อธิษฐานล้อมคอก
การอธิษฐานจิตมีความสำคัญมาก เป็นหนึ่งในบารมี ๑๐ ทัศ เปรียบเสมือนเป็นหางเสือเรือที่จะนำพาชีวิตในสังสารวัฏของเราให้ดำเนินไปอย่างถูกทิศทาง ไม่พลัดหลงหรือออกนอกเส้นทางแห่งการสร้างบารมีและช่วยขจัดกิเลสอาสวะเพื่อที่จะเข้านิพพานได้ในที่สุด
ดังจะเห็นได้จากเรื่องของมหาทุคตะ ในชาติก่อนหน้าโน้นที่เคยเป็นเศรษฐีแล้วประมาท ตระหนี่ หวงแหนทรัพย์ ไม่ยอมทำทาน เมื่อไม่ได้สร้างบุญ ไม่ได้อธิษฐานจิตให้ดี พอมาเกิดในชาติที่เป็นมหาทุคตะจึงต้องอดอยากยากจน ถึงขั้นยากจนที่สุดในเมืองก็ว่าได้นี่เป็นผลของการที่ไม่ได้อธิษฐานจิตให้เป็นเศรษฐีผู้ใจบุญ เมื่อมีทรัพย์แล้วกลับไม่ให้ทาน มีความตระหนี่ หวงแหนทรัพย์ อย่างนี้อันตรายเพราะมีโอกาสสร้างทานบารมี แต่กลับปิดกั้นโอกาสดีๆ ของตนเองไปอย่างน่าเสียดาย หากจะทำให้ถูกหลักวิชชา เมื่อมีทรัพย์แล้วควรนำทรัพย์มาบริจาคทาน ทำบุญฝากฝังอริยทรัพย์ไว้ในพระพุทธศาสนา
บางคนเมื่อทำทานแล้วก็อธิษฐานว่า “สาธุ ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่ข้าพเจ้าทำในคราวนี้ ขอให้ข้าพเจ้าร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีผู้ยิ่งใหญ่” การอธิษฐานเพียงเท่านี้ยังถือว่าไม่รอบคอบ เพราะเมื่อบุญส่งผลให้เป็นมหาเศรษฐีผู้ยิ่งใหญ่จริง แต่เมื่อจะลงมาเกิดในเมืองมนุษย์ อาจพลัดไปเกิดนอกบุญเขต (เกิดในความเชื่ออื่นที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนา) ซึ่งอันตรายมาก เพราะหากไม่มีโอกาสฟังธรรม จะไม่มีวันเข้าใจว่า อะไรคือ บุญ-บาป ไม่มีเนื้อนาบุญให้ได้ทำทาน แม้ว่าจะรวยก็สามารถเรียกได้ว่า “รวยฟรี” ไปเท่านั้น เพราะไม่ได้ใช้ทรัพย์ให้เกิดประโยชน์ต่อการสั่งสมบุญสร้างบารมี
ดังนั้น การใช้ทรัพย์นี้ยากพอๆ กับการหาทรัพย์ หมายความว่า การที่เราคิดว่า การหาทรัพย์เป็นสิ่งที่ยากแล้ว การใช้ทรัพย์อย่างเฉลียวฉลาดเพื่อให้เกิดประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์ในอนาคต และประโยชน์อย่างยิ่งนั้นยากพอๆ กับการหาทรัพย์ทีเดียว
การที่ไม่ได้อธิษฐานล้อมคอกเป็นกรอบไว้ให้ดีหลังจากที่ได้ทำทานแล้ว แม้บุญส่งผลให้ได้เป็นมหาเศรษฐี ก็จะเป็นมหาเศรษฐีที่ยังไม่ปลอดภัยในสังสารวัฏ เพราะอาจจะพลาดพลั้งไปประกอบอาชีพที่เป็นมิจฉาอาชีวะ ได้ทรัพย์มาก็ใช้ทรัพย์ไม่ถูกวัตถุประสงค์ของการมีทรัพย์ และถ้ายิ่งใช้ทรัพย์ไม่เป็น คือ ไปใช้กระทําผิดศีล ผิดธรรม ก็จะทำให้เกิดวิบากกรรมตามมา เรียกว่า มีทรัพย์แล้วอันตราย นอกจากทรัพย์จะพินาศ เมื่อตายแล้วยังต้องไปตกในอบายภูมิอย่างน่าเสียดาย
แต่ถ้ารู้จักอธิษฐานจิตอย่างถูกหลักวิชชา จะให้ผลในทางตรงกันข้าม ดังนั้น เวลาทำบุญทุกครั้งให้อธิษฐานตั้งผังออกแบบชีวิตให้ดี เหมือนอย่างที่มหาทุคตะ เมื่อได้เป็นเศรษฐีประจำเมืองแล้ว ก็ไม่ประมาท หมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนาจนตลอดชีวิต และอธิษฐานจิต “นิพพานะปัจจะโย โหตุ” วางแผนชีวิตให้ตนเอง
ด้วยอานิสงส์ตรงนี้เองเป็นชนกกรรมนำมาเกิดในครรภ์ของอุปัฏฐากพระสารีบุตร ผู้เป็นธรรมเสนาบดี อัครสาวกเบื้องขวาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาอยู่ในครรภ์มารดาผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ และยังเป็นอุปัฏฐากพระสารีบุตรอีกด้วย เมื่ออยู่ในครรภ์ ผู้เป็นมารดาก็สมาทานศีล แล้วเกิดความรู้สึกอยากจะเลี้ยงพระ ๕๐๐ รูป ด้วยข้าวคลุกปลาตะเพียน และยังห่มผ้ากาสายะ (ผ้าย้อมฝาด) ไปยืนอยู่คนสุดท้าย เพื่อรับอาหารที่เหลือจากพระมารับประทาน ตั้งใจฝึกตนเองอย่างดีทีเดียว
นอกจากนี้ การอธิษฐานจิตยังนำไปเกิดในสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการบรรลุมรรคผลนิพพานอีกด้วย เห็นไหมว่าเพียงแค่อธิษฐานกำกับว่า “นิพพานะปัจจะโย โหตุ” หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “ขอให้บุญนี้เป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานเทอญ” เท่านั้น ไม่ยากเลย ฉะนั้นเมื่อทำบุญทุกครั้งต้องอธิษฐานกำกับว่า นิพพานะปัจจะโย โหตุ เท่ากับว่าเราได้ตั้งผังวางแนวทางให้ตรงไปสู่จุดหมายปลายทางคือพระนิพพานเอาไว้แล้วด้วยใจที่ตั้งมั่นไม่คลอนแคลน นั่นหมายความว่า เราได้ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท สามารถย่นย่อหนทางสู่เป้าหมายที่แท้จริงของเราได้
อีกทั้งแรงอธิษฐานที่ถูกหลักวิชชานี้ จะส่งผล ชักนำ ออกแบบให้เราได้ไปเกิดในดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา ดินแดนแห่งผู้รู้ เกิดในครอบครัวสัมมาทิฏฐิ แวดล้อมด้วยบัณฑิตนักปราชญ์ ห่างไกลคนพาลให้เราได้ที่สุดแห่งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ บริวารสมบัติ และนำสิ่งต่างๆที่มีอยู่นี้มาไว้ใช้สร้างบารมีอย่างเต็มที่เต็มกำลัง เป็นบุญต่อบุญ สมบัติต่อสมบัติกันไปเรื่อยๆ ดังเช่น มหาทุคตะที่ในชาติสุดท้ายได้ไปเกิดในดินแดนพระพุทธศาสนา ในครอบครัวสัมมาทิฏฐิ มีดวงปัญญาสว่างไสวสามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ นับว่านี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนถึงอานิสงส์ของการทำทาน แล้วอธิษฐานจิตอย่างถูกหลักวิชชา