เบญจศีล - เบญจธรรม

วันที่ 15 กค. พ.ศ.2567

 

2567%20%2007%20%2015b.jpg

 

เบญจศีล - เบญจธรรม

 

       แต่ก่อนนั้น มนุษย์ทั้งหลายในโลกคงอยู่กันด้วยความยากลำบากไม่มีกฎเกณฑ์มาควบคุมบังคับ ปฏิบัติการตามแต่จะคิดได้ดังที่กล่าวกันว่า “แย่งที่กันกิน แย่งถิ่นกันนอน” เอากำลังเข้าห้ำหั่นกันใครมีกำลังมากก็ชนะ ผู้ด้อยกำลังก็แพ้และตกอยู่ในอำนาจของผู้ชนะแม้อย่างนั้นก็มีการเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบกันทุกรูปแบบ คือเบียดเบียนชีวิตร่างกายกันและกัน ด้วยการทําร้ายหรือฆ่าแกงกันประการหนึ่ง เบียดเบียนทรัพย์สินของกันและกัน ด้วยการปล้นจี้หรือลักขโมยเอาตามใจชอบประการหนึ่ง เบียดเบียนประเวณี ล่วงละเมิด

 

สิทธิในคู่ครองของคนอื่นด้วยการใช้อำนาจตามใจชอบประการหนึ่งเบียดเบียนกันด้วยคำพูด ทำให้เขาเสียประโยชน์ พูดจาโกหกมดเท็จหาความจริงมิได้ ไว้เนื้อเชื่อใจกันไม่ได้ประการหนึ่ง เบียดเบียนกันด้วยหลงลืมสติ ด้วยความประมาท เพราะเหตุดื่มของมึนเมาทำให้ความคิดวิปริตผิดปกติแล้วไปเบียดเบียนคนอื่นหรือตนเองประการหนึ่ง ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ฉลาดคิดหาทางป้องกันและกำจัดปัดเป่าให้หมดไป โดยตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาเป็นข้อๆ


          กฎเกณฑ์ต่างๆ  ที่คิดตั้งกันขึ้นมาได้นั้น  ที่สามารถสรุปเป็นข้อปฏิบัติได้ตรงกันเป็นส่วนใหญ่มี ๕ ข้อ คือ


            ๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์
             ๒. เว้นจากการลักขโมย
             ๓. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
             ๔. เว้นจากการพูดเท็จ
             ๕. เว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันทำให้เกิดความประมาท


     ข้อปฏิบัติ ๕ ประการนี้ได้ถือปฏิบัติกันมายาวนานและเป็นต้นแบบที่สำคัญ  ตกมาถึงสมัยพระพุทธเจ้าก็ทรงยอมรับข้อปฏิบัตินี้กัน และได้ถือปฏิบัติเป็นหลักศาสนาอย่างหนึ่ง เรียกกันต่อมาว่า


             เบญจศีล หรือ ศีล ๕


            ศีลแต่ละข้อจัดเป็นองค์แห่งศีล  เรียกว่า  สิกขาบท  ศีล  ๕  จัดเป็น  ๕  สิกขาบท  คือมีองค์แห่งศีล ๕ ประการ แต่เรียกโดยทั่วไปว่า เบญจศีล หรือ ศีล ๕ จะเรียกว่า สิกขาบท ๕ ข้อ ก็เรียกได้

2567%20%2007%20%2015%20b.jpg

           เบญจศีลนี้ถือว่าเป็นข้อปฏิบัติอันชอบธรรม  เป็นไปโดยธรรม  ด้วยเป็นประโยชน์แก่กันและกันในสังคมมนุษย์


         การรักษาเบญจศีลหรือศีล ๕  นั้นจำต้องมีธรรมอันเป็นพื้นฐานมาสนับสนุนหรือมาคอยกำกับให้การรักษาเป็นไปด้วยดีไม่ด่างไม่พร้อย ธรรมนั้นจัดว่าเป็นคู่แฝดของศีล คือเป็นไปอิงอาศัยกันและกัน ไม่แยกจากกัน


               อันธรรมที่มาสนับสนุนนั้นก็มี ๕ ประการเช่นเดียวกัน คือ


               ๑. เมตตากรุณา                   เป็นคู่กับศีลข้อ ๑
                ๒. สัมมาอาชีวะ                    เป็นคู่กับศีลข้อ ๒
                ๓. ความสํารวมในกาม          เป็นคู่กับศีลข้อ ๓
                ๔. ความมีสัตย์                     เป็นคู่กับศีลข้อ ๔
                ๕. ความมีสติรอบคอบ           เป็นคู่กับศีลข้อ ๕

 

2567%20%2007%20%2015%20%20b%20.jpg


            ธรรม  ๕  ประการนี้มีชื่อเรียกว่า เบญจธรรม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากัลยาณธรรม คือ ธรรมที่ดีงาม เป็นธรรมที่ชอบ เหมาะควรที่จะปฏิบัติตาม


             เบญจศีลเบญจธรรมนี้เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นคู่กันอยู่เสมอ   เช่น  คนที่เว้นจากการฆ่าสัตว์ได้แสดงว่าเป็นคนมีเมตตากรุณา หรือคนที่มีเมตตากรุณาประจำใจย่อมจะไม่ฆ่าสัตว์เป็นปกติ คนที่เว้นจากลักขโมยได้ แสดงว่าเป็นคนมีสัมมาอาชีวะ คือประกอบอาชีพในทางที่ชอบเป็นอาชีพสุจริต หรือคนที่มีสัมมาอาชีวะย่อมจะไม่ลักขโมย เป็นคู่กันไปอย่างนี้


            ต้องการจะบอกว่า การที่จะรักษาเบญจศีลแต่ละข้อเข้าไว้ได้ จำต้องมีเบญจธรรมแต่ละข้อกำกับ กล่าวคือปฏิบัติตามหลักเบญจธรรมให้เคร่งครัดมั่นคงเข้าไว้ ก็จะไม่ไป ล่วงละเมิดเบญจศีลเองโดยอัตโนมัติ หากไม่มีเบญจธรรม เบญจศีลก็มีได้ยาก หรือไม่มีเบญจศีล ก็รักษาเบญจธรรมได้ยากเช่นกัน รักษาอย่างหนึ่งได้ก็เท่ากับว่ารักษาอีกอย่างหนึ่งได้

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.037263266245524 Mins