อโหสิกรรม

วันที่ 30 มีค. พ.ศ.2567

300367b01.jpg
อโหสิกรรม
๒ มิถุนายน ๒๕๓๔

พระธรรมเทศนา เพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)


                ต่อจากนี้ขอให้ทุกท่านตั้งใจให้แน่แน่วมุ่งตรงต่อหนทางของพระนิพพาน ให้นั่งขัดสมาธิ สำหรับท่านที่มาใหม่ก็น้อมใจตามเสียงของหลวงพ่อไปทุก ๆ คนนะจ๊ะ นั่งขัดสมาธิคือการเอาขาขวาทับขาซ้าย ให้มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ หลับพอสบายๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับพอสบาย ๆ ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้- กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก เราจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย เราจะต้องใช้เวลาต่อจากนี้ไปชั่วโมงเต็มสำหรับการเจริญภาวนา เพราะฉะนั้นท่านั่งนี้จึงต้องปรับให้เหมาะสม ให้เลือดลมในตัวเดินได้สะดวกให้ทุกคนตั้งใจทำกันอย่างนี้นะจ๊ะ

 


                ต่อจากนี้ก็ปรับใจของเราให้เป็นใจที่บริสุทธิ์ผ่องใส เยือกเย็น อย่าให้มีภารกิจเครื่องกังวลคั่งค้างอยู่ในใจให้ลืมไปชั่วขณะที่เราจะได้ปฏิบัติธรรม ภารกิจการงานเรื่องอะไรก็แล้วแต่ให้สละทิ้งให้หมดจากใจ ทำประหนึ่งว่าเราอยู่คนเดียวในโลก ไม่เคยพบปะเจอะเจอภารกิจเหล่านั้นมาก่อน แล้วก็ทำใจให้ใส ให้สะอาดให้บริสุทธิ์ให้เยือกเย็น ให้ท่านทั้งหลายพึงตั้งใจฝึกฝนให้หยุดให้นิ่งให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ วิธีการเข้าถึงธรรมกายจะต้องนำใจของเรานี่ให้หยุด ใจที่แวบไปแวบมานำกลับมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นที่สิงสถิตของพระธรรมกาย 

 


                ก็ให้นึกสมมติหยิบเส้นเชือกขึ้นมา ๒ เส้น เส้นหนึ่งนำมาขึงให้ตึงจากสะดือทะลุไปข้างหลัง อีกเส้นหนึ่งขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย ให้เส้นเชือกทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เหนือจุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ นี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ สำหรับท่านที่มาใหม่ให้รู้จักเอาไว้นะจ๊ะ ถ้าหากหลวงพ่อพูดถึงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ก็หมายเอาตรงจุดนี้นะ ที่เหนือจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ คือสมมติเราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน นำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้แหละเรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ 

 


                ให้เอาใจมาหยุดอยู่ที่ตรงนี้ ใจที่แวบไปแวบมานึกไปในเรื่องราวต่าง ๆ ที่ผ่านมาแล้วก็ดี ที่ยังมาไม่ถึงในอนาคตก็ดี เอามาหยุดเป็นจุดเดียวกันที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้นะจ๊ะ โดยกำหนดบริกรรมทั้ง ๒ ขึ้นมาในใจ คือสร้างมโนภาพขึ้นมาในใจว่าที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี้ มีดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตาให้กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจคือสร้างมโนภาพขึ้นมาว่าที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้มีดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว ไม่มีขีดไม่มีข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา 

 


                วิธีกําหนดบริกรรมนิมิตต้องนึกเบา ๆ นึกอย่างสบาย ๆ คล้ายกับเรานึกถึงน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัวหรือหยาดน้ำค้างที่ปลายยอดหญ้า ให้นึกถึงบริกรรมนิมิตด้วยวิธีการอย่างนั้น นึกเบา ๆ นึกอย่างสบาย ๆ นึกง่าย ๆ คล้าย ๆ กับเรานึกถึงน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัวหรือความใสของน้ำค้างที่ปลายยอดหญ้า ให้นึกคิดอย่างเบา ๆ อย่างนั้นนะจ๊ะ เรียกว่าบริกรรมนิมิต บริกรรมภาวนาให้ใช้ว่าสัมมาอะระหัง ๆ ๆ โดยให้เสียงของคำภาวนาที่เราภาวนาในใจน่ะ เป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน ดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของบริกรรมนิมิต ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้เสียงดังออกมาจาก ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ที่จุดกึ่งกลางของบริกรรมนิมิต ให้ภาวนาอย่างสม่ำเสมออย่าให้ช้าอย่าให้เร็ว กะให้พอดี ๆ ที่ทําให้ใจเราสบายน่ะ 

 


                เวลาเราภาวนาสัมมาอะระหัง ให้ภาวนาอย่างสบาย ๆ พร้อมกับนึกถึงภาพบริกรรมนิมิตคือดวงแก้วใส ๆ บริสุทธิ์ที่เรานึกอย่างสบาย ๆ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ถ้าหากว่าเราไม่เผลอจากบริกรรมทั้ง ๒ เมื่อเราภาวนาสัมมาอะระหัง ๆ ไปเรื่อย ๆ พร้อมกับนึกถึงภาพดวงแก้วใสบริสุทธิ์ไปด้วยน่ะ อย่างสบาย ๆ ใจเย็น ๆ ไม่ช้าใจก็จะหยุดนิ่ง ใจหยุดนิ่งไม่ฟุ้งซ่านไปคิดเรื่องอื่นเลย เรื่องบ้านเรื่องช่อง เรื่องการเรื่องงานน่ะ ละลายหายสูญหมด ใจของเราก็จะปลอดโปร่งว่างเปล่า ถ้าหากว่าเราไม่เผลอจากบริกรรมทั้ง ๒ ใจจะหยุดนิ่ง ปลอดโปร่งเบาสบาย

 


                พอหยุดถูกส่วนเข้าร่างกายก็จะปลอดโปร่งมากยิ่งขึ้น บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น โล่งเบาสบายมากยิ่งขึ้น ก็จะหล่นวูบเข้าไปสู่ภายใน บางคนก็ค่อย ๆ เคลื่อนเข้าไป บางคนก็วูบลงไปอย่างรวดเร็ว และก็มีดวงใสสวนขึ้นมา ดวงใสบริสุทธิ์ปรากฏเกิดขึ้นมาอย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ คือเล็กนิดเดียวคล้ายกับเราลืมตามองเห็นดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ลอยสวนขึ้นมา จะขนาดไหนก็ตามเรียกว่าดวงปฐมมรรค แปลว่าหนทางเบื้องต้นที่จะไปสู่อายตนนิพพาน 

 


                เราได้เบื้องต้นที่จะไปสู่อายตนนิพพานแล้ว ดวงปฐมมรรคที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ถ้าได้ปฐมมรรคแล้วก็เป็นเครื่องยืนยันว่า เราจะต้องได้บรรลุมรรคผลนิพพานอย่างแน่นอน เพราะว่าปฐมมรรคนี้เป็นมรรคเบื้องต้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกต้อง ที่ถูกทางไปของพระพุทธเจ้าของพระอรหันต์ ที่ถูกทางไปสู่อายตนนิพพาน เพราะฉะนั้นปฐมมรรคนี้จึงเป็นจุดที่สำคัญที่เราจะต้องฝึกฝนใจของเราให้หยุดให้นิ่งให้เข้าถึงให้ได้ เราจะปฏิบัติธรรมแบบไหนก็ตามทีเถอะ ถ้าปฏิบัติไปแล้วยังไม่พบปฐมมรรคคือดวงใสบริสุทธิ์ อย่างเล็กเท่ากับดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ หรืออย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน 

 


             ถ้าปฏิบัติแล้วยังไม่พบอย่างนี้จะวิธีไหนก็แล้วแต่ ก็ได้ชื่อว่าเรายังไม่พบหนทางไปสู่อายตนนิพพาน เรายังประมาทไม่ได้จะต้องฝึกเอาให้เข้าถึงให้ได้ตรงจุดนี้ จะภาวนาอะไรก็แล้วแต่ฝึกแล้วต้องให้ใจหยุดนิ่ง หยุดนิ่งเข้าถึงปฐมมรรคซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ที่เดียว ตรงนี้ที่เดียวเท่านั้นจึงจะถูกทางไปสู่อายตนนิพพาน ที่พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลายท่านเสด็จไปสู่อายตนนิพพานด้วยเส้นทางสายนี้ เพราะฉะนั้นทางสายนี้จึงเป็นสายเอก เป็นทางสายเอกสายเดียวเท่านั้นที่จะไปสู่อายตนนิพพาน 

 


                แต่วิธีที่จะเข้าถึงเส้นทางสายนี้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี้ พบปฐมมรรคนี้ มาได้หลายวิธี อย่างในวิสุทธิมรรคได้รวบรวมเอาไว้ถึง ๔๐ วิธี ให้ถูกกับจริตอัธยาศัยของชาวโลกทั้งหลาย เราจะเริ่มต้นมาจากทางไหนก็ได้ แต่ลงท้ายจะต้องเข้าถึงปฐมมรรค ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ที่เดียวเท่านั้น ๆ เพราะฉะนั้นหนทางไปสู่อายตนนิพพานนั้น ต้องเริ่มต้นด้วยปฐมมรรค มีอยู่หนทางเดียวเท่านั้น แต่วิธีการที่จะมาสู่ปฐมมรรคที่ฐานที่ ๗ นี้มาได้หลายวิธี ถ้าใครเข้าใจอย่างนี้แล้วก็จะไม่เกิดความวิตกกังวลในข้อวัตรปฏิบัติด้วยวิธีการต่าง ๆ แล้วใจของเราก็จะได้เบาสบาย นี่จะต้องจับหลักเส้นทางไปสู่อายตนนิพพานให้ได้

 


                ถ้าจับเส้นทางนี้ จับหลักอันนี้ให้ได้แล้วเป็นอันว่า ไว้วางใจได้ว่าการปฏิบัติธรรมนี้ เราได้ดำเนินอย่างถูกต้อง จากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี่จะมีเส้นแกนกลางจากจุดนี้ถึงอายตนนิพพานเลย เส้นแกนกลางในกลางนี้จะมีแต่ดวงธรรมต่าง ๆ กับกายต่าง ๆ ที่ซ้อนกันอยู่ตรงตลอดทีเดียว ดวงธรรมต่าง ๆ กายต่าง ๆ นั้นซ้อนกันอยู่ ตรงกันในเส้นทางที่เป็นแกนกลางตรงนี้ ถ้าเข้าช่องทางถูกจะเห็นเป็นแกนกลางลงไปทีเดียว ที่ว่าเห็นดวงธรรมต่าง ๆ นั้นเมื่อเราเอาใจวางถูกส่วนเข้าไปในกลางดวงปฐมมรรค ไม่ช้าปฐมมรรคนั้นจะขยายส่วนกว้างออกไป ขยายกว้างออกไปเอง คล้าย ๆ กับเราโยนก้อนหินลงไปในน้ำ จะขยายกว้างและจะมีดวงธรรมต่าง ๆ ผุดเกิดขึ้นมา ที่ว่าเห็นธรรมนั่นน่ะ 

 


               เห็นอย่างนี้ เพราะคำว่าธรรมน่ะ ธรรมะ แปลไว้หลายอย่างทีเดียว แต่ที่สำคัญคือแปลว่าความถูกต้องดีงามก็ได้ บริสุทธิ์ก็ได้ แต่ลักษณะแห่งความบริสุทธิ์นั้นเมื่อเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายนั้นจะรวมกันเป็นดวงกลม กลมเหมือนดวงแก้วอย่างนี้แหละ ใสบริสุทธิ์ นั่นแหละเค้าเรียกว่าดวงธรรม เป็นที่บังเกิดแห่งความรู้ทั้งหลาย ความรู้ทั้งหลายเนี่ยมันอยู่ในกลางนั้น แปลว่าทรงเอาไว้ก็ได้ ทรงรักษากายต่าง ๆ เอาไว้ให้คงอยู่ หรือทรงรักษาความดีเอาไว้ก็ได้ ทรงสัตว์ไม่ให้ตกไปในที่ชั่วก็ได้ ตกไปในอบายภูมิก็ได้ 
 

 


                นั่นแหละมีลักษณะกลมรอบตัว ใสบริสุทธิ์ ผุดเกิดขึ้นมาในกลางของกลางเมื่อใจหยุดนิ่งถูกส่วน ส่วนกายต่าง ๆ นั้นก็ได้แก่กายมนุษย์ละเอียดที่ซ้อนกันอยู่ กายมนุษย์ละเอียดหรือกายฝันที่เรานอนหลับแล้วฝันไปน่ะ เนี่ยกายมนุษย์ละเอียด หน้าตาเหมือนตัวเรานี่แหละ ท่านหญิงก็เหมือนกับท่านหญิง ท่านชายก็เหมือนกับท่านชาย อยู่ในกลางนั้น และในกลางกายมนุษย์ละเอียดก็มีอีกกายหนึ่งซ้อนอยู่ ที่สวยงามกว่าไปเรื่อย ๆ เราเรียกว่ากายทิพย์ ทิพย์แปลว่าละเอียด ละเอียดลงไปเรื่อย ๆ สวยงามมากขึ้น ซ้อน ๆ กันเข้าไป ในกลางกายทิพย์ก็มีกายที่ละเอียดกว่าสวยงามกว่าคือกายรูปพรหม 

 


                ในกลางกายรูปพรหมก็มีกายที่สวยงามกว่าน่ะ ซ้อนอยู่ภายในเรียกว่ากายอรูปพรหมกายหนึ่งซ้อนอยู่ เรียกว่ากายธรรมในกลางกายอรูปพรหมก็มีอีกกายธรรมหรือธรรมกายนะ ลักษณะคล้าย ๆ กับพระพุทธรูปอย่างนี้ แต่จริง ๆ แล้วสวยงามกว่ามากประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษงามไม่มีที่ติ เกตุดอกบัวตูม ใสบริสุทธิ์ ใสยิ่งกว่าเพชร จึงได้ชื่อว่าพุทธรัตนะใสบริสุทธิ์ทีเดียว ในกลางกายธรรมโคตรภูนั้นก็มีอีกกายหนึ่งที่ซ้อนกันอยู่เข้าไปเรื่อย ๆ คือกายธรรมพระโสดาบัน ในกลางกายธรรมพระโสดาบันก็มีอีกกายหนึ่งเรียกว่ากายธรรมพระสกิทาคามี ในกลางกายธรรมพระสกิทาคามีก็มีอีกกายหนึ่งคือกายธรรมพระอนาคามี ในกลางกายธรรมพระอนาคามีก็มีอีกกายหนึ่งคือกายธรรมพระอรหัต 

 


                กายธรรมพระอรหัตนั้นคือเป้าหมายของชีวิตของเรา เมื่อเข้าถึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวได้ กายธรรมอรหัตนั้นก็จะใสสะอาดบริสุทธิ์ ขจัดกิเลสอาสวะหมดสิ้นไป หมดสิ้นไปก็เข้าถึงความเป็นพระอรหันต์ นั่นแหละกายธรรมอรหัตคือกายที่สุด เป็นเป้าหมายชีวิตของมนุษย์ทุก ๆ คนในโลก กายต่าง ๆ เหล่านี้ มีอยู่ภายในตัวของเรา มีอยู่แล้ว ไม่ได้ไปทำให้มันมีเกิดขึ้น ถ้าเข้าไม่ถึงก็ไม่รู้จัก ถ้าเข้าถึงจึงจะรู้จักได้ เข้าถึงได้เราก็จะได้เข้าใจชีวิตของเราอีกมากมายก่ายกองทีเดียว อย่างน้อยเราก็จะพบว่ากายมนุษย์หยาบนี้แค่เป็นกายที่เราอาศัยชั่วคราวสร้างบารมีเท่านั้น สิ่งที่เนื่องจากกายมนุษย์หยาบ จะเป็นสมบัติพัสถานอะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นสิ่งที่อาศัยอยู่ชั่วคราวอาศัยกันอยู่ระหว่างที่เป็นมนุษย์นี้เท่านั้น 

 


                เมื่อกายมนุษย์หยาบแตกกายทำลายขันธ์ แตกกายทำลายขันธ์ไปแล้วธาตุต่าง ๆ ทรงตัวอยู่ไม่ได้ก็กระจัดกระจายออกไป กายมนุษย์ละเอียดซึ่งอาศัยกายมนุษย์หยาบอยู่ก็ต้องแสวงหาที่เกิดใหม่ การแสวงหาที่เกิดใหม่ก็ต้องอาศัยกำลังแห่งกรรมที่ทำอยู่ จะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายของกายมนุษย์ละเอียด เป็นเครื่องดึงดูดไปแสวงหาที่เกิดใหม่ในภพภูมิต่าง ๆ ชีวิตเป็นอย่างนี้โดยอาศัยกายต่าง ๆ ที่มีอยู่ เมื่อเข้าถึงไปตามกระแสแห่งความดีและความชั่วเหล่านั้นดึงดูดเข้าไปสู่ภพภูมิต่าง ๆ 

 


                แต่ถ้าหากว่าเราได้เข้าถึงกายธรรม ปฏิบัติจนกระทั่งเข้าถึงกายธรรม กรรมทั้งหลายที่ทำอยู่นั้นก็เป็นอโหสิกรรมตามกันไม่ทันทีเดียว จิตเกาะกายธรรมไป เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรม เมื่อถึงคราวหมดอายุขัย ขันธ์ห้าของกายมนุษย์หยาบแตกทำลายไปแล้ว กายธรรมก็ดึงดูดไปสู่ภพภูมินั้น ตามที่ตัวปรารถนา เพราะฉะนั้นกายธรรมนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ จะต้องปฏิบัติให้ได้ เป็นที่พึ่งและที่ระลึกของพวกเราทั้งหลายนี่เอง ให้ท่านทั้งหลายทำใจให้หยุดให้นิ่ง ให้เข้าถึงพระธรรมกายในตัวของเราให้ได้นะจ๊ะ ให้ใจหยุดนิ่งตรึกนึกถึงดวงใส หยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางความใส พร้อมกับภาวนาในใจ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ต่างคนต่างทํากันไปเงียบ ๆ นะจ๊ะ

 


                ต่อจากนี้ก็เอาใจหยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ใจของเราหยุดในหยุด ๆ นิ่งในนิ่งลงไป นิ่งลงไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นึกเบา ๆ วางเบา ๆ ทำความรู้สึกให้เบา ๆ สบาย ๆ ให้นิ่ง ๆ นึกเบา ๆ วางเบา ๆ เอาใจหยุดให้นิ่งทีเดียวนะจ๊ะ นึกเบา ๆ ทำความรู้สึกเบา ๆ สบาย ๆ ไปที่ศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ ท่านที่เข้าถึงปฐมมรรคแล้ว เห็นดวงใส บริสุทธิ์ก็เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใส บริสุทธิ์ที่ฐานที่ ๗ อย่างเบา ๆ สบาย ๆ ที่เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดก็หยุดไปที่กลางกายมนุษย์ละเอียดอย่างสบาย ๆ เข้าถึงกายทิพย์ก็เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายทิพย์

 


                เข้าถึงกายรูปพรหมก็เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายรูปพรหม เข้าถึงกายอรูปพรหม ก็เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายอรูปพรหม เข้าถึงกายธรรมก็เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายธรรม ให้ใจของเราหยุดให้นิ่ง หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง ให้ในบริสุทธิ์ที่เดียวนะจ๊ะทุก ๆ คน ใ ใจใส ใจสบาย วางเบา ๆ นึกเบา ๆ สบาย ๆ ธรรมะนี่เป็นของละเอียด ใจจะต้องละเอียดเท่ากับธรรมะถึงจะดูดเข้าหากันได้ ถ้าละเอียดน้อย ธรรมที่หยาบขึ้นมา ถ้าละเอียดมากธรรมที่ละเอียดมากขึ้นก็ขึ้นมาดึงดูดเข้าหากัน ใสบริสุทธิ์อยู่ภายใน 

 


                เครื่องไทยธรรมทั้งหลายน่ะ ให้ใสบริสุทธิ์ทับทวีไปเรื่อย แล้วก็กราบทูลพระพุทธเจ้าขอบุญขอบารมี ขอรัศมี กำลังฤทธิ์อำนาจสิทธิของพระพุทธเจ้าให้กับพวกเราทุก ๆ คน ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องไทยธรรมเหล่านี้ ให้ได้ผลบุญในปัจจุบันทันตาเห็น ให้กระแสธารแห่งบุญนั้นหลั่งไหลเข้ามาที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของทุก ๆ คน ติดไปหมดทุกกายเลย มีกี่กายก็ให้ติดให้หมด ให้ได้ผลบุญในปัจจุบัน กระแสธารแห่งบุญเมื่อหลั่งไหลมาสู่ศูนย์กลางกายน่ะให้ขจัดทุกข์โศกโรคภัยต่าง ๆ ให้ละลายหายสูญให้หมด ให้มีความสุขมีความเจริญ ร่างกายแข็งแรงอย่าเจ็บอย่าป่วยอย่าไข้ 

 


                ให้จิตใจเบิกบานผ่องใสเยือกเย็น ให้มีสายสมบัติได้บังเกิดขึ้น ได้สร้างบารมีไม่รู้จักหมดจักสิ้น ให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข พวกพร้องบริวารก็ให้ได้คนที่ซื่อสัตย์สุขจริต บริสุทธิ์กายวาจาใจให้เข้ามาใกล้ คนภัยคนพาลก็ให้ละลายหายสูญไป ให้ธุรกิจเจริญรุ่งเรืองทำมาค้าขึ้น อุปสรรคต่าง ๆ นานาให้ละลายหายสูญให้หมด ให้มีดวงตาเห็นธรรมด้วย ให้เข้าถึงพระธรรมกายและใครที่เค้าตั้งความปรารถนาอันใดก็ตามที่เป็นสิ่งที่ดีงาม ก็ให้สมความปรารถนาเป็นอัศจรรย์ทันตาเห็น คุณยายกุมบุญให้ติดให้หมดเลยทุก ๆ คน และตรึงให้ติดกับพระรัตนตรัย ให้ใจเป็นคนมีศีล มีธรรม มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะเป็นที่พึ่งที่ระลึก ให้เค้าเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน กราบทูลพระพุทธเจ้าไปหมด ให้คุมบุญให้ติดให้หมดเลย

 


                ทีนี้พวกเราที่เป็นเจ้าของบุญนั้นก็อธิษฐานจิตเอานะจ๊ะ อธิษฐานจิตเอาตามใจชอบหมดทุก ๆ คนในขณะที่กระแสธารแห่งบุญได้หลั่งไหลบังเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เราก็อธิษฐานจิตตั้งความปรารถนาของเรา เอาบุญนั้นเป็นธาตุสำเร็จ เมื่อเราได้ตั้งความปรารถนา กระแสธารแห่งบุญนั้นก็ค่อย ๆ ขยายออกไปเลยน่ะ ให้ได้ในสิ่งที่เราปรารถนานั้น ปรารถนาอะไร กระแสธารแห่งบุญก็ดลบันดาลให้เกิดขึ้นเลย มันก็เป็นภาพพรีบเกิดขึ้นเลย เป็นผังสำเร็จติดไปในกลางกายนั้นน่ะ อย่างเช่นสมมติว่าเราต้องการให้ธุรกิจเจริญรุ่งเรือง ไอ้ที่มันยังไม่เจริญรุ่งเรืองเพราะว่ากระแสแห่งบาปมันติดมันบังคับอยู่ หุ้มเคลือบเอิบอาบซึมซาบปนเป็นบังคับอยู่ที่กลางกายน่ะ บังคับหมดเลย ดำมืดสนิทเลย กัณหธรรม ธรรมอันดำนั้นบังคับหมด 

 


                บังคับทั้งธาตุธรรมเห็นจำคิดรู้ บังคับหมดเลย ในเห็นใจจำในคิดในรู้หุ้มหมด หุ้มเคลือบเอิบอาบซึมซาบปูนเป็นหมด บังคับหมด ธาตุดินน้ำลมไฟวิญญาณอากาศ บังคับหมดเลย บังคับตั้งแต่ข้างในออกมาข้างนอก สิ่งแวดล้อมบังคับหมด เพราะฉะนั้นทำอะไรมันก็ขลุกขลัก ขลุกขลักมาตั้งแต่ในใจน่ะ คิดอะไรไม่สมปรารถนา คิดก็อัดอั้นตันปัญญาหรือคิดผิดทาง กะเกร็งคาดคะเนอะไรต่าง ๆ ผิด ดูไอ้คนนี้ว่ามันชื่อดีน่ะ ไอ้ความเห็นก็แปรปรวนไป จริงๆ แล้วมันไม่ซื่ออย่างนั้น ดูเห็นว่าธุรกิจนี้จะไปได้ดีน่ะ แต่กระแสแห่งบาปภายในก็บังคับบดบังเรา บังคับให้เห็นไปอีกอย่างหนึ่งตรงกันข้ามกันไป มันบังคับมาจากข้างในนะ  

 


                เพราะฉะนั้นความสำเร็จจึงยังไม่เกิดขึ้น ทีนี้กระแสบุญที่เราทำเนี่ย พอใจเราเป็นบุญเข้า มันเหมือนเรากดสวิตช์ไฟฟ้านั่นน่ะ พอไฟสว่างความมืดมันก็หมดไป มีความสว่างเกิดขึ้น ลักษณะคล้าย ๆ กันอย่างนั้นน่ะ พอใจเราเป็นบุญเกิดขึ้นในกลางกาย ให้ทานก็ดี รักษาศีลก็ดี เจริญภาวนาก็ดี พอความสว่างเกิดขึ้นนะ กระแสแห่งบาปก็หมดไปเลย แวบเดียวหมดไป ก็ทำให้ธาตุธรรม ดิน น้ำ ลม ไฟ วิญญาณ อากาศธาตุในตัวเรา เห็นจำคิดรู้สะอาดบริสุทธิ์หมด สิ่งแวดล้อมดีไปหมดเลย พอกระแสภายในสะอาดบริสุทธิ์ สว่างไสว มันก็ดึงดูดสิ่งที่ดี ๆ เข้ามาหาตัวเรา เราจะสังเกตได้ว่าจิตใจเราจะเบิกบานเบาสบาย ไม่เซ็ง ไม่เครียด ไม่เบื่อ ไม่กลุ่ม ไม่วิตกไม่กังวล และความคิดอ่านที่ดี ๆ ก็เกิดขึ้น เป็นความคิดที่ถูกต้องแจ่มใสมองทะลุปรุโปร่ง ร่างกายก็แข็งแรง

 


                ผิวพรรณวรรณะก็ผ่องใส ก็จะดึงดูดคนดี ๆ เข้ามาใกล้ พวกพร้องบริวารญาติสนิทมิตรสหาย คนดี ๆ ที่ซื่อสัตย์สุจริตบริสุทธิ์กายวาจาใจ มีความรู้ความสามารถดีเนี่ย เข้ามาช่วยเหลือ แล้วก็จะดึงดูดโภคทรัพย์ด้วย สายสมบัติเกิดขึ้น ดึงดูดเหตุการณ์ที่ดี ๆ เกิดขึ้นน่ะเข้ามาสู่ตัวเรา ความสำเร็จมันก็เกิดขึ้นมา เพราะฉะนั้นบุญนี่แหละเป็นคุณเครื่องแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิต มันเกิดขึ้นมาจากภายในก่อน เมื่อเราประกอบเหตุได้ดี ผลออกมามันก็จะดีด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเราจะประสบทุกข์โศกโรคภัยพิบัติตอนไหนก็ดี อย่าหวั่นไหว ให้ใจเราปักมั่นไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ระลึกนึกถึงพระรัตนตรัย พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ 

 


                แล้วก็นึกถึงผลบุญคือผลแห่งความดีของเราที่เราได้สร้างเอาไว้ สั่งสมอบรมมานับภพนับชาติไม่ถ้วน พอใจเรามั่นแน่วแน่ ไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลนทีเดียว พระรัตนตรัยที่สิงสถิตเข้ามาสู่ภายในเรา กระแสธารแห่งบุญก็เปิดคลื่นใช้ ดึงดูดสิ่งที่ดี ๆ มาหา ฉุดเราให้พ้นจากทุกข์โศกโรคภัยต่าง ๆ ไปได้ นี่หลักของชีวิตก็มีอย่างนี้นะจ๊ะ เมื่อเราเข้าใจกันอย่างนี้แล้ว ต่อจากนี้ไปเนี่ยอย่าได้หวั่นไหวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จงเอาใจให้หยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรึกระลึกนึกถึงบุญกุศลแล้วตั้งจิตอธิษฐานตามใจชอบทุก ๆ คนเลยนะจ๊ะ  

 

 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.039754736423492 Mins