สิ่งเสพย์ติดประเภทต่างๆ

วันที่ 18 มค. พ.ศ.2549

 

 

     สิ่งเสพย์ติดในปัจจุบันนี้ เท่าที่ทั่วโลกได้ค้นพบและพิสูจน์แล้วปรากฏว่ามีสิ่งเสพย์ติดที่แบ่งตามสภาพของยาไม่ต่ำกว่า 116 ชนิด ทั้งนี้ไม่นับยารักษาโรคทั่วๆ ไปที่นำมาใช้เสพกันเป็นประจำจนกลายเป็นสิ่งเสพย์ติด อย่างไรก็ตาม

เราสามารถจำแนกสิ่งเสพย์ติดชนิดต่างๆ ที่แพร่ระบาดอยู่ในประเทศไทยออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1.)จำแนกตามคุณสมบัติการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท

1.1 สิ่งเสพย์ติดประเภทกดประสาท คือ สิ่งเสพย์ติดที่เมื่อเสพเข้าไปแล้วจะไปกดประสาท ส่วนต่างๆของร่างกาย ทำให้เกิดอาการมึนงงชาต่อสมองและทำให้ประสาทที่ควบคุมส่วนต่างๆของร่างกายบางส่วนหยุดทำงานหมดความ เป็นตัวของตัวเองไปชั่วขณะ สิ่งเสพย์ติดที่จัดอยู่ในประเภทนี้ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน เซคแคนนอลหรือ เซคโคบาร์บิทาน พวกยานอนหลับ และยากล่อมประสาทต่างๆ รวมทั้งเหล้าก็จัดอยู่ในสิ่งเสพย์ติดประเภทนี้ด้วย

1.2 สิ่งเสพย์ติดประเภทกระตุ้นประสาท คือ สิ่งเสพย์ติดที่เมื่อเสพเข้าไปแล้วจะไปออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนต่างๆ ของร่างกายให้ทำงานตามฤทธิ์ของยา ซึ่งอาจจะเกินขีดความสามารถของร่างกาย ดังนั้นเมื่อหมดฤทธิ์ยาแล้วจะทำให้ส่วนต่างๆ เหล่านั้นทรุดโทรมเสื่อมสมรรถภาพได้ ซึ่งถ้ายาประเภทนี้อยู่นานๆ อาจจะกลายเป็นคนวิกลจริตประสาทหลอน หรือหัวใจวายถึงตายได้ สิ่งเสพย์ติดที่จัดอยู่ในประเภทนี้ได้แก่ สิ่งเสพย์ติดประเภทแอมแฟตามีน หรือเรียกตามภาษาชาวบ้านว่า ยาม้า ยาบ้า ยาขยัน นอกจากนี้ก็เป็นจำพวกยาลดความอ้วน ยากระตุ้นประสาทที่ผสมในเครื่องดื่มต่างๆ พวกคาเฟอีนในกาแฟ และพวกโคเคอีนในพวกโคคา

1.3 สิ่งเสพย์ติดประเภทหลอนประสาท คือ สิ่งเสพย์ติดที่เมื่อเสพเข้าไปแล้วทำให้ผู้เสพมีอาการฝันเฟื่อง จิตหลอน เห็นแต่ภาพลวงตา ควบคุมตัวเองไม่ได้ มึนเมาอยู่ในความฝันทั้งร้ายและดี ประสาทรับความรู้สึกต่างๆจะแปรปรวนไปหมด บางครั้งผู้เสพอาจจะทำอันตรายแก่ชีวิตตนเองและผู้อื่นได้ สิ่งเสพย์ติดประเภทนี้ได้แก่ แอลเอสดี เมสคาลิน ไซไลซิบิน เอสทีพี เป็นต้น

1.4 สิ่งเสพย์ติดประเภทออกฤทธิ์หลายอย่าง คือ สิ่งเสพย์ติดที่ใช้แล้วจะออกฤทธิ์ต่อร่างกายหลายอย่าง คือ ออกฤทธิ์ทั้งกดประสาท และหลอนประสาท ได้แก่ กัญชา ซึ่งทำให้มีอาการหลงผิด เกิดความเสื่อมโทรมทั้งสุขภาพทางกายและทางจิต ใช้ไปนานๆ จะทำลายประสาท เกิดประสาทหลอน และมีอาการของโรคจิต

2. จำแนกตามลักษณะการเกิด

2.1 สิ่งเสพย์ติดตามธรรมชาติ (Natural Drugs) คือ สิ่งเสพย์ติดที่ได้จากการสกัดจากพืชบางชนิด ได้แก่ กัญชา และใบกระท่อม เป็นต้น

2.2 สิ่งเสพย์ติดสังเคราะห์ (Synthetic Drugs) คือ สิ่งเสพย์ติดที่ผลิตขึ้นตามกรรมวิธีทางเคมี ได้แก่ โคเคอีน เฮโรอีน มอร์ฟีน พีธคีน เป็นต้น

เฮโรอีน

(แอมเฟตามีน) มีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น รสขม มีฤทธิ์ในการกระตุ้นประสาทส่วนกาลาง ผงของแอมเฟตามีนเมื่อนำมาผลิตอัดเป็นเม็ดยาแล้ว จะมีลักษณะของเม็ดยาหลายลักษณะ เช่น เม็ดกลมแบน รูปเหลี่ยม ฯลฯ แต่ส่วนมากจะเป็นสีขาวเม็ดกลมแบน มีสัญลักษณ์บนเม็ดยา เช่น รูปหัวม้า 99 LONDON ฯลฯ ซึ่งมีโทษต่อผู้เสพทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

ยาชูกำลัง

หมายถึง ยากกระตุ้นประสาทที่คนทั่วไปเชื่อและเข้าใจว่าเมื่อดื่มเข้าไปแล้วจะช่วยให้ร่างกายมีกำลังแข็งแรง และเกิดความกระปรี้กระเปร่าขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สารต่างๆ ในยาชูกำลังนั้นร่างกายได้รับอย่างเพียงพอแล้วในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าหากดื่มเป็นประจำติดต่อกันหรือดื่มในปริมาณที่มากไป คาเฟอีนในยาชูกำลังอาจก่อให้เกิดโทษ ต่อร่างกายได้

กัญชา

เป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้าลักษณะใบจะเรียวยาวแตกเป็นแฉก คล้ายใบมันสำปะหลังส่วนที่นำมาใช้เสพ คือ ใบ และยอดช่อดอกตัวเมีย โดยนำมาตากแห้งแล้วบด หรือหั่นเป็นผงหยาบๆ นำมามวนสูบแบบบุหรี่ หรือเจือปนกับอาหาร กัญชาจะออกฤทธิ์หลายอย่าง ผสมผสานกัน ทั้งกระตุ้น กด และหลอนประสาท ทำให้ร่างกาย และอารมณ์ของผู้เสพเปลี่ยนแปลง เพ้อคลั่ง มีอาการทางจิต

สารระเหย

เป็นสารเคมีที่นำมาสูดดมกัน จะมีลักษณะเป็นของเหลว มีกลิ่นหอม และระเหยได้ง่ายสารพวกนี้จะออกฤทธิ์ในแบบกระตุ้นร่างกาย และกดประสาทส่วนกลาง ทำให้มีอาการเคลิ้มฝัน มึนงง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งหากเสพติดเป็นเวลานานๆ จะทำให้เกิดโรคร้ายแรง เช่น มะเร็งในเม็ดเลือด สมองพิการ ตับพิการ สารจำพวกนี้ยกตัวอย่างเช่น ทินเนอร์ แลกเกอร์ กาวยาง

สุรา

หมายถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เมื่อดื่มแล้วจะทำให้เกิดอาการมึนเมาเช่น เหล้า เบียร์ วิสกี้ ฯลฯ ซึ่งมีฤทธิ์กดประสาทโดย จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายตามปริมาณที่ดื่มเข้าไป ซึ่งอาจถึงแก่ชีวิตได้ หากดื่มเข้าไปในปริมาณที่มากพอ ยิ่งไปกว่านั้นสุรานับว่าเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุส่วนใหญ่ อาชญากรรม และโรคร้ายแรง อื่นๆ อีกมากมาย

บุหรี่

มีส่วนประกอบที่สำคัญคือ ใบยาสูบ ในใบยาสูบจะมีสารประเภท อัลคาลอยด์ชนิดหนึ่ง คือ นิโคติน สารพิษที่มีผลร้ายแรงต่อระบบหัวใจ และหลอดเลือดภายในร่างกาย และนอกจากนี้บุหรี่ยังมีสารพิษ ที่เกิดจากการเผาไหม้ อีกนับพันชนิดเช่น ทาร์ ไฮโดรคาร์บอน ฯลฯ ซึ่งนับว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคร้ายนานับประการ

ยาระงับประสาท

เป็นยาที่ใช้ในวงการแพทย์เพื่อให้ผู้ป่วยสงบลง รักษาความเจ็บปวด ลดความดันโลหิต และใช้เป็นยานอนหลับ ซึ่งถ้าหากใช้โดยปราศจากการควบคุมจากแพทย์ก็ย่อมจะทำให้ผู้ป่วยหรือผู้ใช้ติดยาเหล่านี้ได้ ยาจำพวกนี้ได้แก่ พวกบาร์บิทูเรท กลูติตาไมด์ พาราดีไฮด์ เป็นต้น

ส่วนสื่อข่าวและรายงานข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
236 ถนนวิภาวดีรังสิต เขตดินแดง กทม. 10400 โทรศัพท์ 02-275-5800 E-mail:[email protected]

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.020917435487111 Mins