๑๐. ปฏิสังขาญาณ
ปฏิสังขาญาณ คือญาณพิจารณาเห็นนามรูป โดยขะมักเขม้น ต่อจากมุญจิตุกัมยตาญาณ หาทางหนี รูปนาม
ปฏิ แปลว่า เฉพาะ ตอบ ทวน กลับ อีก
สังขา แปลว่า พิจารณา
ญาณ แปลว่า ปัญญา
พิจารณาสังขาร เป็นอนัตตา ด้วยอาการ ๕ อย่าง
พิจารณาสังขารเป็นอนิจจัง ด้วยอาการ ๑๐ มี พิจารณาเบญจขันธ์ว่าเป็น
๑. อนิจจัง ไม่เที่ยง
๒. ปโลกะ มีความเสื่อมอย่างใหญ่หลวง
๓. จละ มีความหวั่นไหวเปลี่ยนแปลง
๔. ปภังคุ มีความแตกสลายทำลายไป
๕. อัทธุวะ ไม่มีความยั่งยืนถาวรอะไรเลย
๖. วิปรินามธรรม มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
๗. อสารกะ ไม่มีเเก่นสารอะไรเลย
๘. วิภวะ มีความเสื่อม ความวิบัติ ฉิบหายอยู่เป็นนิตย์
๙. สังขตะ ถูกปรุงแต่งด้วยอำนาจ กรรม จิต อุตุ อาหาร
๑๐. มรณธรรม มีความตาย มีความแตกดับเป็นธรรมดา
พิจารณาเห็นเบ็ญจขันธ์ ว่าเป็นทุกข์ โดยอาการ ๒๕ คือ พิจารณาว่าเบ็ญจขันธ์เป็น
๑. ทุกข์ คือทนอยู่ไม่ได้ ถูกบีบคั้นเนือง ๆ
๒. โรค เสียดแทง ถูกเบียดเบียนอยู่เสมอ
๓. ฝี ดุจหัวฝีที่กลัดหนอง ทั้งเจ็บทั้งปวด
๔. สัลละ เป็นดุจถูกลูกศรปักเสียบ ทิ่มแทงอยู่เสมอ เช่น เจ็บปวด เมื่อย คัน แสบ ร้อน หนาว ฯลฯ
๕. อฆะ ความคับแคบ เบียดเบียน เดือดร้อน
๖. อฆมูล เป็นรากเหง้าของความเดือดร้อน เช่นจากอำนาจโรคภัย จากกิเลส
๗. อาพาธ เจ็บป่วย
๘. อีติ จัญไร มีแต่ทุกข์ ไม่ดี ไม่มีสุข
๙. อุปัทวะ ประสบอุบัติเหตุต่าง ๆ ได้ เช่น รถชน ตกเหว ฯลฯ
๑๐. ภัย เป็นของน่ากลัว ต้องเผชิญภัยนานาชนิด อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย โจรภัย ทุพภิกขภัย ชาติ ชรา มรณภัย เป็นต้น
๑๑. อุปสรรค เป็นสิ่งกีดขวาง กางกั้นไม่ให้ชีวิตดำเนินไปอย่างราบรื่น
๑๒. อตาณะ ไม่มีอะไรจะมาต้านทานไว้ได้ ต้องเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย เช่น แก่ เจ็บ ตาย
๑๓. อเลณะ ป้องกันอะไรไม่ได้เลย จะหลบเร้นอยู่ที่ไหนก็หนีไม่พ้นทุกข์
๑๔. อสระ ไม่มีที่พึ่ง เพราะต้องแตกดับ ทำลายไป สลายไป ทนอยู่ไม่ได้
๑๕. อาทีนวะ คือมีทุกข์ มีโทษมาก ทั้งภายนอกภายใน
๑๖. วธกะ ผู้ฆ่า เป็นดุจนายเพชฌฆาตถือดาบคอยเข่นฆ่าสรรพสัตว์อยู่ตลอดเวลา ไม่ยกเว้นใคร
๑๗. สาสวะ เป็นบ่อเกิดของอาสวะทั้ง ๔ กามาสวะ ภาวาสวะ อวิชชาสวะ ทิฏฐาสวะ
๑๘. มารามิส เป็นเหยื่อล่อให้สรรพสัตว์หลงติดบ่วง ดุจพรานเบ็ดตกปลา เหยื่อของมารมี ๓
โลกามิส อามิสของชาวโลก ได้แก่กามคุณ ๕ คือ รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ
วัฏฏามิส คือ อามิสคือวัฏฏะ วนด้วยของ ๓ อย่างกิเลส กรรม และวิบาก
กิเลสามิส อามิสคือกิเลส เป็นเหยื่อล่อให้สรรพสัตว์ประมาท มัวเมาเพลิดเพลินในโอฆสงสาร
๑๙. ชาติธรรม มีความเกิดมารับกองทุกข์ เกิดมาเมื่อใดก็หอบเอาทุกข์มาด้วยเมื่อนั้น เหมือนเห็ดที่โผล่ขึ้นจากพื้นดิน ก็ดันเอาฝุ่นขึ้นมาพร้อมกัน
๒๐. ชราธรรม มีความแก่ ความเสื่อม ทรุดโทรมเป็นธรรมดา ไม่มีใครห้ามและแก้ไขได้
๒๑. พยาธิธรรม มีความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา ไม่มีใครล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
๒๒. โสกธรรม มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา เพราะเสื่อมทรัพย์ เสื่อมญาติ เจ็บป่วยเป็นต้น
๒๓. ปริเทวธรรม มีความร้องไห้บ่นเพ้อเป็นธรรมดา เพราะถูกความเสื่อมต่าง ๆ ครอบงำา
๒๔. อุปายาสธรรม มีความคับแค้นใจเป็นธรรมดา
๒๕. สังกิเลสธรรม มีความเศร้าหมองเพราะกิเลส ๑๐ เป็นธรรมดา โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ
พิจารณาเห็นเบ็ญจขันธ์ เป็นอนัตตา โดยอาการ ๕ คือ พิจารณารูปนามในขันธ์ ๕ ว่าเป็น
๑. อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจของใครทั้งสิ้น
โดยปกติคนทั่วไปพากันเข้าใจว่า มีตัวตน (อัตตา) เป็นของไม่แตกสลาย เป็นอิสสระ บันดาลอะไร ๆ ได้ มีทิฏฐิยึดมั่นว่า ตนเองมีตัวตน เป็นไปในอำนาจของตนเช่น ถือว่า มี
ชีวอัตตา คือ เจตภูติ วิญญาณถาวร เป็นผู้สร้าง ผู้บริหารตัวตน มีลักษณะ ๕ อย่าง
สามี หมายถึง เป็นเจ้าของ เช่นมีเจ้าชีวิตอยู่ที่อวัยวะส่วนต่าง ๆ
การก หมายถึง เป็นผู้สร้าง เช่นจะทำอะไรต้องมีผู้คอยบังคับบัญชา
เวทกะ หมายถึง เป็นผู้เสวย เช่นเป็นผู้เสวยดี เสวยชั่ว เสวยสุข เสวยทุกข์
นิวาสี หมายถึง เป็นผู้อยู่อาศัย ทรงอยู่ สถิตย์อยู่ ดำรงอยู่ตลอดไป อย่างไม่สูญ
สยังวาสี หมายถึง สามารถบันดาลให้เป็นไปตามประสงค์ของตน
ชีวอัตตา ชนิดมีตัวตนอย่างนี้ ถ้าร่างกายตายลง ชีวอัตตาก็จะย้ายไปอยู่ร่างใหม่ การคิดเห็นดังนี้เป็นความคิดผิด เพราะเหตุที่ฆนสัญญา ความสำคัญผิดว่าเป็นตัวตน ปิดบังอนัตตาเอาไว้ ฆนสัญญามีอยู่ ๓
- สมูหนฆนะ ได้แก่กองรูป กองนาม ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เช่น เดิน ยืน นั่ง นอน ก็พากันเข้าใจว่า เราเดิน เรายืน เรานั่ง เรานอน
- กิจจฆนะ ได้แก่ การกระทำของกองรูปกองนาม รูปมีกิจเคลื่อนไหวไปคล้ายๆ กับทำตามคำสั่งของนาม จึงทำให้ดูเหมือนนามมีกิจคล้ายผู้สั่ง อันที่จริงเป็นเพียงการทำงานของรูปและนามเท่านั้น เราไปเข้าใจผิดว่า เราเดิน เรายืน เรานั่ง นอน เป็นต้น
- อารัมมณฆนะ ได้แก่การน้อมไปยึดอารมณ์หลาย ๆ อย่าง มาเป็นอย่างเดียวกัน เช่น ยึดเอารูปทางตา เสียงทางหู ฯลฯ เอามาเป็นเราได้เห็นรูปดี ไม่ดี เสียงไพเราะ ไม่ไพเราะ เราได้กลิ่นหอม กลิ่นเหม็น ฯลฯ ความเข้าใจอย่างนี้ เรียกว่าสัญญาวิปลาส เข้าใจผิด เมื่อยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์นั้น ๆ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ก็กลายเป็นอัตตทิฏฐิ หรือสักกายทิฏฐิไป
๒. อนิจจัง พิจารณาเบ็ญจขันธ์ว่า เป็น อื่น คือไม่คงที่แปรปรวนอยู่เสมอ
๓. ริตตะ พิจารณาว่าเป็นของนิดหน่อย เล็กน้อย เกิดขึ้นมาไม่นานก็แตกสลายไป
๔. ตุจฉะ ว่าง ได้แก่ว่างจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา
๔. สุญญะ เป็นของเปล่า เป็นของสูญ สูญจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา ไม่มีเจ้าของ ไม่มีอิสสระ ไม่เป็นไปตามอำนาจของใคร ๆ ทั้งสิ้น
การหลุดพ้นจากเบ็ญจขันธ์ สามารถพิจารณาด้วยอุบาย ๑๕ อย่างดังนี้ พิจารณาในสิ่งเหล่านี้แล้วตั้งใจปฏิบัติ เพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๑. ความเกิดและความดับของรูปนาม
๒. ความเป็นไปที่ไม่ขาดสายของรูปนาม
๓. สังขารนิมิต คือลักษณะสังขารรูปนาม ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
๔. เห็นรูปนามที่กำลังเกิดขึ้นมาใหม่ ว่าเป็นทุกข์ น่ากลัว
๕. รูปนามที่กำลังตกอยู่ในคติต่าง ๆ ว่าต้องมีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ด้วยกันทั้งสิ้น
๖. รูปนามที่กำลังเกิดเป็นขันธ์ ๕ อยู่ว่าล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
๗. รูปนาม กำลังสั่งสมกรรมที่จะทำให้เกิดอีก น่าเบื่อหน่าย
๘. รูปนามที่กำลังเป็นไปตามวิบากของตน
๙. รูปนามที่กำลังเกิดมาเป็นรูปชาติ นามชาติ รูปโลก นามโลก ว่าเป็นของน่ากลัวน่าเบื่อ
๑๐. รูปนามที่กำลังเสื่อมไป สิ้นไป แก่ไป คร่ำคร่าไป ว่าเป็นทุกข์เป็นโทษ น่าเบื่อหน่าย
๑๑. รูปนามที่กำลังถูกพยาธิเบียดเบียน
๑๒. รูปนามที่กำลังแตกดับ คือตายอยู่ทุกขณะ
๑๓. รูปนามที่กำลังเศร้าโศก
๑๔. รูปนามที่กำลังร้องไห้
๑๕. รูปนามที่กำลังคับแค้นใจ
การปฏิบัติในระยะนี้เปรียบเหมือนคนมีความประสงค์จะจับปลา แต่กลับจับเอาคองูเห่าเข้านึกว่าเป็นปลาดีใจมาก พอยกขึ้นมาพ้นน้ำเห็นว่าเป็นงู ตกใจกลัวต้องการโยนทิ้ง ก็กลัวจะถูกกัด จึงต้องจับแกว่งให้งูอ่อนกำลัง แล้วจึงโยนทิ้งไป
เปรียบเหมือนชีวิตคนตั้งแต่เกิดมา ยินดีพอใจ เพลิดเพลินในชีวิต เหมือนตอนจับคองูนึกว่าเป็นปลา
เมื่อได้ลงมือปฏิบัติแยกรูปนามออกจากกัน เหมือนดึงขึ้นมาจากน้ำ ปรากฏเป็นของน่ากลัวคือ ภยญาณ
ครั้นเป็นทุกข์เห็นโทษในการจับงูไว้ เป็นอาทีนวญาณ
เกิดความเบื่อหน่ายที่ต้องจับงู เป็นนิพพิทาญาณ
อยากจะเลิกจากการที่ต้องจับเอางูไว้ เป็นมุญจิตุกัมยตาญาณ
แสวงหาอุบายที่จะเหวี่ยงงู เป็นมุญจิตุกัมยตาญาณอย่างแก่ เข้าสู่ปฏิสังขาญาณอ่อน ๆ ทำให้อ่อนแรงด้วยการเหวี่ยง แล้วจึงโยนทิ้ง คือยกรูปนามขึ้นสู่ไตรลักษณ์บ่อย ๆ เป็นปฏิสังขาญาณ
เมื่อผู้ปฏิบัติใฝ่ใจพิจารณารูปนาม โดยความไม่เที่ยง พิจารณานิมิต ปฏิสังขาญาณ ก็เกิดใฝ่ใจพิจารณารูปนามโดยความเป็นทุกข์ พิจารณาปวัตตะความเป็นไปที่เกิดขึ้น ปฏิสังขาญาณก็เกิด ใฝ่ใจพิจารณารูปนามโดยความเป็นอนัตตา พิจารณาทั้งนิมิต และปวัตตะ
ปฏิสังขาญาณก็เกิด
ชีวิตของเเต่ละคน ย่อมมีคุณสมบัติพิเศษอยู่ในตน ดังนั้น
เมื่อ พลาดหวัง ก็ไม่ควรเศร้าโศก
เมื่อ สมหวัง ก็ไม่ควรตื่นเต้น
เมื่อ มีสุข ก็ไม่ควรประมาท
เมื่อ มีทุกข์ ก็ไม่ควรเศร้าใจ
เมื่อ มีเกียรติ ก็ไม่ควรหลงระเริง
เมื่อ ไร้เกียรติ ก็ไม่ควร เสียใจ
เมื่อ มีอุปสรรค ก็ไม่ควร ย่อท้อ