การอบรมบ่มนิสัยเพื่อการบรรลุธรรม

วันที่ 24 ตค. พ.ศ.2567

2567%2010%2025%20b.jpg

 

บทที่ ๑๑

 

การอบรมบ่มนิสัยเพื่อการบรรลุธรรม

 

2567%2010%2025b.jpg

 

ความหมายของการอบรมธรรมะในเสนาสนสูตร

   พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสความหมายของการอบรมธรรมะไว้ดังนี้

   ภิกษุผู้เถระเหล่านั้นย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่เปิดเผย

   ทำข้อที่เข้าใจยากให้เข้าใจง่าย

   และบรรเทาความสงสัยในธรรมที่น่าสงสัยหลายอย่างแก่ภิกษุนั้น

   จากพระดำรัสดังกล่าว มีข้อสังเกตว่า

๑. พระเถระที่สามารถฝึกอบรมพระภิกษุให้บรรลุธรรมได้นั้น ต้องอาศัยองค์ประกอบ ๔ ประการ

   ๑.๑ ครูต้นแบบ คือ พระเถระผู้สอนธรรม

   ๑.๒ ลูกศิษย์ คือ พระภิกษุผู้เรียนธรรม

   ๑.๓ การวางหลักสูตรที่ดีจริง

   ๑.๔ การอบรมบ่มนิสัยที่ดีจริง

๒. การฝึกอบรมธรรมะให้แก่พระภิกษุนั้นเดิมพันด้วยความเจริญรุ่งเรือง หรือความเสื่อมสูญของพระพุทธศาสนา เพราะธรรมะในพระพุทธศาสนามี ๓ ระดับ

   ๒.๑ ธรรมะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ซึ่งสถิตอยู่ภายในพระวรกายของพระองค์

   ๒.๒ ธรรมะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเพื่อฝึกอบรมชาวโลกให้บรรลุธรรม

   ๒.๓ ธรรมะ คือ นิสัยดีที่ได้จากการฝึกฝนอบรมตนเองอย่างทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันในการทําความดี

พระเถระต้นแบบ ผู้รู้จริง ทำได้จริง สอนได้จริง

   การที่พระเถระท่านจะเป็นต้นแบบได้ ย่อมแสดงว่าท่านต้องรู้จริง ทำได้จริง สอนได้จริง

๑.๑ รู้จริง คือ เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา

๑.๒ ทำได้จริง คือ ฝึกตนเองอย่างทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันและบรรลุธรรมมาตามลำดับ

๑.๓ สอนได้จริง คือ สามารถอธิบายให้แจ่มแจ้งได้จริงว่า อะไร ทำไม ทำอย่างไร ผลเป็นอย่างไร และสามารถฝึกนิสัยทุ่มชีวิตทำความดีให้แก่ลูกศิษย์ได้จริง ซึ่งข้อนี้พระเถระจะทำได้ต่อเมื่อ

(๑) พระเถระมีความเข้าใจเรื่องการอบรมบ่มนิสัยคนว่า

   (๑.๑) นิสัยคืออะไร

   (๑.๒) นิสัยเกิดขึ้นได้อย่างไร

   (๑.๓) อุปกรณ์การฝึกอยู่ที่ไหน

   (๑.๔) สถานที่ฝึกเป็นอย่างไร

(๒) พระเถระมีคุณสมบัติของกัลยาณมิตร ดังปรากฏในทุติยมิตตสูตรดังนี้


ทุติยมิตตสูตร

ว่าด้วยองค์แห่งมิตร สูตรที่ ๒

 

  ภิกษุทั้งหลาย มิตรประกอบด้วยองค์ ๗ ประการ เป็นผู้ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ แม้จะถูกขับไล่ก็ตาม

   องค์ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. เป็นที่รักเป็นที่พอใจ

๒. เป็นที่เคารพ

๓. เป็นที่ยกย่อง

๔. เป็นนักพูด

๕. เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ

๖. เป็นผู้พูดถ้อยคำลึกซึ้งได้

๗. ไม่ชักนำในอฐานะ

   ภิกษุทั้งหลายมิตรประกอบด้วยองค์ ๗ ประการนี้แล เป็นผู้ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ แม้จะถูกขับไล่ก็ตาม

พระลูกศิษย์ผู้มีความพร้อมในการฝึกตน

   ในพระพุทธศาสนา ผู้มีความพร้อมในการฝึกตน หมายถึง ผู้ที่มีความไม่ประมาท

   ผู้มีความไม่ประมาท คือ ผู้ที่ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘

   นั่นก็หมายความว่า มรรคมีองค์ ๘ คือ แม่บทการฝึกคนในพระพุทธศาสนา ซึ่งประกอบด้วย

2567%2010%2024.b.jpg

   นอกจากนี้ มรรคมีองค์ ๘ ยังกล่าวย่อเหลือองค์ ๓ ได้อีกด้วย คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ สัมมังกัปปะ ย่อเหลือ ปัญญา

๒. สัมมาวาจา สัมมากัมมันตา สัมมาอาชีวะ ย่อเหลือ ศีล

๓. สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ย่อเหลือ สมาธิ

   นอกจากนี้ จากการศึกษาพบว่า

๑. ปัญญา เกิดขึ้นได้ด้วย เคารพ

๒. ศีล เกิดขึ้นได้ด้วย วินัย

๓. สมาธิ เกิดขึ้นได้ด้วย อดทน

  เพราะฉะนั้น พระภิกษุผู้มีความพร้อมในการฝึกตนนั้นจึงต้องมีเคารพ วินัย อดทน เป็นพื้นฐานสำคัญ จึงจะทำให้การปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ เกิดความก้าวหน้าไปตามลำดับ ๆ จนกระทั่งบรรลุธรรมเป็นผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์

ปัญญาเกิดขึ้นได้ด้วยเคารพเป็นอย่างไร

๑. ประเภทของความเคารพ

   พระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวแสดงเรื่องประเภทของความเคารพไว้ในสักกัจจสูตร ว่า

   ความเคารพมี ๗ ประการ

๑. เคารพในพระพุทธเจ้า

๒. เคารพในพระธรรม

๓. เคารพในพระสงฆ์

๔. เคารพในการศึกษา

๕. เคารพในการทำสมาธิ

๖. เคารพในความไม่ประมาท

๗. เคารพในการปฏิสันถาร

   ผู้มีเคารพใน ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นผู้ละอกุศล เจริญกุศลได้

๒. พระพุทธศาสนาตั้งอยู่ได้ด้วยความเคารพ

   พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงเหตุแห่งความเสื่อมและความเจริญของพระพุทธศาสนาไว้ในปฐมสัทธัมมสัมโมสสูตรดังนี้


ปฐมสัทธัมมสัมโมสสูตร

ว่าด้วยเหตุเสื่อมและเหตุเจริญแห่งศาสนา

 

   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่นไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ

๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมฟังธรรมโดยเคารพ

๒. เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ

๓. ทรงจำธรรมโดยเคารพ

๔. ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ

๕. รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ

   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่นไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

๓. ปัญญาเกิดขึ้นจากความเคารพ

   มีหลักฐานยืนยันว่า ปัญญาเกิดขึ้นได้ด้วยความเคารพปรากฏใน คารวสูตร ดังนี้


คารวสูตร

ว่าด้วยพระพุทธเจ้าทรงสักการะเคารพธรรม

 

  สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคแรกตรัสรู้ประทับอยู่ที่ใต้ต้นอชปาลนิโครธใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความรำพึงอย่างนี้ว่า “บุคคลผู้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรง ย่อมอยู่เป็นทุกข์เราพึงสักการะ เคารพ อาศัยสมณะหรือพราหมณ์คนไหนหนอแลอยู่”

  ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้มีพระดำริดังนี้ว่า “เราพึงสักการะ เคารพอาศัยสมณะหรือพราหมณ์อื่นอยู่ เพื่อความบริบูรณ์แห่งสีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ที่มีศีลสมบูรณ์กว่าเรา ที่เราจะพึงสักการะ เคารพอาศัยอยู่

   เราพึงสักการะ เคารพ อาศัยสมณะหรือพราหมณ์อื่นอยู่ เพื่อความบริบูรณ์แห่งสมาธิขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นในโลกพร้อมทั้งเทวโลกมารโลกพรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ที่มีสมาธิสมบูรณ์กว่าเรา ที่เราพึงสักการะ เคารพอาศัยอยู่

   เราพึงสักการะ เคารพ อาศัยสมณะหรือพราหมณ์อื่นอยู่ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ที่มีปัญญาสมบูรณ์กว่าเรา ที่เราพึงสักการะ เคารพอาศัยอยู่

  เราพึงสักการะ เคารพ อาศัยสมณะหรือพราหมณ์อื่นอยู่เพื่อความบริบูรณ์แห่งวิมุตติขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นในโลก พร้อมทั้งเทวโลก ฯลฯ ที่มีวิมุตติสมบูรณ์กว่าเรา ที่เราพึงสักการะ เคารพ อาศัยอยู่

  เราพึงสักการะ เคารพ อาศัยสมณะหรือพราหมณ์อื่นอยู่เพื่อความบริบูรณ์แห่งวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์แต่เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ที่มีวิมุตติญาณทัสสนะสมบูรณ์กว่าเรา ที่เราพึงสักการะเคารพอาศัยอยู่

ทางที่ดีเราพึงสักการะเคารพธรรมที่เราตรัสรู้แล้วนั่นแลอยู่

   จากข้อสังเกตใน ๓ พระสูตรนี้เอง ที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่เชื่อมโยงกับมรรคมีองค์ ๘ ว่า

   เคารพ คือ เปิดใจรับความรู้และความดี ไม่ว่าจากใครก็ตาม หรือสิ่งใดก็ตามที่ดีจริง

   เพราะเหตุนี้ เคารพจึงเป็นต้นทางแห่งปัญญาและเป็นพื้นฐานแห่งการบรรลุธรรมที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป


ศีลเกิดขึ้นได้ด้วยวินัยเป็นอย่างไร

๑. ประเภทของวินัย

   วินัยของพระภิกษุในที่นี้ คือ ปาริสุทธิศีลแบ่งเป็น ๔ ประเภท

(๑) ปาติโมกขสังวรศีล

 ศีล คือ ความสำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นจากข้อห้ามทำตามข้ออนุญาตประพฤติเคร่งครัดในสิกขาบททั้งหลาย

(๒) อินทรียสังวรศีล

   ศีลคือความสำรวมอินทรีย์ ระวังไม่ให้บาปอกุศลครอบงำ เมื่อรับรู้อารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๖

(๓) อาชีวปาริสุทธิศีล

   ศีลคือความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ เลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบ ไม่ประกอบอเนสนามีหลอกลวงเขาเลี้ยงชีพเป็นต้น

(๔) ปัจจัยสันนิสิตศีล

   ศีลที่เกี่ยวกับปัจจัย ๔ ได้แก่ ปัจจัยปัจจเวกขณะคือพิจารณาใช้สอยปัจจัย ๔ ให้เป็นไปตามความหมายและประโยชน์ของสิ่งนั้นไม่บริโภคด้วยตัณหา


(วิสุทธิ, ๑/๑๔-๑๘/๑๗-๓๖)
 

๒. ศีลเกิดขึ้นได้ด้วยวินัย

   มีหลักฐานยืนยันว่า ศีลเกิดขึ้นได้ด้วยวินัย มากมาย จึงขอยกมาเฉพาะที่ปรากฏในอัทกวินสูตรดังนี้


อันธกวินทสูตร

ว่าด้วยหมู่บ้านอันธกวินทะ

 

   สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่หมู่บ้านอันธกวินทะ แคว้นมคธ ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควรพระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

   อานนท์ เธอทั้งหลายพึงยังพวกภิกษุใหม่บวชได้ไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยให้สมาทาน ให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในธรรม ๕ ประการ

   ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. เธอทั้งหลายพึงยังภิกษุเหล่านั้นให้สมาทาน ให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในปาติโมกขสังวรศีลว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย มาเถิด ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในพระปาติโมกข์เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย”

๒. เธอทั้งหลายพึงยังภิกษุเหล่านั้นให้สมาทาน ให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในอินทรีย์สังวรศีลว่า “ผู้มีอายุทั้งหลายมาเถิดขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย มีสติเป็นเครื่องรักษา มีสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน มีใจรักษาดีแล้วประกอบด้วยจิตที่มีสติเป็นเครื่องรักษาอยู่”

๓. เธอทั้งหลายพึงยังภิกษุเหล่านั้นให้สมาทาน ให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในการพูดมีที่จบว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย มาเถิด ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้พูดน้อย พูดให้มีที่จบ”

๔. เธอทั้งหลายพึงยังภิกษุเหล่านั้นให้สมาทาน ให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในความสงบกายว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย มาเถิด ขอท่านทั้งหลายจงอยู่ป่าเป็นวัตรจงอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด คือป่าโปร่งและป่าทึบ”

๕. เธอทั้งหลายพึงยังภิกษุเหล่านั้นให้สมาทาน ให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในสัมมาทัสสนะ (ความเห็น
ชอบ)ว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย มาเถิด ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ประกอบด้วยสัมมาทัสสนะ”

  อานนท์เธอทั้งหลายพึงยังพวกภิกษุใหม่บวชได้ไม่นานเพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้ ให้สมาทานให้ตั้งมั่นให้ดำรงอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล

๓. ศีลเป็นพื้นฐานแห่งการบรรลุธรรม

  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกำชับให้พระภิกษุเป็นผู้รักศีล และแสดงถึงอานิสงส์จากการฝึกตนของผู้รักศีลที่เห็นได้ในปัจจุบัน ไปตามลำดับฝยอากังขสูตรดังนี้

 


อากังขสูตร

ว่าด้วยความหวัง

 


   สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแลพระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย มาตรัสว่าภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้วพระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

   ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลสมบูรณ์ด้วยปาติโมกข์สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายเถิด

๑. หากภิกษุหวังว่า “เราพึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจเป็นที่เคารพและเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย” จึงเป็นผู้ทำศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์หมั่นประกอบความสงบแห่งจิตภายใน ไม่ห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนาเพิ่มพูนเรือนว่างเถิด

๒. หากภิกษุหวังว่า “เราพึงเป็นผู้ได้จีวรบิณฑบาตเสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร” จึงเป็นผู้ทำศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์ หมั่น ประกอบความสงบแห่งจิตภายในไม่ห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่างเถิด

๓. หากภิกษุหวังว่า “เราบริโภคจีวร บิณฑบาตเสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารของชนเหล่าใดขอสักการะของชนเหล่านั้น พึงมี ผลมาก มีอานิสงส์มาก” พึงเป็นผู้ทำศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์... เพิ่มพูนเรือนว่างเถิด

๔. หากภิกษุหวังว่า “ญาติสายโลหิต เหล่าใดผู้ล่วงลับไปแล้ว มีจิตเลื่อมใส ระลึกถึงเรา ขอการระลึกถึงเราของญาติสาโลหิตเหล่านั้น พึงมีผลมากมีอานิสงส์มาก” พึงเป็นผู้ทำศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์ ... เพิ่มพูนเรือนว่างเถิด

๕. หากภิกษุหวังว่า “เราพึงเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรบิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้” จึงเป็นผู้ทำศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์ ... เพิ่มพูนเรือนว่างเถิด

๖. หากภิกษุหวังว่า “เราพึงเป็นผู้อดทนต่อความหนาว ร้อน หิว กระหายเหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลาน ถ้อยคำหยาบคายร้ายกาจพึงเป็นผู้อดกลั้นเวทนาทั้งหลายอันมีในร่างกายที่เกิดขึ้นแล้วเป็นทุกข์ กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่ยินดี ไม่น่าพอใจพรากชีวิต” จึงเป็นผู้ทำศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์....เพิ่มพูนเรือนว่างเถิด

๗. หากภิกษุหวังว่า “เราพึงเป็นผู้ข่มความยินดีและความยินร้าย ความยินดีและความยินร้ายไม่พึงครอบงำเรา ขอเราพึงข่มความยินดีและความยินร้ายที่เกิดขึ้นอยู่” พึงเป็นผู้ทำศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์ ... เพิ่มพูนเรือนว่างเถิด

๘. หากภิกษุหวังว่า “เราพึงเป็นผู้ระงับความกลัวความหวาดเสียวได้ ความกลัวความหวาดเสียวไม่พึงครอบงำเรา ขอเราพึงระงับความกลัว ความหวาดเสียวที่เกิดขึ้นอยู่” จึงเป็นผู้ทำศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์....เพิ่มพูนเรือนว่างเถิด

๙. หากภิกษุหวังว่า “เราพึงเป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก” จึงเป็นผู้ทำศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์... เพิ่มพูนเรือนว่างเถิด

๑๐. หากภิกษุหวังว่า “เราพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไป  ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน” พึงเป็นผู้ทำศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์ หมั่นประกอบความสงบแห่งจิตภายใน ไม่ห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่างเถิด

  ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า “เธอทั้งหลายจงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลสมบูรณ์ด้วยปาติโมกข์สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายเถิด” เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

   จากหลักฐานใน ๓ พระสูตรนี้เอง ที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่เชื่อมโยงกับมรรคมีองค์ ๘ ว่า

   วินัย คือ ความควบคุมทั้งกายและวาจาให้สงบ เพื่อพร้อมที่จะรุดหน้าทำความดีต่อไป

   เพราะเหตุนี้วินัยจึงเป็นต้นทางแห่งศีลและเป็นพื้นฐานแห่งการบรรลุธรรมที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

สมาธิเกิดขึ้นได้ด้วยอดทนเป็นอย่างไร

๑. ประเภทความอดทน

   พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแสดงอุปสรรคในการปฏิบัติธรรมที่เกิดจากกิเลสภายในและสิ่งร้ายแรงภายนอกไว้ในโรคสูตรดังนี้


โรคสูตร

ว่าด้วยโรค

 

   ภิกษุทั้งหลาย โรค ๒ อย่างนี้

   โรค ๒ อย่าง อะไรบ้าง คือ

๑. โรคทางกาย

๒. โรคทางใจ

   สัตว์ผู้อ้างว่า ตนเองไม่มีโรคทางกายตลอดระยะเวลา ๑ ปีบ้าง ๒ ปีบ้าง ๓ ปีบ้าง ๔ ปีบ้าง ๕ ปีบ้าง ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง ๔๐ ปีบ้าง ๕๐ ปีบ้าง แม้ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปีบ้างยังพอมีอยู่ แต่สัตว์ผู้จะกล่าวอ้างว่า ตนเองไม่มีโรคทางใจตลอดระยะเวลาแม้ครู่เดียว หาได้โดยยาก ยกเว้นท่านผู้หมดกิเลสแล้ว

   ภิกษุทั้งหลาย โรคของบรรพชิต ๔ อย่างนี้

 

   โรค ๔ อย่าง อะไรบ้าง คือ

๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นคนมักมาก คับแค้น ไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้

๒. เธอเมื่อมักมาก คับแค้น ไม่สันโดษด้วยจีวรบิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้ ย่อมตั้งความปรารถนาเพื่อไม่ให้ผู้อื่นดูหมิ่น เพื่อให้ได้ลาภสักการะและชื่อเสียง

๓. เธอวิ่งเต้น ขวนขวาย พยายามเพื่อไม่ให้ผู้อื่นดูหมิ่น เพื่อให้ได้ลาภสักการะและชื่อเสียง

๔. เธอเข้าไปหาตระกูลทั้งหลาย นั่งกล่าวธรรมกลั้นอุจจาระและปัสสาวะเพื่อให้เขานับถือ

   ภิกษุทั้งหลาย โรคของบรรพชิต ๔ อย่างนี้แล

   เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายในธรรมวินัยนี้จึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า

  “เราจักไม่เป็นคนมักมาก ไม่เป็นคนมีจิตคับแค้น ไม่เป็นคนไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน ปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้เราจักไม่ตั้งความปรารถนาชั่วเพื่อให้คนอื่นรู้จัก เพื่อให้ได้ลาภสักการะและชื่อเสียง เราจักไม่วิ่งเต้น ไม่ขวนขวายไม่พยายามเพื่อให้คนอื่นรู้จักเพื่อให้ได้ลาภสักการะและชื่อเสียง

 

    เราจักอดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิวกระหายต่อการถูกเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลายรบกวน

    ต่อถ้อยคำหยาบคายร้ายแรงต่างๆ

  จักเป็นผู้อดกลั้นเวทนาทั้งหลายอันมีในร่างกายที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นทุกข์ กล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดีไม่น่าพอใจ พรากชีวิต”

    จากพระสูตรนี้ทำให้พบข้อสังเกตว่า

    ความอดทน มี ๔ ประเภท

๑. ความอดทนต่อนํานาจกิเลส

๒. ความอดทนต่อความลำบากตรากตรำ

๓. อดทนต่อคำพูดกระทบกระทั่ง

๔. อดทนต่อทุกเวทนาที่เกิดขึ้นจากความเจ็บป่วย


๒. สมาธิเกิดขึ้นได้ด้วยความอดทน

   มีหลักฐานยืนยันว่า สมาธิเกิดขึ้นได้ด้วยอดทนปรากฏในสัมมาสมาธิสูตรดังนี้


สัมมาสมาธิสูตร

ว่าด้วยสัมมาสมาธิ

 

   ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นผู้อาจบรรลุสัมมาสมาธิอยู่ได้

   ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ

   ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. เป็นผู้อดทนต่อรูป

๒. เป็นผู้อดทนต่อเสียง

๓. เป็นผู้อดทนต่อกลิ่น

๔. เป็นผู้อดทนต่อรส

๕. เป็นผู้อดทนต่อโผฏฐัพพะ

   ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นผู้อาจบรรลุสัมมาสมาธิอยู่ได้

   จากหลักฐานใน ๒ พระสูตรนี้เอง ที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่เชื่อมโยงกับมรรคมีองค์ ๘ ว่า

   อดทน คือ ความยืนหยัดที่จะทำความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ไม่ว่าจะมีอุปสรรค หรือสิ่งร้ายแรงใด ๆ ทั้งภายนอกภายในคุกคามถาโถมเข้ามา

 

    เพราะเหตุนี้ อดทนจึงเป็นบ่อเกิดแห่งสมาธิและเป็นพื้นฐานแห่งการบรรลุธรรมที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

หลักสูตรการฝึกอบรมพระภิกษุในพระพุทธศาสนา

   ตามที่ศึกษาเสนาสนสูตรมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า

   บุคคลที่จะบรรลุธรรมนั้นต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ ประการ คือ

๑. มีศรัทธา

๒. มีอาพาธน้อย

๓.ไม่โอ้อวด-ไม่มีมารยา

๔. ปรารภความเพียร

๕. มีปัญญา


  เมื่อกำหนดคุณสมบัติ ๕ ข้อนี้ เป็นเป้าหมายการฝึกคนแล้ว ก็พบว่า ต้องทำการแบ่งหลักสูตรออกเป็น ๓ ประเภท

   หลักสูตรที่ ๑ คือ ไม่มี ทำให้มี

   หลักสูตรที่ ๒
คือ มีแล้ว ไม่ทำให้เสีย

   หลักสูตรที่ ๓
คือ มีแล้ว ทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

๑. ไม่มี ทำให้มี คือ หลักสูตรสร้างบุคลากรให้พร้อมเป็นพระ

   หมายถึง หลักสูตรสำหรับฝึกอบรมผู้ที่ยังไม่มีคุณสมบัติของผู้บรรลุธรรม ๕ ประการ โดยใช้แม่บท คือ เสนาสูตร ดังที่กล่าวมาแล้ว

๒. มีแล้ว ไม่ทำให้เสีย คือ หลักสูตรสร้างพระให้พร้อมบรรลุธรรม

  หมายถึง หลักสูตรสำหรับฝึกอบรม ผู้ที่มีคุณสมบัติของผู้บรรลุธรรม ๕ ประการอยู่แล้ว ให้สามารถรักษามั่นคงได้ยิ่งๆ ขึ้นไปจนกระทั่งอยู่ในระดับทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันเพื่อทำความดี โดยใช้แม่บท คือ คณกโมคคัลลานสูตร ดังนี้

   ในพระสูตรนี้จะกล่าวถึงขั้นตอนการฝึกอบรมของพระภิกษุมาตามลำดับ ดังต่อไปนี้

   ลำดับที่ ๑ ให้รักษาศีล

   ลำดับที่ ๒ ให้สำรวมอินทรีย์

   ลำดับที่ ๓ ให้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร

   ลำดับที่ ๔ ให้ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เนือง ๆ

   ลำดับที่ ๕ ให้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ

   ลำดับที่ ๖ ให้อยู่ในเสนาสนะอันสงัด

   ลำดับที่ ๗ ให้บรรลุฌานที่ ๑-๔

   รายละเอียดของพระสูตรมีดังนี้


คณกโมคคัลลานสูตร

ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อคณกโมคคัลลานะ

 

  ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้  สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของมิคารมาตา ในบุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล คณกโมคคัลลานพราหมณ์เข้าไปเฝ้า

  พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้ว ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

  “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ปราสาทของมิคารมาตาหลังนี้มีการศึกษาโดยลำดับ มีการกระทำโดยลำดับ มีการปฏิบัติโดยลำดับ คือโครงสร้างบันไดชั้นล่าง ย่อมปรากฏแม้พราหมณ์เหล่านี้ก็มีการศึกษาโดยลำดับ มีการกระทำโดยลำดับมีการปฏิบัติโดยลำดับ ย่อมปรากฏด้วยการเล่าเรียนแม้นักรบเหล่านี้ก็มีการศึกษาโดยลำดับมีการกระทำโดยลำดับมีการปฏิบัติโดยลำดับ ย่อมปรากฏในเรื่องการใช้อาวุธแม้แต่ข้าพเจ้าทั้งหลายผู้เป็นนักคำนวณที่มีการศึกษาโดยลำดับมีการกระทโดยลำดับ มีการปฏิบัติโดยลำดับ ย่อมปรากฏในเรื่องการนับจำนวน เพราะข้าพเจ้าทั้งหลายได้ศิษย์แล้วเบื้องต้นให้เขานับอย่างนี้ว่า “หนึ่ง หมวดหนึ่ง สอง หมวดสอง สาม หมวดสาม สี่ หมวดสี่ ห้า หมวดห้า หก หมวดหก เจ็ด หมวดเจ็ด แปด หมวดแปด เก้า หมวดเก้า สิบ หมวดสิบ” ย่อมให้นับไปถึงจำนวนร้อยให้นับไปเกินจำนวนร้อยแม้ฉันใด

   ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระองค์สามารถเพื่อจะบัญญัติการศึกษาโดยลำดับการกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับในพระธรรมวินัยแม้นี้ฉันนั้นบ้างไหม”

การศึกษาและการปฏิบัติเป็นขั้นตอน

   พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ เราสามารถเพื่อจะบัญญัติการ ศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ ในธรรมวินัยนี้ได้ เปรียบเหมือนคนฝึกม้าผู้ชำนาญ ได้ม้าอาชาไนยตัวงามแล้ว เบื้องต้นทีเดียว ย่อมฝึกให้คุ้นกับการบังคับในบังเหียน ต่อมาจึงฝึกให้คุ้นยิ่งขึ้นไปแม้ฉันใด ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้บุรุษที่ควรฝึกแล้วเบื้องต้นทีเดียวย่อมแนะนำอย่างนี้ว่า

   “มาเถิด ภิกษุ เธอจงเป็นผู้มีศีลสำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร อยู่ จงเป็นผู้มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทาน ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายเถิด”

  พราหมณ์  ในกาลใดภิกษุเป็นผู้มีศีล  สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์  เพียบพร้อมด้วยอาจาระ  และโคจร เป็นผู้เห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อยสมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายในกาลนั้น ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า

   “มาเถิด ภิกษุ เธอจงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย”  คือ  เธอเห็นรูปทางตาแล้ว อย่ารวบถือ อย่าแยกถือจงปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ (อินทรีย์คือจักขุ) ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรม

  คือ อภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของเขา) และโทมนัส(ความทุกข์ใจ) ครอบงำได้ เธอจงรักษาจักขุนทรีย์จงถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์

   เธอฟังเสียงทางหูแล้ว ...

   เธอดมกลิ่นทางจมูกแล้ว ...

   เธอลิ้มรสทางลิ้นแล้ว ...

   เธอถูกต้องโผฏฐัพพะทางกายแล้ว ...

  รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว อย่ารวบถือ อย่าแยกถือจงปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ (อินทรีย์คือมโน) ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ เธอจงรักษามนินทรีย์ จงถึงความสำรวมในมนินทรีย์

   พราหมณ์  ในกาลใดภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายแล้ว ในกาลนั้น ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า

  “มาเถิด ภิกษุ เธอจงเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร  คือ  เธอพึงพิจารณาโดยแยบคายแล้วฉันอาหาร ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่งแต่ฉันอาหารเพียงเพื่อความดำรงอยู่ได้แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้ เพื่อกำจัดความเบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดเห็นว่า “เราจักกำจัดเวทนาเก่า และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นความดำเนินไปแห่งกายความไม่มีโทษและการอยู่ผาสุข จักมีแก่เรา”

   พราหมณ์ ในกาลใดภิกษุเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภคอาหารในกาลนั้น ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า

  “มาเถิด ภิกษุ เธอจงเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง คือ เธอจงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมทั้งหลายที่เป็นเครื่องขัดขวางด้วยการจงกรมด้วยการนั่งตลอดวันจงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมทั้งหลายที่เป็นเครื่องขัดขวางด้วยการจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี นอนดุจราชสีห์โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะกำหนดใจพร้อมจะลุกขึ้นตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี จงลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมทั้งหลายที่เป็นเครื่องขัดขวาง ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี”

   พราหมณ์ ในกาลใดภิกษุเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่องในกาลนั้น ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า

  “มาเถิด ภิกษุ เธอจงเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ คือ ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไปการถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตรและจีวร การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น การพูด การนิ่ง

    พราหมณ์ในกาลใดภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะในกาลนั้นตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า

   “มาเถิด ภิกษุ เธอจงพักอยู่ ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ภิกษุนั้นพักอยู่ ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ภิกษุนั้นกลับจากบิณฑบาตภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้วนั่งขัดสมาธิตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ภิกษุนั้นละอภิชฌาในโลก มีใจปราศจากอภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของเขา) ชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก อภิชฌา ละความมุ่งร้ายคือพยาบาทมีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความมุ่งร้ายคือพยาบาท ละถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและรำคาญใจ) เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก อุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ข้ามพ้นวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีความสงสัยในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ จึงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้”

   ภิกษุนั้น ละนิวรณ์ ๕ นี้ที่ทำให้จิตเศร้าหมองบั่นทอนกำลังปัญญาสงัดจากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว เข้าปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป เข้าทุติยฌาน ... อยู่ เพราะปีติ จางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เข้าตติยฌาน ...อยู่ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน เข้าจตุตถฌาน ... อยู่

  พราหมณ์ ในภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพระเสขะผู้ยังไม่บรรลุอรหัต ยังปรารถนาธรรมที่เกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยมอยู่เหล่านั้น เรามีคำพร่ำสอนเช่นนี้แต่สำหรับภิกษุผู้เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้วทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้วหลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบเหล่านั้น ธรรมเหล่านี้จึงจะเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบันและเพื่อสติสัมปชัญญะแก่เธอทั้งหลาย”

  เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว คณกโมคคัลลานพราหมณ์ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า “สาวกของท่านพระโคดมที่ท่านพระโคดมสั่งสอนอยู่อย่างนี้ พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ สำเร็จนิพพานอันถึงที่สุดโดยส่วนเดียวทุกพวกทีเดียวหรือ หรือว่าบางพวกก็ไม่สำเร็จ”

   พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ พราหมณ์  สาวกของเราที่เราสั่งสอน อยู่อย่างนี้พร่ำสอนอยู่อย่างนี้  บางพวกสำเร็จนิพพาน อันถึงที่สุดโดยส่วนเดียว บางพวกไม่สำเร็จ”

   “อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัย  ที่เป็นเหตุให้นิพพานก็มีอยู่  ทางให้ถึงนิพพานก็มีอยู่  ท่านพระโคดมผู้ชักชวนก็มีพระชนม์อยู่ แต่สาวกของท่านพระโคดมที่ท่าน พระโคดมสั่งสอนอยู่อย่างนี้พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกสำเร็จนิพพานอันถึงที่สุดโดยส่วนเดียว บางพวกกลับไม่สำเร็จ”

   “พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น เราจักถามท่านในเรื่องนี้ท่านชอบใจอย่างไรจึงพยากรณ์อย่างนั้น

   ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือท่านชำนาญทางไปกรุงราชคฤห์มิใช่หรือ”

   “ใช่ ท่านพระโคดม”

   “พราหมณ์ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ บุรุษผู้ปรารถนาจะไปกรุงราชคฤห์พึงมาในที่นี้ บุรุษนั้นเข้ามาหาท่านแล้วพูดอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปกรุงราชคฤห์ ขอท่านจงบอกทางไปกรุงราชคฤห์นั้นให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด” ท่านพึงบอกเขาอย่างนี้ว่า “พ่อคุณ มาเถิด ทางนี้ไปกรุงราชคฤห์ท่านจงไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นหมู่บ้านชื่อโน้น ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นนิคมชื่อโน้นไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นสวนที่น่ารื่นรมย์ ป่าที่น่ารื่นรมย์ ภาคพื้นที่น่ารื่นรมย์สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ของกรุงราชคฤห์”

  บุรุษนั้นที่ท่านสั่งสอนอยู่อย่างนี้  พร่ำสอนอยู่อย่างนี้จำทางผิด เดินไปเสียทางตรงกันข้าม ต่อมาบุรุษคนที่สองปรารถนาจะไปกรุงราชคฤห์ พึงเดินมา บุรุษนั้นเข้ามาหาท่านแล้วพูดอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปกรุงราชคฤห์ ขอท่านจงบอกทางไปกรุงราชคฤห์นั้นให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด ท่านจึงบอกเขาอย่างนี้ว่า

  “พ่อคุณ มาเถิด ทางนี้ไปกรุงราชคฤห์ ท่านจงไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นหมู่บ้านชื่อโน้น ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นนิคมชื่อโน้น ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นสวนที่น่ารื่นรมย์ ป่าที่น่ารื่นรมย์ภาคพื้นที่น่ารื่นรมย์สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ของกรุงราชคฤห์” บุรุษนั้นที่ท่านสั่งสอนอยู่อย่างนี้ พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ จึงไปถึงกรุงราชคฤห์โดยสวัสดี

  พราหมณ์ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กรุงราชคฤห์ก็มีอยู่ ทางไปกรุงราชคฤห์ก็มีอยู่ ท่านผู้บอกก็ยังมีชีวิตอยู่ แต่บุรุษที่ท่านสั่งสอนอยู่อย่างนี้ พร่ำสอนอยู่อย่างนี้คนหนึ่งจำทางผิด เดินไปเสียทางตรงกันข้าม คนหนึ่งเดินทางไปถึงกรุงราชคฤห์โดยสวัสดี”

    พราหมณ์กราบทูลว่า “ท่านพระโคดม ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าจะทำอย่างไรได้ ข้าพเจ้าเป็นแต่ผู้บอกทาง”

   พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  “พราหมณ์ ฉันนั้นเหมือนกันนิพพานก็มีอยู่ ทางไปนิพพานก็มีอยู่  (เราตถาคต) ผู้ชักชวนก็มีอยู่ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ สาวกทั้งหลายของเราที่เราสั่งสอนอยู่อย่างนี้ พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกสำเร็จนิพพานอันถึงที่สุดโดยส่วนเดียว บางพวกไม่สำเร็จ ในเรื่องนี้เราจะทำอย่างไรได้ ตถาคตก็เป็นแต่ผู้บอกทาง”

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว คณกโมคคัลลานพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

  “ท่านพระโคดม บุคคลผู้ไม่มีศรัทธาประสงค์จะเลี้ยงชีวิต ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เป็นผู้โอ้อวด มีมารยา เจ้าเล่ห์ ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล กลับกลอก ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ประมาณในการบริโภคอาหารไม่ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่องไม่นำพาในความเป็นสมณะ ไม่มีความเคารพอย่างจริงใจในสิกขา มักมาก ย่อหย่อนไป เป็นผู้นำในโอกกมนธรรมทอดธุระในปวิเวก(ความสงัด)เกียจคร้าน ละเลยความเพียรหลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง มีปัญญาทึบ เป็นดังคนหนวกและคนใบ้ ท่านพระโคดมย่อมอยู่ร่วมกับคนเหล่านั้นไม่ได้ ส่วนกุลบุตรผู้มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเป็นผู้ไม่โอ้อวดไม่มีมายาไม่เจ้าเล่ห์ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่โลเล ไม่ปากกล้า ไม่พูดพร่ำเพรื่อ คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง นำพาในความเป็นสมณะ มีความเคารพอย่างจริงใจ ในสิกขา ไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อน ทอดธุระในโอกกมนธรรม เป็นผู้นำในปวิเวก ปรารภความเพียร อุทิศกายและใจ มีสติมั่นคง มีสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น มีจิตแน่วแน่ มีปัญญา ไม่เป็นดังคนหนวกและคนใบ้ ท่านพระโคดมผู้เจริญย่อมอยู่ร่วมกับกุลบุตรเหล่านั้นได้ บรรดารากไม้หอม บัณฑิตยกย่องกฤษณาว่าเป็นเลิศ บรรดาไม้ที่มีแก่นหอม บัณฑิตยกย่องแก่นจันทน์แดงว่าเป็นเลิศ บรรดาไม้ที่มีดอกหอม บัณฑิตยกย่องดอกมะลิว่าเป็นเลิศ แม้ฉันใด คำสั่งสอนของท่านพระโคดม ก็ฉันนั้นเหมือนกันจัดว่ายอดเยี่ยมกว่าอัชชธรรม ๒ ทั้งหลาย

  ท่านพระโคดม  พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมพระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า “คนมีตาดีจะเห็นรูปได้

   ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม  พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ  ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ไว้ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต ดังนี้แล

๓. มีแล้ว ไม่ทำให้เสีย คือ หลักสูตรสร้างพระให้พร้อมเป็นนักเผยแผ่

   หมายถึง หลักสูตรสำหรับฝึกอบรมผู้ที่สามารถรักษาคุณสมบัติ ๕ ประการให้มั่นคงอย่างชนิดทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันแล้วให้สามารถพัฒนาตนขึ้นมาเป็นครูสอนศีลธรรมให้แก่ชาวโลกเป็นกำลังเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกลยิ่งๆ ขึ้นไปโดยใช้แม่บท คือ ธัมมัญญูสูตร ดังนี้


ธัมมัญญูสูตร

ว่าด้วยบุคคลผู้รู้ธรรม

 

   ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม  ๗  ประการนี้เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก

   ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ

   ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. เป็นธัมมัญญู

๒. เป็นอัตถัญญู

๓. เป็นอัตตัญญู

๔. เป็นมัตตัญญู

๔. เป็นกาลัญญู

๖. เป็นปริสัญญู

๗. เป็นบุคคลปโรปรัญญู

   ภิกษุเป็นธัมมัญญู อย่างไร

   คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ธรรมคือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ หากภิกษุไม่รู้ธรรมคือ สุตตะ ฯลฯ เวทัลละเลย เราไม่พึงเรียกเธอว่าเป็นธัมมัญญูในที่นี้ แต่เพราะภิกษุรู้ธรรมคือ สุตตะ ฯลฯ เวทัลล ฉะนั้น เราจึงเรียกเธอว่าเป็นธัมมัญญู ภิกษุชื่อว่าเป็นธัมมัญญูด้วยประการฉะนี้

   ภิกษุเป็นอัตถัญญู อย่างไร

   คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ความหมายแห่งภาษิตนั้น ๆ นั่นแลว่า “นี้เป็นความหมายแห่งภาษิตนี้ นี้เป็นความหมายแห่งภาษิตนี้” หากภิกษุไม่รู้เนื้อความแห่งภาษิตนั้น ๆ เลยว่า “นี้เป็นความหมายแห่งภาษิตนี้นี้เป็นความหมายแห่งภาษิตนี้” เราไม่จึงเรียกเธอว่า “เป็นอัตถัญญู” ในที่นี้ แต่เพราะภิกษุรู้ความหมายแห่งภาษิตนั้นๆ ว่า

   นี้เป็นความหมายแห่งภาษิตนี้ นี้เป็นความหมายแห่งภาษิตนี้ ฉะนั้น เราจึงเรียกเธอว่า เป็นอัตถัญญู ภิกษุชื่อว่าเป็นธัมมัญญู อัตถัญญู ด้วยประการฉะนี้

   ภิกษุเป็นอัตตัญญู อย่างไร

   คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้จักตนว่า “ว่าโดยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ เรามีอยู่ประมาณเท่านี้” หากภิกษุไม่รู้จักตนว่า “ว่าโดยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ เรามีอยู่ประมาณเท่านี้” ฉะนั้น เราไม่พึงเรียกเธอว่าเป็นอัตตัญญูในที่นี้แต่เพราะภิกษุรู้จักตนว่า “ว่าโดยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ เรามีอยู่ประมาณเท่านี้” ฉะนั้น เราจึงเรียกเธอว่าเป็นอัตตัญญู ภิกษุชื่อว่าเป็นธัมมัญญู อัตถัญญู อัตตัญญู ด้วยประการฉะนี้

   ภิกษุเป็นมัตตัญญู อย่างไร

   คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้จักประมาณในการรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร หากภิกษุไม่รู้จักประมาณในการรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร เราไม่พึ่งเรียกเธอว่าเป็นมัตตัญญูในที่นี้ แต่เพราะภิกษุรู้จักประมาณในการรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร ฉะนั้น เราจึงเรียกเธอว่าเป็นมัตตัญญู ภิกษุชื่อว่าเป็นธัมมัญญ อัตถัญญู อัตตัญญู มัตตัญญู ด้วยประการฉะนี้

   ภิกษุเป็นกาลัญญู อย่างไร

   คือภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้จักกาลว่า “นี้เป็นกาลแห่งอุทเทสนี้เป็นกาลแห่ง ปริปุจฉ นี้เป็นการบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกาลหลีกเร้น หากภิกษุไม่รู้จักกาลว่า “นี้เป็นกาลแห่งอุทเทศ นี้เป็นกาลแห่งปริปุจฉา นี้เป็นกาลบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกาลหลีกเร้น” เราไม่เรียกเธอว่าเป็นกาลัญญูในที่นี้ แต่เพราะภิกษุรู้จักกาลว่า “นี้เป็นกาลแห่งอุทเทศนี้เป็นกาลแห่งปริปุจฉา นี้เป็นกาลบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกาลหลีกเร้น” ฉะนั้น เราจึงเรียกเธอว่าเป็นกาลัญญู ภิกษุชื่อว่าเป็น ธัมมัญญู อัตถัญญู อัตตัญญู มัตตัญญู กาลัญญู ด้วยประการฉะนี้

   ภิกษุเป็นปริสัญญู อย่างไร

   คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้จักบริษัทว่า “นี้ขัตติยบริษัทนี้พราหมณบริษัท นี้คหบดีบริษัท นี้สมณบริษัท ในบริษัทนั้นเราควรเข้าไปหาอย่างนี้ ควรยืนอย่างนี้ ควรทำอย่างนี้ ควรนั่งอย่างนี้ ควรกล่าวอย่างนี้ ควรสงบนิ่งอย่างนี้ หากภิกษุไม่รู้จักบริษัทว่า “นี้ขัตติยบริษัท ฯลฯ ควรสงบนิ่งอย่างนี้เราไม่เรียกเธอว่าเป็น ปริสัญญู ในที่นี้ แต่เพราะภิกษุรู้จักบริษัทว่า “นี้ขัตติยบริษัท ฯลฯ ควรสงบนิ่ง อย่างนี้” ฉะนั้น เราจึงเรียกเธอว่าเป็นปริสัญญููภิกษุชื่อว่าเป็นธัมมัญญูอัตถัญญู อัตตัญญู มัตตัญญู กาลัญญู ปริสัญญู ด้วยประการฉะนี้

   ภิกษุเป็นปุคคลปโรปรัญญู อย่างไร

   คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้จักบุคคล ๒ จำพวก บุคคล ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งต้องการเห็นพระอริยะ อีกพวกหนึ่งไม่ต้องการเห็นพระอริยะ บุคคลพวกที่ไม่ต้องการเห็นพระอริยะก็ถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น อย่างนี้ บุคคลพวกที่ต้องการเห็นพระอริยะ ก็ได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้น อย่างนี้

   บุคคลผู้ต้องการเห็นพระอริยะก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งต้องการฟังสัทธรรม อีกพวกหนึ่งไม่ต้องการฟังสัทธรรม บุคคลพวกที่ไม่ต้องการฟังสัทธรรม ก็ถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น อย่างนี้ บุคคลพวกที่ต้องการฟังสัทธรรม ก็ได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้น อย่างนี้

   บุคคลผู้ต้องการฟังสัทธรรมก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งเงี่ยโสตฟังธรรม อีกพวก หนึ่งไม่เงี่ยโสตฟังธรรม บุคคลพวกที่ไม่เงี่ยโสตฟังธรรม ก็ถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นอย่างนี้ บุคคลพวกที่เงี่ยโสตฟังธรรม ก็ได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้น อย่างนี้

   บุคคลเงี่ยโสตฟังสัทธรรมก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ได้ อีกพวกหนึ่งฟังแล้วทรงจำธรรมไม่ได้ บุคคลพวกที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไม่ได้ ก็ถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นอย่างนี้บุคคลพวกที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ได้ก็ได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้นอย่างนี้

   บุคคลฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ได้ก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ อีกพวกหนึ่งไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ บุคคลพวกที่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ ก็ถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น อย่างนี้ บุคคลพวกที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ก็ได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้นอย่างนี้

   บุคคลพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่ง รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม อีกพวกหนึ่ง

   รู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม บุคคลพวกที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็ถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น อย่างนี้ บุคคลพวกที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็ได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้น อย่างนี้

   บุคคลรู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมก็มี ๒ จําพวก คือ

   พวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น อีกพวกหนึ่ง ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น บุคคลพวกที่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองแต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น ก็ถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นอย่างนี้ พวกที่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น ก็ได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้น อย่างนี้

   ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้รู้จักบุคคล ๒ ฝ่ายด้วยประการฉะนี้แลภิกษุชื่อว่าเป็นปุคคลปโรปรัญญูอย่างนี้

   ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แลจึงเป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก

สรุป

   จากหลักสูตรดังกล่าวทั้งสามประการนี้กล่าวคือ

๑. การสร้างคนให้พร้อมเป็นพระด้วยเสนาสนสูตร

๒. การสร้างพระให้พร้อมเป็นพระที่จะบรรลุธรรมด้วยคณกโมคคัลานสูตร

๓. การสร้างพระให้พร้อมเป็นพระนักเผยแผ่ด้วยธัมมัญญูสูตร

   ทั้งสามหลักสูตรนี้จะสำเร็จได้ด้วยวิธีการอบรมนิสัยให้ธรรมะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจ โดยต้องได้พระเถระ ผู้มีจิตเมตตาและมีใจใหญ่ มีความสามารถในการอบรมบ่มนิสัยลูกศิษย์ให้ใจกับธรรมะเป็นหนึ่งเดียวกัน

การฝึกอบรมบ่มนิสัยให้ใจกับธรรมเป็นหนึ่งเดียวกัน

๑. กระบวนการสร้างพระแท้ (ในแง่การบริหาร)


   ในการฝึกอบรมพระ ฝึกอบรมคนให้สมบูรณ์แบบพร้อมที่จะเป็นพระตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ต้องมีหลักการในการทำงาน และเลือกใช้หลักสูตรในการฝึกที่เหมาะสมซึ่งในเบื้องต้น มี ๔ ขั้นตอน คือ

   ขั้นตอนที่ ๑ ต้องคัดคนเข้ามาบวชจำเป็นต้องคัดเอาเฉพาะบุคคลที่ฝึกได้เท่านั้น เข้ามาบวชเป็นอายุพระพุทธศาสนาโดยใช้หลักจาก เสนาสนสูตร เป็นตัววัดคุณสมบัติเบื้องต้น ๕ ประการได้แก่

๑.๑ มีศรัทธา

๑.๒ มีอาพาธน้อย

๑.๓ ไม่โอ้อวดไม่มีมารยา

๑.๔ มีความเพียร

๑.๕ มีปัญญา

   ขั้นตอนที่ ๒ ปรับพื้นฐานให้เสมอกัน โดยใช้สมณสัญญาสูตร เป็นบทฝึกเบื้องต้นซึ่งประกอบด้วย สมณสัญญา ๓ ประการ และธรรม ๗ ประการ

   ๒.๑ สมณสัญญา ๓ ประการ ได้แก่ ความตระหนักรู้ว่า

๒.๒.๑ เราเป็นผู้มีเพศต่างจากคฤหัสถ์

๒.๒.๒ ชีวิตเราเนื่องด้วยผู้อื่น

๒.๒.๓ มรรยาทอย่างอื่นอันเราควรทำมีอยู่

   ๒.๒ ปลูกฝัง ธรรม ๗ ประการให้เป็นนิสัยไปพร้อมๆ กัน คือ

๒.๒.๑ เป็นผู้รักษาศีลเป็นนิสัย

๒.๒.๒ เป็นผู้ไม่มีอภิชฌา

๒.๒.๓ เป็นผู้ไม่มีพยาบาท

๒.๒.๔ เป็นผู้ไม่มีมานะ

๒.๒.๕ เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา

๒.๒.๖ เป็นผู้มีการพิจารณาในปัจจัยทั้งหลาย แล้วจึงบริโภค

๒.๒.๗ เป็นผู้ปรารภความเพียร

   ขั้นตอนที่ ๓ ฝึกคนเพื่อการเข้าถึงธรรมเป็นไปตามลำดับขั้นตอน โดยใช้ “คณกโมคคัลลานสูตร” เป็นบทฝึกในการอบรมพระภิกษุ


คณกโมคคัลลานสูตร

ว่าด้วยการศึกษาตามลำดับ

 

   มีการปฏิบัติตามลำดับ คือ

   ลำดับที่ ๑ ให้รักษาศีล สำรวมในปาติโมกข์

   ลำดับที่ ๒ ให้สำรวมอินทรีย์

   ลำดับที่ ๓ ให้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร

   ลำดับที่ ๔ ให้ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เนืองๆ

   ลำดับที่ ๕ ให้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ

   ลำดับที่ ๖ ให้อยู่ในเสนาสนะอันสงัด เพื่อกำจัดนิวรณ์ ๕

   ลำดับที่ ๗ ให้บรรลุฌานที่ ๑-๔

 

   ขั้นตอนที่ ๔ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะแก่การอบรมศีลธรรม โดยศึกษาหลักจากเสนาสนสูตร แล้วนำแนวคิดมาใช้ในการสร้างบรรยากาศภายในวัดให้สงบร่มรื่นเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมและเสริมสร้างพัฒนานิสัยที่ดี


   ในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมขึ้นมาใหม่นั้น การกำหนดขอบเขต ของแต่ละส่วน (Zoning) ต้องยึดหลักว่าพยายามให้กระทบกับบุคคลและสถานที่เดิมน้อยที่สุด โดยคำนึงถึงลักษณะการใช้งานเป็นสำคัญ เช่น อย่าให้บริเวณที่ต้องใช้เสียงดังไปอยู่ใกล้กับบริเวณที่ต้องการความสงบ

   เพราะฉะนั้น เมื่อเราได้ปฏิบัติมาตาม ๔ ขั้นตอนนี้แล้วเมื่อถึงคราวฝึกอบรมคน เราก็ต้องคัดคนที่ตั้งใจมาบวชก่อนส่วนคนที่ไม่ตั้งใจบวช อย่ารับเข้ามา แต่ถ้ารับเข้ามาต้องแน่ใจว่าจะฝึกอบรมให้เขาตั้งใจบวชได้ มิฉะนั้น เราอาจกลายเป็นผู้สร้างความเสียหายให้แก่การคณะสงฆ์ด้วยมือของตนเอง

 

๒. หนทางปฏิบัติเพื่อไปนิพพาน(ในแง่ตัวบุคคล)

   จากการศึกษาค้นคว้าหนทางปฏิบัติเพื่อไปนิพพานในนิพพานปัญหาสูตร ปรากฏข้อความสำคัญว่า


นิพพานปัญหาสูตร
 

   สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ หมู่บ้านนาลกคามแคว้นมคธ ครั้งนั้น ชัมพุขาทกปริพาชก เข้าไปหาท่านพระสารีบุตร ถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยเป็นที่บันเทิงเริงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า “ท่านสารีบุตร” ที่เรียกกันว่า “นิพพาน นิพพาน” นิพพานเป็นอย่างไร

   ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ผู้มีอายุ ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ และความสิ้นโมหะ นี้เรียกว่า นิพพาน

   “มีมรรคมีปฏิปทา เพื่อให้แจ้งพระนิพพานนั้นอยู่หรือ”

   “มีมรรค มีปฏิปทา เพื่อทำให้แจ้งนิพพานนั้นอยู่”

   “มรรคเป็นอย่างไรปฏิปทาทำให้แจ้งนั้นเป็นอย่างไร”

   “ผู้มีอายุ คืออริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล เพื่อทำให้แจ้งนิพพานนั้นได้แก่”

๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ

๒. สัมมาสังกัปปะ คิดชอบ

๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ

๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ

๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ

๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ

๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ

๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ

   นี้แลคือมรรคนี้คือปฏิปทาเพื่อทำให้แจ้งนิพพานนั้น

   “ท่านสารีบุตร มรรค ดีจริงหนอ ปฏิปทาที่ทำให้แจ้งนิพพานนี้ดีจริงหนอ และควรไม่ประมาท”

   จากพระสูตรดังกล่าว การที่จะไปถึงพระนิพพานนั้น จะต้องปฏิบัติดังนี้

๑) ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘

๒) มีการศึกษาและปฏิบัติควบคู่กันไป


   โดยบุคคลนั้น ต้องมีต้นทุนในการปฏิบัติอยู่ ๒ ประการ ดังกล่าวแล้วในเสนาสนสูตร คือ

๑) มีคุณสมบัติของภิกษุผู้พร้อมต่อการบรรลุธรรม ๕ ประการ

๒) อาศัยอยู่ในเสนาสนะที่มีคุณสมบัติเหมาะแก่การบรรลุธรรม ๕ ประการ

   เพราะฉะนั้น หากได้องค์ประกอบต่างๆ ครบถ้วนแล้วตนเองลงมือศึกษาและปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ อย่างต่อเนื่องเป็นนิสัยทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันในการทำความดี ย่อมบรรลุธรรมไปตามลำดับในที่สุด

ความเสื่อมและความดำรงมั่นของพระพุทธศาสนา

   จากการฝึกอบรมพระภิกษุมาตามสามหลักสูตรดังกล่าวนั้น แท้จริงแล้ว คือการเดิมพันด้วยความเจริญหรือความเสื่อมของพระพุทธศาสนา ดังปรากฏในตติยสัทธัมมสัมมโมสูตรดังนี้


ตติยสัทธัมมสัมโมสสูตร

ว่าด้วยเหตุเสื่อมแห่งพระสัทธรรม

 

   ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม

   ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เล่าเรียนพระสูตรที่เล่าเรียนกันมาไม่ดี ด้วยบทพยัญชนะที่สืบทอดกันมาไม่ดี แม้อรรถ แห่งบทพยัญชนะที่สืบทอดกันมาไม่ดีก็ชื่อว่าเป็นการสืบทอดขยายความไม่ดี นี้เป็นธรรมประการที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม

๒. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องทำให้เป็นผู้ว่ายาก ไม่อดทนรับฟังคำพร่ำสอนโดยเคารพนี้เป็นธรรมประการที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม

๓. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ไม่ถ่ายทอดสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพเมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป สูตรก็ขาดรากฐาน ไม่มีที่พึ่งอาศัย นี้เป็นธรรมประการที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม

๔. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นเถระผู้มักมาก ย่อหย่อนเป็นผู้นำในโอกกมนธรรม ทอดธุระในปวิเวก ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้งหมู่คนรุ่นหลังพากันตามอย่างภิกษุเถระเหล่านั้น แม้หมู่คนรุ่นหลังนั้นก็เป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน เป็นผู้นำในโอกกมนธรรมทอดธุระในปวิเวก ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุเพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้งนี้เป็นธรรมประการที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม

๕. สงฆ์แตกแยกกัน เมื่อสงฆ์แตกแยกกัน จึงมีการด่ากัน มีการบริภาษกัน มีการใส่ร้ายกัน มีการทอดทิ้งกัน หมู่คนที่ยังไม่เลื่อมใสในสงฆ์นั้น ก็ไม่เลื่อมใส และหมู่คนที่เลื่อมใสแล้วก็กลายเป็นอื่นไป นี้เป็นธรรมประการที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม

   ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม

   ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่ความเสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรมธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เล่าเรียนพระสูตรที่เล่าเรียนกันมาดี ด้วยบทพยัญชนะที่สืบทอดกันมาดี แม้อรรถแห่งบทพยัญชนะที่สืบทอดกันมาดี ก็ชื่อว่าเป็นการสืบทอดขยายความดีนี้เป็นธรรมประการที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม

๒. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่เป็นผู้ว่ายาก ไม่ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องทำให้เป็นผู้ว่ายาก อดทนรับฟังคำพร่ำสอนโดยเคารพ นี้เป็นธรรมประการที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม

๓.ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ถ่ายทอดสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพ เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป สูตรก็ไม่ขาดรากฐานมีที่พึ่งอาศัยนี้เป็นธรรมประการที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม

๔. ภิกษุเป็นเถระ ไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อนหมดธุระในโอกกมนธรรมผู้นำในปวิเวก ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้งหมู่คนรุ่นหลังพากันตามอย่างภิกษุเถระเหล่านั้น แม้หมู่คนรุ่นหลังนั้นก็ไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อนหมดธุระในโอกกมนธรรม เป็นผู้นำในปวิเวกปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม

๕. สงฆ์พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน มีอุทเทสที่สวดร่วมกัน ๑ อยู่ผาสุก เมื่อสงฆ์พร้อมเพรียงกัน จึงไม่มีการด่ากัน ไม่มีการบริภาษกันไม่มีการใส่ร้ายกัน ไม่มีการทอดทิ้งกัน หมู่คนที่ยังไม่เลื่อมใสในสงฆ์นั้นก็เลื่อมใส และหมู่คนที่เลื่อมใสแล้วก็เลื่อมใสยิ่งขึ้นนี้เป็นธรรมประการที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.064239350954692 Mins