พระวักกลิ

วันที่ 25 เมย. พ.ศ.2567

250467b01.jpg

พระวักกลิ
๒ มกราคม ๒๕๓๗
พระธรรมเทศนา เพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

 

                ต่อจากนี้เราจะได้นั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะจ๊ะ เพื่อชำระกายวาจาใจของเราให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใสจะได้เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญกุศลซึ่งจะเกิดขึ้นในวันนี้นะจ๊ะ ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย ให้มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ นะจ๊ะทุก ๆ คน วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ หลับพอสบายคล้าย ๆ กับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับพอสบายนะจ๊ะ ท่านั่งขัดสมาธิในท่านี้เป็นท่าที่เป็นแบบแผนที่ หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญท่านถอดแบบออกมาจากท่านั่งของพระธรรมกายที่ท่านค้นพบในตัวของท่าน เพราะฉะนั้นเป็นท่าที่เราจะต้องจำเอาไว้นะจ๊ะ

 


            มีเรื่องราวอยู่ในพระไตรปิฎก เป็นเรื่องราวที่หลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่านมักจะยกเอาขึ้นมาเล่าให้ศิษยานุศิษย์ของท่านฟัง หรือโดยเฉพาะตอนวันพฤหัส ที่ท่านออกมาสอนธรรมปฏิบัติ สมัยนั้นเรียกว่าการขึ้นธรรมน่ะ ท่านมักจะยกเรื่องราวมาตอนหนึ่ง โดยท่านยกพระบาลีขึ้นมาว่า โย โข วักกลิ โยธัมมังปัสสติ โสมังปัสสติ ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ ว่าดูกรวักกลิผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นได้ชื่อว่าเห็นพระตถาคต พระตถาคตคือธรรมกาย ที่ท่านพูดไว้สั้น ๆ อย่างนี้นะจ๊ะ แล้วหลวงพ่อวัดปากน้ำท่านก็เล่าเรื่องราวให้ฟัง ท่านบอกว่าความเลื่อมใสของมนุษย์นี่น่ะ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านตรัสเอาไว้ว่ามีอยู่ ๔ อย่าง คือเลื่อมใสในรูป รูปงาม เค้าเรียกรูปัปปมาณิกา มีความเลื่อมใสในความงามของรูปร่าง สรีระ คือพอเห็นแล้วรู้สึกใจสบาย อยากดูอยากมอง อยากชมโดยไม่อิ่มไม่เบื่อ ดูแล้วดูอีกเฝ้าดูแล้วเฝ้าดูอีก ดูแล้วสบายใจ ถ้าไม่เห็นแล้วกลุ้ม นี่น่ะ รูปัปปมาณิกา บางพวกก็เลื่อมในในเสียงคือพอฟังเสียงแล้วรู้สึกใจละเอียดอ่อนน้อมไปทีเดียว อยากฟังเสียง บางคนเสียงเค้าเพราะนะ เสียงลึกเสียงก้อง เสียงกังวานเสียงหยดย้อย ไม่แหบไม่เครือ ไม่พร่า ฟังแล้วสบายใจสบายหูทีเดียวน่ะ ประเภทนี้เรียก โฆสัปปมาณิกา อีกประเภทหนึ่งคือพอเห็นการแต่งกายของนักบวชอย่างปอน ๆ สมถะ ดูแล้วเรียบง่าย เห็นแล้วก็เลื่อมใสว่าโอชีวิตของนักบวชนี้มีแต่ความมักน้อยสันโดษ ยินดีเฉพาะปัจจัยที่มีความจำเป็นต่อชีวิตเท่านั้นน่ะ คือดำรงชีวิตอยู่ด้วยปัจจัยสี่เท่านั้น เพื่อมุ่งหวังที่จะแสวงหาหนทางของพระนิพพาน พอเห็นแล้วก็เกิดความเลื่อมใส พวกนี้เรียกว่าลูขัปปมาณิกา อีกประเภทหนึ่งก็เลื่อมใสในคำสั่งสอนคือเป็นพวกที่เจ้าเหตุเจ้าผล เจ้าความคิด อยากจะรู้แจ้งเห็นจริง ถ้าหากว่าสมณะองค์ใดแสดงธรรมประกอบไปด้วยเหตุด้วยผล ไพเราะทั้งเบื้องต้น ทั้งท่ามกลาง ทั้งเบื้องปลาย ฟังก็เข้าอกเข้าใจง่ายแจ่มแจ้ง พอได้ฟังแล้วก็รู้สึกชอบ มีความเลื่อมใสติดตามอยู่ตลอดเวลาเลย รู้สึกสบายใจ นี่นะประเภทที่ ๔ เค้าเรียก ธัมมัปปมาณิกา คือเลื่อมใสในธรรม มนุษย์จะมีอยู่ ๔ ประเภท ที่มีความเลื่อมใสอย่างนี้ และนักบวชก็มีอยู่บางท่านก็ครบทุกประเภท บางท่านก็ได้บางประเภท  

 

 

            พระวักกลิท่านเป็นนักบวชท่านเห็นพระรูปของพระบรมศาสดาน่ะ ตั้งแต่ยังเป็นฆราวาสอยู่ เกิดความเลื่อมใสว่ารูปงามเหลือเกินน่ะ ลักษณะมหาบุรุษของพระผู้มีพระภาคเจ้าน่ะ ใครเห็นก็ต้องเลื่อมใส แต่พระวักกลิน่ะเลื่อมใสเป็นพิเศษ ก็คิดอยู่ในใจว่าทำยังไงจะได้เห็นอยู่ตลอดเวลา ลงทุนบวชเลย บวชเพื่อต้องการจะได้เห็นพระวรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่อุดมไปด้วยลักษณะมหาบุรุษ ทั้งอสีติพยัญชนะต่าง ๆ ดูงดงาม ดูแล้วก็สบายใจน่ะ ไม่ได้คิดว่าอยากจะมาฟังธรรมหรืออยากจะหลุดพ้นไปสู่พระนิพพาน ไม่ได้มีความคิดอย่างนั้น มีแต่ความคิดแค่นี้เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตนักบวชของพระวักกลิ และก็สมใจท่านจริง ๆ ท่านก็เฝ้าดูอย่างนั้นน่ะ ดูแล้วก็สบายใจ หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข นั่งนอนยืนเดินเป็นสุข ขอให้ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า เห็นแล้วสบายใจ ตอนไหนไม่เห็นก็กลุ้ม เพราะฉะนั้นจึงพยายามเฝ้าติดตามอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่เคยเงี่ยโสตฟังธรรมเลย ไม่เคยได้ตั้งใจที่จะฟังธรรม จะดูแต่พระวรกายทั้งนั้น ดูแล้วงดงามสวยงามตลอด การกระทำของท่านนั้นน่ะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบตลอด แต่ท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะว่ามันยังไม่ถึงเวลาที่ท่านจะพูด ท่านก็ดูจังหวะ คำว่าดูจังหวะของท่านคือท่านมองด้วยญาณทัสสนะของพระองค์ท่านว่าตอนใด ช่วงไหน พูดไปแล้วจึงเกิดประโยชน์ท่านก็รอคอย รอคอยในจังหวะที่พูดแล้วเกิดประโยชน์ คือกำลังบุญของพระวักกลิมาถึง กระแสใจของท่านเข้าถึงดวงบุญน่ะ ถึงกระแสธารแห่งบุญที่สั่งสมมานับภพนับชาติไม่ถ้วนว่าถึงวาระนี้น่ะจะต้องพูดแล้ว แล้วท่านก็ทราบตลอดเรื่องเลย พูดแล้วพระวักกลิฟังก็เสียใจ แต่ว่าดูตอนสุดท้าย ตอนสุดท้ายนี่ก็จะได้สติแล้วก็บรรลุธรรม เพราะฉะนั้นบางครั้งเนี่ยถ้อยคำอะไรบางอย่างที่ครูบาอาจารย์ตักเตือนในเบื้องต้นนี้ เราอาจจะเสียใจ ไม่สบายใจกลุ้มใจ แต่ว่าไปดูผลตอนสุดท้ายนะจ๊ะ เราจะดูว่าการบรรลุผลน่ะดูตอนสุดท้าย ตอนสุดท้ายนั้นจะมีรอยยิ้มปรากฏบนใบหน้าด้วยความสุขสดชื่นทีเดียว

 

 

            เมื่อวันนั้นมาถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านก็ตรัสกับพระวักกลิ ท่านเรียกเข้ามาใกล้ ๆ เลยให้พระวักกลิเห็นได้เต็มตาทีเดียว ไม่ต้องไปแอบเมียง ๆ มอง ๆ ดูกันให้จะ ๆ กันไปเลย แล้วท่านก็ตรัสว่า วักกลิ เธอมาดูทำไมกับร่างกายเนี่ย ถึงแม้จะสวยงามประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษอย่างนี้ แต่ก็มีความเน่าเปื่อยเป็นธรรมดา บอกอย่าดูรูปกายนี้เท่านั้นน่ะ มันเป็นของมายา ฉาบฉวย ประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้นเอง มีความเปื่อยเน่าเป็นธรรมดา คือมันเปื่อยมันเน่าไปเรื่อย ๆ แต่เราสังเกตไม่ค่อยออก บางคนก็ไม่อยากจะสังเกต ไม่กล้าหาญพอที่จะสังเกตดูความเปื่อยเน่าของตัวเองน่ะ นี่พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านตรัสอย่างนี้นะจ๊ะ มาดูทำไมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่เกิดประโยชน์อะไร แถมไล่ไปซะอีกแนะ พระวักกลิหนีไปเลย เสียใจจะไปโดดภูเขาตาย เสียใจนะจ๊ะ ความเสียใจเนี่ยจะโดดภูเขา พระบรมศาสดาไม่เห็นตรัสถ้อยคำอะไรที่จรรโลงใจมั่ง อุตส่าห์ลงทุนบวชติดตามมาขนาดนี้เนี่ย และโดดจริง ๆ นะจ๊ะ โดดจากภูเขาจริง ๆ เลย พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านเสด็จไปทางอากาศเปล่งรัศมีไป ว่าจะดูทำไมเกี่ยวกับเรื่องกายที่เน่าเปื่อยนี้ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นได้ชื่อว่าเห็นพระตถาคตเจ้า พระตถาคตคือธรรมกาย นี่จับหลักตรงนี่นะจ๊ะ ฟังตรงนี้น่ะว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นได้ชื่อว่าเห็นพระตถาคตเจ้า

 

 

            ที่นี้คำว่าเห็นธรรมนี่น่ะ เราได้ยินบ่อย คำว่าธรรมตรงนี้น่ะมันมีความหมายตั้งแต่หยาบไปถึงละเอียดทีเดียวนะ มีผู้ที่รวบรวมความหมายของธรรมะเอาไว้จากพระไตรปิฎกได้ถึง ๕๐ กว่าความหมายน่ะ เกี่ยวกับเรื่องธรรมเนี่ย แต่โดยย่อ ๆ ก็คือหมายถึงความบริสุทธิ์บ้าง หมายถึงความถูกต้องดีงามบ้าง แต่ตรงนี้พระพุทธเจ้าท่านหมายลึกไปกว่านั้น เพราะท่านพูดต่อ ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นพระตถาคตเจ้า พระตถาคตเจ้าคือธรรมกาย นั่นก็หมายถึงว่าถ้าเห็นพระธรรมกายเมื่อไหร่น่ะ ก็หมายถึงว่าเห็นตัวจริงของพระตถาคตเจ้า ส่วนรูปกายนี้มันเปื่อยเน่าได้ ถึงแม้จะมีลักษณะประกอบไปด้วยมหาบุรุษก็ตามก็เปื่อยเน่าได้ เพราะฉะนั้นเห็นธรรมกายจึงจะได้ชื่อว่าเห็นพระตถาคตเจ้าอย่างแท้จริง เห็นธรรมกายจึงจะได้ชื่อว่าเห็นพระตถาคตเจ้าอย่างแท้จริง นี่ท่านหมายเอาลึกขนาดนั้นทีเดียวนะจ๊ะ

 

 

            ทีนี้ธรรมกายเนี่ย เห็นกันได้อย่างไร หลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่านก็มาเล่าอีกต่อหนึ่ง ท่านพูดถึงวิธีการที่จะเข้าถึงธรรมกายเพื่อให้ไปเห็นพระตถาคตเจ้าที่แท้จริงน่ะ ท่านเล่าเรื่องเกี่ยวกับพระองคุลีมาล เรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งทุกท่านก็ได้ยินได้ฟังกันแล้ว แต่มีถ้อยคำหนึ่งซึ่งเรามักจะได้ยินกันบ่อย ๆ ตอนที่พระองคุลีมาลได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า สมณะหยุด สมณะหยุด พอไล่ไปทีไรตามไม่ทันซักทีน่ะ ท่านก็ยืดออกไปทุกที ตามไม่ทัน เป็นท่านเดินไปตามปกติอย่างนั้นนะก็ตามไม่ทันซักที บอก สมณะหยุด แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านก็ตรัสออกมาตอบมาว่า สมณะหยุดแล้ว คำว่าหยุดตรงนี้นี่ ไม่มีใครเอามาอธิบายให้ทราบว่าหยุดคืออะไร หยุดอย่างไรน่ะ หยุดตรงไหน หยุดแล้วอะไรจะเกิดขึ้น เนี่ยไม่มีใครเอามาอธิบาย ส่วนมากคำว่าหยุด ชาวโลกมักจะเข้าใจหมายถึงหยุดอยู่ หยุดแล้วอยู่กับที่ เช่นเรายืนหยุดอยู่ รถหยุดจอดนิ่งอยู่กับที่ ของหยุดนิ่งไม่เคลื่อนไหว พูดง่าย ๆ คือ หยุดแล้วอยู่ แต่หลวงพ่อท่านหมายเอา หยุดแล้วไป ตรงนี้นะจ๊ะ คำว่าหยุดแล้วไปเนี่ย ท่านบอกว่าถ้าหยุดได้ก็จะถึงธรรมกายได้ หยุดแล้วไปถึงธรรมกายเลย ตรงนี้สิแปลก แล้วท่านก็เอาคำนี้มาอธิบายตลอดระยะเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ พร่ำสอนเกี่ยวกับเรื่องหยุด อยู่ตลอดเวลาเลย ให้เอาใจหยุดอยู่  

 

 

            มีเรื่องเกร็ด ๆ เล่าให้ฟังว่า มีคนเข้าไปกราบท่านในวัดขอให้ท่านดูหมอให้น่ะ ท่านบอกว่าที่นี่ไม่มีหมอดู มีแต่หยุดในหยุด คือท่านสอนเกี่ยวกับเรื่องหยุดในหยุด นี่ตลอดเวลาของท่าน ตั้งแต่ท่านได้บรรลุธรรมจนกระทั่งท่านมรณภาพ แล้วก็ขยายความหยุดที่ว่าสมณะหยุดแล้วน่ะ หมายถึงเอาใจที่วิ่งซัดส่ายไปมานั้น หยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หยุดอยู่ที่ตรงนั้นน่ะ หยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ พอถูกส่วนเข้าก็จะเข้าถึงดวงธรรมเบื้องต้น ถึงธรรมเบื้องต้น ความบริสุทธิ์เบื้องต้น ซึ่งเป็นปากทางของอายตนะนิพพาน เป็นปากทางของอายตนะนิพพาน โดยบอกลักษณะว่าพอใจหยุดถูกส่วนแล้วดวงธรรมก็จะบังเกิดขึ้น ดวงธรรมเบื้องต้นจะบังเกิดขึ้น ลักษณะกลมรอบตัวเหมือนดวงแก้วอย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ถ้าหยุดได้ถูกส่วนแล้วจะเข้าถึงปฐมมรรค แล้วก็ให้หยุดอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ หยุดอยู่ภายในน่ะ ในกลางปฐมมรรคน่ะมันจะวูบเข้าไปเรื่อย ๆ ใจก็จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน เข้าไปในกลางดวงปฐมมรรค พอถูกส่วนเข้าปฐมมรรคก็จะขยายส่วนกว้างออกไปเนี่ย จะเข้าถึงดวงธรรมอีกดวงหนึ่งเรียกว่าดวงศีล มีลักษณะกลมรอบตัว เช่นเดียวกันน่ะ แต่ว่าใสกว่า บริสุทธิ์กว่า มีความละเอียดกว่า สว่างกว่าดวงเดิม ใจก็ละเอียดปราณีตเข้าไปเรื่อย ๆ

 

 

            ท่านก็ให้หยุดต่อไปอีกในกลางดวงศีล พอถูกส่วนดวงศีลก็ขยายส่วนกว้างออกไป จะเข้าถึงดวงสมาธิกลมรอบตัวเช่นเดียวกัน แบบเดียวกันเลยแต่ว่าใสกว่า สว่างกว่า ท่านก็ให้หยุดเรื่อยไปอีก เข้ากลางพอถูกส่วนก็เข้ากลางดวงสมาธิ เข้าถึงอีกดวงธรรมหนึ่งเรียกว่า ดวงปัญญา มีลักษณะแบบเดียวกันแต่ว่าใสกว่าสว่างกว่า ท่านก็ให้หยุดเข้าไปในกลางดวงปัญญาต่อไปอีก พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงธรรมอีกดวงหนึ่งเรียกว่าดวงวิมุตติ กลมรอบตัวแบบเดียวกัน แต่ใสกว่าสว่างกว่า ท่านก็ให้เอาใจหยุดต่อไปอีกกลางดวงวิมุตติ พอถูกส่วนเข้า ดวงวิมุตติขยายส่วนกว้างออกไปน่ะ ก็จะเข้าถึงดวงธรรมอีกดวงหนึ่งเรียกว่าดวงวิมุตติญาณทัสสนะ พอใจหยุดต่อไปอีกในกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้าก็จะเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด กายมนุษย์ละเอียดก็คือกายฝันซึ่งมีอยู่แล้วน่ะ เวลาเรานอนหลับเค้าออกไปทำหน้าที่ฝัน เวลาตื่น ๆ อยู่ก็อยู่ในกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ลักษณะเหมือนกับตัวของเราเลย ท่านหญิงก็เหมือนกับท่านหญิง ท่านชายก็เหมือนกับท่านชายนะ นั่งขัดสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเรา ท่านก็สอนให้เอาใจหยุดต่อไปอีกในกลางกายมนุษย์ละเอียด ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด ในกลางนั้นน่ะลักษณะแบบเดียวกันคือกลมรอบตัว ใสบริสุทธิ์สว่างหนักยิ่งขึ้น ท่านให้เอาใจหยุดต่อไปอีกในกลางนั้น พอถูกส่วนก็เข้าถึงดวงศีลของกายมนุษย์ละเอียด เข้าไปอย่างนี้แหละถึงดวงสมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงอีกกายหนึ่งซึ่งมีอยู่เดิมแล้วน่ะคือกายทิพย์ กายที่แตกต่างจากกายมนุษย์ละเอียดออกไปน่ะ นี่ท่านสอนอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ นะจ๊ะ จากกายทิพย์ถึงกายรูปพรหม จากกายรูปพรหมก็เข้าถึงกายอรูปพรหม จากกายอรูปพรหมก็เข้าถึงกายธรรม คือถอดออกเป็นชั้น ๆ ไปน่ะ มันก็จะร่อนไปเป็นชั้น ๆ และท่านก็จะสอนว่ากายต่าง ๆ นี้มีอยู่แล้วในตัวของเรา ไม่ใช่เราไปทำให้มี แต่ที่เราไม่รู้จักเพราะเราไม่เคยได้ยินได้ฟัง ไม่เคยศึกษา หรือได้ยินได้ฟังแล้วไม่เคยลงมือปฏิบัติ หรือปฏิบัติแล้วไม่เคยเข้าถึงของจริงภายใน จึงไม่ทราบว่าเป็นอย่างนี้ ท่านบอกมันจะร่อนออกเป็นชั้น ๆ ไป คล้าย ๆ กับมะพร้าวนี่น่ะ ปอกไปทีละชั้น ทีละชั้น ๆ เข้าไปเรื่อย ๆ เลย กายก็เช่นเดียวกันนะ มันจะซ้อนกันไปเรื่อย ๆ เข้าไปสู่ภายในละเอียดเข้าไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเข้าถึงกายธรรม  

 

 

            เพราะฉะนั้นชีวิตนี้ไม่ใช่ตื้น ๆ อย่างที่เรารู้หรือเราได้เคยเห็นเท่านั้น แต่มีสิ่งที่ลึก ๆ ที่มันซ้อนกันอยู่ภายใน และกายที่สำคัญที่สุดก็คือกายธรรม กายนี้แหละคือกายที่พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านทรงตรัสไว้กับพระวักกลิ ว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นได้ชื่อว่าเห็นตถาคต พระตถาคตคือธรรมกายเนี่ยะ กายธรรมลักษณะมหาบุรุษเช่นเดียวกับพระองค์เหมือนกัน เช่นเดียวกับพระวรกายรูปเหมือนกันน่ะ ต่างแต่ว่ามีเกตุดอกบัวตูม เกตุดอกบัวตูม และกายนี้เป็นกายแก้วกายเพชรทีเดียว ใสบริสุทธิ์ ใสเหมือนเพชร ใสเหมือนกระจก ใสเหมือนน้ำแข็ง หรือยิ่งกว่านั้นน่ะ ใสบริสุทธิ์อยู่ในกลางกาย เป็นกายตรัสรู้ธรรม เป็นกายที่รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอด ตามความเป็นจริงของชีวิตที่เดียวน่ะ และก็รู้เรื่องราวได้ตลอดทั้งหมด ทั้งของตัวเองและผู้อื่น ตลอดหมดเลยกายธรรม เพราะฉะนั้นธรรมกายนี่เป็นกายที่สำคัญนะจ๊ะ เป็นเป้าหมายของเราที่เราจะต้องพยายามปฏิบัติไปให้เข้าถึง ถ้าถึงเมื่อไหร่ชีวิตนั้นสมความปรารถนา เพราะสิ่งที่เราปรารถนาคือปรารถนาอยากจะเข้าถึงความสุขที่แท้จริงที่พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านทรงตรัสเอาไว้ว่า สุขกามานิ ภูตานิ สัตว์โลกทั้งหลายสุดยอดแห่งความปรารถนาคือความสุข เพราะฉะนั้นที่สุดแห่งความสุขมารวมประชุมอยู่ในกลางธรรมกายนี้ทั้งหมด เมื่อเราได้เข้าถึงธรรมกายจึงได้ชื่อว่าเราสมหวังในชีวิต เพราะว่าเข้าถึงความสุขซึ่งเป็นจุดยอดของความปรารถนาของเรานะจ๊ะ

 

 

            คำว่าธรรมกาย เดี๋ยวนี้เนี่ย ทั้ง ๆ เป็นของสูงแต่เดี๋ยวนี้มักจะรู้จักกันคลาดเคลื่อนหรือผิวเผิน บางท่านเข้าใจว่าธรรมกายหมายถึงวัดพระธรรมกายนะ บางท่านก็เข้าใจว่าธรรมกายหมายถึงวิธีปฏิบัติชนิดหนึ่งที่เรียกว่าวิธีธรรมกาย บางท่านก็เข้าใจว่าธรรมกายคือมูลนิธิธรรมกาย บ้างก็เข้าใจว่าธรรมกายคือองค์กรธรรมกาย เข้าใจอย่างนี้ก็ถูกบ้างเหมือนกันแต่ว่ามันไม่หมด ยังไม่ตรงกับที่อยากจะให้เข้าใจน่ะ สิ่งที่อยากจะให้เข้าใจ อยากจะให้เข้าใจตรงกับพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านตรัสกับพระวักกลิน่ะ หมายเอาธรรมกายที่อยู่ภายใน เป็นของสูงทีเดียวนะจ๊ะ ของสำคัญ เป็นสิ่งที่เราควรจะให้ความเคารพ ให้ความยกย่องนับถือเพราะว่าเป็นสรณะที่พึ่งอันประเสริฐสูงสุดของเราทีเดียว สิ่งอื่นที่จะเป็นสรณะเท่านี้หรือยิ่งกว่านี้ไม่มีเลยในโลก โลกนี้โลกอื่นหรือตลอดภพทั้ง ๓ ไม่มีเลย เพราะฉะนั้นธรรมกายนี่สำคัญ แต่ว่านี่เมื่อไม่เข้าใจก็มักจะเอามาพูดมาเล่นกัน หรือมาพูดประชดประชันอะไรกันต่าง ๆ เหล่านั้น ที่จริงนั้นสำคัญนะจ๊ะ หลวงพ่อยังชื่นชมกันเพื่อนศาสนิกอื่นน่ะของท่านเหล่านั้นท่านมีความเคารพในพระบรมศาสดา ในศาสดาของท่าน รวมถึงพระผู้เป็นเจ้าอันสูงสุด ว่าใครจะเอ่ยนามพระผู้เป็นเจ้าอันสูงสุด โดยปราศจากความเคารพไม่ได้ แต่ของเรานั้นแปลก ได้นำเอาสิ่งที่สูงสุดและสำคัญที่สุดสำหรับตัวเราเป็นสรณะที่สำคัญทีเดียว เอามาให้รู้จัก แทนที่จะให้ความเคารพนับถือ บางท่านเอาไปเล่นกันอย่างนี้น่ะ เหมือนที่มีสื่อที่หลาย ๆ ปีก่อนมาเล่นกันอย่างนั้น

 

 

            เพราะฉะนั้นในวันนี้จึงถือโอกาสให้ทำความเข้าใจนะจ๊ะ คำว่าธรรมกายนี้คือกายตรัสรู้ธรรมของตัวเราซึ่งมีความสำคัญมาก เป็นสรณะเป็นทั้งที่พึ่งเป็นทั้งที่ระลึก ที่พึ่งก็หมายถึงเวลาเรามีความทุกข์ พอเราเอาใจหยุดอยู่ในกลางกายท่าน ความทุกข์ก็ดับไปมีแต่ความสุขล้วน ๆ เพราะท่านช่วยขจัดทุกข์โศกโรคภัยอะไรต่าง ๆ ได้หมด เป็นที่ระลึกก็คือเป็นที่ที่ควรระลึกนึกถึง ให้นึกให้ได้ตลอดวัน ตลอดคืน ตลอดเวลาเลย เป็นที่ระลึกอันสูงสุดทีเดียวนะจ๊ะ พุทธศาสนาตั้งหลักได้ก็จากธรรมกายตรงนี้แหละ ธรรมกายคือเนื้อหนังของพระพุทธศาสนาทีเดียว เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านตรัสว่า ตถาคตคือธรรมกาย นั่นก็หมายถึงว่าทั้งหมดของพระศาสนาก็คือธรรมกายนั้นเอง ดังนั้นจึงถือโอกาสทำความเข้าใจกับท่านที่มาใหม่นะจ๊ะ เพื่อจะได้เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วจะได้ทำความเข้าใจว่านี่สำคัญ เป็นสรณะ เป็นพุทธรัตนะด้วย เป็นพุทธรัตนะเป็นพระแก้วใส ๆ พุทธะ ก็แปลว่าผู้รู้แจ้ง เห็นแจ้งแทงตลอด ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว นี่หมายเอาธรรมกายนะจ๊ะ เพราะพระธรรมกายนี่มีคุณสมบัติ ๓ อย่างนี้ครบถ้วนบริบูรณ์เลย รวมทั้งบริสุทธิ์ ปัญญาและมหากรุณา รวมอยู่ในธรรมกายนี่ทั้งหมด นี่หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านไปค้นเอาออกมาเนี่ย แล้วมาตรงกับคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า มาพร้องกันเลย ยิ่งทำให้ท่านมีความเชื่อมั่นแล้วก็เผยแผ่เรื่อยมา  

 

 

            แต่คำว่าธรรมกายสำหรับผู้ที่ศึกษาคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไปอีกหน่อยหนึ่ง คือท่านที่ไม่ได้ลงมือปฏิบัติ ไม่ได้เข้าถึงกายในกาย ไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็มักจะเข้าใจธรรมกายในระดับของนามธรรมผิวเผิน เข้าใจในลักษณะว่าธรรมกายคือหมวดหมู่แห่งธรรม คือที่รวมประชุมแห่งธรรม และก็ไม่มีรูปร่างเป็นรูปธรรมอะไรอย่างนั้น เข้าใจแค่เป็นนามธรรม แต่อีกสายหนึ่งของหลวงพ่อวัดปากน้ำนี่ ท่านบอกเป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรม คือเป็นที่รวมประชุมแห่งธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ด้วยและก็มีรูปธรรมคือมีรูปกายลักษณะมหาบุรุษเป็นกายแก้ว กายเพชร เกตุดอกบัวตูมใสบริสุทธิ์อยู่ในกลางกายตรงฐานที่ ๗ นี่ท่านหมายเอาอย่างนี้นะจ๊ะ เพราะฉะนั้นท่านที่ยังไม่เข้าใจ ก็ทำความเข้าใจซะนะจ๊ะ ต่อจากนี้ไปจะได้สอนให้ วิธีที่จะเข้าถึงธรรมกายสำหรับผู้ที่มาใหม่นะจ๊ะ เมื่อสักครู่นี้หลวงพ่อได้พูดถึงฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นที่สิงสถิตของพระธรรมกายนั้นน่ะ อยู่ที่ตรงไหน ฐานที่ ๗ นั้นท่านหมายเอาตรงนี้นะจ๊ะ 

 

 

            สมมติว่าเราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง เส้นหนึ่งให้ขึงจากสะดือทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งให้ขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย ให้เส้นด้ายทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท ตรงนี้เรียกว่ากลางกั๊ก เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ สมมติเราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกันแล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้ง ๒ นี้นะจ๊ะ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือตรงนี้แหละเรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เพราะฉะนั้นเมื่อหลวงพ่อพูดถึงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ก็หมายเอาตรงนี้นะจ๊ะ ให้เอาใจมาหยุดอยู่ที่ตรงนี้เนี่ย โดยรวมความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ พูดง่าย ๆ คือมาทำความรู้สึกอยู่ที่ตรงนี้เนี่ย อยู่ตรงฐานที่ ๗ ในกลางท้อง ที่เหนือจุดตัดของเส้นด้ายทั้ง ๒ ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ให้เอาใจของเรามาหยุดอยู่ที่ตรงนี้ ให้หยุดให้นิ่งอยู่ที่ตรงนี้นะจ๊ะ โดยกำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ เพื่อให้ใจมีที่ยึดที่เกาะจะได้ไม่ซัดส่ายไปคิดเรื่องอื่น หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านสอนให้กำหนดเครื่องหมายให้ใสเหมือนกับเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเราน่ะ ท่านให้กำหนดขึ้นมานะ คำว่ากำหนดก็คือการสร้างภาพขึ้นมาทางใจ สร้างมโนภาพขึ้นมาว่าตรงตำแหน่งที่เหนือจากจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสองขึ้นมา ๒ นิ้วมือนั้น มีเครื่องหมายที่ใสสะอาดประดุจเพชรลูก ประดุจเพชรน่ะนะ ท่านใช้ประดุจเพชรก็คือ มีความใสบริสุทธิ์ที่เจียระไนแล้ว ไม่ใช่เพชรธรรมดาแล้วนะ เจียระไนแล้วนะจ๊ะ ไม่มีขีด ไม่มีข่วนคล้ายขนแมวน่ะ คือใสบริสุทธิ์ ไม่มีตำหนิเลย ขนาดโตเท่ากับแก้วตาของเรา แก้วตาของเรานะจ๊ะ 

 

 

            ให้นึกถึงบริกรรมนิมิตนี้น่ะ อย่างง่าย ๆ สบาย ๆ ให้นึกถึงบริกรรมนิมิตนี้อย่างง่าย ๆ สบาย ๆ นึกให้ต่อเนื่องกันอย่าให้เผลอ การนึกนิมิตรอย่างนี้ ใหม่ ๆ เมื่อเรายังไม่คุ้น นิมิตนั้นไม่จำเป็นต้องชัดเจนมากนัก หรือพูดง่าย ๆ ก็คือไม่ชัดเจนก็ไม่เป็นไรน่ะ คือนึกได้แค่ไหนเราก็เอาแค่นั้น นึกได้รัว ๆ ลาง ๆ เราก็เอาแค่รัว ๆ ลาง ๆ นึกได้ชัดเจนยิ่งกว่านั้นเราก็เอาแค่นั้น แต่ให้นึกอย่างสบาย ๆ และต่อเนื่อง ให้นึกอย่างสบาย ๆ และต่อเนื่องกันนะจ๊ะ นึกถึงบริกรรมนิมิตอย่างนี้ อย่างสบาย ๆ และต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นอาจจะนึกได้ไม่ชัดเจนก็ไม่เป็นไร อย่าไปกังวลใจอย่าไปกลุ้มกับมันในกรณีที่นึกแล้วมันไม่ได้ ไม่ชัดเจนได้ดังใจนั้น นึกได้แค่ไหนก็ให้เอาแค่นั้นนะจ๊ะ แต่ต้องนึกอย่างสบาย ๆ และต่อเนื่องกันไป อย่าให้เผลอ แต่ถ้าหากห้ามไม่ให้เผลอไม่ได้ เพราะใจมักจะไปนึกคิดในเรื่องที่คุ้นเคย หรือสิ่งที่คุ้นเคยที่คั่งค้างอยู่ในใจมันกระตุ้นให้เรามีความนึกคิดอย่างนั้น ท่านก็สอนต่อไปว่าช่างมัน อย่าไปกังวลกับมัน เมื่อเรารู้สึกตัวเราก็กลับมานึกใหม่ นึกถึงบริกรรมนิมิตเป็นเครื่องหมายที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดไม่มีข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา ให้นึกอย่างนี้นะจ๊ะ 

 

 

            สำหรับท่านที่มาใหม่ นึกอย่างสบาย ๆ นึกอย่างสบาย ๆ สบาย ๆ สังเกตุอย่างไร สังเกตดูไม่ตึงเกินไปและไม่หย่อนเกินไป ตึงเกินไปเป็นอย่างไร ตึงไปแล้วปวดศีรษะ คิ้วขมวดเข้าหากัน คิ้วย่นขมวดเข้าหากันเลยน่ะ ร่างกายรู้สึกเกร็ง รู้สึกเหนื่อย รู้สึกจะต้องบังคับใจอย่างนี้เรียกว่าตึงเกินไปและก็ไม่ถูกวิธีด้วย หย่อนเกินไปก็คือไม่นึกอันนี้เลยน่ะ ปล่อยไปคิดเรื่องอื่นเรื่อยเปื่อยไปเลย เพราะฉะนั้นท่านสอนให้นึกอย่างสบาย ๆ คือให้ในใจเรามีภาพของดวงแก้ว เครื่องหมายที่ใสสะอาดอย่างนั้นนะจ๊ะ ที่ใสเหมือนกับเพชรน่ะ นึกอย่างสบาย ๆ วิธีช่วยที่ให้นึกสบายน่ะ เราจะต้องนึกว่าร่างกายของเราเนี่ยกลืนไปกับอากาศ บางเบากลืนไปกับอากาศ แล้วเราจะเริ่มมีความรู้สึกว่าสบาย ให้นึกอย่างนี้นะจ๊ะ นึกอย่างสบาย ๆ ไม่ให้เผลอและก็ให้ต่อเนื่องกันไป ให้ต่อเนื่องกันไปเลย แต่ถ้าหากนึกอย่างนี้แล้ว ยังมีความคิดอื่นเข้ามาแทรก ท่านก็ให้ภาวนา สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ภาวนาอย่างนี้นะจ๊ะ โดยให้เสียงของคำภาวนาดังออกมาจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ที่เดียวกันน่ะ คือแทนที่จะดังจากสมอง กลับให้ดังจากในท้อง ให้ออกมาจากในท้องอย่างสบาย ๆ ใช้คำว่าภาวนานะ ภาวนาก็คือเสียงของถ้อยคำที่ละเอียดอ่อน ที่ดังออกมาจากในใจของเรา คล้ายเสียงเพลงที่เราชอบ ไม่ใช่ท่องแบบนกแก้วนกขุนทอง ที่เราจะต้องใช้กำลังอย่างนั้นนะจ๊ะ 

 

 

            คำว่าบริกรรมภาวนาหมายถึงเสียงของถ้อยคำที่ละเอียดอ่อน ซึ่งดังอยู่ในใจของเราคล้ายกับเสียงเพลงที่เราชอบหรือบทสวดมนต์ที่เราชอบ มันจะดังออกมาอย่างนั้น แต่ให้ดังออกมาจากกลางกายตรงที่เรามั่นใจว่าตรงนี้เป็นฐานที่ ๗ ที่เรามีความมั่นใจว่าตรงนี้เป็นฐานที่ ๗ แล้วก็ให้ภาวนาอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จะกี่ครั้งนึกว่าใจจะหยุดนี่กำหนดไม่ได้ เอาเป็นว่าร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้งหรือจะกี่ครั้งก็ตาม ภาวนาไปจนกว่าเราจะเกิดความรู้สึกไม่อยากจะภาวนา อยากจะทำใจให้นิ่งเฉย ๆ สบาย ๆ ตอนนี้ความรู้สึกโล่ง โปร่ง เบาสบายจะเกิดขึ้นเป็นรางวัลสำหรับผู้ที่มีความเพียรนะจ๊ะ เราจะเริ่มรู้สึกว่าร่างกายของเรา มีความละเอียดอ่อนนุ่มนวล กลืนไปกับบรรยากาศ เริ่มมีความรู้สึกโปร่ง เบาสบาย ขยายกว้างออกไปเนี่ย มีความรู้สึกขยาย รู้สึกกว้างออกไปนะ ใจก็จะนิ่งอยู่ที่ตรงกลางนั้นนะ นิ่งอยู่ที่ตรงกลาง ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้นะจ๊ะ อย่าลืมตานะ อย่าลืมตา อย่าขยับตัวแล้วก็ไม่ต้องกลัวอะไรน่ะ ทำใจให้หยุด ให้นิ่ง ให้เฉย ๆ อย่างนี้เรื่อยไป ให้เข้าใจอย่างนี้น่ะ เมื่อเข้าใจอย่างนี้ ทดลองทำดูนะจ๊ะ ตอนนี้ทำใจให้หยุดให้นิ่งอย่างเบาสบาย ให้มีความสุขอยู่ภายในแม้ยังไม่เห็นอะไรก็ตาม แม้จะยังนึกอะไรไม่ออกก็ตาม ให้นิ่ง ๆ ภาวนาสัมมาอะระหัง เรื่อยไปเลยนะจ๊ะ ให้ทำอย่างนี้เนี่ย การทำอย่างนี้เป็นมหากุศลยิ่งกว่าสร้างโบสถ์สร้างวิหารเสียอีก เพราะว่าเป็นกุศลที่เป็นไปเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน ให้ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ อย่างนี้นะจ๊ะทุก ๆ คน

 

 

            คราวนี้เราก็เอาใจของเราหยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เหมือนเดิมนะ ใจหยุดนิ่งอย่างสบาย ๆ เบา ๆ สบาย ๆ นะจ๊ะ หยุดนิ่ง นั่งให้หน้ายิ้ม ๆ เบิกบานน่ะ ให้สดชื่น ใครที่ยังเข้าไม่ถึงดวงปฐมมรรคก็ให้ใจนิ่งเฉย ๆ อย่างสบาย ๆ ใครที่เข้าถึงดวงธรรมต่าง ๆ น่ะ ตั้งแต่ดวงปฐมมรรคเป็นต้นไปน่ะ เห็นดวงใสบริสุทธิ์ ใสแจ่มทีเดียว อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิพย์ตอนเที่ยงวัน เห็นชัดก็เอาใจหยุดนิ่งเฉยให้สบาย ๆ นะจ๊ะ หยุดนิ่ง ๆ เบา ๆ สบาย ๆ น่ะ ใครที่เข้าถึงกายภายใน ที่เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดเห็นตัวเองชัดเจนใสบริสุทธิ์ นั่งขัดสมาธิอยู่ในกลางนั้นน่ะ ก็ให้เอาใจหยุดไปที่กลางกายฐานที่ ๗ ของกายมนุษย์ละเอียดนะจ๊ะ ที่เข้าถึงกายทิพย์ เห็นกายทิพย์ใสบริสุทธิ์สวยงามกว่ากายมนุษย์ละเอียด มีเครื่องประดับพร้อม ก็เอาใจหยุดไปที่กลางกายทิพย์ ใครที่เข้าถึงกายรูปพรหม ก็เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายรูปพรหม ใครที่เข้าถึงกายอรูปพรหมก็เอาใจหยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายอรูปพรหม ใครที่เข้าถึงกายธรรม กายองค์พระนะจ๊ะ เกตุดอกบัวตูมใสบริสุทธิ์ ก็เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายธรรม ใครที่เข้าถึงกายธรรมในกายธรรมเข้าไปเรื่อย ๆ เนี่ยเห็นกายโตใหญ่ขึ้นไป ไปเรื่อย ๆ เลย ตั้งแต่ใหญ่เท่าตัว ใหญ่กว่าตัว ใหญ่กว่ามาก ๆ ขึ้นไปเรื่อย ๆ เลย เราก็หยุดเข้าไปน่ะ ในกลางกายธรรม กายธรรมในกายธรรม ในกลางกายธรรมที่มีกายธรรม ก็มีกายธรรมผุดซ้อน ๆ ออกมาจากในกลางนั้นน่ะ ใสบริสุทธิ์ เราก็หยุดไปในกลางนั้นเลยนะจ๊ะ

 

 

            หยุดเข้าไปเรื่อย ๆ ยิ่งหยุดยิ่งเร็ว ยิ่งหยุดยิ่งเคลื่อนที่ ไปสู่ที่หมายอย่างรวดเร็ว เรารู้สึกสิ่งที่เราจะเห็นออกมา เราจะเห็นกายธรรมผุดซ้อน ๆ ซ้อนขึ้นมา ซ้อนขึ้นมาเรื่อยเลยเนี่ย ผุดขึ้นมาแล้วก็ขยายกว้างออกไป แล้วก็มีองค์ใหม่ผุดขึ้นมา เกิดขึ้นไปเรื่อย ๆ เลย ยิ่งองค์ใหม่ผุดเกิดขึ้นมาใจยิ่งมีความบริสุทธิ์ มีความรู้สึกละเอียด ฟ่องเบานุ่มนวล มีพลัง มีความสุขภายในเนี่ย ก็จะเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ๆ เลย หยุดเข้าไปอย่างนี้นะจ๊ะ ในอายตนะนิพพานนี้ไม่มีอะไรกำบังนะ เป็นที่โล่ง ๆ ว่าง ๆ สว่างด้วยพระธรรมรังสีของพระธรรมกายพุทธเจ้า มีแต่พระธรรมกายเต็มไปหมดเลยน่ะ เต็มไปหมด นับกันไม่ถ้วนทีเดียว คำว่ามากกว่าเมล็ดทรายในท้องพระมหาสมุทรนี้มากจริง ๆ เลย มากมายก่ายกองทีเดียว ผู้รู้แจ้งในอดีตที่บังเกิดขึ้นแล้วดับขันธปรินิพพานไปแล้วน่ะ เต็มไปหมดเลย มีพระธรรมกายปรากฏอยู่ แล้วคุณยายก็ทับทวีนะ เครื่องไทยธรรมทั้งหลายที่ใสเป็นแก้วเลย ใสเท่ากับธรรมกาย ใสเป็นเพชร สว่างเต็มไปหมดเลย ทับทวีขึ้นไป ทับทวีไปถวายเป็นพุทธบูชา ไปให้สุดรู้สุดญาณเลยน่ะ ทับทวีขึ้นไป ทับทวีขึ้นไปเรื่อย ๆ นะจ๊ะ แล้วก็กราบทูลพระพุทธเจ้าว่าเครื่องไทยธรรมทั้งหมดเหล่านี้เป็นของพวกเราทั้งหลาย นำมาถวายเป็นพุทธบูชา 

 

 

            ขอบุญบารมี รัศมี กำลัง ฤทธิ์ อำนาจ สิทธิของพระพุทธเจ้าในอายตนะนิพพาน นับอสงไขย์พระองค์ไม่ถ้วน ให้ถึงแก่พวกเราทุก ๆ คน ให้บุญนี้ดลบันดาลให้ชีวิตนี้ มีความสุขมีความสำเร็จในสิ่งที่พึงปรารถนานะ ให้เป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ เหมือนอย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีหรือท่านมหาอุบาสิกาวิสาขา พุทธอุปฐากที่มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์พุทธศาสนานะ เป็นตัวอย่างที่ดีงามและขอให้พลังบุญพลังบารมีเหล่านี้ให้พวกเราทุกท่านเป็นอย่างนี้ เพราะเศรษฐีน่ะมีมากในสมัยพุทธกาลที่รวยกว่าท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็เยอะ รวยกว่ามหาอุบาสิกาวิสาขาก็มาก แต่มีทรัพย์นั้นแต่ไม่ได้ใช้ทรัพย์นั้นให้เป็นประโยชน์ ทรัพย์นั้นมีมากเหมือนน้ำทะเลน่ะ ที่มีแต่ความเค็มจะเอามาอาบเอามาดื่มอะไรก็ไม่ค่อยถนัด ทำอะไรก็เกิดประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ มีทรัพย์มากแต่ว่าไม่ได้ใช้ทรัพย์นั้น ขยายความรู้ของพระพุทธเจ้าไปยังชาวโลกเพื่อเฉลี่ยแจกจ่ายความสุขไปยังมหาชน ยังไม่ทำถึงขนาดนั้น มีทรัพย์ไว้แต่เพื่อตัวเองกับครอบครัวเท่านั้น แต่ว่าไม่มีใจที่กว้างขยายออกไปน่ะ 

 

 

            แม้แต่ท่านโชติกเศรษฐีที่เป็นมหาเศรษฐีในสมัยพุทธกาลอยู่เมืองราชคฤห์ รวยมากเป็นผู้มีบุญมาก มีปราสาทแก้วเกิดขึ้นด้วยบุญบันดาล มีขุมทรัพย์ ในคัมภีร์ได้กล่าวถึงเอาไว้ มีปราสาทที่เป็นแก้ว มุมปราสาทก็มีก้นกัลปพฤกษ์คือใครจะปรารถนาอะไรก็ตาม ไปอธิษฐานใต้ต้นกัลปพฤกษ์ก็สำเร็จ มีขุมทรัพย์ที่เป็นบ่อทอง บ่อรัตนชาติ เป็นหม้อเลยน่ะจ๊ะ แต่ปากหม้อนั้นกว้างถึง ๑ โยชน์ คือ ๑๖ กิโลคือจากวัดพระธรรมกายถึงดอนเมืองน่ะ แต่ว่าท่านไม่ได้เอาทรัพย์นี้มาช่วยขยายงานพระศาสนา เหมือนท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พอตอนสุดท้ายท่านออกบวชเพราะเกิดสลดใจที่พระเจ้าอชาตศัตรูจะยกทัพไปยึดสมบัติของท่าน แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ พอสลดใจก็เลยออกบวช พอออกบวชสมบัตินั้นไม่มีใครมีบุญจะรองรับได้ ก็อันตรธานหายไปเลย อย่ารวยอย่างนี้เลยนะจ๊ะ แต่ให้รวยมากขนาดนี้แต่ให้มีใจเหมือนอย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและมหาอุบาสิกาวิสาขา รวยแล้วใช้ทรัพย์นั้นให้เป็นประโยชน์แก่โลก ขยายคำสอนของพระพุทธเจ้าไปให้ทั่วโลก ให้ชาวโลกทั้งหลายได้เข้าถึงสันติสุขที่แท้จริง ซึ่งอยู่ภายในตามคำสอนของพระพุทธเจ้า รวยต้องรวยอย่างนี้จึงจะมีประโยชน์  

 

 

            เพราะฉะนั้นสุดยอดของมหาเศรษฐีผู้ใจบุญฝ่ายอุบาสกฝ่ายชายก็คือท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ฝ่ายหญิงก็มหาอุบาสิกาวิสาขา สุดยอดเลย แต่ทั้งสองท่านเนี่ย รวยก็จะน้อยกว่านิดหน่อยเท่านั้นเองน่ะ นิดหน่อยเท่านั้นเองน่ะ ถ้าหากว่าโชติกเศรษฐีรวยขนาด ๑๐ ส่วน ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่ ๕.๕ ส่วน มหาอุบาสิกาวิสาขาก็เช่นเดียวกัน เพราะท่านเป็นหลานของเมฆทกเศรษฐีในเมืองภัทธิยะ รวยมากเหมือนกัน ขอบุญบารมี รัศมี กำลังฤทธิ์อำนาจสิทธิ นะจ๊ะ คุณยายคุมให้ดี ให้ทุกท่านเป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญอย่างนี้ จะได้มีชื่อปรากฏไว้ในพระพุทธศาสนา ปรากฏไว้ในโลก ให้มีอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เลย ทุกภพทุกชาติกระทั่งเข้าสู่พระนิพพาน ให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ให้ได้แทงตลอดในวิชชาธรรมกาย และให้มีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรงไม่เจ็บไม่ป่วยไม่ไข้ เหมือนอย่างพระพากุละ พระพากุละนี่ท่านมีบุญมาก ในสมัยพุทธกาลนั้นน่ะท่านอายุได้ ๑๖๐ ปี เป็นมหาเศรษฐีอยู่ ๘๐ ปี ออกบวชเมื่ออายุ ๘๐ จนกระทั่งอายุถึง ๑๖๐ ปี มรณภาพเป็นพระอรหันต์ด้วย ไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วยเลย เพราะฉะนั้นให้ลูก ๆ ชายหญิงทุกคนน่ะ มีสุขภาพพลานามัย อายุยืนอย่างนี้นะจ๊ะ และก็ให้มีความงามสดใสเหมือนมหาอุบาสิกาวิสาขานะ อายุ ๑๒๐ ปียังงามเหมือนลูกหลานเหลนอายุ ๑๓ ปี ยังมีความงามสดชื่นของผิวพรรณและมีใจเป็นกุศล ไม่เคยขาดเลย 

 

 

            ขอบุญขอบารมีเนี่ยของพระพุทธเจ้าในอายตนะนิพพานให้ถึงแก่ลูก ๆ ชายหญิงทุกคนทั้งภายในและต่างประเทศ ให้เป็นอย่างนี้ ให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข เป็นสัมมาทิฏฐิ อย่าให้ลูกดื้อ ข้าราชบริพาร บริวารภายในบ้านทั้งหมดเลย ครอบครัวทั้งหมดเป็นสัมมาทิฏฐิ มีศีลมีธรรม มีใจหนักอยู่ในบุญอยู่ในธรรมะและประกอบธุรกิจการงานอันใด ก็ให้ประสบความสำเร็จเป็นอัศจรรย์ตั้งแต่ปีใหม่นี้เป็นต้นไปเนี่ย ธุรกิจการงานอันใดเนี่ยให้ประสบความสำเร็จเป็นอัศจรรย์เลย อุปสรรคต่าง ๆ นานาก็ให้ละลายหายสูญให้หมด ให้นั่งเป็นสุขนอนเป็นสุข ยืนเดินเป็นสุขตลอดเวลา ให้มีถ้อยคำอันประเสริฐ ซึ่งเมื่อจะกล่าวคำอันใดออกไปให้เป็นสวรรค์เป็นหนทางสวรรค์สำหรับผู้ฟัง ให้เป็นถ้อยคำที่เป็นหนทางสวรรค์สำหรับผู้ฟังที่จะน้อมนำใจให้ระลึกถึงพระรัตนตรัย จะชักชวนใครมาเป็นประธานรองประธานทองก็ให้ประสบความสำเร็จ

 

 

            ท่านที่เป็นประธานทองประธานรองอยู่แล้ว คุณยายก็ขอบุญวิเศษจากพระพุทธเจ้าในอายตนะนิพพาน ให้ทำหน้าที่นี้ให้สำเร็จเป็นอัศจรรย์ อุปสรรคต่าง ๆ นานาก็ให้ละลายหายสูญให้หมด ให้ทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ที่สุด เป็นประธานรองก็เป็นให้ถึงที่หมายเลย เป็นประธานทองก็ให้เป็นให้ถึงที่หมาย และก็ให้ชักชวนกันมาร่วมบุญกันให้เต็มที่นะ คุณยายคุมบุญพิเศษให้ต่อเนื่องกันไปเลย และก็กราบทูลหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญว่า ใครเป็นเจ้าของบุญที่จะมาเป็นประธานรอง ประธานทองหล่อรูปเหมือนของท่านเป็นทองคำ ให้ท่านให้บุญพิเศษ และก็ไปตามมาให้ทั่วถึงเลยให้มารับบุญอันนี้ ใครรับบุญอันนี้ไว้แล้วก็ขอให้เค้ามีความสุข มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง คิดอะไรก็ขอให้สมความปรารถนาให้หมด ให้หลวงพ่อเอาทุก ๆ คนไว้ในศูนย์กลางกายของท่าน กลั่นให้บริสุทธิ์แล้วก็เติมบุญบารมีรัศมีอำนาจ สิทธิ ทุกวันทุกคืนทุกเวลาเลย กราบทูลท่านให้ท่านคุมให้ดีทั้งหมด แล้วให้พวกเราทุกคนต่อจากนี้ไปนะจะให้เอาใจหยุดใจนิ่งกันให้ดี อธิษฐานจิตตามใจชอบในขณะที่กระแสธารแห่งบุญไหลต่อเนื่อง มาเป็นกระแสที่ต่อเนื่อง ติดอยู่ที่กลางอัตโนมัติในกลางกายน่ะ ให้อธิษฐานเอานะจ๊ะ 


 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.037017663319906 Mins