วัคซีนเลิกบุหรี่

วันที่ 12 กย. พ.ศ.2549

จากที่....จน...เครียด...ซดเหล้า กลุ้ม...เซ็ง...คิดไม่ออก...อัดบุหรี่ ดูเหมือนเป็นหนทางง่ายๆที่หลายคนใช้เขี่ยทุกข์ออกจากอก แต่ความจริง ความทุกข์มิได้ห่างหาย แถมยังได้โรคภัยไม่ได้รับเชิญ แบกเพิ่มเป็นภาระ

คนทั้งโลกต่างรู้ดี เหล้าและบุหรี่ คือมือสังหารผู้เหี้ยมโหด แต่เคยสะดุดใจหรือไม่ ยิ่งนานวัน จำนวนผู้ตกเป็นทาสของมันยิ่งเพิ่มพูน

เดินหน้าสร้างสุขภาพคนไทยเต็มที่ ออกกฎ 4 กฎเหล็กควบคุมบุหรี่ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2549 นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และสว.กทม. แถลงข่าวความคืบหน้ามาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบของไทย ว่า ได้ลงนามออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข 4 ฉบับ ได้แก่

1. การบังคับให้บุหรี่ซิกาแรต พิมพ์ฉลากแสดงชื่อสารพิษและสารก่อมะเร็งที่อยู่ในควันบุหรี่

2. การเพิ่มจำนวนภาพคำเตือน 4 สี พร้อมข้อความแสดงพิษภัยของบุหรี่ จาก 6 ภาพเป็น 9 ภาพ

ในบุหรี่ซิกาแรตและบุหรี่ซิการ์

3. ห้ามพิมพ์สรรพคุณบุหรี่ว่า รสอ่อน รสเบา ในบุหรี่ซิกาแรต บุหรี่ซิการ์ และยาเส้น

ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535

4. การเพิ่มสถานที่ที่เป็นเขตปลอดบุหรี่เพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่

ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535

สาเหตุที่ต้องออกประกาศกระทรวงเพิ่มดังกล่าว เพื่อต้องการลดนักสูบบุหรี่หน้าใหม่ให้น้อยลง และป้องกันไม่ให้สุขภาพประชาชนถูกทำลายจากการสูบบุหรี่ ซึ่งกำลังเป็นภัยคุกคามสุขภาพคนทั่วโลก ทำให้เกิดโรคอย่างน้อย 25 โรค ตายปีละ 5 ล้านคน

โดยคาดว่า ประกาศฯทั้ง 3 ฉบับ จะมีผลใช้บังคับเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ส่วนประกาศกระทรวงเรื่องเพิ่มสถานที่เขตปลอดบุหรี่ จะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน หรือประมาณเดือนพฤศจิกายน 2549 นี้

บุหรี่ เป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง ที่เข้าไปทำลายอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย ทำให้เกิดโรคร้าย เช่น มะเร็งที่ปอด ปาก ลิ้น กล่องเสียง โรคหัวใจ โพรงกระดูกอักเสบ ความดันโลหิตสูง และโรคถุงลมโป่งพอง ฯลฯ

มี “สารนิโคติน” ซึ่งมีฤทธิ์เสพติดสูงมาก มีผลต่อระบบประสาทกับสมอง เมื่อสมองและประสาทได้รับสารนิโคติน จะใช้เวลาในการรับรู้แค่ 6 วินาที เร็วกว่าการฉีดเฮโรอีนเข้าเส้นเสียอีก

สาเหตุของการติดบุหรี่ มีทั้งเกิดจากความอยากทดลอง สภาพแวดล้อมในสังคมและครอบครัว การเอาอย่าง หรือทำตามเพื่อน หรือเกิดจากความเชื่อผิดๆ เช่น เชื่อว่าสูบแล้วช่วยให้สมองปลอดโปร่ง จิตแจ่มใส ไม่ง่วงนอน

หลายคนที่สูบบุหรี่ ใช่ว่าไม่อยากเลิก แต่การจะเลิกหรือหย่าขาดอาจจะยาก จึงมีข้อแนะนำมากมายสำหรับสิงห์อมควัน

ตัวอย่าง เทคนิคที่บางคนเคยทดลองใช้แล้วได้ผล เช่น เมื่ออยากสูบ ให้หาผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวจัดมากินแทน หรือให้ถ่วงเวลาไว้ พยายามหายใจลึกๆ ช้าๆ เปลี่ยนอิริยาบถไปทำอย่างอื่น และหาน้ำดื่มสักแก้ว

ทุกครั้งที่อยากสูบ อย่าเพิ่งเปิดซองบุหรี่ หรือจุดบุหรี่สูบสนองความอยากในทันที ปล่อยให้เวลาผ่านไปประมาณ 5 นาที ความอยากจะลดลง

ไม่เช่นนั้น ก็พยายามหาวิธีหยิบบุหรี่ออกมาสูบให้ลำบากขึ้น เช่น ห่อซองบุหรี่ด้วยกระดาษอีกชั้น ใช้เชือกรัดตรงกลางห่อ และหัวท้ายของซอง

ระหว่างที่ถูกความอยากคุกคามหนัก อดีตสิงห์อมควันที่เคยใช้วิธีนี้แล้วได้ผล แนะนำว่า ให้พยายามหายใจลึกๆ ช้าๆ 3-4 ครั้ง ค่อยๆจิบน้ำตาม และอมน้ำไว้สักครู่จึงค่อยกลืนลงคอ

ถ้ายังไม่ได้ผลอีก พยายามอย่าคิดถึงการสูบบุหรี่ แต่ให้เปลี่ยนอิริยาบถไปทำอย่างอื่น เช่น ฟังเพลง เดินเล่น หรือไปหาเพื่อนฝูง

ระหว่างนั้นถ้ารู้สึกว่ามือว่าง อย่าปล่อยให้ว่าง แต่อาจใช้วิธีหยิบกุญแจ ขึ้นมาขยำ หรือนับลูกประคำไปพลางๆ...ก็ได้

เมื่อเวลาผ่านไป คุณเริ่มคุมเกมอดบุหรี่ได้มากขึ้น พยายามตั้งใจมั่นให้ได้ว่า วันนี้ฉันเก่ง 1 วันผ่านไปแล้ว ยังไม่สูบบุหรี่ ไม่ต้องพกบุหรี่และอุปกรณ์ในการสูบบุหรี่ แต่ถ้าความอยากยังตามหลอนไม่เลิกรา อย่าใจอ่อน ให้หาลูกอมหรือลูกกวาดที่ชอบ พกติดตัวไว้เสมอ ทุกครั้งที่อยากบุหรี่ ให้นำมาอมแทน

ฝึกทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ข้อสำคัญอยู่ที่อย่า ท้อแท้ ถ้าต้องกลับไปสูบบุหรี่อีก อย่าไปกังวล เพราะถือเป็นเรื่องธรรมดา ที่หลายคนอาจต้องใช้ความพยายามหลายครั้งกว่าจะเลิกได้

ล่าสุด น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับสิงห์อมควันทั่วโลกที่ต้องการหันหลังให้ ควันบุหรี่ มีรายงานว่า ทีมแพทย์กลุ่มหนึ่งที่รัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา เพิ่งทดสอบการใช้ “วัคซีนเลิกบุหรี่” หรือเรียกอีกอย่าง “วัคซีนต้านสารนิโคติน” เพื่อให้เข้าไปสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย แบบเดียวกับวัคซีนที่ใช้ ต้านโรคทั่วไป

ตามรายงานระบุว่า วัคซีนชนิดนี้จะไปช่วยยับยั้งไม่ให้สารนิโคติน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักทำให้คนติดบุหรี่ แล่นเข้าสู่สมอง

ตัววัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตแอนตี้บอดี้ออกมาสกัดนิโคติน ในกระแสเลือด ทำให้ผู้ได้รับวัคซีนลดความอยากบุหรี่หรือเสี้ยนยาลง

ทั้งยังเพิ่มความเป็นไปได้ที่ผู้สูบบุหรี่จะไม่หวนกลับไปข้องเกี่ยวกับมันอีก หรือไม่ต้องทุรนทุรายในกรณีที่ต้องหักดิบเลิกสูบบุหรี่อย่างกะทันหัน

ก่อนหน้านี้ ทีมแพทย์กลุ่มดังกล่าวได้เริ่มทดลองฉีดวัคซีนชนิดนี้ให้อาสาสมัครที่ติดบุหรี่จำนวน 300 คน ผู้เข้าทดสอบแต่ละคนจะได้รับวัคซีนจำนวน 4-5 ครั้ง โดยเว้นระยะห่างประมาณ 4-6 สัปดาห์ต่อครั้ง

ทีมแพทย์จะเฝ้าติดตามผลตลอดระยะเวลา 1 ปี โดยผู้ที่เข้าทดสอบจำนวน 2 ใน 3 จะได้รับวัคซีนที่เป็นของจริง ที่เหลือจะได้รับวัคซีนหลอก โดยที่ทั้งแพทย์และผู้ทดสอบไม่มีทางรู้ว่าใครบ้างได้รับวัคซีนจริงหรือวัคซีนหลอก

ทั้งนี้ เพราะผู้ติดบุหรี่ หากตั้งใจจริงก็สามารถเลิกบุหรี่ได้โดยไม่ต้องพึ่งวัคซีน

แม้ว่าขณะนี้ผลการทดสอบยังไม่สามารถพิสูจน์ประสิทธิภาพได้ทันที แต่มีการประเมินกันไว้ล่วงหน้าว่า ถ้าวัคซีนตัวนี้ใช้ได้ผล จะเป็นวิทยาการใหม่สุดของโลก ที่ช่วยให้สิงห์อมควันประมาณ 1,100 ล้านคนทั่วโลก เลิกบุหรี่ได้โดยไม่ต้องหักดิบ

ที่สหรัฐฯมีผู้สูบบุหรี่ถึง 48 ล้านคน ร้อยละ 40 ของสิงห์อมควันเมืองลุงแซม พยายามจะเลิกบุหรี่ แต่มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ที่เลิกได้ อย่างเด็ดขาด

ที่เหลือ แม้จะพยายามทุกวิถีทาง แต่เมื่อกลับไปลิ้มลองบุหรี่อีกแค่มวนเดียว ก็หวนกลับมาเป็นสิงห์อมควันผู้ภักดีกับควันบุหรี่อย่างว่าง่าย

แต่ละปี รัฐบาลสหรัฐฯต้องสูญเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่ เป็นเงินไม่ต่ำกว่า 1.57 แสนล้านเหรียญ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 5.93 ล้านล้านบาท

เทียบกับเมืองไทย ทุกวันนี้ประมาณการว่ามีผู้สูบบุหรี่ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีอายุระหว่าง 15-24 ปี ติดบุหรี่ราว 1.2 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ปีละประมาณ 52,000 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน รัฐบาลไทยต้องสูญเสียค่ารักษาโรคให้ผู้สูบบุหรี่ ปีละประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมากกว่าเงินภาษีที่ได้จากบุหรี่หลายพันล้านบาท ดังนั้นจึงต้องใช้หลายๆ มาตรการเพื่อลดและป้องกันปัญหาดังกล่าว

จึงไม่ง่ายเลยที่จะให้สิงห์อมควันเหล่านั้นห่างไกลควันบุหรี่ แต่ถ้า พวกเขาตั้งใจจริงก็ใช่ว่าไม่มีหนทาง..ที่จะออก

ที่มา สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.043728617827098 Mins