท่านจะรู้ได้อย่างไรกัน"
                   “ท่านเป็นผู้ปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก
                   “คำพูดของท่านในเบื้องต้นและเบื้องปลายนั้นไม่ตรงกัน ฉะนั้นคำพูดของท่านจึงไม่มีประโยชน์"
                   "คำที่ควรกล่าวก่อน ท่านกลับนำมากล่าวทีหลัง คำที่ควรกล่าวทีหลัง ท่านกลับยกขึ้นมากล่าวก่อน"
                   “คำพูดของข้าพเจ้าเพียงคำเดียวสามารถทำลายคำพูดของท่าน ที่พูดมาอย่างชองแล้ว ให้ล้มเหลวสิ้น"
                   “ข้าพเจ้าจับผิดความเห็นของท่านได้แล้ว ท่านเป็นผู้ถูกข้าพเจ้าข่มไว้อยู่
                   “ท่านจงพยายามแสวงหาความรู้จากสำนักต่าง ๆ มาปลดเปลื้องแก้ไขค่าพูดของ
                   ท่านที่ข้าพเจ้าข่มไว้ ถ้าท่านเชื่อในความสามารถของท่าน ก็จงแก้ไขมาในบัดนี้

                วิคคาหิกกถา ทุกอย่างล้วนเป็นโทษ ไร้ประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม ในระหว่างยังมีชีวิตอยู่ คำพูดประเภทนี้ย่อมทำลายความดีงามและความเจริญของตน ทั้งยังทำลายความสามัคคีของหมู่คณะ เมื่อเวลาสิ้นชีวิตไปจากโลกนี้ยังต้องไปสู่ทุคติภูมิ ผู้ใคร่เป็นบัณฑิตต้องเว้นการพูดชนิดนี้

                     ส่วน ภัสสสัปปายะ ถ้อยคำที่สมควรพูด คือถ้อยคำที่ไม่ขัดกับเรื่อง มรรค ผล นิพพาน มี ๑๐ ประการดังนี้
                     ๑. อปีจฺฉากถํ                        พูดเรื่องความมักน้อย
                     ๒. สนฺตุฏฐิกถํ                       พูดเรื่องความพอใจตามมีตามได้ ในสิ่งที่ตนได้มา
                     ๓. ปวิเวกกถํ                         พูดเรื่องความสงบทางกาย วาจา ใจ
                     ๔. อสํสคฺคกถํ                       พูดเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับกามคุณอารมณ์
                     ๕. วิริยารมฺภกถํ                     พูดเรื่องความขยันหมั่นเพียร
                     ๖. สีลกถํ                              พูดเรื่องศีล
                     ๗. สมาธิกถํ                          พูดเรื่องสมาธิ
                     ๘. ปญฺญากถํ                        พูดเรื่องปัญญา
                     ๙. วิมุตติกถํ                          พูดเรื่องความหลุดพ้น คืออรหัตตผล
                     ๑๐. วิมุตติญาณทัสสนุก         พูดเรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ คือปัจจเวกขณญาณ ที่เกี่ยวกับอรหัตตผลและนิพพาน

                     แม้ถ้อยคำ ๑๐ ประเภทนี้จะจัดเป็นถ้อยคำสมควรพูด แต่ผู้ปฏิบัติก็ไม่ควรพูดมาก ควรพูดแต่พอประมาณ เพื่อให้เวลาส่วนใหญ่แก่การรักษาสมาธิและปฏิภาคนิมิตอันมีประโยชน์มากกว่า

                     ๔. บุคคล(บุคคล) บุคคลที่ควรเกี่ยวข้องและไม่ควรเกี่ยวข้อง คนที่ไม่ควรเกี่ยวข้องสนทนาปราศรัยด้วย มีอยู่ ๒ จำพวก คือ
                     พวกหนึ่งเรียก กายทฟที่พหุโล เป็นคนชอบบำรุงประคบประหงมตบแต่งร่างกายเป็นปกติ
                     อีก พวกหนึ่งเรียก ตรจฉานกถิโกเป็นปกติ ส่วนคนที่ควรเข้าไปสนทนาปราศรัยด้วยขณะปฏิบัติ ได้แก่ เป็นคนชอบพูดชอบคุยแต่ในเรื่องดิรัจฉานกถา
                     พวกหนึ่งเรียก อติรัจฉานกถิโก เป็นคนมีปกติไม่ชอบพูดคุยเรื่องดิรัจฉานกถาและอีกพวกหนึ่งเรียก สีลาทิคุณสมฺปนฺโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วย ศีลคุณ สมาธิคุณ และปัญญาคุณ
                     ปุคคลสัปปายะ ๒ จำพวกนี้เมื่อสนทนาด้วย ผู้ปฏิบัติจะมีจิตใจสงบเยือกเย็นผ่องใสโดยแท้

                   ๕. อาหาร (โภชนะ) อาหารที่ควรและไม่ควรบริโภคเรื่องอาหารเป็นลักษณะประจำตัวของแต่ละบุคคล บางคนชอบรสต่าง ๆ ไม่
เหมือนกัน เช่นได้รสหวาน ทำให้รู้สึกชุ่มชื่นถูกใจ บางคนชอบรสเปรี้ยว บางคนชอบเค็ม ผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องทราบอุปนิสัยของตน และเลือกบริโภคที่ถูกอัธยาศัย เพื่อให้เกิดชุ่มนผาสุกใจ

                 ๖. อุตุ อากาศ ผู้ปฏิบัติบางท่านชอบอากาศร้อน บางท่านชอบเย็น ต้องเลือกให้ถูกอัธยาศัยของตน เพราะถ้าไม่ถูกจริตแล้ว จะรู้สึกไม่สบาย หงุดหงิด ใจคอไม่แจ่มใสจิตไม่ตั้งมั่น กระสับกระส่าย ขุ่นหมอง จิตที่เคยสงบระงับแจ่มใสกลับฟุ้งซ่านขึ้นมา ถ้าได้อากาศถูกกับอัธยาศัยจึงจะทำสมาธิได้ผล

                  ๗. อิริยาบถ ในอิริยาบถ ๔ อย่าง คือ นั่ง นอน ยืน เดิน ผู้ปฏิบัติแต่ละคนมีอัธยาศัยแตกต่างกัน บางคนไม่ถูกกับอิริยาบถนอน ถ้านอนทำสมาธิเมื่อใดจะหลับทันทีดังนี้ต้องเว้นอิริยาบถนอน การที่จะทราบว่าอิริยาบถใดเหมาะกับตนเองนั้น ต้องสังเกตที่ผลการปฏิบัติ ถ้าอิริยาบถใดปฏิบัติได้ผลดี อิริยาบถนั้นย่อมเป็นที่เหมาะสมกับตน

                      เมื่อผู้ปฏิบัติได้ปฏิภาคนิมิต และเอาปฏิภาคนิมิตนั้นเป็นอารมณ์ ทำการเจริญภาวนาต่อเนื่องกันไปโดยเว้นอสัปปายะ ๗ และเสพสัปปายะ ๗ ดังกล่าวแล้ว ถ้าเป็นตึกขบุคคล ในไม่ช้าก็จะสำเร็จเป็นฌานลาภีบุคคล คือรูปาวจรปฐมฌานที่ชื่อว่า อัปปนาภาวนา หรืออัปนาสมาธิ แต่ถ้าเป็นมันทบุคคลก็จะสำเร็จได้ช้า เมื่อเป็นเช่นนี้ ควรบำเพ็ญอัปปนาโกศล ๑๐ ประการ ให้เกิดขึ้นอย่างบริบูรณ์ในสันดานของตน ดังนี้คือ

                    (๑.) วัตฺถุวิสทกริยตา ชำระร่างกายและเครื่องนุ่งห่มให้สะอาด ตลอดจนทำการปัดกวาดเช็ดถูที่อยู่อาศัย ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้สะอาดสะอ้าน จัดวางเป็นที่เป็นทางระเบียบเรียบร้อยเย็นตา

                    (๒.) อินฺทรียสมตฺตปฏิปาทนตา กระทำอินทรีย์ทั้ง ๕ ให้เสมอกันตามหน้าที่ของตน ๆ คือ ให้มีสติมากเป็นพิเศษ กระทำสติให้เกิดขึ้นมากยิ่งกว่าธรรมข้ออื่น ๆ ทั้งปวง
                     กระทำศรัทธา กับ ปัญญา ให้มีมากเท่า ๆ กัน
                     กระทำ วิริยะ กับ สมาธิ ให้มีกำลังมากเท่า ๆ กัน
                    สำหรับสติยิ่งมีมากเท่าใดยิ่งเป็นคุณอย่างยิ่ง กุศลธรรมทั้งหลายมีสติเป็นที่พำนัก เป็นเครื่องป้องกันรักษาจิตไม่ให้ตกไปสู่นิวรณ์ ทั้งยังใช้เป็นเครื่องปลุกปลอบและกำราบปราบปรามจิตได้

                    (๓.) นิมิตฺตกุศลตา มีความฉลาดในการรักษานิมิตกรรมฐาน และทำให้สมาธิเจริญขึ้น

              (๔.) จิตฺตปคฺคโห ขณะใดรู้สึกว่าจิตใจท้อถอยจากอารมณ์กรรมฐาน อันอาจจะมีสาเหตุมาจากจิตมี ปัสสัทธิ (ความสงบ) สมาธิ (ความตั้งมั่นในอารมณ์เดียว) และอุเบกขาสัมโพชฌงค์ มากเกินไป ขณะนั้นควรทำการยกจิตขึ้นโดยการเจริญโพชฌงค์ อีก ๓ คือธัมมวิจยะ (การพิจารณาไตร่ตรองในธรรม) วิริยะ และ ปีติสัมโพชฌงค์ ให้มาก จิตจะหายจากอาการท้อถอย

                  (๕.) จิตตนิคฺคโห ขณะใดรู้สึกว่าจิตใจมีความฟุ้งซ่าน เนื่องจากโพชฌงค์ ๓ คือ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติสัมโพชฌงค์ มากเกินไป ขณะนั้นควรข่มจิตไว้ โดยเจริญ ปัสสัทธิสมาธิ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ให้เจริญขึ้น แล้วจึงเจริญกรรมฐานต่อไป

                  (๖.) จิตฺตสมฺปหํโส เวลาใดรู้สึกว่ามีการเบื่อหน่ายในการเจริญกรรมฐาน ควรปลุกปลอบใจให้มีความเชื่อความเลื่อมใสในการเจริญกรรมฐาน โดยนึกถึงสังเวควัตถุ ๘ ประการ มีความทุกข์ ในการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อดีตวัฏฏทุกข์ อนาคตวัฏฏทุกข์ ทุกข์ในขณะปัจจุบัน และทุกข์ในการหากินคือ อาหารปริเยฏฐ์ทุกข์ เพื่อให้เกิดความสลดใจ มีกำลังใจในการบำเพ็ญเพียรหนีความทุกข์เหล่านี้ พร้อมกันนั้นให้น้อมรำลึกนึกถึงคุณของพระรัตนตรัย เพื่อทำจิตให้ผ่องใสสดชื่นอยู่เสมอ

                    (๗.) จิตฺตอชฺชุปกฺโข เวลาใดจิตดำเนินไปอย่างดี ไม่ท้อถอย ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เบื่อหน่าย เวลานั้นควรประคองจิตไว้ให้เพ่งอยู่เฉย ไม่ต้องยกจิต ไม่ต้องข่มจิต ไม่ต้องทำจิตให้ร่าเริงแต่อย่างใด เปรียบเสมือนนายสารถีขับรถม้า เมื่อมาเดินเรียบสม่ำเสมอกำลังพอดีอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องคอยตีคอยต้อนเพียงแต่คอยดู ๆ เฉยอยู่ก็พอ

                 (๘.) อสมาหิตปุคฺคลปริวชฺชนํ เว้นจากคนที่มีจิตใจไม่สงบ ฟุ้งซ่านกำเริบอยู่ด้วยอารมณ์ต่าง ๆ มีความประพฤติโลเลเหลาะแหละ วอกแวก ไม่มั่นคงในการทำงาน ชอบเตร็ดเตร่เที่ยวไปในสถานที่ต่าง ๆ คนเหล่านี้ผู้ปฏิบัติจึงต้องเว้นห่างอย่าคบค้าสมาคมด้วย

                    (๙.) สมาหิตบุคคลเสวนํ พึงสมาคมด้วยคนที่มีจิตตั้งมั่น มีความประพฤติมั่นคง ไม่จับจดเป็นหลักเป็นฐาน เช่นบุคคลที่ปฏิบัติในฌาน ผู้ได้สมาธิจิตเป็นต้น

                    (๑๐.) ตทธิมุตฺติ จงน้อมใจอยู่แต่ในเรื่องฌานสมาธิ เคารพในสมาธิ มีความพยายามเร่งอยู่ในปฏิภาคนิมิตที่เป็นเหตุให้ถึงฌาน เมื่อถึงฌานแล้ว ให้เคารพน้อมนำจิตอยู่แต่ในอัปปนาสมาธินั้นสืบต่อเนื่องกันอยู่เรื่อย ๆ ไปไม่ขาดตอน

                    เมื่อบำเพ็ญอัปปนาโกศลให้เป็นกำลังเพิ่มเติมสนับสนุนการปฏิบัติจนครบ ๑๐ ประการ ให้เกิดขึ้นในสันดานของตนอย่างบริบูรณ์แล้ว อัปปนาสมาธิ คือฌานจะบังเกิดขึ้น

                   ไม่ว่าผู้ปฏิบัติจะยังอยู่ในขั้นอุปจารสมาธิ (สมาธิเฉียดใกล้ต่อฌาน) หรืออยู่ในอัปปนาสมาธิแล้วก็ตาม สิ่งที่ควรกระทำประการหนึ่ง คือการฝึกหัดขยายปฏิภาคนิมิตการหัดขยายให้ชำนิชำนาญเป็นการอบรมสมาธิให้มีกำลังแก่กล้ายิ่งขึ้นไป (ส่วนสมาธิต่ำกว่านี้คือขั้นที่ได้อุคคหนิมิต ไม่ควรทำการขยาย เพราะไม่เกิดประโยชน์ทั้งอาจทำให้สมาธิที่ได้เสื่อมถอยลง)

                 วิธีขยายปฏิภาคนิมิต ให้ค่อยนึกขยายปฏิภาคนิมิตที่มีอยู่เดิม ให้โตออกทีละ ๑ นิ้ว ๒ นิ้ว 4 นิ้ว 6 นิ้ว ๑ ศอก ๒ ศอก จนถึงรอบบริเวณสถานที่ที่พักอาศัย แล้วขยายกว้างใหญ่ออกไปจนถึงหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ โลก กระทั่งถึงที่สุดจรดขอบเขตจักรวาล ฝึกอยู่เสมอสมาธิจะมีกำลังมาก

                   การทำความเพียรในการปฏิบัติ ต้องกระทำพอสถานปานกลาง ไม่เพียรมากจนกล้าแข็ง เพราะจิตจะฟุ้งซ่านกำเริบระส่ำระสาย แต่ก็ต้องไม่ย่อหย่อน เพราะถ้าความเพียรน้อยอ่อนไป ความเกียจคร้านจะเข้าครอบงำย่ำยีจิตใจ ความเพียรปานกลางพอประมาณ อุปมาเหมือนแมลงผึ้งบินหาน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ พวกหนึ่งบินเร็วรีบไป จึงบินเลยหมู่ดอกไม้ไปเสีย กว่าจะรู้สึกตัวบินกลับมา น้ำหวานจากเกสรดอกไม้ก็หมดสิ้นไป อีกพวกหนึ่งบินเชื่องช้าอ้อยอิ่งอยู่ไม่ทันกาล น้ำหวานก็หมดไปอีก ส่วนพวกที่บินไม่ช้าไม่เร็ว ย่อมเป็นพวกได้ประโยชน์บริบูรณ์
                    หรือเหมือนคนกรีดมีดลงบนใบบัวในน้ำ กรีดแรงไปใบบัวย่อมขาด ถ้าเบาไปก็ไม่เป็นรอย หรือเหมือนคนพันเอาใยแมงมุม ซึ่งแรงไปใยก็ขาดหมด ไม่กล้าดึงก็ไม่ได้ต้องเอาไม้ค่อยพันแต่กำลังดี ย่อมได้ดังใจปรารถนา หรือเหมือนชักใบเรือ เมื่อลมกล้ามาแรงก็ไม่ลดใบเรือลง เรือก็ล่ม ลมมาอ่อน ๆ ก็ไม่ชักใบขึ้นเรือก็ไม่วิ่ง คนฉลาดเมื่อลมแรงก็ผ่อนใบเรือ ลมอ่อนก็ซักใบเต็มเสาก็จะสำเร็จประโยชน์ หรือเหมือนเทน้ำมันลงในปล้องไม้ รีบร้อนนักน้ำมันย่อมหก มัวขี้ขลาดหวาดหวั่นก็ไม่ได้น้ำมัน ต้องค่อยเทแต่กำลังพอดีจึงสมประสงค์

                    เมื่อกระทำความเพียรแต่พอดี อินทรีย์ทั้ง ๕ สดใสแข็งแรง จิตยึดเอาปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์
                           ศรัทธา    ย่อมคอยน้อมนำจิตเข้าสู่อารมณ์
                           วิริยะ       ทำหน้าที่ประคับประคองจิต
                           สติ         ทําหน้าที่เข้าไปจับอารมณ์ให้ตั้งอยู่ให้มั่นคง ไม่ให้อารมณ์อื่นเข้ามาแทรกได้
                           สมาธิ      ทำหน้าที่ตั้งจิตไว้ให้แน่วแน่ ไม่ให้จิตวิ่งออกไปรับอารมณ์อื่น
                           ปัญญา    ทำหน้าที่รู้ธรรมทั้งปวง
                    อินทรีย์ทั้ง ๕ นี้ต้องทำหน้าที่ให้สมดุลย์กัน มีอย่างหนึ่งอย่างใดมากเกินอีก ๔ อย่างที่เหลือ อัปปนาสมาธิจะไม่บังเกิดขึ้น

                    คนมีศรัทธาแรง ปัญญาอ่อนไป ย่อมเลื่อมใสกระทั่งสิ่งที่ไม่ควรเลื่อมใส
                    คนมีศรัทธาอ่อน ปัญญาแรง ย่อมทะนงตน จนขาดความเลื่อมใสในสิ่งที่ควรเลื่อมใส
                    คนมีสมาธิแรง ความเพียรอ่อน ย่อมถูกความเกียจคร้านเข้าครอบงำ
                    คนมีสมาธิอ่อน ความเพียรแรง ย่อมถูกความฟุ้งซ่านเข้าครอบงำ
                    ถ้าปัญญามีกำลังแรงมากเกินไป ควรมนสิการระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ลดกำลังนั้นลงเสียบ้าง
                    ถ้าศรัทธามีกำลังแรงเกินไป ควรรู้สึกตัวมนสิการถึงสภาวะธรรมนั้นเพื่อลดกำลังลง
                    ถ้าความเพียงแรงเกินไป ควรลดความขวนขวายขะมักเขม้นลงเสียบ้าง และเพิ่มกําลังสมาธิ
                    ถ้าสมาธิแรงเกินไป ควรเพิ่มความเพียรขึ้นมาบ้าง
                    เมื่อศรัธากับปัญญาสมดุลย์กัน ความเพียรกับสมาธิสมดุลย์กัน อัปปนาย่อมเกิด

                     สำหรับสติ ทำให้เกิดผลมากเท่าใด มีกำลังแรงเท่าใด ไม่มีความเสียหาย มีแต่ผลดีฝ่ายเดียว เพราะจิตนั้นต้องมีสติเป็นผู้นำคอยป้องกันไม่ให้ตกไปสู่ความฟุ้งซ่านด้วยอำนาจของศรัทธา วิริยะ หรือปัญญา และสติย่อมคอยป้องกันจิตไม่ให้ตกไปสู่ความเกียจคร้านด้วยอำนาจสมาธิ สติย่อมช่วยให้เอกัคคตามีกำลังแรงขึ้น ๆ (เอกัคคตา คือมีอารมณ์เป็นหนึ่ง) ทำให้อัปปนาสําเร็จเร็ว

                      ฌาน โดยทั่วไปมีอยู่ ๒ ประเภท
                      ๑. อารมณูปนิฌาน     ได้แก่รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔
                      ๒. ลักขณูปนิฌาน      ได้แก่วิปัสสนา มรรค และผล

                     การปฏิบัติเพื่อให้เป็นอัปปนาฌานที่กำลังกล่าวอยู่นี้เป็นประเภทที่ ๑ คือเมื่อผู้ปฏิบัติทำอินทรีย์ ๕ ให้สมดุลย์กันอยู่ เจริญภาวนาโดยยึดหน่วงเอาปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ ไม่ต้องกังวลคำนึงถึงรูปร่าง ขนาด ความสว่าง หรือลักษณะใด ๆ ของปฏิภาคนิมิต ให้จิตไขว้เขวไม่เป็นหนึ่ง อยู่ดังนี้เรื่อย ๆ ไป สมาธิจะรัดตัวเข้าอยู่ในขอบเขต มีกำลังแล่นขึ้นไปจนถึงจุดอิ่มตัวที่จะทำให้ชวนะ*** ในอัปปนาวิถีเกิด ในขณะที่อัปปนาจะสำเร็จมีลักษณะการทํางานของจิตดังนี้

                   ลำดับที่หนึ่ง มโนทวาราวัชชนะ (คือกิริยาของมโนธาตุ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า จิตที่รับรู้อารมณ์ทางใจ) จิตที่น้อมตัวเข้าไปหาปฏิภาคนิมิตที่เกิดอยู่ในมโนทวาร (เกิดทางใจไม่ใช่ตา หู จมูก ลิ้น กาย) จะเข้าตัดกระแสภวังคะ**** ขาดลง

                    ลำดับที่สอง เมื่อมโนทวาราวัชชนะจิตติดกระแสภวังค์ขาดลงแล้ว ชวนะจิต ๕ ชนิดจะเกิดขึ้นคือ บริกรรม อุปจาร อนุโลม โคตรภู อัปปนาจิต หรือเกิดเพียง ๔ มี อุปจาร อนุโลม โคตรภู อัปปนาจิต ชวนะจิตทั้ง ๕ หรือ ๔ นี้จะเกิดทะยอยกันขึ้นมาทีละชนิดตามลำดับ ชนิดต้น ๆ ๔ หรือ ๓ นั้นยังเป็นจิตที่เป็นกามาวจรจิต (ยังอยู่ในกาม) ส่วนชนิดสุดท้ายอัปปนาจิตนั้นเป็นรูปาวจรจิต

                          ลำดับที่สาม เมื่อชวนะจิตทั้ง ๕ ชนิด หรือ ๔ ชนิดทะยอยกันเกิดครบแล้ว จิตจะกลับตกลงสู่ภวังค์อีก คือไม่รับอารมณ์ใด
                       ฌานที่เกิดในครั้งแรกเกิดขึ้นเพียงขณะจิตเดียว เรียกฌานนี้ว่า ปฐมฌานกุศลที่เป็นอัปปนาสมาธิ ที่มีปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ ฌานนี้มีองค์ ๕ เป็นส่วนประกอบ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา มีจำนวนและลักษณะเหมือนองค์ของอุปจารสมาธิ แต่มีกำลังแรงกว่ามาก จึงบังคับให้จิตนิ่งแน่วเหมือนจมหายเข้าไปในกลางปฏิภาคนิมิต ทำให้หมดการรับรู้สัมผัสที่มี จากวิถีประสาททั้ง ๕ คือการรู้จากการกระทบที่ทวารทั้ง ๕ กับอารมณ์ต่าง ๆ ดับหมด

                       ลำดับที่สี่ เมื่อฌานจิตเกิดขึ้นครั้งแรกเพียงขณะจิตเดียวแล้วดับลง เข้าสู่ภวังค์ ผู้ปฏิบัติจึงยกจิตออกจากภวังค์แล้วกลับเข้าใหม่ ทำซ้ำอยู่ดังนี้เรื่อยไป จนชำนิชำนาญถึงขั้นที่อัปปนาชวนะเกิดขึ้นในวิถีเดียว ดำเนินอยู่ได้ตลอดครึ่งชั่วโมง ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง หรือนานกว่านั้น โดยไม่มีการตกภวังคะก่อนกำหนดเวลาที่กะไว้เมื่อก่อนเข้า การทำอัปปนาชวนะ ให้เกิดได้ดังนี้เรียกว่า "การทำฌาน” การทำอัปปนาชวนะให้ดำเนินอยู่ได้ตามที่กำหนด โดยไม่ตกภวังคะ เรียกว่า “ฌานสมาบัติ"

                        ลำดับที่ห้า เมื่อกระทำได้ดีแล้วในปฐมฌานดังนี้ จึงออกจากปฐมฌาน เพื่อพิจารณาให้รู้ลักษณะของฌาน และลักษณะของธรรมต่าง ๆ ที่ประกอบเข้าเป็นฌาน ให้รู้ลักษณะของจิตที่มีกิริยาเหมือนเพ่งพุ่งเข้าไปในอารมณ์ที่กำหนด (อารมณ์ของการปฏิบัติขณะนี้ คือปฏิภาคนิมิต) จนข่มนิวรณธรรมลงได้ด้วยองค์ ๕ ที่ประกอบกันเป็นฌาน มี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ดังกล่าวแล้ว

                        วิตก คืออาการที่ส่งจิตเข้าไปเกาะอยู่ที่อารมณ์
                        วิจาร คืออาการที่ตามรู้ (ลูบคลำ) อารมณ์นั้นทั่วทุกส่วน โดยไม่ขาดสายขาดตอน
                        (เปรียบอารมณ์เหมือนแผ่นกระดาษ วิตกเหมือนปักปลายวงเวียนลงไป วิจารเหมือนหมุนวงเวียนเป็นวง
                        ปีติ คืออาการทีกายและจิตชุ่มชื่น เอิบอิ่มซาบซ่าน
                        สุข เป็นธรรมชาติที่มากลืนกินความลำบากของกายและจิต
                        เอกัคคตา คืออารมณ์แน่วแน่เป็นหนึ่งเดียว คือสมาธินั่นเอง
                      (เปรียบเสมือนเดินทางในที่แสงแดดร้อน เกิดกระหายน้ำ มีผู้นำน้ำเย็นมาให้ ย่อมรู้สึกปีติยินดี หลังจากดื่มเข้าไปแล้วระงับความกระหายลงได้ คือ สุข ปีติเกิดเมื่อใดสุขย่อมเกิดตามมาเมื่อนั้น แต่สุขเกิดขึ้นเมื่อใด ปีติไม่จำเป็นต้องเกิดร่วมด้วย)

                      องค์ทั้ง ๕ ของฌานเหล่านี้เริ่มเกิดมาตั้งแต่เมื่อการภาวนาตั้งตัวได้สำเร็จเป็นบริกรรมสมาธิ เมื่อเกิดขึ้น นิวรณ์ต่าง ๆ ก็ค่อยสงบลง ในระหว่างนี้จิตย่อมเกิดปราโมทย์และเกิดมีปีติ แต่แรกเกิดอย่างอ่อนก่อนแล้วแรงขึ้นตามลำดับ ปีติมีอยู่ทั้งหมด ๕ ลำดับ คือ
                         ๑. ขุททกาปิติ ปีติเล็กน้อยพอขนลุกชันบ้าง น้ำตาไหลบ้าง
                         ๒. ขณิกาปิติ ปีติชั่วครู่ชั่วขณะ รู้สึกแปลบปลาบ ๆ เหมือนฟ้าแลบวูบวาบแวบวับ
                         ๓. โอกกันติกาปิติ ปีติเป็นระลอก ๆ รู้สึกซู่ซ่าลงมา ๆ ดุจคลื่นซัดฝั่ง
                         ๔. อุพเพงคาปิติ ปีติโลดโผน โลดลอยทำให้ใจฟู ตัวเบา หรือถึงกับร้องอุทานออกมา
                         ๕. ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน เอิบอาบไปทั่วสรรพางค์กาย เกิดขึ้นในจิตที่มีสมาธิถึงระดับหนึ่ง

                         เมื่อปีติต่าง ๆ เหล่านี้เจริญขึ้นทีละน้อย ๆ ตามลำดับ และเจริญอยู่ในกรอบไม่นอกลู่นอกทาง มากขึ้นไปจนถึงจุดอิ่มตัว จะทำให้ปัสสัทธิ ความสงบทางกายและจิตเกิดขึ้นตามมา
                         เมื่อปัสสัทธิเจริญอยู่ในกรอบจนถึงจุดอิ่มตัว ทำให้ สุขทั้งกายและจิตเกิดตามมา
                         เมื่อสุขเกิดและเจริญถึงจุดอิ่มตัว ทำให้อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิเกิดตามมาเป็นลำาดับ
                      ขณะที่ปีติถึงจุดอิ่มตัวย่อมอุดหนุนให้วิตกหน่วงเอาอุคคหนิมิตเท่านั้นมาเป็นอารมณ์ ส่วนวิจารย่อมแล่นไปที่อุคคหนิมิตนั้นอย่างไม่ขาดสาย ทำให้เกิดเป็นอุปจารสมาธิขึ้นมาก่อน

                         เมื่ออุปจารสมาธิถึงจุดอิ่มตัว อัปปนาสมาธิจึงเกิด องค์ทั้ง ๕ ยังคงประกอบอยู่ในสมาธิจิตดังนี้ การที่องค์ทั้ง ๕ ร่วมกันทำให้เกิดเป็นฌาน คือ
                      วิตก จะไม่ทำหน้าที่ปักเข้าไปในอารมณ์อย่างธรรมดา แต่จะพุ่งแน่วเข้าไปที่ปฏิภาคนิมิตด้วยอาการร่าเริงห้าวหาญ
                      วิจาร จะทำหน้าที่ส่งจิตให้แล่นไปโดยทั่วถึงที่ปฏิภาคนิมิตโดยไม่มีการขาดสายการทำหน้าที่ของวิตกและวิจารอย่างเต็มที่ดังนี้ ทำให้จิตเกิดมีความพยายามปรับปรุงตัวให้ตั้งมั่น

                 ความปรับปรุงตัวให้ตั้งมั่นของจิตเต็มบริบูรณ์ขึ้นมาเมื่อใด ย่อมทำให้ปีติเกิดขึ้นบริบูรณ์ถึงขีดเมื่อนั้น ปีติย่อมแผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย เกิดปัสสัทธิตามมา ปัสสัทธิเกิด ทำให้สุขเกิด เมื่อสุขเกิดย่อมแผ่ออกไปกินความลำบากทางกายทางจิตจนหมด ทำให้จิตมีอาการตื่นตัวสว่างไสว ในขณะนั้นเองจิตย่อมตั้งมั่นอยู่โดยสม่ำเสมอ เป็นเอกัคคตาจิต จิตมีอารมณ์เดียว สำเร็จเป็นปฐมฌาน

                        ปฐมฌานนี้ เรียกว่า ปัญจังคสมันนาคตฌาน คือฌานที่ประกอบด้วยองค์ ๕ การกระทำในลำดับที่ห้า คือการพิจารณาปฐมฌานและองค์ของปฐมฌานนี้ สำหรับผู้ที่เพิ่งได้บรรลุ ควรทำแต่พอประมาณ ไม่ควรพิจารณามากเกินไป เพราะถ้าทำมากเกินไป องค์ของปฐมฌานจะหยาบขึ้น และกำลังของสมาธิจะลดลง ส่วนการกลับเข้าฌานใหม่หลังจากจิตตกภวังค์แล้ว ยิ่งทำมากครั้ง ครั้งหนึ่ง ๆ ให้ฌานตั้งอยู่ได้นาน ๆ ยิ่งนานมากเท่าใดยิ่งดี

                        ถ้าเพิ่งบรรลุปฐมฌาน และเข้าฌานน้อยเกินไป ยังไม่เกิดความชำนาญ หันมาพิจารณาองค์ฌาน เพราะใจร้อนใคร่จะก้าวไปสู่ทุติยฌานเร็ว ๆ ถ้าทำเช่นนี้อาจเสื่อมจากฌานทั้งสองคือ ปฐมฌานก็เข้าไม่ได้อีก ทุติยฌานก็ยังไม่ถึง

                         จิตที่อยู่ในฌานวิถีนั้น สามารถสังเกตได้ดังนี้ ถ้าอารมณ์ของ บริกรรม อุปจาร อนุโลม โคตรภู ยังมีกามชวนะเกิดอยู่ คืออำนาจกามตัณหายังไม่สงบราบคาบ จิตใจแม้จะอยู่ในฌานวิถีก็ไม่มีกำลังเต็มที่ แต่เมื่อใดปฐมฌานเกิดขึ้นแม้เพียงขณะจิตเดียวก็จริง แต่สามารถข่มกามตัณหาให้สงบลงอย่างราบคาบเป็นพิเศษ จิตใจย่อมมีกำลังกล้าแข็งเต็มที่ องค์ฌานทั้ง ๕ ปรากฏเด่นชัด อุปมาจิตขณะนี้แน่นเหมือนการตอกตะปูลงในแผ่นกระดาน ไม่หวั่นไหวคลอนแคลน ทำให้รู้ได้ด้วยตนเองว่า ฌานที่เป็นรูปาวจรปฐมฌานเกิดขึ้นแล้วแก่ตน แต่สามารถจะอธิบายให้ผู้อื่นทราบและเข้าใจตามได้หรือไม่นั้น ต้องเกี่ยวกับพื้นความรู้ทางธรรมของผู้ปฏิบัติ ถ้าตนเองเข้าใจแต่อธิบายให้ผู้อื่นทราบไม่เป็นก็
เหมือนคนใบ้ฝันเห็นของสวยงามไม่สามารถอธิบายโดยละเอียดให้คนอื่นทราบฉันนั้น

                         ปฐมฌานกุศลนี้ไม่มีกามตัณหา คือความพอใจในกามคุณทั้ง ๕ ดังนั้นถ้าผู้ใดปฏิบัติจนได้เป็นปฐมฌานลาภิบุคคล และได้สิ้นชีวิตลงโดยที่อำนาจสมาธิจิตไม่เสื่อมฌานกุศลในขั้นนี้ย่อมส่งผลให้ไปบังเกิดในรูปภูมิ ไม่บังเกิดในกามภูมิ ฉะนั้นปฐมฌานกุศลนี้ จึงเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า รูปาวจรจิต

                        ปฐมฌานมีความงาม ๓ ตอน ทั้งตอนต้น ตอนกลาง และตอนสุดท้าย รวม ๑๐ ประการ
                        ตอนต้นเมื่อปฐมฌานเกิด มีความงาม ๓ ชนิด
                              ๑. มีจิตบริสุทธิ์จากนิวรณ์ทั้ง ๕
                              ๒. จิต าเนินไปโดยสม่ำเสมอในอัปปนาสมาธิ
                              ๓. จิตแล่นไปแต่ในทางดำเนินของอัปปนาไม่ไปอื่น
                         เมื่อปฐมฌานตั้งอยู่ (ตอนกลาง) ก็มีความงามอีก ๓ ชนิด
                              ๔. อาการที่เพ่งเฉยอยู่ในจิตที่บริสุทธิ์
                              ๕. อาการที่เพ่งเฉยอยู่ในที่ดำเนินไปสู่ความสงบ
                              ๖. อาการที่เพ่งเฉยอยู่ในอาการตั้งอยู่ของจิตที่เข้าถึงอัปปนา
                         ในตอนท้ายของปฐมฌาน มีความงามอีก ๔ ชนิด
                              ๗. มีความชื่นบาน เพราะธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วในฌานจิตนั้นไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน
                             ๘. มีความชื่นบาน เพราะอินทรีย์ทั้ง ๕ ต่างปฏิบัติกิจในหน้าที่อย่างเดียวกัน คือทำตนให้พ้นจากกิเลสที่เป็นข้าศึกของตน ๆ มี
                        ศรัทธา ทำตนให้พ้นจากความเชื่อในสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ พ้นจากความไม่เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ
                        วิริยะ ทำตนให้พ้นจากความเกียจคร้าน
                        สติ ทำตนให้พ้นจากความฝันเพื่อนเลื่อนลอย
                        สมาธิ ทำตนให้พ้นจากความฟุ้งซ่าน
                        ปัญญา ทำตนให้พ้นจากโมหะ
                             ๙. มีความชื่นบานเพราะการได้กระทำความเพียรให้เกิดขึ้นตามสมควร เพื่อไม่ให้ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นในฌานจิตนั้นก้าวก่ายหน้าที่ของกันและกัน
                             ๑๐. มีความชื่นบานเพราะองค์ฌานมีความคล่องแคล่วและมีกำลังมาก

                   อย่างไรก็ดีสมาธิขั้นปฐมฌาน จิตเพียงสักว่าผ่องใส ถ้าเป็นอัปปนาขั้นเริ่มแรกจิตยังคงไหวอ่อน ๆ ด้วยอำนาจวิตกและวิจาร เปรียบเหมือนน้ำนั้นตกตะกอนนอนนิ่งใสสะอาดแล้ว แต่ยังมีลมอ่อน ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ พัดผิวน้ำกระเพื่อมอยู่บ้าง หากเอกัคคตาไม่เป็นสมาธิที่ตั้งขึ้นเป็นเด่นโดดเดี่ยวจริง ๆ วิตกและวิจารอาจผละจากปฏิภาคนิมิต พุ่งตัวเข้าไปหา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แปรเปลี่ยนเป็นนิวรณ์ ได้โดยง่าย จึงต้องพยายามทำสมาธิให้ตั้งขึ้นโดดเดี่ยวจริง ๆ เพื่อไม่ให้เสื่อมจากฌานที่ได้แล้ว
                     ดังนั้นผู้ปฏิบัติที่ได้ปฐมฌานและเข้าสมาบัติได้แล้ว ปรารถนาจะพบกับนิรามิสสุขอันเป็นสุขที่สงบจากกิเลสโดยแน่แท้ ให้เป็นสุขที่ยั่งยืนไม่เสื่อมง่าย จึงควรเขยิบชั้นของสมาธิให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป คือเลื่อนทำสมาธิในชั้นสูง ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌานให้เกิดขึ้นตาม ๆ กันต่อไป


การปฏิบัติต่อไปเพื่อให้เกิด ทุติยฌาน

                        สมาธิในระดับที่แตกต่างชั้นกัน จะมีลักษณะพิเศษเป็นของตนเองโดยเฉพาะ ไม่เหมือนกันไม่ปะปนกัน ไม่เกี่ยวเนื่องสืบต่อกัน เช่นเมื่อได้ปฐมฌานแล้ว แม้จะทำสมาธิขั้นนี้ซ้ำซากอยู่เรื่อย ๆ จนตลอดชีวิตย่อมไม่สามารถบรรลุถึงขั้นทุติยฌานได้ เพราะผลแห่งสมาธิแต่ละชั้น ไม่สามารถเลื่อนตัวเองไปสู่ชั้นสูงขึ้น เปรียบเหมือนมีตึกสูง ๔ ชั้นแต่บันไดขึ้นตึกแต่ละชั้นอยู่นอกตัวตึก เมื่อขึ้นไปอยู่ในตึกชั้นที่ ๑ และมัวชมสิ่งต่าง ๆ อยู่ในตัวตึก ตราบใดที่ยังไม่ผละออกจากตัวตึก ออกมาอยู่ที่บันไดนอกตัวตึกแล้ว ย่อมไม่สามารถขึ้นไปสู่ตึกชั้นที่สองได้ หรือแม้ออกจากตัวตึกชั้นแรกมาแล้ว แต่ยังตัดใจตัดความพอใจห่วงอาลัยในสิ่งต่าง ๆ ภายในตัวตึกชั้นที่หนึ่งไม่ได้ ไม่ทำการขวนขวายขึ้นบันไดในชั้นสูงขึ้นไป ย่อมไม่มีทางพาตนเองไปชมความงามในชั้นที่สองต่อไป ในชั้นอื่น ๆ ก็เป็นไปในท่านองเดียวกันนี้

                         การทำสมาธิให้ปฐมฌานเกิดขึ้นมาได้แล้ว ถ้ามัวพอใจเพลิดเพลินอยู่เพียงเท่านี้ เมื่อออกจากปฐมฌานแล้วก็กลับเข้าใหม่อยู่ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ผู้ปฏิบัติย่อมได้ผลอยู่เท่าเดิม
                       ต่อเมื่อได้พิจารณาเห็นโทษบางประการในปฐมฌาน ทำให้ตัดความอาลัยรักลงได้พิจารณาให้เห็นความดีบางประการของทุติยฌาน จนเกิดความพอใจในทุติยฌานอย่างเต็มเปี่ยม ลงมือเจริญภาวนาในสมาธิขั้นทุติยฌานนั้นเรื่อย ๆ ไป ย่อมส่งให้บรรลุทุติยฌานได้ตามประสงค์

                       สำหรับการปฏิบัติเพื่อขึ้นสู่ทุติยฌาน มีการกระทำดังนี้
                      ลำดับที่หนึ่ง เมื่อได้ปฐมฌานแล้ว หมั่นกระทำให้ปฐมฌานกุศลชวนะเกิดขึ้นเสมอ ๆ โดยการเพ่งปฏิภาคนิมิตเสียก่อน เมื่อเพ่งปฏิภาคนิมิตเวลาใด ฌานจิตย่อมต้องเกิดเป็นธรรมดา ในระยะแรก ๆ ฌานจิตเกิดดับรวดเร็ว เพียง ๑-๒-๓ ขณะแล้วจิตกลับตกสู่ภวังค์อีก ผู้ปฏิบัติเมื่อรู้สึกตัวว่าจิตตกภวังค์ต้องรีบเร่งปฏิภาคนิมิตอีก เพื่อกลับเข้าปฐมฌานใหม่ พยายามเข้าปฐมฌานไว้เสมอ ๆ เพื่อเป็นการอบรมให้สมาธิมีกำลังกล้า

                       ลำดับที่สอง เมื่อทำตามลำดับแรกได้ดีแล้ว พึงกระทำปฐมฌานกุศลชวนะให้เกิดติดต่อกันตลอด ๑ วัน ถึง ๗ วันเสียก่อน เพื่อเป็นบาทในการฝึกหัด วสีภาวะ (ความชำนาญ ความสามารถ) ๕ ประการ เพราะการที่จะปฏิบัติขั้นสูงมีทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน ต่อไปตามลำดับ ต้องอาศัยวสีภาวะเป็นองค์ประกอบ ถ้าขาดวสีทั้ง ๕ ฌานเบื้องบนดังกล่าวเกิดขึ้นไม่ได้

                          วสีทั้ง ๔ คือ
                           ๑. อาวัชชนวสี ความสามารถในการส่งจิตเข้าไปพิจารณาองค์ทั้ง ๕ ของฌานนั้น ตามลำดับโดยรวดเร็ว และไม่ขาดสาย

                       ๒. สมาปัชชเวสี ความสามารถในการเข้าฌาน คือเข้าได้ตามลำดับอาวัชชนะ โดยเข้าฌานชวนะดวงแรกก็เข้ารูปาวจร คือเป็นอัปปนาจิตทีเดียว ไม่ต้องผ่านชวนะที่เป็นกามาวจร คือบริกรรม อุปจาร อนุโลม โคตรภู เหมือนครั้งเมื่อหัดปฏิบัติในตอนแรก (เพ่งปฏิบัตินิมิตเล็กน้อยก็เข้าอัปปนาฌานได้ทันที)

                   ๓. อธิฏฐานวสี ความสามารถทำให้ฌานตั้งอยู่ได้เท่าเวลาที่ตนกำหนดไว้ คือทำกระแสฌานให้เกิดอยู่ได้เรื่อย ๆ โดยข่มภวังคจิตไว้ไม่ให้เกิด เรียกว่ามีความชำนาญในการรักษาจิตไว้ไม่ให้ตกภวังค์ตราบถึงเวลาที่กำหนด กระแสฌานที่เกิดติดต่อกันอยู่เรื่อย ๆ เรียกว่า “เข้าฌาน” เมื่อใดกระแสฌานขาดไปโดยลงสู่ภวังค์ เรียกว่า "ออกจากฌาน” ผู้มีความสามารถในอธิฏฐานวสีนั้น เมื่อมีความประสงค์จะเข้าฌาน ประมาณชั่วขณะดีดนิ้วเพียงครั้งเดียวก็สามารถส่งจิตเข้าไปเป็นฌานจิตได้แล้ว และเมื่อตั้งใจกำหนดว่าจะให้เข้าฌานได้นาน ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมงเป็นต้น ขึ้นไป ฌานจิตก็จะตั้งอยู่ตลอดเวลาที่ต้องการนั้น

                           ๔. วุฏฐานวสี ความสามารถออกจากฌานได้ฉับพลัน ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ไม่ออกก่อนหรือหลังเวลาที่กำหนดนั้น ผู้ที่มีความสามารถในวุฏฐานวสี เมื่อได้ตั้งใจว่าจะออกจากฌานเวลาเท่าใด เมื่อถึงกำหนดนั้นก็สามารถออกจากฌานได้ทันทีโดยไม่ช้าไม่เร็วกว่าที่กำหนด ความแตกต่างกันของอธิฏฐานวสี และวุฏฐานวสี คือ อธิฏฐานวสี เป็นความสามารถที่ทำให้ฌานตั้งอยู่ได้นานตามเวลาที่กำหนด วุฏฐานวสี เป็นความสามารถออกจากฌานได้ตรงตามเวลาที่กำหนด

                           ๕. ปัจจเวกขณวสี ความเป็นผู้มีความสามารถในการพิจารณาองค์ฌาน คือเมื่อออกจากฌานแล้วมีการพิจารณาองค์ฌานโดยเฉพาะ ๆ ในขณะนี้เองปัจจเวกขณชวนะ***** ย่อมเกิด สำเร็จเป็นปัจจเวกขณวสีภาวะ

                           เมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อใดอาวัชชนวสีสำเร็จลง เมื่อนั้นปัจจเวกขณวสีก็เป็นอันสำเร็จลงด้วยพร้อม ๆ กัน ในวิถีจิตอันเดียวกันนั้นเอง เพียงแต่เรียกแยกกันออกไปตามความสามารถของจิตที่ต่างขณะกัน
                              เมื่อรับอารมณ์และพิจารณาองค์ฌานทางมโนทวาร เรียกว่าอาวัชชนว
                              ส่วนความสามารถเสพอารมณ์เมื่อมีการพิจารณาองค์ฌานแล้ว เรียกว่า ปัจจเวกขณเวส

                           ลำดับที่สาม เมื่อปฐมฌานลาบุคคล ได้ฝึกฝนวสีภาวะทั้ง ๕ จนชำนาญแล้วจากนั้นจงเข้าปฐมฌานก่อน ออกจากปฐมฌานแล้วก็พิจารณาปฐมฌานนั้นว่า เป็นฌานที่ยังอยู่ใกล้กับนิวรณ์ ทั้งวิตกที่เป็นองค์ฌานประการหนึ่งก็มีสภาพหยาบ เป็นเหตุให้องค์ฌานอื่น ๆ มีกำลังน้อยไป จิตมีสมาธิไม่เข้มแข็งพอ นิวรณ์ที่ถูกทำให้สงบระงับไปแล้วอาจกลับเกิดขึ้นใหม่อีกได้
                           ครั้นใคร่ครวญดูอย่างนี้โดยถี่ถ้วน ให้เกิดการเบื่อหน่ายในปฐมฌาน ปราศจากนิกันติตัณหา คือไม่มีการติดใจในปฐมฌานแต่อย่างใดแล้ว ควรเริ่มบำเพ็ญสมาธิภาวนา คือเริ่มทําการปิดกั้นจิตมิให้แล่นไปตามอาการยั่วเย้าของอารมณ์อีกต่อไป ที่ต้องให้รีบเริ่มบำเพ็ญทันทีในตอนนี้ เพราะขณะเวลาตั้งแต่ออกจากปฐมฌาน มาทำการพิจารณาองค์ของปฐมฌานอยู่นั้น เป็นเวลาที่นิวรณ์ธรรมยังสงบอยู่ จิตยังคงผ่องแผ้ว สติสัมปชัญญะกำกับตนอยู่พร้อมบริบูรณ์ดียิ่ง
                          วิธีเพ่ง คือเริ่มเพ่งที่ปฏิภาคนิมิตโดยภาวนาจิตทั้ง ๓ ตามลำดับ คือ บริกรรมภาวนา อุปจารภาวนา และอัปปนาภาวนา อันเป็นวิตก วิราภาวนา แม้จะทำการบริกรรมภาวนาก็จริง แต่นิมิตในตอนนี้ใช้ปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ ไม่ใช่บริกรรมนิมิตหรืออุคคหนิมิต (ต่างกับเบื้องต้นของปฐมฌานตรงนี้)

                        ลำดับสุดท้าย เมื่อผู้ปฏิบัติเพ่งปฏิภาคนิมิตและบริกรรมอยู่เรื่อยไปดังนี้ เมื่อต้องการทราบว่าภาวนาจิตของตนเข้าสู่ทุติยฌานแล้วหรือยัง ก็จงเข้าปฐมฌานเสียก่อน เมื่อออกจากปฐมฌานแล้วก็พิจารณาองค์ฌาน ๕ ตามลำดับโดยเฉพาะ ๆ แต่ละองค์ ๆ ในขณะที่ทำการพิจารณาอยู่นี้ ถ้าเห็นสภาพของวิตกว่าเป็นสภาพหยาบ และเห็นสภาพขององค์ฌานอีก ๔ ที่เหลือมีความละเอียดสุขุมแล้ว จึงรู้ได้ว่า ภาวนาจิตของตนได้เข้าถึงอุปจารภาวนา ซึ่งใกล้เคียงกับอัปปนาภาวนา
                         (ถ้ายังไม่เห็นสภาพหยาบของวิตกและความประณีตสุขุมของวิจารเป็นต้น แล้วเวลานั้นภาวนาจิตยังคงเป็นบริกรรมภาวนาอยู่ ยังห่างไกลจากอัปปนาภาวนาที่เป็นทุติยฌาน ควรทำการเพ่งและบริกรรมต่อไป จนอุปจารภาวนาเกิดขึ้น)

                            เมื่อเพ่งเข้าถึงขั้นอุปจารภาวนาเวลาใด หากพยายามเพ่งต่อไป ในไม่ช้าอัปปนาภาวนา คือทุติยฌานก็จักเกิดขึ้นโดยลำดับดังนี้ คือ ภวังค์ และภวังคจลนะ (ภวังค์ที่หวั่นไหวแล้ว) ภวังคุปัจเฉทะ (การตัดกระแสภวังค์) มโนทวาราวัชชนะ ปริกรรม อุปจาร อนุโลม โคตรภู และทุติยฌาน ๑ ครั้ง แล้วลงสู่ภวังค์จิตต่อไป จากนั้น ปัจจเวกขณวิถี ที่มีการพิจารณาองค์ฌาน ๔ ตามลำดับโดยเฉพาะ ๆ ก็เกิดขึ้น เป็นอันว่าได้สำเร็จเป็นทุติยฌานลา บุคคล

 

การปฏิบัติในฌานขั้นสูงต่อ ๆ ไป

                        การปฏิบัติเพื่อให้ได้ ตติยฌาน จตุตถฌาน และปัญจมฌาน เกิดต่อไปนั้น คงดำเนินไปในทำนองเดียวกันนี้ทุกประการ ต่างกันแต่เพียงการพิจารณาให้เห็นโทษขององค์ฌานนั้น ๆ ตามลำดับคือ เมื่อทุติยฌานลาภีบุคคลจะกระทำตติยฌาน ก็ต้องพิจารณาให้เห็นโทษของวิจาร ว่ามีสภาพหยาบกว่าที่เหลือคือ ปีติ สุข เอกัคคตา แล้วตั้งต้นเพ่งปฏิภาคนิมิตโดยภาวนาทั้ง ๓ ตามลำดับเป็นวิจาร ราคภาวนา
                        ตติยฌานลาบุคคล จะกระทำจตุตถฌาน ก็ต้องพิจารณาให้เห็นโทษของปีติ ว่ามีสภาพหยาบกว่าสุข และเอกัคคตา แล้วตั้งต้นเพ่งปฏิภาคนิมิตโดยภาวนาทั้ง ๓ ตามลำดับอันเป็นปีติวิราคภาวนาต่อไป
                        จตุตถฌานลาบุคคล จะกระทำปัญจมฌาน ก็ต้องพิจารณาให้เห็นโทษของสุข ว่ามีสภาพหยาบกว่าอุเบกขา เอกัคคตา แล้วตั้งต้นเพ่งปฏิภาคนิมิตโดยภาวนาทั้ง ๓ ตามลำดับ อันเป็นสุขวิราคภาวนาต่อไป
                       ที่กล่าวนี้เป็นการกล่าวในหลักปฏิบัติของผู้ที่เป็นมันทบุคคล ซึ่งมีปัญญาปานกลาง ไม่อาจพิจารณาเห็นโทษของวิตกและวิจารในเวลาเดียวพร้อมกันได้ สำหรับตึกขบุคคลผู้มีปัญญามาก เมื่อขึ้นทุติยฌานจะสามารถพิจารณาเห็นโทษของวิตกและวิจารพร้อมกัน เมื่อตั้งต้นเพ่งปฏิภาคนิมิตโดยภาวนาจิตทั้ง ๓ ตามลำดับ อันเป็นวิตกวิจารวิราคภาวนา ทุติยฌานที่มีองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตาย่อมเกิด
                         เมื่อได้ปฏิบัติต่อไป ตติยฌานที่มีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา ก็ย่อมเกิด
                         ปฏิบัติต่อไป จตุตถฌานที่มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตาก็ย่อมเกิด
                      เมื่อปฏิบัติจนได้ปัญจมฌานแล้ว เรียกว่าเป็นผู้สำเร็จรูปาวจรฌาน หากผู้นั้นเคยสร้างสมบารมีไว้เป็นพิเศษมาแต่อดีตชาติ กล่าวคือเคยชำนาญในการแสดงอภิญญามาในภพก่อน ๆ ที่ใกล้กันกับภพนี้ก็ดี หรือเคยสร้าง ทาน ศีล ภาวนา ในภพก่อน แล้วตั้งความปรารถนาจะให้ตนได้อภิญญาในภพต่อไป เหล่านี้ก็ดี ในชาตินี้เมื่อรูปาวจรปัญจมฌานเกิดขึ้น ปัญญาที่ประกอบอยู่ในจิตเป็นปัญญาที่มีอำนาจเป็นพิเศษอยู่ในตัวเรียกว่า อภิญญาจะเกิดขึ้นพร้อมมาด้วย เมื่อต้องการทำอภิญญา เช่น แสดงฤทธิ์ได้ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ รู้ใจผู้อื่น ระลึกชาติได้ฌานที่ทำให้อาสวะสิ้นไป เหล่านี้ ผู้ปฏิบัตินั้นย่อมทำได้
                     สำหรับรูปฌานลาบุคคลที่ไม่เคยสร้างบารมีเดิมไว้ดังที่กล่าวแล้วนี้ จะต้องบำเพ็ญฌานต่อให้ได้อรูปฌานทั้ง ๔ พร้อมทั้งมีความชำนาญในวสีภาวะ ๕ อย่างที่เกี่ยวกับรูปฌานอรูปฌาน ที่เป็นสมาบัติ****** ๙ หรือ ๘ เสียก่อน จึงจะแสดงอภิญญาได้

                        ในฌานขั้นที่มีองค์ฌานประกอบอยู่เพียง ๒ คืออุเบกขา และเอกัคคตานั้น ไม่มีสุข ไม่มีโสมนัส ไม่มีทุกข์ ไม่มีโทมนัส เหล่านี้อยู่ด้วยเลย มีแต่สติที่บริสุทธิ์เต็มที่อยู่เต็มเปี่ยม สตินี้อุเบกขา ทำให้เกิดขึ้นมา องค์ฌานที่ต่ำกว่านี้ที่มีสุขเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยนั้น ยังไม่บริสุทธิ์เท่า เพราะสุขตั้งอยู่ใกล้ปีติ สุขแปรรูปให้เป็นปีติได้ง่าย ฌานที่ไม่มีสุขเป็นองค์ประกอบจึงสงบ นิ่ง แน่ว เยือกเย็นสนิท

                    สมาธิในขั้นฌานที่มีองค์ประกอบเพียงอุเบกขาและเอกัคคตานี้ จัดได้ว่าเป็นเจโตวิมุติ เพราะเมื่อจิตตั้งอยู่ในสมาธิขั้นนี้ ไม่มีกิเลสแม้ส่วนที่ละเอียดอะไรรบกวนกิเลสทั้งปวงสงบลงราบด้วยกำลังขององค์ฌาน จิตบริสุทธิ์สะอาดเต็มที่ จัดเป็นตทังคนิพพาน (นิพพานชั่วคราว) เกิดขึ้นชั่วคราวไม่ยั่งยืนเหมือนนิพพานจริง เพราะเมื่อออกจากฌานแล้ว อาจแปรผันเสื่อมสลายไปได้

                   ในเวลาที่จิตอยู่ในสภาวะอัปปนา เป็นเวลาที่จิตหยุดนิ่งสงบ โดยเฉพาะในจตุตถฌานหรือปัญจมฌานที่มีองค์ฌาน ๒ อุเบกขาและเอกัคคตา จิตนิ่งเรียบเต็มที่ชนิดร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม มันสมองทุกส่วน ความรู้สึกนึกคิดทุกประการ หยุดใช้ความคิดจนหมดสิ้น คงมีแต่ประสาทประเภทนอกบังคับเช่น การหายใจ การย่อยอาหาร การเต้นของหัวใจ การหมุนเวียนของโลหิต ฯลฯ อันเป็นกำลังงานของชีวิตทำงานเป็นปกติ แต่ก็ลดกำลังลงมาก บางอย่างเช่นลมหายใจ แทบจะรู้สึกว่าไม่มี
                     ดังนั้นในเวลานี้เอง จะเรียกว่าเป็นเวลาที่โง่ที่สุดของชีวิตก็ได้ เพราะไม่มีการรับรู้เรื่องราวอะไร ๆ เลย ไม่มีความคิดเห็นสิ่งใดจริง ๆ แต่ครั้นพอออกจากฌานใหม่ ๆ กลับเป็นเวลาที่ฉลาดที่สุดของชีวิต เพราะจิตกำลังประภัสสรบริสุทธิ์ผุดผ่องเต็มที่ ไม่มีกิเลสสิ่งใดแม้แต่น้อยนิดเข้าไปรบกวน มันสมองอยู่ในภาวะปราดเปรื่องที่สุด เพราะ เหมือนได้สั่งสมกำลังงานไว้จนถึงจุดอิ่มตัวในเวลาพัก

                   ด้วยเหตุนี้จึงมีระเบียบในการเจริญวิปัสสนาภาวนาไว้ว่า ให้ทำสมาธิในทางสมถะภาวนาให้ได้เสียก่อน ทันทีที่ออกจากสมาธิ ต้องรีบเจริญภาวนาวิปัสสนาในทันที จตุตถฌานที่มีองค์ฌาน ๒ เมื่อเกิดขึ้นในครั้งแรก ย่อมตั้งอยู่ได้เพียงชั่วขณะจิตเดียว แล้วจิตจะตกภวังคะ ผู้เข้าต้องฝึกทำให้เกิดขึ้นบ่อย ๆ จนสำเร็จเป็นฌานสมาบัติ แล้วพิจารณาให้รู้จักลักษณะแห่งองค์ทั้งสองของจตุตถฌานคือ อุเบกขาและเอกัคคตาโดยถ่องแท้ ต้องทำวทั้ง ๕ ให้เกิดขึ้นในจตุตถฌานนี้ เหมือนที่กระทำในการที่ต้องกระทำดังกล่าว เพื่อเป็นประโยชน์ในการเลื่อนจิตขึ้นไปบำเพ็ญอรูปฌาน อภิญญาปาทกฌาน และลักขณูปนิฌาน คือ วิปัสสนา มรรค และผลต่อไป
                    ผู้ที่ทำฌานสมาบัติให้เกิดขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นระดับใด รูปฌานขั้นที่ ๑-๒-๓-๔ หรืออรูปฌานก็ตาม ถ้ายังไม่ปรารถนาจะได้ความดีอย่างอื่นที่สูงกว่านี้ ฌานสมาบัติที่ได้มีคุณประโยชน์ต่อตนเองอย่างยิ่ง คือสามารถหลบทุกข์ของโลกเข้าไปเสวยนิรามิสสุขอยู่ในฌานสมาบัติได้อย่างนานที่สุดครั้งละไม่เกิน ๗ วัน และถ้าไม่เสื่อมจากฌาน ย่อมจัดได้ว่าสามารถบำเพ็ญคุณความดีขั้นอนันตริยกรรมฝ่ายกุศล ผู้มีอนันตริยกรรมฝ่ายกุศล ย่อมมีภพใหม่ในพรหมโลก

                      ในขณะที่ได้อุปจารสมาธิระดับปฐมฌาน เวลานั้นทุกข์กายดับหมด แต่ไม่แน่นสนิทกัน ถ้ามีตัวสัตว์มากัด ตอม รบกวน หรือที่นั่งขรุขระไม่สม่ำเสมอ คมแข็งเหล่านี้ผู้ปฏิบัติยังรู้สึกในสัมผัสนั้น ๆ
                       เมื่ออยู่ในปฐมฌานแล้ว ทุกข์กายต่าง ๆ ไม่เกิด เพราะสมาธิตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป การรับรู้สัมผัสทางวิถีประสาททั้ง ๕ ดับหมด จิตทำหน้าที่อยู่ในมโนทวารเพียงอย่างเดียว

                  ขณะที่ได้อุปจารสมาธิของทุติยฌาน โทมนัสอันเป็นความทุกข์ทางใจดับหมด แต่ยังดับไม่สนิท ถ้าเกิดมีความทุกข์ทางกาย หรือความกระทบกระทั่งของจิต โทมนัสอาจเกิดขึ้นได้ใหม่ แต่ถ้าจิตเข้าถึงทุติยฌานแล้ว โทมนัสจะดับไม่มีเหลือ และไม่เกิดตลอดเวลาที่อยู่ในฌาน ในเวลาที่ได้อุปจารสมาธิของตติยฌาน สุขทางกายดับ แต่ไม่สนิท ยังกลับเกิดใหม่ได้ถ้ากายได้ถูกรูปที่ประณีตอันเกิดจากปีติมากระทบ
                   เมื่อได้ตติยฌานแล้ว สุขทางกายดับสนิท
                  เวลาได้อุปจารสมาธิของจตุตถฌาน โสมนัสดับลง เพราะชวนะในอัปปนาวิถีนี้มีอุเบกขาเป็นองค์ประกอบ แต่โสมนัสอาจเกิดขึ้นได้ เพราะโสมนัสมีเขตติดต่อใกล้กันกับปีติ
                    ในขณะได้จตุตถฌาน โสมนัสดับสนิท
             จิตที่อยู่ในจตุตถฌาน จึงเป็นจิตวิสุทธิ์เต็มขนาด ไม่มีทุกข์ ไม่มีโทมนัส ไม่มีสุขไม่มีโสมนัส อันใดเหลืออยู่เลย ย่อมทำให้มีสติบริสุทธิ์แจ่มใสดียิ่ง

                     จิตที่อยู่ในชั้นตั้งแต่อุปจารสมาธิขึ้นไป จัดเป็นจิตวิสุทธิ์ บริสุทธิ์จากปริยุฏฐานกิเลส (กิเลสชั้นกลาง) ยิ่งสมาธิอยู่ในลำดับสูง จิตยิ่งบริสุทธิ์สูงขึ้น ๆ จนบริสุทธิ์ดีเยี่ยมจิตวิสุทธิเป็นฐานที่ตั้งของวิปัสสนา ผู้เจริญสมถภาวนาเมื่อได้อุปจารสมาธิของปฐมฌานขึ้นไป เมื่อประสงค์จะออกจากสมาธินั้นบำเพ็ญลักขณูปนิฌาน คือเจริญวิปัสสนาให้บรรลุมรรคและผลย่อมกระทำได้ ส่วนจะเป็นผู้สมัครเจริญวิปัสสนาฝ่ายไหน สมถยานิกหรือวิปัสสนายานิก แล้วแต่ความพอใจ

                 ผู้มุ่งเป็นสมถยานิก เมื่อได้ออกมาจากฌานแล้ว จึงรีบส่งจิตเข้าไปกำหนดนึกถึงองค์ ๕ ของฌาน กับธรรมอย่างอื่น ๆ ที่เกิดประกอบอยู่ที่องค์ ๕ เมื่อพิจารณาถี่ถ้วนแล้ว ให้ปลงใจว่าธรรมเหล่านี้เป็นเพียง นาม มีลักษณะน้อมตัวเข้าไปหาอารมณ์ เมื่อคิดค้นต่อไปจะเห็นว่า นามเหล่านี้อาศัยหทัยรูปเกิด หทัยรูปอาศัยมหาภูตรูปและอุปาทายรูปซึ่งเป็นรูปที่ต้องประลัยย่อยยับไปด้วยอำนาจของปัจจัยที่เป็นข้าศึกของตน เช่นความเย็นความร้อน สัตว์ร้าย โรคภัยไข้เจ็บ อากาศ อาหาร ฯลฯ
                      ผู้มุ่งเป็นวิปัสสนายานิก เมื่อออกจากสมาธิในฝ่ายสมถะแล้ว พึงพิจารณากายตนเองและของผู้อื่นให้เห็นว่ามีแต่ รูป กับนาม
                      สำหรับผู้ไม่ประสงค์จะทำวิปัสสนา ต้องการเจริญรูปฌาน เมื่อได้อุปจารสมาธิกต้องทำฌานให้เจริญขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงจตุตถฌาน ที่เป็นฌานสมาบัติ โดยใช้กสิณ ๔ อย่างเป็นอารมณ์ (ยกเว้นอากาสกสิณ ถ้าประสงค์ทำอรูปฌานต่อ)
                    เมื่อออกจากจตุตถฌานก็เจริญอรูปฌานตั้งแต่ต้นขึ้นไปตามลำดับ ส่วนผู้จะเข้าอภิญญาปาทกฌาน เพื่อความมีฤทธิ์ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ เป็นต้น ต้องฝึกรูปฌาน อรูปฌานจนหมดถึงขั้นฌานสมาบัติ แล้วฝึกจิตให้จิตมีความแคล่วคล่องว่องไว บริสุทธิ์เป็นอย่างดีพิเศษจริง ๆ จึงพึงฝึกเข้าอภิญญาปาทกฌาน
                    ที่กล่าวมาแล้วเป็นการทำกุศลขึ้นรูปาวจรกุศล อันเป็นเหตุทำให้ผู้ที่ได้รับผลสําเร็จ เมื่อตายลงจะได้ไปบังเกิดเป็นรูปพรหม ในรูปภูมิ

                        แสดงเจตสิกที่ประกอบอยู่ในฌานจิตชั้นนี้
                        ปฐมฌานจิต มีเจตสิกประกอบจำนวน ๓๕ คือ อัญญสมานเจตสิก******* ๑๓ โสภณเจตสิก******** ๒๒ (เว้นวิรติ)
                        ทุติยฌานจิต มีเจตสิกประกอบจำนวน ๓๔ คือ อัญญสมานเจตสิก ๑๒ (เว้นวิตก) โสภณเจตสิก ๒๒ (เว้นวิรดี)
                        ตติยฌานจิต มีเจตสิกประกอบจำนวน ๓๓ คือ อัญญสมานเจตสิก ๑๑ (เว้นวิตก วิจาร) โสภณเจตสิก ๒๒
                        จตุตถฌาน มีเจตสิกประกอบจำนวน ๓๒ คือ อัญญสมานเจตสิก ๑๐ (เว้นวิตก วิจาร ปีติ) โสภณเจตสิก ๒๒
                    ปัญจมฌาน มีเจตสิกประกอบจำนวน ๓๐ คือ อัญญสมานเจตสิก ๑๐ (เว้นวิตก วิจาร ปีติ) โสภณเจตสิก ๒๒ (เว้นวิวที่ ๓ อัปปมัญญา ๒)

 

 

 

 

 

 

 

เชิงอรรถ

* คำว่าอารมณ์ ในทีนี้หมายเอาความที่แปลว่า สิ่งซึ่งเป็นที่มืดที่เกาะของจิต
** คือเกิดมาด้วยจิตที่มีอโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นเหตุประกอบ
*** ชวนะ เป็นความเร็วของจิตในการเสพอารมณ์ ๑ ครั้งที่จิตหมายถึง การเกิดขึ้นโดยลำดับติดต่อกันเป็นแถวของจิต เจตสิก
**** ภวังคะ เป็นจิตที่มิได้เสวยอารมณ์ในทวารทั้ง 5 อยู่เฉย ๆ นิ่งๆ
***** จิตที่เสพอารมณ์ในการพิจารณาองค์ฌาน
****** สมาบัติ ๙ คือรูปฌานสมาบัติ ๔ อรูปฌานสมาบัติ ๔ และนิโรธสมาบัติ ๑ รวม ๙
******* อัญญสมานเจตสิก ๑๓ มี ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย มนสิการ วิตก วิจาร อธิโมกข์ วีริยะ ปิติ ฉันทะ
******** โสภณเจตสิก ๒๕ มี โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ วีรติเจตสิก ๓ อัปปมัญญาเจตสิก ๒

**บทความ แนะนำ/เกี่ยวข้อง

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.041388702392578 Mins