สติกับสบาย

วันที่ 21 เมย. พ.ศ.2567

210467b.01.jpg
สติกับสบาย
กฐิน ๒๕๓๖
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)


                ต่อจากนี้ไปขอให้ทุกคน ตั้งใจเจริญ สมาธิ ภาวนากันนะจ๊ะ ให้น้อมใจตามเสียงของหลวงพ่อไปทุก ๆ คนนะจ๊ะ ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ นะจ๊ะ หลับตาของเราเบา ๆ หลับพอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับพอสบาย ๆ นะจ๊ะ ทุก ๆ คน ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก เราจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย ขยับกันให้ดีนะจ๊ะ ทุก ๆ คน กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก ความสบายนี้เป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรมทีเดียว 

 


                สติกับสบายจะต้องไปคู่กัน ไม่ว่าเราจะปฏิบัติธรรมด้วยวิธีการอย่างไรก็ตาม จะปฏิบัติแบบไหนก็ตาม  หลักก็มีอยู่ว่าจะต้องให้สติกับสบาย ไปคู่กัน อย่าให้แยกจากกัน สองอย่างนี้จำไว้ให้ดีนะจ๊ะ สติจะต้องระลึกนึกถึงสิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำสั่งสอน ถ้าของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่านก็แนะให้กำหนดบริกรรมนิมิตเป็นดวงใส กับบริกรรมภาวนาสัมมา อะระหัง จะต้องไม่เผลอ จากบริกรรมทั้งสอง อย่างนี้เรียกว่ามีสติ แต่ นี่สำคัญนะจ๊ะ อย่าฟังผ่านกันนะ สติกับสบายทั้งสองจะต้องไปคู่กันตลอดเส้นทาง ตั้งแต่เบื้องต้น จนกระทั่งถึงที่หมายปลายทางที่เดียว ถ้าไปด้วยกันเมื่อไหร่ จะทำให้ใจของเราหยุดนิ่งได้ง่าย ถ้าไปคู่กันเมื่อไหร่ จะทำให้ใจเราหยุดนิ่งได้ง่าย แล้วหลังจากใจหยุดแล้วก็จะเข้าถึงดวงธรรมภายใน หลักก็มีอยู่อย่างนี้นะจ๊ะ 

 


                เพราะฉะนั้นสติกับสบายเนี่ยจะต้อง ให้คู่กันอย่างสม่ำเสมอ ทำอารมณ์ของเราให้สม่ำเสมอ ด้วยใจที่ใส ใจที่เยือกเย็น อย่านั่งแบบขุ่นมัว เร่งร้อน เร่าร้อน อย่างนั้นหรือนั่งแบบอึดอัด อย่างนี้ก็ไม่ได้ผล จะต้องทำอารมณ์ให้สบาย ๆ อารมณ์สบายนั้นของใครของมันนะจ๊ะ เพราะฉะนั้นในตอนนี้ สำหรับท่านที่มาใหม่ ให้ขยับเนื้อขยับตัวกันให้ดี โดยเฉพาะท่านั่งที่แนะไปเมื่อสักครู่นี้ เป็นท่านั่งมาตรฐานของการปฏิบัติธรรม ซึ่งหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านถอดแบบออกมาจากผู้รู้ภายใน ผู้รู้ก็คือพระธรรมกายภายในนั่นเอง 

 


                พระธรรมกายภายในท่านเป็นผู้ที่รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอด ในธรรมทั้งหลายเนี่ย ท่านมีปกติ นั่งอย่างนี้คือนั่งขัดสมาธิเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย โดยเฉพาะนิ้วชี้ของมือข้างขวา สำคัญตรงนี้นะจ๊ะ จรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย แล้วดึงฝ่ามือทั้งสองให้ชิดติดลำตัวได้ กายจะตรงทีเดียว กายจะตั้งตรงทีเดียว มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย ชิดติดลำตัวจะทำให้กายนี้ตรง นี่คือท่านั่งที่มาตรฐาน เป็นท่านั่งที่สมบูรณ์ หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ถอดแบบออกมาจากพระธรรมกายในตัว เมื่อวันที่ท่านได้บรรลุธรรม แล้วก็แนะนำสั่งสอนสืบทอดกันมาจนกระทั่งบัดนี้ เป็นท่านั่งที่เราควรจะศึกษาเอาไว้ให้ดี แต่ในแง่ของการปฏิบัติจริง ๆ ที่บ้านนะจ๊ะ หลวงพ่อขอพูดเลยไปที่บ้าน เราจะนั่งท่าไหนก็ได้ ให้อยู่ในอริยาบถที่สบาย ท่านั่งพิงข้างฝาก็ได้ นั่งห้อยเท้า นั่งพับเพียบ หรืออะไรก็แล้วแต่ ให้มีความรู้สึกว่าร่างกายสบาย เราจะนั่งอย่างนั้นก็ได้ แล้วก็กำหนดสติกับสบายคู่กัน 

 


                แต่ว่าท่านั่งมาตรฐานนี้ ต้องศึกษาเอาไว้ให้ดีนะจ๊ะ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย โดยเฉพาะนิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางชิดติดกายติดลำตัว กายจะตรงเองขึ้นมา แล้วก็ให้ทำความรู้สึกให้มันสบาย ๆ สำรวจตรวจตราว่ามีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเราเกร็งไหม สังเกตดูให้ตรวจตราให้ดี เมื่อร่างกายอยู่ในท่าที่ถูกส่วนแล้ว ต่อจากนี้ก็ปรับใจของเราให้มันสบาย ๆ ใจจะสบายได้นะมีวิธีคิดในเรื่องสบายเนี่ย อยู่หลายวิธี อันที่จริงพระพุทธเจ้าท่านแนะนำสั่งสอนมีอยู่ถึง ๑๐ วิธีทีเดียว เรียกว่า อนุสติ ๑๐ ตั้งแต่ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติอย่างนั้นเป็นต้น เรื่อยมาเลย คือถ้าใจคิดอย่างงั้นแล้วจะมีความรู้สึกว่ามันสบาย อารมณ์สบาย ปลอดโปร่ง นั่นเป็นวิธีการหนึ่ง 

 


                บางท่านอาจจะนึกถึงธรรมชาติ ทำให้อารมณ์รู้สึกสบายปลอดโปร่ง มีอารมณ์ที่อยากจะนั่งทำภาวนา อยากจะทำใจให้หยุด ให้นิ่ง อย่างนี้ก็มี แต่วิธีลัดที่สุดก็คือ ทำใจให้ว่าง ๆ ให้นิ่ง ๆ ให้เฉย ๆ ทำตัวประหนึ่งว่า เราอยู่คนเดียวในโลก ไม่มีพันธะผูกพันกับเรื่องใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาเล่าเรียน เรื่องครอบครัว เรื่องธุรกิจการงาน หรือ เรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ทำเป็นเหมือนว่าเราอยู่คนเดียวในโลกจริง ๆ มีเราอยู่คนเดียว หรือจะสมมติตัวของเราอยู่ในกลางอวกาศโล่ง ๆ ซึ่งจะทำให้เรานึกได้ง่ายว่ามีตัวเราอยู่ในกลางอวกาศโล่ง ๆ คนเดียวจริงๆ ไม่มีสรรพสัตว์สรรพสิ่ง คน สัตว์ สิ่งของไม่มี อย่างงี้เป็นทางลัด ทางลัดที่จะทำให้ใจเราปลอดโปร่ง สบาย

 


                คำว่าสบายของหลวงพ่อในที่นี้ สบายเบื้องต้น ก็คือ เฉย ๆ ภาษาธรรมะเข้าเรียกว่า อทุกขมสุขะ จะว่าสุขก็ไม่เชิง ทุกข์ก็ไม่ใช่ มันอยู่ในสภาพที่เฉย ๆ อยู่ในเบื้องต้น ทำใจให้ว่าง ๆ ว่างเหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเอาไว้ ให้มองเห็นโลกนี้ให้ว่างเปล่าไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีสิ่งของว่างหมด ใจว่าง ๆ นิ่ง ๆ นี่คือ ความหมายของคำว่าสบายของหลวงพ่อในเบื้องต้นนะจ๊ะ แล้วเราก็อาศัยจุดนี้แหละ จุดที่รักษาใจที่เป็นกลาง ๆ ว่าง ๆ โล่ง ๆ นิ่ง ๆ เฉย ถ้าเรารักษาอารมณ์นี้ให้สม่ำเสมอด้วยใจที่เยือกเย็น ไม่เร่งร้อนไม่เร่งรีบ ประคองอารมณ์นี้ต่อไปเรื่อย ๆ ในตำแหน่งที่ใจเราตั้งมั่นแล้ว รู้สึกว่าสบาย ปลอดโปร่ง มีความรู้สึกพึงพอใจกับอารมณ์ชนิดนี้ ความรู้สึกชนิดนี้ ไม่ช้าเราจะเข้าถึงจุดแห่งความสบายที่แท้จริง ซึ่งจะมีความรู้สึกที่แตกต่างจากคำว่า สบายในเบื้องต้นของหลวงพ่อ 

 


                เพราะงั้นคำว่า สบายคำเดียว แต่ปริมาณแห่งความสบายนั้นจะไม่เท่ากัน ตั้งแต่สบายในระดับมีปริมาณน้อยจนกระทั่งมีปริมาณเพิ่มพูนขึ้นนะจ๊ะ ดังนั้นตอนนี้เราแสวงหาอารมณ์สบายกันเสียก่อน โดยการทำใจให้ว่าง ๆ นิ่ง ๆ โล่ง ๆ เฉย ๆ เหมือนอยู่กลางอวกาศนะจ๊ะทุก ๆ คน อารมณ์สบายของเรา จะต้องทำให้มันบังเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนี้เลย ทำให้สบาย ๆ เมื่ออารมณ์เราสบายและมีสติ เดี๋ยวเราคอยดูนะจ๊ะ สิ่งที่เราเคยคิดว่ามันยาก มันจะกลายเป็นของง่ายสำหรับเรา ธรรมะเราเคยได้ยินได้ฟัง เป็นของที่ลึกซึ้ง ยากต่อการเข้าถึง เราได้ยินได้ฟังมาว่า จะต้องใช้ความเพียรกันอย่างมากมายก่ายกองกันทีเดียว ทำความเพียรกันอย่างอุกฤต ต้องไปอยู่ในสถานที่ ๆ แตกต่างจากบ้านเรือน จากบ้านของเรา แล้วถึงจะเข้าถึง นั่นคือสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังกันมา แต่เดี๋ยวนี้นี่เราจับหลักกันได้แล้ว เราจะได้ยินสิ่งที่แปลกออกไป นั่นก็คือ ธรรมะแม้เป็นของลึกซึ้ง แต่ก็จะเข้าถึงได้อย่างง่าย ๆ ด้วยวิธีการง่าย ๆ โดยการกำหนดสติกับสบาย 

 


                เพราะฉะนั้นเดี๋ยวดูอานิสงส์แห่งความสบายนะจ๊ะ ที่เรารักษาความสบายกันทั้งวันโดยเฉพาะในตอนนี้เนี่ย เดี๋ยวจะมีอานิสงส์ใหญ่ คือเราจะเข้าถึงธรรมนั้นได้อย่างง่าย ๆ คำว่าธรรมะ แปลว่า ความถูกต้องดีงาม แปลว่าความบริสุทธิ์ก็ได้ แปลได้หลายอย่างทีเดียว ในพระไตรปิฎก มีผู้รวบรวมคำว่า ธรรมะ ได้ถึง ๕๐ คำทีเดียว แต่ส่วนใหญ่มักจะมาลงคำว่า ธรรมะ ว่าเป็นความสะอาดเป็นความบริสุทธิ์ เป็นความถูกต้องดีงาม บางตอนในพระไตรปิฎก กล่าวถึงลักษณะทีเดียวว่า ธรรมะมีลักษณะเป็นดวงกลม ๆ ใส ๆ บางท่านได้กล่าวถึง ธรรมะก็คือ ธรรมกาย เป็นองค์พระใส ๆ ใสเหมือนเพชรทีเดียว ตั้งอยู่ภายในกายของเรา เมื่อใจเราสบาย ใจเราก็จะหยุดนิ่งได้อย่างง่าย พอหยุดนิ่งแล้วเราก็จะเข้าถึงธรรมอย่างนี้แหละ 

 


                หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านค้นพบไป เจอดวงธรรมภายใน ซึ่งตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ธรรมเบื้องต้นนั้นจะเป็นดวงใส บริสุทธิ์ กลมรอบตัว อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญอย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน และท่านก็ค้นพบว่าเมื่อใจหยุดนิ่งอย่างสบาย ๆ ที่กลางดวงธรรมนั้น ไม่ช้าก็จะเข้าถึงกายภายในต่าง ๆ ที่ซ้อนกันอยู่ ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เข้าไป กายมนุษย์ละเอียดซ้อนอยู่ในกายมนุษย์หยาบ กายทิพย์ซ่อนอยู่ในกลางกาย กายมนุษย์ละเอียด กายรูปพรหมซ้อนอยู่ในกลางกายทิพย์ กายอรูปพรหมซ้อนอยู่ในกลางกายรูปพรหม กายธรรมซ้อนอยู่ในกลางกายอรูปพรหม ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ อย่างนี้เข้าไปตามลำดับ 

 


                กายทั้งหมดเหล่านี้เนี่ย มีอยู่แล้ว ภายในซ้อนกันอยู่เป็นชั้น ๆ เข้าไปไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราสร้าง หรือสมมุติกันเกิดขึ้นมา ธรรมทั้งหลายเหล่านี้มีมาแต่เดิมแล้ว ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราสมมุติให้มันเกิดขึ้น เมื่อไหร่เราทำใจของเราให้หยุดให้นิ่งเฉย ๆ อย่างสบาย ๆ และต่อเนื่อง เมื่อใจเราหยุดนิ่งเราก็จะเห็นอย่างนี้แหละ เห็นเป็นชั้น ๆ ซ้อน ๆ กันไป ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามในโลก จะเป็นชาติไหน ภาษาไหน คำพูดที่แตกต่างกันอย่างไรก็ตาม มีความเป็นอยู่แตกต่างกัน แต่ภายในนั้นจะต้องเป็นอย่างนี้ จะซ้อน ๆ เข้าไปเป็นชั้น ๆ เข้าไปเรื่อย ๆ ธรรมะทั้งหมดนี้มีอยู่แล้วไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราไปทำให้มันมี เมื่อใจของเราหยุดไปถึงไหน มีความละเอียดเท่าเทียมกับสิ่งที่มีอยู่ภายในนั้นแล้ว

 


                เราก็จะเห็นสิ่งนั้นปรากฏขึ้น เช่น เมื่อใจของเราหยุดนิ่งที่กลางกายมีความละเอียดเท่ากับปฐมมรรคภายใน พอเราละเอียดเท่ากันเดี๋ยวเราก็เห็นดวงปฐมมรรค ผุดเกิดขึ้นเองในกลางนั้น เป็นดวงใส ๆ ทีเดียว ใสเกินใส ใสเบื้องต้นใสเหมือนน้ำ เหมือนกระจก เหมือนน้ำแข็ง เหมือนเพชร แล้วในที่สุดก็ใสเกินใส เกินกว่าความใสใด ๆ ในโลกมาเทียบได้ ใสเกินใสทีเดียว แล้วเป็นความสุขอย่างหนึ่ง เมื่อใจเรามองเห็นความใสที่บังเกิดขึ้นภายใน อารมณ์โล่งโปร่ง เบาสบายจะบังเกิดขึ้น ถ้าใจเราละเอียดมากกว่านี้เนี่ยคือ หยุดนิ่งเฉย ๆ อยู่กลางดวงธรรมนี้ เดี๋ยวใจก็จะแล่นไปสู่ภายในเอง เดี๋ยวใจก็จะแล่นไปสู่ภายในเอง แล้วเราก็จะเห็น เห็นธรรมที่บังเกิดขึ้นมาใหม่ เช่นเข้าไปถึงกายมนุษย์ละเอียด 

 


                ถ้าเรามีความละเอียดเท่ากับกายมนุษย์ละเอียด เราก็จะเห็นกายมนุษย์ละเอียดปรากฏเกิดขึ้นมาลักษณะเหมือนกับตัวของเราทีเดียว ท่านหญิงก็เหมือนกับท่านหญิง ท่านชายก็เหมือนกับท่านชาย เหมือนตัวของเรา นั่งขัดสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเรา ถ้าเรามีความละเอียดเท่ากับกายทิพย์ เราก็จะเห็นกายทิพย์บังเกิดขึ้นในกลางนั้น ถ้าเรามีความละเอียดเท่ากับกายรูปพรหม เราก็จะเห็นกายรูปพรหมบังเกิดขึ้น ถ้าเรามีความละเอียดเท่ากับกายอรูปพรหม เราก็จะเห็นกายอรูปพรหมบังเกิดขึ้น ถ้าเรามีความละเอียดเท่ากับกายธรรม เดี๋ยวเราก็จะเห็นกายธรรมบังเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเรานะจ๊ะ มีเพียงทำใจของเราให้หยุดให้นิ่งให้เฉย ๆ อย่างสบาย ๆ ด้วยใจที่ใส ที่เยือกเย็น ให้อารมณ์สม่ำเสมอ ต่อเนื่องกันไป ไม่ช้าเราก็จะเข้าถึงอย่างนี้แหละ เพราะฉะนั้นวันนี้ มาฝึกใจให้หยุดนิ่งกัน ด้วยสติ ด้วยการกำหนดสติและสบายกันนะจ๊ะ

 


                สำหรับท่านที่มาใหม่ ขอให้ทำความรู้จักกับฐานที่ตั้งของใจเสียก่อน ฐานที่ตั้งของใจ หรือทางเดินของใจนั้น มีทั้งหมด ๗ ฐาน ฐานที่ ๑ อยู่ที่ช่องปากจมูก ท่านหญิงอยู่ข้างซ้าย ท่านชายอยู่ข้างขวา ฐานที่ ๒ ที่เพลาตาตรงหัวตาที่น้ำตาไหล ฐานที่ ๓ อยู่ที่กลางกั๊กศีรษะ ฐานที่ ๔ อยู่ที่เพดานปากช่องปากที่อาหารสำลักฐานที่ ๕ อยู่ที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๖ อยู่ในกลางท้องในระดับเดียวกับสะดือของเรา สมมุติว่าเราขึงเส้นด้ายจากสะดือทะลุไปข้างหลัง จากข้างขวาทะลุไปด้านซ้าย เส้นด้ายทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม ตรงนี้เรียกว่าฐานที่ ๖ ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่าฐานที่ ๗ เป็นที่ตั้งของใจของเราอย่างแท้จริง จาก ๑ ถึง ๖ เป็นทางเดินของใจ 

 


                แต่ฐานที่ตั้งของใจนั้นมีอยู่ที่เดียว ตรงฐานที่ ๗ คือตำแหน่งที่เรายกถอยหลังขึ้นมาจากฐานที่ ๖ สองนิ้วมือนะจ๊ะ สองนิ้วมือ สมมุติเราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกันแล้วนำไปทาบตรงนั้นนะ ตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสอง ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้แหละเรียกว่าฐานที่ ๗ เป็นฐานที่ตั้งใจที่แท้จริงของเรานะจ๊ะ หลวงพ่ออยากจะย้ำคำว่า เป็นฐานที่ตั้งใจของเราอย่างแท้จริงนะจ๊ะ เราจะต้องเอาใจของเรามาหยุดนิ่งที่ตรงนี้ ตรงฐานที่ ๗ นี้นะจ๊ะ สำหรับท่านที่มาใหม่ ตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้นะหยุดอยู่ตลอดเวลาเลย คำว่าตลอดเวลาก็หมายถึง ๒๔ น.นะ คือตั้งแต่ตื่นนอนกระทั่งเข้านอนเลย ในอิริยาบถทั้งสี่ จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน ใจเราต้องมาอยู่ตรงปฐมมรรคนี้ 

 


                เพราะตรงนี้เป็นฐานที่ตั้งใจอย่างแท้จริงของเรา ไม่ใช่ที่อื่นนะจ๊ะ เหตุผลก็คือตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้ หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านค้นพบว่า เมื่อเอาใจของเรามาหยุดอยู่ที่ตรงนี้อย่างสบาย ๆ และต่อเนื่อง จะเข้าถึงดวงธรรมดังกล่าวที่หลวงพ่อกล่าวไว้เบื้องต้นจะพบกายภายในที่ซ้อน ๆ กันอยู่ และจะเข้าถึงธรรมกาย ซึ่งเป็นกายที่สำคัญที่สุด อยู่ในกลางนั้น ถ้าเอาใจไปตั้งไว้ที่อื่น จะไม่พบเด็ดขาด แต่ถ้าเอาใจมาหยุดมานิ่ง อย่างสบาย ๆ สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง อย่างนี้นะจ๊ะ จะเข้าถึงดวงธรรม เข้าถึงกายภายใน และเข้าถึงธรรมกาย นี่หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านค้นพบมาอย่างนี้ ตรงนี้เป็นทางสายกลางภายใน เป็นทางสายกลางภายใน ในระดับลึก ลึกกว่าความเข้าใจทางสายกลางที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันมา ทางสายกลางในระดับพื้นผิวเราพอจะเข้าใจ แต่ใน ระดับที่ลึกลงไปกว่านี้ จนกระทั่งสามารถนำมาปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึงกายแห่งการตรัสรู้ธรรมได้นั้น มีอยู่เส้นทางเดียวเท่านั้น คืออยู่ตรงที่เอาใจของเรามาวางไว้ที่ฐานที่ ๗ ตรงนี้นะจ๊ะ

 


                เพราะฉะนั้นตรงนี้สำคัญทีเดียว ลืมอะไรก็ลืมไปเถอะ ลืมได้ แต่อย่าลืมศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นะจ๊ะ ตรงนี้นอกจากเป็นทางเสด็จไปสู่พระนิพพานของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลายแล้ว ยังเป็นที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ ที่ตื่น อีก แต่ที่สำคัญคือทางเสด็จไปสู่อายตนะนิพพาน ของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ทั้งหลาย เรามาเกิดกันชาติหนึ่ง ได้ยินแค่นี้ต้องถือว่าเรามีบุญมากแล้ว ต้องถือว่ามีบุญมากที่สุด เพราะว่าชีวิตของมนุษย์ทุก ๆ คนในโลกไม่ว่าชาติไหน ภาษาไหนก็ตามเป้าหมายชีวิตที่แท้จริงนั้นก็คือ ต้องการให้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง ความสุขที่ไม่มีความทุกข์เจือปนเลย ที่เขาเรียกว่า เอกันตบรมสุข คือสุขอย่างเดียว เป็นบรมสุขด้วยไม่ใช่สุขธรรมดาเป้าหมายนั้นมีความปรารถนาตรงกันทุกคนเลย ต้องการเข้าถึงเอกันตบรมสุข สุขที่แท้จริงที่ไม่มีความทุกข์เจือเลย

 


                 เพราะฉะนั้นเมื่อเราทราบวิธีการที่จะเข้าถึงอย่างนี้แล้ว ต้องถือว่าเราเกิดมาชาตินี้ มีบุญอย่างมหาศาล ที่เราทราบว่าหนทางที่จะเข้าถึงเอกันตบรมสุข หรืออายตนะนิพพานนั้น มีอยู่ทางเดียวในกลางกายของเรา โดยเริ่มต้นนำใจมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้อย่างนี้ แค่นี้เท่านั้น ได้ยินอย่างนี้ต้องถือว่าเป็นผู้มีบุญมาก สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าของเรายังเป็นพระบรมโพธิสัตว์อยู่แสวงหาโมกขธรรม คือคำสอนที่จะแนะนำให้หลุดพ้นจากกิเลสจากอาสวะจากความทุกข์ทั้งหลายได้ ท่านตั้งปณิธานเอาไว้ในใจทีเดียว ตั้งใจไว้ทีเดียวว่าใครมาแนะนำให้เรารู้วิธีการว่าทำอย่างไร ถึงจะถึงความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งหลายได้ จะสละชีวิตให้กับบุคคลที่แนะนำคำสอนนั้นเลย ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นมนุษย์ หรือว่าอมนุษย์ หรือจะเป็นใครก็ตาม แล้วท่านแสวงหาอย่างนี้มาตลอด ระยะของการเวียนว่ายตายเกิด มีบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกหลาย ๆ ตอนทีเดียว ที่ได้กล่าวถึงว่าท่านสละชีวิต เพียงแต่ได้ยินคำว่าเทวธรรมคำสอนอย่างไร ที่จะทำให้ตายแล้วเป็นเทวดา หรือเป็นเทวดาตั้งแต่เป็นมนุษย์นะ แค่เทวธรรมนะจ๊ะ ท่านยังยอมกระโดดจากภูเขาบูชาคำสอนนี้กับบุคคลที่บอก สละชีวิตกันทีเดียว 

 


                แต่เทวธรรม แค่ว่าวิธีการทำให้เป็นเทวดาเป็นอย่างไร ทั้ง ๆ ที่ซึ่งเราได้ศึกษามาแล้ว เทวดายังไม่พ้นจากทุกข์ทั้งมวลทุกข์ทั้งปวง ยังไม่พ้นทุกข์ แค่มีความสุขดีกว่ามนุษย์ไปได้หน่อยหนึ่ง เท่านั้นเอง แต่มีคำสอนที่หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญท่านค้นพบ วิธีการที่จะเข้าถึงนอกจากเทวธรรมแล้ว ยังเรื่อยไปเลยเนี่ย จนกระทั่งถึงกายธรรมโน่น กายธรรมกายที่ตรัสรู้ที่หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงอย่างแท้จริง เป็นตัวตนอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นใครได้ยินได้ฟังแค่หนทางที่จะไปสู่อายตนะนิพพานนั้น เริ่มต้นจากที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ โดยท่านสอนให้เอาใจหยุดนิ่งเฉย ๆ อยู่ที่ตรงนี้เนี่ย และแถมสำทับซ้ำไปอีก หยุดเป็นตัวสำเร็จ ถ้าไม่หยุดแล้วไม่มีทางสำเร็จเด็ดขาด หยุดเป็นตัวสำเร็จ ต้องทำใจให้มาหยุดนิ่งที่ตรงนี้อย่างสบาย ๆ ให้มีสติกับสบาย อยู่ตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้เนี่ย ก็จะเข้าถึงธรรมดังกล่าว เพราะฉะนั้นพวกเราทุกท่านนะจ๊ะ เป็นผู้มีบุญมาก เราอาจจะไม่รู้ตัวว่าเราเป็นผู้มีบุญที่สั่งสมบุญมามากมากพอที่จะได้ยินได้ฟังถ้อยคำนี้ และก็มากพอที่จะเข้าถึงธรรมที่หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญท่านเข้าถึงได้ ด้วยวิธีการอย่างนี้ 

 


                เพราะฉะนั้นต่อจากนี้ไปให้พวกเราทุกคน ตั้งใจฝึกใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ นะจ๊ะ โดยเราอาจจะทำใจให้หยุดนิ่งเฉย ๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ฐานที่ ๗ ที่อยู่กลางกายนะฐานที่ ๗ ซึ่งเมื่อเรานึกว่าเอาใจเรามาอยู่ในกลางท้องแล้ว เรามีความมั่นใจว่าตรงนี้คือ ฐานที่ ๗ ตรงนั้นแหละคือ ฐานที่ ๗ ตรงตำแหน่งที่ใจเราสบาย มีความรู้สึกว่าสบาย ไม่มีเกร็ง ไม่มีว่าเอาลูกนัยน์ตากดลงไปดู ตรงนั้นแหละฐานที่ ๗ให้เอาใจหยุดอยู่ตรงนี้นะจ๊ะ และมันมีเทคนิคอยู่ที่ว่า อย่ากังวลกับฐานที่ ๗ มากเกินไป อย่ากังวลนะจ๊ะ หรือบางท่านทราบว่าฐานที่ ๗ นี้เนี่ยเป็นตำแหน่งที่ตั้งใจของเราอย่างแท้จริง แล้วเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเลยเป็นหนทางไปสู่อายตนะนิพพาน อาจจะตั้งใจมากเกินไป และก็กังวลจนเกินเหตุ ว่าใจของเราเนี่ยมาอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗จริงหรือเปล่า ตรงไหนศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นะ ก็เลยไปมัวควานหากัน พอควานหาก็เลยเสียเวลาควานหากันและบางทีพลอยทำให้เวลาปฏิบัติจริง ๆ เราเอาลูกนัยน์ตากดลงไปดู หรือชะโงกมองกดลงไปเนี่ย อย่างนี้ผิดวิธีนะจ๊ะ 

 


                วิธีที่ถูกต้องก็คือเราเป็นแต่เพียงนึกเบา ๆ ด้วยความมั่นใจว่า ตรงที่ใจเรานึกอยู่ตรงกลางท้องอย่างสบาย ๆ และเรามีความพึงพอใจกับอารมณ์ตรงนี้ ตรงนั้นแหละ คือฐานที่ ๗ คิดเพียงแค่นี้นะจ๊ะ คิดเพียงแค่นี้นะ ทีนี้เราก็เอาใจหยุดนิ่งที่ฐานที่ฐาน ๗ อย่างสบาย ๆ เราจะนึกถึงคำภาวนา สัมมา อะระหัง ประกอบด้วยก็ได้ อย่างที่หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านสอนเอาไว้นะจ๊ะ สอนให้กำหนดเอาดวงใส ๆ ดวงใส ๆ กลมรอบตัวนะ โตเท่ากับแก้วตาของเรานะ เคยนึกถึงความใส ที่มีลักษณะสัณฐานกลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว เหมือนลูกแก้วนั้นนะจ๊ะ โตเท่ากับแก้วตาก็ได้จะนึกอย่างนี้ แล้วก็ประกอบคำภาวนา สัมมาอะระหังอย่างนี้ ไปเรื่อยก็ได้นะจ๊ะ คือพอตรึกนึกถึงดวงใสก็ภาวนา สัมมา อะระหัง ควบคู่กันไปอย่างสบาย ๆ อย่างนี้ก็ได้ หรือเราไม่ถนัดในการที่จะนึกถึงภาพดวงแก้ว หรือบริกรรมนิมิตนั้น 

 


                พอนึกทีไรก็อดตั้งใจมากไม่ได้ พอนั่งแล้วเหนื่อยแล้วเครียด ก็ใช้วิธีอย่างที่หลวงพ่อว่าตั้งแต่ตอนแรกนะจ๊ะ คือทำใจให้หยุดนิ่งอยู่ในจุดที่เรามีความรู้สึกว่าสบาย และก็มีความพึงพอใจอยู่ในกลางท้องอยู่ตรงนั้นนะว่าเป็นฐานที่ ๗ อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ก็ได้ หรือจะภาวนา สัมมาอะระหัง ประกอบไปด้วยก็ได้ สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง อย่างนั้นนะจ๊ะ สัมมา อะระหัง ให้เสียงดังออกมาจากกลางท้อง เราจะภาวนาอย่างนี้ช่วย ในกรณีที่เรากลัวว่าเราจะคิดฟุ้งไปยังเรื่องอื่นก็ได้ ทำอย่างนี้ก็ได้ นะจ๊ะ ให้นึกถึงดวงใสก็ได้ หรือใครถนัดจะนึกถึงองค์พระแก้วใส ๆ เรากราบไหว้บูชาพระกันทุก ๆ วัน รู้สึกว่าถ้านึกถึงท่านเป็นอารมณ์แล้วใจเราสบายมีความสุข ใจไม่ฟุ้งเลยจะนึกท่านเป็นพุทธานุสสติ ให้ท่านนั่งขัดสมาธิอยู่กลางท้องของเรา นั่งขัดสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกับเรา เรามองท่านตั้งแต่เศียรลงไปด้านล่าง อย่างนี้ก็ได้เหมือนกันนะจ๊ะ 

 


                สรุปง่ายๆ ก็คือ เราถนัดอย่างไหน เราก็ทําอย่างงั้นทําอย่างที่เราถนัดอย่างที่เราชอบ ตัวเราทําอย่างที่เราชอบฉันทะ มันจะเกิดขึ้น พอเรารักษาอารมณ์นี้ได้แล้วต่อจากนี้ไปก็ทำใจเย็น ๆ ตอนนี้สำคัญนะจ๊ะ ใจเย็น ๆ เนี่ยสำคัญทีเดียว เรามักใจไม่ค่อยจะเย็นกัน เราอยากได้เร็วๆ เราเห็นเร็ว ๆ เหมือนปลูกมะม่วง พอเอาเม็ดฝังลงดินก็อยากจะกินผลวันนั้นเลย เราอยากจะได้กันเร็ว ๆ อีตรงนี้ต้องแก้นะจ๊ะ เราไม่มีทางเลือกอื่นใดเลย นอกจากต้องทำใจเย็น ๆ ทำใจหยุดอย่างเย็น ๆ จำไว้ให้ดีนะจ๊ะ เราไม่มีทางเลือกอื่นใดเลย ถ้าเราปรารถนาที่จะเข้าถึงธรรมอย่างแท้จริง ถ้าเราสมัครใจที่จะเข้าถึงธรรมอย่างแท้จริง ก็จะต้องทำอย่างที่หลวงพ่อแนะอย่างนี้เท่านั้น ถ้าผิดจากนี้ก็ไม่ได้เพราะมันมีวิธีเดียว ต้องทําใจหยุดอย่างเย็น ๆ ให้สม่ำเสมอนะ เราไม่มีทางเลือกอื่นใดเลย ถ้าเราสมัครใจจะเข้าถึงธรรมนอกจากทำใจให้หยุดนิ่งเฉย ๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกาย ด้วยใจที่เยือกเย็นนะจ๊ะ ใจต้องเยือกเย็น 

 


                ชีวิตของเราที่ผ่านมาตั้งแต่เราเริ่มรู้เดียงสาเรื่อยมาเนี่ย เราถูกกระแสอันเชี่ยวกรากของโลก หล่อหลอมให้ชีวิตต้องดิ้นรนต้องต่อสู้ ต้องแข่งขัน ต้องรีบเร่ง ต้องรีบร้อน เราถูกกระแสชนิดนี้นะหล่อหลอมชีวิตเรามาตลอด เพราะฉะนั้นใหม่ ๆ นี่เราอดไม่ได้ที่จะอยากได้เร็ว ๆ เห็นเร็ว ๆ ทำเป็นเร็ว ๆ ถ้าหากเราอดไม่ได้เนี่ย ก็อนุญาตให้ตัวเองลองทำวิธีที่เร่งรีบ เร่งร้อน แบบโลก ๆ ดู แต่หลวงพ่อรับรองว่าไม่ได้ผลเพราะฉะนั้นถ้าอยากจะได้ผลนะจ๊ะ ไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากทำใจให้หยุดให้นิ่งเฉย ๆ อย่างสบาย ๆ ด้วยหัวใจที่เยือกเย็นนะจ๊ะ เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้วเอาละต่อจากนี้ไป ลูก ๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศทำใจให้ได้อย่างที่หลวงพ่อว่าไว้อย่างนี้นะจ๊ะ ทำใจให้หยุดนิ่งเฉย ๆ อย่างสบาย ๆ ไม่เร่งรีบ ไม่เร่งร้อน เหมือนเราอยู่คนเดียวในโลก สมบัติของเรามีเพียงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ กับใจของเราที่มีอยู่ที่ตรงนั้นเท่านั้น สมบัติของเรามีเพียงเท่านี้ ไม่มีมากกว่านี้เพราะฉะนั้นเราไม่มีห่วงไม่มีกังวล ไม่มีพันธะอันใดทั้งสิ้น ให้ทำใจอย่างนี้นะจ๊ะ ลูก ๆ ชายหญิงทุกคนนะจ๊ะ ทำให้ได้นะ ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ 


 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0446186820666 Mins