๖.๔ ลำดับชั้นของวิปัสสนาญาณ ๑๖
ในมหาวิปัสสนา ๑๘ ขั้น หลักใหญ่คือ อนิจจานุปัสสนา ทุกขานุปัสสนา และอนัตตานุปัสสนา ส่วนที่เหลืออีก ๑๕ ล้วนเป็นปัญญาที่เกิดจากการได้รู้เห็นจากอนุปัสสนาทั้ง ๓ ดังกล่าว เพียงแต่เป็นปัญญาส่วนเพิ่มเติมที่ละเอียดกว้างขวางยิ่งขึ้น
ต่อจากนี้จะกล่าวในส่วนที่เป็นปฏิเวธธรรม ธรรมฝ่ายผล
เมื่อเจริญวิปัสสนากรรมฐาน กำหนดรู้รูปนามโดยลักษณะความเป็นไตรลักษณ์ มีอนิจจานุปัสสนา ทุกขานุปัสสนา และอนัตตานุปัสสนา จนบรรลุผลย่อมได้วิปัสสนาญาณไปตามลำดับขั้นจบความรู้สูงสุดฝ่ายโลกีย์ส่งเข้าสู่ญาณโลกุตตระ มีดังนี้ คือ
๑. นามรูปปริจเฉทญาณ คือญาณรู้จักรูปธรรม นามธรรม
สิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว มีอยู่เพียง ๒ สิ่ง คือ
รูปธรรม สิ่งที่ถูกรู้
นามธรรม สิ่งที่เข้าไปเป็นตัวรู้
สถานที่ที่จะทำให้เกิดการรู้ คือตรงที่อารมณ์ภายนอกมากระทบกับทวารทั้ง ๖ เช่นที่ตรงจักขุทวาร ประตูตา มีรูปารมณ์ คือ สีที่อาศัยแสงกับจักขุปสาทรูป (ประสาทตาหรือแก้วตา) สองสิ่งที่มากระทบกัน ทั้งสองสั่งเรียกว่ารูปธรรม หลังจากกระทบกันแล้ว เกิดความรู้ขึ้นชนิดหนึ่งเข้าไปเห็นสี ความรู้อันนี้เรียกจักขุวิญญาณ (ความรู้สึกทางตา) เป็นนามธรรม
ในทำนองเดียวกัน ทางประตูหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นไปดังนี้ ถ้ากล่าวให้ชัดเจนลงไปอีก ควรทราบว่า นาม หมายเอา จิต และเจตสิกรวมอยู่ด้วย
จิต เจตสิก และรูป ต่างมีลักษณะหรือคุณสมบัติ อย่างละ ๔ ประการดังนี้
จิต มีคุณสมบัติ คือ รู้อารมณ์ เป็นประธานของเจตสิกและกัมมชรูป สืบต่อกันระหว่างภพเก่ากับภพใหม่ มีสังขาร ๓ หรือมีอารมณ์ ๖ วัตถุ ๖ เป็นเหตุใกล้
ลักษณะ ๔ อย่างของเจตสิก คือมีการ น้อมไปสู่อารมณ์ ประกอบกับจิต และประกอบกับเจตสิกด้วยกันเอง โดยเกิดร่วมพร้อมกัน ไม่แยกกันกับจิต มีวิญญาณเป็นเหตุใกล้
ลักษณะ หรือคุณสมบัติของรูป ๔ อย่าง คือมีการ สลายแปรปรวน กระจัดกระจายไป เป็นอัพยากตะ (เป็นกลาง ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว) และมีวิญญาณเป็นเหตุใกล้
การพิจารณานามรูปในญาณนี้ ถ้าเป็นผู้เคยปฏิบัติสมถกรรมฐานมาก่อน ควรทำสมาธิถึงอัปปนาสมาธิ เมื่อออกจากรูปาวจรฌานจิต ๕ หรือ อรูปาวจรจิต ๓ (เว้นเนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิต) ฌานใดฌานหนึ่งแล้ว ให้เอาองค์ฌาน หรือสภาวะธรรมที่ประกอบกับองค์ฌานเช่น ผัสสะ สัญญา ฯลฯ มาพิจารณาดูตามคุณสมบัติที่กล่าวแล้วว่า มีลักษณะหน้าที่ อาการที่ปรากฏ สิ่งที่เป็นเหตุใกล้อย่างใดบ้าง ต่อไปจึงกำหนดให้เห็นว่าสภาวะธรรมดังกล่าวน้อมไปสู่อารมณ์ โดยอาศัยอะไร
ก็จะเห็นได้ว่า อาศัยหทยวัตถุรูป
พิจารณาต่อว่า หทยวัตถุรูปอาศัยอะไร
จะเห็นว่า หทยวัตถุรูปอาศัยมหาภูตรูปทั้ง ๔ (ปถวี อาโป เตโช วาโย) เกิดขึ้น แม้อุปาทายรูปทั้ง ๒๓ (เว้นหทยวัตถุรูป) ก็อาศัยมหาภูตรูป ๔ เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน
ต่อจากนั้น จึงพิจารณารูปธรรมทั้งหมดว่าเป็นสภาวธรรมที่มีอาการเสื่อมสิ้นสลายไป เรียกว่าพิจารณากำหนดรู้ทั้งนามและรูปแล้วเสร็จ
นอกจากการพิจารณาดังนี้แล้ว สามารถพิจารณานามรูปได้อีกหลายทาง เช่น ทางธาตุ ๔ ทางธาตุ ๑๘ ทางอายตนะ ๑๒ ทางขันธ์ ๕
การกำหนดนามรูปทางธาตุ ๔
เมื่อกำหนดธาตุ ๔ ปถวี อาโป เตโช วาโย ตามคุณสมบัติของรูปทั้ง ๔ อย่างแล้ว จะเห็นว่ารูปธรรมอื่น ๆ ที่เกิดร่วมกันกับธาตุ ๔ ก็จะปรากฏด้วย เช่น กำหนดพิจารณาเส้นผม จะเห็นว่า นอกจากจะมีปถวีธาตุเป็นประธานแล้ว ยังประกอบด้วยรูปที่เกิดจาก กรรม จิต อุตุ อาหาร เป็นสมุฏฐาน
พิจารณาในน้ำเหงื่อ น้ำตา น้ำลาย และน้ำมูก นอกจากจะมีอาโปธาตุเป็นประธานแล้ว ยังประกอบด้วยรูปที่เกิดจากจิต เกิดจากอุตุ เป็นสมุฏฐาน
พิจารณาในอาหารใหม่ อาหารเก่า (อุจจาระ) น้ำเหลือง น้ำมูตร นอกจากจะมีปถวีธาตุเป็นประธานแล้ว ยังประกอบด้วยรูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน
พิจารณาธาตุไฟ ธาตุลม ที่มีอยู่ภายในร่างกายแล้ว ยังมีรูปที่เกิดจาก กรรม จิต อุตุ อาหาร เป็นสมุฏฐานร่วมประกอบอยู่ด้วย
เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณารูปธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ก็จะเห็นลักษณะที่เหมือนกันคือ อาการเสื่อมสิ้นสลายไป เมื่อกำหนดเห็นอย่างนี้แล้ว นามธรรมทั้งหลายจะปรากฏในมโนทวารให้เห็นด้วย
การกำหนดนามรูป ทางธาตุ ๑๘
ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาเมื่อจะกำหนดนามรูปทางธาตุ ๑๘ พึงพิจารณาให้เห็นว่าในอัตตภาพร่างกายของเรา มีจักขุธาตุ โสตธาตุ ชิวหาธาตุ ฯลฯ รวมทั้งสิ้น ๑๘ อย่างเป็นทั้งรูปและนาม
เมื่อพิจารณาแต่ละอย่างออกไป เช่นจักขุธาตุ ให้เห็นแจ่มแจ้งชัดเจนว่า ก้อนเนื้อที่สายเอ็นยึดรัดไว้ในเบ้าตา ซึ่งมีลักษณะยาวและกว้าง วิจิตรด้วยวงสีขาว สีดำปกติ และสีดำมากนั้น ชาวโลกเข้าใจกันว่า สิ่งนี้เป็นจักษุ แต่แท้ที่จริงเป็นเพียงรูปเล็ก ๆ มารวมกลุ่มกันขึ้น ในจำนวนรูปที่มารวมกลุ่มกันอยู่เป็นดวงตานี้ มีเพียงจักขุปสาทเท่านั้น ที่ได้ชื่อว่าจักขุ หรือจักขุธาตุ
จักขุปสาทนี้นับเป็นรูปอย่างหนึ่ง จึงต้องมีอาการเสื่อมสิ้นสลายไป ตามอาการของรูปธรรม
ในธาตุที่เป็นรูปอย่างอื่น เช่นโสตธาตุ ชิวหาธาตุ ฯลฯ ก็เป็นไปทำนองเดียวกัน ส่วนธาตุที่เป็นนามธรรม คือธาตุส่วนที่เป็นจิต เป็นเจตสิก
การกำหนดนามรูป ทางอายตนะ ๑๒ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับธาตุ ๑๘ ต่างกันเฉพาะนามธรรมบางส่วน การกำหนดรูป ทางขันธ์ ๕
รูปทั้งหมด ๒๘ รูป นับเป็นรูปขันธ์
เวทนาเจตสิกที่ประกอบอยู่ในโลกียจิตทุกชนิด เป็นเวทนาขันธ์
สัญญาเจตสิกที่ประกอบอยู่ในโลกียจิตทั้งหมด เป็นสัญญาขันธ์
เจตสิก ๕๐ ที่เหลือ (เว้น เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก) ที่ประกอบในโลกียจิตเป็นสังขารขันธ์
จิตทุกชนิดทั้งโลกียจิต โลกุตตรจิตรวม ๘๙ ชนิด นับเป็นวิญญาณขันธ์
การกำาหนดนามรูปอย่างสังเขป ก็กระทำได้โดย
พิจารณาร่างกายว่ารูปทั้งหลายเป็นรูปธรรม
จิตและเจตสิก ๕๒ เป็นนามธรรม ดังนี้ก็ได้
เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดพิจารณาในรูปธรรมแล้ว จึงย้อนมาพิจารณานามธรรม ครั้นกระทำอยู่ดังนี้ นามธรรมนั้นก็มิได้ปรากฏ จงอย่าท้อถอย, ควรใส่ใจใคร่ครวญในรูปธรรมเหล่านั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะว่าถ้าพิจารณารูปธรรมให้ถ่องแท้ ชำระสะสางออกแล้ว บริสุทธิ์ดีแล้ว เห็นจนชัดแจ้งแล้ว นามธรรมซึ่งมีรูปธรรมที่กำลังได้รับการพิจารณาอยู่เป็นอารมณ์ เหล่านั้น จะปรากฏขึ้นมาเอง มีอุปมาเหมือน
๑. ผู้ต้องการเห็นเงาของตน แต่ส่องด้วยกระจกขุ่นมัว ย่อมมองไม่เห็น แต่เมื่อพยายามเช็ดถูจนกระจกสะอาดบริสุทธิ์ เงาหน้าย่อมปรากฏขึ้นได้เอง
๒. ผู้ต้องการน้ำมันงา เมื่อพรมน้ำลงบนเมล็ดงาแล้วบีบคั้นเพียง ๒-๓ ครั้งยังไม่มีน้ำมันงาไหลออกมา แต่ถ้าไม่ย่อท้อ เอาน้ำอุ่นพรมแล้วบีบคั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก น้ำมันงาที่ใสดีย่อมไหลออกมาจนได้
๓. การทำน้ำให้ใส เมื่อใช้สารส้มแกว่ง ๒-๓ ครั้งยังไม่ใส ต้องแกว่งซ้ำ จนตะกอนนอนก้น น้ำจึงใส เช่นเดียวกับ
๔. การหีบอ้อย
๕. การทรมานโจร
๖. การฝึกโค
๗. การเคียวนมส้ม
๘. การปิ้งปลา ฯลฯ
การพิจารณารูปธรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนชัดแจ้งและบริสุทธิ์ดีแล้ว บรรดากิเลสทั้งหลายที่เป็นข้าศึกต่อการกำหนดรู้นามธรรมก็ค่อยสงบลง ๆ นามธรรมจะปรากฏให้เห็นขึ้นเอง การปรากฏของนามธรรมปรากฏขึ้นได้ ๓ ทาง คือ ทางผัสสะ ทางเวทนา ทางวิญญาณ เช่น
เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดสภาวะของรูปธรรม มีดินอันเป็นธาตุที่มีคุณสมบัติอ่อนแข็งอยู่ ธรรมชาติที่เกิดจากการกระทบกันระหว่างธาตุดิน กับผู้รู้อารมณ์จะปรากฏขึ้น เรียกว่า ผัสสะ เมื่อผัสสะเกิด นามธรรมอื่น ๆ มี เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เกิดตามมาด้วยอาการดังนี้
หรือเมื่อพิจารณาธาตุดินอยู่ ธรรมชาติรู้อารมณ์ที่เรียกว่าวิญญาณปรากฏ จากนั้นนามธรรมอื่น มีเวทนา สัญญา ผัสสะ สังขาร ซึ่งประกอบกับวิญญาณนั้นก็ปรากฏตามมา
หรือเมื่อพิจารณาธาตุดินอันเป็นรูปธรรมอยู่ เวทนาเกิด นามธรรมที่เหลือมีสัญญาผัสสะ สังขาร วิญญาณ ที่ประกอบกับเวทนานั้นย่อมเกิดตามมาปรากฏให้เห็นไปด้วยกัน
วัตถุประสงค์ของการกำหนดรู้ในนาม กำหนดรู้ในรูป ก็เพื่อ
๑. ละชื่อสมมุติทางโลก
๒. ให้พ้นจากความเข้าใจผิดว่ามี สัตว์ บุคคล
๓. ให้จิตประกอบด้วยปัญญา คือการรู้จริงเรื่องนามและรูป เหมือนคำอุปมาจากพระสุตตันตปิฎกว่า
ยถา หิ องฺคสมฺภาร โหติ สทฺโท รโถ อิติ เอวํ ขนฺเธสุ สนฺเตสุ โหติ สตฺโตติ สมฺมติฯ
แปลว่า ความจริง เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ การสมมติเรียกว่า สัตว์ ก็มีขึ้น เหมือนเสียงว่า รถ มีขึ้นก็เพราะเอาส่วนต่าง ๆ มาประกอบกันเข้าฉะนั้น*
ท่านพระสารีบุตรกล่าวสอนไว้ว่า "เพราะอาศัยไม้ เถาวัลย์ ดิน และหญ้า ล้อมเอาอากาศเข้าไว้ จึงเรียกว่าอาคาร ฉันใดก็ดี เพราะอาศัยกระดูก เอ็น เนื้อ และหนังล้อมเอาอากาศเข้าไว้ จึงเรียกกันว่า สัตว์ บุคคล
ทุกฺขเมว หิ สมฺโภติ ทุกฺขํ ติฏฺฐิติ เวติ จ
นาญฺญตฺร ทุกฺขา สมฺโภติ นาญญตร ทุกขา นิรุชฌติฯ
แปลว่า ความจริงทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ และดับไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับ**
สิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ ที่เราตั้งชื่อเรียกขานกันอยู่ เช่น บ้าน รถ กองทัพ เมือง ต้นไม้ สัตว์ บุคคล ฯลฯ ล้วนแต่เป็นการเอาสิ่งต่าง ๆ มาประกอบรวมเข้าด้วยกัน เมื่อพิจารณาโดยปรมัตถ์แล้ว สิ่งที่เรียกกันอยู่นั้นหามีอยู่จริงไม่ มีเพียงนามกับรูปรวมกันอยู่เท่านั้น ผู้เห็นตามความเป็นจริงเช่นนี้ ชื่อว่ามียถาภูตทัสสนะ
สำหรับผู้มีความเพลิดเพลิน ยินดีพอใจในภพย่อมยึดถือในความเป็นตัวตน มีสัตว์ บุคคล เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะต้องยอมรับรู้ถึงความพินาศหรือไม่พินาศของสิ่งที่ตนยึดถือนั้น พวกนี้นับเป็นฝ่ายสัสสตทิฏฐิ คือเห็นว่าเที่ยง ว่ายั่งยืน เป็นมิจฉาทิฏฐิ ส่วนพวกเบื่อหน่ายเกลียดชัง ไม่พอใจในภพ ชอบความปราศจากภาพ ร่ำร้องหาให้อัตตาขาดสูญพินาศไป เห็นว่าเมื่อร่างกายมรณะ แตกดับลงไป นั่นแหละเป็นความสงบพวกนี้เรียกว่าเป็นพวกอุจเฉททิฏฐิ คือเห็นว่า ขาดสูญ เป็นมิจฉาทิฏฐิเช่นเดียวกับพวกต้น
ทั้งสองพวกนี้ไม่เห็นตามความเป็นจริง ไม่มียถาภูตทัสสนะ ผู้มีปัญญาจะต้องเห็นภูต (ขันธ์ ๕) ตามความเป็นจริง คือเห็นเป็นภูตคือขันธ์ ๕ นั่นเอง เมื่อเห็นตามเป็นจริงแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อความดับของภูต นี่คืออาการของผู้มีปัญญามีจักษุ
อย่างไรก็ดีนามรูปทั้งสองนี้ ถ้าแยกออกอยู่ตามลำพังแล้วไม่มีอำนาจในตนเอง ทำอะไรไม่ได้ เหมือนตัวหุ่นกับคนเชิดหุ่น ถ้ามีแต่ตัวหุ่นไม่มีคนเชิด หุ่นก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวให้เป็นเรื่องเป็นราวได้แต่ประการใด หรือถ้ามีแต่คนเชิดแต่ไม่มีตัวหุ่น ก็ไม่สามารถแสดงเรื่องราวให้ผู้ชมได้
หรือเหมือนกลองกับคนตีกลอง ต้องมีพร้อมทั้งสองอย่าง กลองจึงมีเสียงดังขึ้นมาได้ นามรูปต้องอาศัยซึ่งกันและกันอยู่ดังนี้ เหมือนคนตาบอดกับคนเป็นง่อยต้องพึ่งพาอาศัยกันจึงจะไปไหนได้ตามต้องการ
นามญฺจ รูปญฺจ อิธตฺถิ สจฺจโต น เหตฺถ สตฺโต มนุโชว วิชฺชติ
สุญญํ อิทํ ยนฺตมิวาภิสงฺขตํ ทุกฺขสส ปุญฺโช ติณกฎฺฐสาทิโสฯ
โดยความจริงแล้ว ในโลกนี้มีแต่นามและรูปเท่านั้น มิได้มีสัตว์และมนุษย์แต่ประการใดเลย นามและรูปเป็นของว่างเปล่า ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้นเหมือนตัวหุ่น เป็นกองทุกข์เช่นเดียวกับกองหญ้าและไม้
ยมกํ นามรูปญฺจ อุโภ อญฺโญญฺญนิสฺสิตา
เอกสฺม ภิซฺซมานสฺมึ อุโภ ภิชฺชนฺติ ปัจฺจยาฯ
นามและรูปนั้นเป็นของคู่กัน ทั้งสองต่างอาศัยกันและกัน เมื่ออย่างหนึ่งแตกทำลายไป สิ่งทั้งสองที่อาศัยกันก็แตกทำลายไปด้วย
อุโภ นิสสาย คจฺฉนฺติ มนุสสา นาวา จ อณฺณเว
เอวํ นามญฺจ รูปญฺจ อุโภ อญฺโญญฺนิสฺสิตา ฯ
มนุษย์และเรือต่างอาศัยกัน จึงเดินทางไปในทะเลได้ นามและรูปก็ฉันนั้น ต้องอาศัย งกันและกันเป็นไป
ผู้ปฏิบัติได้ญาณขั้นนี้ จะต้องเป็นการรู้เห็นที่เป็นภาวนามยปัญญาอย่างแท้จริงไม่ใช่จากการคิดเอา จึงจะเป็นทิฏฐิวิสุทธิ์ ประหาณสักกายทิฏฐิได้
๒. นามรูปปัจจยปริคคหญาณ
นามรูปปัจจยปริคคหญาณ คือปัญญาที่กำหนดรู้ปัจจัย หรือเหตุของนามรูปตามความเป็นจริง คือรู้ว่านามและรูปนี้ ต่างก็เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน เช่น
ทางตา เมื่อรูปารมณ์ คือสีมากระทบจักขุปสาทรูป คือแก้วตา ทั่งสี การกระทบและจักขุปสาทรูป ล้วนเป็นรูปธรรม มีการกระทบกันขึ้นย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดจักขุวิญญาณคือ "เห็น” ซึ่งเป็นนามธรรม
ทางหู เมื่อสัททารมณ์ คือเสียงมากระทบกับโสตปสาทรูป คือแก้วหู อันเป็นรูปธรรมด้วยกัน ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดโสตวิญญาณคือ “ได้ยิน” ซึ่งเป็นนามธรรม
ทางจมูก เมื่อคันธารมณ์ คือกลิ่นมากระทบกับฆานปสาทรูป คือประสาทจมูกอันเป็นรูปธรรมด้วยกัน ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดฆานวิญญาณ คือ "รู้กลิ่น” เป็นนามธรรม
ทางลิ้น รสารมณ์ คือรสมากระทบกับชีวหาปสาทรูป คือประสาทลิ้น อันเป็นรูปธรรมด้วยกัน ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดชิวหาวิญญาณคือ "รู้รส" เป็นนามธรรม
ทางกาย โผฏฐัพพารมณ์ คือเย็นร้อนอ่อนแข็งมากระทบประสาทสัมผัสทางร่างกายอันเป็นรูปธรรมด้วยกัน ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดกายวิญญาณ คือ “ความรู้สึกทางกาย” เป็นนามธรรม
ทางใจ ธรรมารมณ์ คือเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งปวงเป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรมมากระทบใจอันเป็นนามธรรม ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดมโนวิญญาณ คือความรู้สึกนึกคิด สั่งทำให้เกิดกายวิญญัติรูป*** วจีวิญญัติรูป**** อันเป็นรูปธรรม
นามรูปเป็นสภาวธรรมที่มีเหตุ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาเอง หรือมีเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดสร้างขึ้น ที่กล่าวข้างต้นทั้ง ๖ ทวารนั้นจะเห็นว่าบางอย่าง รูปเป็นปัจจัยให้เกิดนาม บางอย่างนามเป็นปัจจัยให้เกิดรูป
สำหรับรูปร่างกายที่เห็นกันอยู่อันเป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง มีที่เกิดอยู่ระหว่างกระเพาะอาหารใหม่และเก่า ด้านหลังเป็นพื้นท้อง ด้านหน้าเป็นกระดูก ล้อมรอบด้วยไส้ใหญ่และไส้น้อย เต็มไปด้วยของปฏิกูล มีกลิ่นเหม็น ดุจตัวหนอนที่เกิดในขนมบูด น้ำครำ หลุม โสโครก ที่กล่าวนี้เป็นปัจจัยที่พอเห็นได้ โดยสรีรศาสตร์ ส่วนปัจจัยอีก ๕ อย่างที่เห็นได้ ด้วยปัญญาญาณ อันเป็นเหตุให้เกิดรูปธรรมคือ
๑. อวิชชา
๒. ตัณหา
๓. อุปาทาน
๔. กรรม
๕. อาหาร
๔ อย่างแรก จัดเป็นตัวใหญ่ให้เกิดรูป ส่วนอาหารจัดเป็นปัจจัยเพราะเป็นตัวอุปถัมภ์
อวิชชา เป็นที่อาศัยของรูป เปรียบเหมือนมารดาเป็นที่อาศัยของทารก
กรรม เป็นผู้ให้เกิด เปรียบเหมือนบิดาเป็นผู้ทำให้บุตรเกิด
อาหาร เป็นผู้ค้ำจุนให้รูปกายนี้ดำรงอยู่ เปรียบเหมือนพี่เลี้ยงคอยอุ้มชูทารก
หรือจะพิจารณาดังนี้ว่า รูปธรรม เกิดจาก ๑. กรรมคือการกระทำ ๒. จิต ๓. อุตุ ดินฟ้าอากาศ และ ๔. อาหาร เช่น รูปภายใน ๖ มี เช่น
๑. จักขุปสาทรูป ประสาทตา (แก้วตา) เกิดจาก กรรม อาหาร
๒. โสตปสาทรูป
๓. ฆานปสาทรูป
๔. ชิวหาปสาทรูป
๕. กายปสาทรูป
๖. หทัยวัตถุรูป ก็เช่นเดียวกัน
รูปภายนอก ๖ มี
๑. รูปารมณ์ (สี)
๒. สัททารมณ์ (เสียง)
๓. คันธารมณ์ (กลิ่น)
๔. รสารมณ์ (รส)
๕. โผฏฐัพพารมณ์ (เครื่องกระทบ)
๖. ธัมมารมณ์ (เฉพาะสุขุมรูป) เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ คือทั้ง กรรม จิต อุตุ และอาหาร
สำหรับนามธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นจาก ผัสสะ คือการกระทบของรูปธรรมนามธรรม
๑. นามทางตา คือความรู้ทางตา (เห็น) จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยอุบัติเหตุ เหตุให้เกิด ๔ อย่าง ได้แก่ สี ประสาทตา แสงสว่าง การใส่ใจ ทั้ง ๔ อย่างนี้มากระทบประชุมกันเข้า การ "เห็น" จึงเกิด
๒. นามทางหู คือความรู้ทางหู (ได้ยิน) ก็ต้องอาศัยอุบัติเหตุ ๔ อย่าง คือ เสียง ประสาทหู ช่องหู การใส่ใจ ทั้ง ๔ อย่างมาประชุมกระทบกันเข้า การ “ได้ยิน” จึงเกิด
๓. นามทางจมูก คือความรู้ทางจมูก (รู้กลิ่น) ต้องอาศัยเหตุให้เกิด ๔ อย่าง มีกลิ่น ประสาทจมูก ลม และการใส่ใจ ทั้ง ๔ อย่างมาประชุม ผัสสะกระทบกันเข้า การ "รู้กลิ่น” จึงเกิด
๔. นามทางลิ้น คือความรู้ทางลิ้น (รส) ต้องอาศัยเหตุ ให้เกิด ๔ อย่าง มี รส ประสาทลิ้น น้ำ และการใส่ใจ ทั้ง ๔ อย่างมาประชุม ผัสสะกระทบกันเข้า การ “รู้รส” จึงเกิด
๕. นามทางกาย คือความรู้ทางกาย (กายสัมผัส) เกิดขึ้นได้ด้วยอาศัยเหตุ ๔ มี เครื่องกระทบประสาทกาย ดิน และการใส่ใจ ทั้ง ๔ อย่างมาประชุม ผัสสะกระทบกันเข้า จึงเกิด "การรู้สัมผัส"
๖. นามทางใจ คือความรู้ทางใจ เกิดด้วยอาศัยเหตุ ๔ มี ธัมมารมณ์ หัวใจ ภวังคจิตและการใส่ใจ ทั้ง ๔ อย่างมาประชุม ผัสสะกระทบกันเข้า การ “รู้ในเรื่องราวต่าง ๆ ทางใจ" จึงเกิดขึ้น
เมื่อรู้ว่ารูปเกิดมาจากสาเหตุอะไร และนามเกิดมาจากสาเหตุอันใดแล้ว ต้องค้นต่อไปให้ทราบว่า ถ้ากล่าวโดยรวม ๆ ว่า นามรูปแล้ว นามรูปจะเกิดมาจากเหตุสิ่งใด
นามรูป เกิดมาจาก อาหาร ๔ (กวฬิการาหาร อาหารคือคำข้าว ผัสสาหาร อาหารคือ ผัสสะมโนสัญเจตนาหาร อาหารคือความตั้งใจ และวิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณความรู้สึก)
อาหาร เกิดมาจาก กรรมคือการกระทำ
กรรม เกิดมาจาก อุปาทานคือความยึดมั่น ถือมั่น
อุปาทาน เกิดมาจาก ตัณหาคือความอยากได้
ตัณหา เกิดมาจาก อวิชชา คือความไม่รู้ตามความเป็นจริง
หรือจะกล่าวย้อนกลับดังนี้ก็ได้ว่า
อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ๆ ให้เกิดอุปาทาน ๆ ให้เกิดกรรม ๆ ให้เกิดอาหาร ๆ ให้เกิดนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา ย้อนไปตั้งต้นใหม่หมุนเวียนอยู่เป็นวัฏฏจักร ไม่รู้จบสิ้น ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันอยู่เสมอ
นอกจากจะกำหนดพิจารณานามรูปว่ามีเหตุปัจจัยอย่างไรตามที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังอาจพิจารณาโดยนัยอื่น ๆ อีกได้ดังนี้ (สำหรับการเกิดขึ้นของนามได้กล่าวในตอนต้นแล้ว เช่น จักขุวิญญาณ อันเป็นนาม เกิดเพราะอาศัยจักขุปสาทกระทบกับรูปารมณ์ เป็นต้น)
- พิจารณาตามนัยอภิธรรม
- พิจารณาตามหลักปฏิจจสมุปบาท
- พิจารณาตามหลักของกรรมและวิบาก
- พิจารณาตามหลักของกรรม ๑๒ ประเภท
พิจารณากําหนดรู้ตามนัยอภิธรรม
เหตุปัจจัยของนามมี ๒ อย่าง ๑. สาธารณปัจจัย และ ๒. อสาธารณปัจจัย
๑. สาธารณปัจจัย ได้แก่ทวาร ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) อารมณ์ ๖ (สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์) ทั้งทวารและอารมณ์เป็นเหตุให้เกิดนามได้โดยทั่วไป
๒. อสาธารณปัจจัย ธรรมบางอย่างเป็นเหตุให้เกิดนามได้บางอย่าง ไม่เกิดขึ้นได้ทั่วไปแก่ธรรมอื่น เช่น
โยโสมนสิการ เป็นปัจจัยให้เกิด นามที่เป็นฝ่ายกุศล
โลภะ เป็นปัจจัยให้เกิด นามที่เป็นฝ่าย อกุศล
กรรม เป็นปัจจัยให้เกิดนาม ที่เป็นวิบาก และกิริยา
เหตุปัจจัยของรูป ได้แก่สิ่งทั้ง ๔ เหล่านี้ คือ กรรม จิต อุตุ และอาหาร และมีละเอียด แยกไปอีก เช่น กรรมที่เป็นอดีตเท่านั้น เป็นสมุฏฐาน ของกัมมชรูป
พิจารณากำหนดรู้นามรูปตามหลักปฏิจจสมุปบาท
โดยให้เห็นว่า ความแก่ (ชรา) ความตายมรณะ (ความแตกดับของสังขาร) มาจากการเกิด
การเกิด มีขึ้นได้ เพราะมี ภพ
ภพ มีขึ้นได้ เพราะมี อุปาทาน
อุปาทาน มีได้ เพราะมี ตัณหา
ตัณหา มีได้ เพราะมี เวทนา
เวทนา มีได้ เพราะมี ผัสสะ
ผัสสะ มีได้ เพราะมี อายตนะทั้ง ๖
อายตนะ ๖ มีได้ เพราะมี นามรูป
นามรูป มีได้ เพราะมี วิญญาณ
วิญญาณ มีได้ เพราะมี สังขาร
สังขาร มีได้ เพราะมี อวิชชา
หรือจะพิจารณาโดยอนุโลม โดยขึ้นต้นจากอวิชชา ไปจบลงที่ ชรา มรณะ ฯ ก็ได้เมื่อพิจารณากำหนดรู้ไปดังนี้ เมื่อปัญญาญาณเกิด จะละความสงสัยไปได้สิ้น
พิจารณากำหนดรู้นามรูปตามหลักของกรรมและวิบาก
คือพิจารณาว่า ธรรม ๔ อย่างที่มีอยู่ในภพก่อน คือ อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน และกัมมภพ เป็นเหตุปัจจัยของการปฏิสนธิในภพนี้
เมื่อปฏิสนธิในภาพนี้แล้ว ย่อมเกิดพร้อมด้วย วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะและเวทนา อันเป็นผลที่มาจากกรรมที่ทำไว้ในภพก่อน
เมื่ออายตนะทั้งหลายในภพนี้แก่กล้าขึ้น ธรรม ๕ อย่าง คือ อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน และกัมมภพ ก็เป็นเหตุปัจจัยของปฏิสนธิในภพต่อไป
พิจารณากำหนดรู้นามรูปตามหลักของกรรม ๑๒ ประเภท
กรรมที่ให้ผลจำแนกตามกาลเวลามี ๔ ประเภท
๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในภพนี้
๒. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในภพถัดไป (คือหลังจากตายแล้ว)
๓. อปราปรเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในภพที่ ๓ จนถึงเข้าสู่ปรินิพพาน
๔. อโหสิกรรม กรรมที่ไม่มีโอกาสให้ผล
กรรมที่ให้ผล จําแนกตามความหนักเบา ให้ผลตามลำดับ มี ๔ ประเภท
๑. ครุกรรม กรรมอย่างหนัก ฝ่ายกุศล เช่น เจริญกรรมฐานได้ฌาน ฝ่ายอกุศล เช่นฆ่าบิดามารดา ฯลฯ
๒. พหุลกรรม กรรมที่กระทำเคยชิน เช่นการรักษาศีล หรือการผิดศีลเป็นประจําปรกติวิสัย
๓. อาสันกรรม กรรมใกล้จะตาย เช่นการระลึกถึงกุศลต่าง ๆ ที่เคยกระทำ
๔. กตัตตากรรม กรรมสักแต่ว่าทำ บางทีไม่มีเจตนาหรือมีเจตนาไม่แรงกล้า
กรรมที่จําแนกตามหน้าที่ (กิจ) มี ๔ ประเภท
๑. ชนกกรรม กรรมที่ทำให้เกิดในขณะปฏิสนธิกาล และปวัตติกาลในกามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ
๒. อุปัตถัมภกกรรม กรรมที่สนับสนุนให้เกิดสุขหรือทุกข์ในวิบากที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. อุปปีฬกกรรม กรรมที่คอยบีบคั้นเบียดเบียนสุขหรือทุกข์ในวิบากที่เกิดขึ้นแล้ว
๔. อุปฆาตกรรม กรรมที่ตัดรอนกรรมอื่นที่ด้อยกว่า หรือห้ามปรามผลของกรรมนั้นไว้
นามรูปคือผลแห่งกรรม ดังนั้นเหตุปัจจัยของนามรูปก็คือ กัมมวัฏ เมื่อพิจารณานามรูป โดยกัมมวัฏและวิปากวัฏดังนี้แล้ว ก็ย่อมเห็นว่า นามรูปในขณะนี้ หรือในอดีต ในอนาคตเป็นไปด้วยเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน ทั้งที่เป็นเรื่องของกรรม วิบากของกรรม กัมมวัฏ วิปากวัฏ ความเป็นไปของกรรม และวิบาก ความสืบต่อของกรรมและวิบาก กิริยาและผลของกิริยาล้วนเป็นไปในทำนองเดียวกัน
กมฺมวิปากา วตฺตนฺติ วิปาโก กมมฺสมฺภโว
กมฺมา ปิ่นพฺภโว โหติ เอวํ โลโก ปวตฺตติ
วิปากทั้งหลายเป็นไปเพราะกรรม วิบากเกิดขึ้นจากกรรมและภพใหม่ก็เกิดขึ้นจากกรรม โลกหมุนเวียนอยู่ด้วยกรรมและวิบาก อย่างนี้
กมฺมสฺส การโก นตฺถิ วิปากสฺส จ เวทโก
สุทฺธธมฺมา ปวตฺตนฺติ เอเวตํ สมฺมทสฺสนํ
ผู้สร้างกรรมไม่มี และผู้เสวยกรรมก็ไม่มี ธรรมะล้วน ๆ เป็นไปอย่างเดียวเท่านั้น นี่เป็นสัมมทัสสนะ (ความเห็นชอบ)
เอวํ กมฺเม วิปาเก จ วตฺตมาเน สเหตุเก
พืชรุกฺขาทีกานํว ปุฑฺพา โกฏิ น นายติ
เมื่อกรรมและวิบาก พร้อมทั้งเหตุ เป็นไปอยู่อย่างนี้ ก็ไม่มีใครรู้เบื้องต้นและเบื้องปลาย เช่นเดียวกับไม่มีใครรู้เบื้องต้นเบื้องปลาย ของเมล็ดพืชและต้นไม้เป็นต้น
กมฺมํ นตฺถิ วิปากมฺหิ ปาโก กมฺเม น วิชฺชติ
อญฺญมญฺญํ อุโภ สุญฺญา น จ กมฺมํ วินา ผลํ
กรรมไม่มีอยู่ในวิบาก วิบากก็ไม่มีอยู่ในกรรม กรรมและวิบากทั้งสอง ต่างว่างเปล่าซึ่งกันและกัน แต่ปราศจากกรรมเสียแล้ว ผลก็หามีไม่
ผเลน สุญญตํ ตํ กมฺมํ ผลํ กมฺเม น วิชฺชติ
กมฺมญฺจ โช อุปาทาย ตโต นิพฺพตฺตตี ผลํ
กรรมนั้นว่างเปล่าจากผล ผลก็มิได้มีอยู่ในกรรม แต่เพราะอาศัยกรรม ผลจึงเกิดขึ้น
การกำหนดรู้เหตุปัจจัยของนามรูปทางกรรมและผลของกรรม ย่อมสามารถละความสงสัยได้สิ้นทั้ง ๓ กาล ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน ความรู้เช่นนี้เรียก ญาตปริญญา การกำหนดสิ่งที่ปรากฏอยู่แล้ว
ขันธ์ทั้งหลายทั้งรูปขันธ์และนามขันธ์ที่เกิดแล้วในอดีต เพราะมีกรรมเป็นปัจจัย และขันธ์เหล่านั้นก็ดับไปหมดแล้ว ขันธ์ที่เกิดใหม่ในขณะนี้ก็เป็นอีกพวกหนึ่ง ไม่ใช่ขันธ์อันเท่านั้นทั้งขันธ์ที่จะเกิดในอนาคตก็เป็นขันธ์พวกใหม่ ไม่เกี่ยวกับขันธ์ที่กำลังเกิดอยู่ในปัจจุบัน จะเปรียบเทียบได้ดังเรื่องต่อไปนี้
๑. เปลวเทียนเมื่อครู่กับเปลวเทียนที่ลุกอยู่ต่อหน้าขณะนี้ ความจริงเปลวเทียนทั้งสอง ขณะนั้น ไม่ได้ลุกไหม้ไส้เทียนและเนื้อเทียนตรงที่เดียวกัน แต่เปลวเทียนที่เกิดอยู่ขณะนี้ย่อมอาศัยเปลวเทียนเมื่อครู่เกิด
๒. เง่าหน้าในกระจกเงากับใบหน้าของผู้ส่องกระจก ความจริงไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่เพราะมีใบหน้าของผู้ส่อง ทำการส่องกระจกอยู่ เงาในกระจกจึงเกิดขึ้น
๓. ความรู้ของลูกศิษย์กับความรู้ของครู ความจริงเป็นคนละส่วนคนละคน ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่เพราะมีการสอนของครู ความรู้ของศิษย์จึงมีขึ้นได้
การอาศัยสาเหตุมาจากกันและกันนี่แหละ เรียกว่า เป็นปัจจัยให้เกิด เปรียบเหมือนไม่มีเปลวไฟอยู่ในเทียนไข ไม่มีเปลวไฟอยู่ในก้านไม้ขีดและกล่องไม้ขีด แต่ถ้าเอาก้านไม้ขีดตรงส่วนหัวขีดกระทบตรงข้างกล่อง เกิดเป็นไฟลุกขึ้น เอาไฟจ่อให้ติดกับไส้เทียน ทำให้เกิดเปลวไฟเทียนไข ฉันใดก็ดี ขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่เกิดอยู่ในภพนี้ ต้องอาศัย ขันธ์ อายตนะธาตุ ในชาติก่อนเป็นปัจจัย ส่วนในอนาคต ก็ต้องใช้ของในปัจจุบันเป็นปัจจัย สืบต่อกันโดยเหตุโดยปัจจัยดังนี้ แต่มิใช่ของสิ่งเดียวกัน ฉันนั้น
การกำหนดรู้เหตุ รู้ปัจจัยของนามรูป โดยพิจารณาอาการเกิดดับดังนี้ เรียกว่า ปัจจยปริคคหญาณ ญาณนี้เมื่อมีกำลังแก่กล้ามากขึ้น ย่อมทำให้สามารถละความสงสัยทั้ง ๑๖ อย่างที่เกี่ยวกับขันธ์ ๕ ในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ความสงสัย ๔ อย่าง และทิฏฐิ ๖๒ ประการ ก็พลอยระงับไปด้วย
ความเห็นบริสุทธิ์ พ้นจากความสงสัยในกาลทั้ง ๓ ดังนี้เรียกว่า กังขาวิตรณวิสุทธิ
การกำหนดรู้ถึงการตั้งอยู่ของธรรมที่เป็นปัจจัย เรียกว่า ธัมมฐิติญาณ
การกำหนดรู้นามรูปตามความเป็นจริง เรียกว่า ยถาภูตญาณ
ความเห็นโดยชอบถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เรียกว่า สัมมาทัสสนะ
ทั้ง ๔ ชื่อนี้ เป็นอย่างเดียวกับ ปัจจยปริคคหญาณ
เมื่อใดก็ตามผู้ปฏิบัติเจริญวิปัสสนาแก่กล้า เห็นรูปนามชัดเจนว่าเป็นเหตุเป็นผลกัน เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน รูปเป็นเหตุ นามเป็นผล หรือนามเป็นเหตุ รูปเป็นผล ไม่มีสิ่งใดเป็นตัวตนไม่มีเราเขา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ข้ามพ้นความสงสัยทั้งปวง เป็น กังขาวิตรณวิสุทธิ์ เป็นปัจจยปริคคหญาณ จะมีอานิสงส์ไม่น้อย คือได้ชื่อว่าเป็นพระจุลโสดาบัน หากญาณที่บรรลุนี้ไม่เสื่อม เมื่อตายแล้วจะได้ไปสู่สุคติ มีเทวโลก เป็นต้น ปิดประตูอบายภูมิได้แน่นอน เฉพาะชาติที่สอง แต่ชาติที่ ๓ ไม่แน่นอนต้องอุตส่าห์ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาต่อไปใหม่ จนบรรลุพระโสดาบันแท้จริง จึงจะปิดอบายภูมิได้แน่นอนทุกชาติก่อนเข้านิพพาน
เชิงอรรถ
*จากวชิราสูตร สส เล่ม ๑๕ ข้อ ๕๕๕
**จากสส เล่ม ๑๕ ข้อ ๕๔๔
***การเคลื่อนไหวทางกายเช่น ยืน เดิน นั่ง นอน ตู้ เหยียด ฯลฯ
****การเคลื่อนไหวทางวาจา เช่น พูด ร้อง ส่งเสียง ฯลฯ