ปิดตา - เปิดใจ
ในเวลากลางวัน ถ้าจะฉายภาพยนตร์ให้เห็นชัดเจน เราจำเป็นต้องปิดประตูหน้าต่างตลอดจนซอกเล็กมุมน้อยให้มิดชิดเพื่อป้องกันมิให้แสงสว่างจากภายนอกเข้ามารบกวนทำให้ภาพบนจอมัวไป แต่เราอาจจะไม่ต้องปิดก็ได้ ถ้าสามารถสร้างเครื่องฉายที่มีประสิทธิภาพดีจริงๆดังเช่นเครื่องรับโทรทัศน์ อุปมาการฉายภาพยนตร์ในเวลากลางวันฉันใดการฝึกสมาธิเบื้องต้นก็ฉันนั้น เนื่องจากระยะแรก ผู้ศึกษายังมีจิตใจหนักแน่นมั่นคงไม่พอ ความคิดยังเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามแต่รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ภายนอกที่มากระทบ ทำให้เป็นอุปสรรคในการรวมกระแสใจ ดังนั้น การฝึกทำสมาธิเบื้องต้นในพระพุทธศาสนาจึงนิยมเริ่มฝึกโดยการหลับตา ซึ่งเปรียบเสมือนประตูหน้าต่างของใจ ส่วนหูจมูก ลิ้นและกาย ซึ่งเปรียบเสมือนช่องเล็กช่องน้อยของใจนั้น ไม่เป็นอุปสรรคจนเกินไป พอจะปล่อยเลยตามเลยไปได้บ้าง
เมื่อฝึกหัดปิดตาจนกระทั่ง หู จมูก ลิ้น และกายปิดตามไปด้วยโดยอัตโนมัติได้แล้ว ในที่สุด ใจที่เคยซัดส่ายไปมาตามสภาพสิ่งแวดล้อมภายนอกที่มากระทบก็จะหยุดนิ่งเป็นหนึ่ง ภาพมายา เสียง กลิ่น รส สัมผัส ต่าง ๆ ซึ่งเคยหลอนใจมาตลอดชีวิตย่อมเลือนหายไปเองเหลือแต่ธรรมแท้ ๆ ปรากฏเป็นดวงสว่างขึ้นในใจแทนที่ เราเรียกสภาวะนั้นว่า เปิดใจ เมื่อเปิดใจออกได้ชำนาญคล่องแคล่วแล้ว ถึงแม้ว่าต่อมาเราจะเปิดตา แต่ใจก็ยังเปิดอยู่นั่นเอง เพราะใจในขณะนี้มีกำลังแรงกล้าพอ ไม่กลัวภาพมายา เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่าง ๆ อีกต่อไป เช่นเดียวกับเครื่องรับโทรทัศน์ที่มีประสิทธิภาพดี ย่อมไม่เกรงต่อแสงสว่างรบกวนในเวลากลางวันนั่นเอง
ปิดตา-เปิดใจ เป็นเรื่องของการฝึกสมาธิเบื้องต้น ซึ่งทุกคนควรสนใจ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นชนชาติใด ภาษาใด เพราะว่าการปิดตาเพื่อเปิดใจนั้น เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ทราบด้วยตนเองได้ว่า เกิดมาทำไม
เกิดมาทําไม
มนุษย์ทุกชาติ ทุกภาษา ทุกศาสนา ถึงแม้จะมีปัญญาฉลาดเฉลียวสักปานใดก็ตาม ต่างมีปัญหาข้องใจที่เหมือนกันอยู่ข้อหนึ่งคือเกิดมาทำไมแต่ก็ไม่มีใครสักคนที่จะให้คำตอบนี้ได้ชัดเจนจนกว่าเขาจะได้ปิดตาเพื่อเปิดใจคล่องแคล่วชำนาญแล้ว เพราะอะไร เพราะการปิดตาเพื่อเปิดใจ จะทำให้เขาทราบความจริงที่เป็นเงื่อนงำสำคัญเพิ่มขึ้นอีก 2 ข้อ คือ
ทำให้ทราบว่าก่อนที่จะเกิดนั้นเขามาจากไหน
ทำให้ทราบว่าเมื่อตายแล้วเขาจะต้องไปที่ไหนต่ออีก
วิชาความรู้ที่สอนกันอยู่ทั่วไปเวลานี้ไม่ว่าในสาขาวิชาใดก็ตามถึงจะเรียนสำเร็จได้รับปริญญาตรี โท เอก หรือจนกระทั่งเป็นศาสตราจารย์แล้ว ก็ยังไม่ทราบคำตอบทั้งสองปัญหาข้างต้นนี้อยู่นั่นเอง นอกจากจะนึกเดาเอา แต่ในพระพุทธศาสนา เมื่อบุคคลฝึกหัด
ปิดตา-เปิดใจ จนชำนาญดีแล้ว ก็มีวิชาที่จะให้เขาเรียนเพิ่มเติมต่อไปอีก อย่างน้อย 2 วิชา เพื่อตอบปัญหาว่าก่อนเกิดนั้นเขามาจากไหน มีวิชาให้เรียนชื่อว่าปุพเพนิวาสานุสสติญาณ และเพื่อตอบปัญหาว่าตายแล้วจะต้องไปไหนต่อก็มีอีกวิชาหนึ่งให้เรียนชื่อว่า จุตูปปาตญาณ เมื่อเรียนจบทั้ง 2 วิชานี้แล้วก็จะทราบได้เองว่า เกิดมาทำไม ที่แน่นอนที่สุด คือ ย่อมรู้ชัดลงไปว่าไม่ใช่เกิดมาเพียงเพื่อตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน มีลูกมีเมีย เที่ยวหาความสุขสำราญไปวันหนึ่ง ๆ และรอความตายที่จะมาถึงเมื่อใดก็ไม่รู้ตามที่คนส่วนมากพากันเข้าใจเท่านั้น
ในปัจจุบันผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในวิชาทั้ง 2 ประการดังกล่าวแล้วนี้ ยังมีอีกมาก แต่มักจะไม่ยอมแสดงตัว ส่วนที่เป็นข่าวลือว่า ผู้นั้นผู้นี้สามารถสำเร็จวิชาทั้งสองประการนี้ได้ ก็มักจะเป็นข่าวโคมลอย เข้าทำนองว่า ขวดที่มีน้ำเต็มถึงเขย่าเท่าใดก็ไม่มีเสียง แต่ขวดที่มีน้ำน้อยเพียงเขย่าค่อย ๆ ก็ดังหนวกหู แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ท่านผู้ทรงคุณธรรมถึงปานนั้นอยู่ยังแห่งหนตำบลไหน แต่ข้อนี้ไม่ยาก เพราะเมื่อใดเราสามารถ ปิดตา-เปิดใจ จนชำนาญแล้ว เราย่อมทราบได้ด้วยตนเองว่าผู้นั้นคือใคร และอยู่ที่ไหน
สมาธิ
เพียงแต่เห็นผู้อื่นนั่งหลับตาทำสมาธิให้ใจสงบ คนส่วนมากก็มักจะนึกเลยไปถึงสุดยอดแห่งความปรารถนาของพระภิกษุผู้กำลังบำเพ็ญเพียรเพื่อละกิเลส คือ นิพพาน แต่หารู้ไม่ว่าวิธีที่จะทำใจให้บรรลุพระนิพพานนั้นจะต้องทําอย่างไรบ้าง จะต้องวางใจไว้ตรงไหนต้องนึกแรง นึกค่อย นึกเร็ว นึกช้า อย่างไร แตกต่างกับการหลับตาธรรมดาหรือไม่ เมื่อนำมาคิดก็เป็นเรื่องของการเดา ถ้าเชื่อผู้อื่นบอกเล่าก็เป็นเรื่องของคนหูเบา ครั้นจับต้นชนปลายได้ไม่ถนัด ก็ทึกทักเอาว่าพระพุทธศาสนาสอนให้หลงงมงาย จึงสมควรต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำความสงบใจให้ถูกต้องเสียก่อน มิฉะนั้น เราเองนั่นแหละ คือ คนที่งมงายที่สุดในโลก
ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า ขณะที่นักเลงการพนันกำลังจั่วไพ่ นักบิลเลียดกำลังแทงลูกบิลเลียด มือปืนกำลังจ้องยิงคู่อาฆาตคนทรงกำลังเชิญผีเข้า ฮิปปี้กำลังสูบกัญชา พวกร้อนวิชากำลังปลุกตัว หรือพวกโจรกำลังมั่วสุมวางแผนก่อโจรกรรม บุคคลเหล่านี้ต่างมีใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เขากำลังกระทำทั้งสิ้น ไม่ว่ารอบ ๆ บริเวณนั้นจะมีเหตุการณ์อย่างไรเกิดขึ้น ก็ยากที่จะทำให้เขาเหล่านั้นเบนความสนใจไปได้ หลายคนจึง
พากันเข้าใจผิดคิดว่าบุคคลหลงผิดเหล่านั้นมีสมาธิมั่นคงดี หาทราบไม่ว่าสมาธิในพระพุทธศาสนา หมายถึง การที่สามารถทำใจให้มั่นคงไม่วอกแวก และต้องก่อให้เกิดความสงบเย็นกายเย็นใจด้วย ถ้าใจไม่วอกแวกแต่พกเอาความร้อนใจไว้ข้างใน เช่น พกเอาความโลภอยากได้ของผู้อื่นจนเต็มอกดังพวก นักเลงการพนัน พกเอาความพยาบาทไว้จนหน้าเขียวเหมือน พวกมือปืน หรือพกเอาความหลงไว้จนกระทั่งยอมให้ผีเข้าเหมือนพวก คนทรง อย่างนี้ พระพุทธศาสนาถือว่าไม่ใช่สมาธิ ถ้าจะถือ ก็เป็นสมาธินอกลู่นอกทาง ที่เรียกว่า มิจฉาสมาธิ ซึ่งไม่ควรฝึก ไม่ควรสนใจเพราะมีแต่โทษถ่ายเดียว
สมาธิที่ถูกมีอยู่ 2 ประเภท ควรสนใจไว้ให้มากความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เมื่อสนใจฝึกได้ดีแล้วจะมีแต่ความเย็นกายเย็นใจ
ประเภทแรก เป็นการทําสมาธิของนักบวชนอกพระพุทธศาสนาสมาธิประเภทนี้ได้มีอยู่ก่อนพุทธกาลแล้วพวกฤาษีชีไพรต่างๆ แม้อาฬารดาบสและอุทกดาบสที่เจ้าชายสิทธัตถะไปศึกษาอยู่ด้วยในสมัยแรก ๆ ก่อนตรัสรู้ก็ฝึกสมาธิประเภทนี้
ประเภทที่สอง เป็นการทำสมาธิของนักบวชในพระพุทธศาสนาซึ่งพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นเอง โดยพระองค์ทรงนำวิธีการฝึกสมาธิของพวกฤาษีชีไพรในสมัยนั้น มาดัดแปลงแก้ไขใหม่ให้ถูกต้องรัดกุมยิ่งขึ้น แล้วทรงสอนให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติตาม แต่ประชาชนส่วนใหญ่ในปัจจุบันต่างยังไม่เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างสมาธิทั้งสองประเภทนี้ดังนั้นจึงมีบางคนหลงกลับไปฝึกสมาธิตามวิธีเดิมของพวกนอกศาสนาอยู่อีก กลายเป็นถอยหลังเข้าคลองไป
การฝึกสมาธิของพวกนอกศาสนาพุทธส่วนมากนิยมฝึกด้วยการเอา วัตถุเป็นที่ตั้งจิต หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ฝึกกสิณภายนอก วิธีง่าย ๆ
คือ สร้างวัตถุขึ้นมาชิ้นหนึ่งเป็นแผ่นกลม ๆ ที่เรียกว่า กสิณ เช่น เอาดินปั้นเป็นแผ่นกลม ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 คืบ หนาประมาณ 1 นิ้ว วางไว้เบื้องหน้าของผู้ฝึก ครั้นจำลักษณะของกสิณได้แม่นยำแล้วก็หลับตานึกถึงกสิณด้วยการเอาจิตไปตั้งที่กสิณนั้น พร้อมกับภาวนา คือ ท่องในใจเป็นการประคองใจไม่ให้คิดเรื่องอื่นด้วยคำว่า ปฐวี ๆ ๆ ๆ (หรือ ดิน ๆ ๆ ๆ) เป็นต้น
เบื้องแรก ขณะหลับตานึกถึงกสิณ เนื่องจากใจยังสงบไม่พอกสิณนั้นก็เป็นเพียงมโนภาพมืดครั้นปฏิบัติต่อไปเรื่อย ๆ จนชำนาญจากมโนภาพมืดก็กลายเป็นมโนภาพสว่าง เห็นภาพกสิณนั้นชัดเจนเหมือนลืมตาเห็น (เพราะสิ่งทั้งหลายย่อมสำเร็จได้ด้วยใจ) ยิ่งชำนาญมากขึ้นเท่าใด ก็สามารถพลิกแพลงใช้ประโยชน์จากกสิณที่ได้มากยิ่งขึ้น เท่านั้น นอกจากใช้ดินเป็นกสิณแล้ว ก็สามารถใช้วัตถุอย่างอื่นทำเป็นกสิณแทนได้ เช่น ใช้น้ำใส ๆ ใส่ขัน ใช้วงกลมสีเขียว ๆ สีแดง ๆ หรือ ลูกแก้วใส ๆ ที่เจียรนัยเป็นรูปทรงกลม เป็นต้น
การฝึกสมาธิในพระพุทธศาสนา ได้ตัวอย่างมาจากพวกฤาษีชีไพรดังกล่าวแล้ว ดังนั้น ทั้งวิธีทำกสิณ ขนาดของกสิณ และคำภาวนาจึงเหมือนกัน แต่เปลี่ยนตำแหน่งฐานที่ตั้งจิตเสียใหม่ แทนที่จะเอาจิตไปตั้งที่กสิณนั้น กลับเอาจิตมาตั้งไว้ตรงศูนย์กลางกายของตนเอง
(Center of gravity) แล้วนึกถึงกสิณนั้น ๆ
ความแตกต่างระหว่างสมาธิทั้งสองนี้ คือ สมมุติว่า นาย ก. ฝึกสมาธิด้วยการเพ่งกสิณน้ำตามแบบของฤาษี ส่วนนาย ข. ฝึกเพ่งกสิณน้ำตามแบบพระพุทธศาสนา เมื่อเอาน้ำใส ๆ ใส่ลงในบาตรสำหรับใช้เป็นกสิณแล้ว ทั้งนาย ก. และนาย ข. ก็นั่งอยู่เบื้องหน้ากสิณน้ำนั้น ต่างคนต่างนั่งหลับตานึกให้เห็นภาพวงกลมน้ำพร้อมกับภาวนาประคองใจ (ว่าในใจ) ว่า อาโป ๆ ๆ ..... (ซึ่งแปลว่าน้ำ ๆ ๆ.....) ขณะภาวนว่า
อาโป ๆ ๆ..... และบริกรรมนิมิต คือ นึกให้เห็นกสิณน้ำอยู่นั้น นาย ก. ก็นึกเอาจิตไปตั้งที่น้ำในบาตร ส่วนนาย ข. กลับนึกเอากสิณน้ำไปตั้งไว้ในกลางกายของตน เมื่อทั้งสองคนนี้ฝึกนึกถึงกสิณจนชำนาญแล้ว มโนภาพมืด ๆ ของวงกลมน้ำ ก็กลับเป็นมโนภาพสว่าง เห็นวงกลมน้ำนั้นสว่างชัดเจนขึ้น คล้าย ๆ กับลืมตาดูดวงจันทร์ในคืนวันเพ็ญจะเห็นนิมิตวงกลมน้ำสว่างสดใสเยือกเย็นลอยอยู่ เบื้องหน้าตนเอง ในระยะใกล้บ้างไกลบ้าง ส่วนนาย ข. จะเห็นนิมิตวงกลมน้ำลอยนิ่ง ๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายเหล่านี้ เป็นความแตกต่างและคล้ายคลึงกันของการฝึกสมาธิทั้งสองประเภทซึ่งยังไม่มากนักในเบื้องต้น
ครั้นฝึกทำความสงบใจต่อไป ความสบ ความชัดของกสิณความสุขกายสุขใจที่ได้รับ และที่สำคัญที่สุดคือ ความเห็นหรือทิฐิจะแตกต่างกันมากยิ่งขึ้น นิมิตวงกลมน้ำของนาย ก. จะไม่อยู่นิ่งเป็นที่ ประเดี๋ยวจะลอยอยู่ใกล้ ประเดี๋ยวจะลอยอยู่ไกล ชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ปรับภาพได้ยาก และในขณะที่ทำการฝึก ก็มักจะเกิดนิมิตลวงเสมอ เช่น เห็นภาพเหตุการณ์เก่า ๆ ในอดีตที่ลืมไปนานแล้ว และภาพอื่น ๆ อีกจนสับสนวุ่นวายปะปนกับนิมิตจริงจนแยกกันไม่ค่อยออก (ยกเว้นผู้ที่มีความชำนาญ) ทั้งนี้ เพราะการเห็นนิมิตของผู้ฝึกสมาธินอกพระพุทธศาสนานั้น เห็นเหมือนใช้ไฟฉายส่องดูวัตถุซึ่งอยู่ในที่ไกล ๆ จึงอาจเกิดความผิดพลาดได้ง่าย (เช่น ถ้าเราดูผลแตงโมผ่าซีกที่ตั้งไว้ไกล ๆ โดยมองด้านตรงข้ามที่ไม่ถูกผ่า ก็จะเห็นเป็นว่าแตงโมเต็มผลอยู่) เนื่องจากว่าเอาจิตไปตั้งไว้นอกกายแต่แรกจนเคยชินนั่นเอง แต่มักจะไม่รู้ตัว ในที่สุดก็หลงตัวว่าเป็นผู้วิเศษ ดังเช่น อาฬารดาบสและอุทกดาบสหลงว่าอรูปภพนั้น คือ นิพพาน เป็นต้น
ถ้านาย ก. ประสงค์จะเจริญวิปัสสนาก็ทำได้ยาก เพราะวิปัสสนา
เป็นเรื่องของการพิจารณาภายในตัว ดังนั้นการฝึกสมาธิของพวกนอกพระพุทธศาสนาจึงเสียเวลามาก เสี่ยงอันตราย และเกิดปัญญาน้อยดังมีเรื่องเล่าว่า ฤาษีตนหนึ่งนั่งทำสมาธิอยู่ในป่า ไม่ยอมไหวติงกายเป็นเวลานานปี จนกระทั่งนกกระจาบไปอาศัยทำรังอยู่ที่เครา แต่ฤาษีตนนั้นก็ยังไม่สำเร็จธรรมอันใด จึงเลิกฝึกสมาธิ กลับไปอยู่บ้านกับลูกเมียตามเดิมอีก
ผู้เขียนเอง สมัยที่ยังฝึกสมาธิด้วยการตั้งจิตไว้นอกกาย ดังเช่นพวกฤาษีชีไพรนั้น เคยถูกนิมิตลวงรบกวนเสมอ ๆ บางครั้งรบกวนติดต่อกันตลอดทั้งวันบ้าง ทั้งคืนบ้าง ทั้งสัปดาห์บ้าง เช่น นิมิตเห็นเสือตัวใหญ่ขนาดม้าวิ่งผ่านหน้าไปมาเป็นฝูง ๆ บ้าง กระโจนเข้าขบกัดบ้าง บางครั้งก็พากันมาให้เชื่อง ๆ เหมือนลูกแมวบ้างครั้นกำหนดสติวางเฉยเสียได้ นิมิตก็หายไป แต่ถ้าเผลอสติก็กลับมารบกวนใหม่อีก บางทีก็นิมิตเห็นวัวควายและเป็ด ไก่ที่เคยฆ่าไว้เข้ามารุมจิก ตี ขวิด เหยียบดินบนตัก หรือเห็นสัตว์เหล่านั้นอยู่ห่าง ๆ แต่เลือดโทรมกาย บางทีก็มารุมล้อมขอความเมตตาบ้าง ถ้าแผ่เมตตาให้ก็หายไปเป็นพัก ๆ แล้วก็มารบกวนใหม่อีก พาให้ใจเศร้าหมอง (ขณะอยู่ในสมาธิรู้สึกเฉย ๆ) บางครั้งนิมิตเห็นตนเองในอดีตชาติว่า เคยเกิดที่ใดบ้าง (มีทั้งถูกต้องตามความเป็นจริงและคลาดเคลื่อน) บางทีก็เห็นไปว่ากระดูกตนเองที่เกิดในชาติภพต่าง ๆ เหล่านั้น เข้ามารวมกันเป็นกองสูงท่วมภูเขาบ้าง ซึ่งก็เป็นนิมิตที่ดีสำหรับเตือนใจไม่ให้ประมาท แต่ถ้าคุมสติไม่อยู่ บางคนอาจตกใจกลัวจนเสียสติก็ได้
ครั้งหนึ่ง ขณะที่กำลังนั่งสมาธิและจิตกำลังสว่างไสว ก็นิมิตเห็นเป็นหญิงสาวผู้หนึ่งสวยมากยืนอยู่เบื้องหน้าห่างกันแค่เอื้อมตั้งแต่
เกิดมาไม่เคยเห็นใครสวยเท่าผู้หญิงคนนี้เลย แต่เนื่องจากกำลังอยู่ในสมาธิ จึงรู้สึกเพียงแต่ว่าเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง และไม่สนใจ ยิ่งไม่สนใจเธอยิ่งมีจริตมารยามากขึ้น ถึงกับถอดเสื้อผ้าทั้งหมด ผู้เขียนก็ยังอุเบกขาวางเฉยอยู่นั่นเอง ครั้นเฉยหนักเข้า หญิงผู้นั้นก็แก่ลง ๆ อย่างรวดเร็วกลายเป็นหญิงชราที่มีแต่หนังหุ้มกระดูกยืนร้องครวญคราง ดิ้นไปมาแล้วเนื้อหนังของเธอก็หลุดล่อนลงไปกองบนพื้นเหลือแต่โครงกระดูก
สีมอ ๆ คล้ายกับเพิ่งเขี่ยออกมาจากเชิงตะกอน ผู้เขียนกำลังจะเปล่งอุทานว่า “เราชนะแล้ว เราเห็นแล้วซึ่งความไม่เที่ยงของสัตว์โลกว่าในที่สุดก็จะเหลือแต่โครงกระดูกสีมอ ๆ ไว้ถมดินเท่านั้น” ทันใดนั้นนิ้วทั้งห้าในมือขวาของโครงกระดูกก็กลับเกร็ง แข็งทื่อเหมือนกรงเล็บปีศาจ ฉกเข้ามาเต็มแรงที่ใบหน้า หมายเอานัยน์ตาทั้งสองข้างเป็นเป้าถึงอย่างนั้นผู้เขียนก็ยังไม่สะดุ้งกลัว รู้สึกเฉย ๆ แต่ก็ยังไม่ยอมลืมตา ครั้นออกจากสมาธินั่งอยู่ในถ้ำมืด ๆ ตามลำพังแล้วกลับรู้สึกหวาด ๆ ว่ามีใครคนหนึ่งจ้องจะควักลูกนัยน์ตา กว่าจะหายหวาดระแวงได้ก็ประมาณหนึ่งปี (นิมิตต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นเพียงส่วนย่อยที่ผู้ฝึกแบบฤาษีชีไพรมักจะต้องพบ)
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าการฝึกสมาธิแบบนอกพระพุทธศาสนาจะไร้ประโยชน์เสียทีเดียว เพราะสามารถเป็นอุปการะต่อการเจริญสมาธิในพระพุทธศาสนาได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่นการที่พระภิกษุปัญจวัคคีย์สามารถมีดวงตาเห็นธรรมได้ทันทีที่พระพุทธเจ้าเทศน์จบก็เพราะมีพื้นฐานการทำสมาธิแบบนี้มาก่อนครั้นขณะฟังพระธรรมเทศนาก็เปลี่ยนฐานทีตั้งจิตมาไว้ภายในตัว เกิดสัมมาสมาธิได้ทันที
ส่วนนาย ข. เนื่องจากตั้งจิตไว้ถูกที่ตั้งแต่เริ่มแรก เมื่อเห็นนิมิตวงกลมน้ำเกิดขึ้นในตัว วงกลมนั้นก็จะนิ่งอยู่ที่กลางกายไม่หายไปไหนยิ่งทำใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วน นิมิตวงกลมนั้นก็จะหายไปเอง แต่จะเกิดวงกลมใหญ่ขึ้นมาแทนที่ เรียกว่า ปฐมมรรค หรือดวงธรรม ธรรมทั้งหลายที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกก็จะปรากฏออกมาให้เห็นตามความเป็นจริงจากกลางดวงธรรมนั้นเอง นาย ข. จะไม่ประสบกับนิมิตลวงดังเช่นนาย ก.เพราะการเห็นของนาย ข. นั้นเป็นการเห็นรอบตัว คือ เห็นทั้งด้านซ้ายด้านขวา ด้านหน้า ด้านหลัง ด้านล่าง ด้านบน พร้อม ๆ ในเวลาเดียวกันและการเห็นเช่นนี้เห็นเสมือนเอาตัวเข้าไปอยู่ในนั้นด้วย มิใช่มองจากที่ไกล ๆ การเห็นชนิดนี้จึงเป็นเรื่องเฉพาะตัว ผู้เห็นเองจึงจะเข้าใจ ดังนั้นการฝึกสมาธิของนาย ข. จึงมีอุปสรรคน้อยและเกิดปัญญามาก ส่วนนายก. ถ้าต้องการปฏิบัติธรรมทําความสงบใจให้รุดหน้าอย่างนาย บ. บ้างก็ไม่ยากจนเกินไป เพียงแต่เปลี่ยนฐานที่ตั้งจิตมาไว้ที่กลางกายก็ใช้ได้ แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ส่วนมากผู้ที่ฝึกสมาธิแบบฤาษีชีไพรมักจะเกิดทิฐิเหนียวแน่นไม่ยอมเปลี่ยนฐานที่ตั้งจิตง่าย ๆ หลงยึดว่าการฝึกสมาธิของตนเองวิเศษแล้ว ถูกต้องแล้ว ดังเรื่องราวที่ปรากฏในพระไตรปิฎกว่า แต่ละครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพวกเดียรถีย์ พวกชฎิล พระองค์จะต้องเสียเวลาไม่ใชน้อยในการกำจัดทิฐิเดิมของพวกเหล่านั้น
สรุป
- สัมมาสมาธิเป็นสมาธิในพระพุทธศาสนา เกิดขึ้นจากการน้อมจิตเข้าไปตั้งที่ศูนย์กลางกายของตนเอง ทำให้จิตสะอาดสงบ ว่องไวและมีความเห็นถูก
- สมาธิของพวกนอกศาสนา หรือพวกฤาษีชีไพร เกิดจากการประคองรักษาจิตไว้ที่นิมิตนอกกาย ทำให้จิตสะอาด สงบสว่าง ได้พอควร แต่ยังมีความเห็นผิดอยู่
- มิจฉาสมาธิ คือ ความหมกมุ่นอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่เป็นอกุศล ห้ามฝึกเด็ดขาด