ทําไมจึงต้องมีการไหว้ครู
คนไทยมีนิสัยประจำชาติที่สำคัญอยู่อย่างหนึ่ง คือ การรู้คุณคนเมื่อรู้ว่าใครมีบุญคุณแก่ตนก็จะแสดงความเคารพยกย่องอ่อนน้อมถ่อมตนด้วย เช่น การยกมือไหว้เมื่อพบปะเพื่อเป็นการทักทายหรือเมื่อพูดจาด้วยก็ใช้วาจาที่สุภาพไพเราะน้ำเสียงก็แผ่วเบาพอได้ยินไม่พูดเสียงดังโฮกฮาก แม้นจะพูดจากับใครด้วยกิริยาอย่างไรก็ตาม เช่น กำลังมีเรื่องขัดแย้งทะเลาะกันอย่างรุนแรงพอเห็นครูผ่านมาก็จะเปลี่ยนกิริยาเหล่านั้นทันที หันมาไหว้ครูทำเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นทั้งนี้เพราะเมื่อมีความเคารพ ก็มีความเกรงใจ สิ่งใดไม่ดีไม่น่าทำเมื่อทำไปแล้วเพราะยังอารมณ์ไม่ไหวอดใจไม่อยู่แต่เมื่อเห็นครูก็หยุดลงได้ถ้าเป็นเรื่องเล็กน้อยก็เลิกลากันไปถ้าเป็นเรื่องใหญ่ก็เก็บเอาไว้พูดกันทีหลังรอให้ครูไปก่อน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสุภาษิต ดังที่มีผู้ผูกเป็นคำกลอนไว้ว่า
" ความรู้ทางวิชาการหากเกิดแก่คนพาลมีแต่จะนำความฉิบหายมาให้ "
โบราณกาลบุคคลที่ครูจะยอมรับไว้เป็นศิษย์จึงต้องผ่านการคัดเลือกและกลั่นกรองอย่างถี่ถ้วนก่อนเมื่อครูตระหนักว่าบุคคลนี้ไม่ใช่คนพาลและมีคุณสมบัติพอที่จะได้รับการถ่ายทอดวิชาการจากท่านได้ครูจึงจะรับไว้เป็นศิษย์บุคคลซึ่งถูกคัดเลือกแล้วนี้แม้จะยังไม่ทันได้รับการถ่ายทอดความรู้จากครูเขาก็มีความสำนึกในเมตตากรุณาของครูซึ่งจะมีแก่ตนต่อไปจึงได้นำเครื่องสักการะมาบูชาครูเพื่อฝากตัวเป็นศิษย์และปฏิญานตนต่อหน้าท่านว่าจะเคารพเชื่อฟังทั้งจะประพฤติตนให้อยู่ในระเบียบวินัยที่ครูกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดอดทน
จากคำปฏิญาณตนต่อศิษย์กล่าวต่อหน้าครูไว้นี้ทำให้ศิษย์แม้จะจบการศึกษาอบรมไปแล้วเป็นเวลานานก็ตามยังมีใจระลึกถึงครูอยู่ด้วยความเคารพยกย่องเสมอบางสาขาอาชีพก่อนจะนำความรู้มาใช้ก็มักจะทำพิธีบูชาครูเสียก่อนเพื่อระลึกถึงครูเพื่อเป็นกำลังใจและเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตน เช่น พวกอาชีพศิลปิน อาทิ โขน ลิเก ละครหรือพวกมีอาชีพ ชกมวยไทย เป็นต้น