สื่อฯ ส่งภาพร้าย ทำเด็กไทยกลายพันธุ์

วันที่ 01 สค. พ.ศ.2549

     โดยการเปิดเผยของหมอผู้เชี่ยวชาญด้านวัยรุ่นเตือนภัย สื่อร้าย ตบจูบ โป๊เปลือย ฆ่ากันเลือดสาด ชิงดีชิงเด่นในเรียลลิตี้ทำให้เด็กไทยกลายพันธุ์ หากยิ่งเสพความรุนแรงมากเกินไปอาจถึงขั้นโรคจิต แถมโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ส่วนเล่นเกมหนักมีสิทธิ์ชักคาคอมพ์ ทางด้าน สสส. และ ก.วัฒนธรรมเร่ง เตรียมจัดเรตติ้งทีวี .ให้มีคุณภาพ

หัวหน้าคลินิกเพื่อนวัยทีน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กล่าวถึง การที่เด็กและเยาวชนไทยบริโภคสื่อทั้งโทรทัศน์ ภาพยนตร์ เกมคอมพิวเตอร์ ภาพและข่าวร้ายหรือน่ากลัว ทั้งหมดนี้มีผลโดยตรงกับการหลั่งสารเคมีในระบบประสาท เพราะระบบประสาทของมนุษย์มีสารเคมีเชื่อมโยงการทำงานอย่างมีระบบ สารเคมีที่หลั่งออกมาขึ้นกับแรงกระตุ้น ถ้าถูกกระตุ้นด้วยสิ่งลบ เช่น ภาพน่ากลัว สยดสยอง ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ จะเกิดสารเคมี เช่น อดรีนาลีน นอร์อดรีนาลีน หลั่งออกมาเพิ่มขึ้น สารชนิดนี้ตอบสนองต่อร่างกายในการป้องกันภยันตราย เช่น สู้หรือหนี แต่ขณะเดียวกันจะทำลายระบบประสาทหน่วยความจำมากขึ้น

การทำงานของระบบในร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว เลือดสูบฉีดมากในบางอวัยวะ เช่น กล้ามเนื้อ ขณะที่เลือดหล่อเลี้ยงน้อยลงในบางบริเวณ เช่น ระบบทางเดินอาหาร ทำให้ไม่หิว มีการหลั่งของกรดเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้เกิดโรคกระเพาะ หรือลำไส้อักเสบ การขับถ่ายก็มีปัญหา บางรายท้องผูก บางรายท้องเสีย ปัสสาวะไม่ออก หรืออาจปัสสาวะราดได้ รวมถึงนอนไม่หลับ เพราะสารชนิดนี้ทำให้ร่างกายตื่นตัวตลอด สมาธิสั้น มือเท้าสั่น เหงื่อแตก และประสาทหลอน บางรายถ้าเป็นการเล่นเกมอาจกระตุ้นให้ชักได้ ทั้งหมดนี้หากดูต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ย่อมทำให้เกิดโรคที่น่ากลัวตามมา เช่น โรคหัวใจ ความดันเลือดสูง ความจำเสื่อม สมาธิสั้น และโรคจิตได้ในที่สุด"

 

รวมไปถึงสิ่งที่น่าห่วงอีกเรื่องคือ รายการเรียลลิตี้ที่เสนอการใช้เล่ห์เหลี่ยมให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ จนทำให้เด็กคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูก และที่สำคัญเรากำลังเป็นโรคเสพติดข่าว อาจมีข้อดีทำให้ทันสถานการณ์ แต่รูปแบบการนำเสนอที่เร้าใจ ใส่อรรถรสในรายการข่าว โดยเฉพาะข่าวร้าย เช่น ภาพคลิปวิดีโอเด็กตบตีกัน ภาพคนฆ่าตัวตาย ที่ไม่มีเหตุผลที่ต้องให้เห็นภาพ กรณีต่างประเทศก็มีฆ่ากันตาย ตบตีกัน แต่นำเสนอเพียงข่าว ไม่ตอกย้ำด้วยภาพ เพราะสื่อเหล่านี้จะก่อปัญหาสังคม ทำให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมรุนแรงโต้ตอบกันมากขึ้น หวาดกลัวต่อสังคมจนเครียด เคยชินกับความรุนแรง ขาดความเมตตาในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ขณะที่ภาพโป๊เปลือยจะทำให้เด็กเลียนแบบ กล้าแสดงออกจนเกินวัย ยั่วยุอารมณ์ ผลลัพธ์คือเยาวชนไทยอาจมีสติปัญญาต่ำ ขาดความอดทน ก้าวร้าว ไร้คุณธรรม ป่วยกาย ป่วยใจ มองโลกในแง่ร้าย การป้องกันเบื้องต้นคือ 1.เด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบ ไม่ควรดูทีวีหรือคอมพิวเตอร์ 2.เด็กอายุ 2-18 ปี ควรจำกัดเวลาไม่เกิน 1-2 ช.ม.ต่อวัน ในการดูทีวีหรือคอมพิวเตอร์ 3.ผู้ปกครองควรเลือกรายการหรือสื่อที่ดี 4.การร่วมกันทำกิจกรรมทางเลือกอื่นๆ ร่วมกันในครอบครัว โดยเฉพาะกีฬาและกิจกรรมทางศาสนา
นอกจากนี้ ผศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผอ.สำนักรณรงค์และสื่อสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึง สถานการณ์สื่อปัจจุบันอยู่ในระดับอันตรายกับเยาวชน เยาวชนไทยใช้เวลาไปกับสื่อที่ส่งผลกระทบด้านลบเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5 ช.ม.ต่อวัน โดยโทรทัศน์เป็นสื่อที่เข้าถึงและส่งผลกระทบด้านลบมากที่สุด เยาวชน 89% ดูโทรทัศน์ทุกวัน ใช้เวลามากกว่าในห้องเรียนเสียอีก ขณะที่รายการเด็กมีสัดส่วนออกอากาศเพียง 5.2% ของเวลาทั้งหมด และช่วงเวลาสำหรับเด็กยังพบรายการที่ไม่เหมาะสม เช่น แต่งกายวาบหวิว การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การใช้ความรุนแรง การฟุ่มเฟือย นอกใจ สำส่อนทางเพศ ฉายซ้ำไปซ้ำมา
เมื่อไม่สามารถห้ามเด็กไม่ให้ดูโทรทัศน์ ต้องทำให้โทรทัศน์เป็นสื่อที่มีคุณภาพ สสส.จึงร่วมกับโครงการวิจัย TV4KIDS ศึกษาเรื่องนี้เป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้เกิดข้อเสนอแนะเรื่องระบบประเมินคุณภาพรายการโทรทัศน์ (Rating) ใน 2 ลักษณะ คือ 1.เกณฑ์ประเมินคุณภาพเนื้อหารายการ ส่งเสริมให้ผู้ผลิตจัดรายการคุณภาพ เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายช่วงอายุต่างๆ และเป็นเครื่องมือให้ผู้ปกครองเลือกรายการที่เหมาะกับเยาวชน 2.เกณฑ์จำแนกรายการตามช่วงอายุ เพื่อเป็น

เครื่องมือให้ผู้ปกครองเลือกรายการที่เหมาะกับเยาวชน 2.เกณฑ์จำแนกรายการตามช่วงอายุ เพื่อกำกับการจัดผังรายการ ให้รายการที่เนื้อหารุนแรง หรือส่งผลกระทบด้านลบฉายเวลาที่เหมาะสม

"ระบบประเมินคุณภาพนี้มีในหลายประเทศแล้ว ประเทศไทยไม่ควรปล่อยปละละเลย เพราะส่งผลให้เกิดพื้นที่สีเทามากมายอย่างทุกวันนี้ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมให้ความสนใจอย่างมาก อนุมัติงบประมาณผลักดันระบบประเมินคุณภาพรายการให้เกิดผลเชิงนโยบายร่วมกับ สสส. โดยจะจัดเวทีสาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจ โดยเฉพาะกับผู้ผลิตรายการโทรทัศน์และผู้ปกครองเยาวชนอีกด้วย"

เมื่อผู้ใหญ่ใจดีจากหลายหน่วยงานจริงจัง เอาใจใส่ ร่วมกันขจัดสื่อสีเทา จนถึงสื่อสีดำที่คอยทำร้ายเด็ก ไม่สร้างสรรค์ หันมาสร้าง ให้การสนับสนุนสื่อสีขาวให้มีมากยิ่ง ๆ ขึ้น เพื่อประโยชน์ของเยาวชนคือกำลังสำคัญของชาติในอนาคต สิ่งที่ดีกว่าย่อมบังเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

 

(อ้างอิง..สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).)

โดย ...รัชตา

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.02080526749293 Mins