สองกิจกรรมหลักค้ำพระพุทธศาสนา

วันที่ 12 มค. พ.ศ.2550

 

     น่าสนใจว่า ในขณะที่พระพุทธศาสนาหมดไปจากอินเดียอย่างรวดเร็วภายใต้การปกครองของกษัตริย์มุสลิมนั้น ศาสนาฮินดูกลับสามารถรักษาสถานภาพการเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ของอินเดียอยู่ได้ตลอดระยะเวลา ๖๕๑ ปี ภายใต้การปกครองของมุสลิม ทั้งนี้เพราะศาสนาฮินดูได้เน้นให้ศาสนิกปฏิบัติตาม คำสอนอย่างเคร่งครัด ศาสนิกจึงมีความผูกพันกับศาสนาตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งพิธีกรรมในเวลาเกิด การเรียน การเป็นผู้ใหญ่ การแต่งงาน การมีบุตร การจาริกแสวงบุญ การตาย เทศกาลต่างๆ มีข้อกำหนดให้ศาสนิกปฏิบัติในวาระโอกาสต่างๆ อย่างละเอียด ศาสนาจึงไม่ได้ฝากอยู่กับนักบวชเพียงอย่างเดียว แต่เป็นศาสนาที่ประกอบรวมอยู่ในวิถีชีวิตของชาวบ้าน จึงเป็นเหตุให้ถูกทำลายได้ยาก

 

      จากบทเรียนที่เกิดขึ้นในอินเดียดังกล่าว เราอาจสรุปได้ว่า ความมั่นคงของพระพุทธศาสนา จะต้องประกอบด้วยปัจจัยที่สำคัญคือ ชาวพุทธต้องเป็นชาวพุทธที่แท้จริง มีความรู้ ความเข้าใจในคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง โดยต้องศึกษาทั้งปริยัติและปฏิบัติเพื่อให้เกิดปฏิเวธ คือผลของการปฏิบัติ นำหลักธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิตจริง และปัจจัยที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งก็คือ ชาวพุทธจะต้องมีความสามัคคีกัน เว้นจากการให้ร้ายกัน พระพุทธศาสนาจึงจะมั่นคงอยู่ได้อย่างแท้จริง

 

กล่าวถึง สองกิจกรรมหลักค้ำพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ได้แก่ ๑.ประเพณีการบวชระยะสั้นของชายไทย และ ๒. การเรียนการสอนวิชาศีลธรรมในโรงเรียน

การที่พระพุทธศาสนายังดำรงมั่นอยู่ได้ระดับหนึ่งในประเทศไทยนั้น นอกจากจะเป็นผลมาจากการทุ่มเททำงาน อุทิศตนเพื่อ พระศาสนาของพระเถรานุเถระทั้งหลายในอดีต การอุปถัมภ์สนับสนุนอย่างใกล้ชิดจากสถาบันพระมหากษัตริย์ และภูมิปัญญา ความรักความหวงแหนในพระพุทธศาสนาของบรรพบุรุษไทยแล้ว ยังมีกิจกรรมสำคัญอีก ๒ ประการที่มีส่วนสำคัญยิ่งในการค้ำจุนพระพุทธศาสนาในประเทศไทยคือ

 

๑. ประเพณีการบวชระยะสั้นของชายไทย

ประเพณีการบวชระยะสั้นซึ่งริเริ่มโดยสถาบันพระมหากษัตริย์นี้ มีส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้ชาวไทยเรามีความรู้สึกผูกพันในพระพุทธศาสนา มีความรู้สึกว่าพระรัตนตรัยเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว เพราะชายไทยส่วนใหญ่ก็เคยบวช เคยเป็นพระภิกษุสงฆ์ เป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัยมาแล้ว ฝ่ายหญิงแม้ไม่ได้บวชโดยตรง แต่ก็มีบิดา สามี พี่ชาย น้องชาย หรือบุตรได้เคยบวช ตนก็ได้อาศัยช่วงเวลานั้นทำบุญฟังเทศน์ปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ มีความรู้สึกคุ้นเคย เคารพนับถือพระภิกษุสงฆ์ ไม่รู้สึกว่าพระภิกษุสงฆ์เป็นบุคคลที่แปลกประหลาด หรือเป็นสิ่งห่างไกล ซึ่งความรู้สึกเช่นนี้ หาได้ยากในประเทศที่ไม่มีประเพณี การบวชอย่างไทยเรา แม้เป็นเมืองพุทธ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน

ในปัจจุบัน สภาพสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ผู้คนมีภาระงานรัดตัวมากขึ้น ผู้ที่บวชอยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือน มีจำนวนน้อยลง บางท่านบวชระยะสั้นเพียง ๗ วัน ๑๐ วันก็มี จึงเป็นภารกิจสำคัญของสงฆ์อย่างหนึ่งว่า จะต้องทำให้ญาติโยมเห็นความสำคัญของการบวช บวชให้ได้ระยะเวลาที่นานขึ้น และจัดโครงการอบรมให้สอดคล้องกับสภาพบ้านเมือง เช่น การบรรพชา อุปสมบทหมู่ในช่วงปิดภาคฤดูร้อน สำหรับนักเรียน นักศึกษา เป็นต้น

อนึ่ง การจัดหลักสูตรให้การอบรมแก่ผู้มาบวชระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็น ระยะเวลา ๗ วัน ๒ สัปดาห์ หรือ ๑ เดือนก็ตาม ก็เป็นสิ่งสำคัญมาก จะต้องให้เขาบวชแล้วได้เรียนรู้หลักธรรม ได้ประโยชน์กลับไป ถ้าบวชแล้วไม่มีผู้อบรมสั่งสอนอาจกลายเป็นการก่อให้เขาเกิดความเข้าใจผิดคิดว่า พระพุทธศาสนาไม่มีสาระประโยชน์อะไร

 

๒. การเรียนการสอนวิชาศีลธรรมในโรงเรียน การศึกษาภาคบังคับเป็นสิ่งที่เด็กไทยเกือบทุกคนต้องผ่าน ดังนั้นการสอนวิชาศีลธรรมในโรงเรียนทำให้เด็กไทยมีความรู้พื้นฐานในพระพุทธศาสนาในระดับหนึ่ง ประเทศญี่ปุ่นหลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๒ ถูกกองทหารอเมริกันสั่งให้ถอดถอนวิชาศาสนาออกจากโรงเรียนทั้งหมด ให้การเรียนศาสนาเป็นเรื่องที่แต่ละคนขวนขวายศึกษาเอาเองตามความสมัครใจ ผลก็คือปัจจุบันชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธแต่เพียงชื่อเท่านั้น หากถูกถามว่าเจ้าชายสิทธัตถะคือใคร ก็ไม่รู้จัก ศีล ๕ ก็ไม่รู้จัก อริยสัจ ๔ ก็ไม่รู้จัก เป็นชาวพุทธโดยที่ว่า เมื่อตายแล้วนิมนต์พระไปสวดศพเท่านั้น จนมีคำเรียกพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นว่า โซชิขิบุคเคียว แปลว่า พระพุทธศาสนางานศพ

ดังนั้น การเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่เราชาวพุทธต้องหวงแหนช่วยกันดูแลรักษา อย่ายอมให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเพิกถอนออกไปได้เป็นอันขาด ไม่ว่าจะด้วยข้ออ้างใดๆ ก็ตาม ขณะเดียวกันต้องช่วยกันพัฒนาหลักสูตร อุปกรณ์การเรียน การสอนให้ทันสมัย ทั้งสื่อต่างๆ เช่น แผ่นใส สไลด์ วิดีโอ หนังสือ จัดกิจกรรมเสริมการเรียนการสอน เช่น การสอบแข่งขันตอบปัญหาธรรมะ กระตุ้นให้เด็กตื่นตัวในการศึกษาธรรมะ ให้วิชาศีลธรรมเป็นวิชาที่สนุกน่าสนใจ มีประโยชน์ นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ และช่วยกันพัฒนาคุณภาพครูอาจารย์ผู้สอนวิชาศีลธรรม ให้มีความรู้ความสามารถและมีความประพฤติที่ดีเป็นแบบอย่างแก่ศิษย์ได้ (ติดตามต่อในตอนหน้า).

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0028487841288249 Mins