หลักการทำบุญ ตอน เป้าหมายชีวิต

วันที่ 24 ตค. พ.ศ.2551

 

                 การทำบุญที่ถูกวิธีตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า วิธีการพิจารณาเรื่องการทำบุญว่ามากไป น้อยไปหรือเปล่า มีหลักในการพิจารณาอยู่ ๒ ประเด็น คือ
 

๑ . บุคคลผู้นั้นมีเป้าหมายชีวิตย่างไร 

๒ . บุคคลนั้นมีความเข้าใจถึงผลแห่งบุญมากขนาดไหน  

๓ . บุคคลผู้นั้นมีเป้าหมายชีวิตย่างไร 

 

            การรู้เป้าหมายของตน   เหมือนเด็กเรียนหนังสือแล้วก็วางเป้าไว้แต่เพียงว่า ก็เรียนไปเรื่อยๆให้จบประถมแล้วก็เข้ามัธยม มัธยมก็เข้าอุดมศึกษา จบปริญญาออกมาแล้วก็ทำงานทำการ ก็พอใจอยู่แค่นั้น  ความทุ่มเทเขาก็เพียงแค่ว่า เรียนเท่าๆ กับเพื่อน เกาะกลุ่มไป เดี๋ยวก็จบ แล้วพอมีปริญญาทำงานได้ ก็แค่นั้น แต่ถ้าหากว่าเด็กคนนั้นมีเป้าหมายว่า อนาคตต้องจบด็อกเตอร์ให้ได้ ต้องเป็นนักวิชาการระดับนำของโลกให้ได้  แค่ด็อกเตอร์ก็ไม่พอต้องเป็นระดับนักวิชาการระดับเบิ้ลไพซ์  ฝากผลงานที่เลื่องลือไว้ในประวัติศาสตร์ ฝากผลงานที่มีประโยชน์ต่อมนุษยชาติไว้ให้ได้

 

             หากเขาตั้งเป้าหมายชีวิตตัวเองไว้อย่างนั้นแล้ว ตอบได้เลยว่า การเรียนหนังสือก็แค่เพียงเกาะกลุ่มเรียนไปกับเพื่อนอย่างนั้นคงไม่พอ จะต้องทุ่มชนิดเอาที่ว่า ใจจรดแล้วก็ลุยเลย  คนอื่นๆ อาจจะแค่ดูหนังสือ ทำการบ้าน ๑ ชม. ๒ ชม. แต่เด็กคนไหนมีเป้าหมายที่สูงส่งอย่างนี้แล้วล่ะก็ วันหนึ่ง นอกเหนือจากเวลาเรียนในโรงเรียนแล้ว จะดูหนังสือเพิ่มวันละ ๕ ชม. ๘ ชม. ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ มันขึ้นอยู่กับการตั้งเป้าหมายชีวิตไว้อย่างไร

 

 

            ในทำนองเดียวกัน พวกเราที่ทำบุญ  จะทำมากน้อยขนาดไหนก็อยู่ที่ว่า  ตั้งเป้าไว้อย่างไร  ถ้าหากเป็นชาวโลกทั่วไปก็ทำไปเรื่อยๆ  แล้วก็ไม่ได้มีเป้าหมายอะไรมากมาย  พอสบายใจก็ตกลงแล้ว  ถ้าคิดอย่างนี้แล้วล่ะก็  เขาก็คงทำเหมือนที่เขาทำทั่วไป  คือ  สบายใจ  สมมุติว่า มีเงินเดือนๆ หนึ่ง  รายได้ ๑ ปี  ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ บาท  แบ่งทำบุญแค่ ๑,๐๐๐ บาทเขาก็รู้สึกว่า ใช้ได้แล้วนะ  แต่ถ้าหากว่าเป็นผู้ที่ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นพระอรหันต์หมดกิเลสให้ได้ก็ต้องทุ่มเทมากขึ้น  จะเป็นพระอสีติสาวก  สาวกชั้นเอกของพระพุทธเจ้า  ก็ต้องทุ่มเทมากขึ้น  ถ้าจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องทุ่มเทหนักขึ้น  ถ้าไปดูประวัติการสร้างบารมีของพระบรมโพธิสัตว์ เป็นไง ถามว่าคนทั่วไปรับได้ไหม


            ยกตัวอย่างเช่น มีบางคราวที่พระโพธิสัตว์ทรงเห็นเสือที่กำลังหิวโส  กำลังจะไปกินกระต่าย  ห้ามยังไงก็คงไม่ฟังแน่ เพราะมันกำลังหิว  ทรงยอมเอาตัวเองให้มันกินแทนเสือจะได้อิ่มแล้วปล่อยกระต่าย  ถามว่า  ถ้ามองจากสามัญสำนึกของคนทั่วไป  ก็มองว่าอย่างนี้มันเกินไปหรือเปล่า  ทำบุญอย่างนี้ให้ทานอย่างนี้เอาชีวิตตัวเองไปเป็นทานมันมากไปไหม  ถ้าคิดอย่างคนธรรมดา  มันก็เกินไปนะ  เสียดายชีวิตตัวเอง  แต่ถ้าเกิดคิดอย่างพระบรมโพธิสัตว์  คิดอย่างผู้ปรารถนาที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าข้างหน้าแล้วล่ะก็  อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา

 

           หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ตอนที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานาคชื่อว่า ภูริทัต ตั้งใจรักษาศีลเต็มที่ มีหมองูมาจับไปทรมาน  ทั้งฟาด  ทั้งเหยียบ  ทั้งกระถืบ  กระทั่งว่ากระอักโลหิตไหลโทรมตัวทีเดียว  ก็ยอม ทั้งที่ฤทธิ์จริงของพญานาค  แค่ลืมตาดูเท่านั้นหมองูก็ไหม้เป็นจุลไปแล้ว  ยอมถูกทรมานถูกทำร้ายขนาดนั้น โดยไม่ตอบโต้เลย  ทั้งที่มีพลังเหลือเฟือ   ถ้ามองอย่างคนธรรมดาถามว่า  มันเกินไปหรือเปล่า คนสงสัยร้อยละ ๙๙.๙๙  บอกว่า โอ้ย ไม่ยอมล่ะ  เรื่องอะไรยังไงๆก็ต้องขู่หมองูหนีไปให้ได้  เรื่องอะไรจะยอมให้ตัวเองบาดเจ็บขนาดนั้น นั้นคือ  วิสัยความคิดของคนทั่วไป แต่ในวิสัยของพระบรมโพธิสัตว์ผู้ที่ตั้งใจสร้างบารมี โดยมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่จริงๆ แล้วล่ะก็มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องสำหรับพระองค์

 

 

            เพราะฉะนั้น การทำบุญมากน้อยแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า  เราตั้งเป้าหมายชีวิตของเราเองไว้อย่างไร ถ้าตั้งเป้าหมายแต่เพียงว่าก็อยู่ไปสบายอกสบายใจในชาตินี้ก็พอ  ทำบ้างนิดๆ หน่อยๆ  ละจากโลกนี้ไปนรก สวรรค์มีหรือเปล่าก็ไม่ค่อยมั่นใจนัก   ถ้าอย่างคนทั่วไปก็ทำเผื่อเหนียวไว้หน่อย  ตายแล้วเผลอๆ ถ้าหากว่าตกนรกก็จะได้ขุมไม่ลึกนัก  หรือถ้าเกิดเคราะห์ดีไปเกิดสู่สุคติภูมิเป็นภุมเทวาลอยๆอยู่บนพื้นก็ถือว่า โชคดีแล้ว  หากคิดตั้งความปรารถนาไว้แค่นี้  เราก็คงพอจะทำได้อย่างทั่วๆไป คือทำนิดๆ หน่อยๆ ตามประเพณี  วันเกิดทีตักบาตรที  ถวายสังฆทานก็สบายใจ หรือไปเจอหมอดูบอกว่าเคราะห์ไม่ดี ให้ไปถวายสังฆทานก็จบ นั่นก็คืออย่างที่เขาเป็นกันทั่วๆ ไป


            แต่ถ้าหากเป็นชาวพุทธเต็มตัว เข้าใจถึงเป้าหมายชีวิตว่า  เราไม่ได้เกิดมาชาติเดียว  เรายังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่  ละโลกแล้วจะไปเกิดที่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าเราสร้างบุญไว้มากขนาดไหน  ใครมีบุญเยอะก็ไปเกิดในภพภูมิที่ดีงาม  ถ้าทำบาปเยอะก็ลงอบายภูมิตกนรกเป็นเปรตอสุรกายสัตว์เดรัจฉานไป


            รู้หลักอย่างนี้แล้วมีเป้าหมายที่สูงสุดว่า  จะตั้งใจสร้างบุญความทุ่มเทก็จะเพิ่มขึ้น  เอาจริงเอาจังแล้ว เหมือนอย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี  สร้างวัดเชตวันถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายอมเอาเงินปูเรียงเคียงกัน  เต็มพื้นที่  เพื่อจะซื้อที่แล้วยังต้องสร้างอีกนะ  เมื่อได้แผ่นมาแล้วจะต้องมาสร้างกุฏิ  ศาลาฟังธรรมต่างๆ  ถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและหมู่สงฆ์  หมดทรัพย์ไปเทียบกับเงินปัจจุบันหลายหมื่นล้านบาท  ถ้าเทียบต่อรายได้ของอนาถบิณฑิกเศรษฐีแม้เขาจะรวยมากก็จริง


             แต่สร้างขนาดนี้ต้องเรียกว่ามันหลายสิบเปอร์เซ็นต์ของสินทรัพย์ตัวเองเลย   ถ้าคนไหนมีเงินสักแสนล้าน  เอาเงินไปสร้างวัด สี่หมื่น ห้าหมื่นล้าน เป็นไง เกือบครึ่งหนึ่งนะ  เกินไปหรือเปล่า  ถ้าคนทั่วไปจะคิดว่าเกินไป  แต่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีท่านถือว่า มันคุ้ม เพราะท่านเห็นบุญ  ท่านเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในแล้ว  ได้ดวงตาเห็นธรรม  ท่านรู้ว่าสิ่งที่ทำไปมีมูลค่าขนาดไหน ท่านทุ่มเลย ความรู้สึกเสียดายไม่มีแม้แต่นิดเดียวในจิตใจ


             ถึงตอนที่วิบากกรรมในอดีตตามมาทัน ที่ค้าขายก็เสียหายไปบ้าง ทรัพย์สินที่ฝังเอาไว้ถูกน้ำพัดไปอีก ที่คนยืมไปก็โกงอีก ไปการันตีเขาไว้ โกงอีก  จนกระทั่ง ทรัพย์นี่แทบหมดทีเดียว แม้อยากจะเลี้ยงพระ จะเลี้ยงอาหารดีๆ ยังไม่มีทรัพย์เลี้ยง ได้แค่เอาน้ำข้าวต้มกับผักกาดดองเลี้ยงพระ  คิดดูนะ  ทำบุญจากมหาเศรษฐีใหญ่นะ ทำบุญได้แค่น้ำข้าวต้มกับผักกาดดอง

             จนเทวดาที่อยู่ที่ซุ้มประตูบ้านของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเหาะลงมาห้าม  คือ เทวดาที่อยู่บนซุ้มประตูเวลาพระเดินผ่านก็อยู่ข้างบนไม่ได้ก็ต้องลงจากซุ้มประตูมา  เวลาพระผ่านไปค่อยขึ้นไปใหม่ ขึ้นๆ ลง ๆ วันหนึ่งหลายรอบก็เลยเบื่อรำคาญ  เทวดาเป็นมิจฉาทิฐิคิดว่า  จะยุให้เศรษฐีเลิกทำบุญจะได้ไม่มีพระมาที่นี้ตัวเองจะได้เลิกขึ้นๆลงๆ   คือ  เทวดาที่เป็นมิจฉาทิฐิก็มีนะ   เราอาจจะแปลกใจว่าเป็นเทวดาแล้วน่าจะเห็นคุณค่าของบุญ  เปล่าเลย  เหมือนคนที่เกิดมาในตระกูลสูง  ก็มีที่ดื้อๆ เกเรมีก็มี  บุญเก่าในตัวที่เคยสร้างไว้ก็มี  แต่ความมีมิจฉาทิฐิยังมีอยู่ มันผสมๆ กันอยู่    


            วันหนึ่งเทวดาที่ซุ้มประตูบ้านของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เหาะลงมาบอกท่านเศรษฐีว่า  ท่านเศรษฐีให้เลิกทำบุญได้แล้ว  จนจนกระทั่งไม่มีกินอยู่แล้ว  ถ้าเป็นคนทั่วไปในปัจจุบันเป็นอย่างไร  ทุ่มทำบุญใหญ่ขนาดนี้สร้างวัดใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนาครั้งพุทธกาลถวายแด่สงฆ์  อุปัฏฐากบำรุงทุกอย่าง  จากเศรษฐีใหญ่แล้วมาจนลง   ยังไม่ทันมีใครห้ามหรอก ตัวเองคงเริ่มคิดแล้วนะว่าบุญมีจริงหรือเปล่า  ทำไมทำดีแล้วไม่ได้ดี  บุญไม่เห็นช่วยเลย   ยิ่งถ้ามีคนมาห้ามกระตุ้นเข้าไปหน่อย  ให้เลิกทำบุญ  บุญไม่มีจริงหรอก  ถ้ามีคุณรวยไปมากกว่านี้นานแล้ว  เผลอๆ เลิกทำบุญเลย  ขาดความเชื่อมั่น  ความศรัทธานี้คลอนแคลนทีเดียว  แต่นี้ ไม่ใช่คนธรรมดามาห้ามนะ เทวดาเหาะลงมาห้ามเลยนะ   แล้วเกิดอะไรขึ้นกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี


            ท่านอนาถะก็หยุด  แล้วถามว่า  ท่านเป็นใคร  เทวดาก็บอก  ข้าพเจ้าเป็นเทวดาที่อาศัยอยู่บนซุ้มประตูบ้านของท่าน  ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีบอกว่า  ถ้าอย่างนั้นไปไกลๆเลย   ถ้าเป็นมิจฉาทิฐิอย่างนี้   มาห้ามคนไม่ให้ทำบุญ   ข้าพเจ้าไม่อนุญาตให้อยู่บ้านข้าพเจ้าไปอยู่ที่อื่น  ถ้าเจ้าของไม่อนุญาตนี้เทวดาอยู่ไม่ได้  ต้องเหาะพาครอบครัวหลบไปเลย  ไปปรึกษากับเจ้าสวรรค์ทีละชั้นจนได้คำแนะนำว่า  ต้องมาขมาท่านเศรษฐีโดยที่ว่า  ไปแก้ไขหนี้ที่เขายืมไป  ให้ไปตามเขามาคืนซะ  ทรัพย์สินที่ถูกน้ำพัดพาไปหาทางเอาคืนมาให้ได้ เหล่านี้ เป็นต้น จนท่านเศรษฐีมีฐานะฟื้นคืนขึ้นมา  แล้วเทวดาก็มาขอขมาท่านเศรษฐีก็ให้อภัย  และกลับมาเป็นสัมมาทิฐิอยู่ที่ซุ้มประตูตามเดิม


            ถ้าเป็นคนที่เห็นคุณค่าของบุญแล้วก็มีเป้าหมายชีวิตชัดเจนไม่หวั่นไหวแม้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น  เขาพร้อมจะทุ่มนะ  ทุ่มไปแล้วอุปสรรคเกิดขึ้นก็ยังไม่ท้อยังเดินหน้าต่อไปเพราะเป้าหมายมั่นคง


เพราะฉะนั้น การทำบุญมากน้อยแค่ไหนอยู่ที่เป้าหมายของเรา   ถ้าชัดเจนเราก็ไม่หวั่นไหว  เดินหน้าเต็มตัวเต็มที่  บุคคลผู้นั้นคือผู้ที่เห็นคุณค่าของบุญและเข้าใจถึงผลแห่งบุญว่ามีมากแค่ไหน.

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.026043319702148 Mins