๘. นิพพิทาญาณ
นิพพิทาญาณ ญาณที่พิจารณารูปนามโดยอาการเบื่อหน่าย เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงเต็มไปด้วยโทษ จิตก็จะเกิดความเบื่อหน่าย ไม่อยากได้รูปได้นามไม่อยากกลับมาเกิดอีก ไม่รักใคร่อาลัยอาวรณ์ในโลกสันนิวาสนี้อีกต่อไป อุปมาได้เหมือนสิ่งเหล่านี้ คือ
- เหมือนนกที่ถูกจับมาขังไว้ในกรงอันสวยงามมีค่า นกนั้นก็ไม่ปราถนา
อยู่ มุ่งหน้าหาหนทางหนีออก
- เหมือนพระยาหงส์ทองยินดีอยู่ในสระทั้ง ๗ เชิงเขาจิตรกูฏ ไม่ยินดีใน
หลุมน้ำโสโครกใกล้บ้านคนจัณฑาล
- เหมือนพระยาราชสีห์ ไม่ยินดีให้ถูกจับขังไว้ในกรงทองคำ ยินดีแต่การ
อยู่ในป่าหิมพานต์กว้าง
- เหมือนพระยาช้างตระกูลฉัททันต์ ไม่ยินดีอยู่กลางเมือง ยินดีอยู่แต่ใน
ป่าหิมพานต์ใกล้สระน้ำ
ความจริงญาณทั้ง ๓ คือ ภัยญาณ อาทีนวญาณ และนิพพิทาญาณ เป็นญาณที่เกี่ยวเนื่องติดต่อกันอยู่ คือเมื่อพิจารณาเห็นรูปนามโดยการเป็นของน่ากลัวมีภัย ก็ต้องเกิดปัญญามองเห็นโทษ เมื่อเห็นโทษก็ต้องเกิดปัญญาทำให้เบื่อหน่าย
ผู้ปฏิบัติได้เจริญวิปัสสนาถึงนิพพิทาญาณแล้ว ย่อมยินดีอยู่ในอนุปัสสนา ๗ ประการคือ
๑. อนิจจานุปัสสนา การตามเห็นรูปนามว่าไม่เที่ยงทั้งรูปนามภายในร่างกายตนและรูปนามภายนอกทั้ง ๓๑ ภูมิ พิจารณาได้ด้วยอาการ ๔ คือ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของหวั่นไหวได้ เป็นของผุพัง เป็นของไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมถูกปัจจัยปรุงแต่ง และท้ายที่สุด มีความตายเป็นธรรมดา เมื่อพิจารณาโดยอาการอย่างนี้ย่อมละนิจจสัญญา
๒. ทุกขานุปัสสนา การตามเห็นรูปนามว่าเป็นทุกข์ ทั้งรูปนามภายในตน และรูปนามภายนอกทั้ง ๓๑ ภูมิ พิจารณาโดยพิสดารมี ๒๖ อย่าง คือ เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นผี เป็นดังลูกศรเสียบ คับแคบ อาพาธ จัญไร มีอุปัทวะ เป็นภัย มีอุปสรรค ไม่มีที่ต้านทานไม่มีที่หลีกเร้น ไม่เป็นที่พึ่งได้ เป็นของว่างเปล่า มีโทษ มีความคับแค้นเป็นมูล เป็นผู้เช่นฆ่าสรรพสัตว์เป็นเหยื่อของมาร มีความเกิดเป็นธรรมดา มีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บเป็นธรรดามีความตายเป็นธรรมดา มีความโศกเศร้าเป็นธรรมดา มีความร้องไห้เป็นธรรมดา มีความคับแค้นใจเป็นธรรมดา และมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาการพิจารณาเห็นรูปนามเป็นทุกข์ด้วยอาการอย่างนี้เรียกว่าทุกขานุปัสสนา
๓. อนัตตานุปัสสนา การตามเห็นรูปนามเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ๆ ทั้งสิ้น พิจารณาได้ทั้งรูปนามที่เป็นภายใน และภายนอกทั้ง ๓๑ ภูมิพิจารณาได้ ๒ อย่างคือ โดยความเป็นอย่างอื่น เป็นของแตกสลาย เป็นของเปล่า เป็นของสูญ
เป็นอนัตตา และหาสาระแก่นสารไม่ได้ เมื่อพิจารณาโดยลักษณะดังนี้ย่อมละอนัตตสัญญาความสำคัญผิดว่าเป็นตัวตนลงไป
๔. นิพพิทานุปัสสนา การตามเห็นรูปนามว่าเป็นของน่ากลัว เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เป็นโทษ แล้วเกิดความเบื่อหน่าย มีอยู่ ๒ อย่าง คือพิจารณารูปนามภายในตน และรูปนามภายนอกทั้ง ๓๑ ภูมิ
การพิจารณาให้พิจารณาไปถึงอดีตและอนาคตด้วยว่าเป็นของน่ากลัว เต็มไปด้วยทุกข์โทษแล้วเกิดความเบื่อหน่าย เหมือนรูปนามในปัจจุบัน เมื่อพิจารณาเห็นแจ้งย่อมละความยินดีที่เรียกว่า สัปปีติตัณหา คือตัณหาที่มีความยินดีชื่นชมเพลิดเพลินอยู่กับกามคุณทั้ง ๕ ประการ
๕. วิราคานุปัสสนา การตามเห็นรูปนามที่เกิดตามทวารทั้ง ๖ ว่าเป็นของน่ากลัวเป็นภัย เป็นทุกข์โทษ เกิดความเบื่อหน่าย คลายความกำหนัดลง ทั้งรูปนามภายในและภายนอก
ผู้ปฏิบัติได้ถึงญาณนี้ย่อมละ ราคะ คือความกำหนัดพอใจในสังขารธรรมลงได้
๖. นิโรธานุปัสสนา การตามเห็นความดับของรูปนาม ทั้งที่เกิดภายในตนและภายนอกทั้ง ๓๑ ภูมิ ให้เห็นความดับของรูปนามที่เกิดตามทวารทั้ง ๖ จะทำให้ละสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์ลงได้
๗. ปฏินิสสัคคานุปัสสนา การตามเห็นรูปนามว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นของน่ากลัว เต็มไปด้วยโทษ ละความสำคัญผิดในความรู้สึกตรงข้ามเสียไดทั้งรูปนามที่เป็นภายในและภายนอก
ผู้ปฏิบัติย่อมพิจารณาเห็นว่า
- รูปนามที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้ เพราะกรรมเก่าเป็นปัจจัยก็ดี
- รูปนามที่กำลังเป็นไปอยู่ในขณะนี้ก็ดี
- รูปนามที่แก่ชราก็ดี
- รูปนามที่กำลังสร้างกรรมซึ่งเป็นเหตุให้ปฏิสนธิต่อไปก็ดี
- รูปนามที่จะต้องไปปฏิสนธิในคติต่าง ๆ ก็ดี
- รูปนามที่กำลังเกิดก็ดี
- รูปนามที่กำลังเป็นไปตามอำนาจแห่งผลกรรมก็ดี
- รูปนามที่เกิดขึ้นมาแล้วกำลังเป็นปัจจัยแก่ชราก็ดี
- รูปนามที่กำลังร้องไห้ก็ดี
- รูปนามที่กำลังคับแค้นใจเพราะญาติตาย ทรัพย์วิบัติ มีโรคภัย ฯลฯ ก็ดี
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นภัย เป็นของน่ากลัว เป็นทุกข์ เป็นเหยื่อลวงของวัฏฏะ เป็นเหยื่อลวงของโลก เป็นเหยื่อลวงของกิเลส เป็นสังขารปรุงแต่งให้สรรพสัตว์เดือดร้อนไม่เป็นที่ต้านทานรักษา ไม่เป็นที่หลบหลีก ไม่เป็นที่พึ่งอาศัยในภพไหน ๆ ได้เลย จึงไม่น่าปรารถนาในภพใด ๆ เลย
ภพทั้ง ๓ ปรากฏอยู่เหมือนหลุมเต็มไปด้วยถ่านเพลิงปราศจากเปลวดังอุปมาข้างต้น