ทำอย่างไรจึงจะรักษาศีล ๕ ได้

วันที่ 29 กค. พ.ศ.2567

2567%2007%2029%20b.jpg

 

ทำอย่างไรจึงจะรักษาศีล ๕ ได้

 

        ศีล   ๕   มีคุณูปการหลายอย่างดังกล่าวมาแล้ว    และก็พอจะเห็นอานิสงส์ในการรักษาศีล  ๕ บ้างแล้ว เมื่อเป็นดังนี้จึงอยากจะรักษาศีล ๕ ขึ้นมาบ้าง หรือเคยรักษามาบ้างแล้วแต่ก็ไปไม่รอดมักจะล่วงละเมิดบ่อยๆ จนเกิดความรู้สึกว่าไม่รักษาดีกว่า สบายใจกว่าไม่ต้องอึดอัดใจอะไร เลยทิ้งศีล ๕ ไป แต่ตอนนี้เกิดความรู้สึกอยากรักษาศีล ๕ จริงๆ จังๆ ขึ้นมา

 

           ในกรณีอย่างนี้จึงเกิดมีปัญหาขึ้นมาว่าทำอย่างไรจึงจะรักษาศีล ๕ ได้ตลอดไป


           การที่คนเราจะรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ให้ดีได้   มิใช่จะทำได้ง่ายนัก  แม้จะกล่าวว่าขอให้รักษากาย วาจาให้สงบเรียบร้อยเป็นปกติ ไม่ทำไม่พูดให้ผิดปกติไปก็เป็นศีลแล้ว ก็เป็นการกล่าวในมุมกว้างๆ ซึ่งทำจริงๆ ก็ทำได้ยาก เพราะต้องมีรายละเอียดต่อไปว่าให้สงบให้เรียบร้อยเป็นปกตินั้นแค่ไหน และแค่ไหนถือว่าผิดปกติ ดังนั้นจึงกล่าวว่าไม่ง่ายนักที่จะทำได้


          การที่จะรักษาศีล ๕ ให้ได้ผลตามหลักและเป็นไปได้ตลอดไป จำต้องฝึกหัด ต้องปฏิบัติข้อธรรมอื่นๆ เป็นต้นทาง เปรียบเหมือนศีล ๕ เป็นปลายทางจึงก่อนที่จะไปถึงศีล ๕ ได้จำต้องมีต้นทางที่จะดำเนิน มิใช่กระโดดข้ามต้นทางแล้วถึงศีล ๕ เลย อาจทำได้ แต่ก็จะไม่อาจรักษาศีล ๕ ได้ตลอดไป เผลอเมื่อไรก็จะละเมิด เบื่อเมื่อไรก็จะทิ้ง รักษาได้ไม่นาน


           ได้กล่าวมาในเบื้องต้นบ้างแล้วว่า  การที่จะรักษาศีล  ๕  หรือเบญจศีลแต่ละข้อเข้าไว้ได้ จำต้องมีธรรม ๕ ข้อที่เรียกว่า “เบญจธรรม” มาช่วยเป็นข้อกำกับ กล่าวคือปฏิบัติตามหลักเบญจธรรมให้เคร่งครัดมั่นคงเข้าไว้ ก็จะไม่ไปล่วงละเมิดเบญจศีลเองโดยอัตโนมัติ หากไม่มีเบญจธรรม เบญจศีลก็มีได้ยาก หรือไม่มีเบญจศีล ก็รักษาเบญจธรรมได้ยากเช่นกัน รักษาอย่างหนึ่งได้ก็เท่ากับว่ารักษาอีกอย่างหนึ่งได้


             ที่กล่าวดังนี้ก็ว่าไปตามหลัก   ซึ่งจำต้องเป็นเช่นนั้น   แต่ก็มิใช่จะทำตามได้ง่ายอย่างที่กล่าว นอกจากตั้งใจทำตั้งใจปฏิบัติจริงๆ ปฏิบัติจนเป็นปกติวิสัยจนเกิดความเคยชินจนไม่รู้สึกว่าลำบากอะไร ก็จะทำได้ไม่ยาก

 

            ที่สำคัญที่สุดได้แสดงมาข้างต้นแล้วว่า  หิริโอตตัปปะ  ความอายชั่วกลัวบาป  นั่นแหละเป็นเหตุให้รักษาศีลได้มั่นคง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจิตใจที่มีความรู้สึกอายที่จะทำความชั่ว และรู้สึกกลัวบาปที่จะติดตามมาหลังจากทำความชั่วไปแล้ว จัดเป็นพื้นฐาน เป็นรากฐาน และเป็นเบื้องต้นที่สำคัญอันทำให้รักษาศีลได้อย่างดี


           แต่ก็มีข้อธรรมอีกหลายอย่างที่เป็นต้นทางให้รักษาศีล  ๕  ได้แม้จะทำได้ยาก  ต้องฝึกฝน อดทน เสียสละทำอย่างเข้มแข็งจึงจะทำได้ แต่หากทำได้ก็จะสามารถก้าวถึงศีล ๕ และรักษาศีล ๕ ได้อย่างสบาย ไม่ยากเย็นอะไร


         ข้อธรรมเหล่านั้นจะกล่าวว่า เป็นธรรมต้นทางหรือเป็นพื้นฐานที่จะก้าวขึ้นสู่การมีศีล ๕ รักษาศีล ๕ ได้อย่างสมบูรณ์ต่อไปก็ย่อมได้


             ธรรมดังกล่าวนั้นมี ๕ ประการตามศีล คือ


             ๑. ความสะอาด เป็นต้นทางของศีลข้อที่ ๑


        ศีลข้อปาณาติบาต   เกิดขึ้นเพราะความสกปรกแน่แท้  เริ่มต้นเมื่อคนเราสกปรก  บ้านสกปรก ครัวสกปรก ห้องนอนสกปรก บริเวณบ้านสกปรก แล้วจะเกิดอะไรขึ้น สัตว์สกปรกทั้งหลายก็จะตามมา ไม่ว่าหนู แมลงสาบ แมลงวัน หรือสัตว์เล็กๆ เช่น มด ไร ที่ใดสกปรกก็จะไปอาศัยอยู่ เจ้าของบ้านเห็นสัตว์เหล่านี้เข้าก็จำต้องกำจัด เพราะกำจัดสัตว์เหล่านี้จึงจำต้องทำปาณาติบาต ถ้าไม่กำจัดก็อยู่ไม่สบายแน่นอน ปาณาติบาตจึงเกิดขึ้น ความสกปรกยังมีอยู่ สัตว์เหล่านี้ก็มีตามมา ก็ทำปาณาติบาตร่ำไป ทำบ่อยๆ เข้าก็เคยชิน จนไม่รู้สึกว่าผิดอย่างไร


         ถ้าคนเราสะอาด  ร่างกายสะอาด  บ้านสะอาด  ห้องน้ำสะอาด  ห้องนอนสะอาด  ครัวสะอาด บริเวณบ้านสะอาด สัตว์เหล่านี้ก็ไม่มีที่อาศัย อยู่ไม่ได้เจ้าของบ้านก็ไม่ต้องทำปาณาติบาต ดังนั้นความสะอาดจึงเป็นต้นทางที่ป้องกันเรามิให้ทำปาณาติบาตได้

 

         ความสะอาดในระดับสูงขึ้น  คือ  สะอาดกาย  สะอาดวาจา  สะอาดใจ หรือ  กายสะอาด วาจาสะอาด ใจสะอาด มีความรู้สึกว่าการฆ่า การทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็คือทำให้ตัวเองสกปรก ทำให้ไม่สะอาด ซึ่งจะเป็นเหตุให้ทำสิ่งที่ไม่สะอาดคือทำทุจริตอื่นๆ ตามมา เมื่อรู้สึกอย่างนี้ก็จะรังเกียจการฆ่าไปโดยปริยาย ด้วยมองเห็นโทษเห็นผลที่จะตามมาจากการฆ่า


             การที่จะ   ทำตนให้เป็นคนมีกายสะอาด   จำต้องไม่เป็นคนมักง่าย   คนมักง่ายจะทำอะไรให้สะอาดด้วยกายได้ยาก จะทำตนให้เป็นคนมีวาจาสะอาด จำต้องไม่เป็นคนปากไวไร้สติ พูดจาไม่ยั้งคิด พูดผิดพูดพลั้งร่ำไป จะทำตนให้เป็นคนมีใจสะอาด จำต้องเป็นคนอารมณ์ดี ไม่โกรธง่าย ไร้เหตุผล

2567%2007%2029b.jpg

             ๒. ความพอเพียง เป็นต้นทางของศีลข้อที่ ๒


           ความพอเพียง  คือ  ความรู้จักพอ  ความพอเป็นอิ่มเป็น  คนที่พอเป็นจะยินดีพอใจอยู่กับรายได้ส่วนที่ตนได้มา จะมากหรือน้อยก็รู้สึกยินดีพอใจเพราะตนได้มาด้วยกำลังกายด้วยความสุจริต


          พอเพียง    มิใช่หมายความว่าเมื่อพอกินพอใช้แล้วก็หยุดทำงาน    หากแต่หมายถึงการที่ทำงานจนสุดความสามารถ มีรายรับรายได้เท่าไรก็ยินดีพอใจในส่วนที่ได้นั้น มิได้เสียใจในส่วนที่ไม่ได้ แต่ก็แสดงความสามารถทำงานเรื่อยไปในที่สุดก็จะได้ส่วนที่ยังไม่ได้นั้นมาตามลำดับ


         ความพอเพียงหากฝึกฝนจนเป็นและอยู่ตัวก็จะรู้สึกพอเป็นอิ่มเป็น      เมื่อนั้นก็จะสามารถจัดระเบียบชีวิตตนเองได้ว่าควรจะเป็นอย่างไร จะรู้จักประมาณตน ไม่คิดสับสนวุ่นวายว่าตัวเองควรได้หรือไม่ควรได้อะไร ควรเป็นหรือไม่ควรเป็นอะไร มิเช่นนั้นก็จะสับสน อยากได้ร่ำไป หยุดไม่เป็นพอไม่เป็นหยุดไม่ได้ก็ต้องแสวงหาเพิ่มเพื่อให้พอแก่ใจ หาในทางสุจริตไม่ได้ก็หาในทางทุจริต การละเมิดอทินนาทานก็เกิดขึ้นจิปาถะ การลักขโมย การคอร์รัปชั่นการฉกชิงวิ่งราว การหลอกลวงเอาทรัพย์คนอื่นก็เกิดขึ้น


           หากฝึกพอเพียงได้แล้วก็จะมีสติ   ไม่ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยทุจริตไม่ว่าด้วยอาการใด มิใช่จะไม่ทำเท่านั้น แม้คิดก็ละอายใจแล้ว


            ๓. ความสุภาพ  เป็นต้นทางของศีลข้อที่  ๓


          ความสุภาพ   คือ  ความเรียบร้อย  ความอ่อนโยน  ความละมุนละม่อม  อันเป็นความประพฤติเป็นกิริยาอาการที่ดี งดงาม

 

          คนที่มีความสุภาพจะเป็นคนที่น่าไว้วางใจ  น่าคบหา  มีน้ำใจ  เห็นใจคนอื่นถนอมใจคนอื่น  ไม่เอาเปรียบ ไม่กีดกันใคร ให้เกียรติคนอื่น เคารพเกียรติคนอื่นประพฤติตัวปฏิบัติตนสุภาพเรียบร้อยทั้งต่อหน้าและลับหลัง


         บุคคลเช่นนี้  หากเป็นชายนิยมเรียกกันว่า  สุภาพบุรุษ  ซึ่งแปลว่า ชายผู้ดี ชายผู้มีเกียรติ หากเป็นสตรีนิยมเรียกกันว่า สุภาพสตรี ซึ่งแปลว่า หญิงผู้ดี หญิงผู้มีเกียรติ


          คนที่เป็นสุภาพบุรุษเป็นสุภาพสตรี  ย่อมไม่คิดไม่ทำการละเมิดกาเมสุมิจฉาจารแน่นอน ย่อมมีความสำรวมระวังในเรื่องกามารมณ์เคร่งครัดถือสิทธิเฉพาะในคู่ครองของตัวเอง ตรงกันข้าม คนที่ละเมิดกาเมสุมิจฉาจารในทุกกรณีไม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสุภาพบุรุษสุภาพสตรีแต่ประการใด


           การฝึกฝนตนให้เป็นคนสุภาพในเรื่องต่างๆ  จนติดเป็นนิสัยประจำตัวย่อมจะสามารถก้าวถึงศีลข้อ ๓ อย่างเคร่งครัดได้อย่างไม่ยาก อย่างสามีภรรยาที่ยึดมั่นในภาวะ “ผัวเดียวเมียเดียว” อย่างมั่นคงตลอดชีวิตก็เพราะความเป็นสุภาพบุรุษสุภาพสตรีนั่นเอง


             ๔. ความซื่อตรง เป็นต้นทางของศีลข้อที่ ๔


           ความซื่อตรง   คือ   ความประพฤติตรง   ไม่เอนเอียง   เช่น   ซื่อตรงต่อหน้าที่และหมายถึง ความไม่คิดโกง  เช่นที่พูดว่า เขาเป็นคนซื่อตรง


            ความซื่อตรง  จัดเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้คนเราทำอะไรพูดอะไรตรงไปตรงมา  ไม่โอนเอนไปทางโน้นทางนี้ จนจับแนวทางข้อเท็จจริงไม่ได้หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดไขว้เขวไป คนที่ซื่อตรงจึงไว้ใจได้ วางใจได้ ไม่คิดคดโกงผู้อื่นแม้ด้วยคำพูด พูดจาก็คำไหนคำนั้น ตรงกันข้ามคนไม่ซื่อตรงก็จะคดไปคดมาหาความแน่นอนไม่ได้ พูดจาก็หาความจริงได้ยาก ในหัวสมองก็มีแต่คิดถึงผลประโยชน์เพื่อตัว จึงคดโกงคนอื่นได้ด้วยคำพูดที่โกหกพกลม ด้วยคำพูดที่น่าเชื่อถือน่าทำตาม

 

            คนที่ไม่มีสัจจะ  ไม่รักษาคำพูด  ชอบโกหกพกลม  ล้วนแล้วแต่เป็นคนไม่ซื่อตรงทั้งนั้น   ถ้าซื่อตรงจะรักษาสัจจะ พูดแต่คำจริง รักษาคำพูด ไม่โกหกมดเท็จ เชื่อถือได้ ไว้ใจได้ ดังนั้นความซื่อตรงจึงเป็นต้นเหตุสำคัญที่จะรักษาศีลข้อนี้ให้บริสุทธิ์ได้ตลอด


            การฝึกฝนตนให้เป็นคนซื่อตรง    ไม่คดโกง   ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวด้วยความตั้งใจแน่วแน่ที่จะดำรงอยู่ในสุจริตธรรม พูดแต่คำจริง คำไพเราะอ่อนหวาน ประสานประโยชน์ ประสานสามัคคี เมื่อฝึกชำนาญได้ที่แล้วก็จะรังเกียจการพูดโกหก รังเกียจคนพูดโกหก และสามารถจะดำรงมั่นอยู่ในศีลข้อ ๔ ได้ตลอดไป


             ๕. ความมีสติ เป็นต้นทางของศีลข้อที่ ๕


           ความมีสติ  คือ  ความระลึกได้ ความนึกได้ ความไม่หลงลืม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความไม่ประมาท คือ ความไม่พลั้งเผลอ ความไม่มัวเมา คนมีสติจึงระลึกนึกได้ ไม่หลงลืม ไม่พลั้งเผลอ ไม่มัวเมา


           เมื่อมีสติอยู่ก็จะนึกคิดพินิจไตร่ตรองอยู่ตลอดเวลาถึงการกระทำการพูดจา    และการคิดของตนว่าถูกผิด ควรไม่ควร ดีไม่ดีอย่างไร เมื่อเห็นว่าผิดไม่ควรไม่ดี ก็จะเว้นเสีย ทำพูดคิดแต่สิ่งที่เห็นว่าไม่ผิด เป็นสิ่งควร เป็นสิ่งดีเท่านั้น


           ดังนั้น  คนมีสติจึงสามารถไม่แตะต้องสุรายาเมา  ฝิ่น  กัญชา สิ่งเสพติดตลอดถึงบุหรี่ได้โดยไม่ต้องชี้นำอะไร และเมื่อเสพเสวยสิ่งเหล่านี้มาด้วยขาดสติหรือหลงใหลในตอนแรก แต่เมื่อได้สติ นึกได้พินิจแล้วเห็นว่าไม่ดี มีแต่โทษก็จะสามารถรวมพลังเลิกละทิ้งด้วยความตั้งใจ แม้จะยากเย็นอย่างไรก็พยายามไม่ลดละ ในที่สุดก็เอาชนะได้


             ดังนั้น  ความมีสติจึงเป็นธรรมต้นทางของศีลข้อ  ๕  ทำให้คนเรารักษาศีลข้อนี้ได้โดยไม่ยาก ไม่ต้องฝืนใจอะไรนัก


         ข้อธรรมเหล่านี้คือ   ความสะอาด   ความพอเพียง   ความสุภาพความซื่อตรง    และ  ความมีสติ จะเกิดผลในฐานะเป็นต้นทางของศีล ๕ ได้ก็อยู่ที่คนเรามีความรู้สึกรับผิดชอบต่อความสุขของตัวเอง ของครอบครัวของคนรอบข้างและของสังคมส่วนรวม เมื่อมีความรับผิดชอบแล้วก็จะฝึกตนให้มีธรรมเหล่านี้ด้วยความอดทน เสียสละ ไม้ท้อ ไม่ถอย แม้จะยากลำบากบ้างก็ไม่ละทิ้งฝึกปฏิบัติจนเกิดความเคยชิน จนกลายเป็นปกติวิสัยประจำวันของตนความยุ่งยากอะไรก็จะหมดไป สามารถทำได้เป็นปกติ เมื่อถึงระดับนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้มีศีล เป็นผู้รักษาศีลแล้ว


             เพราะฉะนั้น ท่านจึงแปลศีลว่า “ปกติ”


           ดังนั้น   เมื่อเราคิดจะมีศีลรักษาศีลก็จำต้องฝึกฝนปฏิบัติข้อธรรมเหล่านี้เป็นเบื้องต้นเข้าไว้ ฝึกทำตนให้เป็นคนสะอาด ทำบ้านให้สะอาด ทำที่ทำงานให้สะอาด รวมถึงแนะนำคนในครอบครัวในที่ทำงานให้รักความสะอาด ให้รักษาความสะอาดกัน เมื่อสะอาดได้แล้วก็ฝึกฝนต่อไป โดยรู้จักความพอเพียง ยินดีปฏิบัติตนแบบพอเพียง ไม่ทะเยอทะยานอยากได้ในทางมิชอบ ประกอบอาชีพไปตามความรู้ความสามารถ เก็บหอมรอมริบทั้งเนื้อตั้งตัว ฝึกความเป็นระเบียบตั้งอยู่ในระเบียบในทุกเรื่อง เมื่อพอเพียงและมีระเบียบดีแล้วก็ฝึกตนให้เป็นคนสุภาพ เป็นคนอ่อนน้อมละมุนละม่อม รักษาเกียรติรักษาชื่อเสียงของตนต่อไปจากนั้นก็ปฏิบัติตัวให้เป็นคนซื่อตรง ไม่คดโกง ไม่หน้าไหว้หลังหลอก ไม่โกหกพกลม ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนด้วยคำพูดที่ไม่จริง และมีสติครองตัว ไม่มัวเมาไม่หลงติดสุราเมรัยสิ่งเสพติดทั้งปวง ฝึกอย่างนี้จนเกิดความเคยชินจนเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ก็จะเกิดอานิสงส์แก่ตนยิ่งใหญ่


            เพราะการปฏิบัติตัวหลังจากฝึกเช่นนี้แล้วได้ชื่อว่า   เป็นคนมีศีลแล้วเป็นคนรักษาศีลแล้ว ย่อมจะได้รับอานิสงส์แห่งศีลอย่างสมบูรณ์
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.018925400575002 Mins