ทำอย่างนี้สิ !

วันที่ 12 มิย. พ.ศ.2567


670612_b06.jpg

 

ทำอย่างนี้สิ!


          ที่เรามาเรียนพยาบาลกันนี้ ไม่ว่าจะเรียนเพราะรักอาชีพ นี้หรือมาเรียนเพราะเหตุใดก็ตาม หลวงพ่อขอฝากข้อคิดไว้ว่า เนื่องจากทุกคนจะต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ เพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายในเรื่องปัจจัยสี่คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค ซึ่งเป็นของจำเป็นในชีวิต แต่เราจะคิดว่าเราทำงานเพียงเพื่อให้ได้เงินมาเท่านั้นหรือ

 

           ไม่ใช่นะ เราต้องมีจุดมุ่งหมายที่ยิ่งกว่านั้นคือ ในการทำงานเราควรตั้งจุดมุ่งหมายว่า จะสร้างบุญติดตัวไปด้วย ดังที่หลวงพ่อได้พูดไว้ตอนแรกแล้วว่าแต่ละวิชาชีพนั้นมีจุดที่ทำให้เกิดบาปได้ จึงต้องตั้งใจทำงานอย่างระมัดระวัง รู้จัก สร้างสมบุญติดตัวไป มิฉะนั้นบาปจะท่วมตัว และ ทุกอาชีพก็มี โอกาสที่จะโกยบุญได้เท่ากับหาบาปเหมือนกัน

 

           วิธีทำงานให้ได้ทั้งงานได้ทั้งบุญขอยกตัวอย่างเรื่องของความฉลาดคิดขณะทำงาน ที่ได้ทั้งงานและได้ทั้งบุญ สักเรื่องที่วัดพระธรรมกายมีคนงานอยู่ประมาณ 300 คน ในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับต้นไม้ประมาณ 100 คนเศษ มีหน้าที่ปลูกต้นไม้และดูแลสถานที่ วันหนึ่งขณะที่คนงานกำลังปลูกต้นไม้ หลวงพ่อได้เข้าไปถามคนงานเหล่านั้นว่า

 

“ไอ้หนูเอ๊ย เราปลูกต้นไม้อยู่นี่ เรานึกอย่างไรบ้าง”

คนงานคนที่ 1 ตอบว่า “ก็นึกให้มันโตวันโตคืน อย่าตายเลย เดี๋ยวต้องปลูกซ่อมกันอีก”

 

คนงานคนที่ 2 ตอบว่า “เวลาหนูปลูกต้นไม้ นอกจากหนูจะคิดให้มันโตวันโตคืนแล้วยังขอให้มีร่มหนา ๆ ด้วย เวลาใครเขามานั่งสวดมนต์ นั่งสมาธิใต้ร่มไม้จะได้เย็นชื่นใจ”

 

            นับว่าเจ้าเด็กคนที่สองนี้ฉลาด คือนอกจากจะคิดให้ต้นไม้โตไว ๆ แล้ว ยังจะมีจิตเมตตา คิดถึงความสุขสบายของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอีกด้วย ในขณะที่คนแรกปลูกต้นไม้โดยคิดเพียงแต่จะให้มันโตวันโตคืน เขาก็จะได้รับแต่เงินค่าตอบแทนที่ทำตามหน้าที่เท่านั้นแต่คนที่ 2 นี้เนื่องจากแกคิดไปถึงให้ต้นไม้มีใบดกใบหนา ให้มีความร่มเย็นสบายแก่ผู้อาศัยเพราะฉะนั้นเด็กคนนี้นอกจากจะได้เงินเป็นค่าตอบแทนแล้ว ยังจะได้บุญอันเกิดจากจิตเมตตาอีกด้วยทั้ง ๆ ที่เขาทำงานก็เหนื่อยเท่ากับคนแรก แต่เพราะความฉลาดในการตั้งใจ ผลที่ได้รับจึงสูงส่งกว่า

 

           แค่นี้ยังไม่พอหลวงพ่อไปถามคนที่ 3 คนนี้เป็นเด็กผู้หญิงคำถามเดียวกันแก่ตอบว่า

“หนูนึกอยากจะให้ต้นไม้โตเร็ว ๆ พอใครมานั่งใต้ต้นไม้ของหนูแล้ว

ขอให้เขาเห็นธรรมะตามพระพุทธเจ้าไปเลย”


          หลวงพ่อฟังแกตอบแล้วชื่นใจ เด็กคนนี้เรียนจบแค่ป.6 แต่มีจิตใจสูงส่ง แบบนี้เรียกว่าฉลาดในการทำการงานคือ เหนื่อยเท่ากับคนอื่น แต่ได้ทั้งงานได้ทั้งเงินแล้วยังได้บุญอีกด้วย นอกจากจะได้บุญแล้ว คำว่าเบื่อหน่ายจะไม่มีอยู่ในใจเพราะใจนั้นมีแต่บุญ จึงขอให้พวกเรารู้จักฉลาดคิดขณะที่ทำงานกันด้วยนะ 

670613_b08-3.jpg

          จากตัวอย่างข้างต้นทำให้เข้าใจว่าทำไมคนบางคนจึงทำงานแล้วรู้สึกอ่อนล้า แต่บางคนยิ่งทำงานมากยิ่งรู้สึกสนุกกับงานแล้วก็เลยคิดแยกแยะออกไปได้อีกว่า คนทำงานโดยทั่วไป แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ

1.คนทำงานตามหน้าที่ ไม่รู้จักคิด คนพวกนี้ได้เงินแต่ไม่ได้บุญ

  
2.คนทำงานเพื่อหวังลาภ ยศ คนเช่นนี้จะรู้สึกสนุก รักที่จะทำงาน เมื่อเห็นตำแหน่งหน้าที่ของตัวเองก้าวหน้า หรือเห็นเงินตรามากองล่อไว้ แต่ถ้าไม่ได้ตำแหน่งดังใจไม่ได้เงินดังหวัง ก็จะท้อแท้ในการทํางาน

3.คนทำงานเพื่อให้ได้งานด้วยและเป็นบุญเป็นกุศลด้วย บุคคลเช่นนี้ ไม่มีการกระทบกระทั่งกับใครทั้งสิ้น ใครจะมาเย้ายวนยั่วยุก็เฉยไม่สนใจตอบโต้ บุคคลเช่นนี้จะทำงานอย่างมีความสุขทุกลมหายใจ และมีแต่คนรัก ทำงานอย่างไรถึงจะดีการทำงานที่ให้ได้บุญกุศลด้วย และผลงานออกมาดีด้วยจะต้องฉลาดทำ และที่สำคัญที่สุด

 

จะต้องรู้จักปัจจัยหรือองค์ประกอบในการทำงานให้ได้ดีอย่างครบองค์ประกอบ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ คือ


1. ทำดีให้ถูกดี
2. ทำดีให้ถึงที่
3. ทำดีให้พอดี

 

1. ทำดีให้ถูกดี เช่นการซักเสื้อ บริเวณที่เปื้อนสกปรกมากที่สุดคือ รอบคอ และที่รักแร้ ถ้าเราขยี้ทั่วตัวเสื้อแต่ไม่ได้ขยี้ที่คอที่รักแร้ เสื้อนั้นก็ไม่สะอาดเพราะซักไม่ถูกจุด การทำงานถ้าไม่ถูกวัตถุประสงค์ก็เหมือนซักเสื้อไม่ถูกจุดสกปรก เอาดีไม่ได้เพราะไม่ถูกที่ ไม่ถูกดีงานของพวกเราที่เป็นพยาบาลก็เช่นกัน วัตถุประสงค์ของงานก็เพื่อรักษาคนไข้ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บไม่ใช่เรื่องอื่น เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาขอให้ผ่านไปเสียบ้าง ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้เล่าเรียนมาให้ถูกต้องกับชนิดของการรักษาในแต่ละโรค
 

2. ทำดีให้ถึงดี เมื่อทำถูกดีแล้วจะต้องทำให้ถึงดีด้วย เช่นการซักเสื้อผ้าที่เปื้อน ถึงแม้ว่าเราจะขยี้ถูกจุดที่สกปรกแล้ว แต่ขยี้น้อยไป เช่น สมมุติว่าเราควรจะขยี้ประมาณ 30 ครั้ง แต่เราขยี้เพียง 10 ครั้งแบบนี้คราบสกปรกยังไม่หมด เสื้อก็ไม่สะอาด ปริมาณงานมันน้อยไปไม่ถึงดีงานของพวกเราก็เหมือนกันผู้ป่วยที่ควรจะได้รับยาจำนวนเท่านั้น เท่านั้นแคปซูล แต่เราให้ไม่ครบตามจำนวนนั้นแบบนี้เรียกว่าให้ไม่ถึงดี ผู้ป่วยย่อมไม่หายขาด

          การทำงานต่าง ๆ ก็เช่นกัน คนจำนวนไม่น้อยที่ทั้งมีฝีมือดีและสติปัญญาเฉียบแหลมแต่ไม่ประสบความก้าวหน้าในชีวิตเพราะทำงานชนิดที่เรียกว่าขอไปที ทำไม่เต็มกำลังความสามารถขาดความประณีตในการทำงาน สักแต่ทำให้เสร็จ ๆ ไปเท่านั้นไม่ได้คิดเลยว่าจะทำงานให้ดีเลิศเป็นเยี่ยงอย่างแก่คนอื่นหรือคนรุ่นหลัง เรียกว่า ทำได้ไม่ถึงดีถ้าเป็นนักเรียนก็เรียนเพียงสอบให้ผ่าน ตอบมาแบบย่อ ๆก็ต้องจะได้คะแนนแบบย่อ ๆ เป็นธรรมดา
 

 3. ทำดีให้พอดี เมื่อทำถูกดีแล้ว ถึงดีแล้ว ต้องให้พอดีด้วยถ้าเอาไปเปรียบกับการซักเสื้อผ้าอีก

การยี้ถูกจุดแต่ขยี้มากเกินไปเช่น ควรขยี้ 30 ครั้ง แต่ขยี้แบบเอาสนุกเลยไปถึง 100 ครั้ง เสื้อนั้นก็อาจขาดได้

         คนทำงานก็เหมือนกันบางคนทำงานถูกต้องดีแล้ว เข้าใจและขยันทำงานแต่ไม่ค่อยได้ดี ก็เพราะมาพลาดเอาประการนี้คือออกจะล้น ๆ เกิน ๆ ไปไม่รู้กาลเทศะ ไม่ดูตาม้าตาเรือ เหมือนพวกเราให้ยาคนไข้ถ้าให้ยาเกินขนาด แทนที่คนไข้จะหายจากโรคจะหายก็อาจจะชักตายเอาได้ง่ายๆ

         ดังนั้นการทำงานอะไรก็ตาม เมื่อทำดีแล้วจะให้ได้ดีจริง ๆนั้น จะต้องมีองค์ประกอบของการทำดีทั้ง 3 ประการนี้คือ ทำให้ถูกดี ถึงดี และพอดี แล้วจึงจะได้ดี

เหตุใดบางคนทำดีแต่ไม่ได้ดี

        จริงอยู่ที่ว่า “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” แต่ผลของงานไม่ได้วัดกันที่ความเหนื่อย บางคนเอาความเหนื่อยมาเป็นข้ออ้างว่าทำงานเหนื่อยขนาดนี้แล้วยังไม่มีความดีความชอบ ความจริงเรื่องเหนื่อยหรือไม่เหนื่อยนี้ ไม่เกี่ยวกับความดีความชอบ

 

คนที่ทำงานแล้วไม่ได้ดีตลอดชาติมักมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 ลักษณะนี้คือ
 

1. ขยันแต่โง่
2. ฉลาดแต่ขี้เกียจ
3. ไม่รู้จักประมาณ

 

1. ขยันแต่โง่ - คือทำงานเช้าจดเย็นเลย เหงื่อไหลไคลย้อยแต่ทำด้วยความโง่ ๆ เซ่อ ๆ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำจนผู้บังคับบัญชาต้องเรียกไปกระซิบเตือนว่า“นี่น้อง ขยันให้น้อยกว่านี้หน่อยได้ไหม เธอยิ่งขยัน พี่ยิ่งโดนสอบสวน” เพราะอะไร ก็เพราะแกเที่ยวไปทำผิดทำพลาดไว้จนตามแก้ไม่ไหว บางทีความหวังดีของแกก็ทำเอาผู้บังคับบัญชาหน้าฉีกต่อหน้าแขกได้เหมือนกันดังนั้นถ้าใครมาบ่นว่า ทำดีแล้วไม่ได้ดีขอให้ตั้งข้อสงสัยไว้เลยว่า คนนี้อาจจะขยันแต่โง่

2.ฉลาดแต่ขี้เกียจ - คนบางคนฉลาด รอบรู้สารพัด แต่ที่ทำดีแล้วไม่ได้ดี เพราะชอบหลบเลี่ยงงาน ทั้ง ๆ ที่รู้ว่างานนั้นทำอย่างไรและถ้าลงมือทำก็จะทำได้ดีเยี่ยมเสียด้วย แต่เพราะชอบใช้เล่ห์เหลี่ยมเลี่ยงงานชอบเอาเปรียบเพื่อนฝูง ทำงานแบบผักชีโรยหน้าภายหลังงานจึงเสียหายรู้ถึงหูผู้บังคับบัญชาจนได้ คนแบบนี้จึงไม่ได้ดี และไม่ยั่งยืนในหน้าที่การงาน

3. ไม่รู้จักประมาณ - บางคนตั้งใจทำงานเต็มที่ แต่ขาดความรอบคอบ เช่น คนปลูกต้นไม้ คิดอยากให้มันโตทันใจจะได้มีร่มเงาให้คนพักอาศัย ก็เลยรดน้ำเช้าจดเย็น ไม่เกิน 3 วัน ต้นไม้เน่าตาย คนพวกนี้คล้าย ๆ พวกขยันแต่โง่ ความผิดพลาดโผล่ขึ้นตรงนั้นตรงนี้ ตัดทอนความรู้ ความสามารถ จนผู้บังคับบัญชาไม่กล้าให้ความดีความชอบจัดเป็นพวกไม่รู้จักประมาณ ทำแล้วไม่ได้ดี

 

670612_b06-2.jpg

 

การส่งผลของความดี

        บางคนอาจสงสัยว่า ทั้ง ๆ ที่เราทำงานอย่างถูกดี ถึงดี พอดีและเราก็ไม่ได้เป็นบุคคลประเภทที่ไม่ควรได้ดี 3 ลักษณะดังกล่าวแต่ทำไมเมื่อทำงานแล้วจึงไม่เคยได้รับความดีความชอบเลย

        เรื่องนี้อย่าเพิ่งท้อเป็นธรรมชาติของการให้ผลของความดีเอง ไม่ว่าจะเป็นความดีทางโลกหรือทางธรรม ก่อนที่ความดีจะออกดอกออกผลเป็นความสุขความเจริญจำเป็นต้องใช้เวลา เราต้องอดทนรอคอย หลวงพ่อจะยกตัวอย่างง่ายๆ

        เปรียบเทียบให้ดู เช่นการปลูกกล้วย เมื่อเอาหน่อกล้วยสูงเพียงคืบมาปลูกวันนี้ รดน้ำพรวนดินอย่างดี ถามว่าพรุ่งนี้ได้กินกล้วยไหม ? ไม่ได้... ถ้าเช่นนั้นแสดงว่าการปลูกกล้วยไม่ได้ผลใช่ไหม? ไม่ใช่... การปลูกกล้วยนั้นต้องได้ผลแน่นอน แต่มันให้ผล เป็นช่วงเป็นตอนซึ่งต้องใช้เวลาคือ

        ผลขั้นที่ 1 - เมื่อวันลงมือปลูกเราได้อะไรไหม? ได้ ได้ความรู้สึกชื่นใจ สบายใจที่ได้ทำตามฤดูกาลแล้วเป็นผลดีด้านจิตใจ ถือ
เป็นผลดีระดับต้น

        ผลขั้นที่ 2 - เมื่อหมั่นรดน้ำพรวนดินจน เวลาผ่านไปอีก5-6 เดือน ถามว่าได้กินกล้วยไหม? ยัง แต่ได้ใบตองนำมาห่อของห่อขนมได้ ถือว่าได้ผลดีเพิ่มขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง

       ผลขั้นที่ 3 - รดน้ำพรวนดินต่อไปจนถึง 8-9 เดือนได้กินกล้วยหรือยัง? ก็ยัง ได้แต่หัวปลี

       ผลขั้นที่ 4 - ต้องรอจนครบ 12 เดือน คราวนี้ได้ผลกล้วยมากินแล้ว 

   

          ขนาดของกล้วย ๆ อย่างนี้กว่าจะได้ผลยังต้องใช้เวลาถึง 1 ปีกว่า จะได้ผล เพราะฉะนั้นการทำความดีก็เช่นกันทำปุ๊บจะให้ได้ปั๊บสมบรูณ์เลยก็ยังไม่ได้ต้องใช้เวลาอดทนรอคอยกว่าที่ความดีที่เราทำนั้นจะส่งผลให้เรา “ได้ดี”

           ในสายงานของพยาบาลก็เช่นกัน เมื่อจบการศึกษามาเริ่มทำงานในโรงพยาบาลปีแรกของการทำงานได้ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ แต่อย่าเพิ่งหวังว่าสิ้นปีจะได้ขึ้นเงินเดือนพิเศษ 2 ขั้นไม่ได้ ขอให้คิดอย่างสบายใจว่า ตลอดปีที่ผ่านมา ฉันทำงานไม่ผิดพลาดได้ศึกษารู้งานเพิ่มขึ้นคิดได้อย่างนี้ก็จะได้ความสุขใจ เป็นผลของความดีระดับต้น

           ปีที่ 2 ของการทำงาน ก็ให้ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ถึงจะยังไม่ได้ขึ้นเงินเดือน 2 ขั้นก็ขอให้ใจเย็น ๆ เพราะคนที่ผ่านงานมาเพียง 2 ปีนั้น อย่างมากก็มีบุคลิกที่น่าเชื่อถือมากขึ้น มีความชำนาญมากขึ้นเท่านั้น ประสบการณ์ที่ได้ยังไม่พอ โอกาสผิดพลาดยังมีอยู่อีกมาก จำเป็นต้องใช้เวลาฝึกฝนต่อไปอีก แต่ก็ได้ผลของความดีเพิ่มขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง

         พอถึงปีที่ 3 หรือปีที่ 4 มีความชำนาญเพิ่มขึ้นได้เรียนรู้งานมากขึ้นถึงจะไม่ได้ทำงานใกล้ชิดกับผู้บังคับบัญชา แต่ผู้ที่เห็นและยอมรับเราก็คือผู้ร่วมงาน เมื่อเราได้ตั้งใจทำงานอย่างเต็มความสามารถ ในที่สุดชื่อเสียงแห่งคุณความดีของเราก็จะทราบถึงผู้บังคับบัญชา ถึงเวลานั้นก็คงจะได้รับการพิจารณาความดีความชอบตามโอกาสและวาระอันสมควร

           นอกเหนือจากความดีความชอบเฉพาะตัวแล้ว เรายังพบว่า การที่เราตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ผลดีย่อมเกิด กับคนไข้ด้วยคือจากความมีเมตตากรุณาของเรา และจากการที่เราได้ ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ช่วยเหลือคนไข้ให้หายป่วยและ สามารถกลับบ้านได้ ใจเราก็เป็นสุขและอิ่มอยู่ในบุญ ความจริงไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงว่าจะได้เงินเดือนขึ้นกี่ขั้น ก็ได้เพราะความสุขใจนั้นเป็นสิ่งที่เงินไม่สามารถซื้อหาได้

          การทำงานรักษาคนไข้ให้บริการคนป่วย ถ้าจะให้เห็นผลเต็มที่ก็ต้องรู้จักอดทนรอ และเราจะต้องรู้จักนำความรู้ความสามารถที่ได้เล่าเรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่อีกด้วยโดยทั่วไปผู้ที่จะอดทนรอมาได้ถึงระดับนี้ต้องมีเป้าหมายของชีวิตที่แน่นอน บางคนถ้าไม่รู้เรื่องบุญเรื่องบาป เป้าหมายมักอยู่ที่ตำแหน่งหน้าที่ อยากได้ตำแหน่งใหญ่โต แต่ขอเตือนไว้ว่าถ้าตั้งเป้าหมายไว้เพียงเท่านี้ยิ่งถ้าเป็นคนใจร้อนทำอะไรไปแล้วไม่ได้ผลดังใจก็จะเกิดปัญหาเพิ่มขึ้น

         ดังนั้นถ้าตั้งเป้าหมายของชีวิตไว้ว่า “เราจะทำงานเพื่อสร้างบุญ” ก็จะเกิดความสบายใจแม้งานจะติดขัดบ้างก็ ไม่ไปกระทบกระทั่งใคร แล้ววันหนึ่งผลแห่งบุญผลแห่งความดีย่อมจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

         แล้วแต่วาสนามีข้อยกเว้นอยู่บ้าง ในกรณีที่ผลแห่งความดีนั้นเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ถ้าจะเปรียบก็เปรียบได้เสมือนกับ “ต้นกล้วยที่ปลูกไว้ข้างโอ่งน้ำ” ไม่ได้เหนื่อยแรงรดน้ำพรวนดินให้เท่าใดแต่ก็โตวันโตคืนเพียง 7-8 เดือนเท่านั้น กล้วยต้นนี้ก็ออกลูกอวบงามให้เราได้กินก็มันเป็นกล้วยข้างโอ่งน้ำ เช้าเราอาบน้ำโครม ๆ อยู่ใกล้ ๆ มันก็ได้น้ำเต็มอิ่ม แล้วยังได้น้ำล้างจาน น้ำซักผ้า เป็นระยะ ๆ ตลอดทั้งวันค่ำ ๆ ยังได้น้ำที่เราอาบอีกรอบ ก็ต้องถือเป็นวาสนาของกล้วยต้นนี้

 

         คนบางคนได้ทำงานใกล้ชิดผู้ใหญ่ ได้งานถนัดถูกนิสัย มีโอกาสได้แสดงความสามารถเต็มที่ ก็อาจจะได้ความดีความชอบเป็นพิเศษ ถือว่าเป็นวาสนาของเขาเอง อย่าไปคิดอิจฉาหรือค่อนขอดเขาเลย เพราะบุญเก่าเขาส่งผลมาให้เราสร้างบุญน้อยกว่าวาสนาประเภทนี้ไม่มี ก็ขอให้สร้างบุญกันต่อไปไม่ย่อท้อ วันใดวันหนึ่งก็คงจะมีวาสนาเป็นอย่างกล้วยต้นข้างโอ่งน้ำกับเขาบ้างคิดอย่างนี้แล้วจะสบายใจ ไม่เกิดความท้อแท้ ทำงานอย่างเป็นสุขในทำนองกลับกัน

 

            เมื่อเราเห็นผู้ที่ทำงานสะเพร่าบกพร่องแต่ผู้บังคับบัญชาไม่ทราบ กลับได้รับพิจารณาขึ้นเงินเดือน 2 ขั้นก็อย่าเพิ่งไปหลงคิดว่า ทำชั่วแล้วได้ดี พวกนี้เขาผูกเวรกันมากับเจ้านาย มาบ่อนทำลายกัน ทำให้เจ้านายเสียชื่อเสียงถูกติฉินนินทาคนเราหากทำชั่วแบบถูกชั่ว ถึงชั่วและพอชั่วแล้ว รับรองว่าจะได้เป็น“เจ้าชั่ว” แน่นอน ที่ยังไม่ถูกลงโทษเพราะยังรอเวลาให้ผล ถึงคราวที่กรรมชั่วตามมาทัน เจ้านายหมดเวร ความจริงก็จะถูกเปิดเผยถูกลงโทษ บางคนยังไม่สำนึกไปโทษสิ่งอื่น เช่น โทษว่า “ดวงไม่ดี”ความจริงนั้นเกิดจาก “ตัวไม่ดี” มาตลอดต่างหาก

 

          การทำงานไม่ว่าจะทำในสาขาอาชีพใดก็ตาม ต้องทำให้ได้ทั้งงานได้ทั้งบุญ คือมีหลักยึดเอาไว้ในใจเลยว่าจะต้องสร้างบุญด้วย อย่าทํางานเพื่อหวังยศหวังตำแหน่งหวังความมีหน้ามีตาเท่านั้นเพราะสิ่งเหล่านี้เมื่อเราตายไปแล้ว ไม่สามารถเอาไปด้วยได้ มีแต่บุญและบาปเท่านั้นที่จะติดตัวไป พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้เสมอว่า  “บุญเท่านั้น ที่เป็นที่พึ่งของเรา” อาการของบุญอยู่ที่ความผ่องใสของใจ ทำอะไรแล้วรู้สึกว่าใจผ่องใส เบิกบาน นั่นแหละทำบุญแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อยังมีชีวิตอยู่ จึงควรทำใจให้ผ่องใสไว้เสมอตายแล้วจะได้มีสวรรค์เป็นที่ไป ถ้าใจขุ่นมัวแสดงว่าสิ่งที่ทำ ที่คิด ที่พูดนั้นนั้นเป็นบาปแล้วอาจจะพลาดไปตกนรกได้

 

        พวกเราอาจจะนึกสงสัยว่า นรก สวรรค์ มีจริงหรือ หลวงพ่อขอยืนยันว่ามีจริง แต่การไปสวรรค์นั้นไม่มีเทวดามาอุ้มไปหรอกนะถึงคราวจะไปนรกก็ไม่มียมบาลมารับไปเช่นกันโบราณท่านเปรียบเทียบการไปนรก ไปสวรรค์ไว้ดังนี้

 

         จับแมลงวันมาตัวหนึ่ง แล้วจับผึ้งมาตัวหนึ่ง นำมาใส่ไว้ในขวดเดียวกัน สักครู่แล้วปล่อยให้มันบินออกไปพร้อมกัน สังเกตดูเถอะตอนแรกมันจะบินตีคู่กันไปเชียว แต่พอเจอดอกไม้ เจ้าผึ้งไม่ไปด้วยแล้ว โฉบเข้าหาดอกไม้ดูดน้ำหวานทันที ส่วนแมลงวันก็ไม่ตามผึ้งกลับบินแยกไปอีกทางหนึ่ง ไปไหน? ไปที่กองขยะเน่า ๆ สิ่งที่พาผึ้งและแมลงวันไป คือความเสพคุ้นของมันเอง ไม่ใช่ว่าต้องให้ใครพามันไป ที่ชอบของมันเป็นอย่างนั้น

 

         คนเราก็เช่นกัน เมื่อละโลกแล้วจะไปนรกหรือสวรรค์ ย่อมไปตามความเสพคุ้นของแต่ละคน คนโบราณท่านจึงใช้คำว่า“ไปที่ชอบ ๆ” คือชอบอย่างไรก็ไปหาอย่างนั้น ชอบนรกก็ไปนรก ชอบสวรรค์ก็ไปสวรรค์

 

เพราะฉะนั้นขอให้เราตั้งใจสร้างบุญกันอย่างเต็มที่ การสร้างบุญจะเป็นกุญแจดอกที่ ๒ ที่จะเปิดไปสู่ความสำเร็จในชีวิต

 

การให้ทาน
         การให้ทานเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างบุญ เมื่อให้ทานแล้วก็จะได้บุญเป็นเครื่องตอบแทน เปรียบเสมือนการจุดไฟ เมื่อติดแล้วจะได้ทั้งความร้อนและแสงสว่างในเวลาเดียวกัน

        พวกเราทุกคนเติบโตมาได้ก็เพราะการให้ทานทั้งนั้น เราได้อาศัยทานที่พ่อแม่พี่ป้าน้าอาช่วยกันเลี้ยงดูปกป้องรักษาเรามาตั้งแต่วันแรกเกิด เรามีความรู้ก็เพราะครูอาจารย์หลายท่านช่วยกันอบรมพร่ำสอน ทั้งคอยชักจูงให้เราประพฤติดีเพื่อความเจริญก้าวหน้าในชีวิต

        ที่หลวงพ่อทำการปัจฉิมนิเทศให้ในวันนี้ก็เพราะเจตนาดีของครูอาจารย์ที่นิมนต์หลวงพ่อมาให้ความรู้ให้ธรรมะเป็นวิทยาทานอีกเหมือนกัน ต่อไปภายหน้าเมื่อมีครอบครัว ก็ต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันให้ทานกัน ครอบครัวจึงจะสงบราบรื่น มีลูกก็เลี้ยงลูก พ่อแม่ท่านแก่เฒ่าก็ต้องคอยดูแลเลี้ยงท่านเป็นการตอบแทน ชีวิตประจำวันของเราล้วนคลุกคลีอยู่กับการให้ทานมาโดยตลอด

        เวลาทำงานอยากได้บุญ เราก็ต้องให้ทาน เพื่อนร่วมงานมีงานมากเราก็ไปช่วยไม่ดูดาย ตั้งใจทำงานด้วยอารมณ์เบิกบานยิ้มแย้มแจ่มใส ทํางานด้วยความเต็มใจ ทั้งเพื่อนร่วมงานและคนไข้จะได้สบายใจ ไม่เครียด ไม่รังเกียจเรา

 

นี่เป็นองค์ประกอบของกุญแจสู่ความสำเร็จในชีวิตดอกที่ 2 ด้วย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.030984735488892 Mins