กามสุคติภูมิ ๗
มนุสสภูมิ และเทวภูมิ 5 ชั้น
กามสุคติภูมิ หมายถึงสุคติภูมิที่เกิดพร้อมด้วยกามตัณหา มีความปรารถนา ยินดีพอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
มนุสสภูมิ
คำว่า มนุษย์ มาจากคำว่า มน แปลว่าใจ รวมกับคำว่า อุษย์ หรืออุดม (อุดม) แปลว่า สูง มนุษย์จึงหมายถึงใจสูง ใจรุ่งเรืองและกล้าแข็ง กล่าวโดยตรง หมายความถึงคนที่อยู่ในโลกของเรานี้ ถ้ากล่าวโดยอ้อม หมายถึงโลกมนุษย์อื่น ๆ อีกสามโลกที่อยู่ในจักรวาลเดียวกับเราด้วย
ที่อยู่ของมนุษย์ อยู่บนพื้นดินที่มีอยู่ทั้ง ๔ ทิศของภูเขาสิเนรุ ซึ่งเป็นภูเขาที่อยู่ตรงกลางจักรวาล ผืนแผ่นดินใหญ่ทั้ง ๔ ทิศ เรียกว่าทวีปทั้ง ๔ ส่วนผืนแผ่นดินเล็ก ๆ เรียกว่าทวีปน้อยมีอยู่ ๒๐๐๐ ทวีป ทวีปใหญ่ทั้ง ๔ มีชื่อเรียกว่า ปุพพวิเทททวีป อปรโคยานทวีป ชมพูทวีป อุตตรกุรุทวีป
ปุพพวิเทหทวีป อยู่ตรงกับไหล่เขาสิเนรุด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นเงินสัณฐานของทวีปเหมือนพระจันทร์ครึ่งซีก
อปรโคยานทวีป อยู่ตรงกับไหล่เขาสิเนรุทิศตะวันตก ซึ่งเป็นแก้วผลึกสัณฐานของทวีปยังพระจันทร์วันเพ็ญ
อุตตรกุรุทวีป อยู่ตรงกับไหล่เขาสิเนรุทิศเหนือซึ่งเป็นทองคำ มีสัณฐานของทวีปเป็นรูปสี่เหลี่ยม
ชมพูทวีป อยู่ตรงกับไหล่เขาสิเนรุทิศใต้ซึ่งเป็นมรกต มีสัณฐานของทวีปดังรูปไข่
ในทวีปทั้ง ๔ จึงมีสีของต้นไม้ ใบไม้ น้ำในทะเล มหาสุมทร ท้องฟ้า ตามสีของรัตนะที่ไหล่เขาสิเนรสะท้อนแสง แต่ละทวีปมีทวีปน้อย ๕๐๐ เป็นบริวาร คนที่อาศัยอยู่ในทวีปน้อยมีความเป็นไปต่าง ๆ ตามผู้คนที่อยู่ในทวีปใหญ่ รูปใบหน้าของมนุษย์มีลักษณะตามสัณฐานของทวีป
สำหรับคนที่อยู่ในชมพูทวีป คือโลกมนุษย์ของเรานี้ มีลักษณะพิเศษต่างออกไปจากอีก ๓ โลกดังนี้คือ
๑. มีจิตใจกล้าแข็ง ทั้งในด้านประกอบกรรมดี และกรรมชั่ว ทางฝ่ายดีนั้นสามารถปฏิบัติตนให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า อัครสาวก มหาสาวก ปกติสาวก พระเจ้าจักรพรรดิ ฌานลาภี อภิญญาลาภีก็ได้ ฝ่ายชั่วก็สามารถกระทำได้ถึงฆ่ามารดา บิดา พระอรหันต์ ทำโลหิตตุปบาท และสังฆเภท คนในอีก ๓ ทวีปไม่สามารถกระทำกล้าแข็งได้ถึงเพียงนี้
๒. มีความเข้าใจในสิ่งที่เป็นเหตุ ทั้งที่สมควรและไม่สมควร รู้จักพิจารณาหาเหตุที่ทําให้เกิดสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะเป็นอย่างๆ ได้ทั้งฝ่ายที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม มีความรู้ความเข้าใจได้ตามสมควรอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่มีสิ่งใดบังคับ
๓. มีความเข้าใจในสิ่งที่มีประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ รู้จักทั้งโลกียประโยชน์และโลกุตตรประโยชน์ โลกียประโยชน์ ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือมนุษยสมบัติ เทวสมบัติ พรหมสมบัติ โลกุตตรประโยชน์ ได้แก่กุศล ความรู้ในธรรม หรือเป็นพระอริยะและสัปบุรุษ ตั้งแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าลงมา ส่วนความเข้าใจจะลึกซึ้งมากน้อยระดับใดแล้วแต่ ศรัทธา วิริยะ ปัญญา บารมี และการคบหาสมาคมทั้งโลกียกุศลและโลกุตตรกุศล
๔. มีความเข้าใจในสิ่งที่เป็นกุศลและอกุศล โลกียกุศล ได้แก่การบริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนาโลกุตตรกุศล ได้แก่อริยมรรคทั้ง ๔ ที่เกิดขึ้น และสามารถประหาณกิเลสได้เด็ดขาด
ฝ่ายอกุศล ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น
โลภะ มีความต้องการในกามคุณทั้ง ๕ คือปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส การถูกต้องสัมผัสในสิ่งที่ดี ๆ และคิดถึงอารมณ์คือเรื่องราวต่าง ๆ
โทสะ ได้แก่ ความโกรธ เสียใจ ไม่พอใจ น้อยใจ กลุ้มใจ และพยาบาท
โมหะ ได้แก่ความหลง ไม่รู้ตามความเป็นจริง เช่นไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ด้วยมีวิจิกิจฉา จิตใจไม่สงบ มีความฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ
ความเข้าใจทั้งฝ่ายที่เป็นกุศลและอกุศลดังกล่าวนี้ ย่อมมีแตกต่างกันออกไป
คุณสมบัติ ๓ ประการที่คนในชมพูทวีปประเสริฐกว่าคนในทวีปอื่นและเทวดาชั้นตาวติงสา คือ
๑. สูรภาว มีจิตใจกล้าแข็งในการกระทำความดี เช่น บำเพ็ญทาน รักษาศีลเจริญภาวนา
๒. สติมันตะ มีสติตั้งมั่นในคุณพระรัตนตรัย
๓. พรหมจริยวาส ประพฤติพรหมจรรย์ คือบวชได้
มนุษย์ในทวีปทั้ง ๔ เมื่อพูดโดยส่วนรวม มีรูปร่าง สัณฐาน หน้าตา อยู่ในลักษณะเดียวกัน ต่างกันตรงขนาด ความได้ส่วนสัด และความประณีตสวยงาม เช่น มนุษย์ในชมพูทวีปมีใบหน้ารูปไข่ อปรโคยานทวีป ใบหน้ากลมเหมือนดวงจันทร์วันเพ็ญ ปุพพวิเทหทวีป มีรูปหน้าเหมือนมะนาวตัดหรือพระจันทร์ครึ่งซีกครึ่งวงกลม ส่วนอุตตรกุรุทวีปใบหน้าเป็นรูปสี่เหลี่ยม รูปหน้าของมนุษย์ทวีปใดมีลักษณะเหมือนสัณฐานของทวีปนั้น) ทวีปอื่นอีก ๓ ทวีปนั้น แต่ละทวีปความสวยงามของผู้คนไม่แตกต่างกัน เนื่องจากมีคุณธรรมในจิตใจเสมอเหมือนกันโดยทั่วไป เฉพาะในชมพูทวีปเท่านั้นที่ผู้คนสวยงามและขี้เหร่แตกต่างกันมากมาย แตกต่างกันไปตามแต่กุศลและอกุศลที่เจ้าตัวกระทำจะให้ผล
ในสมัยต้นกัป มนุษย์ทั้งหลายไม่ว่าทวีปใด มีอายุขัยถึงอสงไขยปีทั้งสิ้น เพราะจิตใจของคนในสมัยนั้นมีกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ น้อยและเบาบางมาก ถึงแม้จะมีก็เป็นกิเลสอย่างละเอียด ไม่ใช่ชนิดหยาบที่ปรากฏออกมาเป็นทุจริต จิตใจจึงมีกุศลเจตนาเกิดอยู่มาก เมื่อมนุษย์เปี่ยมด้วยคุณธรรม อุตุ (ดินฟ้าอากาศ) และอาหารที่เป็นเครื่องอาศัยของมนุษย์จึงสมบูรณ์ดี ไม่มีขาดตกบกพร่อง จึงเป็นเหตุให้มนุษย์มีอายุยืนอยู่ได้ถึงอสงไขยปี หมายความว่านับประมาณอายุกันแทบไม่ได้ (บางแห่งว่า อสงไขยคือจำนวน ๑ ตามด้วยเลขศูนย์ ๑๔๐ ตัว)
ครั้นต่อมาเหล่ามนุษย์ในทวีปทั้งสี่เกิดมีอกุศลจิตขึ้นในสันดานเพิ่มขึ้น ๆ อำนาจของอกุศลทำให้อุตุ และอาหารต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงผิดปกติไปจากเดิม กล่าวคือ เมื่อหนาวก็หนาวเกินควรเมื่อร้อนก็ร้อนเกินควร ฤดูฝนก็ตกผิดปกติมากไปบ้างน้อยไปบ้างคุณค่าที่มีอยู่ในอาหาร (โอชารส) ลดน้อยลง สิ่งเหล่านี้กระทบกระเทือนทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์เสื่อมถอยลง เป็นเหตุให้มีอายุขัยลดลงเรื่อยๆ ตามลำดับ เมื่ออายุขัยลดลงถึง ๑,๐๐๐ ปี คนที่อยู่ในอุตตรกุรุทวีปหยุดคงที่อยู่เพียงนั้น อายุขัยไม่ลดลงอีก เพราะไม่มีกิเลสเพิ่มขึ้น ในทำนองเดียวกันอายุขัยของพวกปุพพวิเทหทวีปองที่อยู่ ๗๐๐ ปี อปรโคยานทวีป อายุขัยหยุดคงที่อยู่ ๕๐๐ ปี
มีแต่ชาวชมพูทวีปเท่านั้นมีอายุขัยลดลงเรื่อยๆ เพราะมีกิเลสเพิ่มขึ้นไม่สิ้นสุดและจะลดลงจนกระทั่งมีอายุขัยเหลืออยู่เพียง ๑๐ ปี
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในสุตตันตมหาวรรค พระบาลีว่า
"โย ภิกฺขเว จิรํ ชีวติ โสวสฺสสตํ ชีวติ อปปํ วา ภิยฺโย ทุติยํ วสฺสสตํ น ปาปุณาติ"
แปลความว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดมีอายุยืน ผู้นั้นย่อมมีอายุถึง ๑๐๐ ปี และบางคนก็เกินกว่า ๑๐๐ ปี ไปเล็กน้อยก็เป็นได้ แต่ไม่ถึง ๒๐๐ ปี
ในสมัยพุทธกาลเรานี้ อายุขัยของมนุษย์ในโลกเราคือชมพูทวีป มีกำหนด ๑๐๐ ปี และถือกันว่า อายุขัยจะลดลง ๑ ปี ทุกๆ ระยะ ๑๐๐ ปี ขณะนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงไปแล้ว ๒๕๐๐ ปีเศษ อายุขัยจึงลดลงประมาณ ๒๕ ปี ยุคปัจจุบันมนุษย์โลกเราจึงน่าจะมีอายุขัยประมาณ ๗๕ ปี ถ้าจะมีผู้ใดอายุยืนกว่านั้นได้ก็คงไม่เกิน ๒ เท่า แต่กระนั้นยังถือเอาเป็นกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัวไม่ได้ คงขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของมนุษย์ในสมัยนั้น ๆ กล่าวคือยุคใดเวลาใดมีผู้ตั้งอยู่ในศีลธรรมมาก เวลานั้นอายุขัยของมนุษย์ก็ไม่ลดลง และอาจจะมีอายุเกินกว่าอายุขัยในเวลานั้นด้วยซ้ำไป
เมื่ออายุขัยของมนุษย์ในชมพูทวีปลดลงจนถึง ๑๐ ปี อาหารทั้งปวงที่มีรสชาติดีจะหมดไป อาหารที่เป็นข้าวสำหรับนกกินในยุคนี้ จะกลายเป็นอาหารอันประเสริฐในยุคนั้น เด็กหญิงเกิดมาอายุได้ ๕ ปี จะมีสามีและบุตรได้ ไม่มีการทำบุญสร้างกุศลใดๆ แม้คำว่าบุญหรือกุศลก็ไม่มีใครรู้จัก มีแต่อกุศลกรรมบถ ๑๐ ครอบงำสันดานของสัตว์ทั้งหลาย ปราศจาก หิริ โอตตัปปะ อันเป็นโลกบาลธรรม ธรรมคุ้มครองโลกคือ ผู้คนมีความเป็นอยู่เช่นเดียวกับสัตว์เดรัจฉาน ไม่มีการรู้จักบิดามารดา ลูกหลาน ญาติพี่น้องประพฤติผิดกาเมสุมิจฉาจารต่าง ๆ เช่นเดียวกับสัตว์ ในยุคนั้นมนุษย์ทั้งหลายมีความอาฆาตเบียดเบียนกันยิ่งนัก เข่นฆ่ากันเองได้หมดทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นญาติมิตรสนิทสนมกันเพียงใด ไม่รู้จักความเมตตาปราณี เป็นเวลาที่ในสันดานสัตว์เต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ
ในเวลาดังนี้ มหาภัย ๓ อย่างจะบังเกิดขึ้นคือ
ทุพภิกขันตรกัป ความอดอยากยากแค้น
สัตถันตรกัป รบราฆ่าฟันกัน
โรคันตรกัป โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายเบียดเบียน
โดยเฉพาะในสมัยอายุขัยมนุษย์เพียง ๑๐ ปีนั้น ผู้คนปรากฏมีโทสะกล้าแข็งที่สุด สัตตันตรกัปย่อมบังเกิดขึ้น เกิดรบพุ่งฆ่าฟันซึ่งกันและกันเป็นโกลาหล จับสิ่งของใดได้แม้ต้นไม้ใบหญ้าจะถูกใช้เป็นอาวุธไปจนสิ้น มนุษย์ในโลกจะพากันล้มตายนับประมาณมิได้ สัตถันตรกัปบังเกิดขึ้นเป็นเวลา ๗ วัน เป็นไปทั่วทุกแห่งหน ส่วนผู้พอมีปัญญาอยู่บ้าง จะหาเสบียงจนพอเพียง ๗ วัน หลบหนีซ่อนตัวอยู่ตามห้วยหุบเขาที่ห่างไกล จนรอดพ้นจากภัยอันตรายนั้น ในระหว่าง ๗ วันที่ผู้คนทำการเข่นฆ่ากันอยู่ พื้นแผ่นดินทั้งสิ้นนองไปด้วยโลหิต ซากศพเกลื่อนกลาดน่ากลัว
เมื่อพ้น ๗ วันไปแล้วสงบสงัดจากเสียงการสู้รบ คนทั้งหลายที่หนีไปซ่อนเร้นจึงพากันออกมา เมื่อเห็นกันเข้าเกิดความสังเวชสลดใจ รักใคร่เอ็นดูสงสารซึ่งกันและกัน มีจิตใจอ่อนโยน เห็นโทษของอกุศลมีโทสะเป็นต้น จึงร่วมใจปรึกษาหารือกันเริ่มประกอบกุศลกรรม แรกทีเดียวเริ่มเว้นจากการฆ่าฟันคือปาณาติบาตก่อน เพราะเห็นโทษภัยจากการเข่นฆ่าที่ผ่านมา
เมื่อคนทั้งหลายเว้นจากการฆ่าสัตว์ บุตรหลานของคนเหล่านี้จึงมีอายุขัยยืนขึ้นเท่าตัวคือ ๒๐ ปี และบุตรหลานของผู้คนเหล่านี้ ก็ชักชวนพากันประกอบกุศลกรรมอื่น ๆ เพิ่มขึ้น มีเว้นจากอทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท พูดส่อเสียด พูดหยาบช้า พูดเพ้อเจ้อ ตลกคะนองไร้ประโยชน์ เว้นจากอภิชฌาวิสมโลภะ ไม่ยินดีอยากได้ทรัพย์สมบัติของผู้อื่นโดยไม่ชอบธรรม เป็นการพยาบาทปองร้ายผูกเวรซึ่งกันและกัน เว้นจากมิจฉาทิฏฐิ ผู้คนพากันสมาทานรักษากุศลกรรมบถ ๑๐ ละเว้นอกุศล ๓ ประการคือ
ความกำหนัดยินดีในสิ่งผิดประเพณี
ยินดีในเครื่องอุปโภคบริโภคที่ไม่ชอบธรรม และ
มีความเห็นผิดที่เป็นมิจฉาธรรม
ทั้งชวนกันปฏิบัติต่อบิดามารดา สมณพราหมณ์เป็นอันดี กระทำความเคารพในผู้เฒ่าผู้แก่ของตระกูล คนทั้งหลายบำเพ็ญกุศลธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไปประการดังนี้
อายุของผู้คนเหล่านั้นจึงเพิ่มขึ้นรุ่นละเท่าตัวเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึง 40,000 ปี เมื่ออายุขัย 40,000 ปี สตรีจะเป็นสาวมีสามีได้เมื่ออายุประมาณ ๕๐๐ ปี โรคภัยในยุคนี้มีเพียง ๓ ประการ คือ ความหิว ความง่วง และความแก่ชรา และอายุขัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงอสงไขยปี
เมื่ออายุขัยของมนุษย์ถึงอสงไขยปี ทำให้ไม่ใคร่ได้เห็นความแก่ ความเจ็บ ความตาย โดยง่าย จึงเกิดความประมาท มีทิฏฐิ และมานะบังเกิดขึ้น กิเลสเริ่มเกิดตามมาอกุศลกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นลำดับ อายุขัยของมนุษย์จึงเริ่มลดลงอีกจนกระทั่งเหลือ ๘ หมื่นปี
ในเวลาอายุขัยของมนุษย์เหลือ ๘๐,๐๐๐ ปีนี้เอง พระศรีอาริยเมตไตรย จะมาอุบัติบังเกิดขึ้นในมนุษย์โลก ดังมีพระพุทธภาษิตแสดงไว้ในจักกวัตติสูตรในสุตตันตปาฏิกวรรคว่า
"อสีติวสฺสสหสฺสายุเกสุ ภิกฺขเว มนุสฺเสสุ เมตฺเตยฺโย นาม ภควา โลเก อุปฺปชฺชิสฺสติ"
แปลความว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในยุคที่มีมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าเมตเตยะ เป็นผู้มีโชค จะอุบัติขึ้นในโลกฉะนั้น
พระศรีอาริยเมตไตรยสัมมาสัมพุทธเจ้า จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ที่ ๕ อันเป็นองค์สุดท้ายของภัทรกัปนี้
ชมพูทวีปนี้ มีส่วนกว้างยาวประมาณอย่างละ ๑๐,๐๐๐ โยชน์ เท่ากับ อสุรพิภพ ตาวติงสา อวีจิพร้อมอุสสทนรก ส่วนอปรโคยานะและปุพพวิเทหะทวีป กว้างยาวทวีปละ ๗,๐๐๐ โยชน์ อุตตรกุรุทวีปกว้างยาว ๘,๐๐๐ โยชน์
เดิมชมพูทวีปมีความกว้างยาวถึง ๑๐,๐๐๐ โยชน์ดังกล่าวแล้ว เมื่อเวลาเนิ่นนานต่อมาสัตว์ที่มีบุญวาสนามากค่อยหมดไป น้ำจึงท่วมขึ้นมาเสีย ๔,๐๐๐ โยชน์ เมื่อหักส่วน ที่เป็นป่าเขาหิมพานต์เสีย ๓,๐๐๐ โยชน์ ยังเหลือพื้นแผ่นดินที่เป็นของมนุษย์เพียง ๓,๐๐๐ โยชน์
แดนหิมพานต์นี้แต่เดิมมีอยู่ในโลก เมื่อมนุษย์เป็นสัตว์มีบุญมาก สามารถไปมาถึงกันได้ เมื่อสิ้นเหล่าสัตว์ผู้มีบุญเสียแล้วก็เป็นอันตัดขาดจากกัน สำหรับในยุคปัจจุบัน ผู้สามารถไปยังแดนหิมพานต์ ได้ต้องบำเพ็ญเพียรทางจิตมีฌานสมาบัติ ได้อภิญญาจิต มีตาทิพย์หูทิพย์เกิดขึ้น จึงจะรู้เห็นโลกดังกล่าว
เขาหิมพานต์ยาว ๓,๐๐๐ โยชน์ สูง ๕๐๐ โยชน์ ประกอบไปด้วยยอดเขา ๘๔,๐๐๐ ยอด เช่นยอดสุทัสสนกูฏ เป็นต้น มีแม่น้ำ ๕ สายชื่อ คงคา ยมนา อจิรวดี มหึมา สรภู มีสระใหญ่ ๗ สระ ชื่อ อโนดาต กัณณมุณฑะ รถกาละ ฉัททันตะ กุณาละ มัณฑากิน และสหปปาตะ แต่ละสระมีความกว้างยาวและลึกอย่างละ ๕๐ โยชน์ วัดโดยรอบได้ ๑๕๐ โยชน์ บรรดาสระทั้ง ๗ นี้มีสระอโนดาตที่มีภูเขา ๕ ลูกล้อมรอบอยู่คือ ภูเขา สุทัสสนกฎ จิตรกูฏ กาฬกูฏ คันธมาทนกุฎ และเกลาสกูฏ
เขาสุทัสสนกฏนั้นล้วนแล้วไปด้วยทอง สูง ๒๐๐ โยชน์
ยอดเขาน้อมไปปกคลุมสระ ยื่นไปเหมือนปากกา
ยอดเขาจิตรกูฏ เป็นเขาที่ล้วนแล้วไปด้วยแก้วทั้ง ๗ ประการ
ยอดเขากาฬกูฏ เต็มไปด้วยแก้วอัญชัน มีสีเขียว
ยอดเขาคันธมาทนกูฎ เต็มไปด้วยแก้วลาย ภายในมีสีดังมุกต์ ประกอบไปด้วย ต้นไม้หอม ๑๐ ประเภท อันมีคุณวิเศษต่าง ๆ เช่น บางอย่างมีรากหอม เช่น อบเชย บางอย่างมีแก่นหอม เช่น ต้นจันทน์ บางอย่างกระหอม เช่น ต้นสน บางอย่างเปลือกหอม เช่น สมุดละแว้ง บางอย่างสะเก็ดหอม เช่น มะขวิด บางอย่างมีกลิ่นหอม เช่น กำยานบางอย่างมียางหอม ใบหอม ดอกหอม หรือหอมหมดทั้งต้น รวม ๑๐ อย่าง สุคนธชาติเหล่านี้ขึ้นดารดาษอยู่ในเขาคันธมาทน์ นอกจากนี้ยังมีสรรพว่านยา และต้นไม้ที่เป็นโอสถชาติขึ้นอยู่มากมาย
ที่เขาคันธมาทน์นี้มีเงื้อมเขาอันหนึ่งชื่อ นันทมูล เป็นที่อยู่แห่งพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย มีถ้ำอยู่ ๓ คือ สุวรรณคูหา (ถ้ำทอง) มณีคูหา (ถ้ำแก้ว) และรัชฎคูหา (ถ้ำเงิน)
ที่ปากประตูมณีคูหามีต้นอุโลก (เนื้อไม้มีสีขาว) อยู่ต้นหนึ่งสูง ๑ โยชน์ ปริมณฑล ๑ โยชน์ ใกล้ต้นไม้ที่มีโรงศาลาหลังหนึ่งสำเร็จไปด้วยแก้วทั้งสิ้นเป็นที่ประชุมสันนิบาตแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย
ในรัตนมาฬิกะแห่งนี้มีลมพัดประจำอยู่ ๖ จำพวก
ลมสัมมชชนกวาตะ พัดกวาดทำความสะอาดในโรงศาลา
ลมสมกรณวาตะ พัดเกลี่ยทรายแก้วในที่นั้นให้ราบเรียบเสมอกัน
ลมสิญจนกวาตะ พัดหอบเอาน้ำในสระอโนดาตมาประพรมในที่นั้น
ลมสุคันธการณวาตะ พัดหอบเอาดอกไม้สุคนธชาติมาโรยไว้
ลมโอจินกวาตะ พัดเกลี่ยดอกไม้ให้เสมอกัน และ
ลมสัมมิชชนวาตะ พัดเอาดอกไม้ที่เหี่ยวแห้งออกไปทิ้งเสีย
พระปัจเจกพุทธเจ้าจะมาประชุมกันในวันที่มีพระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่และในวันอุโบสถ
ส่วนเขาเกลาสกูฏ หรือที่เรียกกันว่าเขาไกรลาสนั้น ล้วนแล้วไปด้วยเงิน ยอดเขาทั้ง ๕ ที่กล่าวมานี้ มีทรวดทรงสัณฐานและความสูงพอๆ กัน แวดล้อมสระอโนดาตอยู่โดยรอบ ด้วยอานุภาพแห่งเทวดาและนาคทั้งหลายทำให้มีฝนตกอยู่ตลอด น้ำฝนไหลลงสู่สระอโนดาตทั้งสิ้น
เวลาพระอาทิตย์และพระจันทร์โคจรตามวิถีทางทักษิณายนะ คืออ้อมออกไปข้างขอบเขาจักรวาล หรือเดินทางอุตรายนะ คือ อ้อมเข้ามาทางข้างเขาสิเนรุก็ดี แสงของพระอาทิตย์และแสงของพระจันทร์ก็ส่องลงไปตามหว่างเขาทั้ง ๕ ต้องน้ำในสระอโนดาต ได้ แต่ถ้าโคจรทางอุรังคมนะ คือเดินทางตรงกลางเป็นทางตรงแล้ว แสงมิอาจส่องไปต้องน้ำในสระได้ เพราะยอดเขาสุทัสสนะบังอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงชื่อว่า สระอโนดาต
สระนี้เป็นที่น่าสนุกสนานสำราญใจยิ่งนัก ท่าขึ้นลงราบเรียบเป็นศิลาเลี่ยน มีบันไดแก้วลงสู่สระหลายทาง น้ำใสสะอาดปราศจากมลทินใด ๆ มีสีแสงประดุจแก้วผลึกเป็นที่สรงสนานชาระกายของท่านผู้มีบุญทั้งหลาย มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นประธาน มีปากทางน้ำไหลออกจากสระไปเกิดเป็นแม่น้ำทั้ง ๔ ชื่อปากทางน้ำ ดังนี้
สีหมุข แม่น้ำที่เกิดจากปากทางช่องนี้ ฝั่งเดียรดาษไปด้วยราชสีห์
หัตถีมุข ฝั่งแม่น้ำมากมายไปด้วยฝูงช้าง
อัสสมุข ฝั่งแม่น้ำมากไปด้วยหมู่ม้าทั้งหลาย
อุสภมุข ฝั่งแม่น้ำเต็มไปด้วยฝูงโคทั้งหลายสัญจรไปมาจำนวนมาก
น้ำที่ไหลออกจากสระอโนดาตทางทิศตะวันออกแห่งเขาหิมพานต์นั้นไหลวนเวียนประทักษิณรอบสระอโนดาต ๓ รอบ ข้ามแม่น้ำอีก ๓ สาย แล้วไหลจากเขาหิมพานต์ด้านตะวันออกไปสู่แดนมนุษย์ ตรงลงสู่ท้องมหาสมุทร
น้ำที่ไหลจากทิศตะวันตกและทิศเหนือ ไหลเวียนประทักษิณสระอโนดาต ๓ รอบแล้วไหลลงสู่ในที่ที่ไม่มีพวกมนุษย์อยู่ ด้านทิศตะวันตกและด้านทิศเหนือ แล้วไหลลงสู่มหาสมุทรเช่นเดียวกัน
น้ำที่ไหลออกจากสระอโนดาตด้านทิศใต้นั้น ครั้นวนประทักษิณ รอบแล้วก็ไหลหลั่งลงไปในที่แผ่นศิลาราบอันหนึ่ง ยาวใหญ่ ๖๐ โยชน์ และไปกระแทกภูเขาอีกลูกหนึ่ง แล้วกลับโจนพุ่งขึ้นบนอากาศเป็นท่อธาร มีประมาณ ๓ คาพยุต แล้วหวนตกลงเหนือศิลาอีกอันหนึ่งชื่อ ติยังคละ เป็นศิลา ๓ เหลี่ยม ศิลาแตกพังทำลายลึกลงไปเป็นสระ ๆ หนึ่งชื่อ ติยังคละโบกขรณี น้ำที่ล้นจากสระก็ไหลเซาะขอบสระพังไปเหนือศิลาอันหนึ่งยาว ๖๐ โยชน์ แล้วไหลทำลายดินลงไปใต้ปฐพี่อีกสิ้นระยะ ๖๐ โยชน์ แล้ว จึงไหลทะลุออกตรงติรัจฉานบรรพต กระแสน้ำทำลายติรัจฉานบรรพต ไหลแตกแยกออกเป็น ๕ แถว อุปมาดังนิ้วมือทั้ง ๕ นิ้ว
น้ำที่ไหลจากสระอโนดาตแล้วไหลประทักษิณรอบสระ ชื่อ อาวัฏฏะคงคา
น้ำที่ไหลโจนขึ้นไปในอากาศ ชื่อ อากาสะคงคา
น้ำที่ไหลตกลงเหนือศิลาติยังคละนั้น ชื่อ ติยังคละโบกขรณี
น้ำที่ไหลเข้าไปในศิลาชื่อ พหละคงคา
น้ำที่ไหลเข้าไปในอุโมงค์นั้น ชื่อ อุมงคะคงคา
น้ำที่ไหลออกมาจากติรัจฉานบรรพต แล้วแตกออกเป็น 4 ลำน้ำนั้นชื่อ คงคานที ยมุนา อจิรวดี มหิมา และสรภู แม่น้ำทั้ง ๕ นี้ไหลเข้าสู่ทางแห่งที่อยู่มนุษย์
กล่าวถึงอีกสระหนึ่งที่ชื่อ สระฉัททันตะ สระนี้กว้างยาวประมาณ ๕๐ โยชน์ ในสระน้ำใสสะอาดปราศจากจอกแหน สาหร่าย เป็นพื้นน้ำว่างอยู่ ๑๒ โยชน์ ใสบริสุทธิ์เหมือนสีแห่งแท่งแก้วมณี ถัดจากน้ำสะอาดนั้นออกมามีป่าบัว ๗ ประการ ล้อมรอบน้ำอยู่คือ
รอบที่ ๑ ล้อมรอบน้ำ เป็นป่าบัว จงกลนี กว้าง ๑ โยชน์
รอบที่ ๒ สุทธนิลอุบล กว้าง ๑ โยชน์
รอบที่ ๓ อุบลแดง กว้าง ๑ โยชน์
รอบที่ ๔ อุบลชาว กว้าง ๑ โยชน์
รอบที่ ๕ บัวแดง กว้าง ๑ โยชน์
รอบที่ ๖ บัวขาว กว้าง ๑ โยชน์
รอบที่ ๗ บัวโกมุท กว้าง ๑ โยชน์
ต่อจากนั้นเป็นป่าโวสสกวัน พรั่งพร้อมด้วยบัวสีต่าง ๆ กว้าง ๑ โยชน์
ถัดจากป่าโวมิสสกวันเป็นพื้นน้ำที่ลึกเพียงเสมอหลังช้าง เป็นป่ารัตสาลีวัน คือป่าข้าวสาลีแดง กว้าง ๑ โยชน์
ถัดมาชื่อป่าขุททกคัจฉวันเป็นกอดอกไม้น้ำมีสีต่าง ๆ เช่น เขียว เหลือง แดง ขาว กว้าง ๑ โยชน์
ถัดออกมาถึงบนขอบฝั่ง มีสารพัดด้วยถั่วเขียว ถั่วขาว ถั่วราชมาส
ถัดออกมาถึง ป่าฟัก ฟักเขียว ฟักทอง ผลโตใหญ่
ถัดออกมาถึง ป่าอ้อย ล่าอ้อยโตเท่าต้นหมาก
ถัดออกมาถึงป่ากล้วย มีเครือใหญ่ ผลกล้วยโตเท่างาช้าง
ถัดออกมาเป็นป่ารัง ป่าขนุน มีผลใหญ่เท่าตุ่ม
ถัดจากนั้นเป็นป่าอัมพวัน ป่ามะม่วง ป่าจิญจวัน ป่ามะขามหวาน ป่ามะขวิดติดๆ กันออกมา
บรรดาป่าที่กล่าวแล้ว เป็นไม้แต่ละอย่างไม่ปะปนกัน ต่อจากนั้นจึงถึงปาโวมิสสกวัน สารพัดไปด้วยผลไม้นานาชนิดรวมกัน
จากนั้นจึงเป็นป่าเวฬุวันป่าไม้ไผ่ ขึ้นแน่นชิดกันสนิทด้วยกอและลำ แม้จะลอดเลื้อยเข้าไปก็ยาก
ถัดป่าเวฬุวันออกมามีภูเขาล้อมอยู่ ๗ ลูกชื่อ จุลกาฬบรรพต สูง ๑ โยชน์ ต่อจากเขาลูกนี้ จะสูงขึ้นอีกลูกละ ๑ โยชน์ ไปตามลำดับคือ มหากาฬ บรรพต อุทกปัสสบรรพต จันทปัสสบรรพต สุริยบรรพต มณีปัสสบรรพต และลูกที่เจ็ดชื่อ สุวรรณบรรพต สูง ๗ โยชน์
ที่มุมสระฉัททันตะที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ ทางทิศอิสาน มีต้นไทรใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ลำต้นใหญ่โดยรอบ ๕ โยชน์ สูงขึ้นไปเพียงค่าคบ ๗ โยชน์ ค่าคบนี้มี ๔ ถึง แต่ละกิ่งยาวทอดออกไปในทิศทั้ง ๔ ยาว 5 โยชน์ กิ่งยอดสูง ๖ โยชน์ ถ้าวัดจากโคนต้นจนถึงยอดสูง ๑๓ โยชน์ ต้นไทร งดงามมากดังความงามของมณีบรรพต
ส่วนสระมณฑากิณี กว้าง ๒๕ โยชน์ มีบันไดล้วนแล้วไปด้วยเงินทองแก้วไพฑูรย์และแก้วผลึก สำหรับเป็นท่าขึ้นลง น้ำในสระใสบริสุทธิ์ประดุจน้ำแก้ว ไม่มีจอก แหน สาหร่าย สายติ่งใด ๆ ที่ริมฝั่งซึ่งมีน้ำลึกเพียงเสมอหลังช้างนั้น มีป่าปทุม บัวขาวล้อมอยู่รอบหนึ่ง บัวมีฝักใหญ่เท่ากันกับงอนไถ เง่ามัวแต่ละเงาโตประมาณเท่ากันกับหน้ากลองไชยเภรี ในปล้องสายบัวแต่ละปล้อง มีของเหลวสีขาวขังอยู่ราวกับน้ำนม ดวงได้ปล้องละทะนาน พอดอกบัวบาน จะมีลมจำพวกหนึ่งรำเพยพูดให้เกสรร่วงอยู่บนใบบัว และมีละอองหยาดน้ำหยดย้อยลงประพรมบนเกสร พอถูกแสงพระอาทิตย์ก็งวดขันเข้าเป็นแท่ง มีสีดังก้อนเหล็กแดง วางอยู่บนใบบัว มีรสหวานดังน้ำผึ้ง เรียกว่า โบกขรมธุ
ถัดจากป่าบัวขาวออกมาถึงป่าบัวแดง แล้วถึงป่าปทุมขาว ป่าอุบลเขียว อุบลแดง แล้วถึงปาข้าวสาลีหอม ป่าฟักเขียว ฟักทอง น้ำเต้า ล้วน แล้วแต่มีรสหวาน จากนั้นจึงถึงป่าอ้อยมีลำโตเท่าต้นหมาก หมู่ช้างทั้งหลายพากันหักอ้อยมาวางไว้ที่ศิลาลายแห่งหนึ่ง แล้วพากันขึ้นเหยียบย่ำอ้อยให้น้ำอ้อยไหลลงไปขังอยู่ในกระทั่งศิลาน้อยใหญ่จนเต็ม ครั้นต้องแสงอาทิตย์ น้ำอ้อยก็แห้งงวดเข้าเป็นแท่งขาว ราวกับศิลาน้ำนมยวง หมู่ช้างก็ชวนกันนำไปถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระขีณาสวะเจ้าทั้งหลายที่เสด็จมาถึง
ถัดป่าอ้อยมาเป็นป่ากล้วย มีผลใหญ่โต จากนั้นเป็นป่าขนุน ป่ามะม่วง มะขวิด รวมแล้วที่สระนี้มีผลไม้ ดอกไม้ทุกสิ่งทุกอย่าง
ในป่าหิมพานต์ มีสัตว์สองเท้า สี่เท้ามากมายนักหนา มีคุณสมบัติแปลก ๆ แตกต่างกัน ทั้งรูปร่างสัณฐานก็มีพิสดารเป็นอเนกประการ เช่น กินนร กินนรี ไกรสรราชสีห์ คชสีห์ สัตว์ที่รูปร่างเป็นสัตว์สี่เท้า แต่มีท่อนหัวและใบหน้าเป็นคน นกอินทรีย์ นกการะเวก เป็นต้น ได้กล่าวไว้บางชนิดแล้วในติรัจฉานภูมิ) สัตว์ชื่อคชสีห์ เพราะมีลำตัวเหมือนราชสีห์ แต่มีท่อนหัวเป็นช้าง ส่วนสัตว์ที่มีท่อนศีรษะเป็นคนนั้น เนื่องจากในชาติที่เป็นมนุษย์เคยเบียดเบียนเอาชีวิตสัตว์ เช่น ฆ่าโค กระบือ แพะ แกะ สุกร ฯลฯ และเอาเนื้อสัตว์เหล่านั้นทำบุญด้วย กรรมจึงส่งผลให้มีรูปร่างดังนี้
สำหรับนกการะเวก เป็นนกที่มีเสียงไพเราะมาก เมื่อเวลาจิกกินผลมะม่วงสุก จะเสียงนั้นราวกับเสียงแก้วจิกดูดดื่มกินน้ำมะม่วงแล้วก็ปรบปีกกระพือส่งเสียงร้องขึ้นและปี่ไฉน ดังเจื้อยแจ้วจับใจไปทั่วในหิมพานต์ บรรดาสัตว์สี่เท้าทั้งหลายที่ได้ยินเสียงนกการะเวกแล้วก็มัวเมาเคลิ้มสติไปด้วยเสียงนั้นที่กำลังคาบเหยื่อ เหยื่อก็หลุดจากปากเสือที่กำลังวิ่งไล่เนื้อมาก็ยกขากระโดดเงื้อง่าเปล่า ยืนแข็งอยู่กับที่ เนื้อที่ถูกเสือไล่มาก็ลืมความกลัว ขึ้นแข็งกับที่จังงังฟัง หมู่นกที่บินในอากาศก็กางปีกออกว่าร่อนสดับฟัง หมู่สัตว์ในน้ำมีฝูงปลาทั้งหลายก็หยุดว่ายน้ำ หยุดโบกหางกระดิกครีบหู ชวนกันสงบฟังด้วยเหตุนี้โลกจึงสรรเสริญผู้มีเสียงไพเราะว่าเหมือนเสียงนกการะเวก
ที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนี้เป็นเรื่องของชมพูทวีปเหตุที่เรียกชื่อทวีปดังนี้ เพราะทวีปนี้มีไม้หว้าเป็นพญาไม้ประจำทวีป (ต้นชมพู่ แปลว่า ต้นหว้า) ไม้หว้าต้นนี้อยู่ในป่าหิมพานต์ มีลำต้นวัดโดยรอบ ๑๕ โยชน์ จากโคนถึงยอดสูงสุด ๑๐๐ โยชน์ จากโคนต้นถึงคาคบ ๕๐ โยชน์ จากคาคบถึงยอด ๕๐ โยชน์ ที่คาคบมีกิ่งทอดออกไปในทิศทั้งสี่ กิ่งใหญ่แต่ละกึ่ง ๆ ยาว ๕๐ โยชน์ ถ้าวัดจากโคนต้นไปถึงยอดของแต่ละกิ่งใหญ่ในทิศทั้ง ๔จะได้ยาว ๑๐๐ โยชน์ ปริมณฑลสูงและกว้าง มีความยาวเท่า ๆ กัน
ใต้กึ่งหว้าทั้ง ๔ นั้นเป็นแม่น้ำใหญ่ไหลผ่านไปในทิศทั้งหลาย ผลหว้ามีกลิ่นหอมรสหวานปานน้ำผึ้ง หมู่นกทั้งหลายชวนกันมากินผลหว้าสุกนั้น บางทีผลหว้าสุกก็หล่นลงตามฝั่งแม่น้ำ แล้วงอกออกเป็นเนื้อทอง และถูกน้ำพัดออกไปจมลงในมหาสมุทร จึงเรียกทองนั้นว่า ทองชมพูนุท เพราะอาศัยเกิดมาจากชมพูนที่เรื่องพญาไม้ประจําทวีป หรือพิภพนี้มิใช่มีแต่ในชมพูทวีป แม้ที่อื่นอีก ๖ แห่งก็มี เช่นเดียวกันคือ
๑. ปาตลี ไม้แคฝอย ประจําอสุรภิภพ
๒. สมพลี ไม้งิ้ว ประจําพิภพครุฑ
๓. ปาริฉัตติโก ไม้ปาริฉัตร ประจำดาวดึงสภาพ
๔. กทมโพ ไม้กระทุ่ม ประจําอารโคยานทวีป
๕. กัปปรุกโข ไม้กัลปพฤกษ์ ประจําอุตตรกุรุทวีป
๖. สิริสกรุกโข ไม้ซึก ประจำปุพพวิเทหะทวีป
บรรดาไม้ใหญ่ทั้ง ๗ ต้น มีความสูง ใหญ่ และมีกิ่งก้านสาขายาวเท่า ๆ กันทั้ง ๗ ต้น และจะมีอายุยืนอยู่คู่ทวีปหรือพิภพไปจนกว่าจะสิ้นภัทรกัป
อนึ่ง ที่ป่าหิมพานต์ที่มีบริเวณติดต่อกับภูเขา ตัณหาวัฒนะ มีต้นมักกลีผลอยู่ป่าหนึ่ง ต้นไม้ชนิดนี้พิสดารนัก เมื่อถึงคราวออกผล ผลไม้ที่มีรูปร่างลักษณะเหมือนสตรีเพศทุกอย่าง มีก้านติดอยู่ตรงหัว ห้อยตัวลงมา เมื่อผลไม้นี้แก่ จะมีรูปร่างสวยงามปานประหนึ่งเทพธิดา และผลที่ออกคราวหนึ่ง ๆ ทนอยู่ได้ถึง ๔-๕ เดือนจึงจะเน่า
ในขณะที่มักกลีผลกำลังออกผลแก่เบ่งบานเต็มที่ พวกวิชาธรที่อาศัยอยู่ที่ป่าหิมพานต์นั้น ก็พากันมาเก็บเอาไปเชยชม เหมือนเช่นเป็นสตรีเพศ วิชาธรคนใดร่วมรสเชยชมกับนางมักกลีผลแล้ว จะได้รับรสความสุขดื่มกระทั่งถึงซึ่งอาการวิสัญญีภาพ คือสลบไปเป็นเวลาถึง ๔ เดือน จึงจะฟื้นคืนสติขึ้นมาได้
คนที่อยู่ในชมพูทวีป คือโลกของเรานี้ ถือกันว่าได้แก่ผู้ที่อยู่บนพื้นแผ่นดินที่เป็นผืนติดต่อกันโดยไม่มีมหาสมุทรมานั้น ได้แก่ เอเชีย ยุโรป แอฟริกา นอกนั้นเรียกว่าอยู่ในทวีปน้อย บริวารของทวีปใหญ่ และที่เรียกว่า มนุษย์ ในความหมายอีกนัยหนึ่งกล่าวว่าเมื่อสมัยต้นกัปที่ต้องตั้งผู้ที่เหมาะสมเป็นหัวหน้าขึ้นปกครองผู้คนนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราครั้งนั้นเป็นพระโพธิสัตว์ ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งนั้น มีพระนามว่า พระเจ้ามหาสมมตะ ท่านมีชื่อเดิมของท่านว่า “มนุ” เมื่อผู้คนทั้งหลายอยู่ในปกครองของท่าน ก็ทำตามโอวาทเหมือนบุตรอยู่ในโอวาทของบิดา คนทั้งหลายจึงชื่อ มนุสสะ เพราะเป็นลูกของพระเจ้ามนุ ส่วนคนในทวีปอื่น ๆ ที่พลอยถูกเรียกว่าเป็นมนุษย์ไปด้วยนั้น เพราะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายคนในชมพูทวีป
อย่างไรก็ตามการกล่าวถึงเรื่องในทวีปต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตามนุษย์ สามารถแลเห็นได้ด้วยอภิญญาจิตที่ได้ตาทิพย์ สิ่งที่เห็นด้วยตาทั้งสองนั้นบางอย่างก็เหมือนกัน บางอย่างก็ต่างกัน จะนำมาถกเถียงกันไม่ได้เพราะเป็นคนละเรื่องกัน
มนุษย์ที่อยู่ในอุตตรกุรุทวีป ทวีปนี้อยู่ตรงไหล่เขาทางทิศเหนือของภูเขาสิเนรุ ซึ่งเป็นทองคำ ดังนั้นในทวีปนี้ ต้นไม้ ใบไม้ ท้องฟ้า น้ำทะเล จึงมีสีส่วนใหญ่เป็นสีทองคำไปหมด เป็นทวีปที่วิเศษกว่าทวีปอื่น คนทุกคนอยู่ในเบญจศีล มีความเป็นอยู่สะดวกสบายเพราะมีต้นไม้ชื่อต้นกัลปพฤกษ์เป็นต้นไม้บันดาลให้ที่อยู่อาศัย เครื่องอุปโภค บริโภคต่าง ๆ แก่ผู้คน และยังมีต้นไม้อื่น ๆ อีกมากมายทั้งไม้ดอกไม้ผลเป็นที่อุดมสมบูรณ์ มีสระและบ่อน้ำเต็มไปด้วยดอกอุบลบัวหลวงนานาชนิด ส่งกลิ่นหอมฟุ้งตระลบ มนุษย์ทุกคนมีร่างกายสมบูรณ์ ไม่สูง ไม่ต่ำ แข็งแรง สวยงาม สุขภาพร่างกายไม่เสื่อมถอย ไม่ต้องลำบากในการประกอบอาชีพการงาน ไม่มีอันตรายจากสัตว์ร้ายต่าง ๆ ดินฟ้าอากาศเป็นปกติสม่าเสมอไม่ร้อนนัก ไม่หนาวนัก ไม่มีแปรปรวน ข้าวสาลีเกิดขึ้นเอง ไม่ต้องหว่านไถ ออกรวงเป็นข้าวสาลี ขาวบริสุทธิ์ มีกลิ่นหอม ไม่มีว่า ไม่มีข้าวลีบ เวลาจะหุง เอาศิลาเพลิงชื่อ โชติปาสาณะ ๓ ก้อน ตั้งขึ้นไว้ วางหม้อข้าวลง ข้าวจะเดือดและสุกเอง เวลากินไม่ต้องแสวงหากับข้าว ปรารถนาให้เป็นรสใดจะเป็นตามนั้น อาหารในโลกนี้มีคุณค่าสูง ดังนั้นจึงไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอย่างใดเบียดเบียน ในโลกนี้จะหาคนเป็นโรคผิวหนังโรคเรือนสักคนเดียวก็ไม่มี อนึ่งข้าวที่หุงไว้แล้ว ใครปรารถนาจะกินก็สามารถกินได้ตามอัชฌาสัย ไม่มีการหวงแหน ในทวีปนี้บรรดาพระอริยเจ้าที่มีฤทธิ์ มีพระปัจเจกพุทธเจ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น ย่อมเสด็จไปโปรด รับบิณฑบาตอยู่เนือง ๆ
หญิงชาวอุตตรกุรุทวีปนี้ แต่ละคนสวยงามเหมือน ๆ กัน ไม่สูง ไม่ต่ำ ไม่ดำ ไม่ขาว นิ้วมือเรียวยาว เล็บสีแดง ตะโพกผาย เอวบาง ถันมิได้ย้อยยาน พักตร์ผ่องราวดวงจันทร์ มีแขน ขา คอ อ่อนละมุน มีสัมผัสเป็นสุขควรแก่ฤดูกาล คือยามร้อนสัมผัสแล้วเย็น ยามหนาวสัมผัสแล้วอบอุ่น มีถ้อยคำวาจาไพเราะอ่อนหวาน
ชายหญิงในทวีปนี้ ถ้ามีความกำหนัดด้วยราคะ จะเป็นอยู่เพียง ๗ วันเท่านั้น พื้นจากนั้นแล้วก็หมดความยินดี และหญิงใดที่ตั้งครรภ์ ไม่มีความลำบากแต่ประการใดสบายดีเช่นปกติ เวลาคลอดก็ไม่ลำบากทั้งแม่ลูก ทารกที่คลอดออกมาก็ไม่มีสิ่งปฏิกูลแปดเปื้อน ผู้เป็นมารดาเมื่อคลอดแล้ว ไม่ต้องเป็นกังวลห่วงใยประการใด จะไปไหนก็ได้ตามแต่ใจ ทารกนอนนิ่งอยู่ที่เดิม ชายหญิงใดมาพบเห็นเข้า เอานิ้วมือใส่ปาก ก็เป็นอาหารเป็นน้ำนมไหลพรั่งพรูออกมา เลี้ยงดูกันดังนี้อย่างช้า ๓ วัน ทารกนั้นก็ลุกขึ้นเดินได้ เป็นหญิงก็เข้าไปอยู่กับหมู่หญิง เป็นชายก็อยู่กับหมู่ชายมีความสบายทุกประการ
บรรดาผู้คนทั้งหลายในทวีปนี้ เมื่อต้องการเครื่องประดับตกแต่งร่างกายต่าง ๆก็ไปนึกเอาที่ต้นกัลปพฤกษ์ ภูษาอาภรณ์เครื่องประดับที่ต้องการ จะเกิดขึ้นห้อยแขวนอยู่ตามลำต้น และกิ่งก้านใหญ่น้อยของต้นไม้นั้น เป็นที่น่าปลื้มใจ
ผู้คนมีอัธยาศัยดียิ่ง ไม่มีการทะเลาะวิวาทบาดหมาง ล่อลวง เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
แม่น้ำที่มีอยู่ในทวีปนี้มีน้ำใส ท่านขึ้นลงเรียบราบดี น้ำนั้นสะอาดปราศจากเปือกตม ไม่ร้อนไม่เย็นนักอาบได้สบาย ริมฝั่งเดียรดาษไปด้วยดอกไม้ต่าง ๆ หอมไปทั่วฝั่ง เวลาผู้คนอาบน้ำ จะถอดผ้าผ่อนอาภรณ์ทั้งปวงรวมไว้ด้วยกันริมฝั่ง เมื่อขึ้นจากน้ำไม่มีการยื้อแย่ง เวลานอนก็เข้าไปยังต้นไม้ต้นใดต้นหนึ่ง ต้นไม้นั้นจะมีสิ่งของเครื่องใช้ให้เป็นฟูกเมาะเบาะหมอนนอนได้เลย
เมื่อมีผู้ใดตายลง ไม่มีการร้องไห้คิดถึง คงช่วยกันประดับประดา เอาผ้าคลุมทั้งไว้ มีนกใหญ่จำพวกหนึ่งมีหน้าที่บินมาเฉียวเอาซากศพนั้นไปทิ้งที่เกาะอื่น ในทวีปนี้จึงไม่มีป่าช้าและสถานที่สกปรกโสโครก
ชาวอุตตรกุรุทวีปนี้ เมื่อตายแล้วจะพากันไปเกิดในเทวโลกด้วยกันหมดทั้งสิ้นด้วยอำนาจที่ทุกคนตั้งอยู่ในเบญจศีล การที่จะไปเกิดในอบายภูมินั้น ไม่มีเลย
สําหรับเรื่องของ ปุพพวิเทหทวีป และอปรโคยานทวีป ไม่มีอะไรพิเศษเท่าอุตตรกรุทวีป เพราะชีวิตความเป็นไปต่างๆ คล้ายคนในชมพูทวีป เว้นแต่ความเจริญของโลกและจิตใจของผู้คนถึงจะสูงก็ไม่สูงเท่าคนในชมพูทวีป แม้จะต่ำก็ไม่เท่าคนในชมพูทวีป เป็นไปในฐานะกลาง ๆ
คนอุตตรกุรุทวีปมีคุณสมบัติพิเศษสูงและประเสริฐกว่าคนชมพูทวีปและเทวดาชั้นตาวติงสา ๓ ประการคือ
๑. ไม่ถือเอาเงินทอง ทรัพย์สมบัติ ว่าเป็นของตน
๒. ไม่หวงแหนหรือถือเอาว่า ผู้นั้นผู้ที่เป็น บุตร ภรรยา สามีของตน
๓. ต้องมีอายุยืนถึงหนึ่งพันปีเสมอ
ส่วนเรื่องการตายของคนในทวีปนี้ ทุกคนจะไปบังเกิดในเทวโลกหมด เป็นเฉพาะการตายจากทวีปนี้เท่านั้น เมื่อไปบังเกิดในเทวโลกและอยู่จนกระทั่งหมดบุญแล้ว เวลาจุติไปบังเกิดในภพใหม่ไม่แน่นอน อาจเกิดในอบายทั้ง ๔ หรือเกิดเป็นมนุษย์ในทวีปอื่น
พระโพธิสัตว์ก็ดี พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกทั้งหลายก็ดี เมื่อจะบังเกิด จะอุบัติขึ้นเฉพาะในชมพูทวีปเท่านั้น ไม่เกิดสร้างบารมีที่โลกมนุษย์ทวีปอื่น ๆ
ณ เวิ้งวิเวกเอกภพมหึมา | และ ณ ดาราจักรอันหลากหลาย |
จะหาหล้าไหนวิเศษแพร้วพรรณราย | ได้ดุจโลกมนุษย์สุดยากนัก |
อังคาร กัลยาณพงศ์