.....ใกล้ถึงวันมาฆะบูชาแล้วครับ หลายท่านคงมีโปรแกรมไปทำบุญทำทาน ทำกายวาจาและใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสกัน ตามแบบฉบับของพุทธศาสนิกชนที่ดีเยี่ยมไงครับ สมัยเด็กๆ เราท่องจำกันจนติดปากว่าวันมาฆะบูชา เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระอรหันต์ที่มาประชุมพร้อมกัน โดยไม่ได้มีการนัดหมาย จำนวนถึง ๑,๒๕๐ รูป และพระอรหันต์ที่มานั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือเป็นพระภิกษุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานอุปสมบทให้ด้วยพระองค์เอง และที่ยิ่งไปกว่านั้น พระอรหันต์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทรงอภิญญา ๖ ด้วยกันทั้งสิ้น ยังไม่พอครับ ในวันนั้นเป็นคืนเดือนเพ็ญมาฆะ ฤกษ์ถือได้ว่าเป็นเวลาที่ดีที่สุด ท่านเรียกว่า โอกาสโลกเป็นใจ คือในคืนนั้นอากาศก็ไม่ร้อน ทั้งดวงจันทร์ในคืนเดือนเพ็ญก็สว่างนวล ไม่มีเมฆหมอกมาบดบัง เรียกว่าท้องฟ้าแจ่มใส เหมาะอย่างยิ่งที่จะได้ฟังธรรม ด้วยเหตุอันอัศจรรย์มาประจวบเหมาะทั้งสี่ประการนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงถือฤกษ์งามยามดีที่จะแสดงธรรมเพื่อเป็นประโยชน์ต่อชาวโลกสืบไป
โอวาทปาฏิโมกข์
.....โอวาทปาฏิโมกข์ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้มีความเกี่ยวเนื่องอย่างลึกซึ้ง 3 ตอนดังนี้
ตอนที่ ๑ อุดมการณ์
ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ความอดทน คือความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทธา ท่านผู้รู้ทั้งหลายย่อมกล่าวพระนิพพานว่าเป็นเยี่ยม
นหิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี บรรพชิตผู้ฆ่าสัตว์อื่น เบียดเบียนสัตว์อื่น
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ไม่ชื่อว่าสมณะเลย
ตอนที่ ๒ หลักการ
สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง
กุสลสฺสู ปสมปทา การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม
สจิตฺต ปริโยทปนํ การกลั่นจิตของตนให้ผ่องใส
เอตํ พุทธาน สาสนํ สามอย่างนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ตอนที่ ๓ วิธีการ
อนูปวาโท ความไม่เข้าไปว่าร้ายกันด้วย
อนูปฆาโต ความไม่เข้าไปล้างผลาญกันด้วย
ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ด้วย
มตฺตญญุตา จ ภตฺตสฺสมิ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหารด้วย
ปนฺตญฺจ สยนาสนํ ที่นอนที่นั่งอันสงัดด้วย
อธิจิตฺเต จ อาโยโค ประกอบความเพียรในอธิจิตด้วย
เอตํ พุทฺธาน สาสนํ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
อุดมการณ์...จินตนาการอันสูงส่ง
.....เป้าหมายอุดมการณ์เราได้ยินคำสองคำนี้ควบคู่กันจนบางครั้งแยกแยกจากกันไม่ออก เป้าหมาย ความมุ่งหมาย ที่หมาย ส่วนอุดมการณ์คือแรงจูงใจอันสูงส่งที่จะไปให้ถึงความมุ่งหมายนั้น ต้องย้ำกันก่อนครับว่า อุดมการณ์ไม่ใช่แรงจูงใจธรรมดาๆ แต่เป็นแรงจูงใจอันสูงส่งครับ จากโอวาทปาฏิโมกข์ในตอนที่หนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสให้ชาวพุทธมีแรงจูงใจให้ที่สูงส่งที่จะบรรลุสู่เป้าหมายอันสูงสุดนั่นก็คือ พระนิพพาน ฉะนั้นการที่เป็นคนที่มีความอดทน ความมุ่งมั่น เป็นคนมีเหตุมีผล รักสงบ ไม่ก้าวร้าว ไม่เบียดเบียนใคร คุณธรรมเหล่านี้จะเป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำเราไปสู่ความสำเร็จแห่งเป้าหมายที่ตั้งไว้ เราจะเรียกว่าเป็นอุดมการณ์ของชาวพุทธ เพื่อที่จะข้ามสู่ฝั่งพระนิพพานได้อย่างง่ายดาย ส่วนว่าความอดทนนั้นหลายท่านคงคิดถามขึ้นมาในใจว่าอย่างไรจึงเรียกว่า ตีติกขา ตามหลักคำสอนของพระพุทธองค์นั้น ความอดทนแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ
ประเภทแรกคือ ความอดทนขั้นต้นเป็นความอดทนต่อความลำบากตรากตรำ ร้อน หนาว ประเภทที่สองคือ ความอดทนต่อทุกขเวทนา เป็นความอดทนต่อโรคภัยไข้เจ็บ ความอดทนประเภทที่ สามเป็นความอดทนต่อความกระทบกระทั่ง และประเภทสุดท้าย ก็คือความอดทนต่อความเย้ายวน ยั่วยุมาถึงตรงนี้แล้วขอย้อนกลับไปที่ความตอนหนึ่งของโอวาทปาติโมกข์ที่ว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกขา
ที่แปลว่า ความอดทนต่อการกระทบกระทั่งและความอดทนต่อการยั่วเย้าทั้งหลายเป็นตบะ คือเป็นเครื่องเผาผลาญบาป เผาผลาญกิเลส เผาผลาญความชั่วอย่างยิ่ง
หลักการที่ป้องกันความล้มเหลว
.....การทำงานน้อยใหญ่ถ้าจะให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้จะมีเพียงเป้าหมาย และความมุ่งมั่นเท่านั้นไม่เพียงพอครับ เราควรมีหลักเกณฑ์หลักการที่ถูกต้องเพื่อที่จะให้เราเดินไปสู่เป้าหมายอย่างผิดพลาดน้อยที่สุด และหลักการที่ถูกต้องนี้จะเป็นเกาะป้องกันความล้มเหลวซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กลางคัน ขณะที่เรามีใจมุ่งมั่นในการทำความดีอยู่เสมอ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนในโอวาทปาฏิโมกข์ พอสรุปได้ว่าการไปนิพพาน หรือการที่จะให้บรรลุถึงอุดมการณ์ดังที่กล่าวแล้วในตอนที่หนึ่งนั้น จำเป็นต้องมีหลักการคือ ต้องละชั่วน้อยใหญ่อย่างเด็ดขาด บาปสักนิดไม่คิดทำ ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางกาย วาจา และใจ
.....นอกจากนี้เรายังต้องมีการเกณฑ์หลักการให้ชีวิตว่านอกจากจะไม่ทำบาปแล้ว เรายังต้องสั่งสมเสบียงด้วยการทำบุญทำกุศลให้ได้มากที่สุด และที่สำคัญ ต้องพยายามกลั่นจิตกลั่นใจให้ผ่องใสตลอดเวลาด้วย หรือที่เรามักจะคุ้นหูคุ้นตากันดีว่า ละชั่ว ทำดี ทำจิตให้ผ่องใสหรือถ้าจะสรุปให้เข้าใจและปฏิบัติได้อย่างถ่องแท้ หลักการดำเนินชีวิตของชาวพุทธคือต้องตั้งอยู่ ในศีล สมาธิ และปัญญา หากเราปฏิบัติตามนี้ได้ ความโลภ โกรธ หลง จะค่อยๆ หมดไป แม้ในชาตินี้เราอาจจะยังไม่หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ แต่ความดีเหล่านี้จะสะสมให้ใจเรานั้นมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นเรียกได้ว่า ถ้าตลอดชีวิตเราจะยึดมั่นอุดมการณ์ทำใจให้ผ่องใส และเป็นสมาธิได้ ความล้มเหลวที่อาจะเกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ นานาที่จะทำให้เราคลาดเคลื่อนจากพระนิพพานนั่นก็จะเป็นได้ยาก
วิธีการอันล้ำลึก แยบยล
.....วิธีการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางไว้เป็นขอบข่ายที่จะทำให้เราทำหลักการในตอนที่สองได้สำเร็จ การไม่ทำบาปก็คือการไม่ผิดศีล และระวังเรื่องมารยาท อย่างเช่น ไม่ให้ไปว่าร้ายใคร ไม่ทำร้ายใคร เมื่อเราปฏิบัติตามวิธีการนี้แล้ว นอกจากจะเป็นเครื่องส่งเสริมให้เราไม่ทำบาปแล้ว ยังทำให้เราเป็นที่รัก เป็นที่ไว้วางใจ น่าเชื่อถือของคนทั่วไปอีกด้วย ความละเอียดอ่อนในคำสอนอันเกี่ยวเนื่องกับพระนิพพานตามอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการนั้น นอกจากคำสอนที่ตีกรอบล้อมให้เราอยู่ในบุญกุศล ละชั่ว ทำดี และบำเพ็ญจิตให้ผ่องใสแล้ว วิธีการที่จะทำให้จิตผ่องใสได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้นก็ทรงสอนไว้ด้วย เป็นต้นว่าให้รู้จักประมาณในภัตตาหาร การนอน การนั่ง ก็ต้องรู้จักระมัดระวัง โดยเฉพาะการทำความเพียรเพื่อทำให้ใจผ่องใส ก็ทรงย้ำไว้อย่างมั่นเหมาะ
.....วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเราคงจะไม่ใช่วันเวลาให้ผ่านไปๆ ตามปฏิทินโดยทั่วไป หากแต่เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนควรจะศึกษาความเป็นมา และปฏิบัติตามคำสอนเพื่อจะบรรลุถึงเป้าหมายอันสูงส่งด้วยอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการของชาวพุทธ คนเราเกิดมาล้วนมีเป้าหมายทั้งสิ้น อย่าปล่อยชีวิตล่วงผ่านเลยไปวันต่อวันโดยไร้ซึ่งจุดหมายของการหลุดพ้น เราควรเน้นย้ำกับชีวิตตนว่า เราเกิดมาเพื่อ “ทำนิพพานให้แจ้ง แสวงหาบุญสร้างบารมี” และวันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่เล่า
.....หากจะถือเอาวันเพ็ญเดือนมาฆะเป็นฤกษ์งามยามดีที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของเป้าหมายอันสูงส่งของมนุษย์ คือพระนิพพานแล้ว จงรีบขวนขวายทำให้เกิดขึ้นโดยเร็วเถิด เพราะเวลาไม่เคยคอยใคร และเวลานี่แหละคือคู่แข่งที่แท้จริงสำหรับการทำความดี และสร้างบารมีของพุทธศาสนิกชนทุกๆ คน
วีระ สุภะ