พระราชปฏิญาณอันเป็นต้นแบบ
เพื่อทรงแสดงถึงศรัทธาอันมั่นคงในพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ได้ทรงปฏิญาณพระองค์เฉพาะหน้ามหาสังฆสมาคม อันมีพระมหาสมณเจ้ากรมพระวชิรญาณวโรรส เป็นองค์ประธาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๓๙ ก่อนเสด็จประพาสยุโรป มีความตอนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้าจะไม่มีจิตยินดีน้อมไปในศาสดาอื่นนอกจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระธรรมอันพระองค์ได้ตรัสรู้ชอบดีแล้ว กับทั้งพระสงฆ์หมู่ใหญ่อันได้ประพฤติตามค่าสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเลยเป็นอันขาด”๑
และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพมหานครในวันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชก็ได้ทรงประกาศความบริสุทธิ์ตามพระราชปฏิญาณที่พระราชทานไว้ต่อหน้าพระภิกษุที่ประชุมกันเป็นมหาสันนิบาต ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ความตอนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้ามิได้มีน้ำใจน้อมไปในศาสดาอื่นนอกจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธรรมอันพระองค์ตรัสรู้ชอบดีแล้ว กับทั้งพรสงฆ์หมู่ใหญ่ อันได้ประพฤติตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น"๒
เหตุการณ์ครั้งนั้น นับเป็นการประกาศตนเป็นพุทธมามกะครั้งสำคัญยิ่งครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงคาดคะเนเหตุการณ์ภายหน้าว่า ต่อไปการศึกษาและวัฒนธรรมต่างประเทศจะเข้ามามีอิทธิพลต่อคนไทยเยาวชนของชาติจะห่างเหินพระพุทธศาสนามิได้มีโอกาสลิ้มรสพระสัทธรรมอันประเสริฐ จะทำให้จิตใจหยาบกระด้าง ไม่เกรงกลัวบาปกรรม จึงทรงริเริ่มประเพณีเป็นแบบฉบับในการแสดงตนเป็นพุทธมามกะ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทุกพระองค์แสดงตนเป็นพุทธมามกะ ก่อนเสด็จไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสองค์แรกที่ทรงปฏิญาณพระองค์ แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันก็ทรงปฏิญาณพระองค์เป็นพุทธมามกะ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ในวันที่ ๑๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙ก่อนเสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์