ความเด็ดขาด
ความระมัดระวังตัวเป็นสิ่งที่ดี เพราะช่วยป้องกันการกระทบกระทั่งกันได้ แต่การฝึกให้เป็นคนมีความระมัดระวังตัวนั้นไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย ถึงกระนั้นโยมพ่อก็มีวิธีฝึกลูกๆ ให้มีความระมัดระวังตัวได้ เพราะด้วยนิสัยเด็ดขาดของท่าน
สมัยที่อาตมาไปเรียนต่อที่ประเทศออสเตรเลีย ความที่เป็นห่วงลูก ท่านอุตส่าห์เขียนจดหมายถึง ๓ ฉบับติดต่อกัน แต่อาตมาก็ยังไม่ได้ตอบ เพราะเป็นคนไม่ชอบเขียนจดหมาย ทั้งขณะนั้นก็ยังปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ไม่ดี จึงคิดเกรงว่า ถ้าตอบจดหมายไปตามความเป็นจริง โยมพ่อก็จะเป็นห่วง ครั้นจะเขียนตอบแบบลมเพลมพัดเรื่อยเปื่อยไม่มีสาระอะไร ก็อายเขา โยมพ่อก็คงไม่ชอบ ดังนั้นจึงยังไม่ตอบ
จดหมายฉบับที่ ๔ โยมพ่อท่านเขียนส่งมา มีข้อความสั้นๆ ว่า
'ลูกรักถ้ายังไม่ตาย ตอบจดหมายพ่อด้วย'
แม้ได้รับจดหมายฉบับนั้นแล้ว อาตมาก็ยังไม่ได้ตอบจดหมายท่าน ตั้งแต่นั้นมาโยมพ่อจึงไม่ส่งจดหมายไปถึงอาตมาอีกเลย ทําเหมือนได้ตายจากกันแล้วจริงๆ
ตอนนั้นอาตมาก็ยังไม่ได้นึกอะไร คิดว่าไม่เป็นไร แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็มีความสำนึกขึ้นว่า กับผู้มีพระคุณครูบาอาจารย์เราต้องมีความระมัดระวังตัวให้มาก ทำอะไรก็ต้องคอยสังเกตว่าท่านรู้สึกอย่างไร กระทบกระเทือนอะไรท่านไหม ท่านชอบหรือไม่ ท่านเตือนก็ต้องฟังแล้วรีบปรับปรุงแก้ไข อาตมารู้สึกเกรงความเด็ดขาดของท่าน ถ้ามัวประมาทคิดว่าไม่เป็นไร ท่านเด็ดขาดตัดเยื่อใยกันจริงๆ แล้วเราจะแย่
และนิสัยความเด็ดขาดของโยมพ่อนี้ ก็ถ่ายทอดมายังอาตมาทําให้เมื่อตัดสินใจทำอะไรแล้ว จะไม่มีความลังเล และต้องทำอย่างเต็มที่และเต็มใจ