.....ณ บัดนี้ อาตมาภาพจักได้แสดงธรรมิกถา เป็นธรรมสวนะฉลองประคองศรัทธาประดับสติปัญญาคุณสมบัติ ของท่านผู้พุทธบริษัททั้งคฤหัสถ์บรรพชิต บรรดามาสโมสรเพื่อสวนะกิจในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า จะชี้แจงแสดงธรรมเทศนาในเวลาวันนี้ คือ ในเรื่อง ธรรมนิยามสูตร ธรรมที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงตรัสเทศนายกย่องธาตุธรรมว่า เป็นของเกิดขึ้นก่อนเก่า หรือเก่าก่อนพระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้น หรือจะไม่บังเกิดขึ้น ธาตุธรรมน่ะเขามีอยู่แล้ว เขาเกิดอยู่แล้ว ตั้งอยู่แล้วเป็นปกติ พระองค์ทรงแสดงธรรมในข้อนี้ คือจะทรงแสดงชี้แจงแสดงธาตุธรรมให้ปรากฏตามกำหนด ตามความเป็นจริงของธาตุธรรมเหล่านั้น บัดนี้
จะชี้แจงแสดงตามวาระพระบาลี แห่งพระสูตรนั้น เพื่อเป็นเครื่องปฏิการสนองประคองศรัทธาประดับสติปัญญาคุณสมบัติของท่านพุทธบริษัททุกถ้วนหน้า
อิทมโวจ ภควา สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระสูตรนี้จบลงแล้ว อตฺตมนา เต ภิกฺขู ภคฺวโต ภาสิตํ อภินนฺทํ ภิกษุทั้งหลายมีใจยินดี เพลิดเพลิน ภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยประการฉะนี้ นี้เนื้อความของพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษาเทศนาดังนี้ ตามที่แปลกันในสยามภาษาดังนี้
ต่อแต่นี้ไปจะแปลขยายจากมคธภาษาเป็นสยามล้วน ให้เราท่านทั้งหลายได้ทบทวน ได้สดับตรับฟัง
ให้เข้าเนื้อเข้าใจ เป็นธรรมอันลุ่มลึกสุขุมนัก ไม่ใช่เป็นของอันพอดีพอร้าย ว่าพระสูตรนี้อันพระอานนท์เถรเจ้าได้สดับตรับฟังแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่วิหารเชตวัน อันเป็นอารามของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีสร้างถวายในกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเรียกภิกษุทั้งหลายมาสู่ที่เฝ้า ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นรับพุทธพจน์ของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยอาลปนคาถาว่า ภทนฺเต ความเจริญจงมีแด่พระองค์นี้ แล้วสมเด็จพระผู้มีพระภาคได้เริ่มตรัสพระสูตรนี้ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความบังเกิดขึ้นของพระตถาคตเจ้าก็ดี ความไม่บังเกิดขึ้นของพระตถาคตเจ้าก็ดี ธาตุนั้นตั้งอยู่แล้ว เพราะความที่แห่งธาตุนั้นเป็นที่ตั้งมั่นแห่งธรรม เพราะความที่แห่งธาตุนั้นเป็นเบาะของธรรม สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง พระตถาคตเจ้าตรัสรู้พร้อมเฉพาะอยู่ สอบสวนซึ่งธาตุนั้นอยู่ ครั้นตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว สอบสวนแล้ว ทรงบอก ทรงแสดง ทรงบัญญัติ ทรงแต่งตั้ง ทรงเปิดเผย ทรงจำแนก ทรงกระทำให้ตื้นขึ้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
ว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความบังเกิดขึ้นของพระตถาคตเจ้าก็ดี ความไม่บังเกิดขึ้นของพระตถาคตเจ้าก็ดี ธาตุนั้นเขาตั้งอยู่แล้ว เพราะความที่แห่งธาตุนั้นเป็นที่ตั้งมั่นของธรรม เพราะความที่แห่งธาตุนั้นเป็นเบาะของธรรม ว่า ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัว พระตถาคตเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะอยู่ สอบสวนธาตุนั้นอยู่ ครั้นตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว สอบสวนแล้ว ทรงบอก ทรงแสดง ทรงแต่งตั้ง ทรงเปิดเผย ทรงจำแนก ทรงกระทำให้ตื้นขึ้นว่า ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัว ดังนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสพระสูตรนี้จบลงแล้ว ภิกษุทั้งหลายมีใจเพลิดเพลินยินดี ภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยประการฉะนี้ นี่เป็นสยามภาษาล้วน ไม่เกี่ยวด้วยบาลี แต่ว่าเป็นเนื้อความของภาษาแปลอยู่ ไม่ใช่สยามภาษาแท้ เป็นแปลมคธภาษาเป็นสยามอยู่ จะอรรถาธิบายขยายความเป็นลำดับไป เพราะธรรมนี่ลึกซึ้งนัก เราไม่รู้ไม่ถึง เราอาศัยกายมนุษย์ก็จริง แต่ว่าหารู้จักธาตุธรรมของมนุษย์ไม่ หารู้จักธาตุธรรมของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ไม่ วันนี้จะชี้แจงแสดงให้เข้าเนื้อเข้าใจในธาตุธรรมเหล่านี้
ข้อสำคัญอยู่ก็ ที่พระตถาคตเจ้าน่ะ เราต้องรู้จักคือใคร รูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร คำว่า ธาตุ น่ะ ว่า ธรรม น่ะ เราต้องรู้จักว่าเป็นอย่างไร รูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไรนั่นแน่ะ ต้องรู้ความอันนั้นแน่ะ ที่แสดงมาแล้วนี้ เป็นอุเทศ นิเทศ ต้องเป็นปฏินิเทศต่อไป อุเทศน่ะแสดงเนื้อความอยู่ นิเทศน่ะกว้างออกไป นิเทศน่ะพิสดารออกไป จะแสดงให้พิสดารกว้างขวางออกไปอีก “ ธาตุ ” คำว่าธาตุนั่นน่ะ พระตถาคตเจ้าจะเกิดขึ้นก็ดี ไม่เกิดขึ้นก็ดี ธาตุนั้นเขาตั้งอยู่แล้ว พระตถาคตเจ้าน่ะ รู้กันน่ะ “ ธรรมกาย ” เคยเทศน์กันมามากแล้ว ธรรมกายมีหลายชั้น ธรรมกายโคตรภูทั้งหยาบทั้งละเอียด ธรรมกายโสดาบันทั้งหยาบทั้งละเอียด ธรรมกายสกทาคาทั้งหยาบทั้งละเอียด ธรรมกายอนาคาทั้งหยาบทั้งละเอียด ธรรมกายพระอรหันต์ทั้งหยาบทั้งละเอียด สิบกาย กายหยาบกายละเอียดทั้งมรรคทั้งผลด้วย รวมทั้งมรรคทั้งผล ๑๐ กาย นี่เรียกว่า ธรรมกาย นี่ตัวพระตถาคตเจ้าทั้งนั้น ธรรมกายนี้ตัวพระตถาคตเจ้าทั้งนั้น เมื่อเข้าใจว่า พระตถาคตเจ้าดังนี้ละก็ เราจะแสดงว่า ธรรมกายจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ธาตุนั้นเขาตั้งอยู่แล้ว ที่ได้ไว้น่ะก็ถูกเหมือนกัน แบบเดียวกัน พระตถาคตเจ้าก็แบบเดียวกัน ชื่อธรรมกายนั่นแหละ เรียก ธรรมกาย นั่นแหละ
เมื่อเข้าใจดังนี้แล้ว จะแสดงโดยธาตุให้เข้าเนื้อเข้าใจต่อไปว่า ฐิตา ว สา ธาตุ ธาตุนั้นเขาตั้งอยู่แล้ว
แต่ว่าความที่ของธาตุนั้นเป็นที่ตั้งมั่นของธรรม นั่นแน่มีธรรมอยู่ข้างหลังนั่นแน่ เพราะความที่ของธาตุนั้นเป็นเบาะของธรรม ธาตุเป็นที่ตั้งของธรรม เป็นเบาะของธรรมอย่างนี้จริงน่ะ ธาตุน่ะรูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร ธรรมน่ะรูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร โต เล็กเท่าไหน อยู่ที่ไหน ธาตุนั้นตัวจริงน่ะกลมๆ ธรรมตัวจริงก็กลมๆ
เป็นดวงกลมๆ เล็กใหญ่ตามส่วน เล็กน่ะ เล็กที่สุดจนกระทั่งเอากล้องส่องไม่เห็น เป็นดวงทั้งนั้นใหญ่ขึ้นไป ก็หมดธาตุหมดธรรม เต็มธาตุเต็มธรรม เต็มไปหมดก็ดวงใหญ่ขึ้นไป ขนาดนั้นน่ะเป็นดวงของธาตุ ดวงของธรรม ธาตุธรรมนี้แยกกันไม่ได้ อาศัยกัน เหมือนกายมนุษย์กับใจทีเดียว แยกกันไม่ได้ ถ้าแยกกันละเกิดเรื่อง ต้องเป็นต้องตายทีเดียว เพราะฉะนั้นธาตุนั้นก็เป็นเบาะของธรรม ธรรมต้องอยู่ในธาตุ อาศัยธาตุอยู่ ถ้าว่าเมื่อธาตุเป็นเบาะของธรรม ถ้าว่าเมื่อธาตุเป็นที่ตั้งของธรรมละก็ ธรรมเป็นที่ตั้งมั่นของธาตุได้บ้างไหมล่ะ ได้เหมือนกัน แบบเดียวกัน ถ้าธาตุนั้นเป็นเบาะของธรรม ธรรมเป็นเบาะของธาตุได้บ้างไหมล่ะ ได้เหมือนกัน แบบเดียวกัน เป็นอย่างไรล่ะ
……………………………………( จบตอน )…………………………………