เนตติปกรณ์
การตีความที่แสดงมาข้างต้นนั้นเป็นการตีความแบบทั่วไปมีหลักคือมีแบบมีแนวทางบ้าง ไม่มีหลักคือว่าไปตามอัตโนมัติบ้างแต่เพื่อให้ผู้ศึกษาเรียนรู้เรื่องการตีความได้มีแนวสำหรับเป็นหลักยึดเพื่อประโยชน์แก่การตีความไว้บ้าง โดยเฉพาะเพื่อนำไปตีความพุทธศาสนสุภาษิตในการเทศนา ในการบรรยายธรรม ในการปาฐกถาธรรมหรือโดยที่สุดในการเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องธรรม เพราะเมื่อมีแนวอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นหลักแล้ว ต่อไปก็สามารถนำไปพลิกแพลงผสมผสานกับแนวอื่นๆ ที่เรียนรู้เพิ่มเติม อันจะทำให้การตีความความสมบูรณ์และน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
มีคัมภีร์อยู่คัมภีร์หนึ่งซึ่งแสดงวิธีการตีความไว้อย่างพิสดารเป็นต้นแบบแห่งการตีความในชั้นหลังๆ สามารถนำมาปรับใช้ในการเทศนาเป็นต้นได้เป็นอย่างดี คัมภีร์นั้นมีชื่อว่า “เนตติ” หรือ “เนตติปกรณ์” และในหนังสือนี้จักได้นำแนวการตีความตามแบบเนตติปกรณ์มาเป็นหลักในการนำเสนอวิธีการตีความพุทธศาสนสุภาษิตต่อไป
เนตติปกรณ์คืออะไร
เนตติปกรณ์ เป็นชื่อของคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา ซึ่งรจนาโดยพระมหากัจจายนะ พระมหาสาวกผู้ได้รับเอตทัคคะว่าเป็นผู้เลิศในทางขยายความย่อให้พิสดารมีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความห่วงใยพระพุทธศาสนาว่าต่อไปในอนาคตผู้ที่จะเข้าใจพระบาลีพุทธพจน์ให้หมดจดแจ่มแจ้งและแทงท่านเป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกตลอดได้เหมือนปัจจุบันคงหาได้ยาก จึงปรารถนาจะฝากผลงานเพื่อธำรงรักษาพระพุทธธรรมให้ยั่งยืนโดยการรจนาหนังสือว่าด้วยหลักการอธิบายขยายความพระพุทธพจน์ให้ปรากฏเป็นหลักฐานไว้เพื่อให้ผู้สนใจในพระพุทธธรรมสามารถเข้าใจข้อธรรมที่ได้ฟังหรือได้ศึกษาเล่าเรียนได้รู้แจ่มแจ้งและสามารถแทงตลอดอริยสัจสี่ได้จึงรจนาคัมภีร์ว่าด้วยเรื่องนี้ขึ้นโดยให้ชื่อว่า “เนตติ” แล้วนำถวายสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพิจารณา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงอนุโมทนา และท่านยังได้รจนาคัมภีร์ประเภทนี้อีกคือ เปฎโกปเทสปกรณ์ ด้วยเหตุนี้จึงได้รับยกย่องให้เป็นเอตทัคคะในด้านนี้คำว่า เนตติปกรณ์ แปลว่า คัมภีร์แนะแนว, คัมภีร์นำไปสู่การบรรลุธรรม
หมายความว่าเป็นตำราที่ว่าด้วยแนวทางนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจพระพุทธพจน์ และเป็นตำราที่ว่าด้วยหลักหรือวิธีการนำไปสู่การบรรลุสัจธรรม ทำให้บรรลุถึงพระนิพพาน เนตติปกรณ์นี้เป็นตำราที่อธิบายขยายความพระพุทธพจน์อย่างมีหลักเกณฑ์ มีการจัดระบบหัวข้อ จำแนกแยกแยะเนื้อหาเป็นสัดเป็นส่วน ทำให้เข้าใจได้ง่าย ท่านผู้รู้ส่วนหนึ่งยกย่องว่าเป็นคัมภีร์ที่อยู่ในระดับพระบาลีหรือพระไตรปิฎก แต่ก็มีลักษณะเหมือนอรรถกถาด้วย เพราะเป็นคัมภีร์ที่อธิบายขยายความพระพุทธพจน์เหมือนอรรถกถาทั่วไปจะอย่างไรก็ตามเนตติปกรณ์นี้จัดเป็นอรรถกถารุ่นแรกมีมาแต่สมัยพุทธกาล เป็นต้นแบบของการรจนาอรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อธิบายความพระพุทธพจน์ในชั้นหลัง แม้พระพุทธโฆษาจารย์ผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกเมื่อรจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรคก็ดำเนินตามแนวแห่งคัมภีร์เนตติปกรณ์นี้เช่นกัน วิภาคคือในคัมภีร์เนตติปกรณ์ท่านแบ่งเนื้อหาออกเป็น ๓ วิภาคใหญ่ ๆ
(๑) หาระ ว่าด้วยหลักการหรือวิธีการอธิบายขยายความศัพท์หรือพยัญชนะในพระพุทธพจน์ให้เข้าใจอย่างละเอียดชัดเจน เป็นวิธีขจัดความไม่รู้ ความสงสัย ความเข้าใจผิดในพระพุทธพจน์ได้เป็นอย่างที่เป็นเครื่องมือที่เหมาะสำหรับผู้ประสงค์จะตีความพระพุทธพจน์และสำหรับผู้ฟังธรรม เพราะเป็นหลักแห่งการแยกแยะคำ ศัพท์ และข้อความ ทำให้สามารถจับประเด็นได้อย่างถูกต้องถ่องแท้ ทำให้เข้าใจความหมายได้อย่างลึกซึ้งและชัดเจน หาระนั้นแบ่งย่อยออกไปเป็น ๑๖ หาระ มีเทสนาหาระเป็นต้น อันเทศนาหาระนี้นั้นถือได้ว่าเป็นหลักในการตีความพระพุทธพจน์เพื่อการเทศนา ดังจักได้กล่าวต่อไปข้างหน้า
(๒) นัย ว่าด้วยหลักการหรือวิธีการที่ให้รู้อกุศลธรรมอันเศร้าหมองและกุศลธรรมอันหมดจด โดยจำแนกออกเป็นส่วนๆ ได้แก่ หลักการหรือวิธีการอธิบายขยายความเพื่อให้เข้าถึงอรรถะคือเนื้อหาสาระ ความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์แห่งข้อธรรมนั้น ๆ นัยนั้นแบ่งเป็นส่วนย่อยออกไปได้ ๕ นัย มีนันทิยาวัฏฏนัย (นัยที่มีการเวียนธรรมฝ่ายสังกิเลสด้วยอำนาจตัณหาอวิชชาและเวียนธรรมฝ่ายโวทานด้วยอำนาจสมถะวิปัสสนา) เป็นต้น
(๓) ศาสนปัฏฐาน ว่าด้วยสังวรรณนาพิเศษที่แสดงความเป็นไปแห่งเทศนาของพระพุทธเจ้าโดยประการต่างๆ ตามสมควรแก่อัธยาศัยของเวไนยสัตว์ เป็นการแสดงถึงวิธีการเทศนาสั่งสอนธรรมของพระพุทธเจ้าโดยคำนึงถึงจริตอุปนิสัยของผู้ฟังเป็นหลัก มีผู้ฟังเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ผู้ฟังสามารถรู้ เข้าใจ และเข้าถึงธรรมได้มากที่สุด แบ่งเป็นส่วนย่อยออกไปได้ ๔ กลุ่มหลัก และแบ่งคละกันระหว่างกลุ่มอีกกลุ่มละ ๔ รวมเป็น ๑๖ ประการ เมื่อกล่าวโดยภาพรวมแล้ว เนตติปกรณ์เป็นคัมภีร์ที่มีลักษณะเด่น ๔ ประการ คือ
(๑) เป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึงหลักและวิธีการเรียนรู้และเข้าถึงสัจธรรมหลักและวิธีการทำให้บรรลุถึงพระนิพพาน
(๒) เป็นคัมภีร์ที่แสดงหลักและวิธีการอธิบายพระพุทธพจน์ให้อยู่ในกรอบเดียวกัน
(๓) เป็นคู่มือการตีความพระพุทธพจน์ที่เก่าที่สุด ซึ่งรจนาโดยพระอรหันต์ทันยุคของพระพุทธเจ้า
(๔) เป็นต้นแบบของการตีความพระพุทธพจน์ในยุคสมัยต่อมา