ศิษย์

วันที่ 14 สค. พ.ศ.2567

 

2567_08_14_b_03.jpg

 

ศิษย์


              ผู้ที่รองรับความดีของครู คือ ศิษย์ ถ้าเปรียบครูเหมือนน้ำและเปรียบศิษย์เหมือนภาชนะใส่น้ำ ศิษย์ก็คือ ภาชนะที่ไม่รั่ว ไม่แตกก้นปิดสนิทและเปิดปากตั้งเอาไว้คอยรองรับน้ำเมื่อมีน้ำไหลลงสู่ภาชนะนั้นน้ำก็จะถูกบรรจุสะสมไว้จนเต็มภาชนะ


             ถ้าเปรียบครูเหมือนแสงสว่าง ศิษย์ก็เปรียบเสมือนผู้มีดวงตาที่สมบูรณ์ใช้การได้ดี คือศิษย์ก็จะต้องเป็นผู้ที่ลืมตาอยู่เสมอและพร้อมที่จะใช้สายตามองสิ่งอื่นใดโดยอาศัยแสงสว่างเป็นเครื่องช่วยแสงสว่างนั้นก็ย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้มีดวงตาและใช้ดวงตานั้นอยู่

              ในทางตรงกันข้ามหากภาชนะนั้นปิดฝาให้สนิทแม้ภาชนะนั้นจะดีเพียงใด น้ำที่เทลงใส่ภาชนะจะมากมหาศาลอย่างไร ก็หาได้ไหลลงสู่ภาชนะได้ไม่มีแต่จะไหลผ่านภาชนะไปจนแม้น้ำท่วมพื้นสูงจรดขอบฟ้าภาชนะนั้นก็มีแต่จะลอยอยู่บนผิวน้ำเท่านั้น


             แสงสว่างจากคบเพลิงกี่ร้อยดวง พันดวง หรือแม้แต่แสงสว่างจากดวงอาทิตย์ที่แผดกล้ายามเที่ยงวันในฤดูร้อนที่ไร้เมฆหมอกก็หาได้ช่วยให้ผู้ที่แม้มีดวงตาดี แต่ปิดตาของตนเสียสนิท ให้มองเห็นสิ่งใดได้ไม่


                 ดังนั้นผู้เป็นศิษย์ ที่จะรองรับคุณธรรมความดีไปจากครูได้ จึงต้องมีคุณสมบัติ ๓ ประการ ดังนี้

 

                 ๑. ความเคารพ อ่อนน้อม เพื่อรองรับปัญญาจากครู


                 ธรรมดาบุคคลทั้งหลายเมื่อต้องการสิ่งใดก็ต้องเปิดใจรับของสิ่งนั้นก่อน เหมือนภาชนะจะบรรจุน้ำก็ต้องเปิดฝา ผู้มีดวงตาจะมองหาสิ่งใดก็ต้องลืมตาขึ้นมาก่อน บุคคลเมื่อต้องการความรู้จากผู้อื่นก็ต้องแสดงความเคารพ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ยกย่องผู้มีความรู้แล้วก็ฝากตัวเป็นศิษย์

                   บุคคลใดเมื่อขาดคุณสมบัติดังกล่าวก็หมดโอกาสที่จะได้รับการถ่ายทอดความรู้ คือ จะไม่มีใครยอมเป็นครูให้


                    ๒. ความอดทน ขยันหมั่นเพียร เพื่อรองรับความกรุณาจากครู

                  อันวิชาความรู้นั้นไม่ใช่สิ่งที่จะถ่ายทอดหรือสั่งสอนกันเป็นวันสองวันแล้วก็จบหรือแม้ความรู้ที่ใช้เวลาถ่ายทอดกันนานเป็นสิบๆปีก็ตามเมื่อผู้เรียนได้เรียนรู้จนจบแล้วก็ยังไม่แน่ว่าจะสามารถนำไปใช้ได้ในทันทียังต้องอาศัยการทดลองปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้เกิดความชำนาญซึ่งระหว่างนี้ก็ต้องอาศัยพึ่งพาครูอาจารย์ให้คอยดูแลกำกับอยู่

   
               บุคคลใดขณะที่เรียนรู้หรือขณะที่ทดลองปฏิบัติหากขาดความอดทน ความขยันหมั่นเพียรบุคคลนั้นย่อมหมดโอกาสที่จะได้รับความรู้ทั้งหมดไปจากครู

 

                    ๓. ความมีระเบียบวินัย เพื่อรองรับความบริสุทธิ์ใจจากครู

                       บุคคลที่จะสามารถเรียนรู้และรับการถ่ายทอดความรู้ทั้งหมดไปจากครูได้จนจบหลักสูตร ต้องเป็นผู้ที่ประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัยหรืออยู่ในข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่ทางสถาบันหรือครูกำหนดไว้


                         โดยปกติแล้ว ผู้ค้นคว้าศึกษาหาความรู้ย่อมมุ่งหวังที่จะนำความรู้ที่ได้มานั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ให้เกิดความสุข ความสงบและความสันติแก่มวลมนุษย์แต่โดยธรรมชาตินั้นของสิ่งใดที่มีคุณประโยชน์ก็มักมีโทษแฝงอยู่ ดังนั้น เมื่อครูถ่ายทอดความรู้ให้ศิษย์ ท่านก็จะบอกสิ่งที่ศิษย์พึงระวังและไม่ควรกระทำกำกับไว้ด้วยหากท่านเห็นว่าศิษย์คนใดเป็นผู้มีลักษณะนิสัยพาลเป็นผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะเอาโทษจากวิชาการนั้นไปสร้างความเดือดร้อน ไปก่อกรรมทำเข็ญ ไปทำลายผู้อื่น ครูก็จะระงับไม่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์คนนั้น

                          ปัจจุบันนี้ ตามสถาบันการสอนทุกแห่งจะวางระเบียบกฎเกณฑ์ให้นักเรียน นิสิตนักศึกษาปฏิบัติ เพื่อฝึกความเป็นระเบียบ ฝึกความรับผิดชอบของการอยู่ร่วมกันในสังคม หากนักเรียน นักศึกษาคนใด ประพฤติผิดระเบียบเกินกว่าที่สถาบันจะอนุโลมให้หลายๆครั้งก็จะได้รับการลงโทษให้พ้นสภาพการเป็นนักเรียนนักศึกษาของสถาบันแห่งนั้นไป

                         บุคคลที่ขาดระเบียบวินัยแม้ยังไม่รุนแรงถึงขั้นทำผิดกฎของสถาบัน แต่สิ่งที่เขาประพฤตินั้นย่อมเป็นภัยแก่เขาเองเพราะเขาย่อมเป็นผู้ที่ไม่มีความอดทนพอขาดความอดทนก็จะทำให้ขาดความเคารพเวลาครูสอนจึงไม่ตั้งใจเรียนรู้เมื่อผลสอบออกมาก็ได้เกรดต่ำกว่ามาตรฐานที่สถาบันกำหนดสุดท้ายก็โดนรีไทร์ คือ ถูกบังคับให้ออกไปเลยหมดโอกาสศึกษาเพราะคุณสมบัติที่จะเรียนรู้มีไม่พอ อย่างนี้เป็นต้น

 

2567_08_13_02.jpg

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.036423182487488 Mins