ปุณณปาติกชาดก ชาดกว่าด้วยความฉลาดทันคน

วันที่ 05 ธค. พ.ศ.2565

 

ข้อคิดจากชาดก  ปุณณปาติกชาดก ชาดกว่าด้วยความฉลาดทันคน

ข้อคิดจากชาดก

ปุณณปาติกชาดก
ชาดกว่าด้วยความฉลาดทันคน

สถานที่ตรัสชาดก

      เชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี

 



สาเหตุที่ตรัสชาดก

      ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล ณ นครสาวัตถี มีนักเลงขี้เหล้ากลุ่มหนึ่ง นั่งล้อมวงดื่มเหล้าเมาเป็นอาจิณ ไม่คิดทำการงานใดๆ ได้แต่เบียดเบียนครอบครัว หรือไม่ก็หลอกลวงชาวบ้าน ตัดช่องย่องเบาหาเงินมาดื่มเหล้ากัน

 

      วันหนึ่งเงินที่มีไว้ซื้อเหล้าใกล้จะหมดลง พวกขี้เหล้าจึงปรึกษากันเพื่อหาเงินมาซื้อเหล้า ขี้เหล้าคนหนึ่งเสนอขึ้นมาว่า ให้หาอุบายมอมเหล้าอนาถบิณฑิกเศรษฐี เมื่อท่านหมดสติแล้ว จึงปลดเครื่องแต่งตัวของท่านไปขายเอาเงินมาซื้อเหล้าดื่มกัน

 

      เช้าวันรุ่งขึ้น พวกขี้เหล้าก็นำยาเบื่อผสมลงในไหเหล้าแล้วตั้งไว้ พร้อมกับนั่งล้อมวงทำทีเป็นดื่มเหล้ากันตามปกติ รอท่าอนาถบิณฑิกเศรษฐีเดินผ่านมา

 

      คนพวกนี้ถึงแม้จะพบเห็นท่านเศรษฐีบ่อยๆ ก็ไม่เคยรู้ว่าท่านเป็นพระโสดาบันแล้ว ย่อมมีศีล ๕ มั่นคง ไม่ดื่มสุราทุกประเภท แม้จะใช้ผสมยาก็ตาม ยิ่งกว่านั้น ท่านยังมีศรัทธามั่นคงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หมดความถือตัว แต่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เป็นนิจ

 

      ไม่นานนักหลังจากท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กลับจากเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินได้เดินผ่านมา ขี้เหล้าคนหนึ่งรีบกระวีกระวาดออกไปต้อนรับ พลางกล่าวเชิญชวนท่านด้วยอาการพินอบพิเทา ให้ท่านร่วมวงดื่มเหล้าด้วย

 

      ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เมื่อถูกชวนก็นึกเฉลียวใจว่า ต้องมีอะไรแอบแฝง เพราะคนพวกนี้ถึงแม้จะเห็นท่านบ่อยๆ ก็ไม่เคยทักทาย หรือเอ่ยปากชักชวนให้ดื่มเหล้าด้วยเลยสักครั้ง ท่านเศรษฐีคิดว่า เจ้าขี้เหล้าพวกนี้มีความคิดไม่ชอบมาพากล เห็นทีจะปล่อยไว้ไม่ได้ จึงทำทีเดินเข้าไปใกล้ๆ วงเหล้า ชำเลืองดูกิริยาอาการของขี้เหล้าพวกนี้ แล้วตะคอกขึ้นว่า

 

      “ เจ้าพวกขี้เหล้า เจ้าเอายาเบื่อผสมเหล้า มาหลอกให้เราดื่ม เพื่อจะได้ปลดทรัพย์เรา ชะ.. ชะ.. คุยอวดว่าเหล้าดี ถ้าดีจริง ทำไมพวกเจ้าไม่ยกดื่มล่ะ เจ้าพวกนี้คิดกำเริบนัก เห็นทีจะต้องให้ถูกลงโทษเสียบ้างล่ะ”

 

      เมื่อพวกขี้เหล้าเห็นว่า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีรู้ทันอุบายของตน ทั้งยังคิดจะลงโทษอีกด้วยก็ยิ่งตกใจ รีบเผ่นหนีไปคนละทิศละทางทันที

 

      เมื่อท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีไล่พวกขี้เหล้าอันธพาลไปแล้ว ก็คิดว่าน่าจะนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ทรงฟังแล้ว จึงตรัสเล่าชาดกดังนี้

 

 

เนื้อหาชาดก

 

      ในอดีตกาล สมัยเมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติ ณ กรุงพาราณสี ในครั้งนั้น ท่านเศรษฐีเมืองพาราณสีกำลังเดินไปเข้าเฝ้าพระราชาตามปกติ นักเลงขี้เหล้ากลุ่มหนึ่งวางแผนจะปลดทรัพย์ท่านเศรษฐี จึงส่งพรรคพวกคนหนึ่งเข้าไปทักทาย แล้วชวนไปดื่มเหล้าที่พวกตนผสมยาพิษเอาไว้

 

      ท่านเศรษฐีนั้น ความจริงก็ไม่อยากสุงสิงกับพวกขี้เหล้า แต่ใจหนึ่งก็อยากรู้ว่าพวกนี้จะมีเล่ห์เหลี่ยมอะไร จึงคิดหาทางดัดสันดานให้เข็ดหลาบ เลิกประพฤติชั่วเช่นนั้นอีก ท่านจึงเดินตามขี้เหล้าคนนั้นไป เมื่อถึงวงเหล้าท่านชำเลืองดูไหเหล้า แล้วกล่าวว่าท่านจะต้องไปเข้าเฝ้าพระราชา ขากลับจึงจะแวะมาดื่มด้วย

 

      พวกนักเลงสุราคิดว่าท่านเศรษฐีหลงกลพวกตนแน่แล้ว ก็ตระเตรียมจัดสุรา และกับแกล้มไว้รอต้อนรับอย่างเต็มที่ ครั้นท่านเศรษฐีกลับจากเฝ้าพระราชาผ่านมาถึง พวกนักเลงก็กุลีกุจอต้อนรับอย่างแข็งขัน ท่านเศรษฐีนั่งลงแล้ว ก็ชะโงกหน้ามองลงในไหเหล้า แล้วพูดยิ้มๆ ว่า

 

      “ สหาย.. เราไปตั้งนานแล้ว เหล้าในไหของท่านยังไม่พร่องไปเลย พวกท่านคุยว่าเหล้านี้รสเลิศนัก ทำไมจึงไม่ยอมดื่มกัน”

 

      แล้วก็ตวาดว่า “ พวกเจ้าเอายาพิษใส่ลงไปด้วย ใช่ไหม?!!! พวกเจ้ากำเริบถึงกับคิดฆ่าข้าเชียวเรอะ ข้าจะไปกราบทูลพระราชา ให้ส่งทหารมาจับพวกเจ้าไปลงโทษเสียให้หมด”

 

      พวกนักเลงสุราถึงกับสะดุ้ง ตกตะลึงเพราะคิดไม่ถึงว่าท่านเศรษฐีจะรู้ทันพวกตน ต่างอ้อนวอนขอให้ท่านเศรษฐียกโทษให้ พร้อมกับรับปากท่านเศรษฐีว่าจะเลิกดื่มเหล้า

 

      ท่านเศรษฐีก็พูดสั่งสอนให้รู้ผิดชอบชั่วดี พร้อมทั้งคาดโทษไว้อย่างหนัก แล้วจึงปล่อยตัวไป

 

ประชุมชาดก

 

      เมื่อพระบรมศาสดาทรงแสดง ปุณณปาติชาดก จบแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า

 

      พวกนักเลงสุรา   ได้มาเป็น  นักเลงสุราในครั้งนี้

 

      ท่านเศรษฐี   ได้มาเป็น   พระองค์เอง  

 

 

ข้อคิดจากชาดก

 

      ๑ . ถึงแม้เราจะไม่ต้องการก่อเวรกับคนพาลเลย แต่คนพาลก็มักจ้องหาเรื่องก่อกวนเราอยู่เรื่อยๆ อย่าคิดว่าเมื่อเป็นคนดีมีศีลธรรมแล้ว คนพาลจะไม่รบกวน

 

      ๒ . คนที่สามารถจะระวังป้องกันภัยไว้ล่วงหน้าได้ ต้องเป็นคนช่างสังเกต ฉลาดในการจับพิรุธคน ซึ่งความสามารถอย่างนี้พอฝึกกันได้

 

      ๓ . คนที่ถูกหลอกลวงได้ง่าย ส่วนมากมีพื้นนิสัยเป็นคนมักโลภ มักโกรธ มักหลง
 
      คนโลภ คือ คนที่มักอยากได้ของคนอื่นในทางมิชอบ เห็นแก่ได้ ดังเช่นปลาติดเบ็ดเพราะเห็นแก่เหยื่อ คนถูกหลอกลวงต้มตุ๋น เพราะอยากได้ของที่เขาเอามาล่อ

 

      คนเจ้าโทสะ คือ คนที่พอถูกยั่วให้โกรธ ก็ขาดสติพิจารณา ถูกหลอกให้ทำร้ายกันเอง เหมือนนกต่อถูกต่อเพราะเจ้าโทสะ เข้าไปตีกับนกที่เขาเอามาล่อ จึงติดกับดัก

 

      คนมักหลง ติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส มักขาดเหตุผล งมงาย โบราณจึงเตือนว่า “ จะเชื่อก็เชื่อเถิด แต่อย่าเพิ่งไว้ใจ จะรักก็รักเถิด แต่อย่าถึงกับหลงใหล”

 

อธิบายศัพท์

 

( ปุณณปาติกชาดก อ่านว่า ปุน- นะ- ปา- ติ- กะ- ชา- ดก)

 

ปุณณปาติ แปลว่า ภาชนะที่เต็ม
 
นิทานชาดก ปุณณปาติกชาดก ชาดกว่าด้วยความฉลาดทันคน เศรษฐี ขี้เหล้า การ์ตูน

 

ข้อคิดจากชาดก
ปุณณปาติกชาดก
ชาดกว่าด้วยความฉลาดทันคน

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0067525823911031 Mins