เดรัจฉาน

วันที่ 29 มีค. พ.ศ.2565

เดรัจฉาน

           คือสัตว์ผู้ไปโดยส่วนขวางเรียกว่า “ติรัจฉาน” หรืออีกความหมายหนึ่งแปลได้ว่าสัตว์ที่ขวางจากมรรคผล (ไม่สามารถบรรลุมรรคผล)

         คำว่าไปโดยส่วนขวาง หมายถึง การเคลื่อนที่ไปโดยล่าตัวไม่ตั้งตรงขึ้นจากพื้นกลับเคลื่อนไปโดยลำตัวขวาง เช่น มนุษย์เมื่อเดินไปลำตัวตั้งขึ้นไปโดยส่วนสูง มิใช่ส่วนขวาง คือ ศีรษะตั้งตรงขึ้นเบื้องบน แต่ติรัจฉาน ถ้ามี ๔ ชาจะใช้เดินทั้งหมด ศีรษะตั้งอยู่ข้างหน้า ใบหน้าก้มลงเบื้องล่าง ลำตัวทางยาวขนานไปกับพื้น แม้จะเป็นติรัจฉานประเภท๒ ขา เช่น ไก่ นก เวลาเดินคงไปโดยส่วนขวาง ใช้อกขนานไปกับพื้น ร่างกายไม่ได้ตั้งตรงเช่นเดียวกัน จึงเรียกติรัจฉาน

       คำว่า ขวางจากมรรคผล เนื่องจากในกำเนิดเดรัจฉานนั้น แม้ว่าจะเป็นพระโพธิสัตว์แล้วก็ตาม ไม่สามารถมีสติปัญญามากจนปฏิบัติให้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูงขั้นมรรคผลได้ ต้องห่างจากความเป็นพระอริยบุคคล จึงเรียกว่าเป็นสัตว์ที่ขวางจากมรรคผล

            ติรัจฉาน มีทั้งที่มองเห็นได้ด้วยตา และที่มองไม่เห็น ถ้าแยกประเภทโดยขาได้ ๔ ประเภท

๑. ประเภทไม่มีขาเลย เช่น งู ปลา ไส้เดือน เป็นต้น

๒. ประเภทมี ๒ ขา เช่น ไก่ นก

๓. ประเภทมี ๔ ขา เช่น วัว ควาย ช้าง ม้า สุนัข แมว เป็นต้น

๔. ประเภทมีขามาก ได้แก่ ตะขาบ กิ้งกือ เป็นต้น

           ติรัจฉานทั้งหลายเหล่านี้อาศัยอยู่ในที่ต่างกัน บางพวกอยู่บนแผ่นดินบางพวกอยู่ในน้ำ ติรัจฉานที่อยู่ในน้ำมีจำนวนมากกว่าพวกที่อยู่บนพื้นดิน

            สำหรับติรัจฉานที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตามนุษย์ ได้ มีอยู่อีกหลายชนิด เช่นสัตว์ที่อยู่ในหิมพานต์ หรือนอกออกไปจากโลกมนุษย์ มี พญานาค กินนรา ราชสีห์ ครุฑ ปลาใหญ่ ช้างบางประเภท

 

พญานาค

พญานาค
              มี ๑๐๒๔ ชนิด แบ่งเป็น ๔ ประเภท คือ

๑. กัฏฐะมุข มีพิษ ผู้ใดถูกกัด ร่างกายจะมีอาการเข็งไปหมดทั้งตัว ปวดมากอวัยวะต่าง ๆ ยึดหรืองอไม่ได้

๒. ปติมุข มีพิษ รอยแผลที่ถูกกัดจะเน่าลุกลาม มีน้ำเหลืองไหลออกมา

๓. อัคคิมุข มีพิษ ผู้ถูกกัดจะมีอาการร้อนจัดไปทั้งตัว รอยแผลที่ถูกกัดเป็นลักษณะคล้ายถูกไฟไหม้

๔. สัตถะมุข มีพิษ ผู้ถูกกัดมีอาการเหมือนถูกฟ้าผ่า


              พญานาคทั้งหมดเหล่านี้ มีวิธีทำอันตรายได้ ๔ อย่าง คือ

๑. กัดแล้วให้เกิดพิษซานทั้งตัว

๒. ใช้ตามองดูแล้วพ่นพิษออกทางตา

๓. มีพิษทั่วไปที่ร่างกาย กระทบถูกตรงที่ใด แพร่พิษให้ได้ทั้งสิ้น

๔. ใช้ลมหายใจพ่นเป็นพิษ แผ่ซ่านพิษไปได้ทั่ว


              พิษที่พญานาคปล่อยออกมาทั้ง ๔ วิธีนั้นมีปฏิกิริยาเป็น ๔ อย่าง คือ

๑. พิษแผ่ซ่านไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่รุนแรง

๒. พิษรุนแรงมาก แต่แผ่ออกไปอย่างช้า ๆ

๓. พิษรุนแรง แผ่ซ่านรวดเร็ว

๔. พิษไม่แรง แผ่ออกไปซ้า


              การเกิดของพญานาคแบ่งออกเป็น ๔ ชนิด

๑. เกิดในไข่

๒. เกิดในครรภ์

๓. เกิดจากเหงื่อไคล

๔. เกิดแล้วตัวโตใหญ่ทันที (โอปปาติกะ)

              เวลาเกิดมีทั้งที่เกิดอยู่ในน้ำ และที่เกิดบนบก มีทั้งที่เสวยกามคุณ และไม่เสวยกามคุณ

          พญานาคบางชนิดมีฤทธิ์มากสามารถนิรมิตตนเองให้เป็นมนุษย์ได้ แต่อย่างไรก็ตามในภาวะ ๕ อย่างเหล่านี้ จะไม่สามารถแปลงร่างเป็นอย่างอื่น ต้องอยู่ในสภาวะเดิม คือ

๑. ในขณะปฏิสนธิ

๒. ในขณะกำลังลอกคราบ

๓. ในขณะกำลังเสพเมถุนอยู่กับพญานาคด้วยกัน

๔. ในขณะหลับปราศจากสติ

๕. ในขณะตาย

             อายุของพญานาคไม่แน่นอน บางทียืนมาก บางทีสั้น พวกที่มีอายุยืนมากนั้น บางที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติในโลกนี้มีถึง ๕ พระองค์แล้ว ก็ยังไม่ตาย เช่น กาละพญานาคมีอายุมาตั้งแต่พระกกุสันธะ จนถึงพระสมณโคตมะ และจะมีอายุยืนต่อไปจนถึงพระศรีอริยเมตตรัย

 

กินนรา

กินนรา
         เป็นสัตว์น่าเกลียดแต่เหมือนคน คือ รูปร่างเหมือนคน แขนทั้งสองเหมือนแขนคน ฝ่ามือทั้งสองเหมือนนก ศีรษะ ใบหน้า จมูก ตา เหมือนคน ริมฝีปากกว้างจรดคอปากยาวยื่นออกมาคล้ายม้า ขา ฝ่าเท้า และนิ้วเหมือนนก

             กินนรามีอายุถึง ๑,๐๐๐ ปี มีนิสัยกลัวน้ำมากที่สุด แบ่งเป็นประเภทได้ ๗ ประเภท คือ เทวกินนรา จันทกินนรา ทุมกินนรา ทัณฑมาณกินนรา โกนตกินนรา สกุณ กินนรา และ กัณณปาวุรณกินนรา

 

ราชสีห์

ราชสีห์
             มี ๔ อย่างคือ

๑. ติณสีหะ
๒. กาฬสีหะ
ก. บัณฑสีหะ
๔. เกสรสีหะ

             ติณสีหะ มีร่างกายสีแดงเหมือนขนนกพิราบ ตัวใหญ่เท่ากับวัวหนุ่ม กินหญ้าเป็นอาหาร

             กาฬสีหะ มีร่างกายสีดำ ตัวโตเท่าวัวหนุ่ม กินหญ้าเป็นอาหาร

             บัณฑสีหะ มีร่างกายเหมือนสีใบไม้เหลือง ตัวใหญ่เท่าวัวหนุ่ม กินเนื้อเป็นอาหาร

           เกสรสีหะมีริมฝีปาก หาง และเท้าสีแดง ตั้งแต่ศีรษะลงไปตลอดถึงหลังมีลายสีแดงพาดสามแถว วนรอบสะโพก ๓ รอบ ที่ต้นคอมีขนปกคลุมลงมา ตั้งแต่บ่า มีสีเหมือนผ้ากัมพล ส่วนร่างกายที่เหลือนอกจากนี้มีสีขาวทั้งหมด กินเนื้อเป็นอาหาร ตัวโตใหญ่เท่าควาย

           เกสรสีหะหรือไกรสรราชสีห์มีที่อยู่ ๕ แห่ง คือ ถ้ำทอง ถ้ำเงิน ถ้ำแก้วมณี ถ้าเพชร ถ้ำมโนศิลา ซึ่งอยู่เฉพาะแต่ในป่าหิมพานต์เท่านั้น ราชสีห์ที่เหลืออีก ๓ อยู่ในป่าหิมาลัย หรือป่าใหญ่และลึกลับ

             อายุของราชสีห์ ไม่แน่นอน บางทีก็ถึง ๒๐๐ หรือ ๓๐๐ ปีก็ได้ นับเป็นเจ้าแห่งติรัจฉาน

          สำหรับไกรสรราชสีห์ เมื่อเวลาออกจากถ้ำ ตั้งเท้าหลังไว้เสมอกัน แล้วจึงเหยียดเท้าหน้าออก หยัดกายน้อมหลัง ชะเง้อตัวขึ้นแล้วก็จาม เสียงจามนั้นราวกับเสียงฟ้าฟาดแล้วจึงสลัดขนให้ปราศจากธุลี เผ่นลำพองคะนองกระโดด แล้วเปล่งสีหนาท ๓ ครั้ง เสียงนั้นลั่นก้องดังไปไกลได้ ๓ โยชน์โดยรอบ พวกสัตว์ ๔ เท้า ๒ เท้า ได้ยินมิอาจดำรงนิ่งอยู่ได้ หวาดหวั่นเกรงกลัว ต่างวิ่งหนีซุกซ่อนไปทั่วทุกแห่งหน ที่อยู่ตามปล่อง ช่อง รู ก็วิ่งลง ที่อยู่ในน้ำก็คลานลงน้ำ ที่อยู่ในป่าก็เข้าซ่อนตัวตามสุมทุมพุ่มไม้ ฝูงนกบินขึ้นสู่อากาศ แม้แต่ช้างม้าที่ผูกไว้ในนิคมหมู่บ้านก็แตกตื่น

          สัตว์ที่ไม่กลัวเสียงราชสีห์ คือสัตว์ที่มีชาติเสมอกัน คือ ราชสีห์ด้วยกัน ช้างอาชาไนย ม้าอาชาไนย โคอาชาไนย บุรุษอาชาไนย และพระขีณาสวะ สัตว์อาชาไนย กระด้างด้วยสักกายทิฏฐ์ ถือตัวว่ามีเรี่ยวแรงมากจึงไม่กลัว ส่วนพระขีณาสวะ ท่านละสักกายทิฏฐิ
เสียสิ้นแล้ว

          เมื่อไกรสรราชสีห์หยัดกายเปล่งสีหนาท ๓ ครั้ง เผ่นโดดไปข้างซ้ายบ้างขวาบ้างไปไกลได้ ๑ อุสุภ (๑๔๐ ศอก) แล้วกระโดดไปข้างหน้าไกล ๔ อุสุภบ้าง ๘ อุสุภบ้าง ถ้ายืนอยู่ในที่ราบจะกระโดดได้ ๑๖ ถึง ๒๐ อุสุภ ถ้ากระโดดจากหน้าผาหรือที่ดอน ไปได้ไกล ๖๐ ถึง ๘๐ อุสุภ

 

พญาครุฑ

พญาครุฑ

          พญาครุฑมีรูปร่างสัณฐานเหมือนนก เป็นนกที่ตัวใหญ่ที่สุด อยู่ที่ป่าไม้งิ้ว ในชั้นที่สองของบันไดเวียน ๕ ชั้นรอบภูเขาสิเนรุ (ชั้นที่หนึ่งอยู่ในมหาสมุทรสีทันดร เป็นที่อยู่ของพญานาค) เจ้าแห่งพญาครุฑมีร่างกายสูง ๑๕๐ โยชน์ ปีกกว้างข้างละ ๕๐ โยชน์ หางยาว ๖๐ โยชน์ คอยาว ๓๐ โยชน์ ปากกว้าง ๔ โยชน์ ขายาว ๑๒ โยชน์ ขณะกำลังบินอยู่ปีกทั้งสองกระพือออก บังเกิดเป็นลมพายุใหญ่พัดทั่วไปไกลถึง ๗๐๐ หรือ ๘๐๐ โยชน์ ธรรมดาพญาครุฑกินพญานาคเป็นอาหาร

 

ช้าง

ช้าง
            ช้างมี ๑๐ ชนิด

๑. กาฬาวกะ           ช้างสีดำธรรมดา มีกำลังเท่าบุรุษ ๑๐ คน
๒. คังเคยยะ            ช้างคงคา
๓. ปัณฑระ              ช้างเผือก
๔. ตัมพะ                 ช้างสีแดง
๕. ปิงคละ               ช้างสีดำแดง
๖. คันธะ                  ช้างที่มีกลิ่นหอม
๗. มังคละ               ช้างมงคล
๘. เหมย                  ช้างสีเทา
๔. อุโปสถะ               ช้างสีที่เรียบร้อย
๑๐. ฉัททันตะ            ช้างที่เกิดในสระฉัททันต์

            ช้างชนิดที่ ๒ มีกำลังเป็น ๑๐ เท่าของชนิดที่ ๑ ในลำดับสูงขึ้น ก็มีอัตรากำลังเพิ่ม ๑๐ เท่า ในทำนองเดียวกันเรียงลำดับขึ้นไป

 

ปลาติมิงคละ
ภาพวาดจิตรกรรมโดย สุวัฒน์ชัย ทับทิม 

ปลาใหญ่
            ปลาใหญ่ มี ๘ จำพวก
                 ปลาติมิ ตัวยาว                 ๒๐๐ โยชน์
                 ปลาติมิงคละ ตัวยาว         ๓๐๐ โยชน์
                 ปลาติมิปิงคละ ตัวยาว       ๔๐๐ โยชน์
                 ปลาติมิรปิงคละ ตัวยาว     ๕๐๐ โยชน์

           อีก ๔ ชนิด ตัวยาวอย่างละ ๑๐๐๐ โยชน์ ชื่อ อานันทะ ติมินันทะ อัชฌาโรหะ และ มหติมิ

 

สัญญา (ความกำหนดหมาย) ที่ปรากฏแก่สัตว์เดรัจฉาน

        สัญญาที่ปรากฏแก่สัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย มี ๓ อย่างคือ

๑. กามสัญญา        รู้จักเสวยกามคุณ
๒. โคจรสัญญา      รู้จักหากิน
๓. มรณสัญญา       รู้จักกลัวตาย

         ส่วนธรรมสัญญานั้น ติรัจฉานบางพวก เช่นโพธิสัตว์จึงจะปรากฏ นอกจากนั้นมีแต่สัญญา ๓ ประการ ในบรรดาสัญญา ๓ ประการนั้น มรณสัญญาปรากฏมากที่สุดเพราะสำหรับติรัจฉานแล้ว อันตรายเกี่ยวกับชีวิตมีมากที่สุด สัตว์เล็กย่อมถูกสัตว์ใหญ่เบียดเบียนทำร้ายจับกินเป็นอาหารเสียโดยมาก ซึ่งเป็นอันตรายระหว่างติรัจฉานด้วยกันยังมีอันตรายจากคน จากความอดอยาก จากที่อยู่ที่อาศัย เหล่านี้เป็นต้น

         อายุของสัตว์ติรัจฉาน ไม่แน่นอนแตกต่างกัน บางพวกเป็นสัตว์เล็กอายุเพียงสัปดาห์ บางพวก ๑๐ ปี ๑๕ ปี เช่น สุนัข แมว บางพวก ๒๐ ปี ถึง ๓๐ ปี เช่น วัว ควาย ม้าบางพวกอายุเท่าคน เช่น ช้าง

          นอกจากนี้ อายุของสัตว์ติรัจฉานยังขึ้นอยู่กับ อาหาร อากาศ และที่อยู่อาศัย ถ้าได้รับความเป็นอยู่เหล่านี้อย่างดี ก็จะมีอายุยืน

        อกุศลกรรมที่ส่งผลให้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ส่วนใหญ่มาจากโมหะ (ความโง่ หลง อวิชชา) ความไม่รู้ตามความเป็นจริง เช่น การยึดมั่นถือมั่นผิด ๆ ยึดถือหวงแหนในบุคคล ในทรัพย์สมบัติ ใกล้ตายจิตใจหน่วงเหนี่ยวเอาความนึกคิดเหล่านี้มาเป็นอารมณ์พาให้ไปเกิดเป็นงูเฝ้าทรัพย์ที่ฝังไว้ในพื้นดินบ้าง เป็นหนูเฝ้าทรัพย์ที่เก็บไว้ในบ้านเรือนบ้าง ถ้าจิตผูกพันในตัวบุคคล อาจเกิดเป็นสัตว์เลี้ยง สุนัข แมว เพื่อให้ได้อยู่ใกล้ชิดคนที่ตนรัก เป็นต้น

       จิตที่มีความรู้สึกผูกพันนี้ อาจมีสาเหตุมาจากทั้ง ความรัก ความโกรธ เกลียดชัง อาฆาตพยาบาท เสียใจ น้อยใจ คับแค้นใจ ความหลงใหลมัวเมา ประการใดประการหนึ่ง หรือหลายอย่างปะปนกัน

        นอกจากนั้นยังมีเศษกรรมบางชนิดที่เหลืออยู่จากการถูกลงโทษในนรก ยังชดใช้ไม่หมดต้องการเกิดชดใช้หนี้กรรมต่อในติรัจฉานภูมิ เช่น เศษกรรมจากการประพฤติผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร พ้นโทษจากนรกแล้วมักจะเกิดในกำเนิดเดรัจฉานเป็นสุนัขเป็นสัตว์ที่ต้องถูกตอนอวัยวะเพศ

          การชดใช้หนี้กรรมด้วยการเกิดเป็นเดรัจฉานนั้น ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดซ้ำ ๆ อยู่หลายชาติโดยเป็นเดรัจฉานชนิดเดิมบ้าง บางทีก็เปลี่ยนชนิด ในกำเนิดดังกล่าวนี้โอกาสทำกุศลกรรมมีน้อยมาก บ่อยครั้งที่ประกอบอกุศลกรรมเพิ่มขึ้น อาจมีโทษหนักทำให้ตายแล้วกลับไปเกิดในนรกใหม่ได้อีก


"สัตว์ที่ถือมั่นในมิจฉาทิฏฐิ        ย่อมละอายในสิ่งไม่ควรอาย
ไม่ละอายในสิ่งควรอาย            กลัวในสิ่งไม่ควรกลัว
ไม่กลัวในสิ่งควรกลัว                ตายแล้วไปสู่ทุคติ"

                                                                                    พุทธพจน์

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0091597159703573 Mins