“สินค้า” หรือ “ยาพิษ”

วันที่ 01 กย. พ.ศ.2548

 

 

กรณีของธุรกิจน้ำเมาที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ เพราะเป็นสาเหตุของปัญหาสังคมมากมาย แต่ที่ผ่านมาถูกทำให้พร่ามัวไปด้วยโฆษณาสนับสนุนวัฒนธรรม เป็นภาพอันสวยงามขึ้นหน้าจอให้เห็นอยู่ทุกวัน ความพร่ามัวยังรวมไปถึง การนำมาตั้งขายใสตำแหน่งเดียวกับน้ำดื่มและเครื่องดื่มสุขภาพทั้งหลาย จนคนแยกไม่ออกและเหมารวมว่า น้ำเมาเป็น “เครื่องดื่ม” ทั้งที่ความเป็นจริงเมื่อเรามาพิจารณาถึงคุณสมบัติของน้ำเมาแล้ว พบประเด็นที่น่าคิด ดังนี้

§ 10.5% ของผู้ทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา สารภาพว่ากล้าทำเพราะฤทธิ์ของมัน

§ 16.1% ของผู้ก่อคดีบุกรุก บริโภคสิ่งนี้แล้วจึงก่อเหตุ

§ 20.8% ของผู้กระทำความผิดต่อร่างกาย เกิดจากผลพวงของการบริโภคสิ่งนี้

§ 34.8% ของความผิดเกี่ยวกับเพศ บอกว่าหลังจากบริโภคมันแล้วไม่สติจะห้ามตัวเอง

§ 59.1% ของผู้ก่อคดีทำลายทรัพย์สิน บริโภคมันก่อนก่อเหตุ

§ 72.7% ของอุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดหลังการบริโภคสิ่งนี้ มีผลให้คนนับหมื่นต้องบาดเจ็บล้มตายทุกปี

§ ผู้บริโภคเป็นประจำ 51.2% มีความเครียดรุนแรง และ 48.6% ซึมเศร้าในระดับที่ควรพบแพทย์

§ ถ้าบริโภคจนติด 11.9% มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย และ 11.3% อยากฆ่าผู้อื่น

§ การบริโภคสิ่งนี้เป็นสาเหตุของโรคร้ายกว่า 50 ชนิด เช่น ตับ มะเร็ง และสมอง

§ ผู้หญิงและเด็กวันละนับล้านคนถูกทุบตีจากพ่อบ้านที่เมามายเพราะการบริโภคสิ่งนี้

 

“สินค้า” หรือ “ยาพิษ”

เมื่อพิจารณาผลพวงจากสิ่งนี้บ่งชัดว่า เป็น “ยาพิษ” แต่กลับจัดให้อยู่ในหมวด “สินค้าอุปโภคบริโภค” ที่หาซื้อได้ง่ายๆ ตามซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ปั๊มน้ำมัน ร้านอาหาร และร้านขายของชำทั่วไป มีวางขายทั้งใกล้ที่ทำงาน หลังโรงพยาบาล หน้าโรงเรียน และรอบมหาวิทยาลัย รวมทั้ง ติดกับบ้านพักอาศัย

อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้น้ำเมาสามารถวางขายได้อย่างถูกกฎหมาย? คำที่มักอ้างกัน คือ “เป็นอาชีพสุจริต ค้าขายกันมานานแล้ว จะไปห้ามได้ยังไง ไปรณรงค์ไม่ให้ดื่มดีกว่า” หากพิจารณาแล้วแม้มีมาแต่ในอดีต เป็นผลกระทบที่เกิดในอดีตไม่ซับซ้อนเหมือนในปัจจุบัน สมัยก่อนอย่างมากก็แค่เอะอะโวยวาย ชกต่อยกันเอง แต่ปัจจุบันชัดเจนว่า น้ำเมาเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุท้องถนน การเสียชีวิตและพิการ ล้วนมาจากน้ำเมา

ปัญหาของน้ำเมามีมากขึ้นเรื่อยๆ และทุกฝ่ายก็ตระหนักขึ้นเรื่อยๆ มิฉะนั้น รัฐบาลคงไม่ตั้ง สสส. และนำเงินงบประมาณมาสนับสนุนเรื่องนี้ เกิดมูลนิธิเมาไม่ขับ กิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา ทอดกฐินไม่กินเหล้า กลุ่มเยาวชน No Na Club กิจกรรมเทเหล้าเผาบุหรี่ในกลุ่มต่างๆ จำกัดจำนวนคนตายในเทศกาลสงกรานต์ ฯลฯ

 

เหล้า เหมือนฝิ่นและยาบ้า

เหตุผลที่ว่า “ดื่มน้อยๆ ก็ไม่เป็นอะไร ที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมและโทษภัยทั้งหลาย ก็เพราะดื่มมากเกินขนาด ต้องไปสอนให้คนรู้จักความพอดีถึงจะถูก” เป็นการมองไม่รอบด้าน เพราะหากมีคนอ้างว่า ฝิ่นและยาบ้า ถ้าบริโภคน้อยๆ ก็ไม่เป็นปัญหาเหมือนกัน อย่างนี้ต้องอนุญาตให้ทั้งฝิ่นและยาบ้า ขายได้แบบถูกกฎหมายด้วย เพราะสามารถสร้างรายได้มากพอๆ กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลยทีเดียว แล้วค่อยช่วยกันรณรงค์ให้รู้จักบริโภคแต่พอดี

ฝิ่น เคยถูกกฎหมาย เริ่มจากคนจีนที่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากในเมืองไทย บางพวกก็ติดฝิ่นมาตั้งแต่ยังอยู่ประเทศจีน จึงเกิดธุรกิจโรงฝิ่นขึ้นเพื่อสนองความต้องการของตลาด คนไทยเลยลองสูบฝิ่นกับเขาบ้าง ปรากฏว่าทั้งจีนทั้งไทยติดฝิ่นกันงอมแงม แถมตอนหลังคนไทยติดฝิ่นมากเสียยิ่งกว่าคนจีน จนไม่เป็นอันทำงานทำการ โจรผู้ร้ายก็ชุกชุม เพราะคนติดฝิ่นไม่ทำงาน เลยไม่มีเงินเข้าโรงฝิ่น ก็หาทางออกด้วยการจี้ปล้น หลวงทนไม่ไหวจึงต้องสั่งปิดโรงฝิ่น และประกาศให้ฝิ่นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ยาบ้าก็เช่นกัน เดิมจัดเป็นยาชื่อ “แอมเฟตามีน” ใช้รักษาโรคหอบหืด มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ไม่ความง่วงเหงาหาวนอน ลดความอยากอาหาร ต่อมาเริ่มแพร่หลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทหารนำมาใช้เป็นยากระตุ้นร่างกาย หลังจากนั้นจึงแพร่หลายมากขึ้นในหมู่ผู้ใช้แรงงาน รู้จักกันในนามของ “ยาขยัน” หรือ “ยาม้า” แต่ภายหลังจากค้นพบว่าแอมเฟตามีนมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เพราะถ้ากินต่อเนื่องจะกลายเป็นเสพติด จึงกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ห้ามซื้อขายเช่นเดียวกันกับยาเสพติดชนิดอื่น โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลก ที่ประกาศเป็นยาเสพติด และในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้เปลี่ยนให้เรียกว่า “ยาบ้า” แทน

น้ำเมา คล้ายกับยาบ้า คือ มีคุณสมบัติเป็นยาเหมือนกัน แต่พอใช้ผิดประเภท นำมาทำเป็นเครื่องดื่ม และจัดหมวดหมู่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ทำให้ดื่มกันมากจนเมามาย จนเกิดปัญหาสังคม จึงควรจะประกาศว่าเป็นสินค้าควบคุม จำกัดการผลิต การจำหน่าย การเข้าถึง และการบริโภค เหมือนที่เคยประกาศว่ายาบ้าผิดกฎหมาย

 

ไม่ควบคุม แต่ยังสนับสนุน

แต่ในขณะนี้นอกจากไม่มีการควบคุมน้ำเมาอย่างจริงจังแล้ว ทั้ง กลต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยังมีแนวโน้มจะนำธุรกิจน้ำเมาเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะต้องการ “มูลค่ารวมของตลาด” (Market Cap.) ที่ใหญ่เทียบชั้นระดับสากล มีชื่อติดอยู่ใน World Class Capital Index จะได้เป็นแม่เหล็กดึงดูดเงินต่างชาติมาลงทุนในเมืองไทยมากๆ เศรษฐกิจไทยได้โต

ทั้งนี้ เงินต่างชาติที่หวังยังไม่แน่ แต่ที่แน่ๆ คนที่ได้ผลประโยชน์มากที่สุดชื่อ “เจริญ” เพราะถ้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ไทยได้มาตรการควบคุมต่างๆ ทั้งเรื่องการโฆษณา การจำกัดอายุผู้ดื่ม จำกัดสถานที่ขาย ฯลฯ ต้องผ่อนผันให้เอื้อกับบริษัทน้ำเมา ดูได้จาก กฎของประเทศที่มีธุรกิจน้ำเมาเข้าตลาดหลักทรัพย์ อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมัน เมื่อเทียบกับประเทศสวีเดน ที่ไม่อนุญาตให้เข้าตลาดหลักทรัพย์ว่า มาตรการของสวีเดนคุมเข้มได้ดีกว่า

สาเหตุเพราะ กำแพงมนุษย์ คือ ผู้ถือหุ้น ซึ่งมีจำนวนหยิบมือ เมื่อเทียบกับคนทั้งประเทศ แต่หากำไรจากเงินปันผลและส่วนต่างของราคาหุ้น ต่างช่วยกันคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับมาตรการทางสังคมต่างๆ เพราะจะกระทบต่อยอดขายและกำไรของบริษัทที่ตนถืออยู่

ที่เลวร้ายที่สุด คือ พี่น้องชาวไทยที่ถูกโฆษณาชวนเชื่อ ถูกปรนเปรอด้วยน้ำหายนะที่เป็นยาพิษกันต่อไป และแนวโน้มก็ยิ่งมีสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเมาติดอันดับ 5 ของโลก และมีสิทธิไปถึงอันดับ 1 ของโลก ถ้ายังปล่อยให้เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ใช่เฉพาะน้ำเท่านั้นที่หายนะ สังคมก็อาจหนีไม่พ้นภาวะหายนะเช่นกัน

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00095529953638713 Mins