อาทีนวญาณ

วันที่ 31 ตค. พ.ศ.2566

31-10-66_1b.png

๗. อาทีนวญาณ


                    อาทีนวญาณ หมายถึงญาณที่เห็นรูปนามเป็นโทษ ทำให้รู้สึกไม่มีความปรารถนายึดถือรูปนามหนึ่งรูปนามใดเลยแม้แต่น้อย เป็นดุจดังกองเพลิงกำลังลุกไหม้อยู่ เอารูปนามเป็นที่พึ่งมิได้เลยมีแต่โทษ สังขารที่เป็นไปในภาพ ในกำเนิด ในคติ ในวิญญาณฐิติในสัตตาวาสใด ๆ ก็ดี ไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่หลบลี้ ไม่มีที่จะไป ไม่มีที่อาศัย และไม่เป็นที่พึงปรารถนา

                    เมื่อผู้ปฏิบัติกระทำภยตุปัฏฐานญาณให้เจริญขึ้น เห็นภัยในสังขารเต็มที่แล้วย่อมไม่ยึดเหนี่ยวในสังขารทั้งหลาย เห็นภพ ๓ ปรากฎดุจหลุมถ่านเพลิง ที่เต็มไปด้วยถ่านเพลิงอันปราศจากเปลวไฟ

                         เห็นมหาภูตรูป ๔                                    เป็นเหมือนอสรพิษร้าย
                         เห็นขันธ์ ๕                                            เป็นเหมือนเพชรฆาตที่ยกดาบเงื้อง่าอยู่แล้ว
                         เห็นอายตนะภายใน ๖                             เป็นเหมือน หมู่บ้านร้าง
                         เห็นอายตนะภายนอก ๖                          เป็นเหมือนโจรปล้นชาวบ้าน
                         เห็นวิญญาณฐิติ ๗ สัตตาวาส ๙ เป็นเหมือนไฟ ๑๑ กองลุกโพลงโชติช่วงเผาไหม้อยู่
                         เห็นสังขารทั้งปวง เป็นเหมือน หัวฝี เป็นโรค ถูกลูกศรเสียบ เป็นสิ่งที่ชั่ว
                         ร้ายและอาพาธเป็นกองแห่งโทษภัยใหญ่หลวง หาความอบอุ่นไม่ได้ ปราศจาก
                         รสชาติอันดีงาม

                     เมื่อเห็นโทษสังขารนามรูปโดยแจ่มแจ้งชัดเจน นับเป็นอาทีนวญาณประการหนึ่งหรือเป็นปัญญาที่กำหนดรู้เห็นสังขารโดยความเป็นทุกข์เป็นโทษ เหมือนคนขี้ขลาดต้องการอยู่อย่างสุขสบาย แต่ต้องมาพบที่อยู่ที่มีเสือ ยักษ์ มีโจรแอบซุ่ม มีไฟกำลังไหม้มีคนกำลังเงื้อดาบฆ่า หรือต้องบริโภคโภชนะผสมยาพิษ คนนั้นย่อมเกิดความหวาดกลัวขนลุกขนพอง มองเห็นแต่โทษร้าย ดังนี้ก็ได้

                     การพิจารณาให้เห็นโทษของสังขาร มี ๑๕ ประการ คือพิจารณาให้เห็นโทษโดย

                     ๑. การเกิดของรูปนาม
                     ๒. ความเป็นไปของรูปนามที่ต้องมีลักษณะ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
                     ๓. ลักษณะหรือเครื่องหมายของรูปนาม เช่นต้องเปลี่ยนแปลง ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจ
                     ๔. การสั่งสมกรรมต่าง ๆ เอาไว้ ทำให้เกิดวนเวียนอยู่ในภพต่าง ๆ ไม่สิ้นสุด
                     ๕. การที่ต้องถือปฏิสนธิ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิสนธิในภูมิใด
                     ๖. คติทั้ง ๕ ที่ทำให้รูปนามต้องเกิด มีนรก ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย มนุษย์เทวดา ล้วนเป็นทุกข์ทั้งนั้น
                     ๗. การเกิดขันธ์ใหม่ จะเป็นขันธ์ที่เกี่ยวกับนามหรือรูปก็เป็นทุกข์ทั้งสิ้น
                     ๘.ไม่มีการพ้นทุกข์ ไม่ว่าต้องเกิดในภพใด
                     ๙. เห็นทุกข์โทษของนามที่กำลังเกิด
                   ๑๐.
 เห็นทุกข์โทษของรูปนามที่กำลังเสื่อม ชรา
                   ๑๑. เห็นทุกข์โทษของรูปนามที่ถูกโรคภัยมากมายเบียดเบียน
                   ๑๒. เห็นทุกข์โทษของรูปนามที่ต้องแตกสลาย
                   ๑๓. เห็นทุกข์โทษทีต้องเกิดความเศร้าโศก เพราะการแตกไป ดับไป เสื่อมไป วิบัติไป ของสิ่งต่างๆ
                   ๑๔. เห็นทุกข์โทษของการต้องร่ำไห้ เพราะความเสื่อมทั้ง ๕
                   ๑๕. เห็นทุกข์โทษของรูปนาม เพราะถูกความคับแค้นใจครอบงำ

                     สำหรับญาณที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับอาทีนวญาณ คือสันติปทญาณ มี ๑๕ ประการคือปัญญาที่รู้ว่า

                     ๑. ความไม่เกิดขึ้น
                     ๒. ความไม่เป็นไป
                     ๓. ความไม่มีนิมิต
                     ๔. ควาไม่ขวนขวาย
                     ๕. การไม่ปฏิสนธิ
                     ๖. การไม่มีคติ
                     ๗. ความไม่บังเกิดขึ้น
                     ๘. ความไม่เข้าถึง
                     ๙. ความไม่มีชาติ
                   ๑๐. ความไม่ชรา
                   ๑๑. ความไม่มีโรค
                   ๑๒. การไม่มีความตาย
                   ๑๓. ความไม่เศร้าโศก
                   ๑๔. ความไม่คร่ำครวญใจ
                   ๑๕. ความไม่คับแค้นใจ

                   ทั้ง ๑๕ อย่างนี้เป็นแดนเกษม แดนปลอดภัย เป็นความสุข เป็นการไม่เจือด้วยอามิสและเป็นนิพพาน ส่วนสิ่งที่ตรงกันข้ามย่อมเป็นสิ่งที่น่ากลัว เป็นทุกข์ เป็นการเจือด้วยอามิส เป็นสังขาร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.046207483609517 Mins