เผยขี้เมาไทยล้นครึ่งประเทศ 8 ล้านคนดื่มหัวราน้ำ 4 ขวบพ่อยุจนติดเหล้า

วันที่ 12 ธค. พ.ศ.2548

 

 

  

 

 

         5 มหา’ลัยดังเปิดผลสำรวจคนไทยเมาหัวราน้ำกินเหล้าครึ่งประเทศ ภายใน 1 เดือนดื่มแอลกอฮอล์เกิน 20 วัน ถึง 8.4 ล้านคน ขณะเดียวกันพบเด็กอายุเพียง 4 ขวบเริ่มก๊งเหล้าเพราะพ่อ-แม่เชียร์ ส่วนเยาวชนไทยชวนตั้งวงทุกกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นสอบเสร็จ กีฬาสี วันเกิด ด้านพ่อค้าหัวใสสนองสิงห์ขี้เหล้าจัดส่งน้ำเมาเดลิเวอรี่ถึงบ้านน.ส.อาภา ศิริวงศ์ ณ อยุธยา จากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารเครือข่ายวิชาการสารเสพติด ประกอบด้วย นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เชียงใหม่ ม.สงขลานครินทร์ และ ม.อัสสัมชัญ ร่วมกันสำรวจพฤติกรรมผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้โครงการ ศึกษาเพื่อประมาณการจำนวนผู้เกี่ยวข้องกับสารเสพติดในประเทศไทย โดยดำเนินการในปี 2544 และ 2546 ด้วยการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 12-65 ปี ทั้งชาย-หญิง จากครัวเรือน 40 จังหวัดทั่วประเทศ ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 8 ชนิด คือ น้ำผลไม้ผสมแอลกอฮอล์ ไวน์/ไวน์ชาวบ้าน เบียร์ เหล้าแดง เหล้าขาว (35-40 ดีกรี) เหล้าจีน/เซียงชุน/เหมาไถ ยาดอง/เหล้าดอง และอุ/กระแช่/น้ำตาลเมา

 

        โดยผลการสำรวจในปี 2544 พบว่ามีผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงถึง 33 ล้านคน จากประชากรที่มีอายุ 12-65 ปี โดยเป็นผู้มีประสบการณ์เคยดื่มเบียร์มากที่สุด 29 ล้านคน ตามมาด้วยเหล้าแดง 20 ล้านคน และเหล้าขาว 18 ล้านคน ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรอบ 30 วันก่อนการเก็บข้อมูล พบว่า ปี 2544 มี 18.6 ล้านคน ปี 2546 มี 15.8 ล้านคน ส่วนผู้ดื่มเป็นประจำคือในช่วงเวลา 1 เดือน ดื่มถึง 20 วันภายใน 30 วัน ปี 2544 มี 8.4 ล้านคน ปี 2546 มี 11.9 ล้านคน

 

        งานวิจัยแสดงให้เห็นชัดเจนว่าแม้ตัวเลขผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในภาพรวมจะลดลง กลับมีปริมาณผู้ที่ดื่มเป็นประจำเพิ่มมากขึ้น โดยนิยมดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ต่ำ แต่มีราคาแพง โดยเฉพาะน้ำผลไม้ผสมแอลกอฮอล์ ไวน์คูลเลอร์ เบียร์ และเหล้าแดง จนกลายเป็นชีวิตประจำวันที่ต้องดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะพบผู้หญิงที่ทำงานหารายได้พิเศษเดือนละ 4,000-5,000 บาท ด้วยการเชียร์แขกให้ดื่มสุราก็เพิ่มขึ้น และตัวเองก็ดื่มไปด้วย น.ส.อาภา กล่าว

 

         ด้าน นางจรรยาวัฒน์ ทับจันทร์ ประธานชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงงานวิจัย การเปลี่ยนแปลงของวิถีชุมชนในการดื่มสุรา : กรณีศึกษาชุมชนระดับตำบล ว่า จากการวิจัยพฤติกรรมการดื่มสุราของชุมชนในพื้นที่หนึ่งของจังหวัดทางภาคเหนือ พบว่า การดื่มสุราของชุมชนในปัจจุบันแตกต่างจากอดีตอย่างชัดเจน ในกลุ่มผู้ชายจะดื่มได้ทุกโอกาส เช่น ดื่มภายในครอบครัว ดื่มเพื่อแก้ปวดเมื่อย บำบัดโรค เพื่อความสนุกสนานเฮฮา เกิดความกล้าในการแสดงออก ขณะที่ผู้หญิงมีจำนวนผู้ดื่มมากขึ้น เพราะคิดว่าเป็นความเท่าเทียมกันของชาย-หญิง และยังเกิดจากการรวมกลุ่มกันในงานบุญ งานประเพณีต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น ในกลุ่มเยาวชนก็ดื่มสุรากันอย่างเปิดเผย เพราะเลียนแบบจากผู้ใหญ่ โดยที่ครอบครัวสนับสนุน เปิดโอกาสให้เด็กดื่มเหล้าร่วมกับพ่อแม่ ผู้ใหญ่ในบ้าน และจัดกิจกรรมทางสังคมให้ลูก เช่น งานวันเกิด ที่ดื่มเหล้ากันในบ้าน หรือมอบเงินให้ไปซื้อเหล้ามาดื่มในงานต่างๆ

 

        อายุเฉลี่ยในการเริ่มดื่มก็น้อยลง จากเดิมเริ่มดื่มเมื่ออายุ 11-12 ปี เดี๋ยวนี้แค่ 4 ขวบก็ดื่มเหล้ากันแล้ว จากพ่อแม่ที่ให้ลูกชิมจิบๆ จนติด และวัยรุ่นสมัยนี้ไม่ได้ดื่มเหล้าเฉพาะในงานเทศกาล แค่ปิดเทอม สอบเสร็จ แข่งกีฬาสี วันเกิด ก็ชวนกันดื่ม ทั้งในบ้านและที่อื่น โดยจะดื่มเหล้ากับเครื่องดื่มอื่นๆ เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน แต่จะนิยมดื่มสุรามียี่ห้อมากกว่าสุราเสรี มีวัยรุ่นส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่ดื่มเหล้า นางจรรยา กล่าว สำหรับรูปแบบการจำหน่ายสุรามีทั้งแบบสั่งซื้อทางโทรศัพท์ บริการส่งถึงที่ รวมถึงแบ่งขายตามปริมาณที่ผู้ซื้อต้องการ ขณะที่คนในชุมชนซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้จากการเกษตรประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอ เพราะนำเงินไปซื้อสุรา ก็จะกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ของภาครัฐและเอกชน โดยไม่ได้ใช้เงินตามวัตถุประสงค์ แต่นำไปซื้อเหล้าและซื้อมากกว่าเดิม ยิ่งไปกว่านั้น การดื่มเหล้ายังเกี่ยวข้องกับยาเสพติดประเภทยาบ้า โดยหลังจากที่รัฐมีนโยบายปราบปรามยาบ้า ส่งผลให้ยาบ้าหาซื้อยาก ราคาแพง ทำให้ผู้เสพหันไปดื่มสุราทดแทน

         มาตรการไหนได้ผลในการลดความสูญเสียจากการเมา

        นโยบายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นนโยบายสาธารณะที่มีความสำคัญมาก เพราะมีเป้าหมายสำคัญคือ การป้องกัน หรือ ลดความสูญเสีย และอันตรายจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพ การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ปัญหาสังคม อาชญากรรม และปัญหาครอบครัว

 

         นโยบายและมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประกอบด้วย 5 มาตรการหลัก ได้มีการวิเคราะห์ถึงประสิทธิผลของแต่ละมาตรการ ในการลดความสูญเสียจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าแต่ละมาตรการมีประสิทธิผลต่างกันดังนี้

 

 

(+++ มีประสิทธิผลสูงสุด, 0 ไม่มีประสิทธิผล, ? ยังไม่แน่ใจ)

 

 

มาตรการ

ประสิทธิผล

1. มาตรการควบคุมการจำหน่าย

1.1 กำหนดอายุผู้ซื้อ

1.2 รัฐผูกขาดการขาย

1.3 กำหนดวัน และเวลาขาย

1.4 จำกัดจำนวนร้านที่ขาย

1.5 ขึ้นทะเบียนผู้ขาย

 

 

+++

+++

+++

+++

+++

2. มาตรการภาษีและราคา

2.1 ขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

+ + +

3. การให้ความรู้ รณรงค์

3.1 การให้ความรู้ในโรงเรียน /มหาวิทยาลัย

3.2 การโฆษณาประชาสัมพันธ์

3.3 การติดฉลากคำเตือน

 

0

0

0

4. การควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

4.1 การห้ามโฆษณา

4.2 การควบคุมเนื้อหาการโฆษณา

 

+

?

5. ควบคุมการเมา

5.1 การสุ่มตรวจแอลกอฮอล์ในคนขับรถ

5.2 การกำหนดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดให้ต่ำลง

5.3 การยึดใบอนุญาตขับขี่

5.4 การกำหนดระดับแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่วัยรุ่นที่ 0 mg

5.5 การมีบริการขับรถส่งคนเมา

 

+++

+++

++

+++

0

6. การบำบัดรักษา

6.1 กิจกรรมกับผู้ขับรถที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

6.2 การบำบัดปัญหาจากแอลกอฮอล์

6.3 การบำบัดคนเมาแล้วขับทำผิดซ้ำ

 

++

+

+

7. การเปลี่ยนสภาพแวดล้อม

7.1 ให้ร้านค้าไม่บริการลูกค้าที่เมา

7.2 การบังคับใช้กฎหมายเรื่องใบอนุญาตขาย

7.3 ส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ปลอดเหล้า

 

+++

++

0

 

ที่มา

หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์ วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2548

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0089193185170492 Mins