สัมมาสังกัปปะ

วันที่ 09 กค. พ.ศ.2567

 

2567_07_09_b__.jpg

 


สัมมาสังกัปปะ


             ธรรมชาติอย่างหนึ่งของใจคือ ชอบคิด ครั้นคิดแล้วก็ พูด ทำ ตามเรื่องที่คิดไว้เสมอ ๆ นั้น โดยมากใจที่ยังไม่ได้อบรมให้ตั้งมั่นอยู่ภายในกาย มักจะไม่สงบนิ่ง คอยแต่จะคิดเฉไฉไปมาตามอำนาจของอารมณ์ต่าง ๆ ภายนอกกายที่ผ่านเข้ามาในใจขณะนั้น ดังนั้นความคิดของคนทั่วไปในระดับชาวบ้านจึงมักจะหมกมุ่นจมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในเรื่องไร้แก่นสาร 3 เรื่อง คือ


             1. เรื่องกาม อันได้แก่ เรื่องรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสและความอยากต่าง ๆ


             2. เรื่องพยาบาท คือ มีความอาฆาตเคียดแค้นจองเวรผู้อื่น


             3. เรื่องเบียดเบียน คือ หาเล่ห์เหลี่ยมช่องทางรุกรานความสุขของผู้อื่นเพื่อประโยชน์สุขของตน

 

 

2567_07_09_b_-.jpg

 

ความคิดหมกมุ่นทั้ง 3 ประการนี้ รวมเรียกว่า มิจฉาสังกัปปะ แปลว่า ความดำริผิดทาง
             เมื่อปล่อยใจให้คิดหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องผิด ๆ เหล่านี้เนือง ๆ นอกจากจะทำให้ใจเศร้าหมอง กลัดกลุ้มกระวนกระวายแล้ว ยังทำให้ความคิดเห็นต่อสิ่งทั้งหลายบิดเบือนไปจากความเป็นจริงด้วยตลอดจนทำให้หมดความบากบั่นที่จะทำความดีซึ่งมนุษย์ควรกระทำต่อไป ปัญญาใหม่ก็ไม่เกิดขึ้น ที่มีอยู่บ้างแล้วก็ลดหายไปตามลำดับ แล้วยังพลอยพูดไม่ดี ทำไม่ดีตามไปอีก หลังจากนั้น ความทุกข์ก็เกิดประดังติดตามมาไม่สิ้นสุด เหมือนล้อเกวียนตามบดขยี้รอยเท้าโคที่ลากเกวียนไป ฉะนั้น


              เพื่อถอนใจให้พ้นจากความคิดหมกมุ่นเหล่านั้น หลังจากปลูกศรัทธาและสัมมาทิฐิให้เกิดขึ้นในบุคคลใดได้แล้ว ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ทรงสอนให้บุคคลนั้น พยายามน้อมความคิดให้กลับเข้ามาอยู่ภายในกาย โดยพิจารณาเนือง ๆ ให้เห็นชัดถึงโทษอันเผ็ดร้อนที่ตนเองจะต้องได้รับทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งในโลกนี้และโลกหน้าของการหมกมุ่นจมอยู่ ในกาม ในพยาบาท ในการเบียดเบียนรุกรานจนกระทั่งเกิดความสลดใจ ละพยศลงแล้ว เกิดปัญญา มีความสำนึกในอันที่จะคิดหาหนทางถอนตนขึ้นจากความคิด ความดำริผิดๆนั้น ต่อจากนั้น ให้พิจารณาเนือง ๆ ถึงคุณของการออกพ้นไปจากกามจากพยาบาท จากการเบียดเบียน เมื่อใดเขามีปัญญาเห็นคุณนั้นได้ชัดเจนด้วยตนเอง เมื่อนั้น เขาก็จะสามารถถอนใจขึ้นจากความคิดความดำริผิด ๆ นั้น หันมาคิดในทางตรงข้าม คือ คิดออกจากกามจากพยาบาท จากการเบียดเบียน กลายเป็น สัมมาสังกัปปะบุคคล คือ บุคคลผู้มีความดำริชอบ


              เมื่อความดำริชอบเกิดขึ้นแล้ว ต่อไปนี้ความนึกคิด ความดำริต่าง ๆ ของเขาก็จะปลอดโปร่ง เป็นอิสระ ไม่มีทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจตกค้างอยู่ มีแต่ใจที่เป็นกลางแล่นอยู่ภายในกายความคิดไม่เฉไฉไปมาดังเก่า ทำให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริงได้ชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิม

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.038330066204071 Mins