.....๓. เพื่อนขาดความรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ
ถ้าเพื่อนขาดอริยวินัย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ผลเสียที่จะเกิดขึ้นประการที่ ๓ คือ เพื่อนจะไม่มีความสำนึกรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ เนื่องจากพัวพันกับอบายมุข ซึ่งจะเกิดเป็นลักษณะนิสัยและแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นได้อย่างน้อย ๓ ประการ คือ
๑) นิยมชมชื่นอบายมุข ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันด้านจิตใจน้อย เนื่องจากได้รับการปลูกฝังอบรมลักษณะนิสัยและคุณธรรมของมิตรแท้จากทิศเบื้องหน้าและเบื้องขวาน้อย อีกทั้งไม่เคยสัมผัสกับรสแห่งธรรมจากทิศเบื้องบนเลย เขาก็อาจจะเข้าไปพัวพันกับอบายมุขมาตั้งแต่เด็ก
ถ้าเพื่อนฝูงร่วมชั้นเรียนหรือสถาบันการศึกษาของเขาไม่ทำหน้าที่กัลยาณมิตร นำพาเขาให้พ้นออกมาจากวงจรอุบาทว์นั้น เขาก็จะพัวพันเกี่ยวข้องกับอบายมุขเรื่อยไป จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เมื่อเข้าไปสู่วงการอาชีพแล้วก็ยังนิยมชมชื่นอบายมุข โดยมองข้ามโทษภัยไปเสีย มองเห็นแต่คุณของอบายมุข นี่คือความคิดมิจฉาทิฎฐิโดยแท้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะแก้ไขให้เขาเปลี่ยนมาเป็นสัมมาทิฏฐิ
๒) โฆษณาชวนเชื่อคุณของอบายมุข แม้อบายมุขจะนำพาผู้คนไปสู่ความหายนะมาทุกยุคทุสมัยก็ตาม แต่ก็มีผู้คนคิดว่าอบายมุขมิได้เป็นสิ่งเลวร้ายเสียทั้งหมดทีเดียว ยังมีส่วนดีอยู่บ้างเหมือนกัน แล้วพยายามโฆษณาประชาสัมพันธ์คุณของอบายมุข เช่น ชี้แนะว่าการดื่มสุราเมรัยพอประมาณ เป็นการย้อมใจให้ฮักเหิม กล้าทำบางสิ่งบางอย่างได้โดยปราศจากความลังเลหรือขลาดกลัว การดื่มสุราเมรัยเป็นการกระชับมิตรได้เป็นอย่างดี การดื่มสุราเมรัยเป็นการดับทุกข์และสร้างสุข ดังที่สมัยหนึ่งมีการโฆษณาสุราต่างประเทศว่า “ ความสุขที่คุณดื่มได้”
แม้ยาบ้าเมื่อเสพเข้าไปแล้วจะทำลายสมอง แต่ก็มีการโฆษณาชวนเชื่อกันว่า เมื่อเสพเข้าไปแล้ว ประสาทจะตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่รู้สึกง่วงเหงาหาวนอน ทำให้สามารถทำงานได้ทั้งวันทั้งคืน หรือช่วยให้นักเรียนนักศึกษาที่ดูหนังสือเตรียมสอบไล่ไม่รู้สึกง่วงหรืออ่อนเพลีย ปัจจุบันนี้ทุกท่านคงได้ประจักษ์กันโดยทั่วไปถึงพิษสงของยาบ้ากันแล้วว่าร้ายแรงเพียงใด
สำหรับการพนัน แม้จะทำให้ผู้แพ้เป็นทุกข์ บางคนถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัวก็ตาม แต่ก็ยังมีนักการพนันปลอบใจกันว่า ถ้าวันใดโชคดีก็อาจเป็นเศรษฐีร่ำรวยได้ และวันนั้นนักการพนันที่มีหนี้สินก็จะสามารถปลอดหนี้สินลงได้
อาจกล่าวได้ว่า ความหลงผิดเป็นมิจฉาทิฏฐินั่นเอง ที่ทำให้ผู้คนไม่น้อยหลงเชื่อคำโฆษณา หรือคิดเอาเองว่าอบายมุขมิได้มีแต่โทษภัยอย่างเดียว แต่ทว่ายังมีคุณอยู่เหมือนกัน
๓) พัวพันเกี่ยวข้องอบายมุข ผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับอบายมุข อาจแยกออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ ๑) ผู้คนที่เข้าไปหาความสนุกสนานกับอบายมุข ๒) ผู้ที่ทำธุรกิจอบายมุข
ถามว่าคน ๒ ประเภทนี้ ใครเลวกว่ากัน?
ถ้ายึดเอาความคิดเป็นเกณฑ์มาตรฐาน ตอบได้ว่าคนทั้ง ๒ ประเภทมีความคิดมิจฉาทิฏฐิเหมือนกัน ถ้ามองในแง่เศรษฐกิจ ประเภทแรกทำลายเศรษฐกิจของตนโดยตรง และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติบ้านเมืองต่อไป สวนประเภทที่ ๒ แม้ตนเองอาจจะร่ำรวย แต่ทำลายทั้งเศรษฐกิจและคุณธรรมของผู้คนในสังคมโดยรวม แต่ในแง่ของกฎแห่งกรรมนั้นทั้ง ๒ ประเภท มีแนวโน้มที่จะต้องไปสู่ทุคติ การไปสู่สุคตินั้นอาจจะหมดหวัง
๔. เพื่อนขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อทิศ ๖ และต่อสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ
ถ้าเพื่อนขาดอริยวินัย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ผลเสียที่จะเกิดขึ้นประการที่ ๔ คือ เพื่อนจะขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อทิศ ๖ และต่อสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ
ก. เพื่อนขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อทิศ ๖ คือ ขาดปฏิสัมพันธ์อันดีกับทิศ ๖ ซึ่งจะมีลักษณะนิสัย และแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นอย่างน้อย ๓ ประการ คือ
๑) ขาดความนับถือผู้อื่น บุคคลที่ได้รับประสบการณ์ในด้านเลวร้ายจากเพื่อนที่เป็นมิตรเทียมในสมัยที่ยังเป็นเด็ก หรือเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม จะเกิดทัศนคติในเชิงลงไม่เฉพาะต่อผู้ที่เป็นมิตรเทียมเท่านั้น แต่ยังอาจจะมีทัศนคติในเชิงลงต่อบุคคลอื่นๆ โดยทั่วไปอีกด้วย พฤติกรรมเลวร้ายของมิตรเทียมนั้นอาจจะมีอยู่มากมาย แต่ประสบการณ์ที่บุคคลได้รับจากพฤติกรรมของมิตรเทียมแม้เพียงอย่างเดียว ก็อาจจะทำให้เขารู้สึกเสียใจ ผิดหวัง รังเกียจ โกรธเคือง หรือเคียดแค้นจนกลายเป็นความรู้สึกฝังใจที่ลืมไม่ได้ และทำให้เกิดทัศนคติว่า ความเป็นมิตรแท้ไม่มีในโลก นั่นคือในโลกนี้ล้วนมีแต่คนเลว จึงไม่มีความนับถือผู้อื่น ไม่มีความคิดที่จะค้นหาคุณความดีของผู้อื่น มีแต่จะคอยจ้องจับผิดผู้อื่นอยู่เป็นประจำ ไม่เว้นแม้แต่ผู้มีพระคุณต่อตน
บุคคลที่มองไม่เห็นความดีของผู้อื่น ในที่สุดก็จะกลายเป็นคนหลงตัวเอง คิดเข้าข้างตัวเองว่าตนวิเศษกว่าใครๆ และดูหมิ่นดูแคลนผู้อื่น ความคิดมิจฉาทิฏฐิเช่นนี้ย่อมทำให้เขาประพฤติปฏิบัติตนไม่ถูกต้องตาทำนองคลองธรรม
๒) ปากกล้าไม่เกรงกลัวใคร เพราะเหตุที่ขาดความเคารพนับถือผู้อื่น หลงคิดว่าตัวเองวิเศษกว่าใครๆ บุคคลประเภทนี้จึงพูดจาแบบขวานผ่าซาก ไม่ยกย่องให้เกียรติใคร ไม่รักษาน้ำใจใคร นึกอยากจะพูดอะไรก็พูดออกมาตามอารมณ์ ไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบว่า คำพูดนั้นอาจจะเป็นการสร้างศัตรู หรือเกิดผลสะท้อนกลับมาทำลายตนในภายหลัง เช่นพูดขัดคอหรือพูดหักหน้า พูดใส่หน้า หยามน้ำหน้า เยาะเย้ย ถากถาง พูดสำทับเพื่อซ้ำเติมผู้ที่พลาดพลั้ง เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็จะพูดจาแบบยกตนขึ้นเหนือลมจนเป็นนิสัย