ไตรสรณคมน์

วันที่ 20 พค. พ.ศ.2567

200567b.01.jpg

ไตรสรณคมน์
๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕

พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย

โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

 

                ต่อจากนี้ไปให้ทุกคนตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางของพระนิพพานกัน ให้นึกน้อมใจตามเสียงหลวงพ่อไปทุก ๆ คนนะจ๊ะ ให้นั่งขัดสมาธิเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ ดูคนข้างเคียงเค้านะจ๊ะ ท่านที่มาใหม่ วางไว้บนหน้าตักพอสบายหลับตาของเราเบา ๆ หลับพอสบาย คล้ายกับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับพอสบาย สบายคล้ายกับเรานอนหลับ ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก จะได้ไม่ปวดไม่เมื่อยกันนะจ๊ะ ขยับเนื้อขยับตัวให้ดีกันทุกคน ต้องปรับสภาพกายของเรา ทั้งกายทั้งใจให้เหมาะสม ที่จะเป็นภาชนะรองรับพระรัตนตรัย ปรับให้ดีทีเดียว

 


                เมื่อปรับร่างกายของเราให้ผ่อนคลาย สบายดีแล้ว ต่อไปนี้ก็เป็นเรื่องของการปรับใจ ใจที่เหมาะสมที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในตัว คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และก็สังฆรัตนะ ใจจะต้องผ่องใสและก็เบาสบาย คำว่าใจผ่องใส ผ่องแผ้วนั้น หมายถึงใจที่จะต้องไม่มีอะไรเป็นเครื่องผูกพัน ไม่มีอะไรที่เป็นเครื่องกังวลใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียน เรื่องครอบครัว เรื่องลูกเรื่องหลาน เรื่องอะไรก็แล้วแต่ เรื่องเจ้าหนี้ลูกหนี้ ทิ้งไปหมดเลย ทำตัวของเราให้ปลอดกังวล ประหนึ่งว่าเราอยู่คนเดียวในโลก ไม่มีพันธะ ไม่มีภาระผูกพันกับใคร ไม่เคยเจอสิ่งอะไรมาก่อนเลย คล้าย ๆ ใจที่ลอยเคว้งคว้างอยู่กลางอวกาศนิ่ง ๆ โล่ง ๆ สบาย ๆ ทำใจให้ว่าง ๆ อย่างนี้นะจ๊ะ ว่างจากความคิดปรุงแต่งทั้งมวล ทั้งหมด จะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้มันสบาย ๆ

 


                พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ใจเรา ปลอดโปร่งว่างเปล่าจากเครื่องกังวล ด้วยการแนะนำไม่ให้ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง จะเป็น พูดง่าย ๆ จะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ จะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต อะไรก็ตาม จะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมอะไรทั้งหมด ท่านสอนว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเป็นทุกข์ และก็ไม่ใช่ของเรา เพราะว่าบังคับบัญชาไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ ท่านใช้คำว่าเป็นอนิจจัง ทุกขังอนัตตานั่นคือเรื่องจริง ๆ เลย อย่าว่าแต่ตัวเราเลย แม้โลกนี้ยังสลายได้ เมื่อสิ้นกัปป์ไปแล้วก็ยังแตกสลาย ภูเขา ต้นไม้เสื่อมหมด หมู่ญาติมิตรของเราสูญสลายแยกย้ายกันไปหมด ไม่มีอะไรคงที่เลย เปลี่ยนแปลงไปหมดทุกอย่าง จะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทุกอย่าง ล้วนแต่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ให้เป็นอย่างงั้นอย่างนี้ ตามใจปรารถนาไม่ได้เลย 

 


                ตัวเรานี่เอง ร่างกายนี้ว่าเป็นตัวเรา แต่มันก็ไม่ใช่ตัวของเรา ผมเราแต่มันก็ไม่ใช่ผมของเรา ผมอยู่บนหัวเรา บังคับไม่ให้มันล่วง ไม่ให้มันหงอก ไม่ให้มันเปลี่ยนแปลง ยังทำไม่ได้ ฟันในปากเรา แต่ไม่ใช่ฟันของเรา แต่มันอยู่ในปากเรา ก็คิดว่ามันเป็นของเรา มันเป็นทุกข์ ถ้าบังคับได้มันก็ต้องไม่มีการพลัดพราก ฟันยังพลัดพรากไป แล้วจะนับประสาอะไรกับสิ่งที่อยู่นอกกายของเรา เป็นเสื้อผ้า รถราบ้านช่อง เพชรนิลจินดา ที่ดิน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ที่อยู่นอกตัวก็ล้วนเปลี่ยนแปลงไปหมด ไม่คงที่ทั้งนั้น นี่คือเรื่องจริง เป็นความจริง เป็นสัจธรรมที่พวกเราไม่ค่อยจะกล้ามาคิดกัน หรือไม่เคยคิด หรือบางทีก็คิดเล่น ๆ หรือเอามาล้อเล่น โดยไม่คิดก็มี แต่ถ้าหากพวกเรากล้าที่จะมาคิดกัน ว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นอย่างนี้นะ 

 


                มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีลักษณะที่เป็นสามัญเป็นปกติอย่างเนี้ย เป็นธรรมดาอย่างนี้แหละ คิดอย่างนี้แล้วใจมันจะได้คลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนี้ พอคลายแล้วจะได้อะไร คลายแล้วมันก็หลุด จิตมันก็บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ก็จะหยุดนิ่ง หยุดนิ่งทีเดียว ใจมันพอคลายจากสิ่งไหนมันก็ว่าง พอว่างมันก็จะหยุดนิ่งกลับไปสู่ที่ตั้งเดิมในปริมณฑลของใจ มันจะกลับเข้าไปสู่สภาพเดิม แล้วก็จะมุ่งเข้าไปหาสรณะโดยเส้นทางสายกลาง จะแล่นเข้าไป พอคลายจากสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันก็จะมุ่งเข้าไปหาสิ่งที่เป็นสิ่งที่คงที่เป็นอมตะ สิ่งที่ให้ความสุขล้วน ๆ สิ่งที่เป็นตัวตนที่แท้จริงน่ะ ซึ่งมันซ้อนอยู่ในสิ่งที่ไม่จริง ของจริงซ้อนอยู่ในสิ่งที่ไม่จริง ภาษาพระก็เรียกว่า มุ่งเข้าไปหาสิ่งที่เป็นนิจจัง สุขขัง อัตตา โดยทำความเข้าใจในสิ่งที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของเรา มันจะมุ่งเข้าไปเลย 

 


                จะสังเกตได้ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านแสดงธรรมอยู่สองอย่างแค่นั้นเอง สิ่งไม่จริงสิ่งหนึ่งกับสิ่งที่เป็นจริงของพระอริยเจ้าอีกสิ่งหนึ่ง ที่เรียกว่าอริยสัจน่ะ ความจริงของพระอริยเจ้าที่มุ่งไปหา นิจจัง สุขขัง อัตตา กับสิ่งที่เป็นสามัญลักษณะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนให้เห็นว่าสิ่งนี้เป็นอย่างนี้ เพื่อให้มุ่งเข้าหาสิ่งที่จริง มันอยู่ในตัว แล้วท่านก็สรุปว่าสิ่งที่เป็นที่พึ่งที่ระลึกอย่างแท้จริงคือพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ สามอย่างนี้แหละ เป็นที่พึ่งที่ระลึกอย่างแท้จริง เพราะว่ามีคุณสมบัติคือเป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา สิ่งที่เป็นที่พึ่งที่แท้จริงต้องมีลักษณะอย่างนี้ เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา คงที่เป็นอมตะ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีแต่สุขล้วน ๆ เลย

 


                สุขล้วน ๆ และก็ควบคุมได้ เป็นตัวของตัวเองได้ เป็นอิสระ กิเลสอาสวะเข้ามาครอบงำบังคับบัญชาไม่ได้ และการที่เข้าไปถึงทั้งสามสิ่งนี้ ท่านให้เข้าไปทางสายกลางที่มีอยู่ภายในตัว ด้วยวิธีการทำใจให้หยุดให้นิ่ง หยุดนี้ตรงกับภาษาธรรมะว่า นิโรธะ นิโรธะ แปลว่า หยุดก็ได้ แปลว่าดับก็ได้ ก็นิโรธ น่ะ นิโรธะ หยุด คือหยุดจากความอยาก พอใจมันหยุดนิ่งถูกส่วน ก็จะเห็นหนทางแห่งความบริสุทธิ์ คือจะเห็นกายในกายเข้าไปเรื่อย ๆ ตามเห็นไปเรื่อย ๆ เห็นตั้งแต่กายต่าง ๆ ที่ซ้อนกันเข้าไป ที่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เข้าไป ตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม จนกระทั่งถึงกายธรรม ซึ่งเป็นสรณะ นี่ท่านมุ่งเข้าไปเป็นอย่างนี้นะจ๊ะ เป็นชั้น ๆ ๆ เข้าไป จนกระทั่งถึงกายที่เป็นสรณะ ท่านเรียกว่าธรรมกาย 

 


                พุทธรัตนะหรือธรรมกาย คือกายนั้นเป็นธรรมล้วน ๆ หรือประกอบไปด้วยธรรมล้วน ๆ ธรรมก็คือความบริสุทธิ์ มีความบริสุทธิ์ล้วน ๆ ไม่มีสิ่งที่เป็นมลทินเจือเลย เป็นกายที่ปราศจากกิเลสอาสวะ บริสุทธิ์ล้วน ๆ เหมือนทองคำที่ไม่มีมลทิน เพราะฉะนั้นมีอีกคำหนึ่งท่านใช้คำว่า แล่นไป แล่นไปสู่สรณะทั้งสาม เราได้ยินบ่อย คำนั้นก็คือคำว่า "ไตรสรณคมน์" ไตรก็สาม สรณะ คือที่พึ่งไตรสรณคมน์ ที่พึ่งสามอย่าง คมนะ แปลว่า แล่นเข้าไป คือเคลื่อนเข้าไป แล่นไปหาสิ่งทั้งสามที่เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา มีอยู่ในตัวของเรา วิธีที่จะคมนะคือแล่นเข้าไปนั้นน่ะ ท่านให้ทำใจให้หยุดนิ่ง สมณะหยุดน่ะอาศัยหยุดนิ่งอย่างเดียว

 


                เว้นจากหยุดจากนิ่งแล้วคมนะไม่ได้ คือแล่นเข้าไปไม่ได้ แล่นเข้าไปถึงรัตนะทั้งสามไม่ได้มีวิธีขับเคลื่อนเข้าไป แล่นเข้าไปด้วยวิธีหยุดอย่างเดียว ทำใจให้หยุด ใจที่ปลอดกังวล พิจารณาว่าสรรพสิ่งทั้งหลาย ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วก็เลิกอยากลาหยอกออกจากสิ่งนั้น แล้วก็มาหยุดนิ่ง หยุดอยู่ในกลางกาย ในปริมณฑลของใจ พอถูกส่วนก็ถึงจะแล่นไป ถ้าไม่หยุดก็จะไม่แล่นไป นี่แปลก จากประสบการณ์จริง ๆ นั้น เวลาใจเราหยุดนิ่งถูกส่วน มันจะเป็นอย่างนี้นะจ๊ะ พอใจเราหยุดนิ่ง พอนิ่งก็แล่นออกจากกายหยาบเลยทีเดียว คือเคลื่อนเข้าไป จะมีความรู้สึกว่าเราหลุดจากกายหยาบ ความรู้สึกว่ามีตัวตนที่ร่างกายไม่มี เหมือนไม่มีตัวตน ไร้ตัวตน ออกจากที่แคบไปสู่ที่กว้าง เราจะรู้สึก มันโล่ง มันโปร่ง มันเบา มันสบาย ไม่มีร่างกาย 

 


                กายหายไปหมดเลยหยาบ ๆ แล้วก็จะเข้าถึงดวงธรรม คือความบริสุทธิ์เบื้องต้น มันไม่เป็นเหลี่ยม ไม่ดี ไม่ยาว มันกลม ๆ ถึงเรียกว่าดวง แต่เนื่องจากบริสุทธิ์ถึงเรียกว่าดวงธรรม คล้าย ๆ กับดวงแก้วกายสิทธิ์ที่แจกไปนั้นแหละ จะกลมเหมือนดวงแก้วเลย แต่ว่ามันบริสุทธิ์ละเอียดกว่า จึงเรียกว่า ดวงธรรม เมื่อใจหยุดแล้วมันจะเป็นดวงอย่างนั้นแหละที่กลางกาย แล้วพอเราหยุดต่อไปเรื่อย หยุดเข้าไปเรื่อย ๆ พอถูกส่วนเข้าดวงธรรมก็ขยายออก มันก็แล่นต่อไปอีก เข้าถึงอีกดวงธรรมหนึ่ง และเป็นชั้น ๆ อย่างนี้เข้าไปแหละ จนกระทั่งเข้าถึงสุดดวงธรรม ที่จะถึงกายน่ะ 

 


                ท่านเรียกแต่ละดวงธรรมว่า ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ในแต่ละดวงธรรมแล้วก็เข้าถึงกาย กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม เป็นชั้น ๆ เข้าไปเลย ถอดออกเป็นชั้น ๆ แล่นต่อไปเรื่อยด้วยวิธีหยุดอย่างเดียวนั้นแหละ วิธีเดียวในเส้นทาง หนทางสายกลาง วิธีเดียว เส้นทางเดียวที่เรียกว่า "เอกายนมรรค" หนทางเดียว วิธีเดียว เข้าสู่เส้นทางที่มีหนึ่งเดียว เป็นเส้นทางสายกลางของพระอริยเจ้า เป็นเส้นทางเดียวที่จะหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะที่บังคับครอบงำ บังคับบัญชาเราอยู่ ให้มีความโลภ มีความโกรธ มีความหลง พอมีสิ่งนี้เค้าก็บังคับให้สร้างกรรม ให้ฆ่ามั่ง ให้ลักทรัพย์ ให้ประพฤติผิดในกาม พูดปด ดื่มสุราเมรัยอะไรเหล่านี้เป็นต้น 

 


                ให้กระทำอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการอย่างนั้น คือทุจริตทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ บังคับ เมื่อบังคับให้ทำแล้วก็มีวิบาก มีผล ผลของการกระทำนั้น ถ้าบาปมากก็ภพเค้าก็สร้างภพขึ้นมารองรับทีเดียว สร้างกายไว้ในภพนั้น ที่พอเหมาะกับบาปศักดิ์สิทธิ์ที่เค้าบังคับได้ คือความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น บังคับไปได้แค่ไหน ก็สร้างภพเอาไว้เลย แล้วก็สร้างกายรองรับ พอถึงกายถอดกายได้ก็ดึงดูดไปสู่ภพภูมินั้น ภูมิของทุคติ แล้วก็ให้วนเวียนกันอยู่อย่างนี้แหละ วนเวียนด้วย บังคับบัญชาให้เสวยทุกข์ และไม่ให้รู้ไม่ให้เห็นเลยทีเดียว หุ้มไว้หมดเลยหุ้มบังคับบัญชาไว้ไม่ให้รู้เห็นทางออก ปิดบังอย่างนั้นตลอดหมดเลย ที่เราเรียกว่าอวิชชาน่ะไม่รู้เลย เพราะมีสิ่งเหล่านี้มันบังคับอยู่ จะหลุดได้มีหนทางเดียวเท่านั้นคือหยุดกับนิ่ง อย่างที่กล่าวมาแล้วนี้แหละ 

 


                พอหยุดแล้วใจมันจะแล่น หลุดไป หลุดไปทีละชั้น เป็นชั้น ๆ ๆ เข้าไปเลย จะมีกระแสบุญ จากแหล่งกำเนิดของบุญที่บริสุทธิ์ จากที่สุดแห่งธรรมนั้นแหละ เค้าส่งกระแสมาดูด เมื่อเราเชื่อมโยงตรงกลางฐานที่ ๗ ใจก็จะถูกดึงดูดให้แล่นเข้าไปสู่ข้างใน หลุดจากหยาบไปถึงละเอียด ไอ้ที่เค้าบังคับหยาบก็หลุด เข้าไปติดที่ละเอียด ไอ้ที่เค้าเข้าไปบังคับที่ละเอียดก็จะ เมื่อเราหยุดถูกส่วนก็จะถูกดึงหลุดเข้าไปอีก ไปสู่ที่ละเอียดกว่า เป็นอย่างนี้เข้าไปเป็นชั้น ๆ เข้าไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงกายธรรมอรหัต กายธรรมอรหัตก็หลุดร่อนจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย อาศัยวิธีหยุดกับนิ่งอย่างเดียว แล่นเข้าไปข้างใน ถูกดึงเข้าไปข้างใน เคลื่อนเข้าไปข้างใน เคลื่อนไปก็ขยายกว้างออกไปเรื่อย ขยายกว้างออกไป ไปสู่จุดที่ละเอียดที่เค้าบังคับบัญชาไม่ได้ อาศัยการหยุดกับนิ่งอย่างเดียว 

 


                เพราะฉะนั้นหยุดนี้จึงสำคัญ เป็นตัวสำเร็จให้เราได้หลุดพ้นจากกิเลสจากอาสวะ จากที่เค้าบังคับบัญชา จากสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เข้าถึงสิ่งที่เที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตา เป็นตัวตนที่แท้จริงคือธรรมกายนั่นเอง มันจะแล่นเข้าไปด้วยวิธีการอย่างนี้ แต่ปัจจุบันนี้มนุษย์ไม่ค่อยจะรู้เรื่องกัน เพราะว่าพอเกิดขึ้นมาเจออย่างไรเค้าก็ทำอย่างนั้น ในโลกนี้เค้าสอนแต่วิธีการทำมาหากินกัน การแข่งขันแก่งแย่งชิงดีกันไป คือตั้งโจทย์ผิด ตั้งเป้าผิด ตั้งเป้าว่าต้องมีต้องเป็นต้องอะไรสารพัดอย่างนั้น เพราะฉะนั้น มันจึงหลุดจากเป้าหมายเดิม เป้าหมายเดิมนั้นต้องหลุดต้องพ้น ต้องเข้าถึงที่สุดแห่งธรรม ซึ่งเป็นเอกันตบรมสุข สุขอย่างเดียว มันเบี่ยงกันตรงนี้นะจ๊ะ มันจะเบี่ยงกันตรงนี้ ตรงที่เค้าบังคับให้เกิดความรู้สึกต้องมี ต้องเป็น แต่กระแสแห่งบุญนั้นต้องหลุดต้องพ้น จากที่เค้าบังคับบัญชาและไปถึงที่สุดแห่งธรรม มันจะต่างกันตรงนี้ เราจะทราบอย่างนี้ได้ก็ต่อเมื่อเราเริ่มฝึกใจของเราให้หยุดนิ่ง 

 


                หยุดนิ่งแล้วก็ พอถูกส่วนก็จะค่อย ๆ เริ่มเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย เมื่อใจมันเริ่มโล่ง โปร่ง เบาสบาย เข้าถึงความสว่างภายใน เข้าถึงดวงธรรมภายใน เข้าถึงกายภายใน เข้าถึงธรรมกาย พอเข้าถึงธรรมกายก็เกิดธรรมจักขุ มองเห็นได้รอบตัว ทุกทิศทุกทางเห็นทั้งในอดีต ปัจจุบัน และก็ในอนาคต รู้ว่าเราเกิดมาจากไหน เรามาทำไม อะไรคือเป้าหมาย เกิดธรรมจัก รู้จักสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ท่านใช้คำว่ารู้จักธรรมทั้งปวง รู้จักธรรมทั้งปวง อันไหนอกุศล อันไหนเป็นกุศล อันไหนเป็นอัพยากตาธรรม อันไหนเป็นบุญเป็นบาป หรือเป็นกลาง ๆ นี่รู้จักหมดเลย คือเห็นด้วยธรรมจักขุ และก็หยั่งรู้ด้วยญาณทัสสนะ เกิดญาณขึ้นมามีดวงตาเห็นก่อน แล้วก็เกิดการหยั่งรู้เป็นปัญญา เป็นวิชชา แสงสว่างไปพร้อมกันไปเลย นี่เมื่อใจเราหยุดอย่างนี้นะจ๊ะ 

 


                เราก็จะฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง พร้อมกับฟังเรื่องราวของ ชีวิตของเราไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นเรื่องที่หลวงพ่อพยายามปลูกฝังซ้ำ ๆ ซาก ๆ บ่อย ๆ มาเป็นเวลายาวนานหลายสิบปีเนี่ย ปลูกฝังเพื่อให้เราได้รู้จักเรื่องราวแผนผังของชีวิต รู้จักวิธีการทำใจให้หยุดให้นิ่งน่ะ ซ้ำแล้วซ้ำอีกก็เพื่อให้เราเข้าไปถึงจุดที่เราจะได้รู้แจ้งเห็นแจ้งด้วยตัวของเราเอง เกิดธรรมจักขุ เกิดญาณทัสสนะ เกิดปัญญา เกิดวิชชา แล้วก็เกิดแสงสว่าง อยากให้เกิดขึ้นด้วยตัวของตัวเอง ในวันที่ประกอบพิธีบูชาข้าวพระ จะต้องทำอย่างนี้ไปด้วย ไอ้ที่ทำมาอย่างสม่ำเสมอ บางท่านก็เข้าใจ บางท่านก็ไม่ค่อยเข้าใจ มันก็เป็นยังงี้อยู่ เพราะฉะนั้นก็อาศัยความเพียรความพยายามกัน จะเข้าใจแจ่มแจ้งต่อเมื่อเรามีความสมัครใจน่ะ ที่จะเรียนรู้อย่างแท้จริง ที่ต้องเรียนรู้เพราะว่ามันเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวของเรา เป็นชีวิตของเรา เป็นเรื่องที่ไม่รู้ไม่ได้ ไม่รู้ชีวิตไม่ปลอดภัย 

 


                เพราะไม่รู้จะทำยังไงให้มันถูกตรง กับวัตถุประสงค์ของการที่ ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เราจะต้องมีความสมัครใจตรงนี้ ว่ามาปฏิบัติธรรมทำใจหยุดนิ่งนี้เนี่ย เพื่อตัวของเราเอง คิดอย่างนี้บ่อย ๆ ก็จะเกิดฉันทะ เกิดความรัก เกิดความปรารถนา กระหายที่จะรู้ อยากจะรู้จักตัวของตัวเองอย่างแท้จริง อยากจะเรียนรู้คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยากศึกษาวิชชาธรรมกาย และต่อจากนั้นไป วิริยะความเพียรมันก็จะเป็นไปเอง คือจะมีความขยันขึ้นมาเอง ความขยันที่เกิดขึ้นด้วยความเต็มใจสมัครใจ จะไม่มีข้ออ้าง ข้อแม้หรือเงื่อนไขว่าต้องให้ว่างก่อน ต้องให้พร้อมซะก่อน ต้องให้รวยเสียก่อน ต้องให้ลูกจบเสียก่อน ต้องให้หมดหนี้เสียก่อน อะไรอย่างนี้เป็นต้น จะไม่มีข้ออ้างเหล่านี้ แล้วจึงทำ มันจะเกิดความขยันเกิดความเพียร ไม่คิดว่าอะไรเป็นอุปสรรค 

 


                คิดว่าเราทำเพื่อจะได้รู้แจ้งเห็นจริงเหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านทิ้งราชสมบัติ แสวงหาหนทางพ้นทุกข์ด้วยความสมัครใจ เพราะฉะนั้นท่านจึงทำความเพียรกันอย่างเอกอุทีเดียว ทำอย่างอุกฤต เนื้อเลือดจะแห้งเหือดหายไป เหลือแต่กระดูกหนังช่างมัน ไม่ได้ตายเถอะ หรือเหมือนอย่างหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านก็เกิดความรู้สึกกระหายอยากจะหลุดอยากจะพ้น อยากจะรู้เห็นธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ท่านตรัสรู้ธรรมอย่างไร ถ้ารู้แล้วเห็นแล้วจะเป็นทนายแก้ต่างให้กับพระพุทธศาสนา ท่านเกิดความรู้สึกอย่างนี้ ฉันทะจึงเกิด วิริยะจึงตามมา หลังจากนั้น จิตตะก็ต่อเนื่อง ก็ทยอยกันต่อเนื่องกันมาเลย คือจะนึกคิดกันอย่างนี้ทั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับทั้งตื่น หลับก็ฝันว่าตัวเองปฏิบัติธรรม ตื่นมาก็จดจ่อ ตรึกทั้งวันทั้งคืนทีเดียว 

 


                ตรึกที่กลางกาย ตรึกตลอดเวลาเลย พอตรึกไปแล้ว ทำด้วยวิธีการอย่างนี้แล้ว ทำไมถึงไม่ได้ผล หรือวันนี้ได้ผล ทำไมมันไม่ดีอย่างเมื่อวานนี้ ก็จะเกิดวิมังสา เกิดการสังเกตขึ้นมา ว่าเราจะมาปรับปรุงวิธีการอย่างไรถึงจะถูกต้อง ที่จะให้ใจนั้นมันถูกส่วน ถูกส่วนแล้วจะได้เข้าถึงก็จะเกิดวิมังสา คุณธรรมสี่ประการก็จะมาพร้อม ๆ กัน และก็จะไปพร้อมกันจะขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ เหมือนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยสี่ล้อน่ะ ขาดล้อใดล้อหนึ่งก็ไปไม่ถึงที่หมาย คุณเครื่องแห่งความสำเร็จ หรืออิทธิบาทสี่ก็จะเกิดขึ้น อย่างต่อเนื่องกันไปอย่างนี้แหละ 

 


                เมื่อทำอย่างนี้เข้าเดี๋ยวเราก็จะรู้เรื่องราวทั้งหมด ด้วยตัวของเราเอง เมื่อเรารู้เห็นแล้วความสงสัยที่มีอยู่มันก็จะหมดไปดับไป แล้วเราก็จะได้ตั้งเป้าหมายกันอย่างแท้จริงว่าแต่เดิมเราได้ยินว่าชีวิตเราไปสิ้นสุดที่อายตนนิพพาน ต้องทำพระนิพพานให้แจ้ง เราได้ฟังดูเหมือนจะเข้าใจ แต่จริง ๆ แล้วยังไม่แจ่มแจ้ง ยังไม่ซาบซึ้ง แต่เมื่อไหร่เราเข้าถึงพระธรรมกายในตัว เมื่อถึงแล้วเราก็จะซาบซึ้ง การตั้งเป้าหมายไปสู่อายตนนิพพานหรือการกระทำพระนิพพานให้แจ้งมันก็จะเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ ด้วยความเต็มใจทีเดียว ฉะนั้นนี่เป็นเรื่องสำคัญนะจ๊ะ

 


                เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้ ต่อจากนี้ไปเราจะได้ตั้งใจ ทำใจของเราให้มันหยุดให้มันนิ่ง นั่งอยู่ภายใน เพื่อจะให้เข้าไปถึงรัตนะทั้งสามนะจ๊ะ ให้สมมติว่ากำหนดนึกหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น เส้นหนึ่งขึงให้ตึงจากสะดือทะลุไปข้างหลัง อีกเส้นหนึ่งให้ขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม ตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสองตรงนี้เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ให้ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ สมมติเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อน และนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสอง สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ กึ่งกลางกายของเราตรงนั้นน่ะ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จำให้ดีนะจ๊ะ ตำแหน่งที่เหนือจากจุดตัดของเส้นด้ายทั้ง ๒ ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ อยู่ในกลางท้องพอดี เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗    

 


                เพราะฉะนั้นถ้าหลวงพ่อพูดถึงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ท่านที่มาใหม่นะจ๊ะ ให้เข้าใจว่าหลวงพ่อหมายเอาตรงนี้นะ ตรงตำแหน่งที่เหนือจากจุดตัดของเส้นด้ายขึ้นมา ๒ นิ้วมือ สองนิ้วมือโดยประมาณนะ อยู่ตรงนี้แหละของใครของมัน ของท่านหญิงก็ของท่านหญิง ของท่านชายก็ของท่านชาย อยู่ตรงเนี้ยะ นั่นคือฐานที่ ๗ ให้กำหนดเครื่องหมาย เครื่องหมายก็คือเครื่องที่ยึดที่เกาะของใจเรา ไม่อย่างนั้นเราไม่ทราบว่าฐานที่ ๗ จะอยู่ประมาณไหน เราจะไม่ทราบ 

 


                ต้องกำหนดเครื่องหมายคือที่หมายว่าฐานที่ ๗ อยู่ตรงนี้เนี่ย กำหนดให้นึกถึงเพชรลูก เพชร เพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมวโตเท่ากับแก้วตาของเราหรือขนาดที่เราชอบ แต่หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านสอนให้โตขนาดแก้วตาของเรา แต่ถ้าไม่เคยสังเกตแก้วตาก็เอาเท่าที่เราชอบ โตแค่ไหนก็เอาเท่าที่เรานึกได้นะจ๊ะ กำหนดเครื่องหมายให้ใสสะอาด ท่านใช้คำว่าให้ใสสะอาด กำหนดเครื่องหมายให้ใสสะอาด บริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา 

 


                กำหนดเครื่องหมายที่ใสสะอาด ต้องใสนะ ทึบเป็นถ่านไม่เอา หรือแข็งเป็นหินกระด้างก็ไม่เอา ทึบ ๆ มัว ๆ สลัว ๆ อย่างนั้นไม่เอา ท่านบอกว่าให้กำหนดเครื่องหมายให้ใส บริสุทธิ์ นึกถึงเพชรนะที่มันใสอย่างไร กระทบแสงใสอย่างไร ให้ใสบริสุทธิ์ กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว โตเท่ากับแก้วตา โตเท่ากับแก้วตา พูดง่าย ๆ คือให้กลม ๆ และให้โตเท่าแก้วตาหรือที่เราชอบโตแค่ไหน เพราะว่ามันแค่เป็นเครื่องหมายให้ใจเราอยู่ตรงนี้ แทนที่ใจเราจะไปอยู่ที่คน ที่สัตว์ ที่สิ่งของ ที่เรื่องราวอะไรต่าง ๆ น่ะ ให้มาอยู่ที่เครื่องหมายตรงนี้ตรงที่ฐานที่ ๗ ในกลางท้อง และท่านสอนต่อว่าให้เอาใจตรึกนึกถึงดวงใส นึกถึงดวงใส คือนึกถึงดวงนี้ตลอดเวลา อย่างสบาย ๆ แล้วก็เอาใจหยุดที่กลางดวงใส ก็หมายถึงว่าไอ้ดวง ๆ ที่มันเป็นเครื่องหมาย มันมีตรงกลางกับมันมีขอบ ไอ้ตรงขอบ ๆ ที่เป็นเส้นรอบวงน่ะอย่าไปนึก ให้ตรึกไปที่ตรงเซนเตอร์หรือตรงศูนย์กลางของเครื่องหมาย 

 


                วัตถุประสงค์ท่านต้องการให้ทำใจเล็ก ๆ อยู่นิ่ง นิ่งในจุดกึ่งกลางของสิ่งของ เพราะเป็นจุดที่มั่นคงที่สุด มันไม่หมิ่นเหม่เหมือนเรานั่งริม ๆ ถ้าไปกำหนดขอบ ๆ อย่างนั้นไม่ถูกวิธีนะจ๊ะ กำหนดเครื่องหมายให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตา ให้เอาใจตรึกนึกถึงดวงใสหยุดไปที่กึ่งกลางความใส ท่านที่มาใหม่นะ นึกตามไปนะจ๊ะ ถ้าเรานึกใสเหมือนเพชร ไม่ได้ก็ให้ใสเหมือนกระจกที่ส่องเงาหน้า เวลากระทบแดดเป็นยังไงก็เป็นอย่างงั้นแหละ หรือใสเหมือนน้ำค้างที่ปลายยอดหญ้า หรือน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว เหมือนน้ำใส ๆ อย่างนั้นก็ได้นะจ๊ะ 

 


                ให้ใจหยุดนิ่งเฉยๆ อย่างสบาย ๆ มีคำว่าสบายมาอีกนะอย่างสบาย ๆ แล้วก็ทำใจเย็น ๆ คืออย่าไปใจร้อน ทำเป็นอึดอัดนั่งโมโหโทโส ไปเค้นภาพให้มันเกิดขึ้น ไม่ใช่นะจ๊ะ คำว่ากำหนดก็คือนึกสร้างมโนภาพว่ามีภาพเป็นดวงแก้วใส ๆ อยู่ตรงนี้ ที่ใสเหมือนกับเพชร แล้วก็เอาใจหยุดไปตรงกลาง แล้วท่านก็บอกต่อไปอีกว่าพร้อมกับภาวนาว่า สัมมาอะระหัง ๆ ๆ คือให้ภาวนา กล่าวถ้อยคำอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่ง มีความหมายว่าให้ทำให้ดี ให้ทำให้ถูก ให้ชอบ 

 


                สัมมา แปลว่า ชอบ ให้มันถูกต้อง ถูกวิธี อรหังแปลว่า ก็จะห่างไกลจากกิเลสจากสิ่งเศร้าหมองจากสิ่งไม่ดี จากสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งหมด เป็นถ้อยคำอันศักดิ์สิทธิ์ทีเดียว ที่สืบเนื่องกันมายาวนาน ให้ภาวนาว่า สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ภาวนาไปเรื่อย ๆ จะกี่ครั้งก็ได้ โดยท่านใช้คำว่าจะสิบครั้ง ร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้งก็ภาวนาไปเรื่อย จนกว่าใจจะหยุด พอใจหยุดก็ให้เลิกภาวนา นี่ท่านสอนอย่างนี้นะ ไม่ใช่ว่าภาวนาตลอดชาติ ภาวนาไปจนกว่าใจจะหยุด คือเลิกฟุ้งเลิกคิดเรื่องอื่น มีแต่เรื่องเดียวในใจคือดวงใส ๆ ถ้าอย่างนี้แล้วก็หยุดภาวนา และในแง่ของประสบการณ์จริง ๆ พอใจหยุดจริง ๆ คำภาวนาก็หายไปเอง คือหายไปเองเหลือแต่ดวงใสแจ่มอยู่ในกลางกาย ก็ภาวนาไปจนกว่าใจจะหยุด หรือพอใจหยุดมันก็หยุดคำภาวนาไป คำภาวนาก็จะหายไปเอง       

     


                คำภาวนามันก็จะใช้เป็นประดุจยานพาหนะ ดึงใจให้พ้นจากความสับสนวุ่นวาย คิดไปในเรื่องราวต่าง ๆ มาหยุดนิ่งอยู่ที่กลางเครื่องหมาย นิ่ง วัตถุประสงค์มีแค่นี้เหมือนรถหลาย ๆ ผลัดที่ส่งกันต่อกันมา หรือเรือที่ส่งพายมาถึงฝั่งแล้ว พอพายมาถึงฝั่งแล้วก็จอดเรือริมฝั่ง เดินขึ้นฝั่งโดยตัวของเราเอง ไม่ใช่แบกเรือขึ้นฝั่งไปด้วย คือเมื่อใจหยุดนิ่งก็ทิ้งคำภาวนาเลย และในแง่ของการปฏิบัติคือมันทิ้งคำภาวนาแล้วใจมันก็หยุดนิ่ง 

 


                พอนิ่ง ทีนี้ใจก็ตรึกนิ่งอยู่กลางดวงนิ่ง ใจจะหยุดนิ่งเห็นดวงใสแจ่มทีเดียว คำว่าแจ่มก็หมายถึงว่าเหมือนเราดึงเอาของที่อยู่ในที่มืดมาอยู่กลางแจ้ง คือมันแจ่มแจ้งเลย พอมาอยู่ที่แจ้งก็เห็นชัดว่าดวงมันมีลักษณะอย่างนี้น่ะ กลมบริสุทธิ์ กลมเป็นความกลมที่เรามีความรู้สึกว่ากลมกว่าของกลม ๆ ข้างนอก กลมใสบริสุทธิ์ อย่างนี้ถูกวิธีแล้ว ท่านก็ให้รักษาต่อไปคือให้หยุดนิ่งอยู่ในกลางดวงธรรมนั้นแหละ หยุดนิ่ง ทั้งวันทั้งคืนเลยนะจ๊ะ

 

                ตอนนี้เราก็หยุดนิ่ง หยุดอย่างเดียวไม่ต้องไปคิดเรื่องอะไรเลย หยุดในกลางนั่นแหละ หยุดนิ่ง นิ่งต่อไปอีก หยุดต่อไป พอถูกส่วนเข้า เดี๋ยวดวงขยายกว้าง ขยายไปเองไม่ต้องไปนึกขยาย ไม่ต้องใช้กำลังอะไรเลย ถ้าถูกส่วนแล้วก็จะขยายไปเอง ถ้านึกขยายนั้นมันยังไม่ถูกส่วน ถ้าถูกส่วนแล้วมันวูบเข้าไปข้างในเลย ขยายกว้าง และเดี๋ยวก็จะเห็นกายในกายเป็นอย่างนี้เรื่อยนะจ๊ะ ตรึกในกลางดวงใส พร้อมกับภาวนา สัมมาอะระหัง ๆ ๆ เรื่อยไปเลย ทำอย่างนี้นะ 

 


                ส่วนท่านที่มาสม่ำเสมอแล้วนี่ เข้าถึงดวงธรรมก็หยุดในกลางดวงธรรม เข้าถึงกายภายในก็หยุดในกลางกายภายใน เข้าถึงองค์พระก็หยุดที่กลางองค์พระ หยุดเข้าไปเรื่อย ๆ ต่างคนก็ต่างทำกันไปเงียบๆ นะจ๊ะ ใจเรายังหยุดนิ่งอยู่ที่เดิม ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ใจเราจะต้องนิ่งอยู่ที่ตรงนั้นที่ฐานที่ ๗ และถ้าเราสามารถหยุดนิ่งอยู่ที่ฐานที่ ๗ ได้ตลอดเวลาได้ยิ่งดี กระแสธารแห่งบุญจะไหลหลั่งจากที่สุดแห่งธรรม มาถึงที่ตัวเราตลอดเวลาเลย ถ้าใครสามารถทำอย่างนี้ได้ ถ้าหากว่าใครอยากได้บุญมากก็ทำอย่างนี้นะจ๊ะ 

 


                ถ้าอยากได้บุญปานกลางก็ทำมั่งไม่ทำมั่ง หรือถ้าไม่อยากได้ก็ขี้เกียจทำก็แล้วแต่ว่าเราจะเลือกเอา เพราะฉะนั้นเอาใจหยุดนิ่งนะ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้แหละ พระพุทธเจ้าเอาใจหยุดตรงนี้ตลอดเวลาเลย สมณะหยุด คำนี้ลึกซึ้งนะ ไม่ใช่เผิน ๆ ว่าต้องหยุดเดิน หยุดวิ่ง ถึงจะเรียกว่าหยุด ต้องหยุดเคลื่อนไหวร่างกายถึงจะเรียกว่าหยุด ก็ไม่ใช่ ต้องหยุดภายใน เพราะยิ่งหยุดก็จะยิ่งแล่น แล่นเข้าไปสู่ภายในเรื่อยไปเลย ที่เค้าหยุดกันมาเจ็ดวันเจ็ดคืนไม่ถอนถอยเลย ที่เราเรียกว่า เข้านิโรธสมาบัตินั่นน่ะ ก็หยุดอย่างเดียวนี้แหละ 

 


                หยุดเข้าไปเรื่อย หยุดนิ่งแล้วก็มันพุ่งเข้าไปข้างใน พุ่งขยายเข้าไปเรื่อยไม่ซ้ำที่เลย ไม่ซ้ำสมาบัติ ไม่ซ้ำที่ ไม่ซ้ำโลกุตตรสมาบัติ ไปเรื่อยเลย เจ็ดวันก็ถอยออกมา ถอยออกมาก็เข้าถึงจุดแห่งบุญศักดิ์สิทธิ์ทีเดียว เจ็ดวันนั้นจะไปถึงแหล่งแห่งบุญอันศักดิ์สิทธิ์ เวลาออกมาก็ดึงเอาบุญศักดิ์สิทธิ์นั้นออกมาด้วย และก็ตรวจตราดูว่าใครจะมีบุญลาภได้บุญศักดิ์สิทธิ์ตรงนี้ ที่เมื่อใครได้สร้างมหาทานบารมี ใจเป็นกุศล ตักบาตรทัพพีเดียวลงไปในบาตรของพระที่เข้านิโรธสมาบัติถึงแหล่งกำเนิดของบุญศักดิ์สิทธิ์กระทั่งดึงเอามาใช้ได้น่ะ 

 


                พอถวายทานขาดจากใจ ข้าวตกลงไปในบาตรบุญก็แล่นจากพระอริยองค์นั้นสู่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของผู้มีบุญลาภนั้นเลย บุญก็เหมือนชาร์จแบตเตอรี่นั่นแหละ อัดเข้าไปเต็มที่เลย ปรารถนาอะไรก็สมความปรารถนา ทันตาเห็นทีเดียว นั้นแหละต้องเจ็ดวันถึงจะไปถึงแหล่งของบุญศักดิ์สิทธิ์ ถ้าทำขยักขย่อนยังไงมันก็ไม่ถึง ต้องโน้นแน่ะ ไม่ถอนถอยเลย เพราะบุญศักดิ์สิทธิ์โน้น อยู่ที่ละเอียดมาก ต้องหยุดในหยุด ๆ หยุด หยุดเข้าไปเรื่อยเลย หยุดเข้าไปเรื่อย ไม่มีหยั่งเลย พอไปถึงแหล่งบุญศักดิ์สิทธิ์ก็อยู่ตรงนั้นเลย นิ่ง อยู่ตรงกลางแหล่งบุญศักดิ์สิทธิ์ แหล่งบุญศักดิ์สิทธิ์นี่เค้ามีภพอยู่นะ มีผู้รักษาบุญศักดิ์สิทธิ์ มีผู้ปกครองบุญศักดิ์สิทธิ์ทีเดียว 

 


                พอเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับท่านได้ก็เอาบุญอันศักดิ์สิทธิ์นั้นมาใช้ได้ เขาทำกันอย่างนี้น่ะ นี่ถ้ามารกันไม่อยู่ละก้อจะไปเอาบุญศักดิ์สิทธิ์ เอามาให้ลูกทุกคนเป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญทันตาเห็นเลยทีเดียว แต่นี่เค้ายังกีดยังกันยังขวางอยู่ แม้เห็นหนทางอยู่แต่เค้ายังกันอยู่ ยังสู้กันอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าจะให้สู้ได้เร็วก็ต้องรีบปลดภารกิจของหลวงพ่อให้หมดไปเร็ว ๆ กำลังกังวลใจเกี่ยวกับเรื่องการสร้างวิหารพระมงคลเทพมุนี ธรรมกายเจดีย์อะไรเหล่านี้เป็นของหยาบ ๆ ตรงนี้อยู่นิดหนึ่ง ถ้าหลุดตรงนี้ได้เดี๋ยวสนุกกันใหญ่เลย เพราะฉะนั้นตอนนี้ให้เอาใจหยุดให้ดีนะ หยุดให้นิ่ง หยุดให้สนิท  

 


                การบูชาข้าวพระก็คือ การนำเครื่องไทยธรรมทั้งหลาย อันมีดอกไม้ธูปเทียน อาหารหวานคาว คนละเล็กละน้อย มาจากบ้านแล้วก็มารวมประชุมกันที่นี่ เอามากลั่นให้ละเอียดบริสุทธิ์เท่าพระธรรมกาย ทำความละเอียดจนกระทั่งเท่ากับอายตนนิพพาน ก็จะถูกอายตนนิพพานดึงดูดไปสู่กลางอายตนนิพพานนั้น และก็ทับทวีเครื่องไทยธรรมถวายเป็นพุทธบูชา แด่พระธรรมกายของพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพาน ทับทวีถวายไม่ซ้ำธาตุซ้ำธรรมไม่ซ้ำพระองค์ทีเดียว การทำอย่างนี้เรียกว่าการบูชาข้าวพระ 

 


                ไม่ได้หมายถึงพระพุทธเจ้าท่านจะขบฉันแบบพระสงฆ์อย่างนี้นะ ถวายเป็นพุทธบูชาไปถึงองค์ท่านนับไม่ถ้วนทีเดียว ที่เข้านิพพานไปตั้งแต่เก่า ๆ แก่ ดึกดำบรรพ์โน้น มีกายใหญ่โตหนักขึ้นไปเรื่อย ๆ ทีเดียว ใหญ่ขนาดขนเส้นหนึ่งแทงลงมาในภพสามไม่ได้ ทับทวีขึ้นไปอย่างนั้น เรียกว่าบูชาข้าวพระ บุญใหญ่ก็จะเกิดขึ้นกับพวกเรา เป็นบุญมหาศาลที่จะส่งผลให้สร้างบารมีสะดวกสบายไปทุกภพทุกชาติ ไปกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม จะท่องเที่ยวอยู่ในสองภูมิระหว่างมนุษย์และเทวโลกสมบูรณ์พร้อมด้วยสมบัติทั้งสาม คือรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ และก็ลาภยศ สรรเสริญ สุขต่าง ๆ ที่ปราณีต ที่มีพลัง มีอานุภาพ ทำให้สร้างบารมีได้ดียิ่งกว่าภพนี้ ชาตินี้ ไปอย่างนับเท่าไม่ถ้วนทีเดียว กระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม 

 


                นี่ไม่ใช่บุญเล็กบุญน้อยนะ ถ้าเทียบดูในจักรวาลที่เราเห็นว่ามีวัตถุ สิ่งของ มีโลก มีดวงดาว มีอะไร ที่เคว้งคว้างเต็มไปหมด ถ้าเอาสิ่งเหล่านี้กวาดออกไปให้หมด เหลือแต่ที่โล่ง ๆ ว่าง ๆ เต็มไปด้วยบุญทั้งหมดเลย นี่เปรียบเทียบให้ฟังนะ นั่นแหละบุญจากการบูชาข้าวพระนะจ๊ะ จะบังเกิดขึ้นกับเรา บุญนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เรามองเห็นไม่ได้ด้วยมังสะจักษุ ด้วยตาเนื้อ จับด้วยมือไม่ได้ แต่เห็นได้ด้วยธรรมจักขุ รู้ได้ด้วยญาณทัสสนะ เป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสุข ความสำเร็จในชีวิตของมนุษย์ทั้งหมด 

 


                ตั้งแต่ปุถุชนกระทั่งถึงความเป็นพระอริยเจ้าทีเดียว เพราะฉะนั้นบางคนเค้าบอกว่า เพราะเค้าขยันหมั่นเพียรทุ่มเทด้วยความเหน็ดเหนื่อยจึงประสบความสำเร็จเป็นมหาเศรษฐีอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น หรือประสบความสำเร็จในชีวิตอะไรนั่นแหละเค้าพูดถูกส่วนหนึ่ง ในสิ่งที่เขาตาเห็น แต่ในอีกส่วนหนึ่งเขามองไม่เห็นเค้าพูดไม่ถูก รู้ไม่ถึง แต่จริง ๆ แล้วมันต้องเป็นอย่างนี้ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่อยู่ภายในลึก ๆ เป็นสิ่งที่ลึกลับทีเดียว ซึ่งจะต้องเข้าถึง เกิดธรรมจักขุญาณทัสสนะจึงจะเข้าใจ เพราะฉะนั้นบุญนี้เป็นสิ่งที่สำคัญนะ เป็นทั้งที่พึ่งทั้งในโลกนี้ โลกหน้า และทุกชาติไปเลย

 


                คุณยายก็ทับทวีกราบทูลพระพุทธเจ้า ขอบุญบารมี รัศมี กำลังฤทธิ์ อำนาจสิทธิเฉียบขาด ให้ถึงกับลูก ๆ ทุก ๆ คน ทั้งภายในและต่างประเทศ ให้เป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ ให้เข้าถึงวิชชาธรรมกาย ให้มีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง อายุยืนยาว สร้างบารมีไปนาน ๆ ประกอบธุรกิจการงานอันใดก็ขอให้ประสบความสำเร็จเป็นอัศจรรย์ทีเดียว ที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ก็ให้สอบได้เป็นบัณฑิต เป็นนักปราชญ์ ที่เป็นข้าราชการ ก็ให้ทำงานให้บรรลุเป้าหมายให้ไปให้สุดสายของราชการนั้นเลย ที่เป็นนักธุรกิจก็ให้ซื้อง่ายขายคล่องกำไรงาม อุปสรรคต่าง ๆ นานาให้มลายหายสูญ เมื่อมีทรัพย์แล้ว มีสมบัติแล้วก็ให้มาสร้างบารมีเอาบุญติดตัวไปในภพเบื้องหน้า คุณยายทราบทูลพระพุทธเจ้าไปอย่างนั้น ให้ซ้อนให้เต็มที่เลย ทับทวีไปพวกเราเจ้าของบุญก็อธิษฐานจิตกันให้ดีนะ ให้ใจหยุดนิ่งให้ดี 

 

 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.040042082468669 Mins