๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ
มุญจิตุกัมยตาญาณ เป็นญาณที่มีความปราถนาใคร่จะพ้นจากนามรูป โดยที่ได้พิจารณาเห็นนามรูปเป็นของน่ากลัว มีทุกข์ มีโทษต่างๆ จิตก็เกิดความเบื่อหน่าย อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้น จากสังขารธรรม อยากพ้นจากสังสารวัฏฏ ใจน้อมไปสู่พระนิพพาน
สังสารวัฏฏ สังสาร แปลว่าการท่องเที่ยว วัฏฏะ แปลว่า กลับ หมุน กลิ้ง วนเวียน
สังสารวัฏฏ เป็นการท่องเที่ยววนเวียนไปไม่ขาดสาย มีอยู่ ๓ อปายสังสาระ กามสุคติสังสาระ และพรหมสังสาระ
อปายสังสาระ ท่องเที่ยวไปในอบายภูมิทั้ง ๔ ได้แก่ นรก เปรต อสุรกายและสัตว์เดรัจฉาน มีต้นเหตุมาจากอำนาจของกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง บางทีเรียกเหฏฐิมสังสาระ (ท่องเที่ยวไปในภูมิเบื้องต่ำ)
กามสุคติสังสาระ การท่องเที่ยวไปในกามสุคติภูมิ ได้แก่ ภูมิของมนุษย์ ๑ ภูมิของเทวดา ๖ ท่องเที่ยวไปด้วยอำนาจของมหากุศล หรืออาศัยสุจริตกรรม ๑๐ บางทีเรียกมัชฌิมสังสาระ ท่องเที่ยวไปในภูมิเบื้องกลาง
พรหมสังสาระ การท่องเที่ยวไปในพรหมภูมิ คือรูปพรหม ๑๖ ชั้น อรูปพรหม ๔ชั้น บางทีเรียก อุปริมสังสาระ (การท่องเที่ยวไปในภูมิเบื้องสูง) เพราะอาศัยมหัคคตกุศล ๙ (เป็นรูปาวจรกุศล ๕ อรูปาวจรกุศล ๔)
ถ้ากล่าวถึงวัฏฏะ ก็แบ่งได้เป็น ๓ ในทำนองเดียวกัน วัฏฏะในอบาย ในกามสุคติและพรหม กล่าวอย่างละเอียดแต่ละวัฏฏะยังแบ่งเป็น ๓ คือ กิเลสวัฏ (การวนของกิเลส)กัมมวัฏ (การวนของกรรม) และวิปากวัฏ (การวนของผลกรรมที่ตนได้กระทำไว้แล้ว)
วัฏฏะของอบายภูมิ
กิเลสวัฏ ได้แก่อัตตทิฏฐิ หรือสักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวตน เราเขาเป็นโลภะที่ประกอบกับมิจฉาทิฏฐิ
กัมมวัฏ เมื่อกิเลสเกิดขึ้นมาแล้ว ก็เป็นเหตุให้ทำกรรมลงไปตามอำนาจของกิเลสกรรมได้แก่ อกุศลเจตนา กับทุจริต ๑๐ มีฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดประเวณี พูดเท็จ พูดหยาบเพ้อเจ้อ ส่อเสียด โลภอยากได้ของเขา พยาบาท เห็นผิดจากความจริง
วิปากวัฏ บุญ หรือ บาป เป็นผลของกรรมที่เราทำไว้ วิบากของอุกศลกรรมคือขันธ์ของพวกสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน
วัฏฏะของกามสุคติภูมิ ๗
กิเลสวัฏ ได้แก่กามสุคติตัณหา พอใจในมนุษยสมบัติ เทวสมบัติ ทำให้พอใจในชาติ ในภพ เมื่อมีความพอใจก็เป็นเหตุให้ทำกรรมตามที่ตนพอใจ กรรมจึงพาให้วนเวียนอยู่ในสังสาระ
กัมมวัฏ ได้แก่มหากุศลเจตนาที่อาศัยวัฏฏะ มีกามกุศลหรือมหากุศล ๘ และสุจริตกรรม ๑๐ มหากุศล ๘ (ดูในเรื่องจิตที่กล่าวไว้ตอนต้น) เป็นชนิดมีปัญญา ๔ ไม่มีปัญญาประกอบด้วย ๔
ชนิดประกอบด้วยปัญญา สามารถทำให้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดาได้ ทำให้เกิดด้วยความอุดมสมบูรณ์ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เป็นเหตุกบุคคล ถ้าเจริญสมถะจะบรรลุฌาน ถ้าเจริญวิปัสสนาจะบรรลุมรรค ผล นิพพานชนิดไม่ประกอบด้วยปัญญา สามารถทำให้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดาได้มีความอุดมสมบูรณ์ แต่ขาดปัญญา เป็นทวิเหตุกะ เวลาทำบุญไม่ปรารถนาสิ้นอาสวกิเลส ไม่ปรารถนามรรค ผล นิพพานไว้เลย ดังนั้นเมื่อเจริญสมถะไม่บรรลุฌานเจริญวิปัสสนาไม่ได้สำเร็จ มรรค ผล นิพพานแต่ประการใด แต่เป็นปัจจัยอุดหนุนให้มีปัญญาในภพ
ชาติต่อ ๆ ไปได้
วิปากวัฏ ได้แก่ขันธ์ในกามสุคติภูมิ ๗ เป็นมนุษย์หรือเทวดาชั้นใดชั้นหนึ่งใน 5 ชั้น
วัฏฏะของพรหมภูมิ
กิเลสวัฏ ได้แก่พรหมภวตัณหา
กัมมวัฏ ได้แก่เจตนาในมหัคคตกุศล ๙
วิปากวัฏ ได้แก่ขันธ์ของพรหม ๒๐ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่งตามแต่กรรม
จิตของผู้ปฏิบัติธรรม เมื่อดำเนินมาถึงมุญจิตุกัมยตาญาณแล้ว ย่อมอยากจะหลุดพ้นจากวัฏฏะ ด้วยเห็นในทุกข์ โทษ ภัยต่าง ๆ นานาประการ จิตมีกำลังกล้า มุ่งหน้าแต่จะออก จะหนี จะหลุด จะพ้นไปจากสังขารธรรมและสังสารวัฏมีอุปมาดัง
- ปลาที่ติดอยู่ในข่าย แห อวน เครื่องดัก ย่อมดิ้นรนกระวนกระวายอยากหลุดออกให้ได้
- กบที่ถูกงูคาบไว้ในปาก อยากหลุดไปให้พ้น ทั้งดิ้นทั้งร้อง
- ไก่ป่าที่ถูกดักนำมาขังไว้ในกรง ย่อมกระวนกระวายไม่มีสุขหาทางมุดหนีไปอยู่อิสสระ
- เนื้อที่ติดบ่วง ย่อมพยายามดิ้นรนจนสุดความสามารถ เพราะอยากหลุด
- งูที่อยู่ในมือของหมองู ย่อมอยากให้พ้นมือ จะได้แล่นหนีเข้าพงหีบที่ปลอดภัย
- ช้างติดหล่มลึก อยากจะถอนตนจากหล่ม พยายามช่วยตนเองเต็มที่
- พญานาคอยู่ในปากครุฑ ย่อมอยากหลุดหนี
- ทหารที่ตกอยู่ในวงล้อมของข้าศึก ต้องพยายามเต็มที่ที่จะเอาตนให้หลุดรอด
เมื่อผู้ปฏิบัติบรรลุถึงฌาณนี้แล้ว จิตย่อมมีความปรารถนาหลุดพ้นจาก
๑. ความเกิด ๙. ชาติ
๒. ความเป็นไปของรูปนาม ๑๐. ความแก่
๓. สังขารนิมิตร (เครื่องหมาย) ๑๑. พยาธิ
๔. การสั่งสมกรรม ๑๒. มรณะ
๕. การปฏิสนธิ ๑๓. ความเศร้าโศก
๖. คติ ๑๔. การร้องไห้
๗. การบังเกิดของขันธ์ ๑๕. ความคับแค้นใจ
๘. ความเป็นไปของผลกรรม
เพราะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของทำให้เกิดรูปนาม อันเป็นของไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเป็นทุกข์ น่ากลัว เป็นอามิสให้หลงติดอยู่ เป็นผู้ปรุงแต่ง