๑๒. อนุโลมญาณ
อนุโลมญาณ คือญาณที่อนุโลมไปตามลำดับ เพื่อให้สำเร็จกิจแห่งวิปัสสนาญาณ หรืออนุโลมไปตามโพธิปักขิยธรรม ๓๗ เป็นเบื้องต้น เป็นญาณที่มีกำลังยิ่งขึ้นตามอำนาจการเห็นอริยสัจ สามารถทำลายกำจัดความมืดที่ปกคลุมอริยสัจเสียได้ การพิจารณาเป็นอนุโลม ปฏิโลมกลับไปกลับมา ตั้งแต่อุทยัพพยญาณ จนถึง สังขารุเปกขาญาณ รู้รูปนาม ดับไป ๆ เพิ่มมากขึ้นเห็นความดับของรูปนามชัดเจน มรรค ๘ ทำงานอย่างเต็มที่ ละโลภ ตัณหา ความอยากอันเป็นสมุทัยลงเสียได้ ขจัดกิเลสสิ้นไป
อนุโลมิกะ แปลว่าเป็นไปตามลำดับ
การเป็นไปตามลำดับ อันเป็นความหมายในที่นี้ คือ เป็นไปตามลำดับได้ ๒ อย่าง
อย่างที่หนึ่ง เป็นไปตามลำดับญาณต่าง ๆ ตั้งแต่ญาณต่ำ ขึ้นไปหาญาณสูง มี ๘
- อุทยัพพยญาณ พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและดับไปของรูปนาม
- ภังคญาณ พิจารณาเห็นความดับไปของรูปนามแต่อย่างเดียว
- ภยญาณ พิจารณาเห็นรูปนามว่าเป็นของน่ากลัว
- อาทีนวญาณ พิจารณาเห็นรูปนามว่ามีโทษมาก
- นิพพิทาญาณ พิจารณาเห็นรูปนามว่ามีทุกข์ มีโทษแล้วเบื่อหน่าย
- มุญจิตุกัมยตาญาณ พิจารณาเห็นรูปนามเป็นทุกข์โทษ เบื่อหน่ายแล้วอยากหลุดพ้น
- ปฏิสังขาญาณ พิจารณาเห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้วตั้งใจปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง
- สังขารุเปกขาญาณ พิจารณาเห็นพระไตรลักษณ์ แล้วมีใจวางเฉยอยู่กับรูปนาม
ปฏิบัติดังนี้เรียกว่า อนุโลมตามญาณต้น เมื่อกระทำจนได้กำลังพอ มีอินทรีย์ ๕ แก่กล้าดีแล้วก็เข้าเขตปฏิบัติตามอนุโลมญาณอย่างที่สอง
อย่างที่สอง เป็นไปตามลำดับโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ คือ
- สติปัฏฐาน ๔
- สัมมัปปทาน ๔
- อิทธิบาท ๔
- อินทรีย์ ๕
- พละ ๕
- โพชฌงค์ ๗
- มรรค ๘
และเพราะการที่อนุโลมญาณ ต้องปฏิบัติคล้อยตามมัคคสัจดังนี้ จึงเรียกได้อีก ชื่อหนึ่งว่า สัจจานุโลมิกญาณ
อนุโลมญาณ ว่าด้วยอารมณ์ มีพระไตรลักษณ์เท่านั้นเป็นอารมณ์
ว่าโดยกิจ มี ๒ อย่าง มีหน้าที่พิจารณาลักษณะทั้ง ๓ ของรูปนาม1
อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งคือ มีหน้าที่กำจัดปฏิปักษ์ คือข้าศึกทั้งหลายมีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น หรือกำจัดความมืดคือกิเลส นั่นเอง เพราะโพธิปักขิยธรรมมาประชุมพร้อมกัน ก็เพื่อละกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน
ว่าโดยผล ผลที่ได้ อนุโลมญาณย่อมกำจัดความมืด คือกิเลสที่ปกปิดกอริยสัจ ๔ เสียได้
วิปัสสนาญาณทั้ง ๙ อย่าง ตั้งแต่อุทยัพพยญาณ จนถึง อนุโลมญาณ ได้ชื่อว่าเป็น ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ์ เพราะมีเหตุผล ๖ ประการ
- เพราะเป็นข้อปฏิบัติเพื่อญาณทัสสนวิสุทธิ์ คือ มรรค
- เพราะเป็นปัญญาที่ทำให้รู้พระไตรลักษณ์
- เพราะเป็นญาณที่ปรากฏชัดแจ้ง
- เพราะเป็นเครื่องเห็นพระไตรลักษณ์ และอริยสัจ ๔
- เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมที่ผิด
- เพราะบริสุทธิ์วิเศษ
ว่าโดยขณะมี ๓ บริกรรม อุปจาระ อนุโลม ทำลายกิเลสที่ปกปิด
ปัญญา ไม่ให้รู้จตุราริยสัจไปตามลำดับขั้น
1ไม่เที่ยง ไม่ทุกข์ เป็นอนัตตา