“โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย”

วันที่ 05 ตค. พ.ศ.2547

 

 

.....นายอินจันทร์ บุราพันธ์ เลขาธิการคณะองคมนตรี ในฐานะกรรมการและเลขานุการ “ โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย” เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการโครงการฯ ฯพณฯ พลอากาศตรี กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารโครงการฯ ได้แจ้งว่า

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระภิกษุสามเณร จำนวน ๑๓ ล้านบาท ต่อมามีการบริจาคเพิ่มเติมเข้ามาจากผู้มีจิตศรัทธา ในพระพุทธศาสนาจำนวนหนึ่ง ขณะนี้ทำให้มีทุนอยู่ จำนวน ๑๖ ล้านบาทเศษ จึงได้เสนอกันว่าควรจะมีการเพิ่มทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์และกองบาลี เพื่อให้พระภิกษุสามเณรไปเผยแผ่ธรรมะในวงกว้าง โดยจะเพิ่มในส่วนของพระธรรมทูตที่มีทั่วประเทศ จังหวัดละ ๑ รูป จำนวน ๗๖ ทุน ทุนละไม่เกิน ๒ หมื่นบาท โดยจะเริ่มตั้งแต่ เดือน ก. พ. ๒๕๔๘ ดังนั้น หมายความว่าทุนเล่าเรียนหลวงจะเพิ่มจาก ๗๖ ทุน เป็น ๑๕๒ ทุน ในปี ๒๕๔๘ และจะมีใบประกาศ พัดรอง และย่ามให้แก่พระภิกษุสามเณรที่อยู่ในโครงการด้วย

และเมื่อวันที่ ๒๔ ก. ย. ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานตราสำหรับใช้เป็นสัญลักษณ์ ของโครงการ และทรงรับเป็นประธานกิตติมศักดิ์โครงการทุนเล่าเรียนหลวงฯ ซึ่งเป็นพระราชประสงค์ของพระองค์และถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของวงการศึกษาคณะสงฆ์ โดยตราสัญลักษณ์กรมศิลปากรเป็นฝ่ายออกแบบเป็น “ รูปใบโพธิ์ และมีพระไตรปิฎกวางบนพานอยู่ตรงกลาง”

“ โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย” เกิดขึ้นด้วยทรงมีพระราชดำริว่า หากพระภิกษุและสามเณร ในฐานะผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด ตลอดจนเผยแผ่พระธรรมคำสอนสู่พุทธศาสนิกชน มีโอกาสได้รับการศึกษาพุทธธรรมในขั้นสูง สามารถค้นคว้าและทำความเข้าใจพระไตรปิฎกอย่างแตกฉาน เข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธพจน์ได้ด้วยตนเอง น่าจะเป็นหนทางสำคัญที่จะช่วยจรรโลงและเผยแผ่พระพุทธศาสนาสืบต่อไป โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๑๓ ล้านบาท เป็นทุนเริ่มแรก

“ โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย คือโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเนื่องในวโรกาส มหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๖ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๔๖ เพื่อสนับสนุนพระภิกษุและสามเณรให้มีโอกาสศึกษาพระธรรมวินัย และพระพุทธศาสนาขั้นสูง จากสถาบันพระพุทธศาสนาในประเทศ ๓ แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และกองบาลีสนามหลวง”

สำหรับรายละเอียดการจัดสรรทุน หลักเกณฑ์การให้ทุน และคุณสมบัติของผู้รับทุนนั้น การจัดสรรทุนให้แก่สถาบันการศึกษาขั้นสูงของสงฆ์ทั้ง ๓ แห่งดังกล่าว จะกระทำเป็นประจำทุก ๆ ปี เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๗ เป็นต้นไป ทุนจากโครงการนี้จะนำไปเป็นค่าลงทะเบียนเรียน ค่าหนังสือตำราเรียน และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามแต่ระดับการศึกษา

โดยปีแรกเป็นการจัดสรรทุนจำนวนเท่าพระชันษาถวายแด่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนพระภิกษุสามเณรที่กำลังศึกษาพระปริยัติธรรมในระดับปริญญาตรี ทุนละ ๗, ๐๐๐ บาทต่อปี รวม ๔ ปี ระดับปริญญาโท ทุนละ ๑๕, ๐๐๐ บาทต่อปี รวม ๒ ปี และระดับปริญญาเอก ทุนละ ๓๐, ๐๐๐ บาทต่อปี รวม ๓ ปี จำนวน ๗๖ ทุน และถวายแด่แม่กองบาลีสนามหลวงเพื่อสนับสนุนพระภิกษุและสามเณรที่จะเข้าสอบประโยคเปรียญธรรม ๖, ๗, ๘ และ ๙ ทุนละ ๖, ๐๐๐ บาท, ๘, ๐๐๐ บาท, ๑๒, ๐๐๐ บาท และ ๑๖, ๐๐๐ บาท ตามลำดับ จำนวน ๗๖ ทุน รวมจำนวนทุนทั้งสิ้น ๑๕๒ ทุน

ทั้งนี้ โดยโครงการฯ จะมอบทุนให้แก่พระภิกษุผ่านทั้ง ๓ สถาบัน โดยแต่ละสถาบันรับไปพิจารณากำหนดเกณฑ์ของผู้รับทุนตามความเหมาะสมเอง ซึ่งคุณสมบัติผู้รับทุนจะต้องบวชมาไม่น้อยกว่า ๑ พรรษา นับจนถึงวันที่พิจารณาให้ทุน เป็นพระภิกษุหรือสามเณรที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย หรือศึกษาต่อเพื่อเข้าสอบเปรียญธรรม ๖, ๗, ๘ และ ๙ ในการสอบครั้งต่อไป รวมถึงเป็นพระภิกษุหรือสามเณรที่มีผลการศึกษา และคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการของแต่ละสถาบันกำหนด

สำหรับ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้จัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี ๔ คณะ ได้แก่ คณะพุทธศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์ เปิดการสอนทั้งหมด ๑๑ วิทยาเขต ๔ วิทยาลัยสงฆ์ และ ๖ ห้องเรียน ระดับมหาบัณฑิต หรือปริญญาโท แบ่งออกเป็น ๔ สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาบาลี สาขาวิชาพระพุทธศาสนา สาขาวิชาปรัชญา และสาขาวิชาธรรมนิเทศ ระดับดุษฎีบัณฑิต หรือปริญญาเอก แบ่งออกเป็น ๒ สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา และสาขาวิชาปรัชญา

ส่วน มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ปัจจุบันเปิดสอนในระดับอุดมศึกษาอย่างเดียว โดยใช้โครงสร้างหลักสูตรปี พ. ศ. ๒๕๓๔ แบ่งเป็น ๔ คณะสาขาวิชา คือ คณะศาสนาและปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ เปิดการ สอนทั้งหมด ๑๕ วิทยาเขต ระดับมหาบัณฑิต แบ่งเป็น ๒ สาขา คือ สาขาพุทธศาสน์ศึกษา และสาขาพุทธศาสนาและปรัชญา

และ กองบาลีสนามหลวง เป็นการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของการคณะสงฆ์ มี ๙ ชั้น คือ เปรียญธรรมประโยค ๑-๙ เรียนหลักไวยากรณ์ แปลมคธเป็นไทย แปลมคธเป็นไทย แต่งฉันทลักษณ์ภาษามคธ เป็นต้น

ทางโครงการฯ เตรียมเกณฑ์ตอบแทนผู้สนับสนุน อาทิการยกเว้นภาษีเงินได้ทั้งนิติบุคคลและบุคคลให้ส่วนหนึ่ง โดยกำลังประสานงานกับกรมสรรพากร อีกส่วนหนึ่งจะขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้อีกด้วย สำหรับ ผู้สนใจร่วมสนับสนุน “ โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย” หรือขอรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ สำนักงานเลขาธิการคณะองคมนตรี พระราชอุทยานสราญรมย์ กรุงเทพฯ โทร. ๐- ๒๒๒๕- ๐๐๕๑- ๒ ต่อ ๔๑๑๘ และ ๔๓๖๐

 

วุฑฒิวงศ์

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.024277166525523 Mins