บทที่ ๑๐๘
อานิสงส์ของกฐินทาน
กฐินทาน คำนี้เกิดขึ้นได้ยากในโลก เพราะจะต้องมีการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งต้องใช้เวลาในการบำเพ็ญบารมีอย่างน้อ ๒๐ อสงไขยเศษแสนมหากัป จะต้องมีคณะสงฆ์บวชอุทิศชีวิตสืบอายุพระพุทธศาสนา และต้องมีทายกผู้มีศรัทธาน้อมนำผ้ากฐินมาทอดถวาย
กฐินทานมีข้อจํากัดมากมายหลายประการ เช่น
๑. จํากัดด้วยประเภทของทาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น
๒. จํากัดด้วยระยะเวลา คือ ถวายได้ในช่วง ๑ เดือน หลังจากออกพรรษา
๓. จํากัดด้วยพิธี คือ จะต้องประกอบพิธีให้เสร็จภายในวันกรานกฐิน
๔. จำกัดด้วยไทยธรรม คือ ผ้าไตรถูกต้องตามพระวินัย
๕. จำกัดด้วยผู้รับ คือ พระภิกษุจำพรรษาครบถ้วนไตรมาส และมีคณะสงฆ์จำพรรษาตั้งแต่ ๕ รูป ขึ้นไป
๖. จำกัดจำนวน คือ วัดหนึ่งรับกฐินทานได้ ปีละ ๑ ครั้งเท่านั้น
๗. เป็นพุทธประสงค์ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระประสงค์จะให้ภิกษุมีโอกาสได้ผลัดเปลี่ยนผ้าจีวรที่เก่า ซึ่งแตกต่างจากทานอื่นๆ ที่มี
ทายก เป็นผู้ทูลขอถวายกฐินทานนั้นมีอานิสงส์ทั้งผู้รับ ผู้อนุโมทนา และผู้ถวาย
ผู้รับและผู้อนุโมทนาจะมีอานิสงส์ได้รับการผ่อนปรนทางพระวินัย ๕ ประการเพื่อสะดวกในการบำเพ็ญสมณธรรม
ส่วนผู้ถวายมีอานิสงส์ ทำให้ได้เกิดในร่มเงาของพระพุทธศาสนา ได้บังเกิดในตระกูลสูง มีผิวพรรณวรรณะเปล่งปลั่ง มีผ้านุ่ง ผ้าห่มที่ประณีต งดงาม รองรับการสร้างบารมี มีสุขภาพแข็งแรง
สำหรับท่านชาย ย่อมได้บวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานการบวชให้
สําหรับท่านหญิง ย่อมได้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ เฉพาะผู้มีบุญเท่านั้น จึงจะสวมใส่ได้ เพราะมีน้ำหนักมากเกินกว่าสตรีทั่วไปจะรองรับได้
ผ้าไตรจีวร เป็นบริขารที่ใช้ในวันบวช ทำให้สําเร็จความเป็นพระภิกษุใช้ปกป้องความหนาว ความร้อน ลม แดด แมลงมีพิษ และปกปิดความน่าละอาย เป็นเครื่องเตือนสติให้เกิดสมณสัญญา เป็นสัญลักษณ์ของอายุพระพุทธศาสนา เป็นที่บำเพ็ญบุญของสาธุชนและรองรับการบำเพ็ญศาสนกิจเพื่อความสุขของมหาชนทั้งหลาย
กฐินทาน จึงเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ ย่อมอำนวยผลให้ผู้ถวายประสบสุขทั้งในโลกนี้ โลกหน้า และสุขอย่างยิ่งคือพระนิพพาน