โกกิลาผู้ประหารกิเลส

วันที่ 16 สค. พ.ศ.2567

โกกิลาผู้ประหารกิเลส

670817_b154.jpg


                แลแล้วพระอานนท์ก็กล่าวว่า“น้องหญิง! ชีวิตนี้เริ่มต้นด้วยเรื่องที่น่าละอาย ทรงตัวอยู่ด้วยเรื่องที่ยุ่งยากสับสนและจบลงด้วยเรื่องเศร้า อนึ่ง ชีวิตนี้เริ่มต้นและจบลงด้วยเสียงคร่ำครวญ เมื่อลืมตาขึ้นดูโลกเป็นครั้งแรกเราก็ร้องไห้ และเมื่อจะหลับตาลาโลกเราก็ร้องไห้อีก หรืออย่างน้อยก็เป็นสาเหตุให้คนอื่นหลั่งน้ำตา เด็กร้องไห้ พร้อมด้วยกำมือแน่น เป็นสัญลักษณ์ว่าเขาเกิดมาเพื่อจะหน่วงเหนี่ยวยึดถือ แต่เมื่อหลับตาลาโลกนั้น ทุกคนแบมือออก เหมือนจะเตือนให้ผู้อยู่เบื้องหลังสำนึกและเป็นพยานว่า เขามิได้เอาอะไรไปเลย
 

                น้องหญิง! อาตมาขอเล่าเรื่องส่วนตัวให้ฟังสักเล็กน้อย อาตมาเกิดแล้วในศากยวงศ์อันมีศักดิ์ ซึ่งเป็นที่เลื่องลือว่าบริสุทธิ์ยิ่งในเรื่องตระกูล อาตมาเป็นอนุชาแห่งพระบรมศาสดา และออกบวชติดตามพระองค์เมื่ออายุได้ ๓๖ ปี ราชกุมารผู้มีอายุถึง ๓๖ ปีที่ยังมีดวงใจผ่องแผ้วไม่เคยผ่านเรื่องรักๆ ใคร่ ๆ มาเลยนั้น เป็นบุคคลที่หาได้ยากในโลก หรืออาจจะหาไม่ได้เลยก็ได้ น้องหญิงอย่านึกว่า อาตมาจะเป็นคนวิเศษเลิศลอยกว่าราชกุมารทั้งหลาย อาตมาเคยผ่านความรักมาและประจักษ์ว่า ความรักเป็นความร้าย ความรักเป็นสิ่งทารุณและเป็นเครื่องทำลายความสุขของปวงชน อาตมากลัวต่อความรักนั้น ทุกคนต้องการความสมหวังในชีวิตรัก แต่ความรักไม่เคยให้ความสมหวังแก่ใครถึงครึ่งหนึ่งแห่งความต้องการ

 

                ยิ่งความรักที่ฉาบทาด้วยความเสน่หาด้วยแล้ว จะเป็นพิษแก่จิตใจ ทำให้ทุรนทุรายดิ้นรนไม่รู้จักจบสิ้น ความสุขที่เกิดจากความรักนั้น เหมือนความสบายของคนป่วยที่ได้กินของแสลง เธออย่าพอใจในเรื่องความรักเลย เมื่อหัวใจถูกลูบไล้ด้วยความรัก หัวใจนั้นจะสร้างความหวังขึ้นอย่างเจิดจ้า แต่ทุกครั้งที่เราหวัง ความผิดหวังก็จะรอเราอยู่

 

                 น้องหญิง! อย่าหวังอะไรให้มากนัก จงมองดูชีวิตอย่างผู้ช่ำชอง อย่าวิตกกังวลอะไรล่วงหน้า ชีวิตนี้เหมือนเกลียวคลื่น ซึ่งก่อตัวขึ้นแล้วม้วนเข้าหาฝั่ง และแตกกระจายเป็นฟองฝอย จงยืนมองดูชีวิต เหมือนคนที่ยืนอยู่บนฝั่งมองดูเกลียวคลื่นในมหาสมุทรฉะนั้น โกกิลาเอย! เมื่อความรักเกิดขึ้น ความละอายและความเกรงกลัวในสิ่งที่ควรกลัว ก็พลันสิ้นไป เหมือนก้อนเมฆมหึมาเคลื่อนตัวเข้าบดบังดวงจันทร์ให้อับแสง ธรรมดาสตรีนั้นควรจะยอมตายเพราะความละอาย แต่แทนที่จะเป็นเช่นนี้ ความละอายมักจะตายไปก่อนเสมอ เมื่อความใคร่เกิดขึ้น ความละอายก็หลบหน้า เพราะเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ความใคร่ทำให้คนมืดบอด อนึ่งโลกมนุษย์ของเรานี้เต็มไปด้วยชีวิตอันประหลาดพิสดารต่างชนิดและต่างรส ชีวิตของแต่ละคนได้ผ่านมาและผ่านไป ด้วยความระกำลำบากทุกข์ทรมาน ถ้าชีวิตมีความสุข ก็เป็นความหวาดเสียวที่จะต้องจากชีวิตอันรื่นรมย์นั้นไป
 

                  โกกิลาเอย! มนุษย์ทั้งหลายผู้ยังมีอวิชชาเป็นผ้าบังปัญญาจักษุนั้น เป็นเสมือนทารกน้อยผู้หลงเข้าไปในป่าใหญ่อันรกทึบซึ่งเต็มไปด้วยอันตรายอันน่าหวาดเสียว และว้าเหว่เงียบเหงา มนุษย์ส่วนใหญ่แม้จะร่าเริงแจ่มใสอยู่ในหมู่ญาติและเพื่อนฝูง แต่ใครเล่าจะทราบว่า ในส่วนลึกของหัวใจเขาจะว้าเหว่และเงียบเหงาสักปานใด แทบทุกคนว้าเหว่ ไม่แน่ใจว่า จะยึดเอาอะไร เป็นหลักของชีวิตที่แน่นอน เธอปรารถนาจะเป็นอย่างนั้นด้วยหรือ?
 

                   น้องหญิง! บัดนี้เธอมีธรรมเป็นเกาะที่พึ่งแล้ว จงยึดธรรมเป็นที่พึ่งต่อไปเถิด อย่าหวังอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย โดยเฉพาะความรักความเสน่หา ไม่เคยเป็นที่พึ่งจริงจังให้แก่ใครได้ มันเป็นเสมือนตอที่ผุ จะล้มลงทันทีเมื่อถูกคลื่นซัดสาด ธรรมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าเขาจะอยู่ในเพศใดภาวะใด การกระทำที่นึกขึ้นภายหลัง แล้วต้องเสียใจนั้น พระศาสดาทรงสอนให้เว้นเสีย เพราะฉะนั้น แม้จะประสบปัญหาหัวใจหรือได้รับความทุกข์ยากลำบากสักปานใด ก็ต้องไม่ทิ้งธรรม มนุษย์ที่ยังมีอาสวะอยู่ในใจนั้น ย่อมจะมีวันพลั้งเผลอประพฤติผิดธรรมไปบ้าง เพราะยังมีสติไม่สมบูรณ์ แต่เมื่อได้สติในภายหลังแล้ว ก็ควรตั้งใจประพฤติธรรม สั่งสมความดีกันใหม่

 

            ยิ่งพวกเรานักบวชด้วยแล้ว จำเป็นต้องมีอุดมคติ การตายด้วยอุดมคตินั้นมีค่ากว่าการเป็นอยู่โดยไร้อุดมคติ
 

           น้องหญิง! ธรรมดาว่าไม้จันทน์นั้น แม้จะแห้งก็ไม่ทิ้งกลิ่น หัสดินก้าวลงสู่สงครามก็ไม่ทิ้งลีลา อ้อยแม้เข้าสู่หีบยนต์แล้วก็ไม่ทิ้งรสหวาน บัณฑิตแม้ประสบทุกข์ก็ไม่ทิ้งธรรม พระศาสดาทรงย้ำว่าพึงสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อรักษาธรรม
 

                   โกกิลาเอย! เธอได้สละเพศฆราวาสมาแล้ว ซึ่งเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ยากที่ใคร ๆจะสละได้ ขอให้เธอเสียสละต่อไปเถิด และสละให้ลึกกว่านั้น คือไม่สละแต่เพียงเพศอย่างเดียว แต่จงสละความรู้สึกอันจะเป็นข้าศึกต่อเพศเสียด้วย เธอเคยฟังสุภาษิตอันกินใจยิ่งมาแล้วมิใช่หรือในคนร้อยคนหาคนกล้าได้หนึ่งคน ในคนพันคนหาคนเป็นบัณฑิตได้หนึ่งคน ในคนแสนคนหาคนพูดจริงได้เพียงหนึ่งคน ส่วนคนที่เสียสละได้ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่รู้ว่าจะมีหรือไม่ คือไม่ทราบจะคำนวณเอาจากคนจำนวนเท่าใดจึงจะเฟ้นได้หนึ่งคน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นนักเสียสละตัวอย่างของโลก เคยมีกษัตริย์องค์ใดบ้างทำได้เหมือนพระพุทธองค์ ยอมเสียสละความสุขความเพลินใจทุกอย่างที่ชาวโลกปองหมาย มาอยู่กลางดินกลางทราย ก็เพื่อทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่มนุษยชาติการเสียสละของพวกเรา เมื่อนำไปเทียบกับการเสียสละของพระบรมศาสดาแล้ว ของเราช่างเล็กน้อยเสียนี่กระไร
 

            น้องหญิง! พระศาสดาตรัสว่า บุคคลอาจอาศัยตัณหาละตัณหาได้ อาจอาศัยมานะละมานะได้ อาจอาศัยอาหารละอาหารได้ แต่เมถุนธรรมนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้ชักสะพานเสียคืออย่าทอดสะพานเข้าไป เพราะอาศัยละไม่ได้

 

                     ข้อว่าอาศัยอาหารละอาหารนั้น คือละความพอใจในรสของอาหาร จริงอยู่สัตว์โลกทั้งมวลดำรงชีพอยู่ได้เพราะอาหาร ข้อนี้พระศาสดาก็ตรัสว่า แต่มนุษย์และสัตว์เป็นอันมากติดข้องอยู่ในรสแห่งอาหาร จนต้องกระเสือกกระสนกระวนกระวาย และต้องทำชั่วเพราะรสแห่งอาหารนั้นที่ว่าอาศัยอาหารนั้น คืออาศัยอาหารละความพอใจในรสแห่งอาหารนั้น บริโภคเพียงเพื่อยังชีพให้ชีวิตนี้เป็นไปได้เท่านั้น เหมือนคนเดินทางข้ามทะเลทราย เสบียงอาหารหมด และบังเอิญลูกน้อยตายลงเพราะหิวโหย เขาจำใจต้องกินเนื้อบุตรเพียงเพื่อใช้ข้ามทะเลทรายได้เท่านั้น หาติดในรสแห่งเนื้อบุตรไม่


                      ข้อว่าอาศัยตัณหาละตัณหานั้น คือเมื่อทราบว่า ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ชื่อโน้นได้สำเร็จเป็นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี หรืออรหันต์ ก็มีความทะยานอยากที่จะเป็นบ้าง เมื่อพยายามจนได้เป็นแล้ว ความทะยานอยากอันนั้นก็หายไป อย่างนี้เรียกว่าอาศัยตัณหาละตัณหา


                     ข้อว่าอาศัยมานะละมานะนั้น คือเมื่อได้ยิน ได้ฟังภิกษุหรือภิกษุณี หรืออุบาสกอุบาสิกาชื่อโน้นได้สำเร็จเป็นโสดาบันเป็นต้น ก็มีมานะขึ้นว่า เขาสามารถทำได้ ทำไมเราซึ่งเป็นมนุษย์และมีอวัยวะทุกส่วนเหมือนเขาจะทำไม่ได้บ้าง จึงพยายามทำความเพียร เผากิเลสจนได้บรรลุโสดาปัตติผลบ้างอรหัตตผลบ้าง อย่างนี้เรียกว่าอาศัยมานะละมานะ เพราะเมื่อบรรลุแล้วมานะนั้นย่อมไม่มีอีก


ดูก่อนน้องหญิง! ส่วนเมถุนธรรมนั้น ใคร ๆ จะอาศัยละมิได้เลย นอกจากจะพิจารณาเห็นโทษของมันแล้วเลิกละเสีย ห้ามใจมิให้เลื่อนไหลไปยินดีในกามสุขเช่นนั้น

     

       น้องหญิง! พระศาสดาตรัสว่า กามคุณนั้นเป็นของไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน มีสุขน้อยแต่มีทุกข์มาก มีโทษมาก มีความคับแค้นเป็นมูลมีทุกข์เป็นผล"


                  พระอานนท์พูดจบ คอยจับกิริยาของโกกิลาภิกษุณีว่าจะมีความรู้สึกอย่างไร ธรรมกถาของท่านได้ผล ภิกษุณีค่อย ๆ ลุกจากเตียง สลัดผ้าห่มออก คลานมาหมอบลงแทบเท้าพระอานนท์สะอึกสะอื้นจนสั่นเทิ้มไปทั้งตัว นางพูดอะไรไม่ออก นางเสียใจอย่างสุดซึ้ง อันความเสียใจและละอายนั้นถ้ามันแยกกันเกิดคนละครั้งก็ดูเหมือนจะไม่รุนแรงเท่าใดนัก แต่เมื่อใดทั้งความเสียใจและความละอายเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน และในกรณีเดียวกันด้วยแล้ว ย่อมเป็นความทรมานสำหรับสตรีอย่างยิ่ง นางเสียใจเหลือเกินที่ความรักของนางมิได้รับสนองเลยแม้แต่น้อย

 

                   คำพูดของพระอานนท์ล้วนแต่เป็นคำเสียดแทงใจสำหรับนางผู้ยังหวังความรักจากท่านอยู่ ยิ่งกว่านั้น เมื่อนางทราบว่าพระอานนท์มิได้เชื่อในอาการลวงของนางเลย นางจึงรู้สึกเหมือนถูกตบหน้าอย่างแรง ละอายสุดที่จะประมาณได้ นางจึงไม่สามารถพูดคำใดได้เลย นอกจากถอนสะอื้นอยู่ไปมาครู่หนึ่งพระอานนท์จึงพูดว่า “น้องหญิง! หยุดร้องไห้เสียเถิด การร้องไห้ไม่มีประโยชน์อะไรไม่ช่วยเรื่องหนักใจของเธอให้คลายลงได้” อนิจจา! พระอานนท์ช่างพูดอย่างพระอริยะแท้


           “ข้าแต่พระคุณเจ้า” นางพูดทั้งเสียงสะอื้น ภิกษุผู้เป็นปัจฉาสมณะของพระอานนท์ต้องเบือนหน้าไปเสียทางหนึ่ง เกรงว่าไม่สามารถจะอดกลั้นน้ำตาได้สักปานใด


                   “ข้าพเจ้าจะพยายามกล้ำกลืนฝืนใจปฏิบัติตามโอวาทของท่าน แม้จะเป็นความทรมานข้าพเจ้าก็จะอดทนและขอเทิดทูนบูชาพระพุทธอนุชาไว้ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูง ข้าพเจ้าไม่เจียมตัว จึงต้องทนทุกข์ทรมานถึงปานนี้ ข้าพเจ้าเป็นเพียงหญิงทาสทูนหม้อน้ำข้าพเจ้าเพิ่งสำนึกตนเวลานี้เอง ความรักความอาลัยทำให้ข้าพเจ้าลืมกำเนิดชาติตระกูลและความเหมาะสมใด ๆ ทั้งสิ้น มาหลงรักพระพุทธอนุชาผู้ทรงศักดิ์”


                     “ข้าแต่ท่านผู้สืบอริยวงศ์, กายกรรม วจีกรรมที่ข้าพเจ้าล่วงเกินท่านและจะพึงขอโทษนั้นไม่มี ส่วนมโนกรรมนั้นมีอยู่ ข้าพเจ้ารักท่าน และรักอย่างสุดหัวใจ ถ้าการที่ข้าพเจ้ารักท่านนั้นเป็นความผิด ขอท่านผู้ประเสริฐโปรดให้อภัยในความผิดพลาดอันนั้นด้วย” นางพูดจบแล้วนั่งก้มหน้าน้ำตาของนางหยดลงบนจีวรผืนบางเสมือนหยาดน้ำค้างถูกสลัดลงจากใบหน้าเมื่อลมพัดเป็นครั้งคราว


                     “น้องหญิง! เรื่องชาติเรื่องตระกูลนั้นอย่านำมาปรารมภ์เลย อาตมามิได้เคยคิดถึงมันเป็นเวลานานมาแล้ว ที่อาตมาไม่รักน้องหญิง มิใช่เพราะอาตมามาเกิดในตระกูลอันสูงศักดิ์ ส่วนเธอเป็นทาสีดอก แต่เป็นเพราะอาตมาเห็นโทษแห่งความรัก ความเสน่หา ตามที่พระศาสดาทรงสอนอยู่เสมอ เวลานี้อาตมามีหน้าที่ต้องบำรุงพระศาสดาผู้เป็นนาถะของโลก และพยายามทำหน้าที่กำจัดอาสวะในจิตใจ มิใช่เพิ่มอาสวะให้มากขึ้น เมื่ออาสวะยังไม่สิ้นย่อมจะต้องเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารอีกจะเป็นเวลานานเท่าใดก็สุดจะคำนวณ พระศาสดาตรัสว่าการเกิดบ่อย ๆ เป็นความทุกข์ เพราะเมื่อมีการเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความทรมานอื่น ๆ ก็ติดตามมาเป็นสาย นอกจากนี้ ผู้วนเวียนอยู่ในวัฏสงสารอาจจะมีบางชาติที่ประมาทพลาดพลั้งไปแล้ว ต้องตกไปในอบาย เป็นการถอยหลังไปอีกมาก กว่าจะตั้งต้นได้ใหม่ก็เป็นการเสียเวลาของชีวิตไปมิใช่น้อย


                        น้องหญิง! เธออย่าน้อยใจในชาติตระกูลอันต่ำต้อยของเธอเลย บุคคลจะเกิดในตระกูลกษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ หรือสูทรก็ตาม ย่อมตกอยู่ภายใต้กฎธรรมดาเหมือนกันหมดคือ เมื่อเกิดมาแล้ว ก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ และในที่สุดก็ต้องตาย ความตายย่อมกวาดล้างสรรพสัตว์ไปโดยมิละเว้นใครไว้เลย และใคร ๆ ไม่อาจต่อสู้ด้วยวิธีใด ๆ ได้นอกจากนี้ มนุษย์ทุกคนล้วนมีเลือดสีแดง รู้จักกลัวภัยและใคร่ความสุขเสมอกัน เหมือนไม้นานาชนิด เมื่อนำมาเผาไฟย่อมมีเปลวสีเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ จะมัวมาแบ่งแยกกันอยู่ทำไมว่าคนนั้นเป็นวรรณะสูงคนนี้เป็นวรรณะต่ำ มาช่วยกันกระพือสันติสุขให้แก่โลกที่ร้อนระอุนี้จะมีดีกว่าหรือ มนุษย์ไม่ว่าจะเกิดในวรรณะใด เมื่อประพฤติดีก็เป็นคนดีเหมือนกันหมด เมื่อประพฤติชั่วก็เป็นคนชั่วเหมือนกันหมดเพราะฉะนั้น ขอให้น้องหญิงเลิกน้อยใจในเรื่องชาติตระกูลของตัว และตั้งหน้าพยายามทำความดีเถิด ขอให้น้องหญิงเชื่อว่า การที่อาตมาไม่สามารถสนองความรักของน้องหญิงได้นั้น มิใช่เป็นเพราะอาตมารังเกียจเรื่องชาติเรื่องตระกูลของเธอเลย แต่เป็นเพราะอาตมารังเกียจตัวความรักนั่นต่างหาก


                         ภคินีเอย! อันธรรมดาว่าความรักนั้น มันเป็นธรรมชาติที่เร่าร้อนอยู่แล้ว ถ้ายิ่งมันเกิดขึ้นในฐานะที่ผิด ที่ไม่เหมาะสมเข้าอีก มันก็จะยิ่งเพิ่มแรงร้อนมากขึ้นเพียงใด การที่น้องหญิงจะรักอาตมาหรือ อาตมาจะรักเธออย่างเสน่หาอาลัยนั่นแล เรียกว่าความรักอันเกิดขึ้นในฐานะที่ผิดหรือไม่เหมาะสม ขอให้เธอตัดความรักความอาลัยเสียเถิด แล้วเธอจะพบความสุขความปลอดโปร่งอีกแบบหนึ่ง ซึ่งสูงกว่าประณีตกว่า


                        พระอานนท์ ละภิกขุนูปัสสายะไว้เบื้องหลัง ด้วยความรู้สึกที่แปลกประหลาด ท่านเดินลัดเลาะมาทางริมสระแล้วนั่งลง ณ ม้ายาวมีพนักตัวหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นปัจฉาสมณะก็นั่งลง ณ ริมสุดข้างหนึ่ง พระอานนท์ถอนหายใจยาวและหนักหน่วง เหมือนจะระบายความหนักอกหนักใจออกมาเสียบ้าง ครู่หนึ่งท่านจึงบอกให้ภิกษุรูปนั้นกลับไปก่อน ท่านต้องการจะนั่งพักผ่อนอยู่ที่นั่นสักครู่ ถ้าพระศาสดาเรียกหาก็ให้มาตามที่ริมสระนั้น
 

         ท่านนั่งคิดทบทวนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บางครั้งรู้สึกสงสารภิกษุณีโกกิลาอย่างจับใจแต่ด้วยอัธยาศัยแห่งมหาบุรุษประดับด้วยบารมีธรรมนั้นต่างหากเล่า จึงสามารถข่มใจและสลัดความรู้สึกสงสารอันนั้นเสีย ท่านปรารภกับตนเองว่า
 

         “อานนท์เธอเป็นเพียงโสดาบันเท่านั้น ราคะ โทสะและโมหะยังมิได้ละเลย เพราะฉะนั้นอย่าประมาท อย่าเข้าใกล้ หรือยอมพบกับภิกษุณีโกกิลาอีก ธรรมชาติของจิตเป็นสิ่งดิ้นรนกลับกลอกง่าย บางครั้งปรากฏเหมือนช้างตกมัน  

                       อานนท์! จงเอาสติเป็นขอสำหรับเหนี่ยวรั้งช้าง คือจิตที่ดิ้นรนนี้ ให้อยู่ในอำนาจ บุคคลผู้มีอำนาจมากที่สุด และควรแก่การสรรเสริญนั้นคือ ผู้ที่สามารถเอาตนของตนเองไว้ในอำนาจได้ สามารถชนะตนเองได้ พระศาสดาตรัสว่าผู้ชนะตนเองได้ชื่อว่าเป็นยอดนักรบในสงคราม เธอจงเป็นยอดนักรบในสงครามเถิด อย่าเป็นผู้แพ้เลย”


                     พระอานนท์ตรึกตรองและให้โอวาทตนเองอยู่พอสมควรแล้ว ก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ท่านไม่มีอะไรปิดบังสำหรับพระผู้มีพระภาคเพราะฉะนั้น ท่านจึงกราบทูลเรื่องราวทั้งหมดให้พระจอมมุนีทรงทราบ รวมทั้งที่ท่านปรารภกับตนเองและให้โอวาทตนเองนั้นด้วย พระมหาสมณะทรงทราบเรื่องนี้แล้ว ทรงประทานสาธุการแก่พระอานนท์แล้วตรัสให้กำลังใจว่า
 

        “อานนท์! เธอเป็นผู้มีบารมีอันได้สั่งสมมาดีแล้ว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายแห่งเธอ เรื่องที่เธอจะตกไปสู่ฐานะที่ต่ำกว่านี้นั้นเป็นไม่มีอีก” แล้วพระศากยมุนีก็ทรงแย้มพระโอษฐ์น้อย ๆ เมื่อพระอานนท์ทูลถามสาเหตุที่ทรงแย้มพระโอษฐ์นั้น จึงตรัสว่า
 

         “อานนท์! เธอคงลืมไปว่า พระโสดาบันนั้นไม่มีการตกต่ำเป็นธรรมดา จะต้องได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์อย่างแน่นอนไม่วันใดก็วันหนึ่ง เธออย่าวิตกทุกข์ร้อนไปเลย”
 

                    พระอานนท์มีอาการแช่มชื่นแจ่มใสขึ้น เพราะพระดำรัสประโลมใจของพระศาสดานั้นเย็นวันนั้นเอง พุทธบริษัทแห่งนครโกสัมพี่ผู้ใคร่ต่อธรรม ถือดอกไม้ธูปเทียนและสุคันธชาติหลากหลายมุ่งหน้าสู่โฆสิตารามเพื่อฟังธรรมรสจากพระพุทธองค์ เมื่อพุทธบริษัทพรั่งพร้อมนั่งอย่างมีระเบียบแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสก (สบง-ผ้าสำหรับนั่ง) ซึ่งย้อมไว้ด้วยดีแล้ว ทรงคาดพระกายพันธนะ (ประคตเอว ผ้ารัดเอว) อันเป็นประดุจสายฟ้า ทรงครองสุคตมหาบังสุกุลจีวรอันเป็นประดุจผ้ากัมพลสีเหลืองหม่น เสด็จออกจากพระคันธกุฎีสู่ธรรมสภา ด้วยพุทธลีลาอันงามยิ่งหาที่เปรียบมิได้ ประดุจลีลาแห่งพญาช้างตัวประเสริฐ และประดุจอาการเยื้องกรายแห่งไกรสรสีหราชเสด็จขึ้นสู่บวรพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ดีแล้วท่ามกลางมณฑลมาล ซึ่งประดับตกแต่งอย่างวิจิตรตระการตาทรงเปล่งพระฉัพพัณณรังสี ประดุจพระอาทิตย์เปล่งแสงอ่อน ๆ บนยอดเขายุคนธร

                   เมื่อสมเด็จพระจอมมุนีเสด็จมาถึง พุทธบริษัทก็เงียบกริบ พระพุทธองค์ทรงมองดูพุทธบริษัทด้วยพระหฤทัยอันเปี่ยมไปด้วยเมตตา ทรงดำริว่า “ชุมนุมนี้ช่างงามน่าดูจริง จะหาคนคะนองมือคะนองเท้า หรือมีเสียงไอเสียงจามไม่ได้เลย ชนทั้งหมดนี้มีคารวะต่อเรายิ่งนัก ถ้าเราไม่พูดขึ้นก่อน แม้จะนั่งอยู่นานสักเท่าใดก็จะไม่มีใครพูดอะไรเลย แต่เวลานี้เป็นเวลาแสดงธรรม” พระองค์ทรงดำริเช่นนี้แล้วจึงส่งข่ายแห่งพระญาณของพระองค์ไปสำรวจพุทธบริษัทว่าใครหนอจะสามารถบรรลุธรรมเบื้องสูงได้บ้างในวันนี้ ทรงเล็งเห็นอุปนิสัยแห่งภิกษุณีโกกิลาว่า มีญาณแก่กล้าพอจะบรรลุธรรมได้ พระพุทธองค์จึงทรงประกาศธรรมจักรอันประเสริฐ ด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะกังวานดังนี้
 

“ดูก่อนท่านทั้งหลาย! ทางสองสายคือกามสุขัลลิกานุโยค การหมกมุ่นอยู่ด้วยกามสุขสายหนึ่ง และอัตตกิลมถานุโยค การทรมานกายให้ลำบากเปล่าสายหนึ่ง อันผู้หวังความเจริญในธรรมพึงละเว้นเสีย ควรเดินทางสายกลาง คือเดินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ คือความเห็นชอบ ความดำริชอบการพูดชอบ การทำชอบ การประกอบอาชีพในทางสุจริต ความพยายามในทางที่ชอบ การตั้งสติชอบและการทำสมาธิชอบดูก่อนท่านทั้งหลาย! ความทุกข์เป็นความจริงประการหนึ่งที่ชีวิตทุกชีวิตจะต้องประสบบ้างไม่มากก็น้อย ความทุกข์ที่กล่าวนี้มีอะไรบ้าง? ท่านทั้งหลาย! ความเกิดเป็นความทุกข์ ความแก่ ความเจ็บความตายก็เป็นความทุกข์ ความแห้งใจ หรือความโศก ความร่ำไรรำพันจนน้ำตานองหน้า ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งของอันเป็นที่รัก ความต้องประสบกับบุคคลหรือสิ่งของอันไม่เป็นที่พอใจ ปรารถนาอะไรไม่ได้ดังใจ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความทุกข์ที่บุคคลต้องประสบทั้งสิ้น เมื่อกล่าวโดยสรุป การยึดมั่นในขันธ์ ๕ ด้วยตัณหาอุปาทานนั่นเอง เป็นความทุกข์อันยิ่งใหญ่”
 

                 ท่านทั้งหลาย! เราตถาคตกล่าวว่า ความทุกข์ทั้งมวลย่อมสืบเนื่องมาจากเหตุ ก็อะไรเล่าเป็นเหตุแห่งทุกข์นั้น เรากล่าวว่าตัณหานั้นเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ ตัณหาคือความทะยานอยากดิ้นรนซึ่งมีลักษณะเป็นสามคือ ดิ้นรนอยากได้อารมณ์ที่น่าใคร่น่าปรารถนา เรียกกามตัณหาอย่างหนึ่ง นี่แลคือสาเหตุแห่งทุกข์ขั้นมูลฐาน ดิ้นรนอยากเป็นนั่นเป็นนี่ เรียกภวตัณหาอย่างหนึ่ง ดิ้นรนอยากผลักสิ่งที่มีอยู่แล้ว เป็นแล้ว เรียกวิภวตัณหาอย่างหนึ่ง นี่แลคือสาเหตุแห่งความทุกข์ ขั้นมูลฐาน
 

           “ท่านทั้งหลาย การสละคืนโดยไม่เหลือซึ่งตัณหาประเภทต่าง ๆ ดับตัณหาคลายตัณหาโดยสิ้นเชิง นั่นแลเราเรียกว่านิโรธ คือความดับทุกข์ได้
 

          “ทางที่จะดับทุกข์ดับตัณหานั้น เราตถาคตแสดงไว้แล้ว คือ อริยมรรคมีองค์ ๘
 

            “ท่านทั้งหลายจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย เราตถาคตเองเป็นที่พึ่งแก่ท่านทั้งหลายไม่ได้ ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้ชี้ทางบอกทางเท่านั้น ส่วนความเพียรพยายามเพื่อเผาบาปอกุศล ท่านทั้งหลายต้องทำเอง ทางมีอยู่ เราชี้แล้วบอกแล้วท่านทั้งหลายต้องเดินเอง”


                    พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าในวันนั้น เหมือนเจาะจงเทศนาแก่ภิกษุณีโกกิลาโดยเฉพาะ นางรู้สึกเหมือนพระองค์ประทับแก้ปัญหาหัวใจของนางให้หลุดร่วง สมแล้วที่ใคร ๆ พากันชมพระพุทธองค์ว่าเป็นเหมือนดวงจันทร์ซึ่งทุกคนรู้สึกเหมือนว่าจงใจจะส่งแสงสีนวลไปให้แก่ตนเพียงคนเดียวโกกิลาภิกษุณีส่งกระแสจิตไปตามพระธรรมเทศนา ปลดเปลื้องสังโยชน์คือกิเลสเครื่องร้อยรัดจิตใจทีละชั้น จนสามารถประหารกิเลสทั้งมวล ได้สำเร็จมรรคผลชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนาเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งด้วยประการฉะนี้

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.023350564638774 Mins