ศีลข้อที่ ๒ อทินนาทานา เวรมณี
คำว่า อทินนาทานา เวรมณี ที่เรารับกันนั้นมีการแปลโดยทั่วไปว่า ห้ามลักทรัพย์ แต่โดยคำศัพท์ที่ปรากฏมีคำแปลดังนี้
คําว่า อทินนาทานา เวรมณี แปลว่า เจตนาเป็นเครื่องกำจัดเวรจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้
คําว่า ถือเอา หมายถึง ถือเอาด้วยอาการแห่งขโมย หรือถือเอาอย่างโจร
คำว่า สิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ คือเป็นสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ยินยอมให้ มิได้ยื่นให้ มิได้บอกให้ หรือมิได้ให้ด้วยกิริยาอย่างอื่น
ที่เข้าใจกันว่าหมายถึง การลักทรัพย์ นั้นเป็นการเข้าใจโดยภาพรวมกว้างๆ ซึ่งพอจะเข้าใจกันได้โดยทั่วไป แต่เพื่อความเข้าใจโดยละเอียดว่าลักทรัพย์นั้นคืออะไร ทำเช่นใดบ้างถือว่าเป็นการลัก และทรัพย์นั้นเจ้าของมิได้ให้ด้วยอาการอย่างไร เป็นต้น อันดับแรกพึงทราบเรื่องสิ่งของก่อน
สิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ในศีลข้อนี้มีหลายลักษณะ คือ
- เป็นสิ่งของที่มีเจ้าของเป็นตัวเป็นตน ถือว่าเป็นทรัพย์ของผู้นั้นทั้งทรัพย์ที่เป็นสวิญญาณกทรัพย์และอวิญญาณกทรัพย์ อันทรัพย์นั้นเจ้าของมิได้ให้
- เป็นสิ่งของที่ไม่มีเจ้าของโดยตรง ถือว่ามิใช่ของผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ แต่มีผู้ดูแลรักษา เช่น ของเซ่นไหว้ตามศาล ของบูชาพระของเช่นนี้ถือว่ามีเจ้าของโดยอ้อมคือมีผู้ดูแลรักษา ของนั้นอันผู้ดูแลรักษามิได้ให้
- เป็นของที่เป็นสาธารณะในหมู่ชน เป็นของกลาง มิได้มีใครเป็นเจ้าของโดยเฉพาะ แต่เป็นของชุมชน เป็นของราชการ หรือเป็นของสงฆ์ด้วย ของนั้นมีผู้ดูแลรักษาตามกฎหมายบ้าง ตามธรรมเนียม ถือว่าเป็นเจ้าของตามนั้น ของนั้นอันผู้รับผิดชอบนั้นมิได้ให้ของตามประเภททั้งหมดนี้ถือว่ามีเจ้าของทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมเมื่อเจ้าของนั้นมิได้ให้ด้วยอาการใดๆ เมื่อไป ถือเอา มา ก็ชื่อว่าลักทรัพย์
ทรัพย์ดังกล่าวเมื่อไปถือเอามาเข้าย่อมมีโทษ เป็นการผิดทั้งทางศีลผิดทั้งทางกฎหมายในทางศีลถือว่าไปละเมิดกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของของเขาทําให้เจ้าของเสียหาย เสียดาย หรือเดือดร้อน เป็นการเบียดเบียนทรัพย์สินของเขา การผิดทางศีลแบบนี้มิได้กำหนดราคาว่าเท่านั้นเท่านี้จึงผิด จะเท่าไรก็ถือว่าผิด แต่ในทางกฎหมายกำหนดโทษไว้ตามราคาของทรัพย์ หนักบ้างเบาบ้างตามข้อเท็จจริง แต่จะผิดทางศีลหรือผิดทางกฎหมายก็ตามก็ถือว่าละเมิดศีล และมีโทษในทางศีลเหมือนกันหมด ถ้าลักทรัพย์แล้วถูกจับได้ ย่อมผิดทั้งสองทาง
การกระทำที่จะเป็นเหตุให้ผิดศีลข้อนี้หรือเป็นเหตุให้มีโทษอย่างไรนั้น พึงทราบกิริยาที่ท่านห้ามไว้เพราะเป็นเรื่องการลักทรัพย์ กิริยาที่ว่านี้ได้แก่ โจรกรรม การเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรม กิริยาเป็นฉายาโจรกรรม
เรื่อง โจรกรรม
คำว่า โจรกรรม คือกิริยาที่ถือเอาสิ่งของของผู้อื่นด้วยอาการเป็นโจรโดยที่เจ้าของเขามิได้ให้ เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การลัก การขโมย การปล้น นั่นเอง
กิริยาที่ถือเอาแบบโจรกรรมนั้นท่านแสดงข้อปลีกย่อยไว้หลายประเภทขอยกมาอ้างคือ
ลัก คือกิริยาที่ถือเอาด้วยอาการเป็นโจร ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ขโมย (ลักตอนเขาเผลอ) ย่องเบา (ลักโดยแอบเข้าไปถือเอามา) ตัดช่อง (ลักโดยงัดหรือเจาะช่องเข้าไปถือเอา)
ฉก คือกิริยาที่ถือเอาโดย วิ่งราว (ซึ่งของที่เขาถือมาแล้ววิ่งหนี) ตีชิง (ตีเจ้าของแล้วชิงทรัพย์หนีไป)
กรรโชก คือกิริยาที่ขู่ให้เขากลัวจนยอมให้ทรัพย์ หรือใช้อำนาจบังคับให้เจ้าของทรัพย์ตกใจกลัวแล้วให้ทรัพย์
ปล้น คือกิริยาที่ยกพวกไปพร้อมอาวุธครบมือเข้าไปถือเอาทรัพย์สินเขาพร้อมใช้อำนาจอาวุธข่มขู่บ้าง ใช้กำลังทำร้ายบ้าง ใช้อาวุธฆ่าบ้าง
ตู่ คือกิริยาที่ร้องเอาของผู้อื่นซึ่งมิได้อยู่ในมือตน เช่น ฟ้องร้องเอาที่ดินของเขาโดยแจ้งว่าเป็นของตัว
ฉ้อ คือกิริยาที่รับของฝากไว้ ต่อมาปฏิเสธเสียว่ามิได้รับฝาก หรืออาศัยที่ดินเขาอยู่ ภายหลังประกาศว่าที่ดินเป็นของตัว
หลอก คือกิริยาที่พูดโกหกเพื่อถือเอาของผู้อื่น เช่น ไปหาท่านหลอกท่านว่าคนผู้นั้นขอยืมของ เมื่อท่านให้มาก็ยึดเป็นของตนเสีย
ลวง คือกิริยาที่แสดงของปลอมอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วบอกว่าเป็นของจริง ให้เขาเข้าใจผิด หรือชั่งของน้ำหนักน้อยให้ได้น้ำหนักมากด้วยตาชั่งโกงทําให้เขาเข้าใจผิด
ปลอม คือกิริยาที่หาของไม่แท้ให้เป็นเหมือนของแท้ หรือแสดงว่าเป็นของแท้ ทําให้คนเชื่อว่าเป็นของแท้จริง
ตระบัด คือกิริยาที่ยืมของของคนอื่นไปแล้วไม่ส่งคืน กู้หนี้สินไปแล้วไม่ส่งคืนทั้งต้นทั้งดอก หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง
เบียดบัง คือกิริยาที่เขาให้ไปเก็บเงินหรือเก็บผลไม้ได้มาแล้วไม่นำส่งเขาทั้งหมด ยักยอกเอาไว้ส่วนหนึ่งเพื่อตัว
สับเปลี่ยน คือกิริยาที่เปลี่ยนสิ่งของของตนกับของของคนอื่น โดยนำสิ่งของของตนที่ไม่ดีไปเปลี่ยนกับของของคนอื่นที่ดีกว่า โดยที่เจ้าของไม่ทราบ
ลักลอบ คือกิริยาที่นำสิ่งที่ควรเสียภาษีเข้ามาโดยการปิดบังซ่อนเร้นไม่ต้องเสียภาษี หรือลอบทำสิ่งของที่ต้องห้าม หรือลักลอบละเมิดกฎหมายบ้านเมือง โดยลอบทำกิจโดยไม่เสียภาษี
ยักยอก คือกิริยาที่เอาทรัพย์สินซึ่งต้องถูกยึดของคนอื่นไปไว้ที่อื่นเสียทำให้ยึดไม่ได้ หรือตนเองต้องล้มละลาย นำทรัพย์ไปซ่อนเสียมิให้ตกเป็นของหลวงกิริยาที่แสดงมาโดยละเอียดนี้ถือว่าเป็น โจรกรรม ทั้งสิ้น เข้าข่ายลักทรัพย์หรือเข้าข่ายถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้ทั้งหมด และมีโทษเป็นอทินนาทานทุกอย่าง
เรื่อง การเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรม
การเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรม หมายถึง การแสวงหาทรัพย์สมบัติเพื่อมาเลี้ยงชีพในทางที่ไม่สมควร ไม่บริสุทธิ์ การแสวงหาเช่นนั้นแม้จะไม่เป็นโจรกรรมโดยตรง แต่ก็เป็นดุจเดียวกับโจรกรรม ทรัพย์สมบัติที่ได้มาด้วยวิธีเช่นนี้ก็ไม่ต่างกับที่ได้มาด้วยโจรกรรม
การเลี้ยงชีพประเภทนี้ ได้แก่
สมโจร คือกิริยาที่รับซื้อสิ่งของที่ขโมยมา จะเพื่อเก็บไว้เป็นสมบัติของตนก็ตาม จะนำไปขายเอากำไรต่อก็ตาม การกระทำเช่นนี้จัดเป็นสมโจรเป็นการสนับสนุนโจรกรรม ทำให้เกิดโจรกรรมได้ง่าย เพราะพวกโจรมีช่องทางปล่อยของ เมื่อทําโจรกรรมมาได้แล้วก็นำไปขายต่อได้ ทำให้มีใจกำเริบ กล้าทำโจรกรรมไม่หยุดหย่อน
ปอกลอก คือกิริยาที่คบหากับผู้อื่นโดยไม่สุจริตใจ มีนัยแฝงอยู่ เช่นคบหาด้วยเห็นว่าเป็นคนร่ำรวย ตนเองมีทางหลอกล่อให้ได้ทรัพย์สินของเขาได้เมื่อหลอกล่อได้ทรัพย์สินจนเขาหมดตัวแล้วก็ละทิ้งเขาไป
รับสินบน คือกิริยารับทรัพย์สินที่เขาให้มาเพื่อช่วยทำธุระให้เขาในทางที่ผิด หรือช่วยให้เขาได้รับสิทธิพิเศษเหนือผู้อื่นทั้งที่ไม่ถูกต้อง เช่น ข้าราชการผู้มีอำนาจรับคนเข้าทำงานรับสินบนของผู้มาสมัครงาน ตัดสินให้เขาได้ทำงานหรือตุลาการรับสินบนของลูกความ แล้วตัดสินให้ฝ่ายนั้นชนะคดีทั้งที่ทำผิดจริงหรือให้รับโทษน้อยลง หรือให้เสียค่าปรับน้อยลง ทรัพย์สินที่รับมาโดยวิธีเช่นนี้แม้จะได้มาก แต่ก็ไม่ต่างอะไรกับที่ได้มาด้วยโจรกรรม
การเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรมเหล่านี้แม้จะมิได้เป็นโจรกรรมโดยตรงแต่ ก็เป็นปัจจัยแห่งโจรกรรม คือทำให้โจรเต็มบ้านเต็มเมืองเพราะมีทางจำหน่ายของโจรกรรมบ้าง เป็นปัจจัยให้บุคคลตกยากเพราะถูกปอกลอกจนสิ้นเนื้อสิ้นตัวบ้าง เป็นปัจจัยให้บุคคลประพฤติผิดทางธรรม คือทำให้ผู้รับสินบนไม่ตั้งอยู่ในธรรมได้ ทำให้ประพฤติทุจริตผิดธรรม เสียความยุติธรรม เสียความเที่ยงตรงจนไม่มีหลักยึด
ดังนั้น จึงถือว่าพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรกับโจรกรรม เป็นกิริยาที่น่ารังเกียจ น่าตำหนิทั้งทางโลกและทางธรรม เมื่อทำแล้วย่อมมีโทษเป็นอทินนาทานด้วย
ผู้มีศีลผู้รักษาศีลพึงกำหนดกิริยาเหล่านี้แล้วพึงละเว้นเสีย แสวงหาทรัพย์สินมาเลี้ยงตัวและคนในครอบครัวในความรับผิดชอบด้วยสัมมาชีพด้วยอาชีพที่สุจริต ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตน ย่อมสบายใจกว่า มีเกียรติภูมิกว่าและดีกว่าเลี้ยงชีพด้วยอนุโลมโจรกรรม แม้ว่าเบื้องต้นอาจดีกว่าร่ำรวยกว่า แต่ภายหลังย่อมทำให้เกิดทุกข์แน่ เริ่มต้นจะทำให้เดือดร้อนใจ นึกคิดถึงความผิดที่ตนทำมาไม่เสื่อมคลาย บอกใครก็ไม่ได้ทำให้เครียดกลัดกลุ้ม ไม่นานก็อายุสั้นพลันตายโดยไม่ทราบสาเหตุแท้จริงอันเกิดจากพฤติกรรมข้างต้นเป็นประการสำคัญ
เรื่อง กิริยาเป็นฉายาโจรกรรม
ฉายาโจรกรรม คือ การทำทรัพย์สินของผู้อื่นให้สูญเสียไป การทำเช่นนี้เป็นกิริยาที่มิใช่โจรกรรมโดยตรง แต่เป็นเหมือนโจรกรรม เพราะทำให้เจ้าของเสียหาย เสียใจ หรือไม่พอใจ จัดเป็นกิริยาเป็นฉายาโจรกรรม
กิริยาเป็นฉายาโจรกรรมนั้น ได้แก่
ผลาญ คือการทำอันตรายแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น ทำให้เกิดความเสียหายพินาศ หรือหมดสิ้นไป ด้วยความอาฆาตหรือไม่พอใจเจ้าของ เช่น เผานา ฆ่าวัวควาย ทุบรถ ทำลายอุปกรณ์หากิน แต่มิได้ทำแก่ตัวเจ้าของทรัพย์โดยตรงต้องการเพียงความสะใจ ความดีใจที่เห็นเจ้าของทรัพย์โกรธแค้น การทำเช่นนี้แม้ว่าจะมิได้ทำร้ายเจ้าของทรัพย์โดยตรง มิได้ทำโจรกรรมทรัพย์ของเขา มิได้มีเจตนาเป็นโจร แต่ก็ทำให้ทรัพย์เขาเสียหาย ทำให้เจ้าของสูญเสียทรัพย์ก็เท่ากับทำกับเจ้าของทรัพย์เช่นกัน ผลาญจึงเป็นฉายาโจรกรรม
หยิบฉวย คือการถือเอาทรัพย์สิ่งของของผู้อื่นมากินมาใช้โดยมักง่ายโดยไม่ได้บอกให้เจ้าของทรัพย์รู้ ถือเอาโดยวิสาสะว่าเจ้าของคงไม่ว่าอะไร
การถือเอาแบบหยิบฉวยด้วยวิสาสะนี้ ที่เป็นฉายาโจรกรรมก็มีไม่เป็นก็มีที่เป็นฉายาโจรกรรมก็คือถือเอาแล้วเจ้าของทรัพย์เขาเสียดาย ไม่พอใจ หรือถึงกับฟ้องร้องว่าลักทรัพย์ เช่น บุตรที่เป็นพาล ชอบเที่ยวเตร่หรือกินเหล้าเมายาถือเอาทรัพย์ของบิดามารดาหรือของปู่ย่าตายายไปด้วยวิสาสะว่าคงไม่ว่าอะไรไม่บอกให้รู้ นำไปใช้กินเที่ยวตามอำเภอใจ บิดามารดาหรือปู่ย่าตายายทราบเข้าไม่พอใจ ทำโทษ ด่าว่า หรือให้นำมาคืน ด้วยรู้ว่าบุตรนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูก เช่นนี้แม้จะวิสาสะแต่ก็เป็นการหยิบฉวยที่เป็นฉายาโจรกรรมแท้
การหยิบฉวยด้วยวิสาสะที่ไม่เป็นฉายาโจรกรรมนั้น คือเจ้าของทรัพย์เขาสนิทสนมกับตน เมื่อถือเอาทรัพย์ของเขามาด้วยวิสาสะแล้ว เขาไม่ว่าไม่สงสัยอะไร หรือเจ้าของอนุญาตไว้ ไม่หวง พอให้กันได้ เมื่อถือเอาทรัพย์นั้นด้วยวิสาสะแล้วเจ้าของกลับพอใจหรือไม่ได้ว่าอะไร อย่างนี้เป็นการถือเอาด้วยวิสาสะที่ไม่มีโทษอะไร
การถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาด้วยวิสาสะนั้น ผู้หวังความสวัสดีต่อตัวเองพึงตระหนักให้ดี งดเว้นกระทำเสียได้ย่อมเป็นการดี เพราะหมิ่นเหม่ต่อการเป็นฉายาโจรกรรม แม้จะมีวิสาสะกันอย่างไรก็พึงบอกให้เขารู้ให้เขาอนุญาตก่อนถือเอา ย่อมเป็นมารยาทที่เหมาะสมและงดงาม ย่อมพ้นโทษด้วยประการทั้งปวง ย่อมมีแต่ความสวัสดีแน่นอน
องค์ของศีลข้อที่ ๒
ในศีลข้อที่ ๒ นี้ แม้จะมีกิริยาที่นับว่าเป็นอทินนาทานคือการลักทรัพย์หลายอย่าง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แต่ก็ไม่อาจตัดสินได้ว่าเป็นอทินนาทานสมบูรณ์หรือยัง ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลักเหมือนในข้อปาณาติบาต
ในศีลข้อนี้ ประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ คือ
๑. ของที่ลักเป็นของมีเจ้าของ
๒. ผู้ลักก็รู้ว่าของนั้นมีเจ้าของ
๓. มีความจงใจจะลัก
๔. พยายามลักของนั้นไป โดยที่สุดแม้เพียงเอื้อมมือยกไปเท่านั้น
๕. นำของนั้นมาได้ด้วยความพยายามนั้น
เมื่อวิเคราะห์ตามองค์ศีล ๕ ประการนี้แล้ว จึงเห็นได้ว่าการลักทรัพย์นั้นมิได้ทำได้ง่ายนัก ต้องประกอบครบองค์ ๕ จึงสำเร็จผลและเป็นอทินนาทานหากไม่ครบองค์เล่า ย่อมไม่เป็นอทินนาทาน แต่ศีลด่างหรือพร้อยไป โทษก็เบาบางลงมา การไม่ครบองค์นั้นสำคัญอยู่ที่เจตนา หากไม่มีเจตนา เช่นถือเอาด้วยวิสาสะ ไม่ได้คิดลักขโมย แม้จะทำให้เจ้าของทรัพย์ไม่พอใจ ก็เป็นฉายาโจรกรรม มิใช่เป็นโจรกรรมโดยตรง โทษในกรณีอย่างนี้ย่อมเพลาลง
แม้จะมีเจตนาแรงกล้าที่ลัก แต่ไม่สำเร็จ ลักเอาของไปไม่ได้ ก็ไม่ครบองค์เช่นกัน อย่างนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นอทินนาทานสมบูรณ์ โทษก็ไม่รุนแรงเช่นกัน
แม้ในทางโลก คดีความเรื่องการลักทรัพย์นี้ก็มีการลงโทษต่างกันไปตามลักษณะของที่ลักไปได้บ้าง ตามเจตนาบ้าง ตามความพยายามในการลักบ้าง ก็เข้าลักษณะองค์ ๕ ประการข้างต้นเช่นกัน
แต่การลักทรัพย์นั้น แม้จะทำไปไม่ครบองค์ ๕ แม้จะไม่เป็นอทินนาทานแต่ก็ไม่ควรทำ เพราะถึงอย่างไรก็แสดงถึงจิตใจที่มุ่งผลประโยชน์บนความเดือดร้อนของเจ้าทรัพย์ เป็นความเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ หรือแสดงความไม่รับผิดชอบต่อการกระทำของตน แสดงความไม่มีมารยาทอันควรในการหยิบฉวยมาด้วยวิสาสะ
อทินนาทานที่ร้ายแรง
ที่แสดงมาข้างต้นเป็นการแสดงถึงการลักทรัพย์ของผู้อื่นด้วยรูปแบบและวิธีการต่างๆ ซึ่งแตกต่างกันไป โดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง ซึ่งล้วนเป็นอทินนาทานทั้งสิ้น เมื่อครบองค์ศีลข้อนี้แล้ว นอกจากทำโดยไม่ครบองค์ ก็ถือว่ายังไม่ล่วงละเมิดศีลข้อนี้ เป็นแต่ด่างไป พร้อยไป และโทษก็เบาบาง
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม อทินนาทานบางรูปแบบมีโทษมาก เพราะมิใช่ทำให้เจ้าของทรัพย์เดือดร้อนโดยตรง แต่ทำให้คนทั่วไปเดือดร้อน ทำให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนรวม แก่ระบบ และทำเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีไว้ ทำให้เยาวชนและผู้คนที่คิดไม่ถึงถือเอาเป็นแบบอย่างไปทำตามเข้า ทำให้เกิดโทษเป็นลูกโซ่ไม่รู้จบ และกำจัดได้ยาก ทำให้เป็นความทุกข์ของสังคม ของประเทศชาติและของโลกมากขึ้นทุกวัน
อทินนาทานรูปแบบที่ว่า เช่น การเบียดบัง การทุจริตคอร์รัปชั่น การรับสินบนของผู้มีอำนาจ ของข้าราชการตามหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ บุคคลเหล่านี้เสี่ยงต่อการละเมิดอทินนาทานตามรูปแบบดังกล่าวมาก หากไม่อาจระงับใจได้ หากมีความจำเป็นบางอย่าง หากตกอยู่ในอำนาจของผู้ใดสิ่งใด หรือหากมีจิตใจอ่อนด้อย ต้องการความร่ำรวย ความมีหน้ามีตา ต้องการมียศตำแหน่งโดยไม่คำนึงถึงความถูกผิด ก็มักจะเผลอทำอทินนาทานไปโดยไม่ทันคิด หรือคิดรอบคอบแล้วว่าทำได้ ไม่ถูกจับแน่ หรือคิดว่าตนมีอำนาจจะทำอย่างไรก็ได้ เมื่อทำในครั้งแรกก็คิดหวั่นๆ อยู่ แต่เมื่อไม่เกิดผลในทางลบ มีแต่ได้และได้มากเสียด้วยก็ติดใจ ทำอีกและทำอีก เพิ่มพูนวิธีการเพื่อให้ได้ผลมากขึ้น
วิธีการเบียดบัง การทุจริตคอร์รัปชั่น การรับสินบนของบุคคลเหล่านี้พลิกแพลง วกวน ซ่อนเงื่อน และเต็มไปด้วยลูกเล่นมากมาย จนมองไม่ออกหรือนึกไม่ถึงก็มีอยู่ กิริยาภายนอกก็ดูดี วางตัวก็ดีน่าศรัทธาเลื่อมใส แต่พฤติกรรมที่ซ่อนเร้นเต็มไปด้วยอทินนาทานแบบต่างๆ
การกระทำของบุคคลเช่นนี้ย่อมทำให้กิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น เป็นการแย่งชิงความสุขของผู้อื่นมาเพื่อตนโดยเฉพาะ เช่น การทุจริตในการก่อสร้างด้วยเงินงบประมาณ เมื่อถ่ายเทผลประโยชน์ส่วนหนึ่งมาเป็นของตนโดยไม่ชอบธรรม ทำให้การก่อสร้างไม่เต็มรูปแบบ เกิดความบกพร่อง เสี่ยงอันตราย หรือทําได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น เป็นต้นคนที่เสียประโยชน์หรือควรได้ประโยชน์ก็คือคนที่เสียภาษี ทำให้ชีวิตไม่เป็นสุขตามที่ควรจะเป็น ดังนั้น อทินนาทานเช่นนั้นจึงมีโทษมากแก่คนอื่น
สำหรับผู้ทำนั้นย่อมเป็นการทำอทินนาทานเต็มรูปแบบอยู่แล้ว แม้ว่าจะได้ผลประโยชน์มา แม้ว่าจะทำให้ฐานะดีขึ้น ทำให้อยู่สุขสบาย หรือทำให้มียศมีตำแหน่งสูงขึ้นอย่างไร โทษของอทินนาทานยังตามไม่ทันก็ไม่เป็นไรรอไว้ก่อน ตามทันเมื่อไรก็เป็นไปตามกรรม
ลักษณะเช่นนี้ย่อมมีให้เห็นกันโดยทั่วไป แต่ก็ยังทำกันอยู่ คงเพราะยังไม่ตระหนัก ยังไม่เชื่อ หรือเชื่อมั่นตนเองว่าทำได้ไม่ต้องกลัวอะไร
โลกเดือดร้อนวุ่นวาย ไม่อาจสงบได้ก็เพราะคนประเภทนี้แหละ ในสังคมหนึ่งแม้จะมีไม่มากคนก็ทำให้สังคมนั้นเดือดร้อนได้แท้จริง
อาจจะมีบ้างที่คิดแย้งว่า เมื่อเขาทำแล้วก็นำมาช่วยเหลือสังคม ทำให้สังคมคล่องตัวไม่ติดขัด อย่างนี้จะผิดด้วยหรือ
ความจริง การทําอทินนาทานกับการช่วยเหลือสังคมด้วยรายได้ที่ทําอทินนาทานมานั้น ต้องแยกกัน การทำอทินนาทานทำให้เขาเดือดร้อนและเดือดร้อนทั่วหน้า แต่การช่วยเหลือนั้นจะอยู่ในวงแคบ และการทำให้เขาเดือดร้อนแล้วมาทำให้เขาสุขสบายในระดับหนึ่งนั้น จะสู้ไม่ทำให้เขาเดือดร้อนแต่แรกเริ่มกระไรได้ เช่นนี้จะถืออย่างโจรผู้ใจบุญปล้นคนรวยแล้วนำทรัพย์ไปแจก
แก่คนยากจนแบบโบราณกระนั้นหรือ
เรื่องเช่นนี้ หากมีเมตตากรุณา เห็นอกเห็นใจคนอื่น เห็นว่าไม่เหมาะไม่ควรจะทำ แม้จะสามารถทำได้โดยไม่มีคนรู้ ไม่มีคนรังเกียจ แต่ตัวเองรู้ว่าไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม รู้ว่าเป็นบาปเป็นกรรม ก็เกิดความละอายใจที่จะทำไม่ยอมทำ คนเช่นนี้ในสังคมยังมีอีกมาก ทำให้สังคมสงบเย็น เป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้ทำให้ผู้คนเคารพนับถือด้วยจริงใจ แม้จะมีอายุมากแล้วผู้คนก็ยังให้ความเคารพนับถือไม่เสื่อมคลาย
ห่างไกลอทินนาทานด้วยสัมมาชีพ
สัมมาชีพ คือการประกอบอาชีพอันถูกต้องเหมาะสม เป็นอาชีพสุจริตตรงข้ามกับมิจฉาชีพ ซึ่งเป็นการประกอบอาชีพที่ผิด ไม่เหมาะสม เป็นอาชีพทุจริต ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือการทำโจรกรรมต่างๆ นั่นเอง
สัมมาชีพนี้เป็นเบญจธรรม เครื่องทำให้เบญจศีลข้อที่ ๒ มีความสมบูรณ์ไม่บกพร่อง คนที่ประกอบสัมมาชีพย่อมรังเกียจอทินนาทาน ย่อมไม่ข้องแวะกับอทินนาทาน แม้จะมีโอกาส แม้จะยากจน หรือแม้จะถูกบังคับอย่างไร ก็หาทางหลีกเว้นเอาตัวรอดได้
นอกจากผู้ที่ประกอบสัมมาชีพไปด้วย ประกอบอทินนาทานไปด้วยเมื่อมีโอกาส หรือประกอบสัมมาชีพบังหน้าเพื่อให้มองดูว่าตนเป็นคนสุจริต แต่อาชีพจริงคืออทินนาทานรูปแบบต่างๆ แบบนี้ก็มีอยู่มากในสังคม แทบจะมองกันไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร เพราะดูภายนอกเขาประกอบสัมมาชีพ แต่ข้อเท็จจริงสัมมาชีพของผู้นั้นไม่อาจป้องกันโทษอันเกิดจากอทินนาทานได้
สำหรับผู้มีสัมมาชีพรักในสัมมาชีพแล้วย่อมมีจิตใจมั่นคง มองเห็นโทษของมิจฉาชีพ โทษของการทำอทินนาทาน แล้วรังเกียจที่จะกระทำอทินนาทานยิ่งรู้ว่าอทินนาทานมีโทษทั้งทางโลกและทางธรรมด้วยแล้วยิ่งไม่แตะต้องทำตัวห่างจากอทินนาทานด้วยประการทั้งปวงนอก จากจะประพฤติห่างไกลอทินนาทานแล้วยังสอนลูกสอนหลานให้รังเกียจไม่กระทำอทินนาทานด้วยเมื่อลูกหลานคนใดกระทำก็จะลงโทษ ดุด่า เฆี่ยนตี กำชับมิให้กระทำอีก ลูกหลานที่ได้รับคำสอนแล้วหรือเคยทำผิดจนถูกลงโทษมาแล้วก็จะจดจำและประพฤติงดเว้นแบบผู้ใหญ่ ประกอบอาชีพเป็นสัมมาชีพไปตามปกติ ทำให้สังคมสงบสุขไว้วางใจกันได้
สังคมเช่นนี้เป็นสังคมที่เคยเป็นกันในประเทศไทยนี้เอง แต่เป็นสังคมโบราณ แม้ปัจจุบันก็อาจมีบ้าง แต่อยู่ห่างไกลปืนเที่ยง สังคมโบราณนั้น บ้านไม่ต้องมีรั้วแข็งแรงอะไร ทำไว้เพื่อป้องกันวัวควายหรือสัตว์จะเข้ามาเหยียบย่ำสิ่งของภายในรั้วบ้านเท่านั้น มิได้ทำไว้เพื่อป้องกันคนแต่อย่างใด ประตูบ้านก็แค่ลั่นกลอน ไม่ต้องมีกุญแจใส่ จะไปไหนก็ไม่ต้องปิดบ้านมิดชิดแบบปัจจุบันเพียงงับประตูไว้แล้วบอกเพื่อนบ้านว่าตนจะไม่อยู่ ขอให้ช่วยดูแลบ้านให้บ้างเพื่อนบ้านก็ยินดีรับดูแลให้เป็นอย่างดี
บ้านเช่นนั้นใช่ว่าจะไม่มีสมบัติอะไร มีสมบัติอยู่บ้างแม้จะไม่มาก แต่ก็มีค่าสำหรับพวกเขา เช่น หม้อข้าวเตาไฟ หากหายไปก็ทําให้เขาเดือดร้อน แต่ไม่มีหาย เพราะทุกคนในสังคมต่างก็มีเหมือนกัน และไม่ทำอทินนาทานของกันและกัน ทําให้สมบัติปลอดภัย
สังคมที่อยู่กันด้วยการประกอบสัมมาชีพ ละอทินนาทานกันถ้วนหน้าเช่นนี้ เป็นสังคมที่ปลอดภัย ไว้วางใจกัน ไม่มีเรื่องต้องกวดขันดูแลสมบัติ ทำให้คนอยู่มีความสุข
สังคมเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เลยในเมื่อผู้คนยังไม่ประกอบอาชีพอันสุจริตเป็นสัมมาชีพ ยังไม่เว้นอทินนาทานกันได้ ทำให้คนในสังคมต้องป้องกันทรัพย์สมบัติของตัวเองกันเต็มที่ มีทั้งรั้วบ้าน มีทั้งลูกกรงเหล็ก มีทั้งกุญแจสารพัด ถึงกระนั้นก็ไม่วายข้าวของถูกโจรกรรมสูญหายไปเป็นประจำ จะไปไหนก็ไม่ค่อยวางใจนัก ต้องมีคนเฝ้าตลอดเวลา โดยเฉพาะสังคมเมืองจะเป็นเช่นนี้กันทั่วไป สังคมเช่นนี้แม้จะไม่น่าอยู่ แต่จำเป็นต้องอยู่ เพราะไม่รู้จะไปที่ไหน หรือเพราะมีงานการทำในเมือง ต้องอดทนอดกลั้นและกล้ำกลืนความหวาดระแวงกันไป
วัตถุประสงค์ของศีลข้อที่ ๒
การกำหนดเรื่องอทินนาทานนี้ขึ้นมาเป็นกติกาในสังคม มีวัตถุประสงค์ใหญ่ ๓ ประการ คือ
๑. เพื่อให้ผู้คนในสังคมเคารพในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินของคนอื่น คือสร้างความรู้สึกอันดีงามว่าทรัพย์ที่มีอยู่ของคนอื่นนั้นเขาหามาได้ด้วยความอดทนอดกลั้น ด้วยการทุ่มเทกำลังและสติปัญญาได้มา หรือได้มาเป็นมรดกด้วยบุญวาสนา ย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมของเขา เขาย่อมหวงแหนและรักษาทรัพย์เหล่านั้น เหมือนกับที่เรารักหวงแหนทรัพย์ของเราเช่นกัน เมื่อมีความรู้สึกเคารพในกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์อย่างนี้ คนก็จะไม่ไปล่วงละเมิดถือเอาทรัพย์ของคนอื่นมาเป็นของตนโดยไม่ชอบธรรม
๒. เพื่อป้องกันมิให้ผู้คนไปถือเอาทรัพย์สินของคนอื่นโดยไม่ถูกต้องชอบธรรม คือเมื่อมีข้อห้ามมิให้ไปทำอทินนาทานแล้ว ผู้คนก็จะเกรงกลัวโทษที่จะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ทั้งทางโลกและทางธรรม เมื่อกลัวแล้วก็จะไม่ไปทําอทินนาทาน ก็เท่ากับได้ป้องกันมิให้ไปถือเอาทรัพย์สินของคนอื่นโดยไม่ถูกต้อง เมื่อคนเราไม่ทำอทินนาทาน ทรัพย์ก็ปลอดภัย เจ้าของทรัพย์ก็วางใจสบายใจ ไม่ต้องระวังกังวลมาก
๓. เพื่อให้สังคมดำรงชีพอยู่ด้วยสัมมาชีพ คือมุ่งให้ผู้คนประกอบอาชีพในทางสุจริต เป็นอาชีพที่ถูกต้องเป็นธรรม ด้วยกำลังของตนเอง ทรัพย์สินที่เกิดจากอาชีพนั้นๆ ก็จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจ สามารถกินใช้ได้อย่างสะดวกใจ ไม่ต้องซ่อนเร้นระวังตัว หากดำรงชีพอยู่ด้วยมิจฉาชีพก็จะทำให้คนอื่นเดือดร้อน และตัวเองก็เดือดร้อนเพราะต้องระวังตัว จะใช้ทรัพย์ที่ทำอทินนาทานมาก็ต้องระวัง กลัวเจ้าของทรัพย์จะเห็น ต้องเก็บงำไว้อย่างมิดชิดมีแต่ความกังวล กินใช้ไม่สะดวกด้วยประการทั้งปวง
วัตถุประสงค์ปลีกย่อยยังมีอีกมาก กล่าวเฉพาะที่สำคัญอันเป็นเป้าหมายของศีลข้อนี้แต่จุดประสงค์ของการมีศีลข้อนี้ก็อยู่ในจุดประสงค์ของการมีศีลโดยภาพรวม เช่น เพื่อให้ห่างเว้นจากบาปอกุศล โดยไม่ทำบาปอกุศล อันจะเป็นพื้นฐานไต่เต้าก้าวขึ้นไปสู่คุณธรรมระดับสูงขึ้นไปคือสมาธิและปัญญา ซึ่งจะสามารถบรรลุถึงมรรคผลนิพพานหรือบรรลุถึงนิพพานสมบัติได้ระดับนั้น ก็ทำให้ชีวิตมีความสุขอยู่กับปัจจุบันอันเป็นมนุษย์สมบัติ ตายแล้วก็เมื่อไม่ถึงเข้าสุคติโลกสวรรค์อันเป็นสวรรค์สมบัติ