ข้อคิดจากชาดก
ตักกชาดก
ชาดกว่าด้วยเล่ห์เหลี่ยมของหญิงเจ้าชู้
สถานที่ตรัสชาดก
เชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี
สาเหตุที่ตรัสชาดก
พระภิกษุรูปหนึ่ง บังเกิดความพอใจสตรีนางหนึ่ง จิตใจจึงร้อนรุ่มกระวนกระวายเหมือนถูกไฟแผดเผา เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องนี้ จึงตรัสเรียกภิกษุมาสอบถาม เมื่อทรงทราบความจริงแล้ว ทรงระลึกชาติด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณนำ ตักกชาดก มาตรัสเล่า ดังนี้
เนื้อหาชาดก
ในอดีตกาล ณ กรุงพาราณสี เศรษฐีผู้หนึ่งมีธิดาสาวหน้าตางดงาม แต่ทว่านางเป็นคนเจ้าอารมณ์ ปากร้าย มือไว นางมักด่าว่าทุบตีบ่าวไพร่ให้เจ็บและอายอยู่เสมอ บ่าวไพร่ทุกคนจึงดีต่อนางเฉพาะต่อหน้าเท่านั้น วันหนึ่งธิดาเศรษฐีและบริวารพากันไปเล่นน้ำที่แม่น้ำ ขณะนั้นมีเมฆฝนได้ตั้งเค้าขึ้นอย่างรวดเร็ว บ่าวไพร่ต่างรีบขึ้นจากน้ำกลับเรือน โดยไม่มีใครห่วงนายสาวของตน จนค่ำมืดแล้วธิดาเศรษฐียังไม่กลับ เศรษฐีจึงระดมบ่าวไพร่ทั้งหลายออกค้นหานางด้วยความห่วงใย
ฝ่ายธิดาเศรษฐีถูกกระแสน้ำพัดไหลลงไปยังป่าแห่งหนึ่ง นางได้ลอยมาถึงหน้าศาลาของฤาษีหนุ่ม ฤาษีได้ยินเสียงนางจึงถือคบหญ้าออกมาดู และได้ช่วยนางขึ้นจากน้ำ ได้ให้นางนอนในศาลา ส่วนท่านนอนข้างนอก วันรุ่งขึ้นท่านจัดหาผลไม้เลี้ยง เพื่อให้นางมีกำลังแล้วจะได้เดินทางกลับ แต่นางอยู่ต่อโดยอ้างว่ายังไม่หายอ่อนเพลีย
ธิดาเศรษฐีนั้นเกิดความพึงพอใจฤาษีหนุ่ม จึงใช้มารยาหญิงเข้าไปพูดจาด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน ถูกเนื้อต้องตัว ฤาษีหนุ่มแม้จะมีฤทธิ์แต่ก็ยังพ่ายแพ้ต่ออำนาจของสตรี จึงได้นางเป็นภรรยา ต่อมาธิดาเศรษฐีขอให้ท่านพาไปอยู่ในเมือง ทั้งสองจึงได้ไปปลูกกระท่อมอยู่ที่หมู่บ้านชายแดน ชายหนุ่มได้ยึดอาชีพเป็นพ่อค้าขายเปรียง แล้วยังอบรมสั่งสอนให้ชาวบ้านรู้ผิดชอบชั่วดี บุญบาป ชาวบ้านทั้งหลายต่างให้ความเคารพยกย่อง พากันเรียกว่า ตักกบัณฑิต
ต่อมา ได้มีโจรป่าบุกเข้ามาปล้นสะดมในหมู่บ้าน พวกโจรบังคับให้ชาวบ้านช่วยกันขนทรัพย์ไปส่งที่ชายป่า แล้วก็ไล่ชาวบ้านกลับ ขณะนั้นหัวหน้าโจรเห็นธิดาเศรษฐีจึงพานางไปเป็นภรรยา นางอยู่กับนายโจรอย่างมีความสุข จนนางไม่ต้องการกลับไปอยู่กับตักกบัณฑิตอีก จึงคิดหาทางกำจัดเขา โดยให้คนส่งข่าวแก่เขาว่าขอให้มาพานางหนี
ตักกบัณฑิตลอบเข้ามาตามอุบายที่นางวางไว้ให้ นางพาเขาไปซ่อนตัวในยุ้งข้าว แล้วนางก็เข้าไปบอกนายโจรว่ามีศัตรูอยู่ที่ยุ้งข้าว นายโจรคว้าดาบเข้าไปดู เมื่อเห็นตักกบัณฑิตก็กระชากเหวี่ยงลงบนลาน สั่งให้สมุนซ้อมแล้วนำแส้มาโบย ทุกครั้งที่แส้กระทบหลังเขาจะกล่าว ๔ คำคือ ขี้โกรธ อกตัญญู ชอบส่อเสียด ประทุษร้ายมิตร นายโจรกำลังโกรธจัด จึงไม่ใส่ใจฟังปล่อยให้สมุนเฆี่ยน ตนเองก็สุราดื่มจนหลับไป
ครั้นรุ่งเช้าพอสร่างเมาแล้ว จึงให้โบยตักกบัณฑิตอีก เขาก็ยังร้องแต่เพียง ๔ คำนี้เท่านั้น นายโจรจึงสั่งให้หยุดโบย แล้วถามความเป็นมาของทั้ง ๔ คำนั้น ตักกบัณฑิตจึงเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้นายโจรฟัง นายโจรคิดว่านางเป็นคนอกตัญญู ต่อไปนางคงคิดฆ่าตนได้เหมือนกัน นายโจรจึงไปนำตัวนางมา บอกให้นางจับมือตักกบัณฑิตไว้ เขาทำทีเหมือนจะฟันตักกบัณฑิต แล้วเงื้อดาบฟันนางขาดสองท่อนในนาทีนั้น
นายโจรทำแผลให้ตักกบัณฑิต แล้วจึงขอขมา ตักกบัณฑิตให้อภัย และสอนหลักธรรมให้นายโจร แล้วตักกบัณฑิตก็ตั้งใจจะเดินทางไปบวชเป็นฤาษี บำเพ็ญภาวนา นายโจรจึงขอติดตามไปด้วย ทั้งสองบวชเป็นฤาษีด้วยกัน บำเพ็ญภาวนาได้สำเร็จอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ เมื่อสิ้นชีวิตละโลกแล้วได้ไปเกิดในพรหมโลกทั้งคู่
ประชุมชาดก
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสตักกชาดกจบแล้ว พระพุทธองค์ทรงแสดงอริยสัจสี่โดยอเนกปริยาย เมื่อจบอริยสัจ พระภิกษุนี้สามารถบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน
พระพุทธองค์ทรงประชุมชาดกว่า
นายโจร ในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอานนท์
ตักกบัณฑิต ในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระองค์เอง
ข้อคิดจากชาดก
๑. การเลี้ยงดูบ่าวไพร่ ควรให้ความเมตตาตามสมควร ความหยาบคายร้ายกาจข่มขี่บ่าวไพร่ตามอำเภอใจ อาจเกิดผลร้ายแก่ตนในภายหลัง
๒. เมื่อตั้งใจฝึกสมาธิเพื่อบรรลุธรรม อย่าท้อถอยเบื่อหน่าย แม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนานเพียงไรก็อย่าสิ้นหวัง อย่าคิดว่าตนบุญน้อยหรือวาสนาไม่ถึง เพราะแม้แต่คนที่เคยเป็นโจร เมื่อกลับตัวตั้งใจประพฤติธรรมอย่างแน่วแน่ ก็ยังสามารถทำสมาธิจนบรรลุฌานได้
๓. ขึ้นชื่อว่าคนมีความรู้ความสามารถ เป็นบัณฑิต ไปที่ใดย่อมมีผู้อุปถัมภ์ค้ำชูเสมอ ย่อมไม่ตกไปสู่ที่ชั่ว ตรงกันข้ามกับคนหยาบคาย ร้ายกาจ ถึงอยู่ที่สูงก็ย่อมตกลงสู่ที่ชั่วจนได้
ข้อคิดจากชาดก
ตักกชาดก
ชาดกว่าด้วยเล่ห์เหลี่ยมของหญิงเจ้าชู้