..กระแส “ธุรกิจสีเทา”กับเสียงสะท้อนของเยาวชน

วันที่ 13 มีค. พ.ศ.2548

 


.....ในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวเด่นอันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้นเรื่อง เสียงคัดค้านหุ้น บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจส์ จำกัด ( มหาชน) หรือ “ เบียร์ช้าง” เข้าตลาดหลักทรัพย์ กลายเป็นประเด็นเผือกร้อนที่อยู่ในมือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ( ตลท.) ซึ่งจะต้องเป็นองค์กรที่ตัดสินว่าจะเอาหุ้นตัวนี้เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเพิ่มสินค้าตัวใหม่ไปดันมูลค่าราคาตลาดรวม (Market cap) ให้โต หรือจะยอมถูกประชาชนหลายกลุ่มต่อว่า ว่า มอมเมาชาวบ้าน

 

        ตามหลักการแล้ว บริษัทที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อต้องการนำเงินประชาชนไปเป็นทุนในการขยายธุรกิจให้กว้างขวางขึ้น และมีกำไรกลับคืนมา ถือว่าเป็นการระดมทุนต่ำเมื่อเทียบกับการกู้ยืมเงิน และยิ่งวันนี้ทุกคนรู้ว่าดอกเบี้ยจะต้องขึ้นกลางปี ฉะนั้นการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงเป็นช่องทางที่ดีที่สุดในเวลานี้ แลกกับการยอมทำตัวโปร่งใส เปิดเผยข้อมูล ปฏิบัติตัวตามกฎตลาดหลักทรัพย์ฯ และยอมเสียภาษีอย่างถูกต้อง

 

         แต่อีกมุมมองหนึ่งในด้านผลกระทบของการขยายผลน้ำเมาเข้าสู่สังคมนั้น ย่อมทำได้ง่ายขึ้น ความจริงถ้าเปรียบเรื่องหุ้นเบียร์ช้างกับหวยบนดิน คงไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะเข้าลักษณะผิดศีลธรรมเหมือนกัน บอร์ดตลาดหลักทรัพย์หลายคน เช่น คุณอนันต์ อัศวโภคิน เศรษฐีหุ้นอันดับ ๓ ให้ความเห็นว่า

 

        “ ถ้าบอร์ดตลาดอนุญาตให้เข้าตลาด จะก่อให้เกิดผลเสียต่อบ้านเมืองมากมาย เกินกว่าผลทางเศรษฐกิจที่จะได้รับ ประชาชนต้องช่วยกันท้วงติง และความจริงแล้วตลาดหลักทรัพย์ฯ มีเกณฑ์เดิมกำหนดไว้ คือ ห้ามธุรกิจค้าอาวุธ การพนัน บุหรี่ สถานบริการอาบ อบ นวด และการค้าเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์เข้าตลาดหลักทรัพย์”

 

         ทั้ง ๒ ทางเลือกนี้ เป็นโจทย์ใหญ่ที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องตัดสินใจเลือกหาจุดยืนให้เหมาะสม เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการชี้แจงว่า บอร์ด ก. ล. ต. ชุดก่อนได้อนุมัติให้เข้าระดมทุนได้ แต่การระดมทุนไม่ได้เหมารวมว่าจะต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์เสมอไป

 

         หลังจากฟังกระแสเสียงผู้ใหญ่ในหลายวงการมาพอสมควร วันนี้เรามาลองฟังความคิดเห็นของเยาวชนกันบ้าง ในฐานะกลุ่มบุคคลที่ไม่มีผลประโยชน์ด้านธุรกิจการเงินโดยตรง แต่เรื่องนี้มีผลกระทบกับพวกเขาในด้านไหน และอย่างไร

 

อิสรางค์ สว่างดี ( กิ๊ก) คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

       “ ไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอนค่ะ เรื่องการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าตลาดหลักทรัพย์ เหล้าเบียร์นำมาซึ่งปัญหาสังคมมากมาย เป็นต้นว่า วัยรุ่นที่กระทำความผิดในคดีข่มขืนส่วนใหญ่เกิดจากความมึนเมาทั้งสิ้น หากสังคมไทยในอนาคตอันใกล้ ไม่ต้องมากค่ะ แค่เพียง ๑ ปี มีวัยรุ่นที่ดื่มแอลกอฮอล์ 85% ขึ้นไป ซึ่งเป็นไปได้แน่นอนค่ะ เพราะทุกวันนี้ก็มีอัตราการเพิ่มขึ้นของคนเมาอย่างก้าวกระโดดเป็นเท่าตัวอยู่แล้ว แล้วลองนึกดูสิค่ะว่า พวกเราทุกคนจะต้องกังวลกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินกันอีกมากแค่ไหน เป็นห่วงพี่สาว น้องสาว หลานสาว รวมถึงผู้หญิงอย่างตัวเราเองในยามค่ำคืนกันมากขึ้น จึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะที่จะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อหวังผลเพียงเม็ดเงินเพียงอย่างเดียว “

 

รมย์ สุทธิ์สว่าง ( รมย์) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

        “ ในชีวิตประจำวันของดิฉันมองเห็นผลเสียจากการดื่มน้ำเมามากมายค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ญาติ คนรู้จัก ร้ายแรงขนาดเสียชีวิตก็มี จึงไม่เห็นด้วยกับการเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะจะทำให้หาซื้อได้ง่ายขึ้น ราคาถูกลง เด็กไทยจะมองการดื่มเหล้าเป็นค่านิยมที่ถูกต้อง เพราะผู้ใหญ่ยังให้การสนับสนุน การหวังผลกำไรอย่างเดียวดิฉันว่าไม่พอค่ะ ทุกวันนี้ประเทศไทยของเราก็ได้ชื่อว่า มีคนเมามากเป็นอันดับ ๕ ของโลกอยู่แล้ว ไม่น่าภูมิใจตรงไหนเลย หากขยายผลให้มากขึ้น จะมีปัญหาอุบัติเหตุ ปัญหาอาชญากรรม ตามมาอีกมาก จึงขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยกันพิจารณาถึงผลได้และผลเสียให้ดีค่ะ”

 

วันทพล งามดี คณะวิทยาศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

        “ คนที่ทะเลาะวิวาทจนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย และเสียชีวิต ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ทั้งนั้นครับ ลองมองดูรอบตัวเราทุกคนก็ได้ คนเราเมื่อขาดสติแล้วก็ทำความชั่วได้ทุกอย่าง เพราะไม่รู้ตัว และเหล้าเบียร์เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คนเราไม่มีสติ เท่ากับประมาทในทุกๆ เรื่อง ผมว่าต้องช่วยกันแก้ไขกันทั้งสองทางครับ คือ ทั้งผู้เสนอ และ ผู้สนอง โดย

๑ . ผู้เสนอ คือผู้ผลิตสุรา เบียร์ เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ต้องลด หรือ เลิกการผลิตไปเลยจะดีที่สุด โดยสามารถแปลงไปเป็นธุรกิจพลังงานอื่นๆ ได้ไม่ยากครับ

๒ . ผู้สนอง คือผู้เสพ ต้องช่วยกันรณรงค์กันให้เห็นโทษภัยของสิ่งเสพติด การที่ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ชี้แจงว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลนั้น ผมว่าไม่ถูกต้อง เพราะเรื่องนี้มีผลกระทบต่อส่วนรวมอย่างกว้างขวาง ลองคิดดูว่าถ้ามีผู้เสพสุรา เมาแล้วขับ ชนเพื่อนคุณ ญาติคุณ รวมไปถึงตัวคุณตายหรือพิการ คุณว่ามันยังเป็นเรื่องส่วนตัวอยู่หรือเปล่าครับ หรือไม่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตเบียร์เลย เพราะความจริงคือสิ่งแวดล้อมทุกอย่างมีผลเกี่ยวเนื่องและส่งเสริมกันเป็นวงจรทั้งสิ้น ไม่มีอะไรไม่ส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน แม้แต่อากาศที่เราหายใจ”

 

ศศินิภา พิมทอง ( หนูเล็ก) คณะบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวลัยอลงกรณ์

         “ ขอให้อย่าเห็นแก่ประโยชน์เพียงแค่เม็ดเงินค่ะ ขอให้ดูผลเสียที่จะตามมาอย่างมากมายจากการขยายตลาด สร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจน้ำเมา ทั้งเรื่องความสิ้นเปลืองจากการซ่อมสุขภาพผู้เสพน้ำเมา ความสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ความวุ่นวายและเสียหายจากการทะเลาะวิวาท ความโง่เขลาเบาปัญญาจากการทำลายเซลล์สมอง ส่งผลเป็นความล้าหลังของทรัพยากรมนุษย์ และส่งผลเป็นความล้าหลังของประเทศชาติ ดิฉันว่า

ถ้ายังสนับสนุนการผลิตน้ำเมาอยู่ ก็ถือว่าเป็นขายชาติอย่างหนึ่งค่ะ แต่เป็นการขายชาติอย่างผ่อนส่ง “

คงจะไม่จบง่ายๆ กรณีที่บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจส์ จำกัด( มหาชน) ผู้ผลิตเบียร์ช้าง จะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในขณะที่หลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างหนัก ด้วยเหตุผลหลักคือ เป็นเครื่องดื่มที่ผิดศีลธรรมและทำลายสุขภาพ จะก่อให้เกิดผลเสียต่อบ้านเมืองมากกว่าผลดีทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในวงการเมืองเห็นว่า ถ้าหุ้นเบียร์ช้างเข้าตลาดหุ้น จะมีมูลค่าราคาตลาดรวม (Market cap) ตั้งแต่ ๒. ๕- ๓ แสนล้านบาท ใหญ่เป็นอันดับ ๔ รองจาก ๓ หุ้นยักษ์ คือ ปตท. แอดวานซ์ อินโฟร์ และปูนใหญ่ทีเดียว และวันนี้ประเทศไทยมีธุรกิจหลักใหญ่ๆ อนาคตสดใส คือ ธุรกิจสื่อสารของตระกูลการเมืองอันยิ่งใหญ่ หากเอาหุ้นเบียร์ช้างเข้าตลาดหุ้น ย่อมจะทำให้หุ้นช้างกลายเป็นหุ้นพญาช้างสาร เทียบชั้นชินคอร์ปของท่านผู้นำได้เลยทีเดียว

 

จึงทำให้ ณ วินาทีนี้ อยู่ในดุลพินิจของคนไทยทั้งประเทศ

ว่าจะเห็นแก่ผลเสียของตนเองจริงๆ … หรือวางเฉย !

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011199514071147 Mins