ภังคญาณ

วันที่ 30 ตค. พ.ศ.2566

30-10-66_3b.png

๕. ภังคญาณ


                    ภังคญาณ คือปัญญาที่พิจารณาเห็นการดับไปของรูปนามโดยส่วนเดียว

                    เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดอยู่ในรูปนามทั้งหลายว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาอยู่เสมอ ๆ วิปัสสนาญาณจะมีกำลังแก่กล้าขึ้น สภาวะของสังขารทั้งหลายปรากฏรวดเร็วมาก ทำให้วิปัสสนาญาณกำหนดไม่ทันความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความเป็นไป หรือนิมิตของสังขารทั้งหลาย สติและวิปัสสนาญาณคงกำหนดตั้งมั่นอยู่เฉพาะนิโรธ คือความสิ้นไปเสื่อมไป หรือแตกทำลายไปของสังขารทั้งหลายแต่เพียงอย่างเดียว

                   นิโรธมี ๒ อย่าง ความดับที่มีอาการเกิดขึ้นอีก และความดับที่เป็นมัคคนิโรธเช่นนิโรธของผู้เข้าผลสมาบัติ และนิโรธสมาบัติ ในญาณขั้นนี้หมายเอาอย่างแรก

                   เมื่อกำหนดเห็นเนือง ๆ ในสังขารทั้งหลายโดยความดับไป และเป็นผู้ปราศจากความกำหนัดแล้ว ย่อมสามารถกำหนดเห็นเนือง ๆ ในสังขารทั้งหลายทั้งปวงที่ไม่เคยเห็นโดยความดับไปได้ เมื่อกำหนดไว้แต่ความดับอย่างเดียว วิปัสสนาญาณแก่กล้าขึ้น ก็ชื่อว่า สลัดสังขารทั้งหลายทิ้งไป ไม่ยึดถือ การกำหนดรู้ จิตที่มีรูปเป็นอารมณ์อยู่เนือง ๆโดยความดับไป มีลักษณะ ๒ ประการ

                  ๑.กำหนดรู้ความสิ้นไป เสื่อมไปของรูป (ที่เป็นอารมณ์ของจิต)
                  ๒. กำหนดรู้ความสิ้นไป เสื่อมไปของจิต (ที่มีรูปเป็นอารมณ์) ด้วยจิตอีกชนิดหนึ่งการเห็นแจ้งด้วยการกำหนดรู้อารมณ์อยู่เนือง ๆ มีลักษณะ ๓ ประการ
                  ๑.การย้ายไปสู่อารมณ์ หมายความว่า เมื่อเห็นความดับของรูปด้วยจิตอย่างหนึ่งก็พึงเห็นความดับของจิตด้วยจิตอีกอย่างหนึ่งต่อไปอีก
                  ๒. คงที่อยู่ในอารมณ์ คือพิจารณาแน่วแน่อยู่แต่ในความดับอย่างเดียว ไม่พิจารณาความเกิด
                  ๓. มีกำลังเข้มแข็งในการนึกคิด คือสามารถนึกคิดติดต่อกันไปไม่มีหยุดคั่นเลยคือเมื่อเห็นความดับของรูปแล้ว ก็เห็นความดับของจิตต่อไปอีกการเห็นแจ้งดังนี้ เรียกว่า ปฏิสังขาวิปัสสนา ชื่อว่าเป็นภังคานุปัสสนา เหมือนกัน


                  วยลักขณวิปัสสนา การเห็นแจ้งลักษณะของความดับไป มีลักษณะ ๒ ประการ

                  ๑. เมื่อกำหนดรู้อารมณ์ในสังขารปัจจุบันโดยความแตกดับอยู่ แม้สังขารในอดีตหรืออนาคตก็กำหนดรู้ได้เช่นกันว่าเคยแตกดับมาแล้ว และจักแตกดับต่อไป

                         สวิชชุมานมหิ วิสุทธทสสโน           ตทนวย์ เนติ อดีตนาคเต
                         สพเพปิ สงฺขารคตา ปโลกิโน          อุสสาวพินท์ สุริเยว อุคคเตฯ

                  ภิกษุผู้มีความเห็นบริสุทธิ์ในสังขาร ซึ่งมีอยู่ในปัจจุบัน ย่อมนำเอาความเห็น
                 บริสุทธิ์ไปในสังขารที่เป็นอดีตและอนาคตด้วย ว่าสังขารทั้งหลายแม้ทั่วทั้งปวง
                 ก็มีปกติแตกสลายไปเหมือนหยาดน้ำค้างแห้งไป เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นมา ฉะนั้น
                 ๒. มีลักษณะน้อมไปในนิโรธ เมื่อกำหนดรู้ความดับไปในอารมณ์ปัจจุบัน อดีตและอนาคตแล้ว จิตก็จะน้อมไปสู่ความดับอย่างหนักแน่น

                 อธิปัญญาวิปัสสนา การเห็นแจ้งด้วยปัญญาที่รู้ยิ่ง มีลักษณะ ๓ ประการ

                 ๑. มีการกำหนดรู้อารมณ์ในรูป ว่าแตกดับอยู่เนือง ๆ
                 ๒. เมื่อกำหนดรู้ความแตกดับของรูปด้วยจิตอย่างใดแล้ว ขณะต่อมาก็กำหนดรู้ความแตกดับของจิตเมื่อครู่นี้ได้
                 ๓. เมื่อกำหนดเห็นความแตกดับของสังขารธรรมทั้งปวงอยู่เนือง ๆ ก็จะปรากฏชัดขึ้นในใจ ว่าทุกสิ่งมีแต่ความว่างเปล่า

                  "สังขารทั้งหลายนั่นเองเป็นสิ่งที่แตกดับไป การแตกดับของสังขารเรียกว่า ตายแท้จริงไม่มีสัตว์ หรือบุคคลใด ๆ เลย ที่แตกดับหรือตายไป”
                        ขันธา นิรุชฌันติ น จตฺถิ อญฺโญ       ขนฺธาน เกโท มรณนฺติ วุจจ
                        เตส ขย ปสฺสติ อปปมาโต               มนิ้ว วชณ์ วชิเรน โยนิโสฯ

                   ขันธ์ทั้งหลายดับไป ไม่ใช่สัตว์หรือบุคคลใด ๆ ความแตกดับของขันธ์ทั้งหลาย
                   เขาเรียกกันว่าความตาย ผู้ไม่ประมาทเห็นอยู่ซึ่งความแตกดับของขันธ์ทั้งหลาย
                   เหล่านั้นด้วยอุบายอันแยบคาย เหมือนช่างเจียระไนเห็นแก้วที่ตนเจาะอยู่ด้วยเพ็ชร
                   ฉะนั้น (มุ่งดูอยู่เรื่องเดียว ไม่สนใจเรื่องอื่น)

                   การปฏิบัติถึงภังคญาณมีอานิสงส์ ทำให้จิตใจผู้ปฏิบัติไม่ส่ายไปส่ายมาในทิฏฐิต่าง ๆ เช่นสัสสตทิฏฐิ เป็นต้น จะเป็นผู้มีมนสิการอยู่เสมอว่า สิ่งที่ยังไม่ดับก็กำลังดับสิ่งที่ยังไม่แตกก็กำลังแตก เห็นอยู่แต่ความแตกดับของสิ่งทั้งปวง เหมือนเห็นการแตกของภาชนะบอบบาง การแตกฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองที่ปลิวว่อนไปเมื่อมีผู้เอาของขว้างปาลงไปที่กองฝุ่น การแตกของเมล็ดงาที่ถูกคั่ว หรือเหมือนคนที่ยืนอยู่ริมสระมองเห็นฝนตกลงมาเป็นต่อมน้ำบนผิวน้ำในสระแล้วก็หายสิ้นไป มีพระพุทธดำรัสว่า

                         ยถา ปุพพฬก์ ปสฺเส                     ยถา ปสฺเส มรีจิก
                         เอว์ โลก์ อเวกขนต์                      มัจจุราชา น ปสฺสติ ฯ

                   พระยามัจจุราชย่อมไม่เห็นบุคคล ซึ่งกำหนดเห็นโลก (ขันธ์ ๕) เหมือนเห็นต่อม
                   น้ำหรือพยับแดดฉะนั้น
                   เมื่อภังคานุปัสสนาญาณแก่กล้า ผลที่ได้รับ คือ

                          ๑. ละภวทิฏฐิ
                          ๒. สละความรักใคร่ในชีวิต
                          ๓. มีความเพียรมั่นคงในการปฏิบัติ
                          ๔. มีอาชีพบริสุทธิ์
                          ๕. ละความทะเยอทะยาน
                          ๖. ปราศจากความกลัว
                          ๗. ประกอบด้วยขันติและโสรัจจะ
                          ๘. อดกลั้นต่อสิ่งที่ไม่พอใจ และในสิ่งที่กำหนัดยินดี

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.020929435888926 Mins