ศีล คืออะไร

วันที่ 10 กค. พ.ศ.2567

2567%20%20%2007%20%20%2010%20b.jpg

 

ศีล คืออะไร


        คำว่า ศีล มาจากพระบาลีว่า สีลํ' เป็นคำที่ได้ยินและพูดกันอยู่ประจำในหมู่ชาวพุทธแต่ส่วนใหญ่มิได้กำหนดหรือเข้าใจถ่องแท้ถึงความหมายของคำนี้ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาท่านแสดงคำแปลและความหมายของคำนี้ไว้มากอย่างจนทำให้เกิดความสับสนก็มี ในที่นี้ขอแสดงประเด็นสำคัญของคำนี้ตามคัมภีร์ก่อน แม้จะดูเกินเลยหรือฟุ่มเฟือยไปสักหน่อยก็จําต้องบันทึกไว้เพื่อเป็นองค์ประกอบ

 

         ศีล แปลว่า ความปกติ ที่รองรับ ที่ตั้ง


       ที่แปลว่า  ความปกติ  หมายความว่า  ความเป็นผู้มีกิริยาทางกายเป็นต้นสุภาพ เรียบร้อยไม่เกะกะ ไม่พลุ่งพล่านผิดทาง กิริยาเช่นนี้ได้ชื่อว่าศีล


       ที่แปลว่า   ที่รองรับ หมายความว่า   เป็นฐานรองรับกุศลกรรมทั้งหลายคือทำให้บำเพ็ญกุศลกรรมได้สะดวกและรองรับผลของกุศลกรรมนั้นไว้ได้


        ที่แปลว่า   ที่ตั้ง   หมายความว่า  เป็นที่ตั้งแห่งอุตตริมนุสสธรรมทั้งปวงคือเป็นฐานที่ตั้งของคุณธรรมที่สูงพิเศษ  ที่มนุษย์ปกติทั่วไปไม่อาจถึงไม่อาจมีได้เช่น มรรค ผล หูทิพย์ ตาทิพย์             

 

         ในอีกประเด็นหนึ่ง ท่านแสดงความหมายของศีลไว้ ๔ ประการ คือ


         ๑. สีลัฏฐะ มีความหมายว่า ปกติ มาจากคำว่า สีละ กล่าวคือผู้มีศีลย่อมเป็นคนสงบดำเนินชีวิตไปได้อย่างปกติ ไม่มีพิษภัยกับใคร ไม่ก่อความเดือดร้อนให้ใคร มีความปลอดภัยเมื่อเข้าใกล้มีกิริยาอาการสงบเรียบร้อยงดงามเป็นปกติ


        ๒.  สิรัฏฐะ  มีความหมายว่า เป็นยอด มาจากคำว่า สีละ  กล่าวคือเป็นคุณธรรมระดับสูง มีอานุภาพสูงส่ง นอกจากนำให้ผู้ปฏิบัติเป็นยอดคนหรือเป็นคนเหนือคนแล้ว ยังส่งผลให้ปฏิบัติธรรมระดับที่สูงขึ้นโดยสะดวกและได้บรรลุผลสูงสุดคือพระนิพพานได้


           ๓. สีตลัฏฐะ มีความหมายว่า เย็น  มาจากคำว่า สีตละ  กล่าวคือนำให้กายวาจาและใจของผู้มีศีลเย็น ไม่พลุ่งพล่าน ไม่ดิ้นรนเร่าร้อน ทำให้ผู้มีศีลเย็นกายเย็นใจ สุขสบาย ทำให้ผู้อยู่ใกล้พลอยเย็นพลอยสดชื่นตามไปด้วย

2567%2007%2010%20b.jpg

             ๔. สิวัฏฐะ มีความหมายว่า  เกษม ปลอดโปร่ง  มาจากคำว่า สิวะ  กล่าวคือนำให้เกิดความเกษม ความปลอดโปร่ง เรียบง่าย และนำให้ถึงแดนเกษมคือพระนิพพานได้ ผู้มีศีลจึงเป็นอยู่อย่างสุขสงบ เกษม ปลอดโปร่ง ไม่มีเวรภัยอะไรกับใคร


            พระสารีบุตรผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า  ผู้ได้รับยกย่องให้เป็นเอตทัคคะคือเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านมีปัญญามากได้กล่าวถึงเรื่องศีลไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทมรรคว่า


             “เจตนา สีลํ  เจตนาเป็นศีล  เจตสิกํ สีลํ  เจตสิกเป็นศีล  สํวโร สีลํ  สังวรเป็นศีล อวีติกฺกโม สีลํ การไม่ล่วงละเมิดเป็นศีล

 

            มีคําอธิบายว่า


          เจตนาเป็นศีล คือเจตนาหรือความตั้งใจของบุคคลผู้งดเว้นหรือผู้ละอยู่จากบาปธรรม คือ จากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติผิดในกามจากการพูดเท็จ พูดหยาบคาย พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ คือเจตนาของผู้งดเว้นจากกายทุจริตและงดเว้นจากวจีทุจริต หรือเจตนาของบุคคลผู้กำลังบำเพ็ญวัตรปฏิบัติอยู่ เจตนาเช่นนี้แหละจัดเป็นเจตนาศีล


           เจตสิกเป็นศีล คือกุศลธรรมทั้งหลายซึ่งได้แก่ความไม่โลภ ความไม่พยาบาท ความเห็นชอบ อันเป็นมโนสุจริต หรือเจตนาที่งดเว้นจากมโนทุจริตคือความโลภ ความพยาบาท ความเห็นผิด ภาวะเหล่านี้จัดเป็นเจตสิกศีล

 

           สังวรเป็นศีล   คือความสำรวม  ความระมัดระวังในพระปาฏิโมกข์  ในอินทรีย์คือจักษุ  ในสติอันเป็นเครื่องกั้นกระแสกิเลสซึ่งจะพึงให้เด็ดขาดได้ด้วยปัญญาในความทนได้ต่อความร้อนความหนาวในความไม่ให้กามวิตกที่เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ในภายใน ความสำรวมระมัดระวังเหล่านี้จัดเป็นสังวรศีล


           การไม่ล่วงละเมิดเป็นศีล  คือการไม่ล่วงละเมิดที่เป็นไปทางกายและที่เป็นไปทางวาจาของบุคคลผู้สมาทานศีลแล้ว  นี้จัดเป็นวีติกกมศีล (ศีลคือการไม่ล่วงละเมิด)

 

            เมื่อกล่าวโดยรวมแล้ว ย่อมได้ความหมายว่า


        ศีล  คือความสํารวมระวังกายวาจาให้เป็นไปตามปกติประจำวัน  ให้สงบเย็นเรียบร้อย ไม่กระทำหรือพูดหลงผิดเกินเลยจนทำให้ผู้อื่นและตนเองเดือดร้อน รวมถึงความตั้งใจปฏิบัติไม่ล่วงละเมิดกฎระเบียบที่สังคมกำหนดไว้เป็นข้อปฏิบัติสำหรับสังคมอันนี้เรียกได้ว่าเป็นศีล

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.050022149085999 Mins