มัคคญาณ

วันที่ 15 กพ. พ.ศ.2567

15-2-67-1-b.png

๑๔. มัคคญาณ
                   มัคคญาณ มี ๔ คือ โสดาปัตติมัคคญาณ สกทาคามิมัคคญาณ อนาคามิมัคคญาณ อรหัตตมัคคญาณ
 

โสดาปัตติมัคคญาณ
 

                  เป็นปัญญาที่ทำให้บรรลุถึงโลกุตตรภูมิอันดับแรก สามารถละกิเลสได้สิ้นเชิง ๒ ประการ คือ สักกายทิฏฐิ ความเข้าไปยึดมั่น ถือมั่นในขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ บุคคล เราเขา และละวิจิกิจฉากิเลส อันเป็นธรรมชาติที่ทำให้ตัดสินใจลำบาก คือความลังเลสงสัยในสิ่งที่ไม่ควรสงสัย เช่นสงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์


                   ญาณที่ต่อเนื่องกันอยู่ในระหว่างนี้ คือ อนุโลมญาณทั้ง ๓ ขณะมีหน้าที่ปัดเป่ากิเลสที่ปิดบังปัญญาอยู่ให้ออกไปให้สิ้น ทำให้เกิดโคตรภูญาณเห็นนิพพาน ยึดเอานิพพานเป็นอารมณ์ ต่อจากนั้นโสดาปัตติมัคคญาณก็เกิดเพื่อจะเจาะ ทุบ ทำลายกองกิเลส มัคคญาณจะเกิดตามโคตรภูญาณโดยไม่มีระหว่างคั่น คือเกิดตามติดมาทันที ไม่มีจิตชนิดอื่นมาขวางกั้นได้


                    เปรียบเหมือนคนปรารถนาชมจันทร์ ออกไปยืนมองท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยเมฆ มองไม่เห็นเพราะเมฆบังดวงจันทร์ไว้ เมื่อมีลมพัดเมฆไป ๓ ครั้งจนหมด เปรียบเหมือนอนุโลมญาณทั้ง ๓ ขณะเมื่อเมฆหมด ดวงจันทร์ย่อมปรากฏ เปรียบดังโคตรภูญาณ คนจึงชมจันทร์ได้ เป็นมัคคญาณ


                    หรือเหมือนการใช้สัญญาณทำงานสิ่งใด สัญญาณนั้น คือโคตรภูญาณ การทำงานเป็นมัคคญาณ โคตรภูเป็นสัญญาณการนัดหมายว่า ขณะต่อไปนี้มัคคญาณกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว


                    โสดาปัตติมรรค มิใช่มีหน้าที่เจาะทะลุ ทำลายกองกิเลส และประหารสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉาได้สิ้นเชิงเท่านั้น แม้กิเลสอย่างอื่น ๆ ก็บรรเทาเบาบางลงไปด้วย ไม่มีกิเลสหยาบถึงขั้นจะนำไปปฏิสนธิในอบายอีกต่อไป จึงเรียกมรรคนี้ว่าเป็นมรรคที่ปิดประตูอบายเสียได้อานิสงส์ที่สำคัญที่สุด คือตัดวัฏฏะลง ทำให้เกิดอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติล้วนแต่เกิดในสุคติภูมิ ส่วนอานิสงส์ปลีกย่อยมีอีกนานัปการ
 

สกิทาคามิมัคคญาณ


                    เมื่อบรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว ปรารถนาสำเร็จภูมิธรรมขั้นที่สองคือ สกิทาคามิมัคคญาณ ก็ทำความเพียรในวิปัสสนาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป โดยรวบรวมกระทำให้สม่ำเสมอกัน  ในอินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และพิจารณาสังขาร คือขันธ์ ๕ ด้วยปัญญากำหนดในไตรลักษณ์ ทบทวนไปมา แล้วหยั่งจิตลงสู่วิถีของวิปัสสนาญาณ เมื่อปฏิบัติอยู่ดังนี้ ญาณต่าง ๆ ย่อมเกิดขึ้นตามลำดับ คือ สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ และ สกิทาคามิมัคคญาณ


                     ญาณในลำดับนี้ ทํากิเลสที่เหลือให้เบาบางลง โดยเฉพาะกามราคะและโทสะพยาบาท ที่เป็นอย่างหยาบสิ้นไป


อนาคามิมัคคญาณ


                    ปฏิบัติในทำนองเดียวกัน เมื่อเป็นพระสกทาคามีอริยบุคคลแล้ว เจริญอินทรีย์ พละ โพชฌงค์ ทำให้สม่ำเสมอกัน แล้วพิจารณาสังขารด้วยปัญญาที่กำหนดพระไตรลักษณ์ ทบทวนไปมา แล้วส่งจิตหยั่งลงสู่วิถีของวิปัสสนาญาณ ต่อจากนั้นอนุโลมญาณจะเกิดต่อจากสังขารุเปกขาญาณ แล้วจึงเกิดโคตรภูญาณ และอนาคามิมัคคญาณตามลำดับ ญาณนี้ละกามราคะและโทสะ ได้เด็ดขาดทั้งหยาบและละเอียดจนหมด


อรหัตตมัคคญาณ


                  ปฏิบัติในทำนองเดียวกัน เมื่อบรรลุอรหัตตมัคคญาณ ละสังโยชน์เบื้องบนที่เหลืออีก ๕ คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ได้หมดไม่มีเหลือ เป็นอันทำลายกิเลสทั้งปวงได้สิ้นเชิง
 

                   มัคคญาณทั้ง ๔ นี้เสวยนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นฝ่ายโลกุตตระ เห็นอริยสัจชัดแจ้ง คือเห็นนิโรธอริยสัจ เมื่อเห็นนิโรธอริยสัจแล้ว ย่อมเห็นสัจจะอีก ๓ ข้อนั้นไปด้วย เหมือนคุณสมบัติของไฟตะเกียงที่ลุกโพลงอยู่ ย่อม
๑. ท่าให้ไส้ตะเกียงไหม้
๒. กําจัดความมืด
๓. เกิดแสงสว่าง และ
๔. ทำให้น้ำมันหมดไป

 


• ทุกขูปนีโตปิ นโร สปญฺโญ อาสํ                 น ฉินฺเทยย สุขาคมาย
คนมีปัญญา ถึงเผชิญอยู่กับความทุกข์ ก็ไม่ยอมสิ้นหวัง ที่จะได้ประสบความสุข •

พุทธพจน์

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.029238263765971 Mins