มองแต่ในแง่ดี
พระราชาในพระนครแห่งหนึ่งทรงโปรดการล่าสัตว์มาก เสด็จออกล่าสัตว์พร้อมกับมหาดเล็กและทหารคู่ใจอีก ๔-๕ คนเป็นประจำ เสด็จออกครั้งหนึ่งก็กินเวลาหลายวัน จนทำให้ราชกิจเสียหายไปด้วยจึงมีอำมาตย์กลุ่มหนึ่งคบคิดกันจะกบฏโค่นล้มพระองค์พระองค์ตกพระทัยมากจึงเรียกมหาดเล็กคนสนิทมาถามว่าคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ มหาดเล็กกราบทูลว่า
“ก็ดี พะยะค่ะ”
“ดีอย่างไร ว่ามาชิ” พระราชาตรัสถามด้วยความสงสัย
“ดีตรงที่จะได้รู้ว่าใครเป็นใคร ใครอยู่ข้างใคร ใครมีความซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อพระองค์จริง จะได้แยกแยะถูก และเมื่อรู้แล้วจะได้กำจัดเสี้ยนหนามให้หมดไป เหลือแต่คนที่จงรักภักดีและคนที่ไว้ใจได้เท่านั้น พะยะค่ะ”
พระราชาทรงเห็นคล้อยตาม จึงชุ่มทหารมือดีและไว้ใจได้ส่วนหนึ่งไว้ที่บริเวณวัง พอพวกกบฏรวมพลได้แล้วบุกเข้ามาในวังโดยเหล่าทหารที่ซุ่มอยู่ที่ล้อมจับพวกกบฏได้ทั้งหมดโดยไม่ทันตั้งตัว พระราชารับสั่งให้ประหารเสียทั้งหมดเสี้ยนหนามก็หมดไป บ้านเมืองก็สงบคิดว่าพระราชายังไม่ทรงทราบเรื่องต่อมาเกิดน้ำท่วมถนนหนทางและไร่นาหมด ผู้คนได้รับความลำบากในเรื่องการสัญจรไปมา พระราชาทรงปรึกษามหาดเล็กเช่นเคยมหาดเล็กกราบทูลว่า
“ก็ดี พะย่ะค่ะ น้ำท่วมอย่างนี้”
“ดียังไง ขยายความมาชิ”
“น้ำท่วมอย่างนี้ผู้คนจะได้ไม่ออกไปเที่ยวเตร่ใช้สอยสนุกสนานผลาญเงินทองกัน จะได้มีเหลือเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น และน้ำที่ท่วมมามันพาเอาปุ๋ยและสารอาหารมาด้วย เมื่อน้ำลดแล้ว ชาวนาชาวไร่ก็จะเพาะปลูกได้งอกงาม มีผลผลิตมากกว่าปกติ ทำให้มีกินมีใช้พอเพียงด้วย พะยะค่ะ”
“เออ จริงของแก” พระราชาทรงคล้อยตามอีกต่อมาเมื่อน้ำลดแล้ว ชาวไร่ชาวนาปลูกข้าวปลูกพืชผักอุดมสมบูรณ์ดี พระราชาก็เสด็จออกไปล่าสัตว์พร้อมกับทหารสนิทเช่นเคย แต่คราวนี้ทรงโชคร้าย ทรงถูกพระขรรค์ที่เหน็บไว้แทงฝึกหนังทะลุออกมาเฉือนนิ้วพระหัตถ์ขาดไปนิ้วหนึ่ง พระโลหิตสาดกระเซ็นทรงถามมหาดเล็กคนเดิมว่า
“เจ้าคิดอย่างไรที่ฉันโดนอย่างนี้”
“ก็ดี พะยะค่ะ” มหาดเล็กทูลตอบคำเดิมเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง
“นิ้วขาดดีกว่าตัวตาย พะยะค่ะ”
พระราชาทรงพิโรธมาก เมื่อเสด็จกลับเมืองแล้วทรงรับสั่งให้จำคุกมหาดเล็กตัวแสบอย่างไม่มีกำหนดฐานทำให้ไม่พอพระทัย ๑๐ ปีผ่านไป มหาดเล็กยังถูกขังลืมอยู่ในคุก พระราชาก็ยังเสด็จล่าสัตว์เป็นประจำเหมือนเดิม ครั้งหนึ่งเสด็จล่าสัตว์เพลินจนข้ามภูเขาไปและถูกพวกคนป่าจับได้พร้อมทั้งทหารที่ติดตามอีก ๔-๕ คน พวกคนป่าเหล่านั้นยังป่าเถื่อนกินเนื้อมนุษย์อยู่ จึงจับพระราชาและทหารไปขังไว้ พอตกเย็นก็นำทหารออกมาคนหนึ่ง ถอดเสื้อผ้าออกหมดแล้วนำตัวไปอาบน้ำชำระล้างจนสะอาด เสร็จแล้วก็นำไปที่กลางลาน ใส่ลงในกะทะที่น้ำกำลังเดือดพล่านอยู่ เต้นรำกันรอบๆกองไฟตามพิธีกรรมแล้วต่างก็ตักเนื้อตักน้ำมากินเป็นอาหารมื้อค่ำอย่างอร่อย
ทำอย่างนี้จนทหารหมดไป เหลือแต่พระราชาองค์เดียวเมื่อถึงวาระพระราชา พวกมันก็จับพระองค์ไปเปลื้องเครื่องทรงออก นำไปชำระล้างทำความสะอาดเหมือนคนอื่น ขณะนั้นพวกมันเห็นนิ้วพระหัตถ์อ้วนไปข้างหนึ่ง จึงส่งเสียงเอะอะโวยวายขึ้น หัวหน้าเผ่ารีบมาดู เมื่อเห็นเป็นคนนิ้วด้วนจึงสั่งให้รีบปล่อยตัวขับไล่ออกไปจากที่นั้นโดยเร็ว เพราะคนป่าเผ่านี้ได้รับคำบอกเล่ามาว่าคนที่มีนิ้วมือไม่ครบเป็นคนกาลกิณี กินเข้าไปจะวิบัติทั้งเผ่า พระราชาเลยรอดจากการเป็นอาหารกะทะโปรดของพวกคนป่าไปพระองค์เสด็จรอนแรมมาจนถึงเมือง ทรงเล่าเรื่องต่างๆ ให้อำมาตย์ทั้งหลายฟัง ทรงระลึกถึงมหาดเล็กคนเดิมได้จึงรับสั่งให้ปล่อยตัวแล้วนำเข้ามาเฝ้า
“นี่เจ้าคำของเจ้าที่ว่านิ้วขาดดีกว่าตัวตายนั้นเป็นความจริงแท้ เรารอดตายมาได้เพราะนิ้วขาดแท้ๆ แล้วเจ้าล่ะเป็นไงบ้าง อยู่ในคุกตั้ง ๑๐ ปีน่ะ”
“ก็ดี พะยะค่ะ” มหาดเล็กทูลตอบด้วยคำเดิม
“ดียังไง ติดคุกตั้ง๑๐ ปี”
“ถ้าข้าพระองค์ไม่อยู่ในคุกก็จะต้องไปกับพระองค์ด้วย เมื่อป่านนี้ข้าพระองค์ก็คงเป็นเนื้อเปื่อยอยู่ในท้องพวกคนป่าเป็นเช่นนั้นไปแล้ว นี่ดีนะที่อยู่ในคุกเสียจึงรอดตาย พะยะค่ะ”
“เจ้านี่มันแน่จริงๆ” พระราชาทรงรำพึง
เรื่องนี้สื่อความให้เห็นว่า
ทุกสิ่งทุกเรื่องมีแง่มีมุมให้มองหลายแง่หลายมุม อย่างน้อยก็มีสองอย่างคือแง่ดีกับแง่เสีย หรือด้านบวกกับด้านลบ ก็แล้วแต่ว่าจะมองในแง่ไหนด้านไหน ผลย่อมต่างกันเสมอ เช่นมองในแง่ดี ก็จะได้รับผลเป็นความสุขความสบายใจ แม้จะเห็นแง่เสียอยู่บ้างก็มองข้ามไปเสีย ไม่นำมาเป็นเรื่องใหญ่หรือติดใจ เอามากลบลบแง่ดีให้ด้อยลงไป คนที่มองอะไรมองแต่ในแง่ดี จึงมักจะมีความสุข ไม่คิดมาก ไม่คิดอาฆาตมาดร้าย ให้อภัยคนอื่นได้ง่าย จิตใจจะเยือกเย็น ไม่ขุ่นข้องหมองมัวด้วยความคับข้องใจ ส่วนคนที่ชอบมองแต่แง่ร้ายก็จะไม่มีวันสบายใจได้เลย เห็นอะไรได้ยินอะไรดูมันขวางหูขวางตาหรือไม่ถูกต้องไปเสียหมด จึงกลายเป็นคนหงุดหงิดง่าย เจ้าอารมณ์ และมองโลกในแง่ร้ายไปโดยไม่รู้ตัว ทุกสิ่งทุกเรื่องล้วนมีมุมให้มองทั้งด้านดีและด้านเสียทั้งนั้น จึงอยู่ที่คนมองว่าจะมองด้วยจิตใจอย่างไร แม้ในมุมที่เสีย คนฉลาดก็สามารถมองเป็นแง่ดีได้ ตรงกันข้าม ในมุมที่ดี คนที่ชอบหาเรื่อง หรือคนพาล ก็สามารถหยิบยกมาอ้างว่าเป็นแง่เสียได้เช่นเดียวกัน เรื่องของเรื่อง จึงอยู่ที่จิตใจและนิสัยคนมองเป็นสำคัญ