แอลกอฮอล์

วันที่ 01 พย. พ.ศ.2548

 

            

       

                

     แอลกอฮอล์เป็นของเหลวไม่มีสี แอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มมึนเมาคือเอธิลแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมึนเมาชนิดต่างๆ เช่น เหล้า เบียร์ วิสกี้ บรั่นดี จะมีปริมาณของเอธิลแอลกอฮอล์แตกต่างกัน เอทานอลหรือเอทิลแอลกอฮอล์ เป็นแอลกอฮอล์ที่ได้จากการแปรรูปจากพืชจำพวกแป้งและน้ำตาล เช่น อ้อย ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ฤทธิ์ในทางเสพติดของแอลกอฮอล์คือ ออกฤทธิ์กดประสาท มีการเสพติดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทั้งเบียร์และสุราเป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ มีคุณค่าทางอาหารต่ำแต่มีแคลอรี่สูง เบียร์แตกต่างจากสุราที่ปริมาณแอลกอฮอล์และกรรมวิธีในการผลิต เบียร์ทำโดยการหมักข้าวบาร์เลย์งอกโดยไม่ได้กลั่น มีปริมาณแอลกอฮอล์น้อย ประมาณ 4 - 6% โดยปริมาตร ส่วนสุราชนิดต่าง เช่น วิสกี้ บรั่นดี วอดก้า แม่โขง เป็นเหล้าชนิดกลั่นมีปริมาณแอลกอฮอล์สูงกว่า ประมาณ 40 - 50% โดยปริมาตร

     แอลกอฮอล์ที่ได้จากการหมักส่าจะเป็นเอธิลแอลกอฮอล์ประมาณ 9-10% การกลั่นแยกแอลกอฮอล์จากส่าทำได้โดยอาศัยความร้อนจากไอน้ำ เพื่อแยกเอาแอลกอฮอล์ซึ่งมีจุดเดือดต่ำกว่าน้ำให้ระเหยกลายเป็นไอ แล้วจึงนำไอแอลกอฮอล์ที่ได้ส่งเข้าเครื่องควบแน่นทำให้ไอเป็นของเหลว จุดเดือดของแอลกอฮอล์อยู่ที่ 78.3 ํซ. ส่วนจุดเดือดของน้ำเท่ากับ 100 ํซ. การให้ความร้อนแก่น้ำส่าด้วยไอน้ำทำให้แอลกอฮอล์ในน้ำส่าระเหยกลายเป็นไอ แต่ก็จะมีน้ำระเหยปนขึ้นมาพร้อมกับไอแอลกอฮอล์ด้วย ซึ่งความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในไอจะเข้มข้นกว่าในของเหลว การที่จะกลั่นให้ได้แอลกอฮอล์เปอร์เซ็นต์สูง ๆ นั้น ต้องทำให้แอลกอฮอล์ระเหยและควบแน่นหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งความเข้มข้นของแอลกอฮอล์จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ภายในหอกลั่นจึงทำเป็นหลายชั้น แต่ละชั้นเหมือนกับการทำให้ระเหยและควบแน่นหนึ่งครั้ง การกลั่นโดยใช้หอกลั่นจึงทำให้ได้แอลกอฮอล์ความเข้มข้นสูงได้โดยกลั่นเพียงครั้งเดียว แต่ก็ไม่สามารถกลั่นให้ได้ความเข้มข้นถึง 100% เพราะเมื่อกลั่นจนแอลกอฮอล์ประมาณ 96% ความเข้มข้นของไอแอลกอฮอล์ที่ระเหยออกมาจากของเหลวจะเท่ากับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในของเหลว จึงทำให้ไม่สามารถกลั่นแยกแอลกอฮอล์ให้ได้ความเข้มข้นถึง 100% ได้

     การดื่มเหล้าดองจะมีโทษจากการที่ดื่มแอลกอฮอล์นั่นเอง เหล้าที่ใช้ในการดองยา คือเหล้าขาว เหล้าจีน ซึ่งมีปริมาณแอลกอฮอล์สูง ถ้าดื่มในปริมาณน้อยๆ จะให้เจริญอาหารและช่วยให้ย่อยอาหารดีขึ้น ถ้าดื่มมากเกินไปจะระคายเคืองกระเพาะอาหาร และอาจเกิดกระเพาะอักเสบหรือเป็นแผลในกระเพาะ นอกจากนี้หญิงหลังคลอดจะมีอัตราการเปลี่ยนสภาพแอลกอฮอล์และขจัดแอลกอฮอล์ได้น้อยเพราะตับทำงานได้น้อยกว่าคนปกติ อาจเกิดอันตรายจากระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่สูงเกินไป และอาจเกิดการเสพติดทั้งทางร่างกายและจิตใจ อาจเกิดเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง นอกจากนั้นการใช้เหล้าดองสมุนไพรนานๆ อาจสกัดเอาสารที่ไม่มีประโยชน์หรืออาจเป็นพิษออกมาด้วย

     ถ้าดื่มมากๆ จะกัดกระเพาะอาหารเกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ความรู้สึกนึกคิดผิดไป ควบคุมตนเองไม่ได้ ไม่สามารถยับยั้งตนเองจึงอาจแสดงอาการบางอย่างออกมา เช่น ดุร้าย ทะเลาะวิวาท พูดมาก นอกจากนี้ยังมีอาการหน้าแดง ตัวแดง ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นแรง ปัสสาวะบ่อย ถ้าดื่มมากขึ้นอีกจะทำให้การรับรส กลิ่น เสียง และสัมผัสลดลง คนที่เสพติดแอลกอฮอล์หรือคนที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง จะมีใบหน้าบวมฉุ หน้าแดง ตาแดง ผิวหนังคล้ำ มือสั่น ลมหายใจมีกลิ่นแอลกอฮอล์ โทษที่ได้รับจากการดื่มเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้เกิดโรคพิษสุราเรื้อรัง ทำลายตับและสมอง สติปัญญาเสื่อม ควบคุมตัวเองไม่ได้ จิตใจผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย เป็นตะคริว ปลายมือปลายเท้าชา กระเพาะอาหารอักเสบ เบื่ออาหาร ร่างกายซูบผอม และอาจเกิดโรคตับแข็งถ้าเสพติดมาก และไม่ได้เสพจะมีอาการกระวนกระวาย อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เหงื่อออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว อารมณ์ฉุนเฉียว อาจมีอาการชักประสาทหลอน เป็นโรคจิต และถ้าดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับยาที่กดประสาท เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท จะเสริมฤทธิ์กันทำให้มีอันตรายมากขึ้นได้

     ปฏิกิริยาแรกที่เกิดขึ้นทันทีที่ดื่มเหล้าแล้วแอลกอฮอล์เข้าสู่ตับเอนไซม์ในตัวคนเราจะเปลี่ยนแอลกอฮอล์เป็นสารตัวใหม่ ชื่ออะเซ็ตทัลดีไฮด์ (acetaldehyde) แล้วเปลี่ยนต่อเป็นอะซิเทต (acetate) แล้วเคลื่อนตัวไปยังสมองของต่อมควบคุมระดับเกลือและน้ำตาลในร่างกาย รวมไปถึงอวัยวะต่างๆ อีกมากมายหลายส่วน ผลจากการเคลื่อนตัวไปยังส่วนต่างๆ นี่เองทำให้ร่างกายสำแดงอาการเริ่มตั้งแต่อาการสมองโปร่งโล่งสบายในระยะแรก แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นความรู้สึกคล้ายกับถูกบีบหนักๆ ร่างกายเริ่มผิดเพี้ยน เคลื่อนไหวโซซัดโซเซ ลิ้นก็ชักจะแข็งๆ พูดจาอ้อแอ้หูอื้อตาลายและแดงกล้ำไปด้วยฤทธิ์แอลกอฮอล์บางคนถึงขนาดความจำเสื่อมไปชั่วขณะ ถ้าดื่มต่อไปอย่างยั้งไม่หยุดก็จะตามมาติดๆ ด้วยอาการคลื่นไส้อาเจียน และเกิดปฏิกิริยาผิดเพี้ยนอื่นๆ ตามมาอีกนับไม่ถ้วน

     ปฏิกิริยาต่อมาเป็นกระบวนการต่อเนื่องจากปฏิกิริยาแรก ส่งผลให้สมองเกิดการเปลี่ยนแปลง ปกติเซลล์สมองจะมีกลไกป้องกันตัวเอง โดยการเปลี่ยนแปลงผนังเซลล์ให้หนามากพอ ที่จะไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้ามาทำลาย ดังนั้นเมื่อแอลกอฮอล์เดินทางมาสู่สมองเซลล์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อป้องกันตัวเองอยู่ตลอดเวลา จนเกิดผลของอาการเมาค้างตามมาในที่สุด และปฏิกิริยาสุดท้ายเป็นกระบวนการแห้งเหือดของน้ำหรือของเหลวภายในร่างกายเพราะแอลกอฮอล์เป็นสารที่ทำให้เกิดการปลดปล่อยของเหลวในร่างกาย โดยดูดซึมและขับถ่ายในรูปปัสสาวะและยังขับสารอาหารสำคัญๆ ออกมาอีกด้วย ในร่างกายเหล่านี้หลงเหลืออยู่ในปริมาณต่ำสุด เช่น แมกนีเซียม โปตัสเสียม รวมไปถึงวิตามินต่างๆ อีกหลายชนิด เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 วิตามินซี เป็นต้น

                                                     

     ทางช่วยเหลือผู้เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังมีได้หลายวิธี เช่น การรักษาด้วยยา แพทย์อาจสั่งยาไดซัลฟิแรม (Disulfiram) หรือ แอนตาบิวส์ (Antabuse) ให้กินเป็นประจำทุกวันซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ หน้าแดง และอาการที่ไม่พึงประสงค์หลายอย่างเมื่อดื่มสุราเข้าไป วิธีนี้มักใช้ได้ผลกับผู้ที่มีความมุ่งมั่นจะเลิกสุราโดยเด็ดขาด จิตบำบัดเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้บำบัดอย่างได้ผล คนที่ติดสุรานอกจากจะเอาชนะอาการทางกายแล้วยังจะต้องต่อสู้กับปัญหาทางจิตใจด้วย ผู้ป่วยอาจจะต้องไปพบนักจิตบำบัด เพื่อขอความช่วยเหลือเฉพาะกรณีไป ผู้ที่ติดสุราอย่างรุนแรงอาจจำเป็นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อบำบัดอาการที่เกิดขึ้นจากการเลิกสุราและฟื้นฟูสุขภาพในระยะยาว ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาตัว อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความจำเป็นของผู้ป่วยแต่ละราย หลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว ผู้ป่วยมักจะได้รับการนัดหมายจากแพทย์ให้มาตรวจที่โรงพยาบาลอีก เพื่อติดตามอาการอย่างต่อเนื่องไปสักระยะหนึ่ง

 

ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.022370382150014 Mins